การทำหมันหญิง 8 ข้อดี-ข้อเสีย & วิธีทำหมันและแก้หมันหญิง !!

การทำหมันหญิง 8 ข้อดี-ข้อเสีย & วิธีทำหมันและแก้หมันหญิง !!

การทำหมัน

การทำหมันในบ้านเรามีมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2470 แล้ว ในสมัยแรกจะนิยมทำกันในหมู่คนที่มีการศึกษาสูงหรือผู้มีฐานะดี โดยจะทำกันเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ แต่ในปัจจุบันนี้การทำหมันได้รับความนิยมมากขึ้นและแพร่หลาย และเมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิตเราก็ต้องตัดสินใจได้แล้วว่าจะไม่มีลูกอีกต่อไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การทำหมันก็เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ควรใช้ เพราะเป็นการคุมกำเนิดถาวรที่ทำได้ง่าย สะดวก ปลอดภัย ใช้เวลาน้อย สุขภาพร่างกายไม่เปลี่ยนแปลง และได้ผลดีเกือบ 100% เพราะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ตัวเชื้ออสุจิของฝ่ายชายมาพบกับไข่ของฝ่ายหญิง ซึ่งก็สามารถทำได้ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะการทำหมันหญิงครับ

การทําหมันหญิง

การทำหมันหญิง (Female Sterilization) คือ การคุมกำเนิดชนิดหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูงมาก เป็นวิธีที่ประหยัด ปลอดภัย มีอัตราการล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์น้อยมาก เหมาะสำหรับผู้ที่มีบุตรเพียงพอแล้ว และเกิดจากการตัดสินใจร่วมกันทั้งสามีและภรรยา รวมถึงผู้ที่มีข้อห้ามในการตั้งครรภ์ โดยจะเป็นการทำให้ท่อนำไข่ (Fallopian Tube) อุดตัน โดยการใช้ไฟฟ้าจี้ (D), ผูกและตัด (A), ใช้คลิปหนีบ (C), หรือใช้วงแหวนพลาสติก (B) รัดทางเดินของท่อนำไข่ หรือที่เรียกกันว่าปีกมดลูกทั้งสองข้าง ไข่ที่ตกจากรังไข่เดือนละ 1 ใบ จะไม่สามารถเข้ามาผสมกับตัวอสุจิจากฝ่ายชายได้ เมื่อไข่ไม่ถูกผสมก็จะฝ่อไปเองภายใน 1 วัน ส่วนรังไข่ก็ผลิตไข่และฮอร์โมนไปตามปกติ หลังทำหมันแล้วก็สามารถทำงานได้ตามปกติ เพียงแต่ห้ามยกของหนักในช่วง 3-4 วันแรกเท่านั้น ไม่มีข้อห้ามอื่น ๆ สามารถร่วมเพศได้เลย เพราะให้ผลในการคุมกำเนิดแบบทันที ไม่ต้องรอนาน 3-4 เดือนเหมือนที่เข้าใจกัน

ในสมัยก่อนนั้นการทำหมันหญิงจะทำกันเฉพาะในรายที่เพิ่งคลอดบุตรใหม่ ๆ เพราะสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว เนื่องจากหลังคลอดใหม่ มดลูกยังสูงอยู่ จึงง่ายที่จะผ่าแผลเล็ก ๆ แพทย์จะทำบริเวณใต้สะดือหรือในขอบสะดือ โดยผ่าประมาณ 2-3 เซนติเมตร เข้าไปหาท่อนำไข่แล้วทำให้อุดตัน ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า “การทําหมันเปียก” (การทำหมันหลังคลอด) เมื่อทำเสร็จแล้วต้องนอนพักโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน จึงจะกลับบ้านได้ แต่ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์พัฒนาไปมาก จึงทำให้การทำหมันหญิงเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว มีความปลอดภัย และประหยัดมาก ทั้งยังสามารถทำได้ในระยะเวลาปกติโดยไม่ต้องรอทำหลังการคลอดบุตร วิธีนี้จึงได้รับความนิยมกันมากขึ้นและแพร่หลายไปทั่วโลก หรือที่เรียกว่า “การทําหมันแห้ง” ซึ่งใช้เวลาไม่นานครับ เมื่อทำเสร็จแล้วหมอจะให้นอนพักประมาณ 2-3 ชั่วโมงก็กลับบ้านได้เลย

การทำหมัน

ประเภทของการทำหมันหญิง

1.) การทำหมันหลังคลอด (การทำหมันเปียก) เป็นการทำหมันภายใน 6 สัปดาห์แรกหลังการคลอดบุตร โดยนิยมทำในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังการคลอดบุตร เนื่องจากสามารถทำได้โดยง่าย แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก เนื่องจากมดลูกยังมีขนาดโตลอยอยู่ในช่องท้องเหนืออุ้งเชิงกราน จึงทำให้สามารถหาท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างได้ง่าย วิธีที่นิยมทำกันก็คือ การลงแผลผ่าตัดใต้สะดือ ขนาดแผลยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร แล้วทำการผูกท่อนำไข่และตัดท่อนำไข่บางส่วนออกทั้งสองข้าง เมื่อทำเสร็จแล้วต้องนอนพักโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน จึงจะกลับบ้านได้ หลังผ่าตัดประมาณ 6-7 วัน จึงมาตัดไหม ส่วนคนที่ผ่าท้องคลอด แพทย์จะทำหมันไปพร้อมกันเลย จะได้ไม่ต้องมาทำใหม่อีก ซึ่งจะต้องนอนพักในโรงพยาบาลประมาณ 4-5 วัน และแพทย์ส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้ทำหมันด้วยวิธีนี้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว เพราะฉะนั้นผู้ที่คิดจะทำหมันด้วยวิธีนี้จะต้องคิดและตัดสินใจให้แน่วแน่ในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ เมื่อคลอดเสร็จจะได้ทำหมันได้เลย

2.) การทำหมันปกติ (การทำหมันแห้ง) เป็นการทำหมันในระยะที่ไม่ใช่ในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังการคลอดบุตร มดลูกจะมีขนาดปกติและอยู่ในอุ้งเชิงกราน การผ่าตัดจึงมีความยากในการหาท่อนำไข่มากกว่าการทำหมันเปียก แต่ก็ใช้เวลาไม่นานครับ เพียงแค่ 10-15 นาที เมื่อทำเสร็จแล้วหมอจะให้นอนพักประมาณ 2-3 ชั่วโมงก็กลับบ้านได้เลย พร้อมกับให้ยาแก้ปวดไปกิน อีกประมาณ 6-7 วันจึงค่อยกลับมาให้หมอตัดไหม ซึ่งการทำหมันแห้งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ

  • การผ่าตัดหน้าท้อง (Laparotomy) เป็นการลงแผลผ่าตัดบริเวณเหนือหัวหน่าว จากนั้นหาท่อนำไข่เพื่อทำการผูกและตัด (A) ท่อนำไข่บางส่วนออกทั้ง 2 ข้าง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที ในขั้นตอนแรกนั้น ผู้เข้ารับการผ่าตัดทำหมันจะถูกจัดให้อยู่ในท่านอนหงาย แล้วแพทย์จะทำการฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณที่จะทำการผ่าตัด (ในบางรายอาจใช้วิธีการบล็อกหลัง หรือในรายที่คาดว่าจะทำการผ่าตัดได้ยาก เช่น ผู้ที่อ้วนมาก แพทย์อาจเลือกใช้วิธีการดมยาสลบ ซึ่งการที่แพทย์จะเลือกใช้วิธีใดก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมครับ) หลังจากนั้นพยาบาลจะทำความสะอาดบริเวณหน้าท้องด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และปูผ้าสะอาดปราศจากเชื้อโรคคลุมหน้าท้องเหลือไว้เฉพาะบริเวณที่จะทำการผ่าตัด แล้วคุณหมอจะทำการผ่าเป็นแผลขนาดเล็กในตำแหน่งที่เหมาะสม ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร เมื่อผ่าเข้าไปในช่องท้องจะใช้อุปกรณ์จับท่อนำไข่ ไล่ไปจนเห็นปลายเปิดของท่อนำไข่ซึ่งมีลักษณะคล้ายปากแตร เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นท่อนำไข่ (ท่อนำไข่จะมีอยู่ 2 ข้าง ซ้ายและขวา มีขนาดยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางผิวนอก 3-4 มิลลิเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางในรูท่อ 1 มิลลิเมตร) แล้วใช้ไหมผูกท่อนำไข่ 2 ปม (แบบข้าวต้มมัด) แล้วตัดส่วนกลางของท่อนำไข่ให้แยกออกจากกัน (เนื่องจากท่อนำไข่มี 2 ข้าง การผูกและตัดจึงต้องทำกับท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง) หลังจากนั้นแพทย์จะตรวจดูว่าบริเวณส่วนของปลายท่อที่เหลือมีเลือดออกหรือไม่ ถ้าไม่มีก็จะทำการเย็บปิดแผลหน้าท้องก็เป็นอันเสร็จ

การทำหมันหญิง

  • การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopy) เป็นการใช้จี้ไฟฟ้าจี้ท่อนำไข่ร่วมกับตัดท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างออกบางส่วน หรือใช้อุปกรณ์รัดท่อนำไข่ ใช้คลิปหนีบท่อนำไขทั้ง 2 ข้างให้เกิดการอุดตัน โดยส่วนที่ทำได้จะมีอยู่ 2 ตำแหน่ง คือ บริเวณใกล้สะดือ แพทย์จะทำการฉีดยาชา แล้วเจาะรูเล็ก ๆ ขนาดเท่าปากกา และใช้กล้องสอดเข้าไปทำหมัน เมื่อเสร็จแล้วก็เย็บแผลปิดเพียงเข็มเดียว ส่วนอีกที่คือบริเวณเหนือหัวหน่าว แพทย์จะฉีดยาชาแล้วผ่าแผลเล็ก ๆ ประมาณ 2-3 เซนติเมตร เพื่อเข้าไปทำหมัน เสร็จแล้วจึงเย็บแผลปิด 1-2 เข็ม แต่การทำหมันผ่านกล้องนี้มีข้อจำกัดคือ ต้องดมยาสลบ นอนในท่าศีรษะต่ำ และต้องใช้ก๊าซในช่องท้องระหว่างการผ่าตัดทำหมัน ซึ่งเป็นข้อห้ามของผู้ป่วยโรคหัวใจหรือผู้มีภาวะผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด รวมทั้งอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะข้างเคียงในกรณีที่ใช้จี้ไฟฟ้า

หมันหญิง

วิธีทําหมันหญิง

ทำหมันหญิง

ในรายที่มีการตัดส่วนของท่อนำไข่ออกมา ถ้ายังไม่แน่ว่าเป็นท่อนำไข่จริงหรือไม่ แพทย์หรือพยาบาลที่ช่วยผ่าตัดจะทำการตรวจสอบเพื่อยืนยันว่าเป็นท่อนำไข่อีกครั้ง (เพราะอาจไปตัดส่วนของเอ็นที่ยึดมดลูกออกมาก็ได้) ด้วยการร้อยไหมให้ผ่านรูของชิ้นเนื้อที่ตัดออกมา หากร้อยไหมได้แสดงว่าส่วนที่ตัดออกมาเป็นท่อนำไข่จริง แต่ในกรณีที่แพทย์ไม่สามารถมองเห็นส่วนปลายของท่อนำไข่หรือพยาบาลไม่สามารถร้อยไหมผ่านรูชิ้นเนื้อได้ หรือมีข้อสงสัยอื่น ๆ แพทย์อาจจะส่งชิ้นเนื้อที่ตัดออกมาไปตรวจทางพยาธิวิทยาว่าเป็นท่อนำไข่จริงหรือไม่

3.) การทำหมันแบบ Essure เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดมากกว่า 2 วิธีแรก โดยกระบวนการ Essure จะเป็นการสกัดกั้นไม่ให้ไข่กับสเปิร์มมาเจอกัน โดยใช้วัตถุขนาดเล็กที่ทำขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือนิกเกิลที่มีลักษณะเป็นขดลวด 2 ขด (ข้างละ 1 ขด) สอดเข้าไปในท่อนำไข่ โดยใช้กล้องส่องตรวจโพรงมดลูก ใส่เข้าไปทางช่องคลอด ผ่านปากมดลูก ซึ่งกล้องที่ใส่เข้าไปนี้สามารถหมุนเข้าไปอุดท่อนำไข่ได้ เพื่อสร้างปฏิกิริยากระตุ้นให้ร่างกายสร้างพังผืดขึ้นมาปิดท่อนำไข่ ซึ่งใช้เวลาในการทำเพียง 5 นาทีเท่านั้น พูดได้ว่าพักงานเที่ยงไปทำหมันเสร็จกลับมาบ่ายก็ไม่มีใครรู้ เพราะไม่จำเป็นต้องพักฟื้น หลังทำเสร็จก็ไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็นจากการผ่าตัดแต่อย่างใด แต่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการทำหมันด้วยวิธีนี้คือช่วงแรกหลังจากประจำเดือนหมด เนื่องจากเยื่อบุโพรงมดลูกจะบางมากจนสามารถมองเห็นท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างได้อย่างชัดเจน และเพียงชั่วเวลา 3 เดือนหลังทำหมัน เนื้อเยื่อที่อยู่รอบ ๆ ขดลวดก็จะเจริญเติบโตจนท่อนำไข่ถูกอุดตันลงอย่างสมบูรณ์ หลังจากใส่อุปกรณ์เข้าไป ผู้ทำหมันสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ แต่ต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วยเพื่อรอให้ร่างกายสร้างพังผืดขึ้นมาปิดท่อรังไข่ได้ทั้งหมดก่อน

ทำหมัน

หลังจากใส่เครื่องมือไปแล้ว 3 เดือน แพทย์จะนัดกลับมาตรวจอีกครั้งเพื่อดูความคืบหน้าของการทำหมันว่าเรียบร้อยดีหรือไม่ ด้วยการฉีดสีเข้าไป หรือเอกซเรย์ดูว่าตัวโลหะที่ใส่เข้าไปอยู่ในจุดที่ถูกต้องดีหรือไม่ ถ้าเรียบร้อยดีจึงจะถือว่าเป็นการทำหมันถาวรได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ในส่วนของผลข้างเคียงนั้น อุปกรณ์ที่ใส่เข้าไปจะเป็นนิกเกิลกับไทเทเนียม ซึ่งเป็นโลหะที่มีปฏิกิริยาต่อร่างกายต่ำอยู่แล้ว จึงไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด

ทําหมันหญิง

4.) การทำหมันโดยการตัดมดลูกในเพศหญิง (Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดเพื่อเอามดลูกออกไปจากร่างกาย แต่ไม่ได้หมายความรวมถึงการตัดรังไข่ออกด้วย ซึ่งเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ได้แบบถาวร และวิธีนี้ยังใช้สำหรับการรักษาโรคบางโรคได้อีกด้วย เช่น มะเร็งของระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เช่น เนื้องอกมดลูก, มดลูกหย่อน, เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่, ประจำเดือนมามาก, มะเร็งปากมดลูก มะเร็งกล้ามเนื้อมดลูก มะเร็งท่อนำไข่ หรือมะเร็งรังไข่ เป็นต้น

การทําหมันหญิงถาวร

หมายเหตุ : ปกติแล้วถ้าพูดถึงการทำหมันสตรี ในความหมายของคนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นการทำหมันเปียกหรือการทำหมันแห้งครับ

ประสิทธิภาพในการทำหมันหญิง

การทำหมันหญิงถือเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ดีที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อย และมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง (แม้จะไม่ 100% ก็ตาม) ซึ่งตามหลักการแล้วการทำหมันหญิงอย่างถูกต้อง (Perfect use) จะมีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้เพียง 0.5% ซึ่งหมายความว่า จำนวนการตั้งครรภ์ต่อปีของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยการทำหมันแบบ Tubal ligation จำนวน 200 คน จะมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 1 คน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น ความชำนาญของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด วิธีการผ่าตัด ความยาวของท่อนำไข่ที่ตัดออก หรือผู้เข้ารับการผ่าตัดมีการตั้งครรภ์อยู่ก่อนแล้วก่อนการทำหมัน ฯลฯ และแม้ว่าจะทำการผ่าตัดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและทำการผ่าตัดอย่างถูกต้อง แต่ก็ยังมีรายงานพบการเชื่อมต่อกันเองของปลายท่อนำไข่และทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้อยู่ และในส่วนของการทำหมันหญิงแบบ Essure อย่างถูกต้อง พบว่าจะมีโอกาสล้มเหลวทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้เพียง 0.26% หรือคิดเป็น 1 ใน 384 คน ส่วนด้านล่างนี้เป็นตารางเปรียบเทียบระหว่างการคุมกำเนิดด้วยวิธีการทำหมันหญิงกับวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจครับ

วิธีคุมกำเนิด|การใช้แบบทั่วไป|การใช้อย่างถูกต้อง|ระดับความเสี่ยง
ยาฝังคุมกำเนิด|0.05 (1 ใน 2,000 คน)|0.05|ต่ำมาก
ทำหมันชาย|0.15 (1 ใน 666 คน)|0.1|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนรวม)|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2|ต่ำมาก
ทำหมันหญิงแบบไร้แผล (Essure)|0.26 (1 ใน 384 คน)|0.26|ต่ำมาก
ทำหมันหญิงแบบทั่วไป|0.5 (1 ใน 200 คน)|0.5|ต่ำมาก
ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง|0.8 (1 ใน 125 คน)|0.6|ต่ำมาก
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนเดี่ยว)|6 (1 ใน 17 คน)|0.2|ปานกลาง
แผ่นแปะคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
วงแหวนคุมกำเนิด (NuvaRing)|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ยาเม็ดคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3|ปานกลาง
ฝาครอบปากมดลูก (Diaphragm)|12 (1 ใน 8 คน)|6|สูง
ถุงยางอนามัยชาย|18 (1 ใน 5 คน)|2|สูง
การหลั่งนอก|22 (1 ใน 4 คน)|4|สูงมาก
การหลั่งใน (ไม่มีการป้องกัน)|85 (6 ใน 7 คน)|85|สูงมาก
หมายเหตุ : ตัวเลขที่แสดงเป็นจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยวิธีดังกล่าวจำนวน 100 คน โดยกำหนดให้ สีฟ้า = ความเสี่ยงต่ำมาก / สีเขียว = ความเสี่ยงต่ำ / สีเหลือง = ความเสี่ยงปานกลาง / สีส้ม = ความเสี่ยงสูง / สีแดง = ความเสี่ยงสูงมาก (ข้อมูลจาก : www.contraceptivetechnology.org, Comparison of birth control methods – Wikipedia)

ผู้ที่ไม่เหมาะจะทำหมันหญิง

  • ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะมีลูกหรือไม่ในอนาคต หรือผู้ที่ยังต้องการมีลูกอีกในอนาคต (สำหรับผู้ที่มีอายุน้อยหรือลูกยังไม่โตควรคิดให้ดีก่อนทำหมัน)
  • ผู้ที่อายุยังน้อยและยังไม่มีลูกหรือมีลูกเพียง 1 คน ถ้าไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงจริง ๆ แพทย์มักจะไม่ยอมทำหมันให้ครับ เนื่องจากอายุยังน้อย ยังมีโอกาสเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตได้อีกมาก เพราะอนาคตไม่มีความแน่นอน เพราะลูกอาจป่วย มีพัฒนาการไม่ดี ลูกหรือสามีอาจเสียชีวิต อาจเกิดการหย่าร้าง แต่งงานมีครอบครัวใหม่ (สามีใหม่ต้องการมีลูกไว้สืบสกุล) ฯลฯ ในภายหลังเมื่อทำหมันไปแล้วเกิดอยากมีลูกใหม่ การผ่าตัดแก้หมันจะทำได้ยาก มีค่าใช้จ่ายสูง และโอกาสสำเร็จก็ไม่มาก เพราะเทียบกันแล้ว ยังมีการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการทำหมัน (หรือมากกว่า) อีกหลายวิธี เช่น การใช้ยาฝังคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย การฉีดยาคุมกำเนิด ฯลฯ ที่สามารถคุมกำเนิดได้ยาวนานกว่าปกติอะไรแบบนั้นจะดีกว่า แล้วรอให้คุณแม่อายุมากขึ้นหน่อยและมั่นใจจริง ๆ ว่าไม่ต้องการที่จะมีลูก แล้วจึงค่อยมาทำหมันก็ยังไม่สายครับ (ในกรณีที่ผู้ป่วยยืนยันจะทำหมัน แพทย์ก็คงต้องดูเป็นราย ๆ ไปครับ แต่โดยส่วนมากแล้วจะแนะนำทางเลือกอื่น ๆ ตามที่บอกมาแล้วมากกว่า)
  • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือโรคปอด
  • ผู้ที่มีภาวะการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานหรือมีการอักเสบของเยื่อบุช่องท้อง หรือเป็นวัณโรคช่องท้อง
  • มีภาวะไส้เลื่อนที่หน้าท้องหรือกะบังลม
  • มีการติดเชื้อที่ผิวหนังหน้าท้องบริเวณที่จะผ่าตัด หรือมีพังผืดในช่องท้องมาก
  • ผู้ที่เคยผ่าตัดในช่องท้องมาแล้วหลายครั้ง หรือมีก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ในท้อง

ข้อจำกัดในการทำหมันหญิง

  • ต้องเข้ารับการผ่าตัดในห้องผ่าตัด และทำการผ่าตัดโดยแพทย์ผู้มีความรู้และความชำนาญในการผ่าตัดทำหมัน
  • ต้องใช้ยาระงับปวดและยาดมสลบในระหว่างการผ่าตัด
  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดทำหมันจะมีแผลผ่าตัดที่หน้าท้อง
  • ในบางรายที่เคยผ่าตัดในช่องท้องมาก่อนอาจจะมีพังผืดมาก หรือรายที่มีก้อนเนื้องอกบริเวณท่อนำไข่ซึ่งพบโดยบังเอิญ หรือท่อนำไข่มีหลอดเลือดที่มีขนาดใหญ่อยู่ใกล้ ๆ การผ่าตัดทำหมันอาจเสี่ยงต่อการเสียเลือดมากได้ ในกรณีเหล่านี้แพทย์อาจยุติการผ่าตัดทำหมันเพื่อความปลอดภัยก็เป็นได้
  • ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดทำหมันจะต้องไม่มีภาวะแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หากได้รับยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือดควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนและงดยาก่อนทำการผ่าตัดตามที่แพทย์สั่ง
  • ผู้ที่มีการเสียเลือดมากจากการคลอดจนความดันโลหิตต่ำ (ควรแก้ไขให้สัญญาณชีพคงตัวและร่างกายพร้อมรับการผ่าตัดก่อน)
  • หากการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ล้มเหลว จะมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้สูง
  • เนื่องจากวิธีนี้เป็นการคุมกำเนิดแบบถาวร หากต้องการกลับมาตั้งครรภ์หรือมีลูกอีกจะต้องมาผ่าตัดแก้ไข ซึ่งอัตราการประสบความสำเร็จจากการแก้หมันจะต่ำและมีค่าใช้จ่ายสูง

การเตรียมตัวก่อนการทำหมันหญิง

  • ควรเตรียมประวัติโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา ยาที่รับประทานอยู่ รวมทั้งยาที่ซื้อมารับประทานเอง หากรับประทานยา aspirin, ibuprofen ควรจะหยุดรับประทานยาก่อนทำหมันประมาณ 7 วัน แต่หากรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด warfarin ควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนการหยุดยา
  • ก่อนเข้ารับการผ่าตัดทำหมันหญิงควรถอดฟันปลอมและคอนแทคเลนส์ออกก่อนเข้าห้องผ่าตัด
  • ควรปัสสาวะเพื่อให้กระเพาะปัสสาวะแฟบก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพื่อลดโอกาสการเกิดการบาดเจ็บต่อกระเพาะปัสสาวะ
  • การผ่าตัดในบางครั้งจำเป็นต้องใช้ยาดมสลบหรือยาฉีดให้สลบ ดังนั้น เพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการสำลักอาหารจากกระเพาะอาหารระหว่างที่สลบ จึงควรงดน้ำ งดอาหารก่อนทำหมันอย่างน้อยประมาณ 6-8 ชั่วโมง

การดูแลตัวเองหลังการทำหมันหญิง

  1. ส่วนใหญ่ผู้เข้ารับการผ่าตัดทำหมันหญิงจะสามารถกลับบ้านได้เลยหลังจากตื่นจากยาสลบ แต่บางรายอาจจะต้องนอนโรงพยาบาลอีก 1 คืน
  2. หลังผ่าตัดทำหมันหญิงควรนอนพักเพื่อสังเกตอาการอย่างน้อยประมาณ 2-3 ชั่วโมง ในบางครั้งยังอาจมีอาการมึนงงจากยาชาและยาสลบ จึงควรมีญาติพากลับบ้าน ไม่ควรเดิน ขับรถ หรือกลับบ้านเพียงลำพัง จากนั้นจึงสังเกตอาการด้วยตนเอง หากมีอาการปวดแผลผ่าตัดมากหรือมีเลือดออกบริเวณผ่าตัด ให้รีบกลับไปโรงพยาบาล
  3. หลังการผ่าตัดแผลจะหายเป็นปกติภายใน 4-5 วัน ในระหว่างนี้ควรระมัดระวังไม่ให้แผลผ่าตัดถูกน้ำ ไม่ควรอาบน้ำร้อน หรือว่ายน้ำจนกว่าจะครบกำหนดเปิดแผล หรือประมาณ 1 สัปดาห์หลังการผ่าตัด
  4. ควรหลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือน เช่น การยกของหนัก การเดินนาน ๆ การเล่นกีฬาที่ต้องออกแรงมาก ๆ หรือการทำงานหนักหลังการผ่าตัดทำหมันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหายสนิทดีแล้ว ทั้งนี้เพื่อป้องกันการตกเลือดหรืออาการปวดแผลหลังการผ่าตัด (หากเย็บแผลด้วยไหมละลาย หลังเปิดแผลถ้าแผลหายดีก็สามารถอาบน้ำได้เลย แต่ถ้าเป็นการเย็บแผลด้วยไหมธรรมดา ต้องไปตัดไหมก่อนเมื่อครบ 7 วัน แล้วจึงจะอาบน้ำได้)
  5. สำหรับการทำหมันแห้งควรงดมีเพศสัมพันธ์หลังการทำหมันอย่างน้อย 7 วัน หรือจนกว่าจะไม่เจ็บแผลผ่าตัด ส่วนการทำหมันเปียก สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หลังจากคลอดบุตรแล้วประมาณ 4-6 สัปดาห์
  6. หากมีอาการปวดแผลผ่าตัดให้รีบประทานยาเพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น พาราเซตามอล (แต่ส่วนมากจะมีอาการปวดเพียงเล็กน้อย และไม่จำเป็นต้องใช้ยาครับ) แต่หากมีอาการปวดมากก็ควรรีบไปพบแพทย์ครับ และหากมีอาการดังต่อไปนี้ ก็ควรรีบไปพบแพทย์เช่นกัน เช่น มีอาการปวดท้องมาก ทานยาแก้ปวดแล้วยังไม่หายปวด, มีน้ำหรือเลือดออกจากแผลผ่าตัด, มีอาการตกเลือดมาก, หายใจหอบ หน้ามืด, มีไข้มากกว่า 100.5 °F หรือหนาวสั่น, คลื่นไส้อาเจียน
  7. ในระยะยาวอาจมีอาการปวดแปลบ ๆ บริเวณท้องน้อยทั้งสองข้างเล็กน้อย ซึ่งมีสาเหตุมาจากพังผืดจากการผ่าตัด ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ตามปกติ แต่หากมีอาการปวดท้องน้อยมาก ควรรีบไปพบแพทย์
  8. ในกรณีที่ประจำเดือนขาดหลังทำหมันควรรีบตรวจการตั้งครรภ์ เพราะการทำหมันหญิงไม่สามารถคุมกำเนิดได้เต็ม 100% หากพบมีการตั้งครรภ์ควรรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้สูง
  9. เมื่อครบกำหนดเวลานัด หรือครบกำหนด 1 เดือนหลังการผ่าตัดทำ หรือมีอาการผิดปกติ ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอีกครั้ง และควรมาตรวจสุขภาพทั่วไปและตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกปีละ 1 ครั้ง

ผลข้างเคียงจากการทำหมันหญิง

อันตรายจากการผ่าตัดทำหมันหญิงมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย เพราะในปัจจุบันมีเครื่องมือที่ทันสมัยและมีความปลอดภัยมาก ส่วนอาการแทรกซ้อนอาจพบได้บ้างแต่ก็มีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย หรือพบได้น้อยกว่า 1% (การทำหมันหญิงอันตรายน้อยกว่าการคลอดลูกและการทำแท้งหลายสิบเท่า และมีเพียง 1-2 คนใน 100,000 คน เท่านั้นที่เสียชีวิตจากการทำหมัน) เพราะโดยทั่วไปแล้วการผ่าตัดทำหมันเป็นหัตถการที่สามารถทำได้โดยง่าย ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนจะใช้เวลาในการผ่าตัดไม่เกิน 15-30 นาที จึงจัดเป็นหัตถการที่พบภาวะแทรกซ้อนได้น้อยมาก ซึ่งภาวะแทรกซ้อนส่วนใหญ่มักมาจากการดมยาสลบ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนด้วยการเปลี่ยนมาใช้ยาชาเฉพาะที่พร้อมกับงดน้ำและอาหารก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก็จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนส่วนนี้ได้ โดยผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้หลังการผ่าตัดทำหมันหญิงมีดังนี้

  1. อวัยวะข้างเคียงภายในอาจได้รับบาดเจ็บร่วมด้วย เช่น มดลูก กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้
  2. อาจเกิดภาวะเสียเลือด ในระหว่างการผ่าตัดอาจมีการฉีกขาดของหลอดเลือดบริเวณท่อนำไข่ได้ หรือไหมที่ผูกบริเวณท่อนำไข่ที่เป็นตัวช่วยห้ามเลือดจากแผลผ่าตัดท่อนำไข่หลุด ทำให้มีเลือดออกในช่องท้องได้
  3. การติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน การติดเชื้อที่แผลผ่าตัดทำหมัน เป็นต้น
  4. หลังการทำหมันอาจเกิดอาการดังต่อไปนี้ได้ประมาณ 2-4 วัน ได้แก่ เจ็บไหล่ แสบคอ ท้องใหญ่และเกร็งหน้าท้อง อาจมีเลือดออกทางช่องคลอด และมีตกขาว
  5. ในบางรายอาจพบว่ามีอาการปวดท้องน้อย ส่วนมากแล้วจะเป็นอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังหรือปวดพอรำคาญ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการมีพังผืดบริเวณที่ตัดผูกท่อนำไข่ แต่ไม่พบว่าเป็นอันตรายแต่อย่างใด
  6. ในบางรายอาจพบว่ามีอาการแพ้ยาชาหรือยาดมสลบ หรือมีปัญหาต่อระบบไหลเวียนเลือดและการหายใจในกรณีที่ได้รับการดมยาสลบ
  7. การตั้งครรภ์นอกมดลูก แม้ว่าการทำหมันจะเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง แต่ก็ยังมีโอกาสทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ ซึ่งถ้ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกสูง
  8. ผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น การแพ้ยา การติดเชื้อ ปอดบวม โรคแทรกซ้อนทางหัวใจ เป็นต้น

ข้อดีของการทำหมันหญิง

  1. การทำหมันหญิงเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการวางแผนครอบครัว
  2. เป็นวิธีที่ประหยัด สะดวก ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการคุมกำเนิด ไม่ต้องกลัวลืมรับประทานหรือฉีดยาคุมกำเนิด และไม่ต้องเสียเวลาในการเข้ารับบริการการคุมกำเนิด
  3. เนื่องจากไม่ใช่วิธีการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมน จึงช่วยลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนได้
  4. ไม่ขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคในการมีเพศสัมพันธ์
  5. ไม่มีผลต่อการให้นมบุตร

ข้อเสียของการทำหมันหญิง

  1. ผู้เข้ารับการผ่าตัดทำหมันจะมีแผลผ่าตัดที่หน้าท้อง
  2. หากการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ล้มเหลว จะมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้สูง
  3. ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

ทำหมันหญิงแล้วเขาลือกันว่า… ?

  • ทำหมันแล้วโทรม ทำงานหนักไม่ไหว !! : ไม่จริง เพราะการทำหมันหญิงจะเป็นการผูกท่อนำไข่ ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายแต่อย่างใด ส่วนที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรมนั้นมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น หลงเชื่อข่าวลือผิด ๆ เกี่ยวกับการทำหมันหรือมีความกลัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเหล่านี้เป็นภาวะทางด้านจิตใจ หรือบางคนอาจมีโรคอยู่ก่อนแล้วหรือเพิ่งเกิดโรคหลังจากที่ทำหมัน ซึ่งเป็นไปตามกาลเวลา แต่ไม่รู้จะโทษอะไรดี ก็เลยไปโทษว่าสาเหตุเป็นเพราะการทำหมัน ทั้งที่ความจริงแล้วไม่เกี่ยวข้องกันเลย หรือในอีกกรณีที่บางคนใช้การทำหมันเป็นข้ออ้างไม่อยากทำงานหนัก แต่ความจริงแล้วไม่เกิน 1 สัปดาห์แผลก็หายสนิทแล้วครับ สามารถทำงานหนักได้ทุกชนิด ไม่ต่างจากช่วงก่อนทำหมันเลย
  • ทำหมันหญิงแล้วจะอ้วนขึ้นหรือผอมลงหรือไม่ ? : ไม่เกี่ยวครับ เพราะการทำหมันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อต่อมหรืออวัยวะใด ๆ ที่เกี่ยวกับการกินอาหารและระบบการย่อยอาหารแต่อย่างใด การที่คนเราจะอ้วนหรือผอมนั้นหลัก ๆ แล้วจะขึ้นอยู่กับอาหารการกินหรือเกี่ยวกับสุขภาพทั่วไปของคน ๆ นั้นมากกว่า คนที่อ้วนขึ้นก็อาจเป็นเพราะพันธุกรรมเดิมหรือเกิดความสบายใจทำให้กินดีอยู่ดีจนอ้วนท้วนสมบูรณ์ขึ้น ส่วนคนที่ผอมลง ก็อาจเกิดจากการเจ็บป่วยอย่างอื่นก็ได้ ซึ่งมีอยู่หลายปัจจัยครับ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำหมันอย่างแน่นอน
  • ทำหมันหญิงแล้วก็ยังตั้งท้องได้ : ได้ครับ แต่โอกาสมีก็น้อยมาก ๆ ซึ่งอาจเกิดจากการที่ปีกมดลูกที่ตัด ผูก หรือใช้ไฟฟ้าจี้ มาต่อกันเองได้สำหรับบางคน หรือใช้วงแหวนพลาสติกรัด แล้ววงแหวนเกิดหลุดก็ทำให้ตั้งครรภ์ได้ หรืออีกกรณีก็คือคุณแม่เริ่มตั้งครรภ์อ่อน ๆ แล้ว แต่ยังไม่รู้ตัว คือไข่มีการผสมและผ่านท่อนำไข่มาแล้ว ก่อนที่จะมาทำหมันโดยการผูกท่อนำไข่ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าทำหมันแล้วเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมาจริง ๆ ลูกน้อยในครรภ์ก็ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด ขอให้สบายใจได้เลยครับ
  • ทำหมันแล้วจะเป็นโรคประสาท : ไม่เกี่ยวกันครับ เพราะการทำหมันไม่ได้ทำลายระบบประสาทแต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่ทำให้เกิดอาการหงุดหงิด ปวดศีรษะ หรือเป็นโรคประสาทได้ ถ้าจะเป็นก็เป็นเองครับ ไม่เกี่ยวกับการทำหมัน อย่างบางคนที่เคยมีอาการดังกล่าว พอทำหมันแล้วอาการหายไปเลยก็มี ซึ่งอาจเพราะไม่ต้องมากังวลเรื่องจะมีลูกนั่นเอง
  • ทำหมันแล้วจะไม่มีประจำเดือน : ไม่จริง การทำหมันหญิงจะไม่มีผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เพราะมดลูกและรังไข่ยังคงมีอยู่ตามปกติ จึงไม่มีผลต่อรังไข่และมดลูก ไม่มีผลรบกวนฮอร์โมนเพศในร่างกาย ผู้ที่ทำหมันแล้วยังสามารถมีประจำเดือนได้ตามปกติเหมือนเดิมจนถึงอายุ 49-50 ปี
  • ทำหมันแล้วมดลูกจะอักเสบ : ไม่จริง เพราะการทำหมันไม่ได้ไปแตะต้องส่วนของมดลูกเลย
  • ทำหมันแล้วจะเป็นมะเร็งที่มดลูก : ไม่จริง 100% เพราะในทางกลับกันคนที่มีลูกน้อยจะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกน้อยกว่าคนที่มีลูกมากครับ
  • ทำหมันแล้วไข่ที่ตกออกมาจากรังไข่จะไม่มีทางออก จึงตกค้างและเกิดอันตรายได้ : ก็ไม่จริงอีกแหละครับ ถ้าไข่ตกและไม่ได้รับการผสมก็จะฝ่อไปเองตามธรรมชาติ ไม่สะสมไว้ในร่างกาย
  • ทำหมันหญิงแล้วจะเจ้าชู้มากขึ้น : ไม่เกี่ยวกันอย่างแน่นอนครับ เพราะเรื่องแบบนี้มันขึ้นอยู่กับอุปนิสัยของแต่ละคน บางคนอาจจะเป็นคนเจ้าชู้มาตั้งแต่ยังไม่ได้ทำหมันก็ได้ โดยที่ก่อนหน้านี้ยังไม่ได้แสดงออกเพราะกลัวจะไปทำผู้หญิงอื่นท้อง หรือถ้าเป็นผู้หญิงก็อาจจะกลัวท้องขึ้นมาแล้วทำให้อับอายจึงยับยั้งชั่งใจไว้ พอทำหมันจนแน่ใจแล้วว่าไม่ตั้งท้อง ก็เลยปล่อยตัวตามนิสัยตัวเอง พอถูกจับได้ก็ไปโทษว่าการทำหมันทำให้เสียคน ทั้งที่ความจริงแล้วไม่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด
  • ทำหมันแล้วเซ็กซ์จัด : ไม่เกี่ยว น่าจะเป็นเพราะหมดความกังวลเรื่องการตั้งครรภ์หรือเป็นข้ออ้างของคนที่มีนิสัยอย่างนี้มากกว่า
  • ทำหมันแล้วหมดความรู้สึกทางเพศ : ไม่จริง 1,000% ถ้าจะเป็นก็เพราะเราคิดไปเอง อีกทั้งจากการศึกษาส่วนใหญ่ก็ยังพบว่าผู้ที่ทำหมันแล้วจะมีเพศสัมพันธ์บ่อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ทำหมัน ซึ่งสาเหตุก็น่าจะมาจากหมดความกังวลเรื่องปัญหาการตั้งครรภ์ สรุปก็คือ การทำหมันหญิงไม่มีผลแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงที่ทำให้ความรู้สึกทางเพศลดลง

การแก้หมันหญิง

ในกรณีของผู้ที่ต้องการจะมีบุตรอีกหลังการทำหมัน เช่น มีการแต่งงานใหม่ บุตรเสียชีวิต หรืออยากมีบุตรเพิ่มอีก และอยากทำการแก้หมันหรือต่อหมันหญิง ก็สามารถตั้งครรภ์ใหม่ได้โดย

  • การผ่าตัดแก้หมันหญิง (Tubal ligation reversal) เป็นการผ่าตัดเชื่อมต่อท่อนำไข่ที่ถูกตัดให้ขาดออกจากกัน ต้องทำโดยแพทย์ที่มีความชำนาญและได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีโอกาสกลับมาตั้งครรภ์ได้อีกประมาณ 15-90% ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ความชำนาญของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดแก้หมัน เครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัด การใช้กล้องขยายช่วยในการผ่าตัด วิธีการผ่าตัดทำหมันที่ใช้ ความยาวของท่อนำไข่ที่เหลือ ตำแหน่งที่ถูกตัดท่อนำไข่ ระยะเวลาหลังจากการผ่าตัดทำหมัน อายุของผู้ทำหมัน สุขภาพของผู้ทำหมันและสามี เป็นต้น ถ้าเน้นประหยัดหรือมีงบประมาณจำกัดก็เลือกทำที่โรงพยาบาลรัฐครับ ราคาประมาณ 1-3 หมื่นบาท แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนก็ประมาณ 8 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาทขึ้นไป

แก้หมันหญิง

  • การใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ได้แก่ การทำเด็กหลอดแก้ว (In vitro fertilisation – IVF) โดยการใช้ยากระตุ้นไข่และใช้เข็มดูดเก็บไข่จากรังไข่ จากนั้นจึงนำมาผสมกับอสุจิภายนอกร่างกาย จนได้ตัวอ่อน แล้วจึงย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวและเจริญเติบโตต่อไป ซึ่งจะมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 25-40% ต่อรอบ ขึ้นอยู่กับอายุและอีกหลายปัจจัย (บางข้อมูลระบุว่า มีอัตราการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 5-80% ต่อรอบ) วิธีนี้เป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายสูง ค่าใช้จ่ายต่อรอบก็หลักแสนขึ้นไป และต้องทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะด้าน มีอุปกรณ์ และห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือพิเศษ

ทําหมันแล้วอยากมีลูกอีก

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด.  “การทำหมัน…ตัดสินใจที่จะไม่มีลูกอีก”.  (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ).  หน้า 456-465.
  2. หาหมอดอทคอม.  “การทำหมันหญิง (Tubal ligation)”.  (พญ.กีรติ ลีละพงศ์วัฒนา).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [21 ต.ค. 2015].
  3. Siamhealth.  “การทำหมันหญิง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [21 ต.ค. 2015].
  4. ThaiLady Clinic.  “การแก้หมัน การต่อหมัน ในผู้หญิง”.  (นพ.ฉัตรชัย ตรีธรรมพินิจ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thailadyclinic.com.  [21 ต.ค. 2015].
  5. นิตยสาร M&C แม่และเด็ก.  “บอกลา..แผลผ่าตัด “คุมกำเนิด” ทางเลือกใหม่”.  (นพ.วิบูลย์ กมลพรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : motherandchild.in.th.  [21 ต.ค. 2015].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด