ALP
ALP ย่อมาจากคำว่า “Alkaline phosphatase” (อัลคาไลน์ ฟอสฟาเตส) คือ เอนไซม์ที่ผลิตขึ้นมาด้วยโปรตีนจากอวัยวะต่าง ๆ ที่เกิดโรคหรือเกิดความผิดปกติ เช่น ตับ กระดูก ลำไส้เล็ก ไต รกของหญิงตั้งครรภ์
โดย ALP ที่ถูกสร้างขึ้นมานี้ แต่ละแหล่งจะมีชื่อกลุ่มย่อยต่างกัน คือ ALP1 (มาจากตับ นับเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดของ ALP), ALP2 (มาจากกระดูก นับเป็นแหล่งรองลงมา) และ ALP3 (มาจากเยื่อเมือกภายในลำไส้เล็ก นับเป็นแหล่งที่ต่ำลงมา) ส่วน ALP ส่วนน้อยที่มาจากไตและรกของหญิงตั้งครรภ์นั้นจะไม่มีชื่อเรียกเป็นการเฉพาะ
เนื่องจาก ALP1 มาจากตับ และเป็นองค์ประกอบสำคัญส่วนใหญ่ของ ALP รวม ดังนั้น หากมีโรคใด ๆ มากระทบต่อตับ จึงย่อมทำให้ ALP1 และ ALP รวม มีค่าสูงขึ้นเสมอ เช่น ตับอักเสบ โรคมะเร็งตับ ยาที่เกิดพิษต่อตับ ฯลฯ (ALP จะมีความไวมากที่สุดในทุกกรณีซึ่งได้เกิดมะเร็งจากที่อื่นแล้วลุกลามมาที่ตับ แปลว่า ผลเลือดที่ใช้ตรวจการทำงานของตับตัวอื่น ๆ อาจจะยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงค่าสูงขึ้นอย่างผิดสังเกต หรือแม้แต่ค่า AFP ซึ่งเป็นค่าสารบ่งชี้มะเร็งตับเองก็อาจจะยังไม่กระเพื่อมสูงขึ้นให้เห็นชัดเจนนัก แต่ ALP มักจะกระโจนขึ้นสูงให้สังเกตเห็นได้อย่างมีนัยสำคัญ) ส่วน ALP2 ที่มาจากกระดูกก็เป็นองค์ประกอบสำคัญอีกตัวของ ALP รวม ที่อาจมีค่าสูงขึ้นได้หากมีพยาธิสภาพใด ๆ เกิดขึ้นที่กระดูก เช่น การใช้ยารักษากระดูกหัก โรคไขข้ออักเสบ กระดูกงอกทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์มะเร็งในกระดูกเกิดใหม่ที่อาจแพร่กระจายมาจากมะเร็งเต้านมหรือต่อมลูกหมาก ย่อมมีผลทำให้ค่า ALP สำแดงค่ากระโจนสูงขึ้นอย่างชัดเจน
เพื่อประโยชน์ต่อการวินิจฉัยแยกแยะระหว่างโรคตับและโรคกระดูก ในการเจาะเลือดตรวจ ALP ทุกครั้ง จึงจำเป็นต้องตรวจค่า ALT และ AST พร้อม ๆ กันไปด้วยเสมอในคราวเดียวกัน โดยการสำแดงค่าผลเลือดทั้ง 3 ตัวนี้ อาจช่วยบ่งชี้โรคที่สำคัญได้ เช่น ถ้าค่าทั้ง 3 ตัวนี้สูงทั้งหมด อาจบ่งชี้ได้ว่าเป็นโรคตับหรือโรคมะเร็งตับ แต่ถ้าค่า ALP สูงเพียงตัวเดียว (ALT กับ AST ปกติ) ก็อาจบ่งชี้ได้ว่าเป็นโรคกระดูกหรือโรคมะเร็งกระดูก
เมื่อใดก็ตามที่พบค่า ALP สูงขึ้นมากผิดปกติ โปรดอย่านิ่งนอนใจและขอให้คิดถึงสุขภาพของตับไว้ก่อนเสมอ และนอกจากตับแล้วจะต้องคิดถึงสุขภาพกระดูกด้วยเช่นกัน
ชื่อการตรวจของ ALP
ชื่อต่าง ๆ ในใบรายงานผลการตรวจที่มีความหมายเดียวกัน คือ
- ALP
- Alkaline phosphatase
- Alkaline Phos
- ALK PHOS
- ALKP
วัตถุประสงค์การตรวจ ALP
- การตรวจเพื่อให้ทราบค่า ALP ซึ่งเป็นกลุ่มเอนไซม์ที่มีมากในตับและในกระดูก ซึ่งจะช่วยให้ทราบภาวะความผิดปกติของตับและกระดูก โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคเกี่ยวกับท่อน้ำดี ภาวะการขาดวิตามินดี รวมทั้งระดับ ALP ยังอาจนับเป็นสารบ่งชี้มะเร็งที่สำคัญตัวหนึ่งด้วย (ข้อมูลจากเลือดที่ไวที่สุดต่อการหยั่งรู้การกระจายตัวของมะเร็ง (Tumor metastasis) ก็คือค่า ALP)
- เพื่อใช้ร่วมบ่งชี้ตรวจการทำงานของตับจากผลการตรวจเลือดในคราวเดียวกัน
อาการผิดปกติที่ใช้ค่า ALP ช่วยบ่งชี้
อาการผิดปกติของตับหรือกระดูกที่สามารถใช้ค่า ALP ช่วยบ่งชี้ได้ว่าจริงหรือไม่
- สัญญาณเตือนหรืออาการผิดปกติเกี่ยวกับสุขภาพตับ ได้แก่ เหนื่อยอ่อนผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ, มีอาการคลื่นไส้และอยากอาเจียน, อาหารที่กินดูเหมือนไร้รสชาติ, มีอาการบวมที่ช่องท้องด้านบน, มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง, ปัสสาวะมีสีเข้มคล้ายสีน้ำตาลหรือดำ, อุจจาระมีสีคล้ำผิดปกติ
- สัญญาณเตือนหรืออาการผิดปกติเกี่ยวกับสุขภาพกระดูก ได้แก่ อาการปวดกระดูกหรือปวดข้อ, อุบัติการณ์กระดูกหักหรือร้าวบ่อยครั้ง, กระดูกในบางอวัยวะแสดงอาการผิดรูป
ค่าปกติของ ALP
ค่าปกติของ ALP ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
- ค่าปกติของ ALP ในผู้ใหญ่ คือ 30 – 120 U/L
- ค่าปกติของ ALP ในเด็ก คือ 30 – 300 U/L
ค่า ALP ที่ต่ำกว่าปกติ
ค่า ALP ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- อาจเกิดจากการขาดสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีน หรือเกิดจากการกินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ หรือแพ้สารอาหารบางชนิด เช่น แพ้สาร Gluten ในเมล็ดข้าว
- ร่างกายอาจกำลังขาดธาตุแมกนีเซียม
- ร่างกายอาจกำลังขาดวิตามินซีจนเกิดอาการเลือดออกตามไรฟัน (Scurvy) รวมทั้งอาจทำให้สารสร้างฟอสเฟต (Phosphate) ไม่ได้ จึงเป็นผลต่อเนื่องทำให้ส้ราง ALP ไม่ได้
- ร่างกายอาจมีสารฟอสเฟต (Phosphate) ไม่พอที่จะใช้ผลิต ALP ซึ่งในสภาวะนี้มีศัพท์เรียกเป็นการเฉพาะว่า “Hypophosphatemia”
- อาจเกิดจากโรคโลหิตจางชนิดร้ายแรง (Permicious anemia)
- อาจเกิดจากโรควิลสัน (Wilson’s disease) ซึ่งเป็นโรคทางกรรมพันธุ์
ค่า ALP ที่สูงกว่าปกติ
ค่า ALP ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- อาจกำลังเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction)
- อาจเกิดจากภาวะลำไส้ขาดเลือดเฉพาะที่ (Intestinal ischemia) หรือขาดเลือดจนเนื้อเยื่อลำไส้ตาย (Intestinal infarction)
- อาจเกิดโรคตับอักเสบ (Hepatitis) จึงทำให้ ALP มีค่าสูงขึ้นผิดปกติ
- อาจเกิดโรคสำคัญขึ้นที่ตับ เช่น โรคตับแข็งในระยะแรก (Primary cirrhosis) โรคมะเร็งตับระยะเริ่มต้นหรือในระยะแพร่กระจาย หรือโรคมะเร็งตับที่แพร่กระจายมาจากอวัยอื่น ๆ
- อาจเกิดจากภาวะการอุดตันของท่อน้ำดีภายในตับหรือภายนอกตับ (Intrahepatic or Extrahepatic biliary obstruction) เช่น นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones)
- อาจกำลังเกิดโรคไขข้ออักเสบ (Rheumatoid arthritis)
- อาจเกิดโรคกระดูกงอกผิดรูป (Paget’s diseae)
- อาจเกิดโรคกระดูกน่วม (Osteomalacia) เนื่องจากร่างกายขาดวิตามินดี
- อาจเกิดโรคกระดูกอ่อน (Rickets) ซึ่งมีสาเหตุมากจากร่างกายขาดทั้งวิตามินดี แคลเซียม และฟอสฟอรัส
- อาจกำลังอยู่ในระหว่างการรักษากระดูกที่หักให้เชื่อมติดกัน
- อาจเกิดโรคมะเร็งกระดูก (Bone tumor) หรือโรคมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่สู่กระดูก (Metastatic tumor to bone)
- อาจเกิดจากต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (Hyperparathyroidism) จึงทำให้มีแคลเซียมมาพอกกระดูกจนหนาผิดปกติ
- อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจวาย, โรคเบาหวาน, โรคปอดอุดตันหรือปอดขาดเลือด (Pulmonary infarction), โรคไขมันพอกภายในหรือภายนอกตับ, โรคมะเร็งตับอ่อน, โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว, โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง, โรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis), ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด, งูสวัด, มีพยาธิ, การติดเชื้อไวรัส (เช่น ไวรัสตับอักเสบ ไวรัสซีเอมวี ไวรัสโมโนนิวคลีโอซีส), การรับประทานอาหารมัน ๆ, การได้รับสารพิษจากโลหะหนักหรือยาฆ่าแมลง ฯลฯ
- ยาบางชนิดอาจมีผลทำให้ค่า ALP สูงหรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็นได้ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้อักเสบ ยาคลายเครียด ยาคลายกังวล ยาแก้ชัก ยาคุมกำเนิด ยาเพิ่มฮอร์โมน ฯลฯ
- ในผู้ที่มีหมู่เลือด B หรือ O มักจะมีค่า ALP ที่สูงกว่าคนปกติได้เล็กน้อย
- สำหรับหญิงตั้งครรภ์อาจอยู่ในระยะตั้งครรภ์ตามปกติตั้งแต่อายุครรภ์ 3 เดือนขึ้นไป ค่า ALP ก็อาจสูงขึ้นได้เช่นกัน เพราะรกก็มีส่วนในการสร้าง ALP ด้วย
ข้อควรรู้และคำแนะนำก่อนการตรวจ ALP
- การตรวจ ALP สามารถตรวจได้ง่ายจากการตรวจเลือด (ใช้เลือดในปริมาณ 4-6 มิลลิลิตร ใส่หลอดเก็บเลือดที่มีสารกันเลือดแข็งชนิด Lithium heparin)
- ต้องงดอาหารและน้ำดื่ม (ยกเว้นน้ำเปล่า) ก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
- ในผู้หญิงวัยทองและเด็กจะมีค่า ALP สูงกว่าคนทั่วไปหรือผู้ใหญ่
- ยารักษาโรคบางตัวอาจมีผลทำให้ค่า ALP ที่ตรวจได้มีค่าสูงหรือต่ำผิดไปจากความเป็นจริงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาว่าควรต้องงดหรือไม่เพียงใดก่อนการเจาะเลือดตรวจค่า ALP โดยตัวอย่างยาที่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่า ALP คือ ยาปฏิชีวนะ, ยาแก้อักเสบ, ยารักษาโรคเบาหวาน, ยาคุมกำเนิด, ยาแอสไพริน, ยาฮอร์โมน Cortisone, ยาฮอร์โมนเพศชาย, ยากล่อมประสาท (Tranquilizers), ยาคลายกังวล เป็นต้น
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)