ALT (SGPT)
ALT (Alanine transaminase) หรือ Alanine aminotransferase (แต่เดิมการแพทย์จะใช้คำว่า “SGPT” หรือ Serum glutamate-pyruvate transaminase ซึ่งก็มีความหมายและเป็นค่าชนิดเดียวกัน) คือ เอนไซม์ที่ล่องลอยอยู่ในกระแสเลือดซึ่งอาจเกิดจากความเสียหายของอวัยวะใด ๆ ก็ได้ เช่น ไต หัวใจ กล้ามเนื้อ ตับอ่อน หรือตับ (ความเสียหายจากทุกอวัยวะยกเว้นตับ จะปรากฏค่า ALT ไม่มากนักและมักไม่อาจบ่งชี้ได้ว่ามาจากอวัยวะใดชัดเจน)
แต่เฉพาะความเสียหายของตับเท่านั้นที่ค่า ALT จะสำแดงค่าสูงขึ้นผิดปกติเป็นตัวเลขให้เห็นอย่างเด่นชัด นั่นแปลว่า หากมีโรคตับเมื่อใด ALT ในเลือดที่ตรวจได้ก็จะสูงกว่าปกติอย่างเด่นชัดเมื่อนั้น ด้วยเหตุนี้ ค่า ALT จึงเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของโรคตับ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคตับอักเสบและโรคตับแข็ง แม้อาการภายนอกของผู้ป่วยจะยังไม่แสดงออกมาให้เห็นเลยก็ตาม) ALT จึงใช้เพื่อการตรวจสุขภาพของตับเป็นหลัก ซึ่งมักจะให้ความน่าเชื่อถือมากกว่าค่าผลเลือดตัวอื่น (เช่น AST) อย่างไรก็ตาม การตรวจ ALT เพื่อบ่งชี้ความเสียหายของตับนั้นมักจะนิยมตรวจพร้อมกันจากการเจาะเลือดตรวจในคราวเดียวอีก 3 ตัวสำคัญ คือ AST, ALP และ LDH ในกรณีที่ค่า AST มีค่าผิดปกติไปมาก ๆ จนทำให้สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือโรคตับก็ได้นั้น ถ้าหากค่า ALT ขึ้นสูงผิดปกติสอดคล้องกันด้วย ก็จะช่วยให้แพทย์ชี้ชัดแยกแยะลงไปได้ว่าอาจเกิดจากโรคตับมากกว่าโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
ค่า ALT นับเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญอย่างยิ่งตัวหนึ่งในการวิเคราะห์ผลข้างเคียงหรือพิษต่อตับจากยารักษาโรคบางชนิด (เช่น ยาลดคอเลสเตอรอล) จึงสรุปได้ว่า หากตับได้รับพิษจากยา แอลกอฮอล์ อาหาร หรือจากการถูกโจมตีด้วยเชื้อไวรัส ก็ย่อมมีผลทำให้ค่า ALT สูงขึ้นได้เสมอ (ALT เป็นตัวบ่งชี้ที่ไวต่อความเปลี่ยนค่าเป็นที่สุด ในผลจากความเสียหายใด ๆ ของเซลล์ตับ)
ชื่อการตรวจ ALT (SGPT)
ชื่อต่าง ๆ ในใบรายงานผลการตรวจที่มีความหมายเดียวกัน คือ
- ALT
- Alanine transaminase
- ALAT
- Alanine aminotransferase
- SGPT
- Serum Glutamate-Pyruvate Transaminase
วัตถุประสงค์การตรวจ ALT (SGPT)
วัตถุประสงค์ของการตรวจ ALT (SGPT) คือ
- ตรวจเพื่อให้ทราบค่าเอนไซม์ ALT ซึ่งอาจแสดงผลการเปลี่ยนจากค่าปกติเมื่ออวัยวะบางแห่งของร่างกายโดยเฉพาะตับ ได้รับผลกระทบจากสารพิษ หรือฟกช้ำ หรือถูกโจมตีจากไวรัสจนเป็นผลทำให้เซลล์ตับบาดเจ็บหรือได้รับความเสียหาย
- ตรวจสอบความเสียหายของตับจากเหตุใดก็ตามว่ามีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด
- ตรวจสอบโรคตับซึ่งทราบอยู่ก่อนแล้ว (เช่น มีสาเหตุมาจากแอลกอฮอล์ ยารักษาโรค ไวรัส) ว่าโรคตับที่เป็นอยู่ในขณะนั้นทรุดหนักอยู่ในระดับของโรคตับอักเสบหรือระดับของโรคตับแข็ง
- ตรวจสอบในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดีซ่านเพื่อบ่งชี้ให้แน่ชัดว่ามีสาเหตุมาจากโรคเลือดหรือมาจากโรคตับ
- ตรวจสอบเพื่อเฝ้าระวังความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อตับ จากการกินยาลดคอเลสเตอรอลหรือยารักษาโรคอื่นใดก็ตาม
- ตรวจในรายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับ เช่น ในผู้ที่มีดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคตับ มีประวัติหรือมีโอกาสเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ มีภาวะอ้วนหรือเป็นเบาหวาน หรือเป็นผู้ที่กินยาหรือวิตามินหรือสมุนไพรในปริมาณและขนาดที่อาจทำลายตับได้ หรือส่งตรวจในรายที่มีอาการของโรคตับ (เช่น อ่อนแรง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องบวม มีภาวะดีซ่านตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม หรือมีอาการคันที่ผิวหนัง)
ค่าปกติของ ALT (SGPT)
ค่าปกติของ ALT (SGPT) ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
- ค่าปกติทั่วไปของ ALT (SGPT) คือ 0 – 48 U/L
ค่าปกติของ ALT (SGPT) ที่เหมาะสมในปัจจุบัน ด้วยวิทยาลัยอเมริกันแห่งสมาคมอายุรแพทย์อเมริกันได้รายงานเสนอว่า แพทย์แผนปัจจุบันควรปรับค่าปกติของ ALT ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับโรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสชนิดซี (HCV) และโรคไขมันพอกตับ (FLD) เพราะผู้ป่วยที่กำลังเป็นโรคใดโรคหนึ่งอย่างเงียบ ๆ นี้ หากไปเจาะเลือดตรวจค่า ALT ก็จะไม่สามารถบ่งบอกได้ว่ากำลังเกิดโรค เพราะพบค่า ALT อยู่ในเกฑณ์ปกติ (0 – 48 U/L ซึ่งเป็นเกณฑ์ปกติเดิม) จึงอาจทำให้เข้าใจผิดว่าตนเองยังมีสุขภาพดีเช่นคนทั่วไปได้ ในข้อเสนอแนะจึงสรุปได้ว่าค่าปกติของ ALT ที่เหมาะสมในปัจจุบัน ควรปรับลดและกำหนดค่ามาตรฐานใหม่เป็นดังนี้
- ค่าปกติของ ALT (SGPT) ในผู้ชาย คือ 30 U/L
- ค่าปกติของ ALT (SGPT) ในผู้หญิง คือ 19 U/L
ค่า ALT (SGPT) ที่ต่ำกว่าปกติ
ค่า ALT (SGPT) ที่ต่ำกว่าปกติ โดยธรรมดามักจะไม่ปรากฎและมักมีค่าให้ตรวจพบได้เสมอตราบเท่าที่บุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่และตับก็ยังต้องทำหน้าที่เป็นปกติดีอยู่ แต่ถ้า ALT ต่ำกว่าปกติร่วมกับค่าคอเลสเตอรอลที่สูงเกินปกติ ก็อาจเกิดจากท่อน้ำดีในตับอุดตัน (Congested liver) ได้
ค่า ALT (SGPT) ที่สูงกว่าปกติ
- ค่า ALT (SGPT) ที่สูงกระเพื่อมขึ้นเล็กน้อยเป็นครั้งคราว อาจแสดงผลได้ว่า
- ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
- กล้ามเนื้ออักเสบ (Myositis)
- อาจเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infraction)
- หากมีโรคหรือภาวะใดที่กระทบต่อตับ หัวใจ หรือกล้ามเนื้อโครงร่าง ก็ย่อมเป็นเหตุทำให้ค่า ALT กระเพื่อมสูงขึ้นได้เสมอ
- ค่า ALT (SGPT) ที่สูงเล็กน้อย อาจแสดงผลได้ว่า
- เริ่มเกิดสภาวะตับอักเสบจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น การกินยา การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการกินอาหารที่เป็นพิษ
- อาจเกิดจากการกินยาบางชนิดเป็นประจำหรือต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เช่น ยาลดคอเลสเตอรอลสแตติน (Statins), ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics), ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy), ยาแก้ปวด (Aspirin), ยาแก้อาการซึมเศร้านอนไม่หลับ (Barbiturates), ยาเสพติด (Narcotics)
- อาจมีไขมันสะสมแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อตับสูงเกินปกติ
- อาจเกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังที่ยังแสดงอาการไม่มาก แต่ในระยะยาวอาจก่อให้เกิดโรคตับแข็งขึ้นได้
- อาจเริ่มมีอาการของโรคตับแข็ง
- ค่า ALT (SGPT) ที่สูงปานกลาง อาจแสดงผลได้ว่า
- อาจเกิดโรคตับอักเสบ (Hepatitis)
- อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักจนอยู่ในฐานะเป็นยาเสพติด (Alcohol abuse)
- ตับอาจอักเสบในระยะเริ่มต้นจากเชื้อไวรัส หรือระยะที่ได้รับการรักษาจนอาการเริ่มดีขึ้น
- อาจเกิดจากการกินยาเกินขนาด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาสมุนไพรบางชนิด
- อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสจากโรคโมโนนิวคลีโอซิส (Mononucleosis) หรือที่เรียกว่า “โรคจูบปาก” ซึ่งเป็นการติดต่อผ่านทางน้ำลาย หรือจากการไอ จาม หรือน้ำมูก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตับและม้ามโตกว่าปกติ และอาจรักษาได้ด้วยการพักผ่อนให้มาก ๆ
- ตับอาจเป็นโรคมะเร็ง (Hepatic tumor)
- ท่อน้ำดีอาจถูกปิดกั้น ซึ่งอาจเกิดจากท่อน้ำดีอักเสบหรือมีนิ่วในถุงน้ำดี
- ค่า ALT (SGPT) ที่สูงมาก อาจแสดงผลได้ว่า
- เซลล์ตับอาจกำลังเสียหายอย่างรุนแรงจากเชื้อไวรัสตับอักเสบตัวใดตัวหนึ่งมาไม่นานนัก เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ บี หรือซี
- เซลล์ตับอาจกำลังเสียหายเพราะพิษจากยารักษาโรคบางตัว หรือสมุนไพร หรือวิตามินบางชนิดที่รับประทานในขนาดและปริมาณที่เป็นพิษต่อตับ
- ร่างกายอาจได้รับสารตะกั่วทางใดทางหนึ่งจนตับเกิดความเสียหายจาพิษของตะกั่ว
- ร่างกายอาจถูกพิษโดยตรงจากสารคาร์บอนเตตราคลอไรด์ (Cabon tetrachloride) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้อุปกรณ์เครื่องดับเพลิง
- ตับอาจเสียหายร้ายแรงจากโรคมะเร็งตับ ซึ่งย่อมมีผลทำให้ค่า ALT อยู่ในระดับที่สูงมาก
- ตับอาจอยู่ภาวะขาดเลือด (Hepatic ischemia) เช่น จากกรณีหัวใจล้มเหลว
- ร่างกายอาจเกิดอาการช็อก (Shock) จึงทำให้ตับได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงต่ำกว่าปริมาณที่ควรได้รับจนเซลล์บางส่วนเริ่มตายหรือเสียหายอย่างกว้างขวาง
AST : ALT (DeRitis ratio)
เนื่องจากการตรวจเลือดเพื่อหาค่า ALT มักจะต้องตรวจหาค่า AST ควบคู่ไปด้วยเสมอ ด้วยเหตุนี้ แพทย์จึงช่วยกันวิเคราะห์และพบว่าอัตราส่วนระหว่าง AST : ALT นั้น อาจช่วยบ่งชี้โรคตับอย่างหยาบ ๆ ได้ (มิใช่ข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน แต่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานทั่วไปในเบื้องต้นโดยอาศัยสถิติเดิมเป็นข้อยืนยัน) และเรียกอันตราส่วนตามชื่อผู้ค้นคว้าคนแรกนี้ว่า “DeRitis ratio” โดยจากการรวบรวมสถิติที่ผ่านมาเพื่อใช้เป็นข้อสันนิษฐานโรคที่เกี่ยวกับโรคตับนั้น สามารถสรุปได้ดังนี้
- AST : ALT = 2 : 1 อาจสันนิษฐานว่าเกิดโรคตับจากแอลกอฮอล์ หรือตับเสียหายเรื้อรังจากแอลกอฮอล์ เช่น โรคไขมันพอกตับ
- AST : ALT = 1 : 1 มักเป็นค่าปกติทั่วไป
- AST : ALT = < 1 : 1 อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นโรคไขมันพอกตับแม้ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ หรือเป็นโรคตับอักเสบจากไวรัส หรือเกิดจากการใช้ยา (เฉียบพลันหรือเรื้อรัง)
ข้อควรรู้และคำแนะนำก่อนการตรวจ ALT (SGPT)
- ต้องงดอาหารและเครื่องดื่ม (ยกเว้นน้ำเปล่า) ก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
- ต้องงดการกินยาทุกชนิดล่วงหน้าหลาย ๆ วัน ก่อนการเจาะเลือด (โปรดปรึกษาแพทย์ในกรณีที่เป็นยาซึ่งสั่งให้กินโดยแพทย์)
- ต้องงดกินสมุนไพรทุกประเภท รวมถึงอาหารพื้นเมืองตามความเชื่อประหลาด ๆ เช่น สมองลิง กระดูกหัวเสือ เขากวางอ่อน อุ้งตีนหมี ดีงู ปลาปักเป้า ฯลฯ
- การออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือภายหลังการผ่าตัด หรือการใส่หลอดโลหะขยายหลอดเลือดกล้ามเนื้อหัวใจในทุกกรณี ล้วนทำให้ค่า ALT สำแดงค่าผิดเพี้ยนสูงขึ้นได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงควรงดการออกกำลังกายก่อนตรวจและแจ้งให้แพทย์ทราบถึงกรณีดังกล่าว
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากท่านกำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากผลการตรวจอาจผิดพลาดไปจากความเป็นจริงได้
- แพทย์มักพิจารณาสั่งตรวจการทำงานของตับในผู้ป่วยที่มีอาการแสดงของโรคตับหรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคตับ และจะพิจารณาตรวจซ้ำตามดุลยพินิจของแพทย์เพื่อประเมินผลการรักษา
- ผลการประเมินค่าทางห้องปฏิบัติการนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานความเป็นไปได้ซึ่งไม่สามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนเพียงค่าเดียว เพราะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการซ้ำเพื่อยืนยัน และต้องตรวจควบคู่ไปกับ AST และค่าเอนไซม์ตับตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)