การตรวจ Total Protein (ปริมาณโปรตีนรวมในกระแสเลือด) คืออะไร ?

Total protein

Total protein คือ ปริมาณโปรตีนรวมในกระแสเลือด (ตามปกติจะเป็นค่าผลรวมของ Prealbumin, Albumin และ Globulin) ซึ่งควรจะมีปริมาณให้เพียงต่อการใช้พอดี ๆ ในกรณีที่มีน้อยเกินไปหรือมากเกินไปก็ย่อมแสดงถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกาย

วัตถุประสงค์การตรวจ Total protein

วัตถุประสงค์ของการตรวจ Total protein คือ การตรวจเพื่อให้ทราบค่าปริมาณของโปรตีนรวมในกระแสเลือดว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ เพราะปริมาณรวมของโปรตีนในกระแสเลือดผลิตขึ้นมาจากตับ จึงอาจใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงสภาวะการทำงานของตับหรือของโรคเกี่ยวกับตับและโรคอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น โรคเกี่ยวกับไต โรคมะเร็งเม็ดเลือด โรคขาดสารอาหาร ฯลฯ กล่าวโดยสรุปก็คือ

  • ตรวจเพื่อให้รู้ว่าอาหารที่บริโภคประจำมีโปรตีนซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการเพียงหรือไม่ เพียงใด
  • บ่งชี้ว่าในขณะนั้นตับ/ไตมีสภาพปกติหรือไม่
  • ตรวจเพื่อหาข้อมูลว่าตับมีโรคใด ๆ อยู่บ้างหรือไม่

ค่าปกติของ Total protein

ค่าปกติของ Total protein ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ

  • ค่าปกติของ Total protein ในผู้ใหญ่ คือ 6.4 – 8.3 gm/dL
  • ค่าปกติของ Total protein ในเด็ก คือ 6.2 – 8 gm/dL

ค่า Total protein ที่ต่ำกว่าปกติ

ค่า Total protein ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า

  • อาจเกิดจากการขาดสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีนหรือมีโปรตีนน้อยมาก
  • อาจเกิดจากกลไกการดูดซึมของลำไส้ทำงานผิดปกติ (Melabsorption)
  • อาจแสดงว่าตับทำงานผิดปกติหรือมีโรคตับ จึงเป็นเหตุทำให้ตับไม่สามารถผลิตโปรตีนออกมาได้ในระดับที่ควรกระทำ เป็นสาเหตุทำให้ Total protein ในเลือดต่ำผิดปกติ
  • อาจเกิดโรคไตเสื่อม (Nephrosis) ทำให้กรวยไตไม่กรองโปรตีนกลับคืนอย่างที่ควรจะทำ แต่กลับปล่อยทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะ
  • อาจเกิดจากโรคไตรั่ว (Nephrotic syndrome) เพราะมีผลต่อเนื่องทำให้โปรตีนรวมในเลือดมีระดับต่ำลงผิดปกติ โดยถือเกณฑ์ว่าเมื่อใดที่ไตปล่อยทิ้งโปรตีนไปกับปัสสาวะมากกว่าวันละ 3.5 กรัม จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้
  • อาจเกิดจากโรคในช่องทางเดินอาหาร
  • อาจเป็นโรคเบาหวานโดยที่ไม่รู้ตัวหรือควบคุมโรคได้ไม่ดี
  • อาจเกิดโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของเลือด (Blood dyscrasias) เช่น มีเลือดกำเดาไหลโดยไม่มีสาเหตุ
  • อาจเกิดจากการเสียเลือดหรือตกเลือดที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งในร่างกาย (Hemorrhage) เช่น ริดสีดวงทวาร
  • อาจมีอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเกิดแผลขนาดใหญ่จากไฟลวก
  • อาจเกิดพิษจากการตั้งครรภ์

ค่า Total protein ที่สูงกว่าปกติ

ค่า Total protein ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า

  • ตับอาจเกิดการอักเสบหรือมีการติดเชื้อเรื้อรัง เช่น จากเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี เชื้อ HIV
  • อาจเกิดจากภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
  • อาจเกิดจากการเสียน้ำจากการอาเจียน อาการท้องเดิน ฯลฯ
  • อาจเกิดสภาวะความเป็นกรดจากอาการของโรคเบาหวาน (Diabetic acidosis)
  • อาจเกิดจากโรคมะเร็งไขกระดูก (Multiple myeloma)
  • อาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า “Waldenstrom’s disease” ซึ่งเป็นมะเร็งของ B-cell lymphocye ซึ่งทำให้ไขกระดูกต้องการใช้โปรตีนนำมาสร้างเซลล์มะเร็งชนิดนี้มากเกินไป

คำแนะนำก่อนการตรวจ Total protein

  • ต้องงดอาหารก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด