ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar Pregnancy) อาการ, สาเหตุ, การรักษา ฯลฯ

ครรภ์ไข่ปลาอุก

ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy หรือ Hydatidiform mole) หมายถึง การตั้งครรภ์ที่ผิดปกติชนิดหนึ่งที่มีอาการเริ่มแรกเหมือนการตั้งครรภ์ทั่วไป คือ ประจำเดือนขาดและมีอาการแพ้ท้อง (บางรายอาจมีอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง คือ มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากกว่าปกติหลายเท่า) มีเลือดออกทางช่องคลอด แต่สีเลือดที่ออกมาจะไม่ใช่สีแดงสดนะครับ แต่จะเป็นสีน้ำตาลคล้ำ ๆ คล้ายเลือดเก่า (อาจจะออกเพียงเล็กน้อยหรือออกมากก็ได้ ซึ่งการมีเลือดออกในครรภ์ไข่ปลาอุกนี้ก็เป็นการแท้งชนิดหนึ่งนั่นเองครับ) นอกจากจะมีเลือดออกมาแล้ว บางครั้งยังอาจมีเม็ดกลม ๆ ใส ๆ คล้ายกับไข่ปลาอุกหลุดปนออกมาทางช่องคลอดด้วยครับ

การตั้งครรภ์ชนิดนี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่มีตัวเด็กครับ เนื่องจากตัวเด็กไม่เจริญเติบโตตั้งแต่อายุได้ 3-5 สัปดาห์แล้ว แต่ส่วนที่ออกมาให้เห็นเป็นเม็ด ๆ นั้น คือส่วนของเนื้อรกที่มีการเจริญผิดปกติจนกลายเป็นเนื้องอกคล้ายถุงน้ำอยู่เต็มไปหมดภายในโพรงมดลูกครับ ส่วนมากจะเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้าย (Benign tumor) ที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นประมาณร้อยละ 2 ที่อาจกลายเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งเยื่อรก (Choriocarcinoma) ซึ่งอาจลุกลามและแพร่กระจายตามกระแสเลือดไปทั่วร่างกายได้ โดยโรคครรภ์ไข่ปลาอุกนี้มักเกิดขึ้นในระยะแรก ๆ ของการตั้งครรภ์ครับ หรือในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 10-16 ของการตั้งครรภ์

ตามปกติแล้วภายหลังการผสมกันระหว่างไข่กับเชื้ออสุจิก็จะมีตัวอ่อนเกิดขึ้น ซึ่งตัวอ่อนนี้จะมีการพัฒนาต่อไปเป็นรกและเป็นตัวเด็ก แต่จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า การตั้งครรภ์ของคุณแม่บางรายไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากเซลล์ส่วนที่จะเป็นรกนั้นมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เซลล์ส่วนที่จะกลายเป็นตัวทารกกลับตายไป จึงเหลือแต่ส่วนที่เป็นรก และรกนั้นสามารถสร้างน้ำขึ้นมาได้อย่างมากมาย จึงทำให้มองเห็นเป็นเม็ดใส ๆ คล้ายไข่ปลาอุก

สาเหตุการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก

คนโบราณบอกว่าเม็ดกลม ๆ ใส ๆ ที่ปนออกมานั้นมีลักษณะเหมือนกับไข่ปลาอุก (บางคนก็บอกว่าคล้ายไข่ปลาแขยงหรือปลากด บ้างก็ว่าคล้ายกับเม็ดสาคู) ซึ่งจะมีขนาดแตกต่างกันไป เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง และมีจำนวนมากติดกันเป็นพวง ๆ คล้ายพวงองุ่นอยู่ภายในโพรงมดลูก แต่เม็ดที่ใหญ่ที่สุดก็คงไม่เกินขนาดของลูกองุ่นหรอกครับ นอกจากนี้การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น

  1. ครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียว (Complete mole) จะมีเฉพาะเนื้องอกของเนื้อรกทั้งหมด ไม่มีตัวทารก และมีโอกาสเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งไข่ปลาอุกได้ประมาณ 25%[4]
  2. ครรภ์ไข่ปลาอุกร่วมกับมีทารกหรือส่วนของทารกอยู่ด้วย (Partial mole) แต่จะเป็นทารกที่ผิดปกติที่ไม่สามารถมีชีวิตและเจริญเติบโตได้ และมีโอกาสเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งไข่ปลาอุกได้ประมาณ 3-6%[4]
  3. ครรภ์ไข่ปลาอุกที่เนื้องอกรกลุกลามเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก (Invasive mole) ในส่วนนี้ยังไม่มีรายงานสถิติที่แน่ชัดในการเปลี่ยนไปเป็นมะเร็ง แต่โรคกลุ่มนี้จะมีโอกาสแพร่กระจายคล้ายในมะเร็งรกได้ (เมื่อแพร่กระจาย มักจะแพร่กระจายเข้าสู่ปอด) แต่ก็พบได้น้อยกว่าในมะเร็งรกมาก
  4. มะเร็งไข่ปลาอุก มะเร็งรก มะเร็งเนื้อรก หรือมะเร็งเยื่อรก (Choriocarcinoma) เป็นครรภ์ที่เนื้องอกรก เป็นเนื้องอกชนิดเป็นมะเร็ง ที่อาจลุกลามและแพร่กระจายตามกระแสเลือดไปทั่วร่างกาย

หมายเหตุ : ปลาอุก (Cephalocassis borneensis) เป็นปลาน้ำกร่อยชนิดหนึ่งซึ่งหาได้ค่อนข้างยากในปัจจุบันและจัดอยู่ในวงศ์ปลากดทะเล (Ariidae) รูปร่างมีลักษณะเพรียว หางคอดเล็ก หลังยกสูงเล็กน้อย มีจะงอยปากยื่นยาว ปากเล็ก หัวโตแบนราบเล็กน้อย ตาเล็กอยู่กลางหัว ตัวมีสีเทาอมเหลืองอ่อน ด้านท้องและครีบมีสีขาว ลำตัวยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ครีบด้านหลังมีก้านแข็งหนาและยาว ครีบไขมันมีขนาดเล็ก มีสีคล้ำเล็กน้อย ส่วนครีบท้องมีขนาดใหญ่ และครีบหางเว้าลึก นิยมบริโภคตัวผู้ที่มีไข่ในปากเรียก “ไข่ปลาอุก” ซึ่งนิยมนำมาทำแกงส้ม

ปลาอุก

อัตราการเกิดครรภ์ไข่ปลาอุก

โรคครรภ์ไข่ปลาอุกเป็นโรคที่พบได้มากน้อยแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติและสภาพเศรษฐกิจ เช่น ในอเมริกาและประเทศทางยุโรปจะพบโรคนี้ได้น้อยมากเพียง 1 ใน 2,000 ราย ส่วนประเทศทางตะวันออกอย่างในบ้านเราจะพบโรคนี้สูงขึ้นเป็น 10 เท่า และสตรีที่มีอายุมากก็จะยิ่งมีโอกาสเป็นได้มากกว่าสตรีที่มีอายุน้อย รายงานจากโรงพยาบาลหลายแห่งในกรุงเทพมหานครพบว่า มีการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก 1 รายต่อการตั้งครรภ์ 200-600 ราย และส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่มีฐานะยากจนและเป็นโรคขาดสารอาหารมากกว่าผู้ที่มีฐานะดีและมีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้คุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกมาแล้วครั้งหนึ่งก็จะมีโอกาสเกิดซ้ำได้มากกว่าคนตั้งครรภ์ปกติถึง 20 เท่า[1] บ้างก็ระบุว่าจะมีโอกาสเป็นซ้ำได้ประมาณ 5-10 เท่าของการตั้งครรภ์ปกติ[2]

ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า สถิติการเกิดการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกในแต่ละประเทศนั้นจะแตกต่างกันออกไป เพราะมีรายงานพบได้ตั้งแต่ 1 ใน 100 ไปจนถึง 1 ใน 5,000 ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด และผู้ที่เคยตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกมาแล้ว จะมีโอกาสเป็นซ้ำได้น้อยมากเพียง 1-2% (เฉพาะในรายที่รักษาจนหายขาด ผู้ป่วยมีอายุไม่มากและยังไม่ได้ผ่าตัดมดลูก)[3],[4]

อาการครรภ์ไข่ปลาอุก

เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ใหม่ ๆ คุณแม่จะมีอาการเหมือนการตั้งครรภ์ตามปกติ แต่เมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปสักระยะหนึ่งก็จะมีเลือดสีน้ำตาลไหลออกมาทางช่องคลอดแบบออก ๆ หยุด ๆ ถ้ามีอาการเพียงเท่านี้ แพทย์อาจให้การวินิจฉัยว่าเป็นการแท้งบุตร แต่ถ้าตั้งครรภ์ไปอีกระยะหนึ่งแล้วมีอาการแสดงที่แตกต่างกันไปจากการตั้งครรภ์และการแท้งบุตรตามปกติหลายอย่างร่วมด้วย เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอดมากขึ้น บางรายมีเม็ดใส ๆ คล้ายไข่ปลาอุกออกมาด้วย, แพ้ท้องมากกว่าปกติหลายเท่า, มีอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษและครรภ์เป็นพิษ ฯลฯ ซึ่งอาการที่แสดงของการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกนั้นจะมีอาการดังต่อไปนี้

  • อาการเริ่มแรกเหมือนกับการตั้งครรภ์ทั่วไป เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ใหม่ ๆ คุณแม่จะมีอาการเหมือนการตั้งครรภ์ตามปกติ เช่น ประจำเดือนขาด มีอาการแพ้ท้อง คัดตึงเต้านม ปัสสาวะบ่อย ฯลฯ
  • มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ คล้ายกับการแท้งบุตร ลักษณะของเลือดที่ออกมาจะเป็นสีน้ำตาลคล้ำ ๆ หรือสีดำคล้ายเลือดเก่า ๆ จะออกมากหรือน้อยก็ได้ แต่จะออกมาแบบออก ๆ หยุด ๆ ซึ่งเป็นอาการที่พบได้มากที่สุดประมาณ 84% ของผู้ป่วย[6] ในบางรายอาจมีเลือดออกนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ๆ จะทำให้มีอาการซีดและอ่อนเพลีย (เลือดที่ออกมานั้นเกิดจากการฉีกขาดของเยื่อหุ้มตัวทารกกับผนังโพรงมดลูก ถ้าเลือดออกมาก คุณแม่จะมีอาการซีด) ในทางปฏิบัติแพทย์มักจะวินิจฉัยว่าเป็นการแท้งบุตร แต่เมื่อให้การรักษาด้วยการให้นอนพักและหยุดงานแล้ว เลือดก็ยังออกแบบกะปริดกะปรอยอยู่อีก เป็น ๆ หาย ๆ ได้ประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งตรงนี้จะแตกต่างจากการแท้งทั่ว ๆ ไปครับ เพราะการแท้งนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วธรรมชาติมักจะจัดการในเวลาอันสั้น โดยแท้งออกมาเป็นรกหรือเป็นตัวเด็ก เมื่อเลือดหยุดไหลก็สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ตามปกติ มักจะไม่พบกรณีที่เลือดออกมาแบบเป็น ๆ หาย ๆ และเป็นเวลานานเหมือนครรภ์ไข่ปลาอุก
  • ขนาดของมดลูกโตเร็วกว่าอายุครรภ์และบวมน้ำมาก พบได้ประมาณ 28% ของผู้ป่วย[6] คุณแม่อาจพบว่าขนาดของท้องหรือมดลูกโตเร็วมากกว่าอายุครรภ์ที่ควรจะเป็นคล้ายกับมีการตั้งครรภ์แฝด โดยที่ยังไม่รู้สึกว่าทารกในครรภ์ดิ้นเลย
  • มีอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง ในปัจจุบันพบได้ประมาณ 8% ของการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีขนาดมดลูกโตกว่าปกติและมีระดับฮอร์โมน hCG สูงมาก[6] คุณแม่อาจมีอาการการแพ้ท้องมากกว่าคนตั้งครรภ์ปกติ โดยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากกว่าปกติหลายเท่าจนต้องมารับการรักษาในโรงพยาบาล ทำให้น้ำหนักตัวลดหรือมีความผิดปกติของเกลือแร่ในกระแสเลือด (เชื่อว่าเกิดขึ้นมาจากระดับฮอร์โมน hCG ในร่างกายที่สูงขึ้นปกติ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากเนื้อเยื่อรกที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติอย่างมากมาย)
    อาจพบเห็นเม็ดกลมใสหลุดปนออกมากับเลือดทางช่องคลอด ถ้าเห็นเม็ดกลมใสหลุดออกมาด้วยก็ค่อนข้างจะชัดเจนมากเลยครับว่าเป็นการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก ซึ่งคุณแม่มักจะแท้งเองเมื่อมีอายุครรภ์ได้ประมาณ 16-18 สัปดาห์[2] (ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าประมาณ 10-16 สัปดาห์[3]) ต่างจากครรภ์ปกติคุณแม่มักแท้งเองเมื่อมีอายุครรภ์ได้ประมาณ 10-12 สัปดาห์
  • มีอาการครรภ์เป็นพิษในขณะอายุครรภ์น้อย ๆ ก่อน 20 สัปดาห์ หรือตั้งแต่ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ คือ มีอาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่ แขนขาบวม มีความดันโลหิตสูงร่วมกับมีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ เนื่องจากระดับฮอร์โมน hCG สูงเกินไป (โดยทั่วไปแล้วหากเป็นการตั้งครรภ์ปกติ อาการครรภ์เป็นพิษจะเกิดขึ้นเมื่อมีอายุครรภ์มากแล้วหรือในช่วงไตรมาสที่ 3 ถ้าพบว่ามีอาการครรภ์เป็นพิษในระยะตั้งครรภ์อ่อน ๆ ก็ควรจะนึกถึงโรคครรภ์ไข่ปลาอุกไว้ด้วยเสมอครับ) ในปัจจุบันพบได้น้อยลงเพียง 1% ของผู้ป่วยเท่านั้น[6]
  • มีอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษ คุณแม่จะมีอาการใจสั่น มือสั่น ชีพจรเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย เหงื่อออกมาก เนื่องจากฮอร์โมน hCG ที่รกสร้างมีปริมาณสูง ซึ่งจะมีฤทธิ์อ่อน ๆ ในการกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ จนทำให้เกิดไทรอยด์เป็นพิษ
  • ถุงน้ำรังไข่ ถุงน้ำนี้เป็นผลมาจากการกระตุ้นของฮอร์โมน hCG ที่มีระดับสูงมาก ขนาดโดยทั่วไปจะโตประมาณ 6-12 เซนติเมตร และอาจจะโตได้ถึง 20 เซนติเมตร ลักษณะของถุงน้ำนี้จะเป็น multiloculated และเป็นทั้ง 2 ข้าง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนบิดขั้ว แตก และตกเลือดได้ ต้องทำการผ่าตัดฉุกเฉิน ถ้าถุงน้ำรังไข่มีขนาดใหญ่มาก ๆ อาจจะทำให้เกิดอาการแน่นอึดอัดในอุ้งเชิงกรานได้ สามารถรักษาได้ด้วยการเจาะดูดบรรเทาภายใต้การชี้นำของคลื่นเสียงความถี่สูงหรือการผ่าตัดส่องกล้อง ถุงน้ำนี้จะหายไปได้เองภายใน 2-4 เดือนหลังจากที่รักษาภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกแล้ว[6]

คนที่ตั้งครรภ์แล้วมีอาการคล้ายแท้ง มีเลือดออกมาแบบออก ๆ หยุด ๆ แพทย์มักจะส่งไปตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อดูว่าการตั้งครรภ์นั้น ๆ มีความผิดปกติหรือไม่อย่างไร เช่น เป็นครรภ์ไข่ปลาอุกหรือไม่ ทารกในครรภ์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก ส่วนใหญ่แล้วจะพบว่าขนาดของมดลูกจะโตมากกว่าปกติ ในกรณีที่คุณแม่จำประจำเดือนที่มาครั้งสุดท้ายไม่ได้ แพทย์จะกำหนดระยะการตั้งครรภ์ได้ไม่แน่นอน ทำให้บอกได้ยากว่าเป็นครรภ์ไข่ปลาอุกหรือไม่ แต่เมื่อใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ตรวจดูก็จะทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าภายในโพรงมดลูกนั้นไม่มีตัวเด็กอยู่ จะมีแต่รกและน้ำเลือดอยู่เต็มไปหมด หากคุณแม่มีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบสูติแพทย์ที่ได้ฝากครรภ์ไว้ก่อนนัดเสมอเพื่อตรวจยืนยันว่ามีการตั้งครรภ์ผิดปกติหรือไม่ และในส่วนของอาการครรภ์เป็นพิษและไทรอยด์เป็นพิษนั้นจะหายไปเองเมื่อแพทย์ทำการยุติการตั้งครรภ์หรือรักษาครรภ์ไข่ปลาอุกแล้ว[4]

หมายเหตุ : บางข้อมูลระบุว่า อัตราการเกิดของอาการต่าง ๆ ในผู้ป่วยครรภ์เป็นพิษจะพบเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ร้อยละ 97, พบขนาดมดลูกโตกว่าอายุครรภ์อย่างน้อย 4 สัปดาห์ ร้อยละ 50, พบเม็ดกลมใสหลุดปนออกมากับเลือดทางช่องคลอด ร้อยละ 50, มีอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง ร้อยละ 25, มีอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ร้อยละ 25 และมีอาการของครรภ์เป็นพิษ ร้อยละ 12-27[7]

สาเหตุการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก

ในปัจจุบันวงการแพทย์ยังไม่สามารถหาสาเหตุว่าการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร แพทย์บางท่านเชื่อว่าน่าจะเกิดจากกรรมพันธุ์ บ้างก็เชื่อว่าน่าจะเกิดจากการขาดสารอาหารบางอย่าง หรืออาจเกิดจากการสร้างฮอร์โมนบางชนิดที่ผิดปกติ สรุปก็คือ ยังไม่ทราบครับ แต่เท่าที่ทราบได้ก็คือ เป็นเนื้องอกของเนื้อรกชนิดหนึ่งที่มีการแบ่งตัวมากผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการปฏิสนธิกันระหว่างไข่กับเชื้ออสุจิที่มีโครโมโซมผิดปกติ (ไข่ของคุณแม่ไม่มีโครโมโซมเพศ (โครโมโซม X) เมื่อถูกผสมจากเชื้ออสุจิของคุณพ่อ โครโมโซมของตัวอ่อนนี้จึงเป็นโครโมโซมของคุณพ่อเองทั้งหมด) ทำให้ไม่สามารถเจริญเติบโตไปเป็นตัวอ่อนของมนุษย์ตามปกติได้ แต่จะเจริญผิดปกติเป็นถุงน้ำเล็ก ๆ จำนวนมากอยู่ภายในโพรงมดลูก

ปัจจัยเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก

  1. คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 40 ปีขึ้นไป[3] คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีจะมีความเสี่ยงตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า ซึ่งอาจเป็นเพราะสตรีที่มีอายุมากขึ้นจะทำให้ไข่มีโอกาสเกิดการปฏิสนธิที่ผิดปกติได้ง่ายมากขึ้น ส่วนคุณแม่ที่อายุน้อยกว่า 18-20 ปี จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย[6]
  2. คุณแม่ที่เพิ่งตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก
  3. มีประวัติการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก ผู้ที่เคยตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกมาแล้ว 1 ครั้ง จะมีโอกาสตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกซ้ำได้อีกประมาณ 1-2% ในครรภ์ต่อไป ส่วนผู้ที่เคยมีประวัติการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกมาแล้ว 2 ครั้งจะมีโอกาสตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกซ้ำได้อีกเพิ่มขึ้นเป็น 16-28% ในครรภ์ต่อไป[6]
  4. ภาวะโภชนาการ จากการศึกษาพบว่าการรับประทานแคโรทีนน้อยและมีภาวะพร่องวิตามินเอจะช่วยเพิ่มอุบัติการณ์การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกชนิดที่ไม่มีส่วนของทารกปนอยู่ด้วย[6]
  5. มีประวัติประจำเดือนไม่สม่ำเสมอและประวัติการใช้ยาคุมกำเนิด พบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกชนิดที่มีทารกหรือส่วนของทารกปนอยู่ด้วย[6]
  6. การสูบบุหรี่
  7. กรรมพันธุ์ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และสภาพทางเศรษฐกิจ

การวินิจฉัยครรภ์ไข่ปลาอุก

แพทย์สามารถวินิจฉัยว่าคุณแม่เป็นโรคครรภ์ไข่ปลาอุก ได้จาก

  • ซักประวัติ ส่วนมากเมื่อทำการซักประวัติแล้วจะพบว่าผู้ป่วยมีประวัติการขาดประจำเดือนเหมือนคนตั้งครรภ์ทั่วไป มักพบว่ามีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดเหมือนการแท้งบุตร บางครั้งมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมากกว่าคนตั้งครรภ์ปกติ รู้สึกว่าท้องโตเร็วกว่าปกติ แต่ไม่รู้สึกว่าลูกดิ้นเลย
  • ตรวจร่างกาย ในบางคนอาจตรวจพบว่ามีอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษและครรภ์เป็นพิษร่วมด้วย (มีอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย ความดันโลหิตสูง มีอาการซีด และบางครั้งอาจปวดท้อง) ตรวจร่างกายพบว่าขนาดของมดลูกใหญ่เกินกว่าอายุครรภ์ที่ควรจะเป็น และไม่สามารถฟังเสียงการเต้นของหัวใจทารกได้ในเวลาที่เหมาะสม
  • ตรวจอัลตราซาวนด์ เป็นการตรวจที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะสามารถช่วยวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้คุณแม่มีเลือดออกทางช่องคลอดได้ ซึ่งในกรณีของการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกนั้น การตรวจอัลตราซาวนด์จะทำให้เห็นอย่างชัดเจนเลยครับว่าภายในโพรงมดลูกนั้นไม่มีตัวเด็กอยู่ แต่จะมีรกและถุงน้ำอยู่เต็มไปหมด และสามารถพบถุงน้ำรังไข่ร่วมด้วยทั้ง 2 ข้างของรังไข่ (การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์จะเห็นภาพในโพรงมดลูกมีลักษณะคล้ายพายุหิมะ มองเห็นเนื้อเป็นเม็ด ๆ อยู่เต็มไปหมด แต่ไม่เห็นตัวทารก ซึ่งเป็นลักษณะค่อนข้างเฉพาะของโรคนี้)
  • ตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจเพื่อหาระดับฮอร์โมน hCG ที่เป็นฮอร์โมนจำเพาะในการวินิจฉัยครรภ์ไข่ปลาอุกได้ ซึ่งจะพบว่าระดับฮอร์โมนนี้ในเลือดสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ปกติ นอกจากนั้นแพทย์ยังใช้ระดับฮอร์โมนชนิดนี้เพื่อช่วยในการประเมินความรุนแรงของโรคและใช้ติดตามผลการรักษาได้ด้วย

ครรภ์ไข่ปลาอุก

การรักษาครรภ์ไข่ปลาอุก

  1. การประเมินก่อนการรักษา เมื่อคุณแม่มีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที แพทย์จะทำการตรวจโดยใช้อัลตราซาวนด์และจะทราบในทันทีว่าคุณแม่มีการตั้งครรภ์ผิดปกติหรือไม่ และจะนำเลือดหรือปัสสาวะไปตรวจวัดระดับฮอร์โมนเพื่อนำมาวินิจฉัยในการดูแลรักษาคุณแม่ให้ดีที่สุด หลังจากวินิจฉัยภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกแล้ว แพทย์จะประเมินดูว่าผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ครรภ์เป็นพิษ ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ฯลฯ ด้วยการซักประวัติ, ตรวจร่างกายอย่างละเอียด, ตรวจทางห้องปฏิบัติการพื้นฐานเพื่อประเมินความรุนแรงของโรค (ตรวจนับเม็ดเลือด วิเคราะห์ปัสสาวะ ตรวจอิเล็กโทรไลต์), ตรวจการทำงานของตับ ไต และต่อมไทรอยด์, ตรวจวัดระดับฮอร์โมน hCG, การแข็งตัวของเลือด, ตรวจอัลตราซาวนด์ของอุ้งเชิงกราน, เอกซเรย์ปอดเพื่อดูการแพร่กระจายของโรคสู่ปอด (จะช่วยวินิจฉัยได้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ และช่วยประเมินระยะโรค) เป็นต้น หากพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวก็ต้องทำการรักษาก่อนที่จะยุติการตั้งครรภ์
  1. การยุติการตั้งครรภ์ ภายหลังจากตรวจประเมินและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนแล้วแพทย์จะพิจารณาให้ยุติการตั้งครรภ์โดยเร็วที่สุด เพราะถ้าปล่อยไว้นาน คุณแม่อาจได้รับอันตรายจากการเสียเลือดเรื้อรัง มีภาวะแทรกซ้อนจากการแพ้ท้องมาก หรือจากโรคไทรอยด์เป็นพิษและครรภ์เป็นพิษที่พบร่วมด้วยได้ ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกัน 2-3 วิธีหลัก ๆ ซึ่งการจะเลือกใช้วิธีไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ดังนี้ครับ
    • การขูดมดลูกโดยใช้เครื่องดูดไฟฟ้า เป็นวิธีที่แพทย์นิยมเลือกใช้เป็นส่วนมาก เพราะทำได้เร็ว เสียเลือดน้อยกว่าการขูดมดลูกด้วยเครื่องปกติ และสามารถทำได้ไม่ว่ามดลูกจะมีขนาดใหญ่เท่าใดก็ตาม ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์อายุยังน้อยหรือต้องการมีลูก แพทย์ก็จะขูดมดลูกโดยใช้เครื่องดูดสุญญากาศให้ แล้วติดตามการรักษาอย่างน้อย 1 ปี
    • การตัดมดลูกออก จะพิจารณาทำในสตรีที่มีอายุมากกว่า 40 ปี หรือในสตรีไม่ต้องการมีลูกแล้วและมีระดับฮอร์โมน hCG ในเลือดสูง เนื่องจากจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งไข่ปลาอุกสูง มีมดลูกทะลุ และมีเลือดออกจากโพรงมดลูก ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์มีอายุเกิน 40 ปี และมีลูกเพียงพอแล้ว แพทย์มักจะแนะนำให้ตัดมดลูกออกครับ เพราะจะเป็นประโยชน์มากกว่า แล้วติดตามการรักษาอย่างน้อย 1 ปีเช่นเดียวกัน
    • การให้ยาเคมีบำบัดป้องกัน (ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีที่ 1 หรือ 2) เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งไข่ปลาอุก โดยหวังว่าจะช่วยลดอุบัติการณ์ของมะเร็งไข่ปลาอุกได้ แต่การให้ยาเคมีบำบัดนี้ก็มีทั้งข้อดีข้อเสียครับ แพทย์จึงพิจารณาให้ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งเท่านั้น เช่น อายุมาก ระดับฮอร์โมน hCG ในเลือดสูงมาก โดยยาที่ใช้คือ เมโธเทรกเซท (Methotrexate) หรือ แดกติโนไมซิน (Dactinomycin)
    • ในรายที่กลายเป็นมะเร็งไข่ปลาอุก การรักษาการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกอาจไม่จบง่ายเหมือนกับการรักษาการแท้งบุตรทั่วไป เพราะแม้จะให้การรักษาตามข้อ 1-2 แล้วก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่จะหายขาดจากโรคนี้ครับ เพราะมีคุณแม่บางคนประมาณ 10% ที่โรคไม่ยอมหาย แต่กลายเป็นมะเร็งไข่ปลาอุกตามมา ซึ่งถ้ารักษาไม่ดีก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยโรคมะเร็งที่ว่านี้มักจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 6 เดือน – 1 ปีหลังการรักษาครรภ์ไข่ปลาอุกครับ นี้จึงเป็นเหตุผลที่ว่าคุณแม่ที่มีการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกจึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจติดตามโดยแพทย์อย่างใกล้ชิดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี เพื่อแพทย์จะดูระดับฮอร์โมน hCG เป็นระยะ ๆ เพราะฮอร์โมนตัวนี้สร้างมาจากเซลล์ของโรคครรภ์ไข่ปลาอุกและถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด ถ้าตรวจฮอร์โมนตัวนี้เป็นระยะ ๆ แล้วพบว่ามีระดับลดลงเรื่อย ๆ จนหมดไป แสดงว่าการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกน่าจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ถ้าตรวจพบว่าระดับฮอร์โมน hCG ไม่ลดลง หรือกลับเพิ่มขึ้น โรคครรภ์ไข่ปลาอุกอาจกลับขึ้นมาใหม่หรือกลายเป็นโรคมะเร็งไข่ปลาอุกไปแล้วก็ได้ ซึ่งแพทย์จะให้ยารักษามะเร็ง เช่น เมโธเทรกเซท (Methotrexate) หรือ แดกติโนไมซิน (Dactinomycin) ในรายที่กลายเป็นมะเร็งไข่ปลาอุก (Choriocarcinoma) การให้ยารักษามะเร็งดังกล่าวก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ 100% ถ้ายังไม่แพร่กระจายไปที่อื่น และรักษาได้หายขาดประมาณ 60-80% ถ้ามีอาการแพร่กระจายไปที่อื่น[3]
  2. การติดตามผู้ป่วย ภายหลังการรักษา ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจติดตามหลังการรักษาอย่างน้อย 1 ปี เพื่อเป็นการเฝ้าระวังการกลายเป็นมะเร็งไข่ปลาอุก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแพทย์จะทำการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมน hCG เป็นระยะ ๆ และแนะนำให้คุมกำเนิดด้วยยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมอย่างน้อย 1 ปี เพราะการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้จะทำให้รอบเดือนมาตรงเวลาและมาสม่ำเสมอกว่าการคุมกำเนิดแบบอื่นที่อาจจะทำให้มีเลือดออกแบบกะปริดกะปรอยได้ ซึ่งจะทำให้แยกได้ยากว่าเป็นอาการแทรกซ้อนของการคุมกำเนิดหรือมีการเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งไข่ปลาอุก (ไม่แนะนำให้ใช้ห่วงคุมกำเนิดเพราะมีความเสี่ยงต่อมดลูกทะลุ)

อันตรายจากครรภ์ไข่ปลาอุก

การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกอาจมีอันตรายที่เกิดขึ้นแบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ

  • ระยะสั้น (ระยะแรก) เป็นอันตรายจากการตกเลือด เสียเลือด เลือดจาง และการอักเสบติดเชื้อจากการแท้ง บางคนเสียเลือดมากก็ต้องให้เลือด แต่ถ้าเลือดออกไม่หยุดก็จำเป็นต้องตัดมดลูก ซึ่งอันตรายเหล่านี้จะเกิดมากขึ้นตามขนาดของมดลูกที่โตขึ้น ถ้าแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้เร็วก็จะช่วยลดความรุนแรงของอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ดี
  • ระยะยาว การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกนั้นสามารถเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งไข่ปลาอุกในระยะต่อมาได้ถึง 10-20% ซึ่งอาการที่แสดงว่าอาจมีการเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งไข่ปลาอุกก็คือ การมีเลือดออกแบบกะปริดกะปรอย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการป้องกันโดยการให้ยากลุ่มที่ใช้รักษามะเร็งไข่ปลาอุก แต่จะให้เพียงระยะสั้น ๆ และมีการติดตามการรักษาเพื่อตรวจดูว่าโรคนี้จะกลายเป็นมะเร็งไข่ปลาอุกหรือไม่ ถ้าพบว่าเริ่มเปลี่ยนแปลงก็ต้องหาวิธีรักษาที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งการติดตามผลนั้นควรจะทำอย่างน้อย 1 ปีเต็ม ในระยะแรกแพทย์จะนัดมาตรวจทุก 2 สัปดาห์ จนกว่าจะพบว่าการตรวจฮอร์โมนในปัสสาวะหรือการเจาะเลือดหาปริมาณฮอร์โมนได้ผลอยู่ในเกณฑ์ปกติ ต่อจากนั้นต้องตรวจซ้ำอีกทุก 1 เดือนไปจนครบ 6 เดือน แล้วตรวจซ้ำอีกทุก 2 เดือนไปจนครบ 1 ปีก่อน แพทย์จึงจะอนุญาตให้ตั้งครรภ์ใหม่ได้ สำหรับในกรณีของการคุมกำเนิดของผู้ที่ยังไม่ได้ตัดมดลูกและยังไม่ได้ทำหมัน ในระหว่างการติดตามผลนั้นแพทย์จะแนะนำให้คุมกำเนิดด้วยการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เพราะการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้จะทำให้รอบเดือนมาตรงเวลาและมาสม่ำเสมอ ถ้าใช้วิธีคุมกำเนิดแบบอื่น เช่น การใส่ห่วงอนามัย การฉีดยาคุมกำเนิด หรือการใช้ยาฝังคุมกำเนิดอาจจะมีเลือดออกแบบกะปริดกะปรอยได้ ซึ่งจะทำให้แยกได้ยากว่าเป็นอาการแทรกซ้อนของการคุมกำเนิดหรือมีการเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งไข่ปลาอุก

การป้องกันการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกัน แต่เราสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดครรภ์ไข่ปลาอุกได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ตอนอายุมาก ๆ งดการสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ เมื่อพบว่าตั้งครรภ์ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ในทันที

คำแนะนำเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก

  1. คุณแม่ต้องดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากการตั้งครรภ์ครั้งนี้ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ แพทย์จึงให้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อดูดเอาเนื้อเยื่อรกที่ผิดปกติออกไป ส่วนในผู้ป่วยบางรายที่เป็นครรภ์เสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นมะเร็งไข่ปลาอุก แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดมดลูกออกไป
  2. โรคนี้ถึงแม้จะพบได้ไม่บ่อยมากนัก แต่ถ้ามีอาการที่น่าสงสัย ควรรีบไปตรวจที่โรงพยาบาลให้แน่ใจ หากเป็นโรคนี้จริง ๆ และมีการรักษากับแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่อง ก็มีทางรักษาให้หายขาดได้ ถึงแม้ว่าจะกลายเป็นมะเร็งไข่ปลาอุกก็ตาม แต่ถ้ากลายเป็นมะเร็งไข่ปลาอุกแล้วไม่ได้รักษาอย่างจริง ๆ จัง ๆ ก็อาจแพร่กระจายไปทั่วตัว เป็นอันตรายจนเสียชีวิตได้
  3. ในขณะที่รับการตรวจติดตามอยู่นี้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ คุณแม่จะต้องคุมกำเนิดให้ดีเพื่อไม่ให้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี เพราะการตั้งครรภ์จะมีการสร้างฮอร์โมน hCG ที่เป็นฮอร์โมนตัวเดียวกับฮอร์โมนที่สร้างจากมะเร็งไข่ปลาอุก ซึ่งจะทำให้สับสนได้ว่าฮอร์โมนที่ตรวจได้ขณะติดตามนั้นเกิดจากการตั้งครรภ์หรือเกิดจากโรคมะเร็งเยื่อรกกันแน่
  4. คุณแม่ที่มีบุตรเพียงพอแล้ว มีระดับฮอร์โมน hCG ในเลือดไม่สูงมาก และไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นมะเร็งไข่ปลาอุก แพทย์จะแนะนำให้ทำหมันด้วยวิธีตามปกติ (ทำหมันหญิง) และต้องไปตรวจติดตามหลังการรักษาที่กล่าวมาแล้ว แต่หากมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งไข่ปลาอุกสูง แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดมดลูก และต้องมีการตรวจติดตามหลังการรักษาเช่นกัน เพราะการตัดมดลูกแม้จะช่วยลดโอกาสที่โรคจะลุกลามเข้าไปในมดลูกได้ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการเป็นมะเร็งได้
  5. คุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกและต้องการมีบุตรอีก แพทย์จะแนะนำให้คุมกำเนิดไปก่อนประมาณ 1 ปี แล้วจึงให้คุณแม่ตั้งครรภ์ใหม่ได้อีกครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อแพทย์จะได้เฝ้าดูแลโรคที่อาจกำเริบขึ้นอีก คุณแม่ต้องมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ถ้าตั้งครรภ์ได้แล้วจะต้องรีบมาฝากครรภ์ในทันที และบอกแพทย์ผู้ดูแลด้วยว่าเคยตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกมาแล้ว เพื่อแพทย์จะได้ตรวจอัลตราซาวนด์โดยเร็วว่าการตั้งครรภ์ยังดำเนินต่อไปเป็นปกติดีหรือไม่ เพราะโรคนี้ยังมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีกครับ
  6. หากมีการตั้งครรภ์ครั้งใหม่หลังจากมีการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกไปแล้วในครรภ์ก่อน ถ้าการตั้งครรภ์สามารถดำเนินไปได้อย่างเป็นปกติ ทารกที่คลอดออกมาก็จะเป็นปกติเหมือนทารกทั่วไปครับ
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด.  “ครรภ์ไข่ปลาอุก”.  (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ)”.  หน้า 238-241.
  2. หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ.  “ครรภ์ไข่ปลาอุก”.  (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์)”.  หน้า 165.
  3. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy/Hydatidiform mole)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 907-908.
  4. หาหมอดอทคอม.  “ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy)”.  (รองศาสตราจารย์ พญ.ประนอม บุพศิริ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [30 ธ.ค. 2015].
  5. คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ด้านสุขภาพสตรี ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย.  “ครรภ์ไข่ปลาอุก”.  (รองศาสตราจารย์ พญ.ประนอม บุพศิริ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rtcog.or.th.  [30 ธ.ค. 2015].
  6. ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  “ครรภ์ไข่ปลาอุกและมะเร็งไข่ปลาอุก (Gestational Trophoblastic Disease)”.  (พญ.จารุวรรณ แซ่เต็ง).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.med.cmu.ac.th.  [31 ธ.ค. 2015].
  7. บันทึกคุณแม่.  “การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก ตอนที่ 2”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.mothersdigest.in.th.  [31 ธ.ค. 2015].

ภาพประกอบ : ffish.asia, www.emcurious.com, pathology911.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด