การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์
หลังจากที่มีการใช้ยา “ทาลิโดไมด์” (Thalidomide) หรือที่รู้จักกันในชื่อทาลาไม (Thalamid®) ซึ่งเป็นยาแก้แพ้ท้องชนิดหนึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อน แล้วพบว่ายาชนิดนี้ส่งผลทำให้ทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิด แขนขากุด จึงทำให้วงการแพทย์ตื่นตัวในเรื่องการใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลครับ เพราะในปัจจุบันนี้ไม่มีการผลิตและจำหน่ายยาทาลิโดไมด์นี้แล้ว อีกทั้งยาแก้แพ้ท้องที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันนั้นก็มีความปลอดภัยสูงมากและแพทย์จะไม่ยอมใช้ยาใหม่ ๆ กับหญิงตั้งครรภ์โดยเด็ดขาด จนกว่าจะมีการพิสูจน์อย่างแน่ชัดแล้วว่ามีความปลอดภัยกับหญิงตั้งครรภ์จริง ๆ
โดยทั่วไปแล้วความพิการของลูกอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ได้แก่ โรคทางพันธุกรรม, โรคบางอย่าง เช่น หัดเยอรมัน, ถูกแสงเอกซเรย์มาก ๆ นาน ๆ และมาจากการใช้ยาบางชนิด ในส่วนของการใช้ยานั้นอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะในระยะที่ตั้งครรภ์ใหม่ ๆ ทารกจะมีการเจริญเติบโตและสร้างอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยหลังจากการปฏิสนธิประมาณ 18 วัน หัวใจและระบบประสาทของทารกจะเริ่มเจริญเติบโต สร้างแขนขาและตาหลังการปฏิสนธิ 24 วัน และสร้างอวัยวะเพศหลังจากการปฏิสนธิ 37 วัน ซึ่งในระยะที่กล่าวมานี้ หากมียาหรือสารบางชนิดไปกระทบกระเทือนต่อการแบ่งเซลล์ ก็จะทำให้อวัยวะนั้น ๆ มีความผิดปกติหรือหยุดการเจริญเติบโตได้ ซึ่งจะผิดปกติมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับระยะของการตั้งครรภ์และปริมาณของยาหรือสารที่ได้รับ (สารในที่นี้รวมถึงสารเคมี สุรา นิโคตินจากบุหรี่ และอื่น ๆ ด้วย)
เมื่อคุณแม่ใช้ยาจะส่งผลต่อทารกในครรภ์ด้วย เพราะยาในกระแสเลือดของคุณแม่จะซึมผ่านรกเข้าสู่กระแสเลือดของทารกในครรภ์ เช่นเดียวกับน้ำ สารอาหาร และออกซิเจนที่ทารกได้รับทางสายสะดือ ดังนั้น ยาจึงส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้โดยขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ อายุของทารกในครรภ์ และชนิด/ขนาดของยาที่คุณแม่รับประทาน ยาบางชนิดนอกจากจะมีผลต่อลูกน้อยในครรภ์ในระยะ 3-4 เดือนแรกแล้ว ยังอาจมีผลต่อทารกในระยะใกล้คลอด หรือมีผลต่อการแข็งตัวของเลือดในระหว่างการคลอดได้ด้วย โดยยาที่คุณแม่ได้รับจะส่งผลต่อทารกในช่วงต่าง ๆ ของการตั้งครรภ์แตกต่างกันไป คือ
- ระยะปฏิสนธิ ส่งผลให้ไม่ปฏิสนธิหรือแท้งบุตร
- ระยะ 1-2 สัปดาห์แรก (ระยะเอ็มบริโอก่อนฝังตัว) ส่งผลให้เซลล์ลดลงและทำให้แท้งบุตร
- ระยะ 2-8 สัปดาห์ (ระยะสร้างอวัยวะต่าง ๆ) ส่งผลให้ทารกพิการแต่กำเนิด, เกิดมะเร็งในภายหลัง, ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า
- ระยะ 3-9 เดือน ส่งผลให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย, การเจริญเติบโตของศีรษะและระบบประสาทผิดปกติ, อวัยวะเพศภายนอกมีความผิดปกติ
องค์การอาหารและยาได้แบ่งระดับของยาเป็น A, B, C, D และ X เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยากับกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ ไว้ดังนี้
- ระดับ A จากการศึกษาในคนพบว่าไม่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์
- ระดับ B จากการศึกษาในสัตว์ทดลองไม่พบว่ามีอันตรายต่อลูกสัตว์ในครรภ์ แต่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาในคน หรือมีข้อมูลจากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ามีผลกระทบต่อลูกในครรภ์ของสัตว์ แต่จากการศึกษาในคนพบว่าไม่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์แต่อย่างใด
- ระดับ C จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ามีผลกระทบต่อลูกสัตว์ในครรภ์ แต่ยังไม่มีข้อมูลจากการศึกษาในคน หรือยังไม่มีข้อมูลการศึกษาทั้งในคนและในสัตว์ทดลอง
- ระดับ D จากการศึกษาในคนพบว่ามีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ แต่มีประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ยา จึงยังเป็นที่ยอมรับได้อยู่
- ระดับ X จากการศึกษาในคนพบว่ามีอันตรายต่อทารกในครรภ์
ยาที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์
ด้วยเหตุที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า ยาบางชนิดอาจมีอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่จึงไม่ควรซื้อยาใด ๆ มากินเองโดยเด็ดขาด แม้จะเป็นยาสามัญประจำบ้านก็ตาม เพราะยาทุกชนิดรวมถึงยาสามัญประจำบ้านหลายชนิดก็อาจทำให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ได้ คุณแม่จึงควรใช้ยาเท่าที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง ถ้ามีปัญหาการเจ็บป่วยควรรีบไปพบแพทย์จะดีที่สุด คราวนี้เรามาดูกันดีกว่าครับว่ามียาอะไรบ้างที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ หรือมีผลต่อการคลอดและหลังการคลอด โดยจะขอยกตัวอย่างยาที่เป็นอันตรายแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ดังต่อไปนี้ครับ
- ยาปฏิชีวนะและยาแก้อักเสบ เช่น เตตร้าไซคลิน (Tetracycline) เป็นยาปฏิชีวนะและรักษาสิว จะส่งผลต่อการสร้างกระดูกและฟันของลูก ถ้าใช้ในหญิงตั้งครรภ์ระหว่าง 6-8 เดือน หลังจากใช้ยานี้จะมีผลไปจับแคลเซียมที่กระดูกและฟันของเด็กทารก ทำให้เด็กมีกระดูกและฟันไม่สมบูรณ์ ฟันเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาลไปตลอดชีวิต และยังทำให้การเจริญของกระดูกและสมองผิดปกติไปด้วย นอกจากนี้ถ้าใช้ในปริมาณที่สูงมาก จะเกิดการทำลายตับของคุณแม่อย่างรุนแรงและคุณแม่อาจเสียชีวิตได้, สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) เป็นยาที่อาจทำให้ลูกหูตึงหรือหูหนวกได้, คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) เป็นยาที่จะกดการทำงานของไขกระดูกที่สร้างเม็ดเลือด ทำให้เม็ดเลือดจาง เด็กที่เกิดมามักจะตัวเขียว ซีด ท้องป่อง อาจจะช็อกและเสียชีวิตได้, คลอโรควิน (Chloroquin) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคมาลาเรียหรือไข้จับสั่น ซึ่งตัวยาอาจทำให้คุณแม่แท้งบุตรได้, ควินิน (Quinine) อาจทำให้เกิดการแท้งบุตร มีพิษต่อหู และหูอาจหนวกในเด็กแรกคลอด, เพนิซิลลิน (Penicillins) และแอมพิซิลลิน (Ampicillin) เป็นยาปฏิชีวนะที่ค่อนข้างมีความปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นผู้ที่มีอาการแพ้ยาในกลุ่มนี้เท่านั้น เนื่องจากมีการแพ้ยาชนิดนี้สูงเป็นอันดับหนึ่ง จึงควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ไม่เคยมีประวัติแพ้ยาในกลุ่มนี้ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งในบางคนอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต, ยาแก้อักเสบ เป็นยาที่คุณแม่มักหาซื้อมารับประทานเองบ่อยมาก บางทีมีอาการเจ็บคอเล็กน้อยหรือเป็นหวัดก็ซื้อมาใช้กันแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทราบเลยว่าที่จริงแล้วมันไม่ได้ช่วยอะไรเลย เพราะไข้หวัดส่วนใหญ่นั้นจะเกิดจากเชื้อไวรัสที่ยาแก้อักเสบใช้ไม่ได้ผล การกินยาแก้อักเสบบ่อย ๆ นอกจากจะเสียเงินแล้วยังอาจทำให้ดื้อยาอีกด้วย ส่วนสุภาพสตรีไม่ว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตาม ถ้าใช้ยานี้บ่อย ๆ จะทำให้ช่องคลอดเกิดการอักเสบจากเชื้อรา โดยจะมีอาการตกขาวและคันช่องคลอด, ไนโตรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin) มีผลทำให้ตับของแม่อักเสบ คุณแม่มีอาการซีด มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และนอนไม่หลับ, ยาปฏิชีวนะในกลุ่มอะมิโนไกลโคโซด์ (Aminoglycoside) เช่น สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin), กานามัยซิน (Kanamycin), เจนตามัยซิน (Gentamicin), ซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) เป็นยาที่ทำให้ประสาทเกี่ยวกับการได้ยินเสียไปบางส่วนหรืออาจรุนแรงถึงขนาดทำให้เด็กแรกเกิดหูหนวกได้ ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ใช้ยาเหล่านี้ในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนคลอด อาจทำให้ทารกคลอดออกมาแล้วตัวเหลืองได้
- ยาแก้ปวด ลดไข้ เช่น แอสไพริน (Aspirin), ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ถ้าคุณแม่กินในช่วงตั้งครรภ์อ่อน ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงการแท้งบุตรได้ถึง 5-6 เท่า อาจส่งผลรบกวนการแข็งตัวของเลือดและเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในขณะตั้งครรภ์ ถ้ากินยามใกล้คลอดอาจจะไปยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือดของทารกในครรภ์ ทำให้เลือดไหลไม่หยุดได้ นอกจากนี้ยาแอสไพริน (รวมถึงยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) ยังมีผลทำให้คุณแม่คลอดเกินกำหนดและคลอดยากขึ้นอีกด้วย, เออร์โกตามีน (Ergotamine) มีคุณแม่หลายคนที่ก่อนตั้งครรภ์มักมีอาการปวดศีรษะข้างเดียวหรือไมเกรน แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้วคุณแม่จึงควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดศีรษะในกลุ่มเออร์โกตามีน เพราะยาในกลุ่มนี้จะทำให้มดลูกบีบตัว อาจทำให้แท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนดได้, ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ถ้าคุณแม่รับประทานเข้าไปในช่วงเริ่มตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตรเป็น 5-6 เท่า และหากใช้ติดต่อกันนาน ๆ เกิน 1 สัปดาห์ ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 เท่า, นาโพรเซน (Naproxen) เป็นยาเม็ดบรรเทาปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ มีผลทำให้เกิดการยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือดเหมือนแอสไพริน จึงไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์
- ยาแก้คัน แก้แพ้ เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) นอกจากแก้คัน แก้แพ้แล้ว ยังช่วยลดน้ำมูก ถ้าใช้เพียงชั่วคราวอาจจะไม่ส่งผลต่อคุณแม่มากนัก แต่ถ้าใช้ติดต่อกันไปนาน ๆ จะทำให้มีเกล็ดเลือดต่ำ ลูกที่เกิดมาอาจมีอาการเลือดไหลผิดปกติ และยาแก้แพ้บางชนิดก็อาจทำให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้ด้วย
- ยาแก้ไข้หวัด มักจะประกอบด้วย ยาลดไข้จำพวกพาราเซตามอลและยาแก้แพ้หรือยาลดน้ำมูก โดยทั่วไปก็ไม่มีอันตรายอะไรมากครับ เพียงแต่ถ้าต้องใช้เป็นเวลานาน ๆ ก็ควรจะปรึกษาแพทย์เป็นดีที่สุด คุณแม่จึงไม่ควรซื้อยาชุดแก้หวัดที่มีขายตามร้านขายยา เพราะบางทีอาจมียาแก้อักเสบบางอย่างและสเตียรอยด์ปนมาด้วย
- ยาแก้ไอ ถ้าเป็นยาแก้ไอชนิดที่มีไอโอดีน คุณแม่ไม่ควรใช้เลย เพราะอาจทำให้ทารกเกิดอาการคอพอกและมีอาการผิดปกติทางสมองได้
- ยานอนหลับและยากล่อมประสาท ถ้าเป็นยาตามที่แพทย์สั่งก็คงไม่เป็นอะไร แต่คุณแม่ไม่ควรซื้อยาประเภทนี้มาใช้เองเมื่อนอนไม่หลับ เพราะถ้าใช้ยาในปริมาณมาก ๆ จนเกิดการติดยา ลูกที่เกิดมาอาจมีอาการหายใจไม่ปกติ เคลื่อนไหวได้ช้า มีอาการคล้ายคนติดยา และชักกระตุกได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้มีเลือดออกผิดปกติในตัวเด็กอีกด้วย ส่วนยานอนหลับชนิดเมโปรบาเมท (Meprobamate) จะมีผลทำให้เด็กเจริญเติบโตช้า ถ้าให้ในระยะใกล้คลอดจะกดการหายใจของเด็กแรกเกิด (ส่วนนี้ไม่ยืนยัน), ส่วนไดอะซีแพม (Diazepam) ถ้าใช้ในระยะใกล้คลอด เด็กแรกเกิดจะมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตัวเย็น และอาจแสดงถึงอาการขาดยาหลังคลอดได้
- ยารักษาเบาหวาน ถ้าเป็นยาฉีดแบบอินซูลินก็ใช้ได้ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แต่ถ้าเป็นแบบชนิดรับประทานอาจจะส่งผลทำให้น้ำตาลในเลือดของทารกต่ำ และเคยมีรายงานว่า ยากลุ่มนี้ทำให้ทารกพิการ คุณแม่ที่เป็นเบาหวานแพทย์จะเปลี่ยนจากยาเม็ดรับประทานเป็นยาฉีดอินซูลินแทน นอกจากจะไม่เป็นอันตรายแล้วยังช่วยควบคุมเบาหวานได้ดีกว่าด้วย ส่วนยารักษาเบาหวานชนิดคลอร์โปรปาไมด์ (Chlorpropamide) จะมีผลทำให้เด็กแรกเกิดมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ยารักษาโรคความดันโลหิต เช่น รีเซอร์พีน (Reserpine) ถ้าใช้ในระยะใกล้คลอด จะทำให้เด็กแรกเกิดมีอาการคัดจมูก ตัวเย็น ตัวอ่อนปวกเปียก และหัวใจเต้นช้า
- ยารักษามะเร็ง เป็นยาที่อาจเป็นพิษต่อทารกได้ ทำให้เกิดปากแหว่ง เพดานโหว่ และผิดรูปผิดร่างได้
- ยาขยายหลอดลม เช่น อะมิโนฟิลลีน (Aminophylline), ทีโอฟิลลีน (Theophylline) อาจทำให้เด็กแรกเกิดมีภาวะหัวใจเต้นเร็ว ร้องกวน ตัวสั่น และอาเจียนได้ โดยอาการมักจะปรากฏในช่วง 6-48 ชั่วโมง หลังการคลอด
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น เฟนินไดโอน (Phenindione), อินดานิดิโอน (Indanidione) และคูมาริน (Coumarin) ในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ไม่ควรใช้ยาเหล่านี้ เพราะอาจทำให้ลูกเกิดความพิการ เช่น การเจริญของจมูกน้อยลง นอกจากนี้ยังอาจทำให้เด็กในครรภ์หรือเด็กแรกคลอดมีเลือดออกในระหว่างการคลอดได้อีกด้วย
- ยาแก้อาเจียนหรือยาแก้แพ้ท้อง ยาประเภทนี้ควรให้คุณหมอเป็นผู้สั่งยา คุณแม่ไม่ควรซื้อมารับประทานเอง เพราะยาแก้อาเจียนบางชนิดอาจทำให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้ ซึ่งยาแก้แพ้ท้องที่ใช้กันปลอดภัยที่สูติแพทย์มักจะจ่ายให้คุณแม่รับประทานจะประกอบไปด้วย ไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) และวิตามินบี 6 (Vitamin B6) เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งในและต่างประเทศยังไม่พบว่ายานี้ก่อให้เกิดความพิการต่อทารกแต่อย่างใด
- ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร (Antacids) ในยาลดกรดชนิดที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide) มาก ถ้าคุณแม่ใช้ยานี้ในขนาดสูง ๆ ติดต่อกันเป็นประจำ อาจทำให้คุณแม่เกิดอาการท้องเสีย และอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ด้วย ทำให้เด็กแรกเกิดมีปริมาณแคลเซียมและแมกนีเซียมในเลือดสูงจนเกิดอาการชักกระตุก
- ยาถ่ายพยาธิปิเปอร์ราซีน (Piperazine) และยาต้านสารฮีสตามีนไซคลิซีน (Cyclizine) แม้ว่ายังไม่มีรายงานในคน แต่ก็พบว่าทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิดในหนูทดลอง เพราะฉะนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ในหญิงตั้งครรภ์
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เช่น ฟูโรซีไมด์ (Furosemide) มีชื่อทางการค้าว่า ลาซิกซ์ (Lasix) ที่ใช้ขับน้ำส่วนเกินจากร่างกาย มีผลทำให้เลือดของทารกผิดปกติ ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก (ในสัตว์ทดลองพบว่าทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิด โดยเฉพาะเส้นเลือดและหัวใจ), ยาไธอาไซด์ (Thiazide diuretics) อาจมีผลทำให้เด็กแรกเกิดมีเกล็ดเลือดน้อยลง
- ยารักษาต่อมไทรอยด์ผิดปกติ เช่น โพพิลไทโอยูราซิล (Propylthiouracil) อาจส่งผลทำให้เกิดคอพอกเป็นพิษได้
- ยารักษาสิว หรือยาในกลุ่มกรดวิตามินเอชนิดรับประทาน ที่มีชื่อสามัญทางยาว่า ไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) หรือ เรติโนอิกแอซิด (Retinoic acid) และมีชื่อทางการค้าว่า แอคโนทิน (Acnotin®), โรคแอคคิวเทน (Roaccutane®), ไอโซเทน (Isotane®) เป็นยากินที่ใช้รักษาสิวหัวช้างและสิวชนิดรุนแรง เป็นยาที่มีผลทำให้ทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิด และแม้ว่าทารกที่คลอดออกมาจะดูปกติก็ตาม แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะพบความบกพร่องทางสมองได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่กินยาชนิดนี้อยู่จะต้องคุมกำเนิดก่อนรับประทานยาอย่างน้อย 3 เดือน และต้องหยุดยาล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน ถึง 1 ปี ก่อนจึงจะตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย ส่วนในหญิงให้นมบุตรก็ไม่ควรรับประทานยาชนิดนี้เช่นกัน
- ยาฮอร์โมนเพศ เป็นยาที่อาจส่งผลต่อการพัฒนาของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศและการสืบพันธุ์ของทารกให้ผิดปกติ ส่วนยาฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น ไดเอธิลสติลเบสตรอล (Diethylstilbestrol) หากแม่ได้รับยานี้เพื่อป้องกันการแท้งในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ลูกที่เป็นผู้หญิงเมื่อโตขึ้นจนอายุ 13-24 ปี จะมีโอกาสเป็นเนื้องอก และมะเร็งปากมดลูกและช่องคลอดเพิ่มมากขึ้น
- ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด อาจพบความพิการของหลอดเลือดใหญ่และแขนขากุดในทารกได้มากกว่าปกติเล็กน้อย
- ยากันชัก เช่น เฟนิโทอิน (Phenytoin), คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine), ไดแลนติน (Dilantin), ไฮแดนโทอิน (Hydantoin) เป็นยาที่อาจทำให้เกิดความพิการแก่ทารกในครรภ์ ทารกจะเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและจิตใจช้ากว่าปกติ มีความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า เช่น ตาห่าง จมูกแบน หนังตาตก รวมทั้งแขน ขา โดยเฉพาะเล็บและปลายนิ้วฝ่อ ส่งผลผิดปกติต่อหัวใจ และปัญญาอ่อนได้ ซึ่ง 30% ของแม่ที่กินยาเหล่านี้ ลูกจะมีอาการดังกล่าว ส่วนยากันชักชนิดฟีโนบาร์บิทาล (Phenobarbital) และบาร์บิทูเรต (Barbiturate) ถ้าคุณแม่กินยานี้ในขนาดสูงในระยะใกล้คลอดมักจะทำให้เด็กในครรภ์หายใจได้ไม่สะดวก เพราะยานี้มีผลไปกดศูนย์การหายใจ นอกจากนี้ยังมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด และอาจทำให้เลือดออกในเด็กแรกเกิด
- ยาชาเฉพาะที่ (Local anesthetics) การใช้ยาชาพวกนี้มากเกินไป พบว่า 25% ของเด็กแรกคลอดจะมีหัวใจเต้นช้าลง และอาจมีผลทำให้เด็กในครรภ์เกิดหัวใจเต้นช้า หรือเด็กแรกคลอดหยุดหายใจหรือมีอาการชัก
- ยาสเตียรอยด์ทุกชนิด (Steroid) เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone), เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone), กลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) ทำให้โอกาสการแท้งบุตรเพิ่มมากขึ้น การเจริญเติบโตที่ไม่ดีของทารกในขณะที่ในครรภ์ หรือเด็กในครรภ์มีความพิการแต่กำเนิด เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ และยาสเตียรอยด์บางชนิดยังมีผลทำให้ทารกเพศหญิงมีลักษณะของเพศชายอีกด้วย
- วัคซีนที่ทำจากเชื้อไวรัสที่ยังมีชีวิต (Lived Virus Vaccine) แต่อ่อนแรง เช่น วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ คางทูม หัด และหัดเยอรมัน แม้จะพบว่ามีอันตรายต่อลูกน้อย หญิงที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์จะต้องคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 เดือน หลังจากได้รับวัคซีนเหล่านี้ โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันและวัคซีนบางอย่างที่อาจทำให้มีโอกาสแท้งสูงขึ้น หรืออาจทำให้เด็กเกิดอาการ Congenital Rubella Syndrome คือ มีลิ้นหัวใจรั่ว ตาบอด หูหนวก
- ยาแอมโมเนียมคลอไรด์ (Ammonium Chloride) เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะเกลือคลอไรด์ในร่างกายต่ำ รักษาภาวะร่างกายเป็นด่างผิดปกติ ช่วยละลายเสมหะและเป็นยาแก้ไอ ถ้าคุณแม่ใช้ในปริมาณมากและใช้ในระยะใกล้คลอด เด็กแรกเกิดจะมีภาวะในร่างกายเป็นกรด
- ยาบรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) เป็นยาน้ำที่ใช้รักษาอาการคัดจมูก บรรเทาหวัด ฯลฯ ถ้าคุณแม่กินยานี้ในระยะ 3 เดือนแรก อาจทำให้เด็กในครรภ์พิการได้
- ยาคลอโรควิน (Chloroquine) มีข้อบ่งใช้ในหลาย ๆ โรค ทำให้แท้งบุตรบ่อยขึ้น มีผลต่อสมองและประสาทหูของทารกในครรภ์
- ไอโอดีน (Radioactive I131) ถ้าให้หญิงมีครรภ์ใช้เกิน 14 สัปดาห์ สารนี้จะไปสะสมอยู่ในต่อมไทรอยด์ของลูก ทำให้เกิดภาวะขาดสารไทรอยด์
- ไอโอไดด์ (Iodides) ซึ่งมักผสมอยู่ในพวกยาแก้ไอ ขับเสมหะ หากใช้หลังตั้งครรภ์ 14 สัปดาห์ อาจเกิดคอพอก มีการเจริญเติบโตของสมองทารกช้า และบางครั้งคอพอกอาจใหญ่มากจนกดหลอดลมหรือหลอดอาหารได้
- วิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินเอและวิตามินบี ถ้าใช้ในปริมาณมากจะเกิดความพิการของไต ระบบขับถ่ายปัสสาวะ ระบบประสาทแต่กำเนิดได้ จึงไม่ควรได้รับมากกว่าจำนวนที่แพทย์สั่ง, วิตามินซี ถ้าได้รับมากเกินไป อาจทำให้เด็กในครรภ์คลอดออกมาเป็นโรคเลือดออกตามไรฟันได้ ในบางรายอาจทำให้เด็กในครรภ์มีโอกาสพิการตั้งแต่กำเนิด, วิตามินดี ถ้าคุณแม่ได้รับมากเกินไป จะทำให้เกิดความผิดปกติในระบบหลอดเลือดของทารก และอาจทำให้ทารกปัญญาอ่อนได้, วิตามินเค โดยเฉพาะวิตามินเค 3 เช่น มานาดีน (Manadine) ถ้าให้ก่อนคลอดจะเกิดเลือดออกในเด็กแรกคลอดได้ ทำให้เด็กเกิดอาการซีดและเหลืองมาก
- สารเสพติดและสารพิษอื่น ๆ เช่น ยาบ้าหรือแอมเฟตามีน (Amphetamine) ซึ่งเป็นยากระตุ้นประสาท มีผลข้างเคียงทำให้ทารกในครรภ์มีโอกาสพิการแต่กำเนิด โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด, ยาแอลเอสดี (Lysergic acid diethylamide – LSD) เป็นสารเสพติดที่สกัดจากเชื้อราที่อยู่บนข้าวไรย์ มีฤทธิ์กล่อมประสาท ส่งผลทำให้เกิดการแท้งบุตรได้, เฮโรอีน มอร์ฟีน แม่ที่ติดยาชนิดนี้จะมีโอกาสแท้งบุตรได้ง่าย ลูกออกมาตัวเล็กและมีอาจมีอาการขาดยา คือ กระวนกระวาย อาเจียน มือเท้าสั่น ชัก ร้องเสียงแหลม, สารนิโคติน (Nicotine) ในบุหรี่ การที่คุณแม่ได้รับสารนิโคตินจากยาสูบ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่จะทำให้เด็กมีอาการสมาธิสั้น อีกทั้งการสูบบุหรี่มากยังทำให้คุณแม่มีโอกาสแท้งและคลอดกำหนดมากขึ้น ลูกที่ออกมามักตัวเล็ก น้ำหนักน้อย หัวใจเต้นเร็วกว่าเด็กปกติ บางครั้งอาจทำให้เกิดความพิการที่รุนแรงได้, การดื่มแอลกอฮอล์หรือแม่ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง จะทำให้เกิดการแท้งบุตรได้มาก เด็กในครรภ์อาจมีความพิการของศีรษะ หน้า แขน ขา หัวใจ มีการเจริญเติบโตในครรภ์ช้าผิดปกติ อาจทำให้เป็นเด็กปัญญาอ่อน และเด็กมีโอกาสเสียชีวิตในระหว่างการคลอดเพิ่มขึ้น, กาเฟอีน (Caffeine) ในชา กาแฟ น้ำอัดลม แม้ยังไม่มีข้อกำหนดอย่างบ่งชัด แต่มีข้อแนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงอาหารหรือยาที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน เนื่องจากคุณแม่ที่ได้รับกาเฟอีนในปริมาณมาก ๆ อาจทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ และคลอดลูกก่อนกำหนดได้, สารปรอท ที่ได้รับจากอาหาร อาจทำให้เกิดการแท้งบุตร ลูกเสียชีวิตในครรภ์หรือหลังคลอดเพิ่มมากขึ้น หรือเกิดมามีความพิการทางสมองหรือโรคทางสมองอื่น ๆ
หมายเหตุ : สำหรับคุณแม่ที่รับประทานยาสตรีขับเลือดโดยไม่ทราบว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์อยู่นั้น หากไม่ได้รับประทานในปริมาณมาก ก็อาจจะไม่มีผลอะไรกับลูกในครรภ์ครับ
ยาที่ใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์
ส่วนใหญ่แล้วยาที่ใช้ได้กับหญิงตั้งครรภ์จะเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มักมีอยู่ในตู้ยาประจำบ้าน ซึ่งถ้าเกิดการเจ็บป่วยไม่รุนแรงก็สามารถนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้นได้ ซึ่งยาที่มีการใช้บำบัดอาการเจ็บป่วยไม่สบายของหญิงตั้งครรภ์ที่มีการใช้อยู่บ้างตามอาการของโรคที่พบได้บ่อย มีดังต่อไปนี้
- ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรืออะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เป็นยาแก้ปวดและยาลดไข้ที่ใช้ได้อย่างปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ เพราะยังไม่มีรายงานว่าทำให้ลูกเกิดความพิการหรือผิดปกติแต่อย่างใด แต่ถ้าใช้มากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อตับและไต ในผู้ใหญ่ให้ใช้ได้ในขนาดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการปวดหรือมีไข้
- ยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) เป็นยาลดน้ำมูก แก้แพ้ แก้คัน ผู้ใหญ่ให้ใช้ในขนาดเม็ดละ 4 มิลลิกรัม ครั้งละ 1/2-1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารเช้า กลางวัน และเย็น เมื่อใช้ยานี้อาจทำให้คุณแม่ง่วงซึม จึงเหมาะสำหรับกินตอนก่อนนอน ถ้าจำเป็นต้องใช้ในเวลาทำงานก็ควรระวังเรื่องการง่วงนอน เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะงานที่ทำอยู่กับเครื่องจักรหรือต้องขับขี่ยานพาหนะ แต่อย่างที่กล่าวมาแล้วว่ายานี้ถ้าใช้เพียงชั่วคราวก็อาจจะไม่ส่งผลต่อคุณแม่มากนัก แต่ถ้าใช้ติดต่อกันไปนาน ๆ จะทำให้มีเกล็ดเลือดต่ำ ลูกที่เกิดมาอาจมีอาการเลือดไหลผิดปกติได้
- ยาเพนิซิลลิน (Penicillins) และแอมพิซิลลิน (Ampicillin) เป็นยาปฏิชีวนะที่ค่อนข้างมีความปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นผู้ที่มีอาการแพ้ยาเท่านั้น
- ผงเกลือแร่ เป็นอีกหนึ่งยาสามัญที่สามารถใช้เพื่อทดแทนการสูญเสียเกลือแร่ ในกรณีที่คุณแม่ท้องเสีย ท้องเดิน หรืออุจจาระร่วง แต่ยาชนิดนี้ไม่ได้ส่งผลต่อสาเหตุโดยตรงของโรคท้องเสีย โดยเฉพาะท้องเสียชนิดที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย (มักถ่ายบ่อย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีไข้ ตัวร้อน และมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย) ซึ่งถ้ามีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคท้องเสียชนิดติดเชื้อแบคทีเรียหรือรุนแรง ถ้าคุณแม่ได้น้ำเกลือแร่แล้วยังไม่มีอาการดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์
อย่างไรก็ตาม การใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์อาจส่งผลกับทารกในครรภ์ได้ ถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาทุกชนิด ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ หรือเป็นการใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกร ถ้าคุณแม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาด้วยตัวเอง ก็ควรอ่านเอกสารกำกับยาให้ชัดเจนก่อน เพราะมียาหลายชนิดที่ระบุว่า “หญิงมีครรภ์ห้ามใช้” หากคุณแม่มีข้อสงสัยเร่งด่วนเกี่ยวกับการใช้ยา ก็สามารถปรึกษาเภสัชกรใกล้บ้านเพื่อขอรับคำแนะนำในเบื้องต้นได้
การดูแลสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์โดยไม่ใช้ยา
หากมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย คุณแม่สามารถดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งยา ดังนี้
- ปวดศีรษะ : ให้คุณแม่ใช้ถุงน้ำแข็งประคบบริเวณท้ายทอยประมาณ 15-20 นาที แล้วหลับตาพักนิ่ง ๆ
- ปวดหลัง : ให้คุณแม่อาบน้ำอุ่นจัด ใช้ความร้อนประคบบริเวณที่ปวดวันละ 3-4 ครั้ง นาน 20 นาที
- เป็นไข้ : ให้คุณแม่อาบน้ำอุ่นและเช็ดตัว ด้วยการใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นบิดหมาด ๆ แล้วเช็ดตามใบหน้าและข้อพับ
- เป็นหวัด : ให้ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ จากวันละ 6-8 แก้ว เพิ่มเป็นวันละ 8-10 แก้ว
- เจ็บคอ : ให้กลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ ประมาณ 5 นาที ทุก ๆ 2 ชั่วโมง
- ท้องเสีย : ควรดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำขิงแก่ ๆ
- มีอาการคัน : ให้ใช้ครีมหรือโลชั่นทาหลังอาบน้ำและทาระหว่างวันด้วย เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ซึ่งอาจช่วยลดอาการคันลงได้บ้าง
บอกแพทย์ด้วยว่ากำลังตั้งครรภ์
ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์อ่อน ๆ และเกิดเจ็บป่วยอย่างกะทันหัน แต่การจะพบแพทย์ที่ฝากครรภ์ไว้ก็ไม่ทันเสียแล้ว คุณแม่อาจจะไปพบแพทย์ที่อยู่ใกล้ไว้ก่อน ในกรณีนี้คุณแม่จะต้องบอกแพทย์ด้วยว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่และควรบอกด้วยว่าคุณแม่มีอายุครรภ์เท่าไร เพราะถ้าตั้งครรภ์อ่อน ๆ แพทย์อาจไม่สามารถสังเกตหรือรู้ได้หากคุณแม่ไม่บอกเอง เมื่อแพทย์รู้ว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์จะได้ระมัดระวังในการให้ยาที่จะไม่มีผลต่อลูกน้อยในครรภ์ และที่สำคัญอย่าลืมถามชื่อยาด้วยทุกครั้งนะครับ
ยาบำรุงครรภ์คุณแม่ทานได้
คุณแม่บางคนกลัวว่าการรับประทานยาบำรุงครรภ์นั้นจะทำให้ตัวเองอ้วน บ้างก็กลัวว่าทารกในครรภ์จะอ้วนเกินไป ทำให้คลอดลูกได้ลำบาก ก็เลยไม่ยอมกินยาบำรุงตามที่หมอสั่ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างมากเลยครับ เพราะยาบำรุงครรภ์ที่หมอจ่ายมานั้นจะประกอบด้วยวิตามินรวมหรือวิตามินบีรวม ธาตุเหล็ก แคลเซียม ไอโอดีน รวมทั้งแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่อทานเข้าไปแล้วอาจทำให้เรอออกมามีกลิ่นบ้าง และทำให้อุจจาระออกมาเป็นสีดำ แต่ก็ไม่ต้องตกใจครับ เพราะไม่มีอันตรายแต่อย่างใด
อีกทั้งยาบำรุงเหล่านี้ก็ไม่ทำให้คุณแม่อ้วนขึ้นด้วย (ขึ้นอยู่กับอาหารที่รับประทานเข้าไปมากกว่า) แต่จะทำให้ร่างกายของคุณแม่แข็งแรงมีความทนทานต่อการคลอดลูก ร่างกายจะเตรียมเลือดไว้ให้เพียงพอเผื่อตกเลือด ดังนั้น ถ้าต้องการให้คุณแม่และลูกในครรภ์แข็งแรง คลอดลูกได้ง่าย คุณแม่ก็ควรจะกินยาบำรุงที่หมอให้มาอย่างสม่ำเสมอนะครับ
สรุปแล้วการใช้ยาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่โปรดระลึกไว้เสมอว่า ไม่ควรจะซื้อยามารับประทานเองโดยเด็ดขาด พยายามใช้ยาให้น้อยที่สุด รับประทานเฉพาะเท่าที่หมอสั่ง ถ้าจำเป็นจริง ๆ ก็ให้ถือคติที่ว่า “ต้องใช้ยาอย่างระมัดระวังเพื่อสุขภาพของตัวคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์” นอกจากนี้ในระหว่างให้นมบุตรคุณแม่ก็ต้องระมัดระวังในเรื่องของการใช้ยาด้วยเช่นกัน เพราะยาหลายชนิดจะถูกขับออกมาทางน้ำนมได้ ทำให้ทารกได้รับยานั้นไปด้วยทางน้ำนมของคุณแม่
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด. “อาหารการกินสำหรับคุณแม่”. (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ). หน้า 127-134.
- หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ. “ยากับลูกในครรภ์”. (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์). หน้า 104-105.
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 317 คอลัมน์ : ล้านคำถามเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกร. “การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์”. (ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [23 พ.ย. 2015].
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. “ยาที่ทำให้ทารกในครรภ์พิการ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.fda.moph.go.th. [23 พ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.mamashealth.com, www.cbsnews.com, www.invitra.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)