กำยาน
กำยาน ชื่อสามัญ Siam Benzoin (กำยานญวน), Sumatra Benzoin (กำยานสุมาตรา)[2],[3]
กำยาน ชื่อวิทยาศาสตร์ Styrax tonkinensis Craib ex Hartwich (กำยานญวน), Styrax benzoin Dryand., Styrax paralleloneurus Perkins (กำยานสุมาตรา) จัดอยู่ในวงศ์ STYRACACEAE[1]
สมุนไพรกำยาน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เกลือตานตุ่น (ศรีสะเกษ), ชาติสมิง ซาดสมิง (นครพนม), กำหยาน (ภาคเหนือ), กำยานไทย กำยานต้น (ภาคกลาง), กำมะแย กำยานสุมาตรา (นราธิวาส, มาเลเซีย), สะดาน (เขมร-สุรินทร์), เบนซอย (นอกประเทศ), เซ่พอบอ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), เข้ว (ละว้า-เชียงใหม่), อานซีเซียง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของต้นกำยาน
- ต้นกำยาน จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงได้ประมาณ 10-20 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวเทาหรือสีหม่น ตามกิ่งก้านมีขนสีเหลืองเล็กน้อย[1] มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในแถบเขตร้อน เช่น แหลมมลายู เกาะสุมาตรา เกาะชวา เกาะบอนิโอ และในประเทศไทย
- ใบกำยาน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ยาวเรียว ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเล็กน้อย แผ่นใบมีขนสีขาวเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาวประมาณ 6-10 มิลลิเมตร[1],[2]
- ดอกกำยาน ออกดอกเป็นกระจุกหรือเป็นช่อตามง่ามใบ ดอกเป็นสีชมพู-แดง หรือสีขาว มีกลีบ 5 กลีบ ด้านในของดอกจะเป็นสีชมพูถึงสีแดงเข้ม ด้านนอกเป็นสีขาว ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน และดอกมีขน[1],[2]
- ผลกำยาน ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือกลมเล็กน้อย ผิวแข็งมีสีน้ำตาล ยาวประมาณ 10-12 มิลลิเมตร มีขนขึ้นประปราย ภายในผลมีเมล็ด 1-2 เมล็ด[1],[2]
ชนิดของกำยาน
กำยาน คือ ยางหรือชันน้ำมัน (Oleoresin) ที่ได้จากพืชในสกุล Styrax หลายชนิด คำว่า “กํายาน” มาจากภาษามลายูว่า “Kamyan” อ่านว่า “กำ-มิ-ยาน” โดยกำยานที่มีขายในท้องตลาดจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ
- กำยานญวน หรือ กำยานหลวงพระบาง (Siam Benzoin) เป็นกำยานที่ได้จากพืชชนิด Styrax tonkinensis Craib ex Hartwich ซึ่งคล้ายคลึงกับพืชชนิดทั้งสองชนิดแรก ลักษณะเป็นเม็ดกลมรีขนาดเล็ก ส่วนมากมีความยาวน้อยกว่า 2-3 เซนติเมตร ทึบแสง เปราะ ชั้นในมีสีน้ำนมขาวขนาดเล็ก แต่เมื่อเก็บไว้นาน ๆ จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีแดงปนน้ำตาล ใส หรือทึบแสง กำยานชนิดนี้เป็นกำยานชนิดที่ดีที่สุด เพราะกำยานชนิดนี้ส่งออกขายจากเมืองของราชอาณาจักรสยาม ในทางการค้ากำยานชนิดนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดเป็นเม็ดกลมรี เม็ดไม่ติดกัน (Tear Siam Benzoin) และชนิดที่เป็นเม็ด ๆ ติดกันเป็นก้อน มีลักษณะเป็นก้อนเหลี่ยมตามลักษณะของหีบไม้ที่บรรจุ (Block Siam Benzoin) แต่ชนิดที่ดีที่สุดคือ ชนิดที่เป็นเม็ดกลมรี เกาะติดกันหลวม ๆ ไม่แน่น ถ้าเป็นชนิดธรรมดาจะเป็นเม็ดกลมรี ติดกันแน่น กำยานชนิดนี้นิยมใช้เป็นสารให้คงกลิ่น (fixative) ในน้ำหอม สบู่ ครีม สารซักฟอก เป็นต้น[3]
- กำยานสุมาตรา (Sumatra Benzoin) เป็นกำยานที่ได้จากพืช 2 ชนิด คือ Styrax benzoin Dryand. และ Styrax paralleloneurus Perkins กำยานชนิดนี้จะมีลักษณะแตกต่างจากกำยานญวนตรงที่มีสีเทามากกว่า ไม่ค่อยมีส่วนที่เป็นก้อนกลม ๆ รี ๆ มักมีเศษไม้และของอื่น ๆ ปนอยู่ และมีความหอมน้อยกว่ากำยานญวน แต่จะนิยมนำมาใช้ประโยชน์ทางยามากกว่า โดยใช้เป็นยาขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ และเป็นยาฝาดสมาน[3]
ส่วนวิธีการเก็บยางนั้นจะทำได้โดยการใช้มีดหรือของมีคมสับฟันไปตรงลำต้นหรือเปลือกเพื่อให้ยางออกมา แล้วปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 60 วัน เพื่อให้ยางแห้งแข็ง แล้วจึงค่อยแกะออกจากลำต้น ซึ่งเรียกว่า “Tear” โดยยางของกำยานที่นำมาใช้ทำยานั้นให้เลือกเอาแต่ต้นที่มีอายุประมาณ 3-6 ปี เพราะในช่วงนี้ยางที่ออกมาจะมีสีขาวบริสุทธิ์และมีกลิ่นหอม ซึ่งจัดว่าเป็นยางชั้นหนึ่ง หรือที่เรียกว่า “Head benzoin” ส่วนต้นที่มีอายุประมาณ 7-9 ปี ยางที่ออกมาจะเป็นสีน้ำตาล เรียกว่า “Belly benzoin” และสำหรับต้นที่มีอายุมากกว่า 9 ปีขึ้นไป ยางที่ได้นั้นจะเป็นสีน้ำตาลดำ เรียกว่า “Foot benzoin” ซึ่งเป็นยางที่สกปรก[2]
หมายเหตุ : กำยานมีหลายชนิด ของประเทศไทยคือชนิด Styrax benzoin Dryand., ของประเทศเวียดนามคือชนิด Styrax tonkinensis Craib ex Hartwich ทั้งสองชนิดนี้สามารถนำมาใช้แทนกันได้[1]
สรรพคุณของกำยาน
- ยางที่ได้จากต้นหรือเปลือก เรียกว่า “กำยาน” มีรสเผ็ดขม สุขุม มีกลิ่นหอม ออกฤทธิ์ต่อตับ หัวใจ และธาตุ ใช้เป็นยาแก้การหายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก ช่วยทำให้เลือดลมหมุนเวียนได้สะดวก แก้เป็นลมเฉียบพลัน (ยาง)[1],[2],[3]
- ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ (ยาง)[2],[3]
- ช่วยขับเสมหะ (ยาง)[3]
- ยางจากต้นใช้เป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ หากนำกำยานมาแช่กับแอลกอฮอล์ มาตั้งบนน้ำร้อน แล้วสูดไอที่ระเหยออกมา จะช่วยขับเสมหะและแก้หลอดลมอักเสบได้ (ยาง)[1]
- ใช้เป็นยาขับลม แก้จุกเสียด ปวดแน่นใต้หน้าอก (ยาง)[1]
- ยางมีสรรพคุณเป็นยาแก้นิ่ว ขับปัสสาวะ (ยาง)[2],[3]
- ใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง ด้วยการนำกำยานไปเผาไฟ แล้วใช้ควันรม (ยาง)[1]
- ยางใช้ผสมกับขี้ผึ้ง ใช้เป็นยาทาแก้โรคเชื้อรา ช่วยฆ่าเชื้อรา แก้น้ำกัดเท้า ใช้ทาแผล บ้างใช้ผสมกับแอลกอฮอล์ นำมาใส่แผลสด แผลน้ำกัด และช่วยแก้อาการคัน (ยาง)[1],[2]
- ใช้เป็นยาสมานแผล ช่วยดับกลิ่นเน่าเหม็นทุกประเภท (ยาง)[2],[3]
- ใช้เป็นยาแก้โรคชักกระตุกในเด็ก (ยาง)[1]
- ใช้เข้ากับตำรายาจีน เป็นยารักษาโรคหัวใจ และมีประสิทธิภาพแก้จุกเสียด แน่นหน้าอก รวมถึงอาการหน้ามืดตาลายในคนที่เป็นโรคหัวใจ (ยาง)[1]
ขนาดและวิธีใช้ : ใช้ภายในครั้งละ 0.5-1.5 กรัม นำมาบดให้เป็นผงรับประทาน ส่วนการใช้ภายนอกให้ใช้ได้ตามความต้องการ[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกำยาน
- สารที่พบ ได้แก่ Coniferyl cinnamate 68%, Benzoic acid 10-20%, Lubanyl cinnamate 10%, Phenylpropyl cinnamate 2.3%, Vanillin 1%, Cinnamic acid, Siarsinolic acid เป็นต้น[1]
ประโยชน์ของกำยาน
- ยางใช้เผาเอาควันอบห้อง จะช่วยฆ่าเชื้อโรคในอากาศ เป็นยาไล่ยุง ไล่ริ้นไร มดและแมลงได้[2],[3]
- กำยานมีประสิทธิภาพเป็นยากันบูดได้ จึงมักถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาแผนโบราณเพื่อวัตถุประสงค์ในการแต่งกลิ่นและกันบูด[1],[3]
- ใช้ปรุงน้ำอบไทย โดยการเผากำยานบนก้อนถ่านที่ไฟลุกแดง แล้วใช้อบ เช่น อบน้ำดอกไม้ น้ำที่อบกำยานแล้วโบราณจะนำมาปรุงกับเครื่องหอมอื่น ๆ ทำเป็นน้ำอบไทย นอกจากนี้ยังใช้กำยานเป็นส่วนประกอบสำคัญของเทียนอบ ธูปหอม กระแจะ เครื่องหอมอื่น ๆ และยังใช้ทำเครื่องสำอางได้อีกด้วย[2],[3],[4]
- เนื่องจากกำยานสามารถต้านการสลายตัวของไขมันต่าง ๆ ได้ดี มันจึงถูกนำมาใช้ผสมกับไขมันที่ใช้เป็นยาพื้นสำหรับเตรียมยาขี้ผึ้งต่าง ๆ[3]
- ในปัจจุบัน การบำบัดรักษาสุขภาพด้วยกลิ่นหอมหรืออโรมาเธอราพี (Aromatherapy) กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และหนึ่งในกลิ่นหอมที่ถูกนำมาใช้กันมากก็คือ ‘กำยาน’ นั่นเอง ซึ่งสามารถช่วยลดความเครียด ผ่อนคลายความวิตกกังวล และทำให้รู้สึกสบายใจขึ้น[4]
- เนื้อไม้ใช้ในการสร้างบ้านหรือที่พักชั่วคราว และใช้ทำฟืน[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “กำยานต้น”. หน้า 82.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “กำยาน”. หน้า 63-64.
- หนังสือคำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์ ฉบับเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชา 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542. (ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงส์). “กำยาน”. หน้า 217-220.
- ดอกไม้ในพระพุทธศาสนา. “กำยาน ความหอมอมตะ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : pirun.ku.ac.th/~b5410403428/. [15 มิ.ย. 2015].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “Benzoin”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [15 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by )
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)