การทดสอบตาบอดสี / การทดสอบการมองเห็นสี (Color Blindness Test)

การทดสอบตาบอดสี / การทดสอบการมองเห็นสี (Color Blindness Test)

การทดสอบตาบอดสี

การทดสอบตาบอดสี, การทดสอบการมองเห็นสี, หรือการทดสอบการมองเห็นสีและตาบอดสี (Color Vision Test, Color Blindness Test หรือ Color Blind Test) คือ การทดสอบความสามารถในการมองเห็นสี มักใช้ในการตรวจคัดกรองตาบอดสีในเด็กและในผู้ที่ต้องประกอบอาชีพที่ต้องมีการมองเห็นสีที่ปกติ เช่น นักบิน ทหาร ผู้บังคับจราจรทางอากาศ พนักงานขับรถ ฯลฯ เพราะอาจจะเห็นสัญญาณการเตือนภัยต่าง ๆ ไม่ชัดเจน และก่อให้เกิดผลเสียต่าง ๆ ได้อย่างมหาศาล ดังนั้น ในขั้นตอนการตรวจร่างกายเพื่อสมัครเข้าทำงานเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องมีการทดสอบตาบอดสีของผู้สมัครด้วย ซึ่งหากใครทดสอบไม่ผ่านก็จะไม่สามารถผ่านการตรวจร่างกายได้

หมายเหตุ : อาการหลักของตาบอดสี คือ ความยากลำบากในการแยกสีออกจากกันหรือการบอกสีผิดเมื่อต้องระบุสีภายใต้แสงปกติ ในคนที่มีภาวะตาบอดสีนั้นจะไม่สามารถบอกถึงความแตกต่างระหว่างเฉดสีที่ต่างกันระหว่างเฉดสีแดงและสีเขียว, สีเขียวและสีน้ำเงิน หรือสีอื่น ๆ ส่วนใหญ่ภาวะนี้มักเป็นมาตั้งแต่เกิดจากการถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม ดังนั้นตาบอดสีจึงมักถูกวินิจฉัยพบตั้งแต่เด็ก (พบได้ในผู้ชายประมาณ 8% แบ่งเป็นตาบอดสีแดง 1%, ตาบอดสีเขียว 1%, ตาพร่องสีแดง 1% และตาพร่องสีเขียว 5% ส่วนผู้หญิงพบได้เพียง 0.4% เท่านั้นของประชากรทั้งหมด) ส่วนสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกว่าเด็กอาจมีการมองเห็นสีที่ค่อนข้างแย่ ได้แก่ การระบายสีผิดเวลาวาดสิ่งของ เช่น ระบายสีใบไม้เป็นสีม่วง, มีปัญหาในการระบุสีแดงหรือสีเขียวของดินน้ำมัน สี หรือมาร์กเกอร์ หรือสีอื่น ๆ เช่น สีม่วงและสีน้ำตาลซึ่งมีเม็ดสีแดงหรือเขียวในนั้น, มีความยากลำบากในการอ่านหนังสือในหน้าที่มีสี, มีความยากลำบากในการบอกสีในที่ ๆ มีแสงน้อย, มีความไวต่อแสงจ้า ฯลฯ

จุดประสงค์ของการทดสอบตาบอดสี

  • เพื่อช่วยคัดกรองและวินิจฉัยว่าเกิดตาบอดสีหรือไม่
  • เพื่อใช้ทดสอบสำหรับผู้ที่จะสมัครงานที่การมองเห็นสีเป็นเรื่องสำคัญ เช่น นักบิน ทหารทุกเหล่า ผู้บังคับจราจรทางอากาศ พนักงานขับรถ วิศวกร เภสัชกร พยาธิแพทย์ เจ้าหน้าที่ห้องตรวจปฏิบัติการในโรงพยาบาล เภสัชกร พนักงานตำรวจและดับเพลิง ช่างถ่ายรูป ช่างทาสี เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมผ้าและสิ่งทอ ฯลฯ

วิธีการทดสอบตาบอดสี

ตาบอดสีสามารถตรวจคัดกรองและวินิจฉัยได้ด้วยแบบทดสอบอย่างง่าย การทดสอบไม่มีอันตรายและความเสี่ยง และไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวใด ๆ เป็นพิเศษ ซึ่งจักษุแพทย์มักจะตรวจตาบอดสีด้วยการคัดกรองสายตาเป็นประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเด็ก ดังนั้นตาบอดสีจึงมักถูกวินิจฉัยพบได้ตั้งแต่วัยเด็ก ส่วนแบบทดสอบที่ใช้ในการตรวจอาการตาบอดสีก็มีอยู่หลายแบบแตกต่างกันไป ประกอบด้วย

  • แผ่นทดสอบอิชิอารา (Ishihara plates) เป็นวิธีการทดสอบที่พบได้มากและได้รับความนิยมมากที่สุด จัดเป็นการตรวจในระดับคัดกรอง (Screening) เพื่อดูว่าผู้เข้ารับการตรวจมีภาวะตาบอดสีหรือไม่ โดยผู้เข้ารับการตรวจจะได้ดูแผ่นภาพหรือแผ่นกระดาษหลาย ๆ หน้า (38 หน้า แต่ส่วนมากไม่ต้องดูทั้งหมดก็ทราบแล้วว่าตาบอดสีหรือไม่) ซึ่งในแต่ละหน้าจะมีวงกลมวงใหญ่ที่เต็มไปด้วยจุดสีเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวเลขและเส้นเอาไว้ให้ลาก โดยจุดสีที่ใช้จะเป็นสีที่คนตาบอดสีมักสับสน ถ้าสามารถอ่านและลากเส้นได้ถูกต้องทั้งหมดก็ถือว่าตาปกติ แต่ในคนตาบอดสีแดงซึ่งจะสับสนระหว่างสีแดงและสีน้ำเงินอมเขียว ถ้ามีตัวเลขสีแดงบนพื้นสีน้ำเงินอมเขียวก็จะทำให้มองไม่เห็นตัวเลขบนแผ่นทดสอบที่ซ่อนอยู่

    แผ่นทดสอบอิชิอารา
    IMAGE SOURCE : thechromologist.com

  • แบบทดสอบแคมบริดจ์ (Cambridge color test) เป็นแบบทดสอบที่คล้ายกับอันแรก แต่จะแสดงอยู่บนจอคอมพิวเตอร์ และให้ผู้เข้ารับการตรวจชี้หาตัว “C” ที่จะปรากฏขึ้นแบบสุ่มจากพื้นหลังที่มีสีแตกต่างกัน

    แบบทดสอบแคมบริดจ์
    IMAGE SOURCE : www.osapublishing.org

  • การทดสอบด้วยเครื่อง Anomaloscope ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้แยกสีออกเป็นสีต่าง ๆ แล้วให้ผู้เข้ารับการตรวจทำการ Color Matching เช่น ผู้ตรวจกำหนดเป็นสีเหลืองไว้ แล้วให้ผู้เข้ารับการตรวจพยายามผสมสีแดงและเขียวให้ได้สีเหลือง ในผู้ที่ตาบอดสีแดงหรือพร่องสีแดงก็จะใช้สีแดงมากเมื่อเปรียบเทียบกับคนปกติ จึงทำให้แพทย์สามารถวินิจิฉัยได้ว่าผู้นั้นมีการมองเห็นสีบกพร่องหรือตาบอดสีแดง อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ก็สามารถใช้ตรวจได้เฉพาะตาบอดหรือพร่องสีแดงและสีเขียว

    การทดสอบด้วยเครื่อง Anomaloscope
    IMAGE SOURCE : memim.com

  • การทดสอบ Farnsworth-Munsell (Farnsworth-Munsell 100 hue test) เป็นการทดสอบเพื่อวัดความสามารถในการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของสีอย่างละเอียดของผู้เข้ารับการตรวจ เช่น ผู้ที่ทำงานด้านการออกแบบกราฟิก ผู้ตรวจสอบคุณภาพอาหาร เป็นต้น การทดสอบนี้สามารถใช้แยกผู้ที่มีการมองเห็นสีปกติและผู้ที่มีพร่องสีน้อย ๆ ออกจากผู้ที่ตาบอดสีระดับปานกลางถึงรุนแรงได้ โดยเครื่องมือจะมีลักษณะเป็นฝาครอบ บล็อก หรือหมุดที่มีสีลดหลั่นกันลงมา ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องเรียงสีต่าง ๆ ที่ใกล้เคียงกัน ต่อ ๆ กันตามเฉดสี

    การทดสอบ Farnsworth Munsell
    IMAGE SOURCE : colourhouse.se

  • การทดสอบ Farnsworth lantern (Farnsworth lantern test) ทหารสหรัฐฯจะใช้การทดสอบนี้เพื่อตรวจสอบระดับความรุนแรงของภาวะตาบอดสี และมีใช้ในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งผู้เข้ารับการตรวจจะได้ดูหลอดไฟเป็นคู่ ๆ และจะต้องบอกสีของหลอดไฟ

    การทดสอบ Farnsworth lantern
    IMAGE SOURCE : www.caleyecare.org

อนึ่ง การตรวจวินิจฉัยตาบอดสีนั้นจะเริ่มด้วยการคัดกรองก่อนว่าผู้เข้ารับการตรวจมีหรือไม่มีตาบอดสี ต่อมาก็จะเป็นการตรวจว่าตานั้นบอดสีอะไร แล้วก็ตามด้วยการตรวจดูว่ามีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ถ้ารุนแรงน้อยก็อาจถือว่าอยู่ในกลุ่มที่ค่อนข้างปกติ ไม่มีปัญหาในการประกอบอาชีพหรือการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ถ้าอยู่ในระดับปานกลางถึงรุนแรง ก็จะมีข้อกัดในบางอาชีพดังที่ได้กล่าวไป

ขั้นตอนการทดสอบตาบอดสี

สำหรับขั้นตอนการทดสอบการมองเห็นสีด้วยแผ่นทดสอบอิชิอารา (Ishihara plates) นั้นจะมีขั้นตอนดังนี้

  1. ในการเตรียมตัวก่อนการทดสอบ ผู้เข้ารับการที่ใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์อยู่เดิมก็ให้ใส่เป็นปกติในระหว่างการตรวจ และแพทย์จะสอบถามถึงการใช้ยาหรืออาหารเสริมต่าง ๆ ในกรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจมีการเจ็บป่วยหรือมีประวัติเกี่ยวกับความบกพร่องในการมองเห็นสีหรือตาบอดสีของคนในครอบครัว
  2. แพทย์หรือผู้ตรวจจะให้ผู้เข้ารับการตรวจในห้องที่มีความสว่างตามปกติและให้ปิดตาหนึ่งข้าง ส่วนตาข้างที่ไม่ได้ปิดก็ให้มองไปที่ภาพที่ใช้ทดสอบ โดยในแต่ละภาพจะจุดสีที่แตกต่างกันไปที่ซ่อนตัวเลขหรือเส้นเอาไว้

    แผ่นทดสอบ Ishihara plates
    IMAGE SOURCE : 
www.ebay.com (by scientific_surgical)

  3. จากนั้นจะให้ผู้เข้ารับการตรวจแยกแยะและบอกถึงตัวเลขหรือเส้น ถ้าสามารถตอบได้ถูกต้องก็แสดงว่าการมองเห็นสีมีความปกติ แต่หากมีความบกพร่องในการมองเห็นสี ผู้เข้ารับการตรวจก็จะไม่สามารถมองเห็นหรือแยกแยะได้หรือบอกผิด ตัวอย่างเช่น
    • Plate 1 : คนตาปกติและตาบอดสีจะอ่านได้หมายเลขเดียวกัน คือ 12

      Ishihara plate 1
      Ishihara Plate 1

    • Plate 3 : คนตาปกติจะอ่านได้หมายเลข 29, คนตาบอดสีแดง-เขียวจะอ่านได้หมายเลข 70, คนตาบอดสีจะไม่สามารถอ่านหมายเลขได้

      Ishihara Plate 3
      Ishihara Plate 3

    • Plate 7 : คนตาปกติจะอ่านได้หมายเลข 74, คนตาบอดสีแดง-เขียวจะอ่านได้หมายเลข 21, คนตาบอดสีจะไม่สามารถอ่านหมายเลขได้

      Ishihara Plate 7
      Ishihara Plate 7

    • Plate 9 : คนตาปกติจะอ่านได้หมายเลข 45, คนตาบอดสีจะไม่สามารถอ่านหมายเลขได้

      Ishihara Plate 9
      Ishihara Plate 9

    • Plate 15 : คนตาปกติจะไม่สามารถอ่านตัวเลขได้, คนตาบอดสีแดง-เขียวจะอ่านได้หมายเลข 45, คนตาบอดสีจะไม่สามารถอ่านหมายเลขได้

      Ishihara Plate 15
      Ishihara Plate 15

    • Plate 19 : คนตาปกติจะไม่สามารถลากเส้นจาก X ไป X ได้, คนตาบอดสีแดง-เขียวจะสามารถลากเส้นจาก X ไป X ได้, คนตาบอดสีจะไม่สามารถลากเส้นจาก X ไป X ได้

      Ishihara Plate 19
      Ishihara Plate 19

    • Plate 23 : คนตาปกติจะลากเส้นตามสีม่วงต่อกับสีส้มจาก X ไป X ได้, คนตาบอดสีแดง-เขียวจะลากเส้นตามสีม่วงต่อกับสีฟ้า-เขียวจาก X ไป X ได้, คนตาบอดสีจะไม่สามารถลากเส้นจาก X ไป X ได้ หรือลากได้ก็คนละเส้นทาง

      Ishihara Plate 23
      Ishihara Plate 23 (IMAGE SOURCE : 
www.chanahospital.go.th)

เอกสารอ้างอิง
  1. WebMD.  “What You Need to Know About Color Blindness Tests”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.webmd.com.  [20 ก.ค. 2018].
  2. หาหมอดอทคอม.  “ตาบอดสี (Color blindness)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [23 ก.ค. 2018].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด