Total bilirubin
Total bilirubin คือ ค่าบิลิรูบินทั้งหมด ซึ่งเกิดเนื่องมาจากการที่เมื่อเม็ดเลือดแดงหมดอายุขัย (ปกติจะมีอายุขัยประมาณ 120 วัน) ก็จะถูกม้ามจับตัว แล้วทำการสลาย Hemoglobin ที่อยู่ภายในเม็ดเลือดแดงให้ส่วนหนึ่งกลายเป็นกรดอะมิโนเช่นเดียวกับสารอาหารที่ร่างกายใช้ประโยชน์ในฐานะสารโปรตีน และอีกส่วนหนึ่งที่เรียกว่า “Hema” ซึ่งละลายในน้ำ (เลือด) ไม่ได้ จึงต้องอาศัยการเกาะติดมากับ Albumin เพื่อจะได้ล่องลอยไปสู่ที่ตับได้ ซึ่งทันทีที่ Hema + Albumin จับตัวกันลอยได้ในกระแสเลือดก็จะเรียกว่า “Bilirubin” แต่เมื่อยังไม่ไปถึงตับก็จะถูกเรียกว่า “Indirect bilirubin” (บางตำราก็เรียกว่า “Unconjugated bilirubin” ถ้ากล่าวถึง Direct bilirubin เฉย ๆ เมื่อใดก็คือหมายตัวนี้เสมอ) และเมื่อ Bilirubin ลอยตามกระแสเลือดไปจนถึงตับ ก็จะถูกตับจับไปผสมกับกรดชนิดหนึ่งจนมีคุณสมบัติที่สามารถละลายน้ำได้และปรากฏเป็นสารของเหลวสีเหลือง ซึ่งตรงนี้จะได้ชื่อใหม่ว่า “Direct bilirubin” (บางตำราก็เรียกว่า “Conjugated bilirubin” หรือ “บิลิรูบินที่ผสมแล้ว”)
ต่อจากนั้น Direct bilirubin ก็จะถูกตับจัดการผสมกับน้ำดี (Bile) แล้วระบายออกทางท่อน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่เพื่อให้ช่วยกันย่อยอาหารและกลายเป็นกากอาหารต่อไป (แต่ในกรณีนี้ถ้าตับทำหน้าที่ไม่ได้ เช่น เกิดโรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง ฯลฯ จึงย่อมปล่อยของเหลวสีเหลืองออกทิ้งไม่ได้ ทำให้วนเวียนอยู่ในกระแสเลือดและเกิดดีซ่านหรืออาการตัวเหลืองนั่นเอง) ซึ่งในขณะที่ยังอยู่ในช่องทางเดินอาหารนับตั้งแต่ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ Direct bilirubin ที่ปนอยู่กับกากอาหารนั้นจะมีบางส่วนที่ถูกดูดซึมให้ร่างกายกลับมาใช้โดยผ่านเข้าทางผนังลำไส้ และบางส่วนจะถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียประจำถิ่นภายในลำไส้แล้วเกิดเป็นของเสียสีเหลืองปนมากับกากอาหาร (จึงทำให้เห็นอุจจาระเป็นสีเหลือง ๆ หรือสีน้ำตาล) แต่ Direct bilirubin ส่วนน้อยบางส่วนในตับที่ปล่อยออกทิ้งทางท่อน้ำดีไม่ทันนั้นก็จะล้นจากตับเข้าสู่กระแสเลือด (จึงทำให้เมื่อตรวจเลือดจึงอาจพบ Direct bilirubin ได้) ทำให้ตกเป็นหน้าที่ของไตต่อไปที่จะต้องกรองเอา Direct bilirubin ออกจากเลือด แยกทิ้งปนออกมากับน้ำปัสสาวะ (จึงทำให้เห็นปัสสาวะเป็นสีเหลืองนั่นเอง)
ในทางทฤษฎีเราจะสามารถตรวจวิเคราะห์ได้ทั้งค่า Indirect bilirubin และ Direct bilirubin ทั้งนี้ค่าที่พบอาจคำนวณได้ว่า Total bilirubin = Direct bilirubin + Indirect bilirubin แต่ในทางปฏิบัติทั่วไปนั้นจะเป็นการตรวจหาค่าจริง ๆ เฉพาะ Total bilirubin และ Direct bilirubin เท่านั้น หากต้องการทราบค่า Indirect bilirubin ก็เพียงแค่นำมาคำนวณโดยเอาค่า Direct bilirubin ลบออกจาก Total bilirubin
วัตถุประสงค์การตรวจ Total bilirubin
วัตถุประสงค์ของการตรวจ Total bilirubin คือ
- การตรวจนี้เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจการทำงานของตับ เป็นการตรวจเพื่อให้ทราบค่าบิลิรูบินทั้งหมดมีค่าสูงหรือต่ำกว่าค่าปกติเพียงใด ซึ่งค่าที่ผิดปกติก็ย่อมใช้เป็นเครื่องบ่งชี้สำคัญถึงการเกิดโรคของตับ รวมทั้งอวัยวะอื่น ๆ (เช่น ไต เม็ดเลือดแดง หรือนิ่วในถุงน้ำดี) และตรวจสอบว่าท่อน้ำดีถูกอุดกั้นหรือไม่
- แพทย์สั่งตรวจในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของโรคตับหรือมีความเสี่ยงต่อเกิดโรคตับ หรือเพื่อการวินิจฉัยอาการตัวเหลืองตาเหลืองของผู้ป่วย วินิจฉัยการอุดตันของท่อน้ำดี วินิจฉัยว่ามีการแตกของเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือสั่งตรวจในผู้ที่มีอาการหรือสัมผัสผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ ผู้ที่มีประวัติดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรัง ผู้ที่กินยาบางชนิดที่อาจทำให้เกิดตับอักเสบ (เช่น ยาลดไขมัน ยารักษาวัณโรค)
- เพื่อช่วยตัดสินใจใช้แนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับทารกที่มีภาวะตัวเหลืองตาเหลือง เช่น การส่องไฟ หรือให้เลือด
ค่าปกติของ Total bilirubin
ค่าปกติของ Total bilirubin ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
- ค่าปกติของ Total bilirubin ในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ คือ 0.3 – 1.0 mg/dL
- ค่าปกติของ Total bilirubin ในทารก คือ 2.0 – 12.0 mg/dL
- ค่าวิกฤตของ Total bilirubin คือ > 12.0 mg/dL
ค่า Total bilirubin ที่ต่ำกว่าปกติ
ค่า Total bilirubin ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- ไม่ค่อยพบ เพราะเม็ดเลือดแดงจำนวนหนึ่งจะทยอยต้องสิ้นอายุขัยทุกวัน ในกรณีนี้ก็ย่อมทำให้ม้ามต้องกำจัดซากของเม็ดเลือดแดงแล้วนำไปสร้าง Bilirubin ให้มีเกิดขึ้นได้ทุกวัน หรือในอีกความหมายนึ่งอาจแปลว่าร่างกายโดยตับสามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบในการกำจัดสาร Bilirubin (ค่ายิ่งต่ำเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น)
- อาจกินวิตามินซี หรือกินยาฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital), ทีโอฟิลลีน (Theophylline), เพนิซิลิน (Penicillin) ซึ่งยาเหล่านี้มีผลในทางอ้อมทำให้ค่า Bilirubin อาจลดค่าต่ำลงได้
ค่า Total bilirubin ที่สูงกว่าปกติ
ค่า Total bilirubin ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- เกิดความผิดปกติขึ้นที่หน่วยสร้าง Bilirubin (ม้ามที่มีวัตถุดิบคือเม็ดเลือดแดง) หรือหน่วยทำลาย Bilirubin (ตับและไต) ในระบบกลไกของร่างกาย (ค่าที่อยู่ในเกณฑ์ปกติจึงสะท้อนถึงความสมดุลระหว่างหน่วยสร้างและหน่วยทำลาย ส่วนค่าที่สูงกว่าปกติ จึงอาจมีสาเหตุมาจากเม็ดเลือดถูกทำลายมากกว่าปกติ หรือมาจากตับหรือไตที่ทำงานผิดปกติ)
- อาจเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นที่ถุงน้ำดีจนทำให้เกิดอาการตีบใกล้จะตัน เช่น ถุงน้ำดีติดเชื้อ ท่อน้ำดีอักเสบ
- อาจเกิดโรคร้ายแรงซึ่งมีผลทำให้เกิดการอุดกั้นท่อน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี โรคมะเร็งตับอ่อน (เมื่อท่อตับอ่อนถูกปิดกั้นจากโรคมะเร็งก็จะมีผลทำให้ท่อน้ำดีถูกปิดกั้นไปด้วย)
- ตับอาจมีภาวะผิดปกติ เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง หรือเกิดภาวะพิษเพราะติดเชื้อ ซึ่งล้วนแต่ทำให้ตับทำหน้าที่ได้ไม่ดี การเปลี่ยน Bilirubin ให้เป็น Direct bilirubin เพื่อนำออกทิ้งทางท่อน้ำดีจึงทำไม่ได้เหมือนอย่างที่เคย จึงย่อมมีผลทำให้ Bilirubin คับคั่งอยู่ในกระแสเลือด ค่า Total bilirubin จึงสูงขึ้นกว่าปกติ
- ไตอาจทำหน้าที่บกพร่อง จึงทำให้การปล่อยทิ้ง Direct bilirubin ออกทางน้ำปัสสาวะทำได้ไม่สะดวก ค่า Total bilirubin จึงอาจสูงขึ้นตามไปด้วย
- อาจมีเหตุสำคัญที่ทำให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายลงอย่างมากผิดปกติในเวลาสั้น ๆ เช่น กรณีเกิดโรคเม็ดเลือดแดงเปลี่ยนรูปร่างเป็นรูปเคียว (Sickle cell disease) หรือมีการรับการถ่ายเลือด หรือเม็ดเลือดแดงถูกภูมิคุ้มกันทำลาย เมื่อม้ามทำลายเม็ดเลือดแดงทั้งหลายมากผิดปกติ จึงย่อมทำให้ค่า Total bilirubin ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- อาจเกิดจากโรคโลหิตจาง ซึ่งมีเหตุเพราะเม็ดเลือดแดงมีขนาดผิดปกติทุกกรณีย่อมถูกม้ามทำลายได้ง่าย จึงทำให้เกิด Bilirubin สูงขึ้นจนตับเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็น Direct bilirubin ไม่ทัน ก็อาจมีส่วนทำให้ค่า Total bilirubin สูงขึ้น (ถ้าตรวจเลือดแล้วพบว่า เม็ดเลือดแดงมีลักษณะรูปร่างปกติ ไม่มีอาการของโรคโลหิตจาง ม้ามและตับก็ยังเป็นปกติดี แต่ค่า Total bilirubin ในเลือดก็สูงอยู่ กรณีอย่างนี้ไม่ควรมองข้ามไต)
- อาจเกิดจากภาวะซีดจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia) หรือนำวิตามินบี 12 ไปใช้ไม่ได้ (Pernicious anemia)
- อาจเกิดจากการถ่ายเลือด
- อาจเกิดโรคดีซ่านจากพันธุกรรม เช่น โรค Gilbert’s disease ซึ่งอาจมีเพียงอาการตัวเหลือง ไม่ได้เป็นอันตรายเหมือนโรคดีซ่านทั่วไป
- กรณีของทารกในครรภ์หรือแรกเกิดที่มีเลือดคนละหมู่เลือดหรือมี Rh ต่างชนิดกับมารดา ก็ย่อมอาจมีปัญหาร้ายแรงได้ เพราะร่างกายของมารดาจะสร้างสาร anti-Rh เพื่อไปทำลายเม็ดเลือดของบุตรผ่านทางรก (แม้แต่คลอดออกมาแล้ว สาร anti-Rh ก็อาจยังมีผลอยู่และทำให้เด็กมีภาวะเลือดจางหรือดีซ่านได้) เมื่อเม็ดเลือดแดงมีขนาดและลักษณะไม่สมประกอบ ม้ามในร่างกายของทารกก็จะทำลายเม็ดเลือดแดงแล้วสร้างเป็น Bilirubin ในเลือดให้สูงขึ้นอย่างผิดปกติ ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกสลายในทารกนี้เรียกว่า “Erythroblastosis fetalis” จึงทำให้ค่า Total bilirubin ในตัวของทารกสูงกว่าเกณฑ์ปกติ
- ในกรณีของเด็กทารกแรกเกิดที่หากมีค่า Total bilirubin สูงกว่าเกณฑ์จนผิดปกติ และเริ่มมีภาวะดีซ่าน (ตัวเหลืองและตาเหลือง) อาจสันนิษฐานว่าเป็น “ภาวะโรคคริกเกอร์-นัจจาร์” (Crigler-Najjar syndrome) ซึ่งมักเกิดกับทารกแรกคลอดประมาณ 2-3 วัน โดยมีสาเหตุมาจากยีนทั้งจากพ่อและแม่ ซึ่งเป็นยีนที่ขัดขวางเอนไซม์ที่ใช้เปลี่ยน Indirect bilirubin ให้เป็น Direct bilirubin แต่เปลี่ยนไม่สำเร็จเพราะขาดเอนไซม์ จึงเป็นผลทำให้ Total bilirubin ท่วมสูงในเลือดจนนำไปสู่ภาวะดีซ่านอย่างร้ายแรง อย่างไรก็ตาม โรคนี้ก็เกิดขึ้นได้น้อยมาก ๆ เพราะต้องเป็นพันธุกรรมที่ประจวบเหมาะทั้งพ่อและแม่ที่ต่างมีพาหะของยีนซึ่งผิดปกติที่ถ่ายทอดให้ทารกพร้อมกัน อีกทั้งเมื่อเด็กเกิดมาแล้วก็มักจะไม่รอดชีวิต จึงหมดโอกาสที่จะถ่ายทอดให้กับบุตรหลานต่อไปได้
- ร่างกายมีการช้ำเลือดขนาดใหญ่ (Large hematoma) ซึ่งผิวหนังมีลักษณะเป็นจ้ำแดง ๆ หรือดำ ๆ คล้ายถูกกระแทกด้วยของหนัก ทำให้เส้นเลือดแดงฝอยแตกหรือเม็ดเลือดแดงแตก แต่ไม่ถึงกับเกิดบาดแผล ซึ่งในกรณีแบบนี้ ม้ามก็ต้องจัดการทำลายเม็ดเลือดแดงที่แตก จึงทำให้ค่า Total bilirubin สูงขึ้นกว่าปกติ
- อาจเกิดจากการกินยารักษาโรคบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาปฏิชีวนะ ยาแก้โรคความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคเบาหวาน ยาแก้นอนไม่หลับ ยาคุมกำเนิด ฯลฯ
ข้อควรรู้และคำแนะนำก่อนการตรวจ Total bilirubin
- ต้องงดน้ำและอาหารก่อนเจาะเลือดเป็นเวลา 8 ชั่วโมง (ในเด็กไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารก่อนการตรวจ)
- กรุณาแจ้งให้แพทย์ทราบหากตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ หรือแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาใด ๆ หรือการใช้ยาใด ๆ อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาปฏิชีวนะ ยาคุมกำเนิด ไดอะซีแพม (Diazepam), ฟลูราซีแพม (Flurazepam), อินโดเมธาซิน (Indomethacin), ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital), ทีโอฟิลลีน (Theophylline), ยาละลายลิ่มเลือด (Aspirin หรือ Clopidogrel) หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Warfarin) รวมถึงสมุนไพรหรือวิตามินใด ๆ (เช่น วิตามินซี) เพราะยาเหล่านี้อาจส่งผลต่อการแปลผลทางห้องปฏิบัติการได้
- โดยปกติแล้วจะทำการตรวจระดับบิลิรูบินในเลือดเท่านั้น แต่บางกรณีอาจทำการตรวจระดับบิลิรูบินในปัสสาวะด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
- การออกกำลังกายอย่างหนักอาจมีผลเพิ่มระดับบิลิรูบินในเลือดได้
- เพศชายจะมีระดับบิลิรูบินในเลือดสูงกว่าผู้หญิง
- เชื้อชาติมีผลต่อระดับบิลิรูบิน โดยผู้ที่มีเชื้อชาติแอฟริกาจะมีระดับบิลิรูบินในเลือดต่ำกว่าชาติอื่น ๆ
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)