6 วิธีการนับลูกดิ้น & ลูกดิ้นกี่เดือน & อาการลูกดิ้นรู้สึกยังไง ?

ลูกดิ้น

การดิ้นของลูก” ในทางการแพทย์ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้คุณแม่ทราบว่าลูกในครรภ์ยังมีชีวิตอยู่ บอกได้ถึงสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ และบอกได้ว่าตอนไหนที่ลูกกำลังตื่นหรือหลับอยู่ ในบางครั้งที่คุณแม่พูดคุยกับลูก ลูกอาจมีปฏิกิริยาโต้ตอบว่าเขารับรู้ได้ด้วยการดิ้นครับ ยิ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ การนับลูกดิ้นจะมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจำนวนการดิ้นจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าลูกมีสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีหรือไม่ในระหว่างการตั้งครรภ์ ถ้าลูกดิ้นอย่างสม่ำเสมอก็เป็นเครื่องชี้ว่าลูกยังมีสุขภาพแข็งแรงดี

อาการลูกดิ้น

คุณแม่จะรู้สึกเหมือนกับว่าโดนปลาตอด หรือรู้สึกกระตุกเบา ๆ ที่ท้อง เมื่อมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นการดิ้นของลูกก็จะแรงมากขึ้น บางครั้งคุณแม่อาจเห็นได้ว่ามีอวัยวะบางส่วน เช่น เท้า กำลังดันท้องคุณแม่อยู่ก็ได้

ลูกดิ้นตอนกี่เดือน

ความรู้สึกของความเป็นแม่อาจจะยังไม่ชัดเจน จนกระทั่งลูกน้อยในครรภ์ดิ้นให้คุณแม่รู้สึกได้ ตอนนั้นคุณแม่จะตระหนักได้ว่ามีสิ่งมีชีวิตน้อย ๆ อยู่ภายในตัวเรา ในคุณแม่ครรภ์แรกจะรู้สึกได้ว่าลูกดิ้นเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18-20 สัปดาห์ (หรือ 4 เดือนครึ่งนับจากการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย) ส่วนคุณแม่ในครรภ์หลังที่เคยคลอดลูกมาแล้วจะรู้สึกว่าลูกดิ้นไวกว่าเมื่อมีอายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ (หรือ 4 เดือน)

ในความเป็นจริงแล้วลูกจะเริ่มดิ้นตั้งแต่อายุครรภ์น้อย ๆ ประมาณ 6-8 สัปดาห์แล้วล่ะครับ (ซึ่งจะเป็นการเคลื่อนไหวเบา ๆ แต่บ่อยมาก) แต่ในช่วงนี้คุณแม่จะยังไม่สามารถรู้สึกหรือรับรู้ได้ เพราะขนาดมดลูกยังเล็กอยู่ ปริมาณน้ำคร่ำยังมีน้อย และแรงดิ้นของลูกยังเบาเกินไปจนไม่สามารถส่งผ่านไปยังผนังหน้าท้องให้คุณแม่รู้สึกได้ หรืออาจเป็นเพราะเจ้าหนูของเรายังตัวเล็กและในโพรงมดลูกของแม่ก็ยังมีช่องว่างมากพอที่จะให้เขากลับตัวไปมาได้อย่างสบาย ๆ โดยไม่กระทบกับผนังมดลูกก็เป็นไปได้เช่นกันครับ

ลูกจะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วต่อเนื่องตลอดเวลาที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ระบบกล้ามเนื้อแขนขาจะมีการเจริญเติบโตสมบูรณ์ จนสามารถมองเห็นเป็นรูปร่างปกติได้เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ 8 สัปดาห์ ในขณะเดียวกันก็จะมีการพัฒนาโครงสร้างและความสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อและระบบประสาทที่มาเลี้ยงแขนขาอย่างต่อเนื่อง ลูกจึงสามารถขยับแขนขาไปมาอยู่ในน้ำคร่ำได้ตั้งแต่คุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 8 สัปดาห์ จนกระทั่งอายุครรภ์ 16-20 สัปดาห์ ลูกก็จะเคลื่อนไหวน้อยลง แต่แรงมากขึ้น จนทำให้คุณแม่รู้ได้ว่าลูกดิ้น เพราะหน้าท้องของคุณแม่จะขยายใหญ่ขึ้น มดลูกมีขนาดโตขึ้นจนมาชนกับผนังหน้าท้อง มีปริมาณน้ำคร่ำมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และเจ้าตัวน้อยก็โตมากขึ้นด้วย จนทำให้พื้นที่ว่างในโพรงมดลูกจำกัดลงไป พอขยับแขนขาเมื่อไหร่ก็จะกระทบกับผนังมดลูกทุกครั้ง คุณแม่จึงรู้สึกว่าลูกดิ้นบ่อยและแรงขึ้น (แต่คุณแม่บางคนอาจจะยังสับสนอยู่และคิดว่าความรู้สึกที่ดิ้นนั้นเป็นเสียงท้องร้องหรือมีลมในกระเพาะอาหารมากเกินไป)

ลูกในท้องดิ้น

ลูกดิ้นกี่ครั้งต่อวัน

โดยปกติแล้วลูกจะดิ้นประมาณ 200 ครั้งต่อวันเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์ และลูกจะดิ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีการพัฒนาระบบประสาทและกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง จนลูกสามารถดิ้นได้สูงสุดเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 30-32 สัปดาห์ ซึ่งอัตราการดิ้นอาจสูงถึง 375-700 ครั้งต่อวัน แต่หลังจากนั้นลูกจะดิ้นน้อยลง เนื่องจากลูกตัวโตขึ้นจนเต็มโพรงมดลูก ทำให้มีพื้นที่ในการดิ้นน้อยลง[2]

ส่วนข้อมูลการศึกษาการดิ้นของทารกโดยเฝ้าสังเกตและใช้เครื่องมือวัดตั้งแต่เวลา 8.00 น. จนครบ 12 ชั่วโมง พบว่าลูกจะดิ้นประมาณ 200 ครั้ง ใน 12 ชั่วโมง เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ และจะดิ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนคุณแม่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ซึ่งจะดิ้นมากถึง 575 ครั้ง ในชั่วโมง และในช่วงอายุครรภ์ 40 สัปดาห์ ลูกจะดิ้นน้อยลงเหลือวันละประมาณ 282 ครั้ง ใน 12 ชั่วโมง[3]

ทั้งนี้ในการดิ้นแต่ละครั้งคุณแม่อาจไม่สามารถรับรู้ถึงการดิ้นของลูกได้ทุกครั้ง เพราะทิศทาง ความแรง และตำแหน่งที่ลูกถีบอยู่ในทิศทางที่คุณแม่ไม่สามารถรับรู้ได้ เช่น ลูกหันหน้าไปทางด้านหลังของคุณแม่ หรืออย่างในกรณีที่คุณแม่ทำงานนอกบ้านหรือมีกิจวัตรประจำวันให้ทำไม่หยุดหย่อน อาจจะไม่สามารถรับรู้ได้ถึงการดิ้นของลูกได้ดีเท่าที่ควร เพราะคุณแม่มัวยุ่งจนไม่มีเวลาสังเกตการดิ้นของลูก ทั้ง ๆ ที่ลูกดิ้นอยู่ตลอดเวลา แต่กลับกันในวันที่คุณแม่หยุดพักผ่อน คุณแม่ก็จะสามารถรับรู้ถึงการดิ้นของลูกได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายผ่อนคลาย คุณแม่มีเวลานอนหลับพักผ่อนมากขึ้น จึงสามารถรับรู้การดิ้นของลูกได้ดีขึ้นและบางครั้งอาจรู้สึกว่าลูกดิ้นมากขึ้นด้วยครับ

วิธีนับลูกดิ้น

ในช่วงอายุครรภ์ที่น้อยกว่า 28 สัปดาห์ จำนวนครั้งการดิ้นของลูกในแต่ละวันจะไม่เท่ากัน บางวันอาจจะดิ้นมาก บางวันอาจจะดิ้นน้อย แต่หลังจากเลยช่วงอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ไปแล้ว การดิ้นของลูกจะสม่ำเสมอและค่อนข้างคงที่ การนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นจึงค่อนข้างมีประโยชน์ในการเฝ้าติดตามสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ได้

ลูกดิ้น หมายถึง การถีบ การเตะ กระทุ้ง หมุนตัว และโก่งตัว แต่ถ้าเป็นการตอดต่อเนื่องยาว ๆ หรือสะอึกจะไม่นับว่าเป็นการดิ้นนะครับ ถ้าคุณแม่สังเกตดี ๆ จะเห็นว่าเจ้าตัวน้อยจะมีท่าดิ้นประจำตัวด้วย บางคนชอบโก่งตัวไปด้านซ้าย บางคนก็ด้านขวา (องค์ประกอบที่มีผลต่อการดิ้นของลูก คือ ปริมาณน้ำคร่ำ อาหารที่คุณแม่ได้รับ ระดับน้ำตาลในเลือดของแม่ สิ่งภายนอกที่มากระตุ้น แสง เสียง ฯลฯ) ส่วนการนับนั้นจะนั่งหรือนอนก็ได้ครับแล้วแต่สะดวก ถ้าคุณแม่มีอายุครรภ์มาก ๆ อาจจะนอนหงายได้ไม่สะดวกก็ให้นอนตะแคงซ้ายแล้วนับก็ได้ครับ

สำหรับวิธีการนับลูกดิ้นก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธีครับ ที่ทางการแพทย์ได้นำมาใช้การจดบันทึกจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นเพื่อเฝ้าติดตามสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ เช่น

  1. การจดบันทึกจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นตลอดทั้งวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือจดบันทึกในช่วงที่คุณแม่ยังตื่นอยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึงบ่าย 3 โมงเย็น ซึ่งแต่ละวิธีจะมีการประเมินที่แตกต่างกัน ในทางปฏิบัติคุณแม่อาจไม่ค่อยสะดวก ถ้าต้องมาคอยจดบันทึกจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นตลอดทั้งวันหรือเฉพาะในช่วงเวลาที่ค่อนข้างจะยาวนาน เพราะในความเป็นจริงคุณแม่หลาย ๆ ท่านยังคงมีงานอื่น ๆ ที่ต้องทำอีกมาก
  2. เป็นเทคนิคการนับแบบ Sadovsky technique โดยให้เริ่มนับตั้งแต่คุณแม่มีอายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ ด้วยการจดจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นหลังจากเพิ่งรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ซึ่งเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูง (ลูกจะได้รับพลังงานมากขึ้นและจะดิ้นบ่อยขึ้นเป็นพิเศษ) เพราะจะเป็นช่วงที่สามารถกระตุ้นการดิ้นของลูกได้เป็นอย่างดี โดยลูกน้อยควรมีจำนวนการดิ้นไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมงหลังจากที่คุณแม่รับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ในแต่ละมื้อ (ถ้าลูกขยับตัวติดต่อกันให้ถือว่า ลูกดิ้น 1 ครั้ง) ถ้าทั้ง 3 มื้อรวมกันแล้วดิ้นมากกว่า 10 ครั้งก็ถือว่าปกติครับสำหรับวันนั้น แต่หากลูกดิ้นน้อยกว่า 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมง ให้นับต่ออีกทันที 1 ชั่วโมง และหากยังน้อยกว่า 3 ครั้งอีก ก็ให้รีบไปพบแพทย์ครับ
  3. ใช้เกณฑ์เหมือนข้อ 2 ครับ แต่เด็กจะต้องดิ้นอย่างน้อย 4 ครั้งต่อมื้อ (หรือน้อยกว่า 12 ครั้งต่อวัน ) ถ้าหลังอาหารมื้อใดก็ตามที่นับเด็กดิ้นครบ 1 ชั่วโมงแล้วยังน้อยกว่า 4 ครั้งต่อวัน ซึ่งอาจเป็นเพราะลูกกำลังหลับอยู่ ก็ให้สังเกตต่อไปให้ครบ 6 ชั่วโมง แล้วนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้น ถ้าผลรวมยังน้อยกว่า 4 ครั้งใน 6 ชั่วโมง หรือรวมจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นทั้ง 3 มื้อ (เช้า กลางวัน เย็น) ยังน้อยกว่า 12 ครั้ง ให้รีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
  4. ให้คุณแม่หาเวลาว่างในแต่ละวัน แล้วลองนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นใน 1 ชั่วโมง ถ้าดิ้นเท่ากับ 3 ครั้ง หรือมากกว่าใน 1 ชั่วโมงถือว่าลูกยังปกติดี
  5. เทคนิคการนับลูกดิ้นแบบ Count to Ten ให้นับลูกดิ้นตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น หรือใช้เวลาประมาณ 10-12 ชั่วโมง แล้วดูว่าลูกดิ้นมากกว่า 10 ครั้งหรือเปล่า ถ้าดิ้นมากกว่า 10 ครั้งก็ถือว่ายังปกติดีครับ
  6. ให้นับลูกดิ้นใน 2 ชั่วโมง ถ้าดิ้นมากกว่า 10 ครั้งก็ถือว่ายังปกติดีครับ

ตารางการนับลูกดิ้น

หากมีความผิดปกติ คุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยมากจากที่เคยเป็นไม่เหมือนทุกวันที่ผ่านมา ก็ไม่ต้องรอให้นับจนครบ 10 ครั้ง ให้นับภายใน 1 ชั่วโมง ว่าลูกดิ้นได้กี่ครั้ง ถ้าดิ้นได้ตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปยังถือว่าว่าปกติ แต่ถ้านับได้น้อยกว่า 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมง ให้นับต่อไปอีก 1 ชั่วโมงติดกันทันที เพราะลูกอาจหลับอยู่เลยไม่ดิ้นก็ได้ แต่เด็กในท้องจะมีรอบการหลับการตื่นไม่เกิน 1 ชั่วโมง (ในแต่ละครั้งเด็กจะหลับประมาณ 20-40 นาที และอาจหลับได้ยาวถึง 75 นาที) เพราะฉะนั้นในชั่วโมงถัดไปลูกจึงต้องตื่นมาให้เราได้นับแน่ ๆ แต่ถ้านับแล้วยังได้น้อยกว่า 3 ครั้ง ชั่วโมงถัดมาก็ยังน้อยกว่า 3 ครั้งอีก ก็แสดงว่านับได้น้อยกว่า 3 ครั้ง ติดกัน 2 ชั่วโมง คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

สรุป ถ้าจำนวนครั้งของการดิ้นนับได้น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนดหรือเด็กไม่ดิ้นเลย ให้คุณแม่รีบมาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อจะได้ตรวจสุขภาพของลูกน้อยด้วยวิธีอื่นต่อไป ถ้าพบว่าลูกมีความผิดปกติและหากการตั้งครรภ์ยังคงดำเนินต่อไปจะเป็นอันตรายได้ คุณหมอจะพิจารณาให้เร่งคลอดก่อนที่คุณแม่จะเจ็บครรภ์

ตารางการนับลูกดิ้น

สำหรับวิธีการนับให้นับเด็กดิ้นหลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมงทุกมื้อ (เช้า กลางวัน และเย็น) โดยเริ่มนับตั้งแต่เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ปกติแล้วหลังคุณแม่รับประทานอาหารเด็กจะต้องดิ้นอย่างน้อย 4 ครั้งต่อมื้อ (ถ้าใช้เกณฑ์การนับตามข้อ 3) ให้คุณแม่ขีดจำนวนที่เด็กดิ้นลงไปในช่องที่เว้นไว้ 1 ขีดต่อครั้ง เช่น มื้อเช้าดิ้น 4 ครั้ง กลางวันดิ้น 5 ครั้ง เย็นดิ้น 5 ครั้ง รวมแล้วเป็น 14 ครั้ง แบบนี้ก็ถือว่าปกติครับ

ตารางนับลูกดิ้น

ลูกดิ้นมาก

โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าลูกดิ้นมากจะไม่ถือว่าผิดปกติครับ เพราะลูกจะมีช่วงตื่นช่วงหลับเป็นวงจรอยู่ในท้อง ในช่วงที่ตื่นก็อาจจะรู้สึกว่าดิ้นมาก ซึ่งไม่เป็นอันตรายครับ แต่มีข้อยกเว้นเพียงบางกรณีหรือมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะถือว่าผิดปกติ ซึ่งการดิ้นที่ผิดปกตินี้จะมีลักษณะอาการที่ต่างไปจากการดิ้นธรรมดาครับ โดยอาการลูกดิ้นมากที่แสดงถึงสัญญาณอันตรายก็คือ ลูกจะดิ้นแรงมากอยู่ระยะหนึ่งแล้วหยุดดิ้นไปเลยและไม่มีอาการดิ้นอีกต่อไป นั่นคือทารกในครรภ์เสียชีวิตไปแล้วครับ เพราะการดิ้นแรง ๆ แบบนี้นั้นก็เหมือนกับการที่ทารกกำลังพยายามต่อสู้ดิ้นรนอะไรสักอย่างในลักษณะต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตรอด อย่างไรก็ตาม คุณแม่อย่าเพิ่งวิตกจนเกินเหตุนะครับ เพราะกรณีเช่นนี้มักจะมีสิ่งบอกเหตุมาก่อน เช่น มีโรคหรือมีความผิดปกติที่ตรวจพบอยู่ก่อนแล้วหรือกำลังรักษาอยู่ แต่ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ปกติแล้วลูกดิ้นแรงและดิ้นต่อไป ก็ไม่ต้องกังวลหรอกครับว่าจะมีอันตรายเกิดขึ้น

ลูกดิ้นน้อย

ในเบื้องต้นถ้าลูกดิ้นน้อยลง ให้ลองตั้งใจนับดูใหม่นะครับ ถ้ายังเกิน 10 ครั้งตามที่บอกไว้ก็ยังถือว่าปกติ แต่ถ้าน้อยกว่านี้ก็ควรไปพบหมอทันทีครับ อย่ารอจนกระทั่งลูกหยุดดิ้นหรือรอจนถึงวันนัด มิฉะนั้นอาจจะสายเกินไปนะครับ ส่วนคุณแม่ท้องแก่ที่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลงกว่าเดิม ถ้าลองตั้งใจนับแล้วยังเกิน 10 ครั้งขึ้นไปก็ถือว่าปกติครับ เพราะเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์มาก ๆ พื้นที่ในท้องเมื่อเทียบกับตัวลูกก็จะแคบลง ลูกเลยดิ้นได้ไม่เต็มที่ คุณแม่เลยรู้สึกเหมือนว่าลูกดิ้นน้อยลง ถ้ายังอยู่ในเกณฑ์ก็ไม่ต้องตกใจไปครับ

แต่ถ้าลูกดิ้นน้อยในระยะที่ควรจะดิ้นมากก็ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงครับ ถ้าในระยะตั้งครรภ์อ่อน ๆ ก็คงจะไม่เป็นอะไรครับ แต่ถ้าคุณแม่มีอายุครรภ์มากแล้ว เช่น 7-8 เดือน ลูกกลับดิ้นน้อยลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในระยะใกล้ครบกำหนดคลอด หรือเมื่อเลยกำหนดวันคลอดไปแล้วคุณแม่ก็ยังไม่เจ็บท้องคลอดสักที ถ้าลูกยังดิ้นดีอยู่ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไรครับ แต่ถ้าดิ้นน้อยลงและดิ้นเบา ๆ หรือในวันหนึ่ง ๆ รู้สึกว่าลูกดิ้นเพียงไม่กี่ครั้งก็ควรจะพบหมอทันทีครับ เพื่อจะได้ตรวจดูว่าสาเหตุที่ลูกดิ้นน้อยนั้นเกิดจากอะไร ซึ่งอาจเป็นเพราะในโพรงมดลูกคับแคบจนกระทั่งลูกแทบจะเคลื่อนไหวไม่ได้ หรือว่าเกิดความผิดปกติที่ทำให้อันตรายกับลูกจนลูกไม่มีแรงจะดิ้น ถ้าเป็นในกรณีหลัง หากปล่อยไว้นานก็จะทำให้ทารกไม่มีโอกาสรอดชีวิตเลยก็ได้ หมออาจตัดสินใจเร่งคลอดก่อนที่คุณแม่จะเจ็บครรภ์หรืออาจจะตัดสินใจให้คลอดด้วยวิธีการผ่าตัดคลอด

  • หากคุณแม่มีอายุครรภ์มากขึ้น อยู่ในช่วงใกล้คลอดหรือเกินกำหนดคลอด รกจะเสื่อมสภาพไปตามอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้น อาหารและออกซิเจนที่ส่งผ่านรกไปยังลูกในครรภ์จะมีปริมาณน้อยลง อาจเป็นสาเหตุทำให้ลูกดิ้นน้อยลงก็ได้ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายที่คุณแม่จะต้องไปพบหมอในทันที
  • การดิ้นที่น้อยลงอย่างผิดปกติของทารกในครรภ์ มักเกิดร่วมกับภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรังและอยู่ในภาวะอันตราย โดยทารกจะดิ้นน้อยลงหรือหยุดดิ้นเป็นเวลา 12-48 ชั่วโมงก่อนที่จะเสียชีวิต

สรุป ถ้าลูกดิ้นมากคุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลอะไร แต่ถ้าลูกดิ้นน้อยลงในระยะใกล้คลอดนี่สิครับที่น่าเป็นห่วง

ลูกไม่ดิ้น

หากลูกหยุดดิ้นไปอย่างน้อย 12 ชั่วโมง คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ลูกดิ้นตอนกลางคืน

คุณแม่หลายคนรู้สึกว่าลูกจะดิ้นกวนใจเฉพาะในตอนกลางคืนเท่านั้น แต่ในความจริงแล้วลูกก็ดิ้นตลอดทั้งกลางวันและกลางคืนแหละครับ แต่ในช่วงกลางวันคุณแม่ต้องทำงานหรือมีเรื่องอื่นที่ดึงดูดความสนใจมากกว่า ก็เลยไม่ได้สังเกตหรือสนใจเรื่องการดิ้นของลูกสักเท่าไร และในขณะที่เราทำงาน เดิน หรือเปลี่ยนอิริยาบถเร็ว ๆ นั้น ลูกน้อยอาจจะตกใจและหยุดนิ่งไปบ้างก็ได้ เมื่อถึงตอนกลางคืนในขณะที่คุณแม่นอนพักผ่อน ก็จะมีเวลาสนใจเรื่องตัวเองมากขึ้น จึงรู้สึกได้ว่าลูกดิ้นมากนั่นเอง

มีข้อมูลระบุว่าลูกจะดิ้นในช่วงเวลาของวันไม่เท่ากัน (แต่ดิ้นตลอดทั้งวันและกลางคืน) โดยพบว่าลูกจะดิ้นมากเป็นพิเศษในช่วงระหว่างเวลา 21.00-01.00 น. บางครั้งลูกอาจดิ้นแรงจนทำให้คุณแม่ตื่นเลยก็ได้ครับ

การดิ้นกับอารมณ์ของลูก

ตามธรรมชาติแล้วเมื่อลูกอยู่ท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ ก็อาจจะมีการขยับตัวเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถไปอยู่ในท่าอื่น ๆ ที่ทำให้สบายขึ้น บางครั้งที่คุณแม่มีอารมณ์เปลี่ยนไป เช่น มีอารมณ์หวาดกลัว เครียดกังวล โกรธหงุดหงิดก็จะทำให้ลูกดิ้นได้มากขึ้น เพราะสารแห่งความเครียดหรือฮอร์โมนอะดรีนาลินที่คุณแม่หลั่งผ่านรกมายังตัวลูก จะกระตุ้นให้ลูกเครียดเหมือนคุณแม่ด้วย คุณแม่จึงควรพยายามควบคุมอารมณ์ ปรับตัวให้ผ่อนคลายและทำตัวให้มีความสุขให้ได้ เพราะจะทำให้ลูกน้อยมีความสุขไปด้วย แต่ในบางครั้งที่คุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นมากผิดปกติหรือดิ้นไม่หยุดเลย คุณแม่ควรหามุมสงบ ๆ ที่จะทำให้ร่างกายผ่อนคลายได้ดี ลูบไล้สัมผัสบริเวณหน้าท้องเบา ๆ พยายามพูดคุยกับลูกด้วยเสี่ยงนุ่ม ๆ หรือฟังเพลงไพเราะ ๆ เพื่อเป็นการช่วยปลอบประโลมลูก ทำให้ลูกรู้สึกสบายขึ้นและคุณแม่ก็รู้สึกผ่อนคลายไปด้วย

เพิ่มสัมพันธ์เมื่อลูกดิ้น

การดิ้นของลูกจะตอบสนองต่ออารมณ์ของแม่ และการกระตุ้นทางกายภาพด้วยเสียง แสง รวมถึงการสัมผัส จะช่วยทำให้ทารกในครรภ์มีการเคลื่อนไหวและมีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น พ่อและแม่อาจพูดคุยกับลูกในท้องด้วยคำพูดไพเราะ พูดเล่นกับลูกเพื่อให้ลูกเกิดความคุ้นเคย ในส่วนของคุณแม่นั้นควรพูดด้วยเสียงปกติ เพราะเสียงสามารถผ่านลำตัวของคุณแม่ไปยังลูกน้อยได้โดยตรง แต่สำหรับคุณพ่อนั้นจะต้องเพิ่มระดับความดังของเสียงให้มากกว่าปกติสัก 20-30% โดยการพูดย้ำคำย้ำประโยคเพื่อให้ลูกเกิดการเคยชินกับเสียง อาจจะทำวันละครั้ง ครั้งละ 15 นาที และอาจใช้มือลูบที่หน้าท้องของคุณแม่หรือตบเบา ๆ ตรงตำแหน่งที่ลูกดิ้น ซึ่งวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยและเพิ่มความสัมพันธ์กับลูกน้อยได้ตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ.  “การเคลื่อนไหวของลูก”.  (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์)”.  หน้า 132-133.
  2. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด.  “ลูกดิ้นมาก ดิ้นน้อย จะทำอย่างไร”.  (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ)”.  หน้า 151-153.
  3. M & C แม่และเด็ก.  “บันทึกการดิ้นของลูกกันเถอะ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : motherandchild.in.th.  [10 ม.ค. 2016].

ภาพประกอบ : americanpregnancy.org, www.lookfordiagnosis.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด