GGT (Gamma GT)
GGT หรือ Gamma GT (ย่อมาจากคำว่า “Gamma-glutamyl transferase” หรือ “Gamma-glutamyl transpeptidase”) คือ เอนไซม์ที่มีต้นกำเนิดมาจากกรดอะมิโนและอยู่ภายในเซลล์ หากได้รับเหตุกระทบกระเทือนบางอย่างก็จะหลุดผ่านจากผนังภายในเซลล์ออกมาสู่ภายในนอกเซลล์ โดยแหล่งที่มี GGT ซึ่งถูกผลิตออกมาอย่างหนาแน่นมากที่สุดก็คือ ตับตรงบริเวณช่องทางผ่านของกรดน้ำดี (Billary tract) ส่วนแหล่งที่มี GGT ผลิตหนาแน่นรองลงมาก็คือ ไต ม้าม หัวใจ ลำไส้เล็ก และต่อมลูกหมาก (ด้วยเหตุที่ผู้หญิงไม่มีต่อมลูกหมาก จึงย่อมมีผลทำให้ค่า GGT ปกติของผู้หญิงต่ำกว่าผู้ชาย)
ค่า GGT มักใช้เป็นตัวบ่งชี้ความผิดปกติของเซลล์ตับ เนื่องจาก GGT จะมีความไวต่อการสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะความผิดปกติใด ๆ ของตับ กล่าวคือ GGT จะสูงขึ้นจากสาเหตุที่ท่อน้ำดีของตับเกิดตีบจนตันหรือใกล้จะตัน (มีผลทำให้ค่า Direct bilirubun สูงขึ้นด้วย), ท่อน้ำดีอักเสบ (ยังไม่ถึงกับตีบหรือตัน แต่พลอยทำให้ตับต้องหลั่ง GGT ออกมามากกว่าปกติ) และจากถุงน้ำดีอักเสบ (ถุงน้ำดีที่อยู่ภายในตับเกิดอักเสบเสียเอง ย่อมทำให้ตับปล่อย GGT ออกมาสูงกว่าปกติ)
ความกระทบกระเทือนหรือการอักเสบที่เกิดขึ้นต่ออวัยวะใด ๆ นอกจากจะมีผลทำให้ค่า GGT สูงขึ้นมากน้อยตามความสำคัญของอวัยวะนั้น ๆ แล้ว ยังมีผลทำให้ค่า ALP ต้องสูงขึ้นตามไปด้วย ยกเว้นในกรณีการเกิดโรคที่กระดูกที่ค่า ALP จะสูงขึ้นอย่างผิดปกติเพียงตัวเดียว โดยที่ค่า GGT ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ (กล่าวโดยสรุปก็คือ ถ้า GGT และ ALP สูง ให้สันนิษฐานว่าเกิดโรคตับหรือท่อน้ำดี แต่ถ้า GGT ปกติ แต่ ALP สูง ก็อาจสันนิษฐานได้ว่าเกิดโรคที่กระดูก)
การตรวจ GGT มักเป็นการตรวจเพื่อหาสาเหตุของเอนไซม์ ALP (Alkaline phosphatase) ที่เพิ่มขึ้นว่ามาจากอวัยวะใด เพราะ ALP และ GGT จะสูงในโรคของตับและท่อน้ำดี แต่หากเป็นโรคของกระดูกจะมีเพียงค่า ALP ตัวเดียวเท่านั้นที่สูงขึ้น
ชื่ออื่นของการตรวจ GGT
ชื่อต่าง ๆ ในใบรายงานผลการตรวจที่มีความหมายเดียวกัน คือ
- GGT
- Gamma GT
- gamma-GT
- Gamma-glutamyl transferase (แกมมา-กลูตามิล ทรานสเฟอเรส)
- Gamma-glutamyltransferase
- Gamma-glutamyl transpeptidase (แกมมา-กลูตามิล ทรานสเปปทิเดส)
- GGTP
- g-GTP
- γ-glutamyltransferase
- γGT
วัตถุประสงค์ของการตรวจ GGT
- ใช้เป็นตัวบ่งชี้ในการวินิจฉัยทางการแพทย์หลายอย่าง โดยเฉพาะการตรวจ GGT ร่วมกับ ALP เพื่อการวินิจฉัยแยกว่าการที่ ALP ที่สูงกว่าปกตินั้นเกิดจากโรคของตับ/ท่อน้ำดี หรือโรคของกระดูก (โดยทั่วไป ALP ยังเป็นการทดสอบที่เป็นตัวเลือกแรกในการตรวจโรคของตับ/ท่อน้ำดี แต่คุณค่าของการตรวจ GGT ที่มีเหนือกว่า ALP ก็คือการตรวจเพื่อใช้ยืนยันว่าระดับ ALP ที่สูงขึ้นนั้นมาจากโรคของตับ/ท่อน้ำดีหรือไม่ เพราะถ้า ALP สูง แต่ GGT ปกติ ก็อาจสันนิษฐานได้ว่าเกิดจากโรคของกระดูก)
- เพื่อตรวจสอบเซลล์ของตับและสภาวะการทำงานของตับโดยทั่วไปว่าเป็นปกติหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องการทราบว่าเซลล์ของตับได้รับความเสียหายจากพิษของยาที่กินอยู่ประจำหรือพิษของแอลกอฮอล์ที่ดื่มอย่างหนักมานาน ซึ่งอาจประเมินค่าได้ว่าเกิดพิษมากน้อยเพียงใด
ค่าปกติของ GGT
ค่าปกติของ GGT ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละแล็บแต่ละโรงพยาบาลได้ (แต่โดยทั่วไปจะมีค่าต่ำกว่า 50 IU/L) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
- ค่าปกติของ GGT ในผู้ชายอายุ 16 ปีขึ้นไป คือ 6 – 38 IU/L (หรือ U/L ซึ่งย่อมาจาก International units per Liter)
- ค่าปกติของ GGT ในผู้หญิงอายุ 16-44 ปี คือ 4 – 27 IU/L
- ค่าปกติของ GGT ในผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป คือ 6 – 37 IU/L
- ค่าปกติของ GGT ในเด็ก คือ 3 – 30 IU/L
ค่า GGT ที่ต่ำกว่าปกติ
ค่า GGT ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- โดยทั่วไปพบเกิดขึ้นได้ยาก เพราะตับต้องทำงานอยู่ตลอดเวลาตามที่คนเรายังมีชีวิตอยู่ จึงเปรียบเสมือนมันถูกกระทบกระทั่งให้ตับได้รับความเสียหายอยู่ทุกวันเวลา จึงทำให้ค่า GGT ยังคงมีปรากฏอยู่ในระดับเสมอไป
- อาจช่วยยืนยันได้ว่าโรคหรือภาวะที่มีอยู่นั้นไม่น่าจะเกิดจากตับหรือจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ในบางกรณีหรือน้อยรายอาจเกิดจากการกินยาบางชนิดที่มีฤทธิ์ไปยับบั้งเซลล์ตับมิให้ทำงานตามปกติ เช่น ยาโคลไฟเบรต (Clofibrate) หรือยาสแตติน (Statin) ที่ใช้ลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ หรือยาคุมกำเนิด
ค่า GGT ที่สูงกว่าปกติ
ค่า GGT ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- อาจเกิดโรคร้ายแรงหรือมีเหตุสำคัญเกิดขึ้นที่ตับ เช่น โรคตับอักเสบทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง, โรคตับแข็ง, โรคตับเนื่องจากการดื่มสุรา, โรคไขมันพอกตับ, โรคโรคตับชนิด Cholestasis, ภาวะเนื้อตับตายบางส่วน, ตับขาดเลือดเฉพาะที่, โรคมะเร็งตับ, โรคมะเร็งที่แพร่กระจายไปที่ตับ, การได้รับพิษจากยาหรือสารใด ๆ (เช่น เห็ด ยาฆ่าแมลง) ฯลฯ
- อาจเกิดจากโรคท่อน้ำดีอักเสบแข็งปฐมภูมิ (Primary sclerosing cholangitis) หรือโรค Primary biliary cirrhosis ซึ่งเป็นการอักเสบเรื้อรังของท่อน้ำดีในตับที่จะนำไปสู่การทำลายของท่อน้ำดีต่อไป
- อาจเกิดโรคที่ตับอ่อน เช่น โรคตับอ่อนอักเสบ โรคมะเร็งตับอ่อน
- อาจเกิดจากพิษของแอลกอฮอล์ที่ดื่มมาติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป เพราะแอลกอฮอล์ก็นับเป็นสารพิษเช่นเดียวกับยา (จากสถิติพบว่าผู้ที่ตรวจพบ GGT มีค่าสูงกว่าระดับปกติประมาณ 75% มักจะมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักต่อเนื่องมานาน)
- อาจเกิดจากการสูบบุหรี่จัด
- อาจเกิดจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งเต้า โรคมะเร็งปอด
- อาจเกิดจากภาวะหัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
- อาจเกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction) ซึ่งมักปรากฏค่า GGT สูงขึ้นผิดปกติอย่างต่อเนื่องจากช่วงเวลาวิกฤตินั้นไปอีกประมาณ 5-10 วัน โดยอาจจะเกิดจากการที่หัวใจขณะทำงานในระหว่างการสะดุดนั้นมีผลส่งเลือดไปเลี้ยงตับได้ไม่เพียงพอ จึงทำให้ตับปล่อยเอนไซม์ GGT ออกมา เพราะเซลล์ตับถูกกระทบกระทั่งจากเหตุขาดเลือดนั้น และต้องใช้เวลานานเป็นสิบวันกว่าจะฟื้นตัวได้เป็นปกติดังเดิม
- อาจเกิดจากการใช้ยาบางชนิด เช่น แอสไพริน (Aspirin), บาร์บิทูเรต (Barbiturate), คาร์บามาเซพีน (Carbamazepine), ไซเมทิดีน (Cimetidine), ฟูโรซีไมด์ (Furosemide), เฮพาริน (Heparin), ไอโสเตรติโนอิน (Isotretinoin), เมโธเทรกเซท (Methotrexate), ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital), เฟนิโทอิน (Phenytoin), เซนต์จอห์นเวิร์ต (St.John’s Wort), วาลโปรเอท (Valproate), ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics), ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drug), ยารักษาอาการซึมเศร้า (Antidepressants), ยาเอ็นเสด (NSAIDs), ยาลดไขมันในเลือด (Lipi-lowering drug), ยาฮอร์โมน (เช่น Testosterone), ยาเม็ดคุมกำเนิด (Oral contraceptive pill) ฯลฯ
ข้อควรทราบ/คำแนะนำก่อนตรวจ GGT
- แพทย์อาจสั่งตรวจ GGT พร้อมกับการตรวจการทำงานของตับตัวอื่นร่วมด้วย (ALP, ALT, AST, Bilirubin, Albumin, Globulin) หรืออาจสั่งตรวจหลังจากการตรวจการทำงานของตับในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของโรคตับ หรือตรวจในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือตรวจในกรณีที่พบค่า ALP สูงและผลการตรวจอย่างอื่นยังไม่สามารถบอกสาเหตุก็ได้
- การตรวจ GGT ไม่ได้ถูกแนะนำให้รวมอยู่ในการตรวจสุขภาพปกติ ดังนั้น เมื่อเราไปตรวจสุขภาพประปีตามโรงพยาบาลก็จะไม่ค่อยได้ตรวจเอนไซม์ตัวนี้กันในชุดตรวจสุขภาพ แต่จะตรวจแต่ตัวที่บอกเรื่องไวรัสตับอักเสบ คือ AST และ ALT
- ค่า GGT มักจะมีการตรวจเมื่อพบค่าที่สูงขึ้นของเอนไซม์ ALP ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่พบจากถุงน้ำดี เพื่อยืนยันการวินิจฉัยว่าการที่ ALP สูงกว่าปกตินั้นเกิดจากความเสียหายของตับ/ท่อน้ำดีจริง ๆ เนื่องจาก ALP สามารถมาจากอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายได้ด้วย (ถ้า ALP สูง แต่ GGT ไม่สูง ก็หมายความว่าเกิดความเสียที่กระดูกไม่ใช่ที่ตับ/ท่อน้ำดี ดังนั้น การตรวจ GGT เพียงอย่างเดียวจึงไม่อาจแปลความหมายอะไรได้เลย เพราะเป็นค่าที่ไม่มีความจำเพาะเจาะจงว่ามาจากเซลล์ใด)
- การตรวจ GGT สามารถตรวจได้ง่ายจากการตรวจเลือด (ใช้เลือดในปริมาณ 4-6 มิลลิลิตร ใส่หลอดเก็บเลือดที่มีสารกันเลือดแข็งชนิด Lithium heparin) แต่เนื่องจากค่า GGT ค่อนข้างจะ Sensitive และเพิ่มสูงขึ้นได้หลังจากการกินอาหาร รวมทั้งยาบางตัวอาจมีผลทำให้ค่า GGT สูงหรือต่ำด้วย ดังนั้นในการตรวจเลือดเพื่อดูค่า GGT จึงควรงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนตรวจ รวมทั้งต้องแจ้งให้หมอหรือพยาบาลทราบด้วยว่าท่านมีการใช้ยาตัวใดอยู่ในขณะนั้น
- การดื่มแอลกอฮอล์จะมีผลต่อค่า GGT เพราะฉะนั้นก่อนการตรวจจึงควรงดการดื่มแอลกอฮอล์มาแล้วอย่างน้อย 3-4 วัน ส่วนการสูบบุหรี่หรือการใช้ยาบางชนิด ก็ทำให้ค่า GGT สูงขึ้นได้เช่นกัน
- ค่า GGT สำหรับผู้หญิงสูงอายุจะมีค่าสูงกว่าอายุน้อย
วิธีการลดค่า GGT
- ควรงดการดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ และสารที่อาจเป็นพิษต่อตับทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นยา สมุนไพร หรือวิตามินทุกชนิดเป็นเวลา 2 สัปดาห์ก่อนตรวจ GGT
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)