27 อาการที่พบบ่อยของคนท้อง & การพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ !

การพยาบาลหญิงตั้งครรภ์

ภาวะไม่สุขสบายของการตั้งครรภ์เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในระหว่างการตั้งครรภ์ โดยทั่วไปจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่อาจจะเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ได้ถ้าคุณแม่ไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม ผู้ช่วยเหลือคุณแม่ควรตระหนักถึงอาการที่อาจจะเกิดขึ้นล่วงหน้าและให้ความรู้แก่คุณแม่ตั้งครรภ์ในการป้องกันการเกิดหรือช่วยเหลือตนเองเมื่อเกิดอาการไม่สบายต่าง ๆ ซึ่งการแจ้งให้คุณแม่ได้ทราบล่วงหน้าจะช่วยลดความวิตกกังวลเมื่อคุณแม่ต้องเผชิญกับความไม่สุขสบายได้ครับ ซึ่งการพยาบาลคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการไม่สุขสบายนั้นประกอบไปด้วย

  1. อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ (Morning sickness) เป็นอาการที่พบได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ประมาณ 6-12 สัปดาห์ หลังจากนั้นอาการจะค่อย ๆ ทุเลาและหายไปเอง สาเหตุการเกิดยังไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนทำให้อาหารผ่านเข้ากระเพาะช้า, เกิดจากการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมน HCG, เกิดจากความวิตกกังวลของหญิงตั้งครรภ์ ฯลฯ ในการพยาบาลควรแนะนำให้คุณแม่เข้มงวดในเรื่องของการรับประทานอาหาร (รับประทานอาหารที่ไม่มัน มีคาร์โบไฮเดรตสูง และทานอาหารให้น้อยลงแต่ทานบ่อย ๆ ให้อยู่ท้อง หลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยากและสิ่งกระตุ้นทำให้คลื่นไส้อาเจียน), เมื่อตื่นตอนเช้าให้ดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ เช่น นม น้ำขิง รวมถึงขนมปังกรอบ หรือคาร์โบไฮเดรตแห้งพวกบิสกิตในตอนเช้า 20 นาทีก่อนลุกขึ้นจากเตียง และหากมีอาการอาเจียนและอ่อนเพลียมาก ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ (ห้ามซื้อยาแก้อาเจียนมาทานเอง)
  2. อาการอ่อนเพลียเมื่อยล้า (Fatique) มีสาเหตุมาจากการเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในช่วงแรกของการตั้งครรภ์, การขาดอาหาร, การขาดการออกกำลังกาย, โรคโลหิตจาง, สภาวะทางจิตใจและความเครียด เป็นต้น ในการพยาบาลควรแนะนำให้คุณแม่พักผ่อนให้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรมีเวลางีบหลับ หรือพักผ่อนเป็นระยะ ๆ ในช่วงกลางวันบ้าง อย่าให้ร่างกายหักโหมจากการทำงานมากนัก ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย รับประทานอาหารกลางวันและอาหารค่ำทุกมื้อ และควรเข้านอนแต่หัวค่ำ
  3. อารมณ์แปรปรวน (Mood swing) มีสาเหตุมาจากความไม่สบายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จนทำให้เกิดความเครียด และทำให้มีอาการอื่น ๆ ทางอารมณ์ออกมา เช่น ใจน้อย วิตกกังวล อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หรือเกิดจากความเครียด ความกังวลในเรื่องการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ การคลอด การเลี้ยงลูกที่จะเกิดมา และจากบทบาทที่ต้องเปลี่ยนไป คุณพ่อและคนในครอบครัวควรให้กำลังใจและรับฟังปัญหาของคุณแม่ พยายามอธิบายและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมตัว ให้คุณแม่ได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนอย่างเพียงพอ
  4. อาการปวดศีรษะ (Headaches) เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ฮอร์โมน อาการขาดน้ำกะทันหัน ความหิว ความอ่อนเพลีย เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ หรือจากภาวะเครียด ในการพยาบาลแนะนำให้นวดต้นคอด้านข้าง โดยเริ่มจากฐานของกะโหลกศีรษะ หรือขอให้คุณพ่อนวดใบหน้า ลำคอ และไหล่ ดื่มน้ำบ่อย ๆ ในระหว่างอาหารแต่ละมื้อ และพยายามรับประทานอาหารอย่างสม่ำเสมอให้ครบทุกมื้อ
    อาการที่มักเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์
  5. หายใจไม่สะดวก (Breathlessness) เกิดจากฮอร์โมนทำให้กล้ามเนื้ออกหย่อนตัวลงและขยายหลอดลม เนื่องจากต้องผลิตเลือดให้ปอดเพิ่มขึ้น เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์มากขึ้น มดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นจะไปดันกะบังลมจนส่งผลถึงปอด ทำให้หายใจได้ไม่สะดวก ในกรณีนี้แนะนำให้คุณแม่นอนศีรษะสูง หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนแออัด อย่าทำอะไรรีบร้อน พยายามหายใจช้า ๆ และลึก ๆ
  6. อาการใจสั่น เป็นลม (Tachycardia, Fainting and Supine Hypotension) เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การนอนหงายจนทำให้มดลูกไปกดทับเส้นเลือดที่กลับสู่หัวใจ ทำให้เลือดกลับสู่หัวใจไม่ดี, การเปลี่ยนแปลงอิริยาบถเร็วเกินไป เช่น จากท่านอนเป็นท่านั่ง, การที่หลอดเลือดขยายตัวจนทำให้การไหลเวียนเลือดไปยังสมองไม่ดี มีน้ำตาลในเลือดต่ำ, มีพยาธิสภาพของโรค เช่น โรคหัวใจ โรคโลหิตจาง เป็นต้น ในการพยาบาลควรแนะนำให้คุณแม่เปลี่ยนอิริยาบถอย่างช้า ๆ รับประทานอาหารให้บ่อยครั้งขึ้น เพื่อป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เวลาจะนอนให้นอนตะแคงซ้าย เพื่อป้องกันไม่ให้มดลูกไปกดทับหลอดเลือดขนาดใหญ่
  7. อาการอยากอาหารบางชนิดอย่างมาก (Food Cravings) มีสาเหตุมาจากการที่ทารกกำลังเจริญเติบโตในครรภ์ จึงต้องการสารอาหารจำเป็นเพิ่มขึ้น เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก วิตามิน, ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และอาจมีสาเหตุมาจากฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงจนทำให้เรารู้สึกนึกถึงรสชาติของอาหารพวกนี้ ในการพยาบาลควรแนะนำให้คุณแม่รับประทานอาหารให้น้อยแต่บ่อยขึ้น รวมทั้งอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมาก ๆ เช่น ข้าว ขนมปัง มันฝรั่งอบ พาสต้า ฯลฯ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาล แต่ถ้าคุณแม่อยากรับประทานอาหารแปลก ๆ ควรปรึกษานักโภชนาการ
  8. น้ำลายมาก (Ptyalism, Salivation) เกิดจากการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน เนื่องจากสาเหตุทางจิตใจของคุณแม่ทำให้ไม่สามารถกลืนลงไปหรือบ้วนทิ้ง ในกรณีนี้ควรแนะนำให้คุณแม่รับประทานอาหารน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งขึ้นในแต่ละวัน
  9. เหงือกอักเสบ (Gingivitis) เกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้มีเลือดมาคั่งค้างมากขึ้น เมื่อมีรอยขีดข่วนหรือเศษอาหารติดซอกฟันก็ทำให้เกิดการติดเชื้อ มีเลือดออกได้ง่าย และเหงือกอักเสบได้ ในกรณีนี้ควรแนะนำให้คุณแม่เปลี่ยนมาใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม แล้วล้างปากด้วยน้ำยาบ้วนปาก (หากต้องการใช้ไหมขัดฟันควรใช้อย่างเบามือ), แนะนำให้ดูแลสุขภาพฟัน โดยหลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือน รับประทานอาหารให้ได้สัดส่วน เพิ่มอาหารที่มีโปรตีน ผักและผลไม้ และควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน
  10. อาการเรอเปรี้ยวหรือแสบร้อนยอดอก (Heart burn) พบได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ได้ 2 สัปดาห์ ไปจนถึง 12 สัปดาห์ เป็นอาการมีผลมาจากฮอร์โมนโปรโจสเตอโรนไปลดการทำงานและการย่อยของระบบทางเดินอาหารทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เคลื่อนไหวได้น้อยลง และกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหารคลายตัว รวมทั้งมดลูกที่ใหญ่ขึ้นจะไปดันกระเพาะอาหารให้มีพื้นที่น้อยลง กรดในกระเพาะอาหารจึงไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร ทำให้คุณแม่มีอาการแสบบริเวณยอดอกหรือร้อนบริเวณคอ ในการพยาบาลควรแนะนำให้คุณแม่หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส งดอาหารรสจัด แล้วเปลี่ยนมารับประทานอาหารที่ย่อยได้ง่าย โดยรับประทานครั้งละน้อย ๆ แต่ทานบ่อย ๆ และรับประทานอย่างช้า ๆ เมื่อรู้สึกว่ามีอาการร้อนในอกเกิดขึ้นให้ดื่มนมหรือน้ำอุ่น ๆ เพื่อเจือจางกรด แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นเลยควรไปพบแพทย์ครับ
  11. การผายลม (Flatulence) มีสาเหตุมาจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนทำให้กล้ามเนื้อหย่อนตัว อาหารและของเสียจึงไหลผ่านระบบย่อยอย่างช้า ๆ และสร้างลมในกระเพาะให้เกิดขึ้น หรืออาจเกิดจากการกลืนอากาศอย่างไม่ตั้งใจ เพื่อไล่อาการคลื่นไส้หรือจุกแน่นหน้าอกก็สามารถทำให้เกิดลมขึ้น หรืออาจเป็นเพราะพวก Alkaline food เช่น นม เกิดปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะก็ได้เช่นกัน ในการพยาบาลควรแนะนำให้คุณแม่รับประทานอาหารอย่างช้า ๆ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส และดื่มชาเปปเปอร์มินต์หรือชาดอกคาโมมายล์
  12. อาการท้องผูก (Constipation) มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ทำให้กระเพาะอาหารลำไส้บีบเคลื่อนไหวช้าลง มดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นจึงไปกดทับลำไส้ใหญ่ ทำให้อุจจาระผ่านได้ลำบาก อุจจาระที่ค้างอยู่นานจะถูกดูดซึมน้ำออกไปมาก คุณแม่บางคนก็มีการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหารจนทำให้เกิดอาการแสบร้อนที่หน้าอก รวมทั้งการทานวิตามิน ธาตุเหล็กก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการท้องผูกได้เช่นกัน ในการพยาบาลควรแนะนำให้คุณแม่รับประทานอาหารที่มีกากใยมาก ๆ เช่น ผักและผลไม้สด, แนะนำให้คุณแม่ดื่มน้ำวันละมาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หรือดื่มน้ำลูกพรุน และแนะนำให้ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา เข้าห้องน้ำทันทีที่จำเป็นอย่ากลั้นไว้
  13. ริดสีดวงทวาร พบได้บ่อยในช่วงอายุครรภ์ 4-6 เดือน มีสาเหตุมาจากการเพิ่มระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและจากมดลูกที่โตขึ้นจนไปกดทับเส้นเลือดดำ ทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณทวารหนักไม่ดี ความดันในเส้นเลือดเลยสูงขึ้น เส้นเลือดจึงโป่งพอง เมื่อท้องผูกอุจจาระจะเป็นก้อนแข็ง ทำให้เส้นเลือดที่โป่งพองเกิดฉีกขาด จึงมีเลือดสด ๆ ปนออกมากับอุจจาระและทำให้คุณแม่รู้สึกปวดแสบ ในการพยาบาลควรแนะนำให้คุณแม่รับประทานอาหารที่มีกากใย, ดื่มน้ำให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว, ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา และให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการผ่าตัด
  14. อาการตกขาว (Leukorrhea) มักพบได้ในช่วงอายุครรภ์ 4 เดือน โดยมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่กระตุ้นการสร้างมูกที่บริเวณ Cervix หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น หนองใน เชื้อรา Bacterial vaginosis เป็นต้น ลักษณะของตกขาวจะเป็นมูกขาวขุ่นเล็กน้อยและมีกลิ่นเหม็นอ่อน ๆ คุณแม่จะมีอาการคันบริเวณปากช่องคลอด ถ้าเกิดจากการติดเชื้อหนองในก็จะมีอาการแสบเวลาปัสสาวะด้วย ในการพยาบาลควรแนะนำให้คุณแม่ดูแลความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศให้สะอาดและแห้ง, ใช้น้ำและสบู่และทำความสะอาดหลังขับถ่ายหรือทำความสะอาดร่างกาย, ห้ามสวนล้างช่องคลอดหรือใช้นิ้วสอดเข้าไปทำความสะอาดอวัยวะภายใน, หลีกเลี่ยงการใส่ชุดชั้นในที่คับ (ควรใช้ผ้าฝ้าย) และถ้าคุณแม่มีอาการคันหรือมีสิ่งผิดปกติที่แสดงว่าอาจติดเชื้อ ตกขาวมีสีและกลิ่นเปลี่ยนไป เช่น ตกขาวเป็นสีเหลืองปนเขียว มีลักษณะขุ่น ข้น เป็นก้อนคล้ายนมบูดและมีกลิ่นเหม็น ควรรีบพาคุณแม่ไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็ว
  1. อาการปัสสาวะบ่อย จะเกิดขึ้นหลังจากขาดประจำเดือนไปแล้วประมาณ 1-12 สัปดาห์ สาเหตุเป็นเพราะมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นไปเบียดกระเพาะปัสสาวะให้มีความจุน้อยลง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนเลือดที่มากขึ้นบริเวณอุ้งเชิงกราน จึงทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม นอกจากนั้นยังอาจเกิดได้จากทางเดินปัสสาวะอักเสบด้วยเช่นกัน อาการนี้จะรบกวนคุณแม่ไปจนถึงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ หลังจากนั้นคุณแม่จะรู้สึกเคยชินและมดลูกจะโตพ้นอุ้งเชิงกราน ทำให้การกดทับกระเพาะปัสสาวะมีน้อยลง อาการปัสสาวะบ่อยก็จะลดลงด้วย จนถึงประมาณเดือนที่ 7-8 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะเริ่มรู้สึกปัสสาวะบ่อยขึ้นอีก เพราะขนาดของทารกในครรภ์ที่โตขึ้นและส่วนหัวของทารกจะเริ่มเข้าสู่อุ้งเชิงกราน และเบียดกระเพาะปัสสาวะอีกครั้ง ในการพยาบาลแนะนำให้คุณแม่อย่ากลั้นปัสสาวะไว้นาน ๆ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีสารกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เพราะมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ และให้สังเกตอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่ มีปัสสาวะแสบขัด มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ปวดหลัง ถ้าคุณแม่มีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์
  2. กลั้นปัสสาวะไม่อยู่เวลาจามหรือไอ เกิดจากเลือดไหลเวียนไปยังไต ทำให้ร่างกายผลิตปัสสาวะมากขึ้น และกล้ามเนื้อบริเวณ pelvic floor ย่อหย่อน (พื้นที่โดยรอบด้านหน้าและหลังของทวารหนัก) จนทำให้กระเพาะปัสสาวะทำหน้าที่ควบคุมได้ไม่ดี ในการพยาบาลแนะนำให้คุณแม่ดื่มน้ำมาก ๆ และปัสสาวะบ่อย ๆ พยายามขมิบปากช่องคลอดก่อนไอ เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นกระชับ และควรฝึกขมิบแล้วปล่อย 50 ครั้งต่อวัน (รอบละ 10 ครั้ง)
  3. เส้นเลือดขอด (Vericose Veins) พบได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่มักพบบริเวณตาตุ่ม น่อง ข้อพับ ขึ้นมาจนถึงโคนขา มีสาเหตุมาจากการเพิ่มของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดทำงานได้ไม่ดี มีผลทำให้การไหลเวียนของเลือดส่วนล่างของร่างกายไม่ดี และมีสาเหตุมาจากขนาดของมดลูกที่โตขึ้น ซึ่งจะไปกดทับเส้นเลือดดำที่ผ่านจากอุ้งเชิงกรานมาสู่ช่องท้อง เมื่อถูกกดทับนาน ๆ ความดันโลหิตสูงขึ้น ก็จะดันให้เส้นเลือดเล็ก ๆ พองตัว ทำให้เลือดคั่งเส้นเลือดเป็นสีน้ำเงินม่วงที่ขอด ๆ ขดไปมาคล้ายตัวหนอน ทำให้คุณแม่มีอาการปวดและบวมที่ขา ในการพยาบาลควรแนะนำให้คุณแม่นอนในท่าที่สบายที่สุดและยกเท้าขึ้นสูงประมาณ 5-10 นาที หรือเปลี่ยนท่าทางบ้าง เช่น การเดินไปมา ไม่ยืนอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ หรือนอนตะแคงเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น, นวดเพื่อลดอาการปวดเมื่อย ด้วยการนั่งบนเก้าอี้และยกขาข้างหนึ่งขึ้นมาพาดบนเข่าอีกข้าง แล้วใช้มือจับบีบที่น่องไปเรื่อย ๆ, พันผ้ายืดจากข้อเท้าขึ้นมาถึงใต้เข่าหรือโคนขา เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อกระชับและลดอาการปวด แต่ระวังอย่าพันจนแน่นเกินไปเพราะจะทำให้รู้สึกชาได้, ใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ ใส่กางเกงพยุงครรภ์, รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่และอาหารที่มีวิตามินซีมาก ๆ, แนะนำให้ออกกำลังกายเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปที่ขา
  4. อาการเจ็บที่กระดูกใต้อก (Rib pain) คุณแม่จะมีอาการเจ็บแปลบ ๆ ใต้อกข้างใดข้างหนึ่ง มีสาเหตุการขยายตัวใหญ่ขึ้นของมดลูกไปกดทับกระดูก แนะนำให้คุณแม่ซื้อบราที่ได้ขนาดพอดีกับทรวงอกที่ขยายขึ้น ควรนั่งหลังตรงเพื่อให้กระดูกใต้อกมีเนื้อที่มากขึ้นหรือนั่งกับพื้นชูแขนขึ้นเหนือศีรษะ แล้วขอให้คุณพ่อช่วยดึงแขนแต่ละข้างขึ้นอย่างช้า ๆ อย่างเบามือ
  5. โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome) มือ เท้าจะมีอาการชา เจ็บยิบ ๆ หรือรู้สึกเจ็บฝ่ามือเนื่องจากระบบประสาทที่ข้อมือถูกกดทับ แนะนำให้คุณแม่นวดฝ่ามือ ขยับนิ้วมือขึ้นลง กางนิ้วมือทั้ง 5 ออกกว้าง ๆ ประมาณ 2-3 วินาทีแล้วหุบมือ หรือตอนกลางคืนให้นอนห้อยมือลงมาข้างเตียง นอกจากนั้นอาจขอวิตามินบี 6 จากแพทย์มารับประทานด้วยก็ได้
  6. ปวดบริเวณกระดูกเชิงกราน (Pelvic pain) เป็นอาการปวดที่เกิดจากข้อต่อกระดูกซึ่งหย่อนตัวลง เตรียมพร้อมสำหรับการคลอด ส่วนอาการเจ็บแบบแปลบ ๆ อาจเป็นเพราะทารกดิ้นไปชนกระเพาะปัสสาวะที่เต็มอยู่ของคุณแม่ ในการพยาบาลแนะนำให้คุณแม่ปัสสาวะบ่อย ๆ เพื่อระบายกระเพาะปัสสาวะให้ว่าง และถ้าเตียงแข็งเกินไปให้หาผ้าห่มหรือถุงนอนมาปูใต้ผ้าปูที่นอน แล้วให้คุณแม่นอนตะแคงด้านข้าง กอดหมอนข้างหรือวางหมอนระหว่างเข่าและใต้ท้องของคุณแม่ เวลาก้าวขึ้นเตียงนอนให้งอเข่าก้าวขึ้นเตียงแล้วค่อย ๆ เอนกลิ้งลงนอนอย่างช้า ๆ
  7. อาการปวดท้อง (Abdominal pain) มีสาเหตุมาจากข้อต่อซึ่งรองรับมดลูกได้ยืดตัวออก จึงทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยด้านข้างของท้อง ในการพยาบาลควรแนะนำให้คุณแม่พยายามนวดแบบเบา ๆ ในบริเวณที่ปวด ด้วยการใช้ฝ่ามือ โดยเคลื่อนไหวฝ่ามือช้า ๆ และใส่กางเกงพยุงครรภ์ ถ้ามีอาการปวดท้องมากขึ้นเรื่อย ๆ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
  8. อาการปวดหลัง (Back pain) พบได้มากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้อง (การเดิน การยกของหนัก การก้มเก็บของ การยืนหรือเดินนาน ๆ ในท่าที่ไม่ถูกต้อง), มดลูกมีขนาดโตขึ้น ทำให้น้ำหนักถ่วงมาด้านหน้า จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายเลื่อนข้างหน้า ทำให้คุณแม่ต้องแอ่นหลังหรือเกร็งกล้ามเนื้อด้านหลังมากกว่าปกติ, การยืดขยายของเส้นเอ็นที่ข้อต่อต่าง ๆ ของกระดูกเชิงกรานเพื่อเตรียมสำหรับการคลอด เป็นต้น ในการพยาบาลควรแนะนำให้คุณแม่หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก การนั่งพับเข่า ให้ยืนหรือนั่งในท่าหลังตรง พักผ่อนในท่านอนตะแคง ให้คุณพ่อช่วยนวดบริเวณหลัง ใส่รองเท้าส้นเตี้ย ออกกำลังกายยืน เดิน ในท่าที่สบาย เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง หากมีอาการปวดมากขึ้นให้พบแพทย์ (ห้ามซื้อยาแก้ปวดมากินเอง)
    การปฏิบัติตัวเพื่อลดอาการอึดอัดในขณะตั้งครรภ์
  9. โรคปวดร้าวลงขา (Sciatica) ซึ่งเป็นเพราะทารกในท้องกดทับเส้นประสาท ในการพยาบาลแนะนำให้คุณแม่นั่งพักและหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหว เพราะจะไปกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บแปลบอีก ให้คุณแม่ลองบีบนวดอย่างเบา ๆ แล้วปล่อยมือ แล้วบีบนวดใหม่ที่ก้น หรือเอามือจับพนักเก้าอี้แล้วแกว่งขาไปมาด้านข้างหลาย ๆ ครั้งทุกวัน ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการปวดมากขึ้นควรรีบไปพบแพทย์
  10. อาการบวมที่เท้าและข้อเท้า (Swelling of the feet, Swelling Ankles) มีสาเหตุมาจากน้ำคั่งในเนื้อเยื่อของร่างกายที่เกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนระหว่างการตั้งครรภ์ การสังเกตว่าเท้าบวมคือ รู้สึกตึงที่อวัยวะนั้น เมื่อกดแล้วปล่อยจะมีรอยบุ๋มค้างอยู่นาน ถ้ามือบวมมักจะรู้สึกในช่วงเช้า พอสายอาการบวมจะลดลง อย่าพยายามฝืนกำมือแรง ๆ ในขณะที่บวม เพราะจะทำให้ข้อนิ้วมืออักเสบได้ ส่วนขานั้นมักจะบวมมากในช่วงบ่ายและเย็น พอตื่นเช้าอาการบวมจะลดลง ในคนที่นั่งหรือยืนนาน ๆ มักจะเป็นมากกว่าคนที่เดินเคลื่อนไหวบ่อย ๆ ในการพยาบาลนั้นควรแนะนำให้คุณแม่ยกขาขึ้นบ่อย ๆ หรือยกเท้าให้สูงเท่าที่จะทำให้, ลดอาหารเค็ม, ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, นอนตะแคงข้างเพื่อลดการกดทับของเส้นเลือด, หลีกเลี่ยงการใส่ถุงเท้าหรือถุงน่องรัด ๆ ใส่รองเท้าสบาย ๆ และถ้ามีอาการบวมมากและอาการบวมไม่ลดลงควรไปพบแพทย์ครับ
  11. อาการตะคริว (Cramp) พบได้มากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การหมุนเวียนของเลือดมีประสิทธิภาพลดลง, เกิดจากความล้าของกล้ามเนื้อและการรับประทานอาหารที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เช่น ขาดแคลเซียม ขาดวิตามินบีรวม หรือเกลือ, เกิดจากการเสียสมดุลระหว่างแคลเซียมและฟอสฟอรัส จนทำให้แคลเซียมในเลือดน้อย, การดูดแคลเซียมลดลง เป็นต้น คุณแม่จะรู้สึกปวดส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น ต้นขา น่อง จะมีการแข็งตัวและปวดมาก ถ้าคลำดูจะรู้สึกแข็งเป็นก้อน ๆ ถ้าขยับกล้ามเนื้อส่วนนั้นก็จะยิ่งทำให้ปวดและแข็งมากขึ้น ในการพยาบาลควรแนะนำให้คุณแม่รับประทานให้ครบห้าหมู่ ดื่มนมให้มากขึ้น เปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่เย็นจัดและการใช้กำลังมากเกินไป ถ้าเกิดอาการตะคริวให้ใช้มือนวดกล้ามเนื้อส่วนนั้น ถ้าเป็นที่ต้นขาให้เหยียดขาตรง ยกเท้าให้พ้นจากพื้นเล็กน้อย แล้วกระดกปลายเท้าลงล่าง ถ้าเป็นที่น่องให้เหยียดขาให้ตรงแล้วกระดกปลายเท้าให้มากที่สุด แต่ถ้าเป็นตะคริวจากการนอน ให้ยกขาสูง ใช้หมอนรอง 2 ใบ
  12. อาการคันและผื่นแดง (Itching and Rashes) คุณแม่จะมีอาการคันตามเนื้อตัว ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ผิวหนังแห้ง การยืดตัวของผิวหนังในระยะสุดท้ายของการตั้งครรภ์ หรือเกิดจากความร้อนในร่างกาย หรืออาจเกิดจากการแพ้อาหารบางชนิด สบู่ หรือแม้แต่ผงซักฟอก ในการพยาบาลแนะนำให้คุณแม่ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ ดูแลตนเองในเรื่องการทำความสะอาดร่างกาย โดยใช้แชมพูอาบน้ำแทนสบู่ที่ทำให้ผิวแห้ง ใช้ครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของวิตามินอี หรือเบบี้โลชั่นที่เย็น ๆ สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากคอตตอน ไม่ควรเกาบริเวณที่คัน เพราะจะทำให้ผิวหนังถลอกและอักเสบ หากรู้สึกว่าเป็นมากจนผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์
  13. สีผิวเปลี่ยน เส้นคล้ำที่หน้าท้อง (Stretchmarks) คุณแม่จะมีรอยดำคล้ำในบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณหัวนม ลานหัวนม เส้นกลางท้อง คอ รักแร้ ขาหนีบ ใบหน้า บางคนมีผิวแห้ง แต่บางคนหน้ามันขึ้น เส้นคล้ำ ๆ หรือรอยดำ ๆ นั้นเกิดจากผิวหนังเกิดการตึง แต่จะค่อย ๆ จางหายไปได้เองหลังการคลอด ซึ่งเหล่านี้มีสาเหตุมาจากระดับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ความยืดหยุ่นของผิวหนัง และการที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้มีอาการผิวแตกลายที่หน้าท้อง คุณแม่บางคนอาจมีอาการคันหน้าท้อง ซึ่งเกิดจากหน้าท้องขยายเร็วและความอ้วน ในกรณีนี้แนะนำให้คุณแม่เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการทาออยล์หรือครีมบำรุง และควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เพิ่มขึ้นมากจนเกินไป

การปฏิบัติตัวเพื่อลดอาการอึดอัดในขณะตั้งครรภ์

  • คุณแม่ควรเอาใจใส่กับอิริยาบถต่าง ๆ ไม่ว่าจะท่ายืน ท่านั่ง หรือท่านอน
  • ควรพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ไม่หักโหมทำงานหนัก
  • ควรรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายให้ครบทั้งห้าหมู่และถูกสุขอนามัย

อาการที่ควรรีบไปพบแพทย์

ถ้าคุณแม่มีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดทันที

  • มีเลือดหรือน้ำออกจากช่องคลอด
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ทานยาแล้วไม่หาย หรือสายตาพร่ามัว
  • มีไข้สูง อาเจียนอย่างต่อเนื่อง
  • หน้าบวม มือเท้าบวมจนไม่สามารถสวมใส่รองเท้าได้
  • มีอาการปวดท้องหรือเป็นตะคริว ซึ่งเพิ่มความปวดขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีอาการปวดอยู่นานมากกว่า 24 ชั่วโมง
  • ลูกดิ้นน้อยลงมากหรือหยุดดิ้น

สรุป ภาวะไม่สุขสบายในระยะตั้งครรภ์มักเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสรีระของคุณแม่ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกระบบ โดยมีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเป็นหลัก การให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาในขณะตั้งครรภ์นี้จะทำให้คุณแม่คลายความวิตกกังวลและช่วยบรรเทาอาการให้น้อยลงได้

เอกสารอ้างอิง
  1. เอกสารประกอบการสอนวิชาการพยาบาลมารดา ทารกและการผดุงครรภ์ 1.  “การพยาบาลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะไม่สุขสบาย”.  (อ.นวภรณ์ ดอกชะบา).

ภาพประกอบ : Bigstock, www.indusladies.com, thedailycrisp.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด