การตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะ (Urine protein test) คืออะไร ?

การตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะ (Urine protein test) คืออะไร ?

การตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะ

การตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะ (ภาษาอังกฤษ : Urine protein test) คือ การตรวจหาโมเลกุลของโปรตีนที่รั่วออกมาในปัสสาวะ* ซึ่งโดยปกติจะต้องตรวจไม่พบในปัสสาวะ หากเมื่อไหร่ที่ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะก็จะเป็นตัวบอกให้แพทย์ทราบว่า ไตเริ่มมีปัญหาในการทำงาน ซึ่งอาจเกิดจากโรคไตเองหรือจากโรคของอวัยวะอื่น ๆ ที่ส่งผลมาถึงไต เพราะไตปกติจะกรองโปรตีนกลับคืนเข้าสู่ร่างกาย ไม่ปล่อยออกมาในปัสสาวะมากในปริมาณจนตรวจพบได้

หมายเหตุ : โปรตีนส่วนใหญ่จะเป็นชนิดอัลบูมิน (Albumin) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดเดียวกับในไข่ขาว ดังนั้นหากตรวจพบโปรตีนก็หมายถึงตรวจพบอัลบูมินนั่นเอง

วิธีการตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะ

การตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะที่ให้ผลแน่นอนเป็นที่ยอมรับและถือเป็นมาตรฐาน คือ การตรวจวิเคราะห์โปรตีนในปัสสาวะ 24 ชั่วโมง (24-hour urine protein test) ซึ่งจะช่วยให้มีโอกาสตรวจพบโปรตีนชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อัลบูมินได้มากขึ้นด้วย แต่ก็เป็นวิธีที่มีความยุ่งยากและสิ้นเปลืองเวลามาก เพราะต้องเก็บปัสสาวะอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง

ส่วนการตรวจอีกวิธีซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและให้ผลรวดเร็ว คือ การตรวจโดยใช้แผ่นทดสอบสำเร็จรูป (Urine dipstick for protein) โดยในแผ่นทดสอบสำเร็จรูปนี้จะมีสารเคมีเคลือบอยู่ ซึ่งจะมีความไวต่อการตรวจพบโปรตีนชนิดอัลบูมินมากที่สุด (ถ้ามีโปรตีนแถบทดสอบจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีเหลืองอมเขียวหรือสีเขียวจนถึงสีน้ำเงิน) อย่างไรก็ตาม การตรวจโดยใช้แผ่นทดสอบนี้ก็มีปัจจัยที่อาจทำให้เกิดผลบวกปลอมและผลลบปลอมได้หลายประการ เช่น ในกรณีที่ปัสสาวะมีความเข้มข้นสูง ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นด่าง

การตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะ
IMAGE SOURCE : aandes.blogspot.com

ส่วนการรายงานผลจะรายงานเป็น Negative (0 mg/dL), Trace (15-30 mg/dL), 1+ (30-100 mg/dL), 2+ (100-300 mg/dL), 3+ (300-1,000 mg/dL) และ 4+ (มากกว่า 1,000 mg/dL) ซึ่งหมายถึง ตรวจไม่พบโปรตีน พบในปริมาณน้อย ๆ ไปจนถึงปริมาณมากตามลำดับ

ภาวะปกติ (ตรวจไม่พบโปรตีนในปัสสาวะ)

โดยปกติแล้วมักตรวจไม่พบโปรตีนในปัสสาวะ (Negative) หรือตรวจพบได้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย หรืออาจตรวจพบได้ชั่วคราวในบางภาวะ เช่น

  • มีความเครียดสูง (Stress)
  • มีไข้สูง (Fever)
  • อยู่ในภาวะที่อากาศหนาวจัดหรือร้อนจัด
  • การออกกำลังกายอย่างหักโหม (Exercise)
  • การยืนนาน ๆ (Orthostatic proteinuria หรือ Postural proteinuria)
  • การได้รับยาแอสไพริน (Aspirin)
  • การเก็บปัสสาวะในขณะที่มีการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายหรือในขณะที่มีประจำเดือนของผู้หญิง

การตรวจปัสสาวะเมื่อภาวะเหล่านี้หมดไปแล้ว เช่น ไม่เครียดแล้ว หายไข้แล้ว พักการออกกำลังกาย แล้วไม่พบโปรตีนอีกก็แสดงว่าโปรตีนในปัสสาวะที่พบนั้นเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว (Transient proteinuria) แต่หากยังคงพบโปรตีนในปัสสาวะซ้ำอีก ก็บ่งชี้ถึงภาวะที่มีโปรตีนในปัสสาวะแบบต่อเนื่อง (Persistent proteinuria) ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อยืนยัน เช่น การตรวจวิเคราะห์โปรตีนในปัสสาวะ 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นการเก็บปัสสาวะอย่างต่อเนื่องที่สามารถให้ผลชัดเจนกว่าการตรวจปัสสาวะเพียงครั้งเดียว และยังช่วยให้มีโอกาสตรวจพบโปรตีนชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อัลบูมินได้มากขึ้นอีกด้วย

ภาวะผิดปกติ (ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ)

ภาวะมีโปรตีนในปัสสาวะ (Proteinuria) ที่มีสาเหตุมาจากไตถูกทำลายที่ถือว่าเป็นอันตรายนั้น ส่วนใหญ่มักเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ

  • โรคเบาหวานลงไต (Diabetes nephropathy)
  • โรคความดันโลหิตสูง (Hypertensive nephrosclerosis)

ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น

  • โรคไตอักเสบ
  • โรคไตเรื้อรัง (Chronic kidney disease)
  • ภาวะหน่วยไตอักเสบ (Glomerulonephritis)
  • กลุ่มอาการเนฟโฟรติก (Nephrotic syndrome)
  • กลุ่มอาการความผิดปกติของการดูดซึมกลับของท่อหน่วยไตส่วนต้น (Fanconi syndrome)
  • โรคไตจากภาวะ IgA สะสม (IgA Nephropathy)
  • โรคไตอักเสบลูปัส (Lupus nephritis)
  • โรคอะมีลอยโดซิส (Amyloidosis)
  • โรคโปรตีน Light chain สะสม (Light chain deposition disease) ซึ่งมักมีความสัมพันธ์กับมะเร็งชนิดมัลติเพิลมัยอีโลมา (Multiple myeloma)
  • ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
  • การติดเชื้อแบคทีเรียที่หัวใจ (Bacterial endocarditis)
  • โรคมะเร็งบางชนิด (เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว)
  • การตั้งครรภ์ระยะท้าย ๆ
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ซึ่งจะมีอาการความดันโลหิตสูงพร้อม ๆ กับมีปริมาณโปรตีนรั่วสู่น้ำปัสสาวะจำนวนหนึ่ง
  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • ท่อปัสสาวะอักเสบ
  • โรคกรวยไตอักเสบ (Glomerulonephritis)
  • โรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคเอสแอลอี (SLE)
  • โรคไข้จับสั่นหรือมาลาเรีย
  • การได้รับสารพิษจากโลหะหนักบางชนิด เช่น สารตะกั่ว ปรอท แคดเมียม
  • ผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาต้านการอักเสบในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)
  • การได้รับสารเสพติดบางชนิด เช่น เฮโรอีน ฝิ่น

หากท่านสงสัยว่ามีภาวะเหล่านี้เกิดจึ้น ควรเข้ารับการตรวจยืนยันกับแพทย์เฉพาะทาง รวมถึงทำการรักษาในโรคหรือภาวะที่จำเป็นต้องทำการรักษาต่อไป

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด