การตรวจสมรรถภาพของหัวใจ
การตรวจสมรรถภาพของหัวใจ หรือการตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test หรือ EST*) คือ การทดสอบหัวใจภายใต้สภาวะการออกกำลังกาย (โดยการวิ่งบนสายพานไฟฟ้าหรือปั่นจักรยาน) ที่สร้างแรงเค้นต่อกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อจะตรวจสอบว่าในขณะที่ร่างกายออกแรงอย่างหนักอยู่นั้น กล้ามเนื้อหัวใจได้รับเลือดและออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันอยู่จะมีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอเมื่อต้องออกกำลังกาย และอาจเป็นอันตรายได้หากผู้ป่วยไม่ได้ทราบมาก่อนว่าเกิดจากโรคหัวใจ
ฉะนั้น การตรวจ EST จึงเป็นการตรวจที่มีประโยชน์มาก เพราะมีความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจได้ดีกว่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) แบบธรรมดา เนื่องจากในภาวะปกติที่ไม่มีการใช้ออกซิเจนมาก คลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยที่มีรอบตีบตันอยู่ก็จะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ จึงทำให้ผลการตรวจออกมาเป็นปกติได้
หมายเหตุ : ชื่ออื่นของการตรวจสมรรถภาพของหัวใจ
- Stress Testing
- Exercise Testing
- EKG Stress Testing
- Exercise ECG
- EKG – exercise Treadmill
- Stress ECG
- Exercise Tolerance Test (ETT)
ความมุ่งหมายของการตรวจ EST
- ใช้ตรวจสอบว่าหัวใจของผู้รับการตรวจมีโรคสำคัญชนิดใดซ่อนอยู่หรือไม่ เพียงใด เพราะในสภาวะปกติของการใช้ชีวิตประจำวันที่มิได้ออกแรงมากนัก จึงไม่แสดงอาการออกมา ต่อเมื่อได้รับการตรวจด้วย EST จึงอาจปรากฏอาการของโรคหัวใจอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา (สำหรับข้อนี้ก็คือความมุ่งหมายหลักของการตรวจคัดกรองโรคหัวใจ ซึ่งจะเหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้บันทึกข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับโรคหัวใจของตนเองไว้ในแฟ้มประวัติการรักษาของสถานพยาบาลมาก่อนเลย)
- ใช้ประเมินในกรณีของผู้รับการตรวจบางรายที่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกมาก่อน แต่ไม่แน่ใจว่ามีมูลเหตุมาจากหัวใจหรือเกิดจากอวัยวะอื่น เพราะเมื่อได้ทดสอบ EST แล้วหากเกิดอาการเจ็บหน้าอกขึ้นมา กรณีอย่างนี้ก็ทำให้บ่งชี้ได้แน่นอนว่าหลอดเลือดหัวใจได้ตีบแคบลงมาก
- ใช้ประเมินความรุนแรงและแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงความปลอดภัย โดยเฉพาะความสามารถในการดำรงชีวิต และระดับการออกกำลังกายที่เหมาะสมว่าสามารถออกแรงสูงสุดได้ในระดับใดจึงจะปลอดภัย
- ใช้ตรวจสอบความเหมาะสมในการออกกำลังกายของผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
- ใช้ประเมินผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ หรือมีอาการสงสัยว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ และมีความจำเป็นต้องผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดที่ต้องเสียเลือดหรือการผ่าเข้าช่องทรวงอก แพทย์จึงจำเป็นต้องต้องตรวจดูว่าหัวใจมีเส้นเลือดตีบหรือไม่
- ใช้ประเมินค่าการทำงานของหัวใจภายหลังการรักษา เช่น ภายหลังรับการผ่าตัดเพิ่มหลอดเลือดอ้อมหัวใจ (by-pass) หรือการใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดกล้ามเนื้อหัวใจ ว่าหัวใจยังทำงานเป็นปกติดีอยู่หรือไม่ หรือเกิดหลอดเลือดตีบหรือตันขึ้นใหม่หรือไม่
- ใช้ประเมินว่ายาแก้อาการปวดเค้นหัวใจ หรือยาแก้อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ทั้งหลายได้ผลดีมากหรือน้อยเพียงใด
- ใช้ตรวจสอบสภาวะการเดินขาแกว่ง (Internmitten claudication) ของบางคนว่าเกิดจากหลอดเลือดอุดตันส่วนปลาย (แขนหรือขา) จริงหรือไม่
ผู้ที่ควรได้รับการตรวจ EST
- คนทั่วไปที่มีอาการของโรคหัวใจ แต่ต้องการเริ่มกลับมาออกกำลังกายใหม่
- ผู้ที่มีอาการผิดปกติซึ่งอาจเกิดจากภาวะหัวใจขาดเลือด เช่น มีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หรือเหนื่อยมากเมื่อออกกำลังกาย
- ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แต่ไม่มีอาการผิดปกติ เช่น ผู้สูบบุหรี่จัด, ผู้สูงอายุ, ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง, ผู้ป่วยเบาหวาน, ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง, ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดของอวัยวะอื่นอยู่แล้ว, ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจหรืออัมพาต
- ผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจไปแล้ว ไม่ว่าจะด้วยยา บอลลูนขยายหลอดเลือด หรือการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ เพื่อติดตามผลการรักษา
- ผู้ป่วยที่ต้องติดตามผลการรักษา เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับยารักษาจังหวะการเต้นของหัวใจ, ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจแบบพิเศษ
- ผู้ที่มีแพทย์แนะนำให้ตรวจด้วยวิธีนี้
ข้อควรรู้เกี่ยวกับตรวจ EST
- การตรวจสมรรถภาพของหัวใจ (EST) เป็นการตรวจที่ปราศจากอุปกรณ์ใด ๆ ที่สร้างความเจ็บปวดให้แก่ร่างกาย แต่ผู้รับการตรวจอาจจำเป็นต้องเหนื่อยบ้างจากการขั้นตอนการทดสอบโดยการออกกำลังกายด้วยการเดินหรือวิ่ง เพื่อสร้างแรงเค้นที่กล้ามเนื้อหัวใจ (การตรวจใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 30-60 นาที)
- อุปกรณ์สำคัญอันเป็นองค์ประกอบของการตรวจ EST คือ
- สายพานเดินไฟฟ้า (Treadmill) ที่สามารถปรับความเร็วและปรับความลาดชันได้เพื่อให้ผู้รับการตรวจเกิดอาการเหนื่อยเพิ่มขึ้นคล้ายกับการเดินขึ้นเขา ส่วนเครื่องมืออีกแบบจะเป็นแบบจักรยาน (Bicycle ergometer) ซึ่งเครื่องมือชนิดนี้จะมีราคาถูกกว่าและกินเนื้อที่ในการติดตั้งน้อยกว่าแบบสายพานเดินไฟฟ้า และยังใช้ได้ดีในผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการเดินและการทรงตัว
- อุปกรณ์วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG หรือ Electrocardiogram)
- อุปกรณ์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ (Heart rate) หรืออัตราชีพจร
- อุปกรณ์วัดความดันโลหิต ซึ่งมักเป็นเครื่องวัดแบบอัตโนมัติที่ทำให้ตรวจวัดได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องให้รับการตรวจหยุดเดินหรือหยุดวิ่ง หรืออาจเป็นอุปกรณ์หูฟังแบบดั้งเดิมก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลแต่ละที่
- อัตราชีพจรเป้าหมาย (Target heart rate) สิ่งหนึ่งที่ผู้รับการตรวจ EST เป็นกังวลกันมากคือ กลัวว่าจะถูกบังคับให้เดินหรือวิ่งบนสายพานจนเหนื่อยมากเกินไป กลัวจะวิ่งไม่ไหว กลัวจะเป็นลม หรือกลัวจะอายหมอหรือพยาบาล ฯลฯ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะมาตรฐานความเหนื่อยนั้นเขาวัดกันด้วยอัตราการเต้นของหัวใจ โดยจะขออธิบายรายละเอียดดังนี้
- สมาคมโรคหัวใจอเมริกัน (The American Heart Association) ได้วางมาตรฐานความเหนื่อยสูงสุดที่มนุษย์สุขภาพดีเป็นปกติสามารถทนทานได้อย่างปลอดภัย โดยเรียกความเหนื่อยนี้ว่า “อัตราชีพจนสูงสุด” (Maximum heart rate) ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามอายุ โดยมีสูตรว่า “อัตราการเต้นชีพจรสูงสุด = 220 – อายุ” (หน่วยเป็น ครั้ง/นาที) และเมื่อคำนวณได้เท่าไหร่ก็ให้ตั้งค่าอัตราชีพจรเป้าหมายเพื่อการออกกำลังกายใด ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพให้อยู่ที่ระดับ 50-85% ของอัตราชีพจรสูงสุด
- ตัวอย่างในการคำนวณ เช่น นาย ก. อายุ 60 ปี อัตราการเต้นชีพจรสูงสุดจะเท่ากับ 220 – 60 = 160 ครั้ง/นาที ส่วนอัตราชีพจรเป้าหมายที่ควรอยู่ในระดับ 50-85% เมื่อคำนวณออกมาแล้วก็จะได้ย่านอัตราชีพจรเป้าหมาย (Target heart rate zone) อยู่ที่ระหว่าง 80-136 ครั้ง/นาที สรุปว่า หาก นาย ก. ไปรับการตรวจ EST ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องเดินหรือวิ่งบนสายพานไฟฟ้าจนหัวใจเต้นถึง 160 ครั้ง/นาที ซึ่งอาจจะเป็นลมไปเสียก่อน แต่แพทย์จะเฝ้าตรวจอัตราชีพจรของนาย ก. ไว้ตลอดเวลาโดยไม่ให้เกิน 136 ครั้ง/นาที และในขณะเดียวก็ต้องไม่ต่ำกว่า 80 ครั้ง/นาทีด้วย
- จากข้อมูลดังกล่าวจึงแปลได้ว่า การออกกำลังกายนี้ผู้รับการตรวจจะเหนื่อยแค่พอประมาณและพอที่จะอดทนรับการตรวจต่อไปได้ เพราะการตรวจ EST นั้นมีเจตนาต้องการสร้างความเหนื่อยให้แก่หัวใจ เพื่อให้หัวใจได้เผยจุดอ่อน หรือข้อบกพร่อง หรือโรคของหัวใจโรคใดโรคหนึ่งที่อาจมีแอบแฝงอยู่ออกมาให้เห็นในรูปของอาการปวดหรือเจ็บหน้าอก ปวดแขน ปวดขากรรไกร วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด หายใจหอบถี่ ฯลฯ (ทั้งหมดนี้ล้วนอาจเป็นอาการภายนอกที่แสดงลักษณะของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ทั้งสิ้น แต่ก็ยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่าใช่จริงหรือไม่ ? ซึ่งในสถานการณ์อย่างนี้ อุปกรณ์วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ถ่ายทอดสัญญาณจากหัวใจแล้วบันทึกลงในกระดาษกราฟ จะเป็นตัวช่วยบ่งชี้โรคของหัวใจที่แอบซ่อนอยู่ออกมาได้ โดยไม่อาจปิดบังซ่อนไว้ได้อีกต่อไป)
ข้อห้ามในการตรวจ EST
- ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่เป็นไม่เกิน 2 วัน
- ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันชนิด Unstable angina
- หัวใจเต้นผิดจังหวะที่ควบคุมไม่ได้ และทำให้เกิดอาการหรือความดันโลหิตต่ำ
- มีภาวะหัวใจล้มเหลวที่การรักษายังไม่ได้ผลหรือยังควบคุมอาการไม่ได้
- มีภาวะเส้นเลือดปอดอุดตันเฉียบพลัน
- ผู้ป่วยกล้ามเนื้อและ/หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
- ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติคตีบอย่างรุนแรงและมีอาการ
- ลิ้นหัวใจอักเสบติดเชื้อ
- มีภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาฉีกขาดเฉียบพลัน
- มีภาวะการเจ็บป่วยเฉียบพลันที่มีผลต่อการทดสอบ เช่น โรคไตวาย โรคไทรอยด์เป็นพิษ การติดเชื้อ
นอกจากนี้ยังมีภาวะที่ไม่ควรทำการตรวจ EST ยกเว้นในกรณีที่แพทย์เห็นว่าได้ประโยชน์จากการตรวจมากกว่าความเสี่ยงที่จะได้รับ ซึ่งภาวะเหล่านี้ได้แก่
- ไม่สามารถออกกำลังกายได้ เช่น มีปัญหาเรื่องการเดิน ข้อเข่า หรือมีโรคปอด ซึ่งจะทำให้เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย และไม่สามารถออกกำลังกายจนหัวใจขึ้นถึงระดับอัตราชีพจรเป้าหมาย
- มีสภาพจิตใจหรือร่างกายผิดปกติที่เป็นอุปสรรคต่อการตรวจ
- มีความดันโลหิตสูงมาก คือ ความดันช่วงบนมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มม.ปรอท และ/หรือช่วงล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 110 มม.ปรอท
- เส้นเลือดตีบที่บริเวณโคนของเส้นเลือดแดงโคโรนารี่ด้านซ้าย
- มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะทั้งชนิดเร็วและชนิดเต้นช้าผิดจังหวะ
- มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาชนิด Hypertrophic cardiomyopathy (HCM) หรือภาวะอื่นที่มีการอุดตันของช่องทางออกของหัวใจห้องล่างซ้าย
- ลิ้นหัวใจตีบปานกลาง
- มีภาวะเกลือแร่ในร่างผิดปกติ
การปฏิบัติตัวก่อนการตรวจ EST
- ผู้รับการตรวจจะได้รับฟังคำชี้แจงสรุปโดยทั่วไปจากพยาบาล และจะได้รับคำสั่งให้งดการรับประทานอาหารและดื่มน้ำก่อนตรวจ 4 ชั่วโมง (เพื่อป้องกันอาการจุกเสียดเวลาเดินหรือวิ่ง) ส่วนเครื่องดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม และการสูบบุหรี่ควรงดก่อนตรวจ 24 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้ผลการตรวจผิดเพี้ยนได้
- ผู้รับการตรวจจะได้รับแจ้งว่าควรหยุดการรับประทานยาชนิดใดก่อนการตรวจ เช่น ยากลุ่มเบต้าบล็อคเกอร์ (Beta-blockers), ยาอมใต้ลิ้นไนโตรกลีเซอริน (Nitroglycerin) ที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหน้าอกของผู้มีอาการโรคหัวใจ, ยาไวอากร้า (Viagra) ที่ช่วยการมีเพศสัมพันธ์ของบุรุษ ฯลฯ เพราะยาเหล่านี้อาจทำให้ผลการตรวจผิดเพี้ยน หรือผู้เข้ารับการตรวจอาจสอบถามแพทย์ถึงยาที่รับประทานอยู่ว่าควรหยุดก่อนการตรวจหรือไม่ถ้าหากไม่แน่ใจ
- ผู้รับการตรวจจะได้รับการแจ้งล่วงหน้าว่าควรใส่เสื้อผ้าที่สบายและเหมาะกับการออกกำลังกาย (เช่น ชุดกีฬา) รวมถึงรองเท้าที่จะต้องเป็นพื้นยาง เพื่อให้สามารถเดินหรือวิ่งบนสายพานที่เป็นพื้นยางได้อย่างคล่องตัวโดยไม่ลื่น
- สำหรับผู้ที่เป็นโรคหอบหืดควรนำยาพ่นติดตัวมาด้วย
- สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้อินซูลิน ควรปรึกษาแพทย์ว่าควรฉีดเท่าใด (โดยมากแพทย์จะแนะนำให้ลดขนาดลงครึ่งหนึ่งในวันที่ตรวจ)
- ในขณะเวลาก่อนเริ่มตรวจ แพทย์จะทำการตรวจประเมินหาข้อห้ามในการตรวจ ทำการซักประวัติอาการปัจจุบันและประวัติคนในครอบครัวที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ และหากผู้รับการตรวจมีอาการผิดปกติใด ๆ ดังต่อไปนี้อยู่ก่อนแล้วก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยทันที (เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยต่อไปว่าสมควรจะได้รับการตรวจ EST หรือไม่ เพียงใด) ได้แก่
- อาการแน่นหน้าอก อึดอัด หายใจไม่ออก
- อาการแน่นอึดอัดคล้ายจะเป็นลม
- อาการของปัญหากระดูกหรือข้อต่อกกระดูก
- รู้สึกคล้ายกับกำลังมีสภาวะหัวใจพิบัติ (Heart attack) ซึ่งเคยเกิดมาก่อนหน้านี้ได้ไม่นาน
- ในขณะนั้นหรือก่อนหน้านั้นไม่นานได้เกิดอาการความดันโลหิตขึ้นลงวูบวาบชนิดควบคุมไม่ได้
- ผู้รับการตรวจจะได้รับฟังคำชี้แจงว่า ให้สังเกตอาการผิดปกติของตนเองในขณะตรวจ EST ที่จะต้องรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ตรวจทราบเพื่อให้หยุดโดยทันที ซึ่งอาการสำคัญผิดปกติที่กล่าวนี้ ได้แก่
- มีอาการปวดหน้าอก (Angina)
- มีอาการหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ (Irregular heart rhythm)
- มีอาการหัวใจพิบัติ (Heart attack)
- มีอาการหายใจหอบ ถี่สั้น (แตกต่างกับความเหนื่อยตามปกติ)
- มีอาการหน้ามืด เป็นลม
- เกิดการหกล้มบนสายพาน
- การเริ่มการตรวจ EST เจ้าหน้าที่เทคนิคประจำเครื่องจะนำขั้วไฟฟ้า (Electrode) ที่มีสายไฟต่ออยู่จำนวน 10 ขั้ว มาติดสัมผัสบริเวณหน้าอก แขน และขา (เหมือนการตรวจ ECG ทั่วไป) เพื่อส่งสัญญาณไปยังเครื่อง
การปฏิบัติตัวขณะตรวจ EST
- เมื่อเริ่มเดิมเครื่อง สายพานจะเริ่มเคลื่อนที่เพื่อบังคับให้ผู้รับการตรวจต้องก้าวเท้าเดินไปด้วยความเร็วช้า ๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยก่อน และเป็นการอบอุ่นร่างกายของผู้รับการตรวจไปด้วยในตัว
- ความเร็วของสายพานจะเริ่มเร็วเพิ่มขึ้นทุก ๆ 3 นาที รวมทั้งความเอียงของพื้นสายพานก็จะมีความลาดชันเพิ่มสูงขึ้นด้วย ผู้รับการตรวจจึงค่อย ๆ เปลี่ยนจากเดินเป็นวิ่งและเหนื่อยมากขึ้นเหมือนการออกกำลังกายโดยทั่วไป (แต่ผู้รับการตรวจจะอยู่ในสายตาของแพทย์ตลอดเวลา จึงไม่ต้องเป็นกังวล)
- ผู้รับการตรวจอาจถูกถาม ชวนพูด ชวนคุยจากเจ้าหน้าที่หรือแพทย์เพื่อเป็นอุบายการสื่อสารให้ทราบว่า ขณะนั้นผู้รับการตรวจยังไม่มีอาการที่น่าวิตก และจะให้ดำเนินการตรวจต่อไปตามลำดับ
- ในขณะเดินหรือวิ่ง ข้อมูลปฏิกิริยาตอบสนองจากร่างกายจะได้รับการบันทึกไว้ใน 3 เรื่องสำคัญคือ ระบบการทดงานของหัวใจ, ความดันโลหิต และอัตราชีพจร
- แพทย์ผู้ตรวจหรือเจ้าที่เทคนิคประจำเครื่องจะชอความเร็วของสายพาน หรือหยุดสายพาน หรือยุติการตรวจโดยทันที หากเกิดกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
- เมื่อการเต้นของหัวใจขึ้นถึงระดับอัตราชีพจรเป้าหมายแล้ว ตามเกณฑ์อายุของผู้รับการตรวจ
- เมื่อสัญญาณจากอุปกรณ์ ECG ที่เฝ้าตรวจอยู่หน้าจอแสดงรูปกราฟว่า กล้ามเนื้อหัวใจกำลังได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ (ในกรณีนี้ แม้อัตราชีพจรยังไม่ถึงระดับเป้าหมาย หรือผู้รับการตรวจมิได้ขอให้ยุติการตรวจก็ตาม แพทย์หรือเจ้าหน้าที่จะตัดสินใจยุติการตรวจ EST โดยทันที)
- เมื่อผู้รับการตรวจเกิดอาการผิดปกติที่สำคัญหรืออดทนต่อไปไม่ไหว ผู้เข้ารับการควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันทีหากต้องการให้สายพานทำงานช้าลง หรืออยากขอให้หยุด หรือเมื่อมีอาการผิดปกติที่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างพร้อมกัน (ในกรณีอย่างนี้คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยุติการตรวจ EST ในทันที แต่แม้จะยุติการตรวจกลางคัน แพทย์ก็อาจพึงวินิจฉัยได้ค่อนข้างแน่ชัดว่าเกิดจากกระบวนการทำงานของหัวใจบกพร่อง หรือแปลว่ามีโรคหัวใจอย่างใดอย่างหนึ่งที่แอบแแฝงอยู่นั่นเอง) เช่น
- อาการหมดแรง (Exhaustion) เพราะแสดงว่าเซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์อื่น ๆ ทั่วร่างกายได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ เนื่องจากหัวใจทำงานบกพร่อง และจะแสดงอาการเฉพาะในกรณีที่ต้องทำงานหนักเท่านั้น (แปลว่า ในกรณีของการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป แม้หัวใจจะบกพร่องอยู่บ้าง แต่ก็ยังพอส่งเลือดให้พอใช้ทั่วร่างกายได้ จึงยังไม่มีอาการแสดง แต่ถึงอย่างไรก็อาจสังเกตพบได้ในบางสถานการณ์ เช่น เมื่อต้องจำเป็นเดินขึ้นบันไดคราวละหลายสิบขั้นขึ้นไป โดยอาจจะแสดงอาการเหนื่อยอ่อนมากกว่าผู้อื่นที่อยู่ในวัยเดียวกันอย่างผิดปกติ)
- อาการปวดร้าวหน้าอก (Chest pain) เพราะแสดงว่ากล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนจากเลือดมาหล่อเลี้ยงไม่พอเพียง
- อาการหายใจลำบาก (Dyspnea) เพราะโดยทั่วไปอาการหายใจตื่นหอบถี่จะเป็นสัญญาณของโรคหลอดลมขัดข้อง หรือโรคปอด หรือโรคหัวใจ
- อาการเหนื่อย (Fatigue) ที่ตามมาด้วยอาการใน 3 ข้อแรกดังกล่าว
- อาการหน้ามืดวิงเวียนศีรษะ (Dizziness) เพระาแสดงว่าหัวใจส่งเลือดขึ้นสู่สมองไม่เพียงพอ จึงก่อให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ หรือสับ หรือทรงตัวไม่อยู่
- อาการใจสั่นระริก (Palpitaion) โดยปกติแล้วหัวใจจะเต้นเร็วขึ้นในขณะที่เรากำลังเหนื่อย แต่การเต้นถี่บ้าง ช้าบ้าง นั้นจะแสดงถึงความผิดปกติของหัวใจ
- ในกรณีที่การตรวจ EST สามารถดำเนินต่อไปได้ด้วยดี ก็จะสามารถขึ้นสู่ระดับอัตราชีพจรเป้าหมายได้ เมื่อผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่งถ้วนแล้ว เจ้าหน้าที่จะค่อย ๆ ผ่อนคลายเร็วของสายพานลง พร้อมทั้งลดความลาดเอียงให้กลับคืนสู่ระดับปกติ เพื่อเป็นการลดความร้อนให้กับร่างกาย ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 นาที จนกระทั่งสายพานหยุดสนิท
การปฏิบัติตัวหลังการตรวจ EST
- เจ้าหน้าที่จะมาเชิญผู้รับการตรวจให้ขึ้นไปนอนบนเตียงในท่านานหงอยเพื่อให้ได้รับการพักผ่อน
- หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะยังเฝ้าสังเกตสัญญาณคลื่นหัวใจที่หน้าจอ ECG ซึ่งจะแสดงข้อมูลว่า กำลังลดระดับลงมาสู่เกณฑ์ปกติ (โดยธรรมดาจะต้องอยู่ในระดับเดียวกับเวลาก่อนเริ่มการตรวจ)
- หากแพทย์สงสัยว่าอาจมีความผิดปกติ อาจให้ทำการทดสอบเพิ่หรือแนะนำให้เข้ารับการตรวจด้วยวิธีอื่นเพื่อให้เห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้น
- หากทุกอย่างเป็นปกติ เจ้าหน้าที่จะถอดขั้วไฟฟ้า ECG ออกจากร่างกายของผู้รับการตรวจ จึงเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการตรวจ EST
- ผู้เข้ารับการตรวจสามารถรับประทานอาหาร ยา และทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติหลังการตรวจ ยกเว้นแต่แพทย์จะห้าม
การแปลผลตรวจ EST
โดยทั่วไปแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจจะเป็นผู้แปลผลข้อมูลที่ได้จากกราฟ ECG อัตราชีพจร และระดับความดันโลหิต แล้วแจ้งให้ผู้รับการตรวจทราบถึงสภาวะของหัวใจในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร (หรืออาจต้องรอในวันถัดไปก็ได้) ซึ่งการรายงายผลการตรวจของแพทย์นั้นจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
- กลุ่มผู้มีสุขภาพหัวใจเป็นปกติ โดยข้อมูลที่ได้จากการตรวจ EST จะแสดงให้ทราบได้ว่า
- แม้อัตราชีพจรจะเร็วขึ้น แต่หัวใจก็มิได้แสดงภาวะผิดปกติแต่อย่างใด แปลว่า รูปร่างของเส้นกราฟ ECG ก็ยังคงมีรูปร่างเป็นปกติดีอยู่ แม้จะเหนื่อยเพียงใดก็ตาม
- ความอดทนในการออกกำลังกายของผู้รับการตรวจที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ตามเกณฑ์อายุ และตามสภาพร่างกาย และตามสภาพหัวใจที่ปกติของตนอย่างเหมาะสม
- กลุ่มผู้มีสุขภาพหัวใจผิดปกติ โดยผลการตรวจ EST ที่จำเป็นต้องยุติกลางคัน หรือพบข้อมูลความผิดปกติร้ายแรงจากกราฟ ECG หรือพบว่าอัตราชีพจรหรือระดับความดันโลหิตสูงขึ้นผิดปกติระหว่างการตรวจ ทั้งหมดนี้จะบ่งชี้ว่าสุขภาพของผู้เข้ารับการตรวจน่าจะผิดปกติหรือบกพร่องด้วยโรคหัวใจโรคใดโรคหนึ่ง จึงทำให้แสดงอาการผิดปกติให้ปรากฏ เช่น
- ได้เกิดภาวะหัวใจเต้นเสียจังหวะหรือเต้นผิดจังหวะ (Arrythmia) ในขณะตรวจ
- หัวใจของผู้รับการตรวจได้แสดงสภาวะของอาการเค้น (Stress) จนอดทนต่อไปไม่ได้เมื่อต้องทำงานหนักในขระถูกตรวจ EST
- ผู้รับการตรวจน่าจะมีโรคหลอดเลือดกล้ามเนื้อหัวใจที่ตีบแคบหรือใกล้จะตัน
- ผู้รับการตรวจไม่แข็งแรงพอใจการออกแรง ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาจจะเนื่องมาจากโรคหัวใจก็ได้
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือฉลาดตรวจสุขภาพ ฉบับรู้ทันโรคถอย เล่ม 2. “การตรวจสมรรถภาพของหัวใจ (Exercise Stress Test, EST)”. (พอ.ประสาร เปรมะสกุล). หน้า 183-193.
- ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลับเชียงใหม่. “การตรวจสมรรถภาพหัวใจ EST (Exercise Stress Test)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : sriphat.med.cmu.ac.th. [20 เม.ย. 2018].
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์หัวใจ หลอดเลือด และเมแทบอลิซึม. “การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : med.mahidol.ac.th/cvmc/. [20 เม.ย. 2018].
- ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ. “การตรวจสมรรถภาพหัวใจ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhealth.com. [21 ส.ค. 2017].
- Siamhealth. “การตรวจหัวใจโดยการวิ่งสายพาน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [21 ส.ค. 2017].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)