การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับอ่อนและท่อน้ำดี (CA 19-9 : Cancer Antigen 19-9)

การตรวจ CA 19-9

CA 19-9 (Cancer antigen 19-9, Carbohydrate antigen 19-9, Cancer Antigen-GI หรือ CA-GI) คือ แอนติเจน Carbohydrate antigen ที่สามารถตรวจพบได้ในเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งตับอ่อน มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร ฯลฯ แต่ CA19-9 จะเป็นสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) ที่ดีที่สุดในการช่วยวินิจฉัยมะเร็งตับอ่อนและมะเร็งของท่อน้ำดี

นอกจากนี้ยังพบค่า CA 19-9 สูงขึ้นได้ในโรคที่มีการอักเสบของตับ ตับอ่อน ท่อน้ำดี ถุงน้ำดี และโรคอื่นๆ ได้ด้วย

ข้อบ่งชี้ในการตรวจ CA 19-9

  • ใช้ CA 19-9 ตรวจร่วมกับ CEA, bilirubin และ LFT เมื่อผู้ป่วยมีอาการบ่งชี้ว่าเป็นโรคมะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer) เช่น มีอาการปวดท้อง ตาเหลือง อาเจียน น้ำหนักตัวลดลง
  • ใช้ตรวจเมื่อสงสัยว่าเป็นมะเร็งตับและทางเดินน้ำดี (Hepatobiliary cancer) หรือมีการอุดตันของท่อน้ำดีจากมะเร็ง (กรณีที่ท่อน้ำดีอุดตันโดยไม่ใช่จากมะเร็งก็ทำให้ค่า CA 19-9 สูงขึ้นได้เช่นกัน และจะกลับสู่ปกติเมื่อการอุดตันหายไป)
  • ช่วยแยกชนิดของเนื้องอกที่ตับอ่อนว่าเป็นเนื้องอกธรรมดา (Benign tumor) หรือเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย (Malignant tumor)
  • อาจช่วยแยกโรคระหว่างโรคมะเร็งตับอ่อนกับโรคหรือภาวะอื่น ๆ เช่น โรคตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
  • ใช้ตรวจติดตามผลหลังการรักษามะเร็งตับอ่อน (ในกรณีที่ตรวจเบื้องต้นแล้วค่า CA 19-9 สูง) ว่าการรักษาได้ผลดีหรือไม่ หรือมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำหรือไม่
    • การรักษามะเร็งตับอ่อนไม่ว่าจะด้วยวิธีการผ่าตัด รังสีรักษา หรือเคมีบำบัด หากค่า CA 19-9 ลดลงน่าจะแสดงว่าการรักษาได้ผล (คนไข้ตอบสนองต่อการรักษา) แต่หากค่านี้สูงขึ้นแพทย์จะประเมินด้วยการตรวจทางรังสีหรือทางชิ้นเนื้อว่าโรคเป็นมากขึ้นหรือไม่
    • ค่า CA 19-9 ที่ลดลงภายหลังการรักษาด้วยการผ่าตัดและการใช้ยาเคมีบำบัดมีความสัมพันธ์กับอัตราการรอดชีวิตที่ดีขึ้นของมะเร็งตับอ่อน
    • ผู้ที่มีค่า CA 19-9 จากผลเลือดสูงขึ้นใหม่หลังจากลดลงไปแล้วจะต้องนัดตรวจเป็นระยะ
    • ภายหลังการผ่าตัดถ้ามีการกลับมาเป็นซ้ำของโรค มักจะตรวจพบค่า CA 19-9 เพิ่มสูงในระยะ 1-7 เดือน
  • ไม่แนะนำให้ใช้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งในผู้ที่ไม่มีอาการ เนื่องจากมีความไว (Sensitive) และความจำเพาะ (Specificity) ต่ำ อาจเกิดผลลบลวงหรือผลบวกลวงได้ และ CA 19-9 ก็มีค่าขึ้นสูงได้ในหลาย ๆ โรคไม่เฉพาะเจาะจงต่อมะเร็งตับอ่อน อีกทั้งผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนก็มีค่านี้สูงเพียง 70% เท่านั้น (หากต้องการตรวจคัดกรองมะเร็งตับอ่อนควรใช้วิธีอื่น ๆ เช่น u/s, CT, ERCP)

การตรวจสุขภาพเป็นการค้นหาโรคระยะเริ่มต้นหรือหาวิธีป้องกันก่อนเกิดโรค ซึ่งการวัดค่ามะเร็งใด ๆ ซึ่งรวมถึง CA 19-9 แท้จริงแล้วไม่สามารถค้นหาโรคได้ในการตรวจคัดกรองทั่วไป และไม่แนะนำให้ตรวจในประชากรทั่วไปด้วย เพราะอาจตรวจได้ค่าปกติในคนที่เป็นมะเร็ง หรือได้มีค่าผิดปกติในคนที่แข็งแรงดีก็ได้

ค่าปกติของ CA 19-9

ค่าปกติของ CA 19-9 ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือดเป็นหลัก (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไปดังนี้

  • ค่าปกติของ CA 19-9 คือ < 37 units/mL

ค่า CA 19-9 ที่สูงกว่าปกติ

หากตรวจพบค่า CA 19-9 สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลในด้านสุขภาพได้ว่า

  • อาจเกิดจากการป่วยด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer) หรือเกิดจากมะเร็งชนิดอื่น ๆ เช่น มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี (Hepatobiliary cancer), มะเร็งถุงน้ำดี (Gallbladder cancer), มะเร็งท่อน้ำดี (Bile duct cancer), มะเร็งกระเพาะอาหาร (Stomach cancer), มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer), มะเร็งปอด (Lung cancer), มะเร็งเต้านม (Breast cancer), มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)
  • การตรวจพบค่า CA 19-9 ในระดับสูง ๆ อาจบ่งบอกให้ทราบว่าผู้ที่เป็นมะเร็งตับอ่อนได้เปลี่ยนแปลงสู่ระยะสุดท้ายแล้ว
  • อาจเกิดจากโรคหรือภาวะอื่นที่ไม่ใช่โรคมะเร็ง เช่น ท่อน้ำดีอักเสบ, โรคตับแข็ง, ท่อน้ำดีอุดตันจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มะเร็ง, นิ่วในถุงน้ำดี, ถุงน้ำดีอักเสบ, ลำไส้อักเสบ, ตับอ่อนอักเสบทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง, โรคปอด (เช่น วัณโรคปอด โรคซิสติกไฟโบรซิส โรคพังผืดในปอด โรคเลือดออกในปอด), โรคเบาหวาน (เนื่องจากมีการทำลายเนื้อเยื่อและอักเสบอย่างเรื้อรัง), โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, โรคเกี่ยวกับรังไข่

ผลตรวจ CA 19-9
IMAGE SOURCE : pantip.com (by kpisit74)

ในรายที่ตรวจพบว่ามีความผิดปกติของค่า CA 19-9 โดยที่ไม่มีอาการ แพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อหาสาเหตุตามที่กล่าวมาข้างต้น (โดยเฉพาะบริเวณตับอ่อนและท่อน้ำดี) และควรได้รับการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเพื่อความแน่ชัดว่าค่า CA 19-9 ที่สูงขึ้นนั้นเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่อย่างไร

ส่วนในรายที่มีระดับ CA 19-9 สูงมาก แพทย์จะส่งตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อแยกโรคมะเร็งตับอ่อนออกก่อน ด้วยการทำ CT scan whole abdomen (Pancreatic protocol) ซึ่งการตรวจวินิจฉัยดังกล่าวจะช่วยค้นหาภาวะอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของค่า CA19-9 ได้ด้วย

ข้อควรรู้อื่น ๆ เกี่ยวกับ CA 19-9

  • สาร CA 19-9 สามารถพบได้ในเยื่อบุของตับอ่อน ท่อน้ำดี ถุงน้ำดี ลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร ต่อมน้ำลาย ต่อมลูกหมาก เราจึงสามารถตรวจพบได้จากสารน้ำหลั่งของอวัยวะเหล่านี้ ในคนปกติจึงสามารถตรวจพบค่าเหล่านี้ในเลือดได้
  • มะเร็งตับอ่อนในระยะแรกอาจไม่มีอาการแสดงหรือมีอาการแสดงเพียงเล็กน้อย หากผู้ป่วยมีอาการแสดงชัดและมีค่า CA 19-9 สูงอย่างชัดเจนก็มักจะอยู่ในระยะลุกลามแล้ว เพราะค่า CA19-9 ที่ขึ้นสูงจะบ่งบอกถึงก้อนมะเร็งตับอ่อนที่มีขนาดใหญ่ เป็นมะเร็งชนิดที่ผ่าตัดไม่ได้และสามารถแยกออกจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่มะเร็งได้
  • ค่า CA 19-9 ที่สูงมักพบในผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนที่อยู่ในระยะลุกลามแล้ว ซึ่งพบได้ถึง 70-95%
  • แพทย์จะไม่ใช้ค่านี้ในการบ่งบอกว่าผู้ป่วยควรผ่าตัดรักษาหรือไม่ แต่จำเป็นต้องใช้การตรวจชนิดอื่น ๆ มาประเมินร่วมด้วย
  • ผู้ที่ขาด Lewis antigen จะไม่สามารถสร้างสาร CA19-9 ได้ แม้ว่าก้อนมะเร็งจะมีขนาดใหญ่ก็ตาม ซึ่งจะพบได้ 10% ของคนผิวขาว
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือฉลาดตรวจสุขภาพ ฉบับรู้ทันโรคถอย เล่ม 2. “CA 19-9”. (พอ.ประสาร เปรมะสกุล). หน้า 69.
  2. หนังสือรู้ก่อนเข้าใจการตรวจรักษามะเร็ง. “CA 19-9”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).
  3. ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “CA 19-9”.  (ผศ.พญ.ศันสนีย์  เสนะวงษ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [04 มิ.ย. 2018].
  4. Siamhealth.  “Cancer Antigen 19-9”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [06 มิ.ย. 2018].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด