การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA : Prostate Specific Antigen)

การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA : Prostate Specific Antigen)

การตรวจ PSA

PSA (พีเอสเอ) หรือ Prostate specific antigen (โพรสเตท สเปซิฟิค แอนติเจน) คือ สารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) ที่สำคัญตัวหนึ่งที่ได้รับการยอมรับให้ใช้ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในกลุ่มผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยเป็นโปรตีนลักษณะเฉพาะที่สร้างมาจากเซลล์เยื่อบุผิวของต่อมลูกหมาก (ทั้งเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็ง) รวมทั้งยังสร้างได้ในเซลล์เยื่อบุท่อปัสสาวะ ดังนั้น จึงอาจพบ PSA ระดับ ๆ ต่ำในผู้หญิงได้เช่นกัน โดยการกระทำใด ๆ ที่กระทบกระทั่งต่อต่อมลูกหมากจะทำให้มีการปลดปล่อย PSA ออกจากต่อมลูกหมากมาสู่กระแสเลือดมากกว่าเกณฑ์ปกติทุกครั้งไป

หมายเหตุ : Prostate specific antigen มาจากคำว่า Prostate (ต่อมลูกหมาก), Specific (เฉพาะเจาะจง), Antigen (สารแปลกปลอมหรือสารก่อภูมิต้านทาน) โดยรวมแล้วจึงแปลตรงตัวได้ว่า “สารแปลกปลอมที่เจาะจงว่ามาจากต่อมลูกหมาก

ความมุ่งหมายในการตรวจ PSA

  • เพื่อตรวจคัดกรองในผู้ที่มีความเสี่ยงว่าอาจจะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายที่มีอายุ 50-70 ปีที่ควรตรวจระดับ PSA ร่วมกับการตรวจคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (Digital rectal ecam : DRE) โดยควรเจาะเลือดตรวจก่อนดำเนินการตรวจทางทวารหนัก เนื่องจากการกดคลำต่อมลูกหมากจะมีผลทำให้ระดับ PSA ขึ้นสูงกว่าที่ควรจะเป็นได้
    • การตรวจค่า PSA แพทย์จะพิจารณาเป็นราย ๆ โดยพิจารณาจากอายุ ปัจจัยเสี่ยง (มีพ่อหรือพี่น้องเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และ/หรือเป็นคนผิวดำ) และอายุคาดเฉลี่ย (Life expectancy)
    • ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากอาจตรวจหาระดับ PSA ตั้งแต่อายุยังไม่มากได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีข้อเสียและตัดสินใจร่วมกัน เช่น ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง (ได้แก่ ผู้ที่มีญาตสายตรงเป็นมะเร็งต่อมลูกก่อนวัยอันควรหรือน้อยกว่า 65 ปี หรือเป็นคนผิวดำ) ควรได้รับการตรวจคัดกรองเมื่ออายุ 45 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก 2 คน ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป
    • สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 75 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่คาดว่าจะมีอายุไม่เกิน 10 ปี ไม่แนะนำให้ทำการตรวจคัดกรอง
  • ใช้ติดตามผลการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากว่ามีการฟื้นตัวกลับมาเป็นอีกครั้งหรือไม่ เช่น
    • ในกรณีที่รักษาด้วยรังสีบำบัด ถ้าการตรวจ PSA ในระยะต่อมาพบว่ามีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 2 ng/mL ก็แสดงว่ามะเร็งอาจฟื้นตัวกลับมา
    • ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ถ้าการตรวจ PSA ในระยะต่อมาพบว่ามีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 0.3 ng/mL ก็แสดงว่ามะเร็งอาจฟื้นตัวกลับมา
    • ในกรณีที่ยังอยู่ในระยะการเฝ้าระวัง PSA จะช่วยบ่งชี้ว่า มะเร็งต่อมลูกหมากกำลังเข้าสู่ระยะอันตราย หากภายในระยะเวลา 3 ปี ค่า PSA เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจาการตรวจครั้งก่อน ๆ หรือค่า PSA เพิ่มขึ้นมากกว่าปีละ 0.75 ng/mL
  • ช่วยบ่งชี้ในกรณีที่แพทย์ตรวจด้วยวิธีอื่นแล้วสงสัยว่าผู้ป่วยน่าจะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

ผู้ชายที่มีสุขภาพดี ๆ ไม่มีอาการผิดปกติอะไร ไม่ควรตรวจ PSA เพื่อคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก เพราะการตรวจดังกล่าวไม่มีผลช่วยลดอัตราการตายจากมะเร็งต่อมลูกหมากลงแต่อย่างใด แถมยังเพิ่มโอกาสเจ็บตัวฟรีจากการตรวจเพิ่มเติมและการรักษาซึ่งในหลายกรณีก็ไม่จำเป็น” – คณะกรรมการป้องกันโรคแห่งชาติอเมริกัน (USPSTF)

ข้อดีของการตรวจ PSA

  • ช่วยทำให้ทราบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ก่อนที่จะมีอาการ โดยเฉพาะการตรวจค่า PSA เป็นประจำทุกปีเพื่อเปรียบเทียบกันจะทำให้วินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาได้เร็วขึ้น
  • ช่วยนำไปสู่การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจและสามารถให้การรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของมะเร็ง หรืออย่างน้อยก็ทำให้มีการเฝ้าระวังต่อเนื่องและกำหนดจังหวะเข้ารักษาได้ทันท่วงที

ข้อเสียของการตรวจ PSA

  • ค่า PSA ที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ มิได้หมายความว่าจะไม่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • การตรวจชนิดนี้มีความไว (Sensitivity) เพียง 80% ความจำเพาะ (Specificity) ต่ำมาก คือ 25% และเมื่อเอาคนที่ตรวจได้ผลบวกมาวิเคราะห์ดู 100 คน จะพบว่าเป็นโรค
    • ความไว 80% หมายความว่า ถ้าเอาคนที่รู้แน่ชัดว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมาตรวจ PSA จำนวน 100 คน จะพบว่าคนที่ตรวจได้ผลบวก (ค่า PSA สูงกว่าปกติ) นั้นมี 80 คน ส่วนอีก 20 คนจะตรวจได้ผลลบ (ค่า PSA อยู่ในเกณฑ์ปกติ) ทั้ง ๆ ที่ทุกคนต่างก็เป็นมะเร็งเหมือนกัน
    • ความจำเพาะ 25% หมายความว่า ถ้าเอาคนที่รู้แน่ชัดว่าไม่ได้เป็นมะเร็งเลยมาตรวจ PSA จำนวน 100 คน จะพบว่าคนที่ตรวจได้ผลลบจะมีเพียง 25 คน ส่วนที่เหลืออีก 75 เป็นผลบวกหมด ทั้ง ๆ ทั้งไม่มีใครเป็นมะเร็งเลยสักคน
  • ก่อให้เกิดความวิตกกังวลใจ ทั้ง ๆ ที่มีโอกาสเป็นโรคเพียง 20-25% เท่านั้น (เมื่อเอาคนที่ตรวจได้ผลบวก คือ PSA 4-10 ng/mL มาวิเคราะห์ดู 100 คน จะพบว่ามีคนเป็นโรคจริง ๆ เพียง 20-25 คน อย่างไรก็ตาม ถ้าระดับ PSA สูงเกิน 10 ng/mL ขึ้นไปก็พบว่ามีโอกาสเป็นโรคจริงจะเพิ่มขึ้นเป็น 50-67%) อีกทั้งยังนำไปสู่การตรวจเพิ่มเติมที่เจ็บตัวยิ่งขึ้น เช่น การเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ (พบว่า 3 ใน 50 คนที่ตรวจชิ้นเนื้อจะมีโรคแทรกซ้อนการติดเชื้อที่รุนแรงหลังการตรวจ)
  • มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่โตช้ามาก มักไม่ได้เป็นอันตรายอย่างที่คิด และบางรายก็มิได้มีอาการผิดปกติ เพราะต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะไปถึงระยะอันตราย (ช้ามากจนอาจไม่จำเป็นต้องรักษา) และผู้ป่วยก็มักจะเสียชีวิตด้วยโรคอื่น ๆ ก่อนที่จะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากการตรวจพบจะสร้างความวิตกกังวลและนำไปสู่การตรวจเพิ่มเติมที่เจ็บตัวแล้ว ยังอาจเกิดการรักษาที่เกินความจำเป็นอีกด้วย เช่น การผ่าตัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมากที่เร็วเกินไป ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจจะยังไม่จำเป็นต้องลงมือรักษาก็ได้ เพราะโอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตด้วยมะเร็งต่อมลูกหมากอาจมีต่ำพอ ๆ กัน หรือต่ำกว่าความเสี่ยงจากการผ่าตัดรักษา (การตรวจพบและรีบรักษาสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้แค่ประมาณ 20% แถมยังต้องแลกกับการต้องเจ็บตัวฟรีจากการตรวจเพิ่มเติมและการลงมือรักษาก่อนเวลาอันควรด้วย)
  • การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เช่น การขับปัสสาวะ หย่อนสมรรถภาพทางเพศ

การเตรียมตัวก่อนตรวจ PSA

  • ต้องงดเว้นหรือไม่ได้กินยาที่เกี่ยวกับต่อมลูกหมาก (ที่มีเจตนาจะลดค่า PSA) เพื่อไม่ให้ผลผิดเพี้ยน โดยยาที่ต้องงดเว้นก็ได้แก่
    • กลุ่มยายับยั้งฮอร์โมนเพศ (Antiandrogen) เช่น ฟลูทาไมด์ (Flutamide), ไนลูทาไมด์ (Nilutamide) ฯลฯ
    • กลุ่มยายับยั้งการโตของต่อมลูกหมาก เช่น ฟิแนสเทอไรด์ (Finasteride), ดูทาสเทอไรด์ (Dutasteride), ซอว์ พาลเมตโต (Saw Palmetto)
  • ต้องงดกิจกรรมทางเพศ (ไม่มีการหลั่งอสุจิ) มาก่อนเจาะเลือดตรวจ PSA เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง
  • ต้องงดกิจกรรมที่กระทบกระเทือนต่อต่อมลูกหมากอย่างน้อย 48 ชั่วโมง เช่น การขี่จักรยานวิบากข้ามภูเขา การขี่จักรยานยนต์ข้ามเครื่องกีดขวาง การแข่งจักรยานยนต์ข้ามประเทศ การขี่ม้าเพื่อการเดินทาง ฯลฯ
  • หากมีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาะว (UTI) ควรรอประมาณ 6 สัปดาห์หลังการรักษาการติดเชื้อแล้ว
  • เฉพาะการตรวจ PSA เพียงอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องงดอาหารมาก่อนแต่อย่างใด

ในทุกกรณีที่มีการกระทบกระแทกจากภายนอกต่อต่อมลูกหมาก ไม่แม้แต่การขี่จักรยานข้ามภูเขา การขี่จักรยานยนต์ข้ามเครื่องกีดขวาง การแข่งจักรยานยนต์ข้ามประเทศ การขี่ม้าเพื่อการเดินทาง หรือกีฬาใด ๆ ก็ตาม ฯลฯ ก็ล้วนอาจทำให้ PSA เพิ่มค่าสูงขึ้นผิดปกติได้ทั้งสิ้น

ค่าปกติของ PSA

แม้ว่าไม่มีสถานการณ์ผิดปกติใด ๆ มากระทบกับต่อมลูกหมาก PSA จากต่อมลูกหมากก็มักจะหลุดออกมาสู่กระแสเลือดให้ตรวจจับได้ในระดับหนึ่งเสมอ โดยก่อนหน้านี้วงการแพทย์จะถือว่า ระดับ PSA ที่ได้จากการตรวจเลือดหากพบว่ามีค่าน้อยกว่า 4 ng/mL ของทุกคนจะถูกบ่งชี้ว่าเป็นค่าปกติ (ใช้ระดับ PSA = 4 ng/mL เป็นเกณฑ์การตัดสินว่าใครปกติหรือผิดปกติ)

แต่จากการค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคของต่อมลูกหมากและค่า PSA ในปัจจุบัน (ค.ศ.2011) ค่า PSA ได้รับการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้สอดคล้องกับ “ตัวเลขตัวเลขความจริงในเชิงสถิติ” ซึ่งเป็นตัวเลขของอัตราความเสี่ยงต่อการถูกบ่งชี้ว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนี้

  • PSA น้อยกว่า 4.0 ng/mL จะมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก 15%
  • PSA ระหว่าง 4.0 – 10.0 ng/mL จะมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก 25%
  • PSA มากกว่า 10.0 ng/mL จะมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก 67%

นั่นแปลว่า ค่า PSA ที่ระดับต่ำกว่า 4 ng/mL ก็ไม่อาจวางใจได้ว่าจะปลอดภัยจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ 100% เนื่องจากยังมีดอกาสเสี่ยงที่จะเป็นต่อมลูกหมากได้มากถึง 15%

จากเหตุผลดังกล่าว วงการแพทย์จึงมีการปรับค่า PSA ด้วยตัวเลขใหม่ โดยถือหลักว่า PSA จะมีการเปลี่ยนแปลงค่าสูงขึ้นเป็นสัดส่วนเดียวกันกับอายุที่สูงขึ้น (ของเพศชาย) ดังนั้น เกณฑ์ปกติของค่า PSA ที่ได้รับการยอมกันในปัจจุบัน (ค.ศ.2011) ซึ่งสัมพันธ์กับอายุ* พบว่ามีเกณฑ์ดังนี้

  • ผู้ชายอายุน้อยกว่า 50 ปี ค่าปกติของ PSA คือ น้อยกว่า 2.5 ng/mL
  • ผู้ชายอายุ 50-59 ปี ค่าปกติของ PSA คือ น้อยกว่า 3.5 ng/mL
  • ผู้ชายอายุ 60-69 ปี ค่าปกติของ PSA คือ น้อยกว่า 4.5 ng/mL
  • ผู้ชายอายุมากกว่า 70 ปี ค่าปกติของ PSA คือ น้อยกว่า 6.5 ng/mL

แปลว่า ผู้ชายทุกเกณฑ์อายุที่ตรวจพบค่า PSA สูงกว่าตัวเลขข้างต้นนี้ แพทย์จะสันนิษฐานไว้ก่อนว่า อาจเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมต่อไป

หมายเหตุ : ค่าปกติของ PSA ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือดเป็นหลัก (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไปดังกล่าว

ผลตรวจ PSA
IMAGE SOURCE : pantip.com (by ลุงอ้วน กินกะเที่ยว)

อย่างไรก็ตาม การแยกแยะระหว่างโรคต่อมลูกหมากโตกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นยังเป็นเรื่องยาก ในทางการแพทย์จึงมีการใช้ผลการตรวจเลือดที่ผันแปรหรือดัดแปลงเพิ่มเติมขึ้นจาก PSA เพื่อนำมาใช้บ่งชี้โรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย ซึ่งหลัก ๆ จะมีอยู่ด้วย 2 วิธี คือ

  1. ความเร็วในการเปลี่ยนค่า PSA (PSA velocity) โดยมีหลักทั่วไปว่า “ค่า PSA ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเกินปีละ 0.75 ng/mL จะบ่งชี้ว่ามีแนวโน้มที่น่าจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
  2. จำนวน % ของ PSA อิสระ (Percent-free PSA) โดยมีหลักกว้าง ๆ ว่า “PSA จากต่อมลูกหมากที่มิได้จับตัวกับโปรตีนใด ๆ ในเลือดนั้น ยิ่งมีจำนวนนับเป็น % (จาก PSA ทั้งหมด) ต่ำมากเท่าใด ก็ย่อมบ่งชี้ว่าน่าจะมีอัตราความเสี่ยงที่อาจเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากสูงมากขึ้นเท่านั้น” เพราะข้อมูลในเชิงสถิติพบว่า ผู้ที่มีค่า PSA ระหว่าง 4-10 ng/mL และตรวจเลือดพบค่า Free PSA (fPSA) มีจำนวนน้อยกว่า 10% ย่อมอาจบ่งชี้ว่ามีอัตราการความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากสูงมากถึงระดับ 50% (การตรวจหาค่า Free PSA เป็นการตรวจเลือดพิเศษต่างหากอีกค่าหนึ่งและไม่มีในโปรแกรมการตรวจสุขภาพมาตรฐาน หากตรวจพบค่า Free PSA มีระดับ 20% หรือต่ำกว่า จะถูกวินิจฉัยว่าจำเป็นต้องเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจดูว่าเป็นมะเร็งจริงหรือไม่) โดยค่าความสัมพันธ์ระหว่าง Free PSA และมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นมีสถิติดังนี้
    • ค่า Free PSA = 0-10% มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 59%
    • ค่า Free PSA = 10-15% มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 40%
    • ค่า Free PSA = 15-20% มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 24%
    • ค่า Free PSA = 20-25% มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 13%
    • ค่า Free PSA > 26% มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 7%

ผลตรวจ Free PSA
IMAGE SOURCE : thedoctorstory.blogspot.com

ข้อมูลชั้นต้นที่แพทย์มักใช้บ่งชี้ว่า ผู้ใดน่าจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากที่นอกเหนือจากค่า PSA ที่สูงผิดปกติและค่า Free PSA ที่ต่ำกว่าปกติแล้ว ยังมีการตรวจคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (DRE) ซึ่งแพทย์จะสอดนิ้วผ่านทวารหนักเข้าไปกดโดยตรงต่อต่อมลูกหมาก ซึ่งหากเนื้อต่อมลูกหมากมีลักษณะแข็งกระด้างนิ้ว ไม่อ่อนนุ่ม หรือพบว่ามีก้อนแข็ง ๆ ก็ย่อมบ่งชี้ได้ว่าอาจเป็นก้อนเนื้อของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก และจากนั้นเพื่อให้การตรวจมีความแม่นยำมากขึ้น แพทย์จะใช้อุปกรณ์อัลตราซาวด์พร้อมด้วยเข็มเจาะเก็บชิ้นเนื้อ (Biopsy) สอดเข้าไปทางทวารหนักเพื่อเจาะเอาชิ้นเนื้อจากต่อมลูกหมากออกมาตรวจวิเคราะห์ว่าเป็นเซลล์มะเร็งจริง ๆ หรือไม่ต่อไปด้วย ซึ่งเรียกวิธีนี้เรียกว่า “Ttansrectal Ultrasound Guided Biopsy” หรือ “TRUS Guided Biopsy” (การตรวจด้วยยอุปกรณ์คลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงผ่านช่องทวารหนักร่วมกับการยิงเข็มเจาะชิ้นเนื้อ)

นอกจากวิธีการเจาะชิ้นเนื้อแล้ว ยังมีวิธีการตรวจต่อมลูกหมากเพื่อบ่งชี้โรคมะเร็งต่อมลูกหมากอีกหลายวิธี เช่น CT scan (เป็นการใช้รังสีเอกซ์ส่องตรวจหมุนโดยรอบต่อมลูกหมาก), MRI (เป็นการใช้คลื่นแม่เหล็กสร้างภาพอวัยวะต่อมลูกหมาก ซึ่งอาจช่วยให้เห็นความผิดปกติลึกเข้าไปภายในต่อมลูกหมากได้), Radionuclide bone scan (เป็นการให้ผู้รับการตรวจฉีดหรือกลืนสารกัมมันตรังสีลงไปก่อน เพื่อให้สะท้อนภาพให้เห็นว่ามะเร็งได้กระจายไปที่กระดูกบ้างแล้วหรือไม่), Gleason grading system (เป็นวิธีการตรวจว่ามะเร็งต่อมลูกหมากอยู่ในระยะใด)

ค่า PSA ในทางต่ำ

หากตรวจพบค่า PSA ในเลือดในทางต่ำหรืออยู่ในเกณฑ์ปกติ อาจแสดงผลในด้านสุขภาพได้ว่า

  • ต่อมลูกหมากยังมีสุขภาพดีเป็นปกติ แต่ก็ไม่ควรมั่นใจอย่างเต็ม 100% เพราะค่า PSA เพียงตัวเดียวโดด ๆ ยังไม่น่าไว้วางใจในทุก ๆ กรณี และค่า PSA อาจแสดงค่าปลอมได้ ฉะนั้น จึงควรได้รับการตรวจด้วยวิธี DRE โดยแพทย์เสมอ หรือด้วยวิธีอื่น ๆ ก็จะปลอดภัยมากกว่าที่จะเชื่อมั่นแต่เพียงค่า PSA เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการตรวจด้วยวิธีเจาะเอาชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากไปวิเคราะห์โดยพยาธิแพทย์ ซึ่งนับว่าเป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะช่วยยืนยันได้อย่างแม่นยำว่าเป็นมะเร็งจริง ๆ หรือไม่
  • ในกรณีที่ตรวจเลือดหาค่า PSA จำนวน 2 ครั้ง แล้วพบว่าทั้ง 2 ครั้งให้ค่าปกติตามเกณฑ์อายุ ในกรณีนี้ ควรพิจารณาต่อไปว่า หากค่า PSA จากการตรวจครั้งที่ 2 สูงกว่าครั้งแรกมากกว่า 0.75 ng/mL และระยะเวลาการตรงทั้ง 2 ครั้งยังห่างกันไม่เกิน 2 ปี ก็ย่อมถือได้ว่า ค่า PSA นั้นมีความเร็วในการเปลี่ยนแปลงค่าเกินกว่าปีละ 0.75 ng/mL ซึ่งในกรณีนี้ย่อมสันนิษฐานได้ว่า “มีแนวโน้มที่น่าจะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก” (แปลว่า PSA ที่อยู่ในระดับปกติ ก็อาจจะยังไม่ปลอดภัยจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ทั้งนี้จะต้องได้ข้อมูลจากการเปรียบเทียบค่า PSA ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปด้วย ด้วยเหตุนี้การตรวจ PSA จึงควรกระทำอย่างน้อยที่สุดปีละ 1 ครั้ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเปรียบเทียบความเร็วในการเปลี่ยนค่า)

ค่า PSA ที่สูงกว่าปกติ

หากตรวจพบค่า PSA ในเลือดสูงขึ้นผิดปกติ อาจแสดงผลในด้านสุขภาพได้ว่า

  • อาจเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) โดยจะมีอาการถ่ายปัสสาวะผิดปกติคล้าย ๆ กับโรคต่อมลูกหมากโต แต่อาจมีอาการปวดร่วมด้วย หรือแสบในขณะปัสสาวะ หรือปัสสาวะอาจมีเลือดปน แต่บางรายอาจไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ เลยก็ได้ (โปรดทราบว่า ค่า PSA เพียงตัวเดียวโดด ๆ จากการตรวจเพียงครั้งเดียว ไม่อาจใช้เป็นข้อบ่งชี้ที่กระจ่างชัดได้ และจำเป็นต้องเปรียบเทียบกับค่า PSA เมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา หรืออย่างช้าสุดไม่เกิน 1 ปีที่ผ่านมาด้วย)
  • อาจเกิดจากโรคต่อมลูกหมากโต (Benign prostate hyperplasia : BPH) ซึ่งเป็นโรคของต่อมลูกหมากชนิดที่ไม่มีเซลล์มะเร็ง จึงเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายถึงชีวิต โดยผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะมีอาการถ่ายปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะได้ไม่นาน ถ่ายปัสสาวะกะปริดกะปรอยไม่พุ่งเป็นลำ ต้องลุกไปถ่ายปัสสาวะในตอนกลางคืนมากกว่าคนปกติ
  • อาจกำลังเกิดโรคต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis) ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากจุลชีพก่อโรค หรือเกิดจากการกระทบกระเทือนทางกายภาพใด ๆ ก็ได้ เช่น การขี่จักรยานวิบาก
  • ท่อปัสสาวะอาจกำลังเกิดสภาวะการอักเสบติดเชื้อ (Urinary tract infection : UTI)
  • อาจมีการกระทำที่รุนแรง ซึ่งกระทบกระทั้งต่อต่อมลูกหมาก เช่น กรณีที่ได้รับการสอดกล้องผ่านต่อมลูกหมากเพื่อการส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Bladder cystoscopy) หรือในกรณีที่มีการเจาะชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก (Prostate biopsy) ออกไปตรวจ
  • อาจมีการสวนท่อปัสสาวะจนถึงกระเพาะปัสสาวะมาได้ไม่นาน เพื่อปล่อยน้ำปัสสาวะออกไปนอกร่างกายแทนการถ่ายเองตามธรรมชาติ (ถือว่าเป็นกรณีที่มีการกระทำที่รุนแรงและกระทบกระเทือนต่อต่อมลูกหมาก)
  • อาจเป็นค่า PSA จากเลือดที่มาตรวจโดยผู้ชายซึ่งได้มีการหลั่งอสุจิ (โดยวิธีใดก็ตาม) ก่อนมาเจาะเลือดตรวจหาค่า PSA ซึ่งยังไม่เกิน 48 ชั่วโมง

ในการนี้ (ทำการตรวจไปแล้วและระดับ PSA สูงกว่าปกติ) แพทย์และผู้ป่วยจะต้องมาร่วมกันตัดสินใจว่าจะเอายังไงต่อไป ระหว่างการรอไปก่อนโดยไม่ต้องทำอะไรที่รุนแรง เพียงแต่ติดตาม PSA และขนาดต่อมลูกหมากจากการตรวจทางทวารหนักและการตรวจอัลตราซาวด์ตามรอบการตรวจร่างกายประจำปีจนกว่าระดับ PSA จะเพิ่มสูงยิ่งขึ้น หรือต่อมลูกหมากโตขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีอาการผิดปกติให้เห็นจึงค่อยเดินหน้าเจาะชิ้นเนื้อจากต่อมลูกหมากออกมากตรวจ กับอีกทางคือ ไม่ต้องรอและเดินหน้าเจาะชิ้นเนื้อออกมาตรวจ ถ้าผลการตรวจพบว่าเป็นมะเร็งก็เดินหน้าทำการผ่าตัดรักษาไปเลย

หากตรวจพบค่า PSA สูงกว่าเกณฑ์ ก็แปลว่า มีความเสี่ยงที่อาจจะเป็นหรือกำลังเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ถึงกระนั้นก็อย่าเพิ่งตกใจเกินไปกว่าเหตุ เพราะยังมีกรณีอื่น ๆ ที่อาจทำให้ค่า PSA สูงขึ้นโดยไม่ใช่จากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และไม่ว่าจะตรวจพบค่า PSA ต่ำกว่าปกติหรือสูงกว่าปกติ ก็สมควรได้รับการตรวจด้วยวิธี DRE โดยแพทย์ด้วยเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปทุกคน

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือฉลาดตรวจสุขภาพ ฉบับรู้ทันโรคถอย เล่ม 2. “การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA)”. (พอ.ประสาร เปรมะสกุล). หน้า 87-120.
  2. ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “Prostate specific antigen (PSA)”.  (ผศ.พญ.ศันสนีย์  เสนะวงษ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [26 พ.ค. 2018].
  3. Siamhealth.  “แอนติเจนต่อมลูกหมาก Prostate-Specific Antigen (PSA)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [27 พ.ค. 2018].
  4. DrSant บทความสุขภาพ.  “เมื่อพบว่าสารชี้บ่งมะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) สูงผิดปกติ”.  (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : visitdrsant.blogspot.com.  [28 พ.ค. 2018].
  5. DrSant บทความสุขภาพ.  “fPSA/PSA ratio”.  (นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : visitdrsant.blogspot.com.  [28 พ.ค. 2018].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด