การเดินทางขณะตั้งครรภ์
โดยปกติการเดินทางไปต่างจังหวัดก็ไม่มีข้อห้ามหรอกครับ ยกเว้นการเดินทางไกล ๆ เป็นเวลานานมากหรือเหนื่อยมาก คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถเดินทางไปไหนไกล ๆ หรือไปท่องเที่ยวได้ตามปกติ เพราะการเดินทางไม่มีผลต่อการแท้งและการคลอดก่อนกำหนดแต่อย่างใด แต่ควรเป็นห่วงสำหรับคุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องในช่วงระยะแรก ๆ เพราะอาจทำให้อ่อนเพลียและวิงเวียนศีรษะจนอาจเกิดอันตราย (ส่วนช่วงใกล้คลอดก็เป็นอันตรายเช่นกันครับ) รวมไปถึงคุณแม่ที่เคยมีประวัติการทำแท้งหรือเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดมาก่อน ก็ให้ระมัดระวังเพิ่มขึ้นและไม่ควรเดินทางไปไหนไกล ๆ จากบ้านมากนัก
วิธีการเดินทางในขณะตั้งครรภ์
- การนั่งรถ ไม่มีข้อห้ามครับ แต่หากคุณแม่ต้องเดินทางไกลเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้คุณแม่รู้สึกปวดเมื่อยได้ คุณแม่อาจบริหารเท้าซึ่งจะช่วยลดความปวดเมื่อยลงได้บ้าง หรือทางที่ดีก็ควรจะหยุดพักรถตามปั๊มและลงมาเดินยืดเส้นยืดสายบ้างสัก 5-10 นาที ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลาการเดินทาง แต่คงทำได้เฉพาะในกรณีที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือรถรับจ้างเท่านั้น ถ้าไปกับรถประจำทางคนขับและคนบนรถคงไม่เห็นด้วยแน่ ๆ
- ในระหว่างการเดินทางคุณแม่จะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยด้วยทุกครั้ง วิธีคาดเข็มขัดนิรภัยสำหรับคนท้องจะต้องพาดทแยงผ่านระหว่างอกพอดีและพาดเลยต่อไปที่ด้านของของลำตัว (ห้ามพาดผ่านส่วนหน้าท้อง) ส่วนเข็มขัดนิรภัยส่วนล่างจะต้องพาดผ่านบริเวณใต้ท้องให้ต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ตรงเหนือบริเวณต้นขาครับ (ห้ามเลยขึ้นไปพาดที่หน้าท้องโดยเด็ดขาด) โดยจะต้องพาดยาวจากสะโพกข้างหนึ่งไปยังสะโพกอีกข้างหนึ่ง เพราะสามารถช่วยรองรับและปกป้องแรงกระแทกจากการชนได้มากที่สุด และดึงสายตรงส่วนนี้ให้ตึง อย่าให้เกิดสภาวะหย่อน และพิจารณาดูอย่าให้มีการบิดเป็นเกลียวของตัวสาย เช่นเดียวกับพื้นที่ของร่างกายที่จะต้องมีสายเส้นนี้พาดผ่านก็ควรจะแบนเรียบเช่นกัน เพราะจะช่วยลดอาการกระตุกอย่างแรงเวลาที่เข็มขัดเกิดการกระชากตามการทำงาน (จากการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสารของ The Journal of the American Medical Association ได้ระบุว่า การเสียชีวิตของทารกในครรภ์จำนวน 4 ใน 5 ราย มีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ดังนั้นการคาดเข็มขัดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น)
- ในกรณีที่สายเข็มขัดนิรภัยยาวไม่พอสำหรับคุณแม่ท้องแก่ที่มีครรภ์ขนาดใหญ่มาก คุณแม่ควรจะหลีกเลี่ยงการโดยสารรถยนต์คันนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสารหรือคนขับก็ตาม เพราะมีความเสี่ยงเกินไปที่จะทำให้เกิดการบาดเจ็บทั้งต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้
ถ้าเป็นรถส่วนตัวก็ควรให้คุณพ่อเป็นคนขับรถ ส่วนคุณแม่ให้นั่งด้านหน้าข้างคนขับ ปรับเก้าอี้ให้อยู่ในลักษณะกึ่งเอนนอนและควรเลื่อนที่นั่งไปด้านหลังให้มากที่สุด - ควรเตรียมหมอนอิงสำหรับหนุนหลังและหมอนรองคอไว้ด้วย เพื่อป้องกันอาการเมื่อยล้าปวดหลังและปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ
- ควรปรับพัดลมแอร์ให้ถึงตัวคุณแม่เพื่อป้องกันอาการวิงเวียนที่เกิดจากอากาศภายในรถหมุนเวียนไม่มากพอ
- หมั่นหมุนข้อเท้าไปมาเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดอาการขาบวมได้
- คุณแม่ควรเตรียมอาหารว่าง น้ำดื่มสะอาด และนมกล่องติดตัวไปด้วย เพื่อช่วยแก้หิวระหว่างการเดินทาง (งดดื่มน้ำอัดลม เพราะจะทำให้แน่นท้องและท้องอืด)
- ในระหว่างการเดินทางคุณแม่จะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยด้วยทุกครั้ง วิธีคาดเข็มขัดนิรภัยสำหรับคนท้องจะต้องพาดทแยงผ่านระหว่างอกพอดีและพาดเลยต่อไปที่ด้านของของลำตัว (ห้ามพาดผ่านส่วนหน้าท้อง) ส่วนเข็มขัดนิรภัยส่วนล่างจะต้องพาดผ่านบริเวณใต้ท้องให้ต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ตรงเหนือบริเวณต้นขาครับ (ห้ามเลยขึ้นไปพาดที่หน้าท้องโดยเด็ดขาด) โดยจะต้องพาดยาวจากสะโพกข้างหนึ่งไปยังสะโพกอีกข้างหนึ่ง เพราะสามารถช่วยรองรับและปกป้องแรงกระแทกจากการชนได้มากที่สุด และดึงสายตรงส่วนนี้ให้ตึง อย่าให้เกิดสภาวะหย่อน และพิจารณาดูอย่าให้มีการบิดเป็นเกลียวของตัวสาย เช่นเดียวกับพื้นที่ของร่างกายที่จะต้องมีสายเส้นนี้พาดผ่านก็ควรจะแบนเรียบเช่นกัน เพราะจะช่วยลดอาการกระตุกอย่างแรงเวลาที่เข็มขัดเกิดการกระชากตามการทำงาน (จากการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสารของ The Journal of the American Medical Association ได้ระบุว่า การเสียชีวิตของทารกในครรภ์จำนวน 4 ใน 5 ราย มีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ดังนั้นการคาดเข็มขัดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น)
- การขับรถยนต์ส่วนตัว เรื่องนี้ไม่เป็นข้อห้ามแต่อย่างใดครับ คุณแม่สามารถขับรถได้เองตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงช่วงใกล้คลอด แต่ในระยะแรกของการตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้อง คุณแม่จะมีอาการอ่อนเพลียและเป็นลมได้ง่าย การขับรถเองอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ก็ต้องระมัดระวังให้มากขึ้น เมื่อคุณแม่ท้องแก่มากขึ้นท้องอาจโตมากจนไปค้ำพวงมาลัยรถยนต์ ถ้าเกิดอุบัติเหตุหรือเบรกแรง ๆ ก็อาจทำให้ท้องไปกระแทกกับพวงมาลัยได้ ทางที่ดีคุณแม่ก็ควรจะหาคนใกล้ชิดมาขับให้แทนจะดีที่สุดครับ แต่ถ้าคุณแม่มีความจำเป็นต้องขับรถเอง คุณแม่ก็ควรปรับที่นั่งให้อยู่ในท่าที่นั่งได้สะดวก อย่ารัดเข็มขัดแน่นมาก ไม่ควรออกรถหรือหยุดรถกะทันหัน เพราะจะทำให้เข็มขัดนิรภัยรัดแน่นมากขึ้น และไม่ควรขับรถไปไหนไกล ๆ หรือขับรถนานเกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน
- ในกรณีที่มีอาการชาบริเวณขา เคลื่อนไหวลำบาก เป็นตะคริวบ่อย ๆ ก็ควรหยุดขับรถ ยิ่งถ้าคุณแม่เป็นโรคครรภ์เป็นพิษด้วยแล้วหรือมีอาการเจ็บครรภ์คลอดก็ยิ่งไม่ควรขับรถเองด้วยเช่นกัน เพราะความเร่งรีบและเจ็บปวดอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- การขับรถประจำวันเพื่อไปจับจ่ายซื้อของหรือขับไปทำงานในระยะใกล้ ๆ คุณแม่ยังสามารถขับรถได้ตามปกติ แต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงใกล้คลอดที่คุณแม่มักจะรู้สึกอึดอัดหรือรู้สึกหน่วงท้องบ้าง คุณแม่ก็ไม่ควรขับครับ
- ถ้าขับรถเป็นเวลานาน ๆ หรือรถติดเกินกว่า 2 ชั่วโมง ก็อาจทำให้คุณแม่เกิดอาการเมื่อยล้าได้ ถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรเปลี่ยนอิริยาบถหรือขยับตัวเพื่อยืดกล้ามเนื้อบ้าง
- การขึ้นรถประจำทางหรือรถเมล์ เรื่องนี้ก็ไม่มีกฎตายตัวครับ ขึ้นอยู่กับแต่ละคนมากกว่า ในรายที่มีการตั้งครรภ์ปกติก็ไม่มีข้อห้ามอะไร แต่ควรจะตื่นเช้า ๆ หน่อย เพราะรถจะได้ไม่แน่น คุณแม่จะได้มีที่นั่งหรือได้ยืนสบาย ๆ แต่ถ้าในรถคนแน่นมาก ๆ อากาศถ่ายเทไม่เพียงพอ คุณแม่จึงอาจมีโอกาสเป็นลมได้ง่าย
- คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงรถเมล์ที่คนแน่นมาก เพราะโอกาสเกิดการกระทบกระทั่งกันจะมีสูง
- ควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะตอนขึ้นและลงบันไดหรือระหว่างที่รถเบรกและรถกระชากออกตัว ไม่ควรยืนบนบันไดหรือโหนรถเมล์
- ถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรเลือกที่นั่งตอนกลางของรถและติดกับทางเดิน เพราะจะเกิดการกระเทือนน้อยที่สุด และสะดวกในการลุกขึ้นยืดแข้งยืดขา แต่ที่สำคัญก็คือคุณแม่ไม่ควรเข้าห้องน้ำในรถยนต์โดยสาร เพราะอาจทำให้เกิดการกระทบกระเทือนจากแรงกระแทก
เมื่อถึงระยะใกล้คลอด ถ้าคุณแม่ยืนบนรถนาน ๆ ก็อาจจะทำให้เท้าบวมและเป็นตะคริวได้ง่าย - ถ้าร่างกายของคุณแม่ไม่แข็งแรงจริง ๆ ควรเลือกเดินทางโดยรถแท็กซี่จะปลอดภัยกว่า
- การนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ ในขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ ก็คงไม่เป็นอันตรายอะไร ยกเว้นถ้ารถกระแทกมาก ๆ ก็อาจทำให้แท้งลูกได้ แต่เมื่อท้องโตขึ้น การทรงตัวนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ของคุณแม่จะยิ่งลำบากมากขึ้น ทำให้มีโอกาสตกจากรถได้ง่าย แถมยังต้องระวังอุบัติเหตุและอันตรายต่าง ๆ รอบทิศทาง จึงอาจทำให้มดลูกต้องมีการเกร็งตัวบ่อย ๆ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยง หรือถ้าจำเป็นก็ต้องบอกให้ผู้ขับขี่ขับช้า ๆ ด้วยความระมัดระวังและสวมหมวกกันน็อกด้วยทุกครั้ง แต่ถ้าจะให้ดีควรเลี่ยงไปขึ้นรถสองแถวจะดีกว่าครับ (ส่วนการขับขี่มอเตอร์ไซค์หรือปั่นจักรยานก็ไม่แนะนำเช่นกันครับ เพราะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้สูง เลี่ยงได้ก็เลี่ยงไว้จะดีกว่านะครับ)
- การเดินทางด้วยรถไฟฟ้า คุณแม่ควรระมัดระวังในระหว่างขึ้นและลงบันไดเลื่อน เพราะบันไดเลื่อนมีลักษณะค่อนข้างสูงชัน หรือในระหว่างการเข้าและออกประตูรถไฟฟ้าก็ควรระวังด้วยเช่นกัน ส่วนในช่วงเร่งรีบที่มีคนใช้บริการกันหนาแน่น คุณแม่ควรระมัดระวังอุบัติเหตุทั่วไปด้วย เช่น การหกล้ม การกระทบกระแทก รวมทั้งให้เลี่ยงการผ่านทางเข้าออกอัตโนมัติ เพื่อป้องกันจังหวะของที่กั้นอาจปิดกระแทกโดนบริเวณท้องของคุณแม่ได้ (ในปัจจุบันมีทางเข้าออกเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์) นอกจากนี้คุณแม่ยังควรศึกษาเส้นทางให้รอบคอบ เพื่อที่คุณแม่จะได้ไม่เหนื่อยในการหาประตูทางออกหรือต้องเดินไกลเมื่อเข้าออกผิดประตู
- การเดินทางโดยเรือ การโดยสารเรือเดินทางขนาดใหญ่จะดูปลอดภัยกว่าเรือขนาดเล็ก เช่น เรือหางยาวหรือเร็ว ซึ่งจะมีแรงกระแทกมากกว่า
- คุณแม่ควรสำรวจร่างกายตัวเองด้วยว่าแข็งแรงเพียงพอหรือมีอาการเมาเรือง่ายหรือไม่ ถ้ามีควรงดเว้นการเดินทางโดยเรือ
- การนั่งเรือมีความเสี่ยงสูง ถ้าคุณแม่ไม่ชำนาญควรหลีกเลี่ยงไว้จะดีกว่า
- ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่ไม่ควรเดินทางโดยเรือ
- ควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มโดยเฉพาะตอนช่วงก้าวขึ้นและลงจากเรือ เพราะพื้นเรือมักเปียกอยู่เสมอ
- เมื่อขึ้นเรือแล้วควรเลือกที่นั่งบริเวณกลางเรือ เพราะบริเวณนี้จะมีแรงกระแทกน้อยกว่าส่วนของหัวเรือ
- การเดินทางด้วยรถไฟ เป็นการเดินทางที่สะดวกสบายพอสมควร (ถ้าบนรถไฟไม่แออัดก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดครับ) เพราะเมื่อมีอาการปวดเมื่อย คุณแม่ก็พอจะลุกเดินเพื่อยืดเส้นยืดสายไปตามตู้รถไฟได้บ้าง
- คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงเทศกาล เพราะผู้คนที่แออัดจะทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัด เหน็ดเหนื่อย และมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อได้ง่าย
- ควรงดเว้นการนั่งรถไฟในช่วงตั้งครรภ์อ่อน ๆ เพราะรถไฟค่อนข้างจะมีการกระแทกสูง
- ควรเลือกที่นั่งริมทางเดิน เพื่อที่คุณแม่จะได้ลุกเดินยืดเส้นยืดสายให้เลือดลมหมุนเวียนได้สะดวก
- ควรเดินทางในช่วงเวลากลางคืนเพื่อคุณแม่จะได้พักผ่อนได้อย่างเต็มที่ในช่วงการเดินทาง
- ถ้าต้องเดินทางข้ามคืนควรเลือกรถไฟตู้นอนจะดีกว่านั่งไปตลอดทั้งคืน
- คุณแม่ควรตรวจสอบด้วยว่าบนรถไฟมีบริการอาหารหรือไม่ ทางที่ดีคุณแม่ควรเตรียมอาหารไปด้วย เผื่อไม่สามารถรับประทานอาหารบนรถไฟได้
- นอกจากอาหารแล้วสิ่งที่คุณแม่ควรเตรียมไปอีกอย่างเผื่อไว้ว่ามีอาการฉุกเฉินก็คือ ยารักษาโรค
- ห้องน้ำบนรถไฟค่อนข้างจะคับแคบและไม่สะดวกสำหรับคนท้อง คุณแม่จึงควรพาคนสนิทไปเป็นเพื่อนเข้าห้องน้ำด้วยทุกครั้ง
- การเดินทางโดยเครื่องบิน คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยวิธีนี้เมื่อถึงเดือนสุดท้ายหรือช่วงใกล้คลอด เพราะอาจจะไม่ปลอดภัยหากเกิดอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ด้วยเหตุนี้สายการบินส่วนใหญ่จึงมักจะไม่อนุญาตให้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์มากกว่า 7 เดือนขึ้นไปโดยสารบนเครื่องบิน ยกเว้นในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและมีใบรับรองแพทย์มายืนยันแล้วเท่านั้นว่าคุณแม่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนและไม่มีความเสี่ยงที่จะคลอดในระยะเวลาอันใกล้นี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงของความดันภายในห้องโดยสารอาจมีอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้
- ห้ามโดยเด็ดขาดสำหรับการนั่งเครื่องบินโดยสารขนาดเล็กที่ไม่มีการปรับความดันภายในห้องโดยสาร
- คุณแม่ควรตรวจสอบกฎระเบียบของสายการบินแต่ละแห่งเอาไว้ล่วงหน้าเกี่ยวกับการอนุญาตให้หญิงตั้งครรภ์โดยสารบนเครื่องบินก่อนที่จะจองตั๋ว หรือมีข้อห้ามหรือจำเป็นต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง เพราะสายการบินแต่ละแห่งจะมีกฎระเบียบที่แตกต่างกันไป อย่างคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในช่วงอายุครรภ์ 27-28 สัปดาห์ ทางสายการบินก็อนุญาตให้เดินทางได้ เพียงแต่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์เพื่อรับรองว่าคุณแม่มีสุขภาพแข็งแรงเพียงพอสำหรับการเดินทาง (หากไม่มีอาจถูกระงับการเดินทางได้) แต่สายการบินส่วนใหญ่จะไม่อนุญาตให้คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์เกิน 36 สัปดาห์ ขึ้นเครื่องครับ
- ในกรณีที่อายุครรภ์คาบเกี่ยวช่วงที่สายการบินมีกฎระเบียบห้ามอยู่ คุณแม่จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดหลายทาง เพราะบางครั้งเจ้าหน้าที่หน้าเคาน์เตอร์ของสายการบินกับข้อมูลจากเว็บไซต์และคอลเซ็นเตอร์อาจจะไม่ตรงกัน ซึ่งอาจจะทำให้คุณแม่มาเสียเวลา
- ถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าประกันสุขภาพหรือประกันภัยการเดินทางของคุณแม่ครอบคลุมถึงปัญหาการตั้งครรภ์ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางในขณะเดินทางไปต่างประเทศหรือไม่ นอกจากนี้ยังขอให้คุณแม่ตรวจสอบด้วยว่าสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ในสถานที่ปลายทางนั้นพร้อมสำหรับการรองรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่สิ่งที่ดีที่สุดก็คือคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่ห่างไกลในขณะตั้งครรภ์
- ไม่มีข้อมูลที่ยืนยันว่าการขึ้นเครื่องบินจะเป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ เช่น อัตราการแท้ง ความผิดปกติของทารกในครรภ์ หรือการคลอดก่อนกำหนด ฯลฯ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตั้งครรภ์ของคุณแม่ด้วยว่ามีภาวะเสี่ยงต่าง ๆ หรือไม่ เช่น ภาวะรกเกาะต่ำ ปากมดลูกหย่อน เคยมีประวัติการแท้งหรือแท้งคุกคามบ่อย ฯลฯ สำหรับเครื่องสแกนร่างกายที่สนามบินนั้นจะมีทั้งแบบที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากับแบบที่ใช้รังสีเอกซ์ แต่จะเป็นปริมาณที่ต่ำมาก ๆ จึงไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด (แต่คุณหมอบางท่านก็แนะนำว่าถ้าเลี่ยงก็น่าจะปลอดภัยกว่า และขออนุญาตไม่เข้าเครื่องสแกน) และแม้การเดินทางด้วยเครื่องบินจะไม่เป็นอันตราย แต่หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ ในกรณีที่เดินทางไปต่างประเทศคุณแม่ก็ควรเตรียมแผนรองรับไว้ด้วยว่าจะต้องติดต่อหมอหรือโรงพยาบาลได้อย่างไรบ้าง
- มีคำแนะนำว่า “เพื่อความปลอดภัยคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรขึ้นบินก่อนช่วง 12 สัปดาห์ หรือช่วงหลังจาก 28 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์” แม้งานวิจัยของวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ (Royal College of Obstetricians and Gynaecologists) จะพบว่าการเดินทางบนเครื่องบินไม่มีความเสี่ยงต่อคุณแม่และลูกในครรภ์หากขึ้นบินในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ก็ตาม (เพราะในช่วงใกล้คลอดนี้อาจไปเพิ่มโอกาสกระตุ้นให้เกิดการคลอดได้ ดังนั้น ทางที่ดีคุณแม่ควรอยู่นิ่ง ๆ กับที่ไว้จะดีที่สุด)
- แม้ว่าเครื่องบินจะเป็นพาหนะที่มีแรงกระแทกค่อนข้างน้อยก็ตาม แต่ทุกครั้งที่ขึ้นบินคุณแม่ก็ควรบอกทางสายการบินด้วยว่ากำลังตั้งครรภ์ เพื่อทางสายการบินจะได้เลือกที่นั่งที่เหมาะให้กับคุณแม่ (ซึ่งควรจะเป็นที่นั่งบริเวณทางเดิน) และช่วยอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น การอนุญาตให้ขึ้นเครื่องบินก่อนผู้โดยสารท่านอื่น
- คุณแม่ควรมีคนเดินทางไปเป็นเพื่อนด้วยทุกครั้ง เพื่อช่วยเหลือในยามเกิดเหตุฉุกเฉิน
- หากคุณแม่จำเป็นต้องใช้ยาในระหว่างการเดินทาง ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ายาที่เตรียมไปนั้นมีเพียงพอสำหรับการเดินทางครั้งนี้ โปรดจำไว้ว่ายาบางอย่าง เช่น ยาป้องกันโรคมาลาเรียบางชนิดและการฉีดวัคซีนจะไม่สามารถใช้ในระหว่างการตั้งครรภ์ได้ ถ้าประเทศปลายทางมีข้อกำหนดของการป้องกันโรคตามที่กล่าว และอาจจะเป็นการดีกว่าในการเลื่อนการเดินทางไปช่วงหลังคลอด
- สำหรับการเลือกที่นั่งคุณแม่ควรเลือกที่นั่งบริเวณริมทางเดินเพื่อที่คุณแม่จะสามารถลุกเดินยืดตัวและเข้าห้องน้ำได้สะดวก และถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะเลือกบริเวณที่นั่งแถวหน้าสุด เพื่อคุณแม่จะได้เหยียดขาได้สะดวก หรือที่นั่งบริเวณปีกของเครื่องบินเพราะบริเวณนี้มีการสั่นน้อยที่สุด ที่สำคัญที่สุดคุณแม่จะต้องคาดเข็มขัดลงต่ำถึงบริเวณข้อสะโพกด้วยเสมอและนอนหลับให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ในการเดินทางไกลคุณแม่ควรพยายามเหยียดส้นเท้าและปลายเท้าสลับกันเป็นพัก ๆ ตลอดช่วงระยะเวลาการเดินทางเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น รวมถึงลุกขึ้นเดินเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถบ้างทุก ๆ 1 ชั่วโมง ในขณะเดินควรหาที่จับเพื่อช่วยในการทรงตัวและป้องกันการสะดุดล้มด้วย เพราะบนเครื่องบินจะค่อนข้างคับแคบ
- ในกรณีที่เดินทางไกลมาก ๆ และใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง คุณแม่ควรสวมใส่ถุงเท้าชนิดที่ใช้เฉพาะระหว่างเที่ยวบิน (flight socks หรือ elastic compression stockings) ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (deep vein thrombosis – DVT) ได้บ้างเล็กน้อย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การเดินทางด้วยรถยนต์ รถประจำทาง หรือรถไฟเป็นระยะเวลานาน ๆ ก็อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน แต่ไม่ต้องตกใจถึงขนาดต้องยกเลิกการเดินทางครับ เพราะโอกาสในการเกิดภาวะนี้มีน้อยมาก เพียงแค่ปฏิบัติตามคำแนะนำคุณแม่ก็สามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัยแล้วครับ
- คุณแม่อาจเตรียมอาหารส่วนตัวไปด้วยเผื่อรับประทานอาหารบนเครื่องบินไม่ได้ ที่สำคัญควรรับประทานแต่อาหารที่ย่อยได้ง่ายแต่พออิ่มท้อง
- คุณแม่ควรดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ เพราะอากาศบนเครื่องบินจะมีความชื้นน้อย ส่วนเครื่องดื่มชา กาแฟ และน้ำอัดลม คุณแม่ควรหลีกเลี่ยง เพราะจะทำให้เกิดอาการอึดอัดแน่นท้อง หากปวดปัสสาวะให้หาจังหวะเข้าห้องน้ำช่วงที่ว่างเสมอ
- ในกรณีที่เดินทางไกลข้ามทวีป คุณแม่ควรมีเวลาพักผ่อนหลังจากเดินทางประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้หายเหนื่อย หายเครียดจากการเดินทาง และให้ร่างกายได้ปรับตัวกับสถานที่และเวลาที่แตกต่างกัน
- การเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ใช่ข้อห้ามแต่อย่างใดครับ แต่คุณแม่ควรจัดเตรียมยาไปให้พร้อมด้วยเสมอ หากมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยจะได้ช่วยตัวเองได้ และคุณแม่ควรระวังในเรื่องของอาหารการกินให้มากเป็นพิเศษ เลือกเอาที่แน่ใจว่าสะอาดปลอดภัยและดื่มน้ำสะอาดที่บรรจุขวดจะปลอดภัยที่สุด (อาจมีบางประเทศที่บังคับให้คุณแม่ฉีดวัคซีนก่อน คุณแม่ต้องดูด้วยว่าเป็นวัคซีนประเภทใด เพราะวัคซีนบางชนิดอาจมีผลต่อคุณแม่และลูกน้อยได้)
- การเดินทางไปท่องเที่ยวของคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่ควรเลือกเดินทางไปท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่ปลอดภัย ไม่มีลักษณะผจญภัยผาดโผนมากจนเกินไป เช่น ภูเขาสูง หรือไปในแหล่งที่มีโรคระบาดมาลาเรีย โรคทางเดินอาหาร เป็นต้น
- ควรเตรียมจองที่พักเอาไว้ให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทางเสมอ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาเดินทางไปหาที่พัก
- ในระหว่างการตั้งครรภ์คุณแม่ไม่ควรใช้เวลาในการท่องเที่ยวยาวนานเกินไป ควรไปที่ใดเพียงที่เดียว เช่น ไม่เที่ยวหลาย ๆ จังหวัดภายในเวลา 2-3 วัน เพราะจะทำให้ร่างกายของคุณแม่อ่อนล้า คุณแม่ควรใช้เวลาสบาย ๆ เที่ยว 2-3 ชั่วโมง สลับกับการนั่งพักหรือนอนพัก ไม่ใช่เที่ยวตลอดทั้งวัน แต่ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกเที่ยวใกล้บ้านจะดีที่สุดครับ
- ควรหลีกเลี่ยงการดำน้ำ เพราะคุณแม่และทารกในครรภ์มีโอกาสได้รับอันตรายร้ายแรงจากสภาวะความกดอากาศใต้น้ำ รวมถึงการเล่นกีฬาทางน้ำทุกประเภท เช่น สกีน้ำ เรือใบ เจ็ตสกี ฯลฯ เพราะอาจทำให้เกิดการกระทบกระแทกที่รุนแรงจากการเล่นกีฬาเหล่านี้ได้ แต่สำหรับการว่ายน้ำเพื่อออกกำลังกายนั้นยังทำได้ตามปกติ แต่ก็ไม่ควรหักโหมและควรมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด
กฎระเบียบของสายการบินแต่ละแห่ง
- สายการบินไทย (Thai Airways) มีกฎว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่มีโรคแทรกซ้อนสามารถเดินทางได้ ยกเว้นในกรณีที่คุณแม่มีอายุครรภ์เกิน 36 สัปดาห์ แต่คุณแม่จะต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย เช่น กำหนดคลอด สำหรับเที่ยวบินที่บินน้อยกว่า 4 ชั่วโมง คุณแม่จะต้องมีอายุครรภ์ไม่เกิน 36 สัปดาห์ แต่ถ้ามากกว่า 4 ชั่วโมง จะต้องมีอายุครรภ์ไม่เกิน 34 สัปดาห์ ส่วนในกรณีที่คุณแม่มีอายุครรภ์เกิน 28 สัปดาห์ จะต้องใช้ใบรับรองแพทย์ด้วย (อายุไม่เกิน 7 วัน) แต่ถ้าไม่มีใบรับรองแพทย์ ทางสายการบินสามารถปฏิเสธไม่ให้คุณแม่ขึ้นเครื่องได้
- สายการบินแอร์ เอเชีย (Air Asia) คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 27 สัปดาห์ จะต้องกรอกแบบฟอร์มสละสิทธิ์การเรียกร้อง ณ เวลาเช็กอิน ส่วนคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ระหว่าง 28-34 สัปดาห์ จะต้องมีใบรับรองแพทย์ (อายุไม่เกิน 30 วัน) ที่ยืนยันอายุครรภ์และรับรองความพร้อมของผู้เดินทาง และสำหรับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 35 สัปดาห์ขึ้นไป ทางสายการบินจะไม่อนุญาตให้คุณแม่ขึ้นเครื่องได้
- สายการบินเอมิเรตส์ (Emirates) เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ได้ 29 สัปดาห์ จำเป็นต้องใช้ใบรับรองแพทย์ ในกรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์ทารกมากกว่า 1 คน ทางสายการบินจะไม่อนุญาตให้คุณแม่เดินทางโดยเครื่องบินหลังสัปดาห์ที่ 32 ของการตั้งครรภ์ สำหรับการตั้งครรภ์ทารกเพียงคนเดียวนั้น การเดินทางหลังจากสัปดาห์ที่ 36 ของการตั้งครรภ์อาจทำได้ หากผ่านการตรวจสอบเบื้องต้นของแผนกการแพทย์ของทางสายการบินแล้วเท่านั้น
- สายการบินคาเธ่ แปซิฟิก (Cathay Pacific) คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ จำเป็นต้องใช้ใบรับรองแพทย์ (อายุไม่เกิน 21 วัน) ทางสายการบินจะอนุญาตให้เฉพาะคุณแม่ที่มีการตั้งครรภ์ทารกคนเดียวที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนซึ่งมีระยะครรภ์สูงสุด 3 สัปดาห์ แต่สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจะได้สูงสุด 32 สัปดาห์
คำแนะนำ : บางประเทศมีการกำหนดข้อจำกัดในการเข้าประเทศของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ใช่ผู้ถือสัญชาติเอาไว้ คุณแม่ควรตรวจสอบกับสถานกงสุลในประเทศเพื่อขอรับการยืนยันในข้อกำหนดที่เฉพาะเจาะจงของประเทศนั้น ๆ
คำแนะนำในการเดินทางขณะตั้งครรภ์
- คุณแม่ที่ไม่มีความเสี่ยงใด ๆ (ตามที่กล่าวในหัวข้อถัดไป) สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ แต่ช่วงตั้งครรภ์ 16-28 สัปดาห์หรือในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์จะเป็นช่วงที่สบายและปลอดภัยที่สุดครับ ถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไกล ๆ ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ (โดยเฉพาะในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์) เพราะเป็นช่วงที่คุณแม่ต้องปรับตัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีอาการแพ้ท้อง และเสี่ยงต่อการแท้งได้ง่าย ส่วนการเดินทางไกลในช่วงไตรมาสที่ 3 จนถึงก่อนคลอด คุณแม่ควรปรึกษาหมอก่อนเสมอ เพื่อให้คุณหมอได้ตรวจสุขภาพก่อน หากมีอาการเจ็บป่วยก็ควรพักผ่อนและรักษาตัวให้หายก่อนออกเดินทาง ยิ่งในช่วงการตั้งครรภ์หลังสัปดาห์ที่ 36 ด้วยแล้ว ถ้าคุณแม่ไม่มีธุระจำเป็นเร่งด่วนก็ไม่ควรจะเดินทางไปไหนไกล ๆ ครับ เพราะคุณแม่อาจมีการคลอดก่อนกำหนดเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้ยุ่งยากและอาจเป็นอันตรายต่อตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ (แต่ควรวางแผนและเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอดและไปโรงพยาบาลแทนจะดีกว่า)
- คุณแม่ควรเตรียมของกินและของใช้ที่จำเป็นไปด้วย เช่น ยา ยาฆ่าเชื้อโรค นมที่ดื่มอยู่ประจำ รวมถึงน้ำดื่มสะอาด เพราะบางที่น้ำดื่มอาจไม่สะอาดก็ได้ แต่หากไม่ได้พกน้ำไปด้วยก็ควรดื่มน้ำแบบบรรจุขวดแทน ส่วนของใช้ที่คุณแม่ควรนำติดตัวไปด้วยจากของใช้ส่วนตัวต่าง ๆ ก็คือ รองเท้าที่สวมใส่สบาย
- ควรพกยาดม ยาหอม หรือลูกอมที่มีรสหวานหรือบ๊วยติดกระเป๋าไว้เสมอในขณะเดินทาง เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันอาการน้ำตาลในเลือดต่ำแล้ว ยังช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ด้วย
- ถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรจดบันทึกย่อ ๆ เกี่ยวกับสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ ยาที่คุณแม่ใช้ และปัญหาที่มีในการตั้งครรภ์ รวมถึงชื่อและเบอร์โทรติดต่อของคุณหมอที่ดูแล พร้อมทั้งตรวจสอบรายชื่อสูติแพทย์หรือโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้กับสถานที่ที่คุณแม่จะไป และควรจดชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรติดต่อไว้ด้วยเผื่อในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งคุณแม่สามารถขอรับข้อมูลดังกล่าวได้จากสถานทูตของประเทศนั้น ๆ ตามศูนย์ข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว หรือตามโรงแรมที่พักในต่างประเทศ
- ตรวจสอบการประกันอุบัติในการเดินทางด้วยว่าครอบคลุมถึงการตั้งครรภ์และลูกน้อยในครรภ์หรือไม่อย่างไร สำหรับกรณีที่คลอดบุตรก่อนกำหนด
- เมื่อต้องเดินทางเป็นเวลานานโดยใช้รถไฟหรือเครื่องบิน ถ้าคุณแม่เป็นคนหลับยาก ก็ควรจะจัดเตรียมผ้าปิดตา หมอน หรือเครื่องอุดหูไว้ด้วยเสมอ
- ช่วงเดินทางคุณแม่ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ใช่รับประทานแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์เพื่อความอร่อยเพียงอย่างเดียว
- โดยปกติแล้วคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตันที่ขาได้อยู่แล้ว ยิ่งถ้าต้องเดินทางเป็นเวลานาน ๆ ทั้งการนั่งรถหรือเครื่องบินก็ควรจะมีการขยับแข้งขยับขาหรือลุกขึ้นเดินบ้างเป็นระยะ ๆ
- คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการถือของหนักในระหว่างการตั้งครรภ์
- ในระหว่างเดินทางหรือท่องเที่ยว คุณแม่ไม่ควรกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน เพราะอาจส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบและมีเชื้อโรคหลุดลอดเข้าไปในครรภ์จนเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นคุณแม่ควรถ่ายปัสสาวะทุก ๆ 2 ชั่วโมง และหากเกิดปัญหาหรือมีเหตุฉุกเฉินกับคุณแม่ตั้งครรภ์ก็ให้รีบไปโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดในทันที
ข้อห้ามในการเดินทางขณะตั้งครรภ์
- สำหรับคำแนะนำในเบื้องต้นที่กล่าวมานั้น ผมแนะนำไว้สำหรับ “คุณแม่ตั้งครรภ์ปกติ” เท่านั้นนะครับ เพราะถ้าตั้งครรภ์ผิดปกติ เช่น มีเลือดออกจะแท้งบุตรหรือเคยมีประวัติการแท้งบุตรมาก่อน ในระยะ 3-4 เดือนแรกก็ควรจะระมัดระวังเรื่องการเดินทางให้มากขึ้น พยายามอย่าให้กระทบกระแทก ไม่ยืนบนรถเมล์เป็นเวลานาน ๆ ในกรณีที่มีรกเกาะต่ำ การขับรถเองหรือนั่งรถที่กระแทกแรง ๆ หรือนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ เหล่านี้ก็อาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ตกเลือดได้
- ปัญหาที่เกิดจากการเดินทางในระหว่างการตั้งครรภ์คือ คนท้องต้องได้รับออกซิเจนจากอากาศแล้วถ่ายเทไปให้ลูกน้อยในครรภ์ ดังนั้น คุณแม่จึงไม่ควรขึ้นไปอยู่บนภูเขาสูง ๆ หรือยอดดอย เพราะจะมีปริมาณของออกซิเจนในอากาศน้อย เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ (หากจำเป็นต้องเดินทางไปในที่สูง คุณแม่ควรเตรียมร่างกายให้พร้อม พยายามใช้แรงให้น้อยที่สุดเมื่ออยู่บนพื้นที่สูง หากพบความผิดปกติให้รีบกลับสู่พื้นราบโดยเร็ว) หรือเลี่ยงเดินทางโดยเครื่องบิน รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่ที่แออัด ยิ่งตอนใกล้คลอดยิ่งไม่ควรเดินทางโดยพาหนะใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะจะมีโอกาสที่ลูกอาจจะคลอดก่อนกำหนดได้
- คุณแม่ไม่ควรเดินทางไปในแหล่งที่มีโรคระบาดมาลาเรีย โรคทางเดินอาหารและจากแมลง รวมถึงแหล่งที่ต้องฉีดวัคซีนชนิดที่ไวรัสยังมีชีวิต เพราะร่างกายของคุณแม่จะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคสูงกว่าคนทั่วไป
- ในขณะใกล้คลอดไม่ควรเดินทางไกลโดยพาหนะใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะมีโอกาสที่ลูกอาจจะคลอดก่อนกำหนดได้ ถ้าคุณแม่ไปเจ็บท้องคลอดบนเครื่องบินคงจะโกลาหลอลหม่านพิลึก นักบินคงต้องรีบหาสนามบินลงจอดฉุกเฉินกันล่ะครับ เพราะการคลอดบนเครื่องบินอาจจะมีอันตรายได้มาก แต่ถ้าคลอดในรถ คนขับรถเขาก็คงจะดีใจนะครับ เพราะถือว่าเป็นการเอาโชคมาให้ แต่ก็คงทุลักทุเลน่าดู แม้จะเป็นการคลอดที่ปกติและไม่มีปัญหาใด ๆ ก็ตาม แต่ถ้าผิดปกติ คุณแม่เกิดตกเลือดขึ้นมาหรือรกไม่คลอดก็จะช่วยได้ยาก เพราะเครื่องมือและยารักษาก็ไม่มี (ถึงมีอยู่ก็อาจใช้กันไม่เป็น) ดังนั้น อย่าเสี่ยงเดินทางไกล ๆ ในช่วงตั้งครรภ์แก่จะดีที่สุดครับ
- สำหรับคุณแม่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติการแท้งบุตรหรือเคยมีภาวะแท้งคุกคามก่อน, เคยตั้งครรภ์นอกมดลูก (ควรตรวจก่อนว่าในครรภ์นี้ไม่ใช่ครรภ์นอกมดลูก), เคยคลอดก่อนกำหนด, มีประวัติตั้งครรภ์ลำบาก, ตั้งครรภ์แรกที่อายุมากกว่า 35 ปี หรือน้อยกว่า 15 ปี, มีประวัติรกเกาะผิดปกติ, มีประวัติเป็นโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง, มีประวัติโรคลิ้นหัวใจหรือหัวใจวาย, มีประวัติลิ่มเลือดอุดที่เส้นเลือด Thromboembolic disease, ปากมดลูกปิดไม่สนิท, กำลังตั้งครรภ์แฝด, มีเลือดออก, รกเกาะต่ำ, มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โลหิตจาง โรคปอด หรือตับ หรือการตั้งครรภ์ก่อนหน้านี้เกิดจากการรักษาเรื่องมีบุตรยาก ผสมเทียม หรือทำเด็กหลอดแก้ว ก็ไม่ควรจะเดินทางไปท่องเที่ยวตามต่างจังหวัดถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ และไม่ควรไปทำธุระไกล ๆ ด้วยเช่นกัน
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด. “การเดินทางระหว่างตั้งครรภ์”. (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ). หน้า 110-112.
- หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ. “เดินทาง ท่องเที่ยว”. (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์). หน้า 107.
- M & C แม่และเด็ก. “คุณแม่ท้องก็เดินทางได้”. (ทพ.ดร.รัชภูมิ เผ่าเสถียรพันธ์ ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : motherandchild.in.th. [12 ธ.ค. 2015].
- สำนักงานขนส่งจังหวัดพิษณุโลก กระทรวงคมนาคม. “คุณแม่ตั้งครรภ์เดินทางปลอดภัย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : phitsanulok.dlt.go.th. [12 ธ.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.airasia.com, www.momjunction.com, www.texasclickitorticket.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)