กำจัดดอย
กำจัดดอย ชื่อวิทยาศาสตร์ Zanthoxylum acanthopodium DC. จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)[1]
สมุนไพรกำจัดดอย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หมักก้ากดอยสุเทพ (ภาคเหนือ), มะเคะ พะเคะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ลำข่วง (ลั้วะ), มะข่วง เป็นต้น[2]
ลักษณะของกำจัดดอย
- ต้นกำจัดดอย จัดเป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นได้ถึง 5 เมตร ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลม[1]
- ใบกำจัดดอย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปใบหอกหรือรูปวงรีแกมใบหอก ขอบใบหยักโค้ง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ก้านใบเป็นสีแดงมีขน[1]
- ดอกกำจัดดอย ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ดอกย่อยมีหลายดอก ก้านดอกสั้น กลีบดอกเป็นสีแดงเข้ม[1]
- ผลกำจัดดอย ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม[1]
สรรพคุณของกำจัดดอย
- เปลือกต้น ใช้ขูดอุดฟันเป็นยาแก้ปวดฟัน [1] ส่วนอีกข้อมูลระบุให้นำมาอมเป็นยาแก้ปวดฟัน ซึ่งจะมีฤทธิ์เหมือนยาชา (เปลือกต้น)[2]
- ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้เมล็ดกำจัดดอยนำมาตำ ต้ม หรือตุ๋นกับไก่ ใช้ดื่มแต่น้ำ เป็นยาแก้สุกใส (เมล็ด)[1]
- ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า สมุนไพรกำจัดดอยนอกจากจะใช้เป็นยาแก้สุกใสแล้ว ยังใช้รักษาโรคเริมและงูสวัดได้อีกด้วย (วงศ์สถิตย์และคณะ, 2539)
ประโยชน์ของกำจัดดอย
- ผลใช้ในการประกอบอาหาร เช่น ใส่ลาบ มีรสชาติคล้ายมะแขว่น[2]
- ใช้เป็นยาเบื่อปลาให้เมา ด้วยการใช้เมล็ดกำจัดดอยประมาณ 2 กิโลกรัม นำมาตำคลุกขี้เถ้า แล้วนำไปใช้เบื่อปลา เนื้อปลาจะไม่มีพิษ[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ให้ใช้เปลือกต้นนำมาตำแล้วแช่ในลำธารเพื่อเบื่อปลา แต่ต้องใช้ในปริมาณมาก จึงจะทำให้ปลามีอาการเมา[2]
- ชาวลั้วะจะใช้เนื้อไม้นำไปเผาถ่านตำผสมกับดินปืน[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “กำจัดดอย”. หน้า 228.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “หมักก้ากดอยสุเทพ , มะข่วง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [16 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by nigelcade), www.gotoknow.org (by ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)