การอยู่ไฟ
การอยู่ไฟหลังคลอด เป็นเรื่องคุ้นเคยกันดีและเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ของคนสมัยก่อน เพราะคนสมัยนั้นเชื่อว่าคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตัว สรีระ หรือหน้าท้อง ทำให้หลังคลอดคุณแม่มีอาการปวดเมื่อยหรืออักเสบของกล้ามเนื้อบริเวณสันหลังหรือที่ขา ดังนั้นจึงมีผู้คิดค้นวิธีดังกล่าว โดยอาศัยภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อฟื้นฟูร่างกายของคุณแม่หลังคลอด เพื่อปรับสมดุลในร่างกายให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว โดยใช้ความร้อนเข้าช่วย แต่สำหรับคุณแม่ยุคใหม่ในปัจจุบันอาจจะยังไม่ค่อยรู้จักกัน หรือยังไม่เคยเห็นว่าเขาทำกันอย่างไร และคุณแม่บางรายเกิดปัญหาว่าได้รับคำแนะนำหรือถูกบังคับโดยคุณย่าคุณยายให้อยู่ไฟหลังคลอดหลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว ซึ่งการอยู่ไฟจะมีประโยชน์และโทษอย่างไร แล้วสมควรจะทำหรือไม่นั้น ไปดูกันเลยดีกว่าครับ
การอยู่ไฟของคนไทยได้ทำสืบต่อกันมานานแล้ว จนบางคนเรียกระยะหลังคลอดว่า “ระยะอยู่ไฟ” แม้ในวรรณคดีของไทยอันเก่าแก่เองก็ยังกล่าวถึงเรื่องการอยู่ไฟด้วย “เพราะเชื่อกันว่าการอยู่ไฟจะช่วยเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกายและจิตใจ รวมทั้งช่วยบรรเทาความปวดเมื่อยลงได้ และถือกันว่าเป็นการบำบัดโรคหลังคลอด ทำให้คุณแม่มีสุขภาพดีในภายหน้า เมื่อแก่ตัวลงก็ยังคงแข็งแรงเหมือนเดิม”
สาเหตุของการอยู่ไฟ
การอยู่ไฟเป็นกระบวนการดูแลหญิงหลังคลอดที่คนสมัยโบราณ “เชื่อว่าจะช่วยทำให้ร่างกายฟื้นจากความเหนื่อยล้าให้กลับคืนสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว โดยใช้ความร้อนเข้าช่วย ทำให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นบริเวณหลังและขาที่เกิดจากการกดทับในขณะตั้งครรภ์ได้คลายตัว ช่วยลดอาการปวดเมื่อยตามตัว ทำให้เลือดลมไหลเวียนได้ดี ช่วยปรับสมดุลร่างกายของคุณแม่ให้เข้าที่ อาการหนาวสะท้านที่เกิดจากการเสียเลือดและน้ำหลังคลอดมีอาการดีขึ้น ทำให้มดลูกที่ขยายตัวได้หดรัดตัวหรือเข้าอู่ได้เร็ว พร้อมกับช่วยให้ปากมดลูกปิดได้ดี จึงป้องกันการติดเชื้อในโพรงมดลูกหลังคลอด ทำให้น้ำคาวปลาแห้งเร็ว ลดการไหลย้อนกลับจนนำไปสู่ภาวะเป็นพิษ”
ในสมัยก่อนหมอตำแยจะไม่ได้เย็บแผลช่องคลอดที่ฉีกขาดจากการคลอด จึงต้องให้คุณแม่นอนบนกระดานแผ่นเดียวจะได้หนีบขาทั้งสองข้างไว้ ช่วยให้แผลติดกันได้ แต่เมื่อนอนไปนาน ๆ ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหวก็จะทำให้เกิดความอ่อนล้า เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก เมื่อจะลุกก็อาจจะเป็นลมได้ จึงต้องมีการผิงไฟเพื่อช่วยให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น การไหลเวียนของเลือดจึงดีขึ้นตามไปด้วย และเชื่อกันว่าจะทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วยิ่งขึ้นด้วยครับ
แต่ในสมัยปัจจุบันเมื่อคุณแม่คลอดลูกที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย เมื่อหมอทำคลอดให้เสร็จก็จะมีการเย็บซ่อมแผลที่ฉีกขาด หรือตัดช่องคลอดแล้วเย็บให้เรียบร้อย คุณแม่จึงไม่จำเป็นต้องนอนนิ่ง ๆ นาน ๆ แต่อย่างใด เพราะการที่ร่างกายไม่เคลื่อนไหวนั้นจะทำให้น้ำคาวปลาไหลไม่สะดวก คุณแม่จึงมีโอกาสติดเชื้ออักเสบในโพรงมดลูกได้สูงมาก นอกจากนี้การนอนอยู่นิ่ง ๆ นาน ๆ ในที่อับลมยังเป็นการเพิ่มความเครียดให้คุณแม่อีกด้วย จึงไม่เป็นผลดีแต่อย่างใด
ส่วนการที่ต้องผิงไฟอยู่ตลอดเวลา ร่างกายก็จะเสียเหงื่อไปมาก หมอตำแยจึงต้องให้คุณแม่กินข้าวกับเกลือหรือปลาเค็มเพื่อทดแทนเกลือแร่ที่สูญเสียไปกับเหงื่อ และสั่งให้งดอาหารแสลงหลาย ๆ อย่างด้วย เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น ทั้ง ๆ ที่อาหารเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ในการเสริมสร้างร่างกายของคุณแม่ในส่วนที่บอบช้ำจากการคลอด และยังมีประโยชน์ต่อการสร้างน้ำนมด้วย คุณแม่จึงไม่ควรงดของแสลงเหล่านี้อย่างที่ปฏิบัติกันมาแต่อย่างใด ยกเว้นแต่ว่าคุณแม่แพ้อาหารชนิดนั้น ๆ อยู่แล้ว
การอยู่ไฟสมัยโบราณ
การอยู่ไฟมีอยู่ด้วยกันหลายชนิดตามแต่จะนิยมกัน ซึ่งผู้คลอดจะนอนอยู่บนกระดานแผ่นใหญ่ที่เรียกว่า “กระดานไฟ” ถ้ายกกระดานไฟให้สูงขึ้นแล้วเลื่อนกองไฟเข้าไปใกล้ ๆ หรือเอากองไฟมาก่อไว้ใต้กระดานก็จะเรียกว่า “อยู่ไฟญวน” หรือ “ไฟแคร่” (นอนบนไม้กระดาน ส่วนเตาไฟอยู่ใต้แคร่ มีแผ่นสังกะสีรองทับอีกที เหมือนการนอนปิ้งไฟดี ๆ นี่เองครับ) แต่ถ้านอนบนกระดานไฟซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับพื้นและมีกองไฟอยู่ข้าง ๆ จะเรียกว่า “อยู่ไฟไทย” หรือ “ไฟข้าง” (ก่อไฟอยู่ข้างตัวบริเวณท้อง) บ้างก็เรียกกันไปตามชนิดของฟืน ถ้าใช้ไม้ฟืนก่อไฟก็เรียกว่า “อยู่ไฟฟืน” (นิยมใช้ไม้มะขาม เพราะไม่ทำให้ฟืนแตก) แต่ถ้าใช้ถ่านก่อไฟก็จะเรียกว่า “อยู่ไฟถ่าน” และข้าง ๆ กองไฟมักจะมีภาชนะใส่น้ำร้อนเอาไว้เพื่อใช้ราดหรือพรมไม่ให้ไฟลุกแรงเกินไป
คนส่วนใหญ่ในสมัยก่อนจะนิยมอยู่ไฟข้างมากกว่าอยู่ไฟแคร่ โดยสามีหรือญาติจะเป็นคนจัดเตรียมที่นอนสำหรับการอยู่ไฟและคอยดูแลเรื่องฟืนไฟที่จะต้องไม่ร้อนเกินไปให้ เพราะคุณแม่จะต้องอยู่ในเรือนไฟนานถึง 7-15 วัน และห้ามออกจากเรือนไฟโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้อุณหภูมิร่างกายของคุณแม่ปรับตัวไม่ทัน ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและไม่สบายได้ การอยู่เรือนไฟในสมัยก่อนนั้นคุณแม่หลังคลอดทุกคนจะต้องเข้าเรือนไฟที่สร้างเป็นกระท่อมหลังคามุงจาก แล้วเข้าไปนอนผิงไฟ พร้อมกับลูกน้อยที่จะเอาใส่กระด้ง ร่วมอยู่ไฟกับคุณแม่บนกระดานไม้แผ่นเดียวและจะต้องทำขาให้ชิดกัน เพื่อให้แผลฝีเย็บติดกัน ซึ่งคนโบราณจะเรียกว่า “การเข้าตะเกียบ” การอยู่ไฟอาจมีการนวดประคบด้วยขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในคุณแม่แต่ละคน นอกจากนี้ในทุก ๆ วันคุณแม่ยังต้องอาบน้ำร้อนและดื่มเฉพาะน้ำอุ่น (ห้ามรับประทานน้ำเย็นหรือของเย็น ๆ) และงดอาหารแสลงหลายอย่าง ซึ่งอาหารหลักก็คือการกินข้าวกับเกลือหรือกับปลาเค็ม เพราะคนโบราณเชื่อว่าจะไปทดแทนเกลือที่ร่างกายต้องเสียไปทางเหงื่อที่ไหลออกระหว่างการอยู่ไฟได้
ส่วนทางภาคอีสานจะเรียกการอยู่ไฟว่า “อยู่กรรม” เพราะเชื่อกันว่าคุณแม่คนใดที่ไม่อยู่ไฟ ร่างกายจะผอมแห้ง ผิวพรรณซูบซีด ไม่มีน้ำนม กินผิดสำแดงได้ง่าย ซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรงของผู้หญิงในสมัยก่อน ส่วนจำนวนวันในการอยู่ไฟนั้น ถ้าเป็นการคลอดครั้งแรกจะอยู่นานกว่าคลอดครรภ์หลัง เมื่ออยู่ครบแล้วก็จะมีพิธีออกไฟในตอนเช้ามืด ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข
การอยู่ไฟสมัยใหม่
ในบ้านเมืองและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป มีคนอยู่หนาแน่นมากขึ้น รวมทั้งสภาพห้องที่ต้องปิดมิดชิด การที่จะก่อไฟบนพื้นบ้านหรือพื้นห้องนอนจึงไม่สามารถทำได้เหมือนแต่ก่อน ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือมีวิวัฒนาการไปตามสภาพสังคม ซึ่งการอยู่ไฟสมัยปัจจุบันนี้จะเปลี่ยนจากการให้ความร้อนทั่วตัวมาเป็นการให้ความร้อนเฉพาะบริเวณหน้าท้องโดยไม่ต้องสุมกองไฟ ที่ใช้กันอยู่ก็มี 2 วิธี คือ
- ใช้กระเป๋าน้ำร้อน โดยนำกระเป๋าน้ำร้อนมาวางบริเวณหน้าท้อง ซึ่งวิธีนี้เป็นวิวัฒนาการล่าสุดของการอยู่ไฟ การใช้กระเป๋าน้ำร้อนวางก็เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดลงได้บ้าง แต่ถ้ากระเป๋าร้อนเกินไปหรือเกิดรั่วขึ้นมา หน้าท้องก็อาจจะพองได้เช่นกัน
- ใช้ไฟชุด หรือ ชุดคาดไฟ เป็นชุดที่ประกอบไปด้วยกล่องอะลูมิเนียมสำหรับใส่ชุดซึ่งเป็นเชื้อไฟ เมื่อจุดไฟแล้วก็ใส่กล่องไว้ กล่องจะร้อน มีสายคาดรอบ ๆ เอว 3-4 กล่อง ลักษณะคล้ายกับสายคาดปืนในหนังคาวบอย บางทีถ้าร้อนมากเกินไปก็อาจทำให้ผิวหนังหน้าท้องพองได้ คุณแม่บางคนจึงพันผ้ารอบ ๆ กล่องจนหนาก่อนเพื่อป้องกันผิวหนังไหม้พอง
การอยู่ไฟร่วมสมัย
การดูแลคุณแม่หลังคลอดด้วยการอยู่ไฟในปัจจุบันยังคงมีให้เห็นกันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัด ซึ่งยังคงใช้รูปศัพท์เดิม คือ “การอยู่ไฟ” แต่วิธีการได้เปลี่ยนแปลงไป เพราะการแพทย์สมัยใหม่ได้เข้ามาแทนที่ แต่ช่วงหลังได้มีการส่งเสริมให้มีการอยู่ไฟด้วยแพทย์แผนไทยประยุกต์กันมากขึ้น การอาบ-อบสมุนไพรจึงถือเป็นกระบวนการหนึ่งของการอยู่ไฟด้วย ซึ่งหลัก ๆ จะประกอบไปด้วยการนวดประคบ การเข้ากระโจม อาบน้ำสมุนไพร และลงท้ายด้วยการนาบหม้อเกลือ (อาจมีบริการเสริมอื่น ๆ ด้วยแตกต่างกันไป)
- การนวดประคบ โดยใช้ลูกประคบร้อนที่ห่อไปด้วยสมุนไพรต่าง ๆ มากกว่า 10 ชนิด เช่น ขมิ้น ตะไคร้ การบูร ใบส้มป่อย เถาเอ็นอ่อน ฯลฯ มานวดคลึงตามบริเวณร่างกายและเต้านม หรือนั่งทับลูกประคบ 1 ลูก เพื่อช่วยลดอาการปวดเมื่อยและรักษาแผลหลังคลอด
- การเข้ากระโจมและอบสมุนไพร ถือเป็นขั้นตอนหลักของการอยู่ไฟเลยก็ว่าได้ เพราะการเข้ากระโจมอบไอน้ำด้วยสมุนไพรนานาชนิดจะช่วยให้รูขุมขนได้ขับของเสียและทำความสะอาดผิวให้เปล่งปลั่งขึ้น ในขั้นตอนนี้จะเป็นการอบตัวด้วยไอน้ำร้อนโดยให้คุณแม่หลังคลอดเข้าไปนั่งบนม้านั่ง แล้วเอาผ้าห่มทำกระโจมคลุมไว้ และส่วนใหญ่จะคลุมศีรษะไว้ด้วย อากาศภายในกระโจมนั้นจะอับมาก อาจโผล่หน้าออกมาได้ แล้วเอาหม้อน้ำที่ต้มเดือดไปใส่ไว้ภายในกระโจม ซึ่งในหม้อนั้นจะมีน้ำสมุนไพรเป็นสารระเหย เช่น มะกรูด ตะไคร้ (ช่วยให้ระบบทางเดินหายใจคล่องขึ้น), ไพร (ช่วยลดอาการปวดเมื่อย), ขมิ้นชัน (ลดอาการเคล็ดขัดยอก), การบูร พิมเสน (ช่วยให้หายใจสดชื่น), ผักบุ้งแดง (ช่วยบำรุงสายตา), หัวหอมแดง, ใบมะขาม, ใบส้มป่อย, ใบส้มเสี้ยว, เปลือกส้มโอ และสมุนไพรอื่น ๆ เพื่อให้สมุนไพรซึมผ่านผิวหนังเข้าไปบำรุงผิวพรรณและขับน้ำคาวปลาได้ดียิ่งขึ้น เมื่ออบตัวเสร็จก็จะเอาน้ำที่เหลือมาอาบหรือทาตัวภายหลังก็ได้ คุณแม่พอคิดสภาพตามแล้วอาจรู้สึกร้อน ๆ แต่วิธีนี้ไม่มีอันตรายครับ ถ้าร่างกายโดยเฉพาะใบหน้าไม่ถูกไอน้ำร้อนนานเกินไป ซึ่งไม่น่าจะนานเกิน 15 นาที และคุณแม่ต้องระวังอย่าให้น้ำร้อนลวก วิธีนี้จะทำให้เหงื่อออกมากซึ่งจะเป็นการช่วยลดน้ำหนักไปด้วยในตัวครับ ส่วนคุณแม่ที่มีตู้อบไอน้ำอยู่ที่บ้าน ถ้ามีอยู่แล้วจะอบไอน้ำก็ได้ แต่อย่าให้นานเกินไป ควรใช้ครั้งละไม่เกิน 15 นาที วันละครั้งก็พอ เพราะถ้านานเกินไปอาจทำให้คุณแม่เป็นลมเนื่องจากร่างกายเสียเกลือแร่ไปมาก แต่ถ้าไม่มีตู้อบก็ไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อมาเพื่ออบตัวหลังคลอดครับ เพราะยังมีวิธีที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ได้โดยไม่ต้องเสียเงิน เช่น การบริหารร่างกายหลังคลอด
- การนาบหม้อเกลือ หรือ การทับหม้อเกลือ หรือ การนึ่งหม้อเกลือ เป็นขั้นตอนการใช้หม้อเกลือมาประคบหน้าท้องและตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย พร้อมทั้งนวดไปด้วย ความร้อนจากหม้อเกลือจะช่วยให้รูขุมขนเปิด สมุนไพรซึมผ่านลงผิวหนังไปช่วยขับน้ำคาวปลาและของเสียออกมาตามรูขุมขน และช่วยให้มดลูกหดรัดตัวเข้าอู่เร็วขึ้น ซึ่งหม้อเกลือจะเป็นหม้อดินเล็ก ๆ ใส่เกลือเม็ดแล้วเอาไปตั้งไฟให้ร้อน แล้ววางบนใบพลับพลึง ใช้ผ้าห่อโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง ใช้ประคบหรือนาบไปตามตัวโดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง เพื่อหวังจะให้หน้าท้องยุบลง ซึ่งก็ไม่ได้ผลดีเท่าไรครับ แต่การบริหารร่างกายจะช่วยได้มากกว่า เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่นาบหม้อเกลือ หนังหน้าท้องจะหย่อนเหมือนเดิม แถมคุณแม่หลังคลอดบางคนก็นาบด้วยหม้อเกลือจนผนังท้องดำไหม้อยู่ตลอดไป และผิวหนังจะเหี่ยวย่นคล้ายผิวคนแก่ก็มี ผมจึงขอแนะนำว่าถ้าขัดผู้ใหญ่ไม่ได้หรืออยากทำจริง ๆ ก็ควรทำด้วยความระมัดระวัง ถ้าร้อนมากก็ต้องหยุดทำทันที ทางที่ดีไม่ควรทำเลยครับ อันตราย ส่วนการประคบด้วยลูกประคบที่ประกอบด้วยสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ก็มีประโยชน์ครับถ้าไม่ร้อนมากจนเกินไป
- บริการอื่น ๆ เช่น การประคบ-นั่งอิฐ เป็นการใช้อิฐมอญย่างไฟร้อน ๆ ห่อด้วยใบพลับพลึงและผ้าหนาหลายชั้นมาประคบตามบริเวณร่างกายหรือวางไว้ใต้เก้าอี้เพื่อให้ความร้อนอังบริเวณปากช่องคลอด เพื่อสมานแผลให้หายเร็วขึ้น, การนวดคล้ายเส้นตามกล้ามเนื้อตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย เช่นใบหน้า ศีรษะ ต้นขา ต้นแขน เพื่อให้กล้ามเนื้อคล้ายตัว กระตุ้นต่อมน้ำเหลืองและเลือดลม, การดื่มน้ำสมุนไพร อย่างการดื่มน้ำขิงซึ่งจะช่วยปรับสมดุลร่างกายและกระตุ้นเลือดลมให้เดินเป็นปกติ, การสครับขัดบำรุงผิว ด้วยการพอก ขัด ด้วยเกลือสะตุและสมุนไพรชนิดต่าง ๆ เพื่อช่วยกระชับและบำรุงผิวที่แตกลาย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การอยู่ไฟข้างต้นนี้เหมาะสำหรับคุณแม่หลังคลอดที่คลอดเองตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถอยู่ไฟได้เลยนับตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลหรือภายใน 3-7 วันขึ้นไป ส่วนคุณแม่ที่ผ่าคลอดนั้นจำเป็นต้องรอและให้แผลแห้งสนิทก่อนประมาณ 30 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้แผลอักเสบในขณะทำการอยู่ไฟ สำหรับคุณแม่ที่สนใจจะอยู่ไฟ ก็จะมีศูนย์สุขภาพต่าง ๆ สปาสุขภาพ คลินิกแพทย์แผนไทย ไปจนถึงบริการอยู่ไฟถึงบ้านแบบเดลิเวอรี่ที่มีบริการดูแลหลังคลอด ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดเป็นระยะตั้งแต่ 3-10 วัน โดยจะเน้นเรื่องของความสวยความงามเป็นหลัก เช่น การลดไขมันหน้าท้อง การทำให้ผิวพรรณผ่องใส ซึ่งจะไม่เหมือนกับในสมัยก่อนครับ อย่างไรก็ดี การเลือกใช้บริการแต่ละอย่างนั้น คุณแม่จะต้องพิจารณาถึงความปลอดภัยและความชำนาญของผู้ให้บริการด้วย และที่สำคัญการใช้บริการในแต่ละคอร์สค่อนข้างจะมีราคาสูงอยู่พอสมควร ทางที่ดีที่คุณแม่สามารถทำเองได้ง่าย ๆ ก็คือ การอาบน้ำอุ่นที่บ้านที่ผสมด้วยสมุนไพรชนิดต่าง ๆ เช่น ตะไคร้ มะกรูด ผสมกับน้ำอาบก็ได้ครับ
สรุป ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของสูติกรรมโบราณที่ในสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับกลไกการเปลี่ยนแปลงของร่างกายระหว่างคลอดและหลังคลอด แต่ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า การใช้กระเป๋าน้ำร้อนหรือนาบหม้อเกลือนั้นไม่ได้ช่วยให้ร่างกายดีขึ้นเลย แถมยังเป็นอันตรายต่อคุณแม่อีกด้วย ถ้าเลือกได้ก็ไม่ควรทำครับ เพราะอาการอ่อนเพลีย ผนังหน้าท้องหย่อน มดลูกหดรัดตัวน้อยหรือเข้าอู่ช้านั้นไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการนาบหม้อเกลือ การบริหารร่างกายหลังคลอดต่างหากที่สามารถช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายของคุณแม่ให้ดีขึ้นได้อย่างแท้จริง เพราะช่วยให้มดลูกหดรัดตัวได้ดี ผนังหน้าท้องและผนังช่องคลอดไม่หย่อน ถ้าคุณแม่บริหารร่างกายอย่างเต็มที่ก็จะทำให้เอวมีขนาดเล็กลงเกือบเท่าหรือเท่ากับระยะที่ยังไม่ตั้งครรภ์ น้ำคาวปลาก็หมดเร็ว แถมร่างกายก็แข็งแรงและกลับคืนสู่สภาพปกติได้เร็วขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินเสียเวลาไปผ่าตัดทำสาวหรือเย็บช่องคลอดใหม่เนื่องจากช่องคลอดหย่อนด้วยครับ
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด. “การอยู่ไฟหลังคลอดและการอาบ-อบสมุนไพรจำเป็นหรือไม่”. (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ)”. หน้า 378-383.
- ผู้จัดการออนไลน์. “ไขความเชื่อ ‘การอยู่ไฟ’ ตัวช่วยฟื้นสุขภาพแม่หลังคลอด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th. [26 ม.ค. 2016].
ภาพประกอบ : www.bloggang.com (by ง่วงนอนตอนเช้ามืด, Nenejung N Nuy), www.oknation.net (by feng_shui), www.quinl.com, www.maerakluke.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)