การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ (AFP : Alpha-Fetoprotien)

การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ

AFP หรือ Alpha-Fetoprotien (แอลฟา-ฟีโตโปรตีน)* คือ โปรตีนตัวแรกที่ผลิตขึ้นมาจากต้บของทารกที่ยังอยู่ในครรภ์ ซึ่งเดิมที AFP เคยใช้ตรวจเลือดจากหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ เพื่อใช้ช่วยบ่งชี้สุขภาพของทารกภายในครรภ์ แต่ต่อมาได้มีการพบว่า AFP อาจมีค่าสูงขึ้นได้ ทั้งผู้หญิงที่มิได้ตั้งครรภ์ รวมทั้งในผู้ชายที่เกิดมะเร็งขึ้นที่ตับ ลูกอัณฑะ หรือที่รังไข่

AFP จึงถูกนับเป็นสัญญาณบ่งชี้มะเร็งที่ได้รับความเชื่อถือกันมานานอย่างกว้างขวาง โดยปกติมักจะถูกใช้ในฐานะเป็นค่าผลเลือดตัวแรก ๆ เพื่อบ่งชี้สภาวะของโรคมะเร็งตับ เนื่องจากค่า AFP ที่สูงมากประมาณ 90% จะเป็นมะเร็งตับ ส่วนที่เหลืออีก 10% จะเป็นมะเร็งที่อวัยวะอื่น ๆ

หมายเหตุ : Alpha-Feroprotien มาจากคำว่า Alpha (ชนิดแรก), Fetus (ทารกในครรภ์), Protien (โปรตีน) โดยรวมแล้วจึงแปลว่า “โปรตีนตัวแรกที่ผลิตขึ้นมาจากต้บของทารกที่ยังอยู่ในครรภ์

เกี่ยวกับการตรวจ AFP

  • AFP เป็นสารชีวเคมีที่มีโปรตีนเป็นองค์ประกอบหลัก โดยเป็นสารที่ผลิตขึ้นจากเซลล์ตับที่ยังโตไม่เต็มวัย (Immature liver cells) ที่หลุดออกมาสู่เลือด จึงอาจพบว่า
    • ทารกในครรภ์ที่ยังไม่คลอดจะมีค่า AFP ค่อนข้างสูง โดยสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 6 เป็นต้นไป จนมีระดับสูงสุดในเลือดที่อายุครรภ์ประมาณ 13 สัปดาห์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นภาวะปกติ แต่หลังจากนั้นค่า AFP จะมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อใกล้คลอด เมื่อคลอดแล้ว AFP ของทารกก็จะค่อย ๆ ลดลงตามลำดับจนมีระดับเท่าระดับปกติของผู้ใหญ่ภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอด
    • สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ระดับ AFP ในเลือดจะสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 7 สัปดาห์ และจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนสูงสุดเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 28-32 สัปดาห์ ซึ่งจะตรงข้ามกับระดับ AFP ของทารกที่จะเริ่มลดลง
    • ทารกในครรภ์ที่มีความผิดปกติในพัฒนาการของสมอง (Neural tube defect) จะตรวจพบ AFP ในเลือดของมารดาและในน้ำคร่ำสูงกว่าหญิงตั้งครรภ์ปกติที่มีอายุครรภ์เท่ากันประมาณ 2-3.5 เท่า !
    • บุคคลทั่วไปที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่และมีสุขภาพดีมักมีค่า AFP ในเลือดไม่เกิน 10 ng/mL (ค่าปกติของ AFP ในเลือดทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ คือไม่เกิน 20 ng/mL)
  • หากตรวจเลือด (ในวัยผู้ใหญ่) แล้วพบค่า AFP ที่สูงมาก (อาจเกินกว่า 500 ng/mL) ในทางทฤษฎีแพทย์จะสันนิษฐานไว้ก่อนว่า “อาจเกิดสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง” ใน 3 กรณี คือ
    • อาจเกิดโรคมะเร็งของเซลล์ตับ (HCC : Hepatocellular carcinoma) คือ เซลล์มะเร็งได้เกิดขึ้นที่เนื้อเยื่อของตับเอง มิใช่มะเร็งที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น ๆ
    • อาจเกิดโรคมะเร็งตับที่มีสาเหตุมาจากการกระจายตัวของมะเร็งโดยอวัยวะอื่น (Metastatic cancer in the liver)
    • อาจเกิดมะเร็งของเซลล์สืบพันธุ์ (Germ cell tumor) ขึ้นที่ลูกอัณฑะในผู้ชายหรือรังไข่ของผู้หญิง
  • ค่า AFP ที่สูงมากส่วนใหญ่มักพบว่าเป็นมะเร็งตับประมาณ 90% (ค่าที่ใช้วินิจฉัยมะเร็งตับคือ > 200 ng/mL) ส่วนที่เหลือจะเป็นมะเร็งที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น มะเร็งอัณฑะ มะเร็งรังไข่ มะเร็งปอด มะเร็งของทางเดินอาหาร มะเร็งเต้า ด้วยเหตุนี้ค่า AFP จึงเป็นสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) ที่ได้รับการยอมรับให้นำมาใช้ในการตรวจหามะเร็งตับในกลุ่มเสี่ยง (High-risk population) ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรัง (Chronic hepatitis), ผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B carrier), ผู้ป่วยโรคตับแข็ง (Cirrhosis) เป็นต้น โดยแนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 3-6 เดือน และ/หรือร่วมกับการตรวจอัลตราซาวด์ของตับด้วย
  • ระดับ AFP ที่ตรวจตรวจพบมักมีความสัมพันธ์กับระยะของโรคมะเร็งด้วย โดยมะเร็งในระยะแรก ๆ มักพบค่า AFP ที่สูงขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่จะพบสูงมากขึ้นเป็นในลำดับในมะเร็งระยะท้าย ๆ นอกจากนั้นยังอาจพบค่า AFP สูงขึ้นได้ในผู้ป่วยโรคตับอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มะเร็งด้วย แต่ระดับมักจะไม่สูงมากนัก เช่น โรคตับแข็ง ตับอักเสบ
  • อย่างไรก็ตาม AFP ในฐานะสัญญาณของมะเร็งก็เป็นสารบ่งชี้มะเร็งที่มีความไว (Sensitivity) ในความถูกต้องเพียงระดับปานกลางหรือประมาณ 60% เท่านั้น นั่นหมายความว่า
    • ผู้ที่มีค่า AFP สูงผิดปกติจำนวน 100 คน เมื่อตรวจด้วยเครื่องมืออื่นที่แม่นยำกว่า อาจพบว่าเป็นมะเร็งตับจริง ๆ เพียงประมาณ 60 คน ส่วนอีก 40 คน แม้จะมีค่า AFP สูงผิดปกติ ก็อาจจะมิได้เป็นโรคมะเร็งจริง ๆ ก็ได้ หรือ
    • ผู้ที่มีค่า AFP อยู่ในเกณฑ์ปกติจำนวน 100 คน หากตรวจด้วยเครื่องมืออื่นที่แม่นยำกว่า อาจพบว่า มิได้เป็นมะเร็งตับเพียง 60 คน ส่วน 40 คน แม้จะมีค่า AFP อยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็อาจกำลังเป็นมะเร็งตับอยู่ก็ได้
  • กลุ่มที่น่าเป็นห่วงและไม่ควรวางใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ “กลุ่มที่ตรวจแล้วมีค่า AFP สูงผิดปกติ แต่เมื่อได้ตรวจด้วยเครื่องมืออื่นที่แม่นยำกว่าแล้วได้ผลออกมาว่า มิได้เป็นมะเร็งตับ” ในกรณีอย่างนี้แพทย์ผู้ตรวจมักจะไม่ประมาท เพราะโรคตับที่ร้ายแรงบางโรค เช่น โรคตับแข็ง (Cirrhosis) ก็อาจทำให้ค่า AFP ในเลือดเพิ่มระดับสูงขึ้นผิดปกติได้เช่นกัน เพียงแต่เซลล์เนื้อเยื่อของตับเท่านั้นที่มันยังมิได้กลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็ง จึงทำให้ตรวจไม่พบว่าเป็นมะเร็งตับ (เซลล์ตับของโรคตับแข็งนั้นมีแต่จะทรุดหนักลงไปทุกวัน ๆ จนอาจกลายเป็นเซลล์มะเร็งของโรคมะเร็งตับได้ ไม่ช้าก็เร็ว)
  • เพื่อแก้ปัญหาจุดอ่อนจากการใช้ค่า AFP ที่มีความไวต่ำ ซึ่งทำให้เกิดข้อบกพร่อง ในการวินิจฉัยโรคมะเร็งตับในระยะเริ่มต้นดังกล่าว แพทย์จะมีการตรวจเลือดตัวอื่นควบคู่ไปกับการตรวจ AFP ด้วยเพื่อช่วยกันบ่งชี้โรคมะเร็งตับให้มีความไวและความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งการตรวจอื่นที่ว่านี้ได้แก่
    1. Des-gamma-carboxyprothrombin (DCP) DCP เป็นสารบ่งชี้โรคมะเร็งตับชนิด HCC สามารถใช้บ่งชี้การเกิดขึ้นของโรคมะเร็งตับชนิด HCC ได้ โดยมีความไวถึง 91% (นั่นแปลว่า ถ้าผู้เป็นมะเร็งตับชนิด HCC มีจำนวน 100 คน DCP จะตรวจจับไม่พบเพียง 9 คน แต่ลืมว่า ณ ขณะนั้น กลุ่มมะเร็งตับยังเล็กมาก การตรวจอื่น ๆ จึงอาจยังไม่พบร่องรอยใด ๆ ก็ได้) นอกจากนี้ DCP ยังสามารถใช้จำแนกความแตกต่างระหว่างโรคมะเร็งตับชนิด HCC กับโรคตับอื่นที่มิใช่มะเร็งได้อีกด้วย (โปรดยาอย่าลืมว่าค่า AFP ที่สูงผิดปกตินั้นก็อาจบ่งชี้ไม่ได้ หรือบางครั้งค่า AFP ก็แยกไม่ออกว่าเป็นโรคมะเร็งตับหรือโรคตับ)
    2. Gamma-glutamyl transferase (GGT) ค่า GGT ที่สูงกว่าปกติมาก ๆ ย่อมบ่งชี้โรคสำคัญที่เกี่ยวกับตับเสมอ เช่น โรคตับอักเสบ (Hepatitis) โรคตับแข็ง (Cirrhosis) หรือโรคมะเร็งตับ นั่นแปลว่า ในกรณีที่ตรวจเลือดหาค่า GGT ไปพร้อม ๆ กับค่า AFP แล้ว แต่ค่า AFP ไม่สำแดงค่าตับผิดปกติ แต่พบ GGT สูงกว่าปกติ ก็ย่อมอาจใช้บ่งชี้ความผิดปกติของตับได้ ทำให้การกรองโรคมะเร็งตับมีความถี่ถ้วนรอบคอบมากยิ่งกว่าการตรวจ AFP เพียงตัวเดียว (ค่าปกติของ GGT ในเลือดในผู้ชาย คือ 0-65 U/L ส่วนผู้หญิงคือ 0-45 U/L)

ความมุ่งหมายของการตรวจ AFP

  • เพื่อใช้ผลตรวจเลือดช่วยยืนยันให้แน่ชัด ภายหลังการตรวจพบด้วยสายตาหรือการคลำ ซึ่งแพทย์สงสัยว่าอาจมีก้อนเนื้อมะเร็งที่ตับ (Liver) หรือมะเร็งที่อัณฑะ (Testicles) หรือมะเร็งที่รังไข่ (Ovaries)
  • ใช้ติดตามเฝ้าระวังโรคตับเรื้อรังที่รู้ว่าเป็นอยู่ก่อนแล้วว่าได้กำเริบขึ้นมาหรือไม่ เพียงใด
  • ใช้ติดตามผลการรักษาที่กระทำมาแล้วทุกอวัยวะ เช่น มะเร็งตับ มะเร็งที่ลูกอัณฑะ หรือมะเร็งที่รังไข่
  • ใช้เฝ้าระวังโรคมะเร็งที่เคยเป็นและได้รับการรักษาจนถือหายไปแล้ว
  • ใช้คัดกรองโรคมะเร็งสำหรับบุคคลทั่วไปในการตรวจสุขภาพตามช่วงระยะเวลา เพื่อความมั่นใจในความปลอดโรคของผู้เข้ารับการตรวจ (โดยปกติแล้วในคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องตรวจหาให้เป็นกังวล เพราะการตรวจนี้มีความไวและความจำเพาะในการวินิจฉัยต่ำ)
  • ใช้คัดกรองความพิการของทารกในครรภ์ ซึ่งจะเริ่มตรวจพบความผิดปกติได้เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 15 สัปดาห์ เช่น Neural tube defect, Down’s syndrome, Chromosome abnormality (เช่น Trisomy 18) ฯลฯ โยแนะนำให้ตรวจคัดกรองในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุเกิน 35 ปี, แม่ที่คลอดลูกพิการแต่กำเนิดมาก่อน, แม่ที่เป็นเบาหวาน หรือมีการใช้ยาที่สงสัยว่าจะเป็นอันตรายกับเด็ก ซึ่งช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการเจาะเลือดตรวจ AFP คือช่วงการตั้งครรภ์ 14-22 สัปดาห์ แต่ค่าจะแม่นยำในช่วง 16-18 สัปดาห์ ดังนั้นประวัติประจำเดือนจึงต้องถูกต้อง เพราะในแต่ละช่วงของการตั้งครรภ์จะมีค่า AFP ที่ไม่เท่ากัน และหากพบค่าปกติจะต้องตรวจด้วยวิธีอื่นเพื่อยันยันการวินิจฉัยต่อไป
  • ใช้วินิจฉัยภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด เพราะผู้ที่มีภาวะน้ำเดินก่อนกำหนดจะตรวจพบค่า AFP ในน้ำหลั่งจากช่องคลอด

ค่าปกติของ AFP

ค่าปกติของ AFP ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ

  • ค่าปกติของ AFP ในผู้ชายและผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ คือ 0 – 20 ng/mL
  • ค่าปกติของ AFP ในผู้หญิงตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ 15-22 สัปดาห์) คือ 7 – 127 ng/mL

หมายเหตุ : ng = nanogram (1 ใน พันล้านของกรัม), mL = milliliter (1 ใน พันของลิตร)

ผลการตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ
IMAGE SOURCE : www.manager.co.th

ค่า AFP ในทางต่ำ

หากตรวจพบค่า AFP ในเลือดในทางต่ำ อาจแสดงผลในด้านสุขภาพได้ว่า

  • อาจถือว่าปกติ เพราะคนส่วนใหญ่จะตรวจไม่พบหรือตรวจพบได้ค่าที่ต่ำ
  • อาจอยู่ในกลุ่มผู้มีสภาวะของโรคมะเร็งตับ (หรือมะเร็งอื่น) แล้วก็ได้ เพียงแต่ค่า AFP ที่ตรวจได้ไม่สำแดงค่าสูงขึ้นให้เห็นความผิดปกติ จึงอาจทำให้ประมาทและนึกไม่ว่าไม่มีโรค เนื่องจาก AFP เป็นสารบ่งชี้มะเร็งที่มีความไวต่ำเพียงประมาณ 60% ฉะนั้น กลุ่มบุคคล 40% ที่พบว่ามีค่า AFP ปกติ จึงควรและจำเป็นต้องตรวจซ้ำด้วยวิธีอื่นหรือเครื่องมืออื่น

ค่า AFP ที่สูงกว่าปกติ

หากตรวจพบค่า AFP ในเลือดสูงกว่าปกติ อาจแสดงผลในด้านสุขภาพได้ว่า

  • อาจกำลังเกิดโรคมะเร็งขึ้นที่ตับ (โดยเฉพาะมะเร็งตับชนิด HCC) อัณฑะ (ผู้ชาย) หรือที่รังไข่ (ผู้หญิง) แต่ก็อาจเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่น ๆ ก็ได้ เช่น มะเร็งปอดระยะที่แพร่กระจายแล้ว มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งตับอ่อน มะเร็งเต้า มะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่ถึงอย่างไร ก็ไม่เด่นชัดเท่ากับ 3 อวัยวะดังกล่าว
  • อาจกำลังเกิดโรคร้ายแรงอื่นขึ้นที่ตับ ซึ่งอาจนำไปสู่โรคมะเร็งตับในภายได้ เช่น โรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง
  • อาจกำลังอยู่ในสภาวะติดแอลกอฮอล์ในลักษณะยาเสพติด (Alcohol abuse)
  • สำหรับหญิงตั้งครรภ์อาจมีโรคแทรกซ้อนหรือมีความผิดปกติของทารกเกิดขึ้นเกิด

หากกล่าวโดยสรุปแล้ว ในกลุ่มเสี่ยงที่ตรวจพบค่า AFP ไม่ว่าจะต่ำหรือสูงผิดปกติประการใดก็ตาม ก็สมควรได้รับการตรวจด้วยวิธีอื่นเพื่อความมั่นใจในทุกกรณี ส่วนในคนปกติทั่วไปหากตรวจพบ AFP มีค่าสูงก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นมะเร็งเสมอไป หรือถ้าตรวจแล้ว AFP มีค่าปกติ ก็ไม่ได้บอกว่าไม่ใช่มะเร็ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการแสดง

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือฉลาดตรวจสุขภาพ ฉบับรู้ทันโรคถอย เล่ม 2. “การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ (AFP)”. (พอ.ประสาร เปรมะสกุล). หน้า 57-63.
  2. ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “สารบ่งชี้มะเร็ง (tumor marker) ที่ควรรู้จัก”.  (ผศ.พญ.ศันสนีย์  เสนะวงษ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [21 พ.ค. 2018].
  3. Siamhealth.  “การตรวจมะเร็งตับ Alpha-Fetoprotein (AFP)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [22 พ.ค. 2018].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด