8 วิธีการเร่งคลอด…ทำอย่างไรให้ปากมดลูกเปิด ??

การเร่งคลอด

การเร่งคลอด การชักนำการคลอด หรือ การกระตุ้นคลอด (Induction of labor) คือ การทำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดโดยการอาศัยเทคนิคหรือวิธีการต่าง ๆ ในขณะที่คุณแม่ยังไม่มีการเจ็บครรภ์คลอดเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่แล้วจะทำไปโดยที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ซึ่งการคลอดหรือการยุติการตั้งครรภ์นั้นจะส่งผลดีมากกว่าให้ดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไป เพราะในบางกรณีอาจมีเหตุผลที่ไม่สามารถรอธรรมชาติเป็นตัวกำหนดให้เจ็บครรภ์คลอดได้ แพทย์จึงจำเป็นต้องให้มีการเร่งคลอดเกิดขึ้นเพื่อช่วยชีวิตคุณแม่และทารกในครรภ์เอาไว้

สำหรับเหตุผลทางการแพทย์นั้นมักจะเกี่ยวกับสุขภาพของทารก เพราะถ้าปล่อยให้ทารกอยู่ในครรภ์ต่อไปก็อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตขณะอยู่ในครรภ์ได้ เช่น คุณแม่มีความดันโลหิตสูง ภาวะครรภ์เป็นพิษ เบาหวาน ตกเลือดก่อนคลอด ภาวะที่การทำงานของรกหรือการเจริญเติบโตของทารกผิดปกติ คุณแม่ตั้งครรภ์เกินกำหนด ฯลฯ นอกเหนือจากเหตุผลทางการแพทย์ที่กล่าวมาแล้ว บางครั้งคุณหมออาจอนุโลมให้เร่งคลอดได้หากคุณแม่มีอายุครรภ์ครบกำหนดแล้วและที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลจนทำให้เดินทางไม่สะดวก เกรงว่าจะเดินทางมาโรงพยาบาลไม่ทันเมื่อเจ็บครรภ์จริง ส่วนคุณแม่ที่ดูฤกษ์ยามงามดีเอาไว้ เพราะอยากให้ลูกคลอดตามวันพิเศษต่าง ๆ หรืออยากให้ลูกเข้าโรงเรียนเร็วขึ้น อาจเป็นการเร่งคลอดที่ไม่มีเหตุสมควรเท่าใดนัก เพราะการเร่งคลอดที่ไม่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มักจะลงท้ายด้วยการผ่าคลอด และทารกที่เกิดจากการเร่งคลอดเร็วเกินไปก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับการหายใจได้

ในปัจจุบันมีสถิติการเร่งคลอดเพิ่มมากขึ้นด้วยหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์ หรือปัญหาสุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์ จากข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าในปัจจุบันมีการเร่งคลอดเพิ่มขึ้น 2 เท่า (9.5% ในปี 1991 และเพิ่มเป็น 23.2% ในปี 2011)

กรณีที่ควรเร่งคลอด

  • คุณแม่ตั้งครรภ์เกิน 40 สัปดาห์ (Postterm pregnancy) เป็นกรณีที่พบได้บ่อยที่สุด เพราะถ้าปล่อยไว้รกจะเสื่อมจนไม่สามารถนำอาหารและออกซิเจนมาเลี้ยงทารกในครรภ์ได้อีกต่อไป จึงอาจทำให้ขาดออกซิเจนและอาหารได้
  • คุณแม่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลมาก เพราะถ้ารอให้เจ็บครรภ์คลอดก่อนแล้วค่อยเดินทางมาโรงพยาบาลเกรงว่าอาจจะไม่ทันกาล ซึ่งอาจทำให้มีการคลอดระหว่างทางได้
  • ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด (Premature rupture of membranes) หรือก่อนที่อายุครรภ์จะครบ 37 สัปดาห์ เพราะถ้าปล่อยให้ตั้งท้องไปนาน ๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อหรือเด็กมีความพิการแต่กำเนิดได้
  • ทารกในครรภ์เติบโตช้าหรือมีน้ำหนักตัวน้อย (Severe fetal growth restriction) เนื่องจากคุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเลือด โรคติดเชื้อต่าง ๆ หรือสภาพมดลูกไม่สมบูรณ์, คุณแม่ที่สูบบุหรี่จัด และคุณแม่รับประทานอาหารที่ไม่เพียงพอและเหมาะสมในขณะตั้งครรภ์ ในกรณีเหล่านี้คุณหมออาจตัดสินใจเร่งคลอดเพื่อนำเด็กออกมาเลี้ยงข้างนอกจะปลอดภัยกว่า
  • ความดันโลหิตสูง (Gestational hypertension) หรือ ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia, Eclampsia) เป็นภาวะที่ทำให้เส้นเลือดทั่วร่างกายหดรัดตัว ทำให้ปริมาณของเลือดที่ส่งไปเลี้ยงจึงลดน้อยลง ถ้าปล่อยไว้อาจทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ เพราะเนื้อเยื่อรกบางส่วนขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง
  • คุณแม่เกิดการอักเสบติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ (Chorioamnionitis)
  • ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (Abruptio placenta)
  • ภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios)
  • การตั้งครรภ์แฝดที่มีภาวะแทรกซ้อน ที่อาจทำให้ทารกในครรภ์ไม่แข็งแรง หรือเสี่ยงต่อชีวิตของคุณแม่และทารก
  • ทารกเสียชีวิตในครรภ์ (Fetal death) หากปล่อยให้ทารกที่เสียชีวิตแล้วยังอยู่ในครรภ์และยังไม่หลุดออกมาเองนานเกินไป จะทำให้คุณแม่เกิดภาวะลิ่มเลือดไม่แข็งตัวได้ เพราะอาจมีส่วนเสื่อมสลายของลูกหลุดเข้าไปในกระแสเลือดได้

ในกรณีที่คุณแม่อายุครรภ์ยังไม่ถึง 37 สัปดาห์ แต่มีความจำเป็นต้องเร่งคลอด คุณหมอจะดูว่าอันตรายแค่ไหน ถ้าสามารถรอได้ก็จะให้รอจนกว่าจะครบกำหนดคลอดหรือใกล้เคียงกับกำหนดคลอดมากที่สุด แต่ถ้ารอไม่ได้ เช่น ในกรณีที่ครรภ์เป็นพิษ หมอจึงจำเป็นต้องรีบเร่งคลอดเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์ให้เร็วที่สุด

กรณีที่ห้ามเร่งคลอด

  • ทารกในครรภ์ไม่แข็งแรงหรืออาจอยู่ในท่าที่ไม่สามารถเร่งคลอดได้ เช่น ทารกท่าก้น หรือท่าขวาง
  • มีรกเกาะต่ำ (Placenta previa) เพราะรกจะไปกีดขวางการคลอดได้
  • มีภาวะสายสะดือพาดผ่านปากมดลูกและติดกับถุงน้ำคร่ำ (Vasa previa)
  • มีภาวะสายสะดือย้อย (Umbilical cord prolapse)
  • คุณแม่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ตัวโตเกินไป ในกรณีนี้คุณหมอจะไม่เร่งคลอดให้ เนื่องจากจะคลอดได้ยากและอาจทำให้ทารกบอบช้ำจากการเร่งคลอดได้
  • คุณแม่ที่เป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะการเร่งคลอดจะทำให้มดลูกบีบตัวแรง ปากมดลูกขยายตัว และอาจทำให้มะเร็งแพร่กระจายได้
  • คุณแม่เคยผ่าตัดคลอดในท้องแรกมาก่อน เพราะการเร่งคลอดจะทำให้มดลูกบีบตัวแรงและกล้ามเนื้อบริเวณแผลเป็นไม่แข็งแรงมากพอ ซึ่งอาจจะทำให้แผลปริหรือแตกได้
  • คุณแม่ที่เคยผ่าตัดมะเร็งปากมดลูก เพราะการผ่าตัดมะเร็งปากมดลูกจะทำให้มดลูกบาง ถ้าเร่งคลอดก็อาจทำให้แผลฉีกขาดได้

วิธีเร่งคลอด

ก่อนจะเร่งคลอด คุณหมอจะตรวจดูความพร้อมของปากมดลูกก่อน ถ้าปากมดลูกเริ่มนุ่มแล้ว การเร่งคลอดมักจะได้ผลดี แต่ถ้าปากมดลูกยังแข็งอยู่ การเร่งคลอดมักจะไม่ประสบผลสำเร็จและทำให้ต้องผ่าตัดทำคลอดคุณแม่ต่อไป ซึ่งในปัจจุบันการเร่งคลอดจะมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี และแพทย์อาจใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกันก็ได้ เช่น

  1. การเจาะถุงน้ำคร่ำ (Amniotomy) ในกรณีที่ปากมดลูกขยายมากเพียงพอแล้วแต่ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก หมอจะเจาะถุงน้ำคร่ำให้เมื่อปากมดลูกเปิดได้ประมาณ 3 เซนติเมตร (การเจาะไม่ทำให้คุณแม่เจ็บปวดแต่อย่างใด) ซึ่งวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้มีการเจ็บครรภ์คลอดเกิดขึ้น เพราะเมื่อถุงน้ำแตกแล้ว ศีรษะของทารกจะเลื่อนตัวต่ำลงมามากขึ้นและไปกดขยายปากมดลูกให้เปิด และยังไปกระตุ้นให้สารเคมีพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) หลั่งออกมามากขึ้น จึงช่วยให้มดลูกเกิดการหดตัว นอกจากนี้ยังทำให้หมอตรวจภายในได้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยว่าท่าของลูกอยู่ในลักษณะใด เพื่อจะได้เตรียมการช่วยเหลือการคลอดได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย นอกจากนี้ลักษณะของน้ำคร่ำที่ออกมายังช่วยบอกสภาพของลูกได้ว่าปกติหรือเริ่มผิดปกติ เช่น ถ้าน้ำคร่ำเป็นสีขาวใสหรือขุ่นก็ถือว่าปกติ แต่ถ้าเป็นสีเหลืองหรือเขียวแสดงว่าผิดปกติ หมอจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและจะเร่งให้คลอดในเวลาจำกัด ถ้าคลอดไม่ได้ก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัดคลอดเพื่อช่วยให้ลูกน้อยปลอดภัย (หลังจากเจาะถุงน้ำคร่ำไปแล้วนานประมาณ 30 นาที มดลูกยังไม่หดรัดตัวดีขึ้น คุณหมอจะใช้ยาเร่งคลอดร่วมด้วย)
  2. การเซาะแยกถุงน้ำคร่ำ หรือ การกวาดปากมดลูก (Membrane stripping, Membrane sweeping) ถือเป็นวิธีการเร่งคลอดอีกวิธีที่ทำได้ง่าย มีความปลอดภัยและได้ผลดี สูติแพทย์จะใช้นิ้วกวาดปากมดลูกเพื่อค่อย ๆ ขยายปากมดลูกและกระตุ้นให้เริ่มมีการเจ็บครรภ์คลอด การใช้วิธีนี้สามารถช่วยลดการตั้งครรภ์เกินกำหนด ลดการใช้ยาเร่งคลอด โดยไม่เพิ่มการติดเชื้อทั้งในคุณแม่และทารก และไม่เพิ่มโอกาสการผ่าคลอดแต่อย่างใด จากการศึกษาในคุณแม่ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 40 สัปดาห์ พบว่าหลังการใช้วิธีนี้คุณแม่จำนวน 2 ใน 3 เกิดการเจ็บครรภ์คลอดตามมาภายใน 72 ชั่วโมง (ถ้าทำสำเร็จคุณแม่มักจะมีการเจ็บครรภ์คลอดภายใน 24-48 ชั่วโมง)
  3. ยาเร่งคลอด (ฮอร์โมนออกซีโตซิน – Oxytocin) เป็นยาที่มีคุณสมบัติช่วยให้มดลูกบีบตัว ทำให้การคลอดดำเนินไปตามปกติ ไม่เนิ่นนาน ตามปกติแพทย์จะใช้ทั้งในกรณีที่เริ่มมีอาการเจ็บครรภ์เพื่อเร่งให้เร็วขึ้น และในกรณีที่ยังไม่มีอาการเจ็บครรภ์ แต่เนื่องจากการตั้งครรภ์มีปัญหา หากปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อลูกหรือแม่ได้ ยานี้ก็ช่วยเร่งให้เจ็บครรภ์ได้เร็วและทำให้การคลอดสิ้นสุดได้เร็ว แต่การใช้ยาเร่งคลอดจะทำให้คุณแม่มีอาการเจ็บท้องมากกว่าการคลอดตามธรรมดา เพราะยานี้มีฤทธิ์กระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัวมากขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้ยานี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นหลักว่าสมควรจะเร่งคลอดในรายใดบ้าง ในปัจจุบันยานี้ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น เพราะหมอสามารถกำหนดได้ว่าคุณแม่จะคลอดในเวลาเท่าไร และถ้าไม่คลอดก็แสดงว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ศีรษะของทารกโตเกินกว่าจะออกจากอุ้งเชิงกรานได้ หรือเด็กแหงนหน้า ซึ่งเมื่อทราบอย่างนี้แล้วหมอก็จะได้ตัดสินใจช่วยโดยการผ่าคลอด ไม่ต้องรอข้ามวันเพื่อให้คุณแม่คลอดเอง ในการให้ยาเร่งคลอดนี้ เมื่อให้แล้วจะมีคนคอยเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อคอยตรวจดูว่ามดลูกหดรัดตัวเร็วเกินไปหรือแรงมากไปหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กในท้องขาดออกซิเจนได้ หมอก็จะได้ปรับน้ำเกลือให้เข้าไปในปริมาณที่พอเหมาะ (ยานี้เวลาให้ จะผสมกับน้ำเกลือครับ)
  4. การใช้ฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) นับเป็นวิธีล่าสุดที่ใช้ในการเร่งคลอด ยาที่ใช้มีทั้งรูปแบบของเจลและแบบที่เป็นยาเหน็บช่องคลอดโดยสอดเข้าไปในช่องคลอด ซึ่งตัวยาจะมีฤทธิ์ทำให้ปากมดลูกอ่อนนุ่มลงและเปิดขยาย รวมทั้งช่วยกระตุ้นให้มีการหดรัดตัวของมดลูกดีขึ้น แต่การใช้ยานี้จะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะยาจะทำให้มดลูกบีบรัดตัวอย่างรุนแรงได้

การเร่งคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ

สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ได้ 40 สัปดาห์แล้ว แต่ยังไม่มีอาการเตือนว่าจะคลอดแต่อย่างใด วิธีการต่าง ๆ เหล่านี้อาจช่วยให้คุณแม่เจ็บครรภ์คลอดได้เร็วยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ก่อนจะทดลองใช้วิธีการเหล่านี้คุณแม่ควรแน่ใจก่อนว่า สุขภาพของตนเองยังปกติดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ

  1. การเดิน เป็นวิธีที่ช่วยให้คุณแม่เจ็บท้องคลอดได้เร็วขึ้น เพราะการเคลื่อนไหวของร่างกายจะเป็นการทำให้ตำแหน่งของทารกเคลื่อนต่ำลงมาอยู่ในตำแหน่งการคลอด คุณแม่ควรเดินช้า ๆ อย่างผ่อนคลายและควรมีคุณพ่อเดินเล่นเป็นเพื่อนด้วยเผื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น
  2. การเล่นลูกบอล วิธีนี้คุณแม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์เสริมครับ คือ ลูกบอลขนาดใหญ่ ซึ่งประโยชน์ของลูกบอลนี้จะช่วยยืดกล้ามเนื้อคล้าย ๆ กับการเล่นโยคะ ส่วนวิธีการก็คือให้คุณแม่นั่งบนลูกบอลแล้วโยกตัวไปมาเบา ๆ ซึ่งท่าดังกล่าวจะช่วยให้ทารกมีการเคลื่อนไหวลงสู่ช่องเชิงกรานได้เร็วยิ่งขึ้น
  3. การมีเพศสัมพันธ์ การร่วมเพศอย่างนุ่มนวลในท่าที่ปลอดภัยจะช่วยให้กล้ามเนื้อช่องคลอดเกิดการหดรัดตัวได้ดีขึ้น
  4. การกระตุ้นบริเวณเต้านมรวมทั้งหัวนม (Breast stimulation) โดยการนวดคลึงหรือดูดจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนออกซีโตซินทำให้มดลูกหดรัดตัวดีขึ้น โดยให้คุณแม่ใช้ฝ่ามือนวดบริเวณลานนมอย่างอ่อนโยนครั้งละ 15-20 นาทีทุก ๆ ชั่วโมง วันละหลาย ๆ ครั้ง จากการศึกษาพบว่าวิธีนี้สามารถกระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดได้ และปากมดลูกมีความพร้อมมากขึ้น ในกรณีที่ปากมดลูกมีความพร้อมจะช่วยให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดใน 72 ชั่วโมง ส่วนรายที่ปากมดลูกยังไม่พร้อมการกระตุ้นเต้านมจะไม่มีประโยชน์ใด ๆ ในการเร่งคลอด

การปฏิบัติตัวของคุณแม่เมื่อได้รับการเร่งคลอด

  • เมื่อเข้านอนในโรงพยาบาลคุณแม่ควรพักผ่อนให้มากเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงพร้อมที่จะรับการเร่งคลอด
  • ให้คุณแม่สังเกตการดิ้นของทารกทั้งก่อนและหลังการเหน็บยาเร่งคลอด หากรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้นให้รีบแจ้งพยาบาลทันที
  • ให้คุณแม่สังเกตอาการน้ำเดิน ซึ่งน้ำเดินจะมีลักษณะคล้ายปัสสาวะที่จะไหลออกมาโดยไม่รู้สึกปวดปัสสาวะ มีกลิ่นไม่ฉุน กลั้นไม่ได้ และจะไหลออกมามากขึ้นเมื่อลุกนั่ง ยืน เดิน หรือเมื่อไอและจาม ถ้ามีอาการดังกล่าวให้รีบแจ้งพยาบาลทันที
  • สังเกตมูกเลือดทางช่องคลอด ตามปกติแล้วภายหลังการตรวจภายในมักจะมีมูกเลือดออกมาบ้างแต่ไม่มากนัก โดยมักจะออกปนมากับตกขาว แต่หากออกมาเปื้อนกางเกงชั้นในเหมือนในวันที่มีประจำเดือนมาวันแรก ให้รีบแจ้งพยาบาลทันที
  • สังเกตอาการเจ็บครรภ์ทั้งก่อนและหลังการเหน็บยาช่องคลอด ถ้าคุณแม่รู้สึกมีอาการเจ็บครรภ์ทุก ๆ 5 นาทีหรือน้อยกว่า ให้รีบแจ้งพยาบาลทันที (ในช่วงที่มีอาการเจ็บครรภ์ ให้คุณแม่สูดลมหายใจเข้าทางจมูกลึก ๆ และค่อย ๆ เป่าออกมาทางปากอย่างช้า ๆ และทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนอาการเจ็บครรภ์คลายลง จากนั้นให้ถอนหายใจ 1 ครั้ง และให้เริ่มทำใหม่อีกครั้งเมื่อเริ่มเจ็บครรภ์อีกครั้ง ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้ทารกในครรภ์ได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อมดลูกบีบตัวตอนที่คุณแม่เจ็บครรภ์ ออกซิเจนที่ไปเลี้ยงทารกในครรภ์จะมีน้อยลง)

จำเป็นต้องเร่งคลอดหรือไม่

ถ้าการตั้งครรภ์ของคุณแม่เป็นไปอย่างปกติดีทุกประการ คุณแม่ควรรอให้มีการเจ็บครรภ์เกิดขึ้นตามธรรมชาติจะดีที่สุด เพราะการใช้ยาเร่งคลอดอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการที่ทารกคลอดก่อนกำหนด รกลอกตัวก่อนกำหนด หรือมดลูกอาจแตกจากการเร่งคลอดที่รุนแรงเกินไป และยังมีโอกาสที่จะถูกผ่าตัดคลอดได้สูงหากเร่งคลอดไม่สำเร็จ โดยเฉพาะคุณแม่บางรายที่ให้หมอเร่งคลอดตามฤกษ์ยามที่กำหนดไว้

สำหรับคุณแม่ที่มีอายุมาก คุณหมอจะเฝ้าระวังและดูแลเป็นพิเศษ เพราะความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นได้เสมอ เช่น อาจเกิดภาวะรกทำงานไม่เพียงพอ ทำให้ทารกในครรภ์ได้รับออกซิเจนและอาหารน้อยลง ซึ่งถือเป็นภาวะที่อันตราย คุณหมออาจพิจารณากระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอดเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ครบกำหนดแล้ว โดยไม่ต้องรอให้มีการเจ็บครรภ์เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่สำหรับหมอบางท่านก็เห็นว่าไม่จำเป็น เพราะคุณแม่ได้รับการตรวจฝากครรภ์มาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว และไม่ตรวจพบสิ่งผิดปกติใด ๆ ส่วนในกรณีที่ตรวจพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น คุณหมอจะเร่งให้เกิดการคลอดในทันทีอยู่แล้วครับ

ความแตกต่างระหว่างการคลอดธรรมชาติและการเร่งคลอด

ความรู้สึกเจ็บครรภ์คลอดจากการเร่งคลอดจะไม่ได้แตกต่างจากการคลอดเองตามธรรมชาติเท่าใดนัก คุณแม่ยังสามารถควบคุมและกำหนดลมหายใจตามจังหวะการเบ่งคลอดได้ ทั้งยังเบ่งคลอดได้เต็มที่ แต่ถ้าคุณแม่เจ็บปวดมาก คุณหมออาจให้ฉีดยาชาที่ไขสันหลังหรือให้ยาแก้ปวดอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด สำหรับการเจ็บครรภ์คลอดตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่คุณแม่จะสามารถคลอดได้เอง เนื่องจากปากมดลูกมีความพร้อมอย่างเต็มที่ โดยจะมีลักษณะนุ่มมาก เมื่อมดลูกบีบรัดตัว ปากมดลูกก็จะเปิดขยายออกอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะที่การเร่งคลอดถึงแม้จะกระตุ้นให้มดลูกมีการบีบตัวได้สม่ำเสมอก็จริง แต่บางครั้งปากมดลูกยังนุ่มไม่พอก็ไม่สามารถขยายตัวเปิดได้ตามปกติ จึงทำให้ไม่สามารถคลอดเองได้ โอกาสที่จะถูกผ่าคลอดตามมาจึงมีสูงกว่าคุณแม่ที่เจ็บครรภ์คลอดเองตามธรรมชาติ

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ.  “การเร่งคลอด”.  (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์)”.  หน้า 204-205.
  2. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด.  “การอยู่ไฟหลังคลอดและการอาบ-อบสมุนไพรจำเป็นหรือไม่”.  (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ)”.  หน้า 335-336.
  3. หอผู้ป่วยสูติกรรม 6 โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า.  “การเร่งคลอด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.obgyn.pmk.ac.th.  [31 ม.ค. 2016].
  4. ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “Induction of labor : การชักนำการคลอด”.  (นพ.เจษฎา ใจพรหม, ศ.นพ.ธีระ ทองสง).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th.  [31 ม.ค. 2016].

ภาพประกอบ : avivaromm.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด