การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก : แป๊ปสเมียร์ (Pap Smear, Pap test)

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกการตรวจคัดกรองเซลล์มะเร็งปากมดลูกการตรวจหามะเร็งปากมดลูก, การตรวจมะเร็งปากมดลูก หรือการตรวจแป๊ปสเมียร์ (Pap Smear, Pap test หรือ Papanicolaou test)* คือ วิธีการตรวจหาความผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือเป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะที่ยังไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยที่สูตินรีแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดผ่านและถ่างขยายช่องคลอด จากนั้นจะทำการป้ายเซลล์จากมดลูกส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูว่าได้เกิดเซลล์มะเร็งขึ้นที่ปากมดลูกหรือไม่ หรือว่าได้ตรวจพบเซลล์ผิดปกติชนิดอื่นที่มีแนวโน้มว่าหากละเลยปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยผ่านไปอีกไม่นานอาจจะพัฒนาต่อไปจนก่อให้เกิดมะเร็งที่ปากมดลูกได้ในภายหลัง

แป๊ปสเมียร์เป็นวิธีหนึ่งในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่มักทำร่วมกับไปการตรวจภายใน (Pelvic exam) แต่จัดเป็นวิธีที่มีผู้นิยมตรวจกันมากที่สุด เพราะเป็นการตรวจที่ให้ผลที่มีความน่าเชื่อถือสูงและมีประสิทธิภาพที่ดีอย่างหนึ่งในการตรวจหามะเร็ง ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ที่ใช้คำว่า “แป๊ปสเมียร์” ในความหมายของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอยู่เป็นประจำ

มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่พบได้มากเป็นอันดับที่ 2 ในสตรีไทยรองจากมะเร็งเต้านม ในแต่ละปีจะมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเกิดขึ้นใหม่ประมาณ 10,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก ประมาณ 5,200 คน (ถ้าคิดเฉลี่ยเป็นวันแล้วจะตรวจพบในสตรีไทยวันละ 27 คน และมีผู้เสียชีวิตวันละ 14 คน) ซึ่งมาตรการหนึ่งที่ช่วยในการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่นอกเหนือจากการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้นั่นก็คือ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear) อย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ เพราะหากตรวจพบและบ่งชี้ในระยะเริ่มต้นได้เร็วเท่าใด ก็ย่อมสามารถเลือกวิธีการรักษาที่ให้ผลหายขาดได้มากขึ้นเท่านั้น

หมายเหตุ : Pap (แป๊ป) มาจากคำว่า “Papanicolaou” ซึ่งเป็นชื่อสกุลของนายแพทย์จอร์จ นิโคลาส พาพานิโคเลา (Gorge Nikolas Papanicolaou) ซึ่งเป็นผู้คิดค้นวิธีการเช็ดเอาของเหลวจากมดปากมดลูกไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง

วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่นิยมในปัจจุบันมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่

  1. การตรวจแป๊ปสเมียร์แบบสามัญ (Conventional Pap Smear) เป็นการใช้ไม้ป้ายเซลล์ตัวอย่างจากปากมดลูกลงบนแผ่นกระจกโดยตรง มีความสามารถในการตรวจพบความผิดปกติที่ปากมดลูกได้ประมาณ 50-60% (ประกันสุขภาพของรัฐบาลครอบคลุมการตรวจนี้)
  2. การตรวจแป๊ปสเมียร์แบบแผ่นบาง (Thin layer) เป็นการเก็บเซลล์เยื่อบุปากมดลูกที่กวาดได้ทั้งหมดจากเครื่องมือกวาดเซลล์ แล้วนำเซลล์ที่กวาดได้ไปใส่ไว้ในขวดน้ำยารักษาสภาพเซลล์ก่อนแล้วจึงค่อยดูดเซลล์ขึ้นมาย้อมบนแผ่นกระจก โดยมีความสามารถในการตรวจพบความผิดปกติที่ปากมดลูกได้สูงกว่าแบบสามัญคือประมาณ 70-80% แต่ถ้ามีการตรวจหาเชื้อเอชพีวี (HPV) ด้วย พบว่าการตรวจแบบแผ่นบางนี้จะมีความสามารถในการตรวจหาความผิดปกติที่ปากมดลูกได้สูงเกือบ 100% (การตรวจแบบแผ่นบางจะมีค่าใช้จ่ายแพงกว่าแบบสามัญประมาณ 10 เท่า และไม่ครอบคลุมในการใช้สิทธิประกันสุขภาพของรัฐบาล)

นอกจากนี้ ในบางสถานพยาบาลอาจมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุผิวปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชู (Visual inspection with acetic acid : VIA) แต่ยังเป็นวิธีไม่ค่อยนิยมตรวจกันเท่าไหร่นักในปัจจุบัน

ข้อบ่งชี้ในการตรวจ Pap Smaer

ลักษณะเฉพาะส่วนตัวของสตรีบางกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจ Pap Smear ตามช่วงเวลาเพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ได้แก่

  • สตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดกับบุรุษ (ไม่ว่าจะอายุน้อยเท่าใด) นับระยะเวลาจากครั้งนั้นได้ผ่านมาแล้ว 3 ปี จำเป็นต้องเริ่มรับการตรวจ Pap Smear ครั้งแรก
  • สตรีที่มีอายุครบ 21 ปี ทั้งโสด (ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์) มีสามี หรือมีคู่นอน จำเป็นต้องเริ่มรับการตรวจ Pap Smear เป็นครั้งแรก
  • สตรีที่มีอายุ 21-29 ปี ควรได้รับการตรวจ Pap Smear ทุก 3 ปี ถ้าผลตรวจล่าสุดออกมาเป็นปกติ (Negative)
  • สตรีที่มีอายุ 30-65 ปี ควรได้รับการตรวจ Pap Smear ร่วมกับการตรวจหาเชื้อเอชพีวี (HPV) ทุก 5 ปี ถ้าผลการตรวจออกมาเป็นปกติ (Negative) เพราะโอกาสที่ท่านจะเป็นมะเร็งใน 3-5 ปีถัดไปนั้นจะมีน้อยมาก ดังนั้นจึงสามารถเว้นการตรวจได้นาน 3-5 ปี (แต่ถ้าเลือกตรวจ Pap Smear เพียงอย่างเดียวให้ตรวจทุก 3 ปี)
  • สตรีที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก เช่น มีการติดเชื้อเอชพีวี (HPV), ติดเชื้อเอชไอวี (HIV), ติดเชื้อหรือมีคู่นอนที่ติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) เช่น ซิฟิลิส โกโนเรีย ฯลฯ, มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น จากการปลูกถ่ายอวัยวะ ได้รับยาเคมีบำบัด เป็นโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ), ได้ใช้ยาฮอร์โมนเพศชนิด Diethylstilbestrol (DES) เพื่อป้องกันการแท้งบุตร หรือมีมารดาใช้ยานี้ในขณะตั้งครรภ์ (พบได้น้อยมากในปัจจุบัน), ตั้งครรภ์และคลอดบุตรในขณะยังติดเชื้อไวรัสชนิด HPV, เป็นผู้ติดบุหรี่, มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย (ก่อน 18 ปี), มีหรือเคยมีคู่นอนหลายคน, คู่นอนมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยและมีแฟนหลายคน, มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือเคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือเสี่ยงต่อมะเร็งปากดลูก อาจต้องได้รับการตรวจบ่อยครั้งขึ้นตามคำแนะนำของแพทย์ โดยแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจ Pap Smaer ปีละ 2 ครั้งในปีแรก หลังจากนั้นอาจเป็นทุก 3 เดือน, 6 เดือน หรือ 1 ปีขึ้นกับผลการตรวจและดุลยพินิจของแพทย์ตราบเท่าที่ยังมีสุขภาพดีอยู่
  • สตรีที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่ได้รับการตรวจ Pap Smear อย่างสม่ำเสมอในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือผลตรวจ 3 ครั้งสุดท้ายต่อเนื่องกัน ได้ผลออกมาเป็นปกติ (Negative) ทุกครั้ง กรณีแบบนี้แพทย์จะแนะนำให้ยุติการตรวจ Pap Smear ไปตลอดชีวิต (สำหรับสตรีที่หยุดการตรวจคัดกรอง ควรได้รับการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันต่อไปด้วย)
  • สตรีที่ได้รับการผ่าตัดปากมดลูกออกไปอย่างสมบูรณ์ในช่วงที่ทำการผ่าตัดเอามดลูกออก (Hysterectomy) เพื่อรักษาโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง เช่น เนื้องอกมดลูก ในกรณีนี้แพทย์อาจให้ยุติการตรวจ Pap Smear ไปตลอดชีวิต (แต่ถ้ายังเหลือปากมดลูกอยู่ก็ต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไปตามปกติเฉกเช่นสตรีทั่วไป)

หากต้องการลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปาดมดลูกก็ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รั้งรอการมีเพศสัมพันธ์ไว้จนกว่าจะอายุครบ 20 ปี และมีเพศสัมพันธ์กับบุรุษผู้ปลอดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD) แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น และยังต้องมั่นใจด้วยว่าบุรุษผู้นั้นก็มิได้แอบไปมีคู่นอนกับสตรีอื่นอีกด้วย (ถ้าไม่มั่นใจก็ต้องสวมถุงยางอนามัยด้วยทุกครั้ง)

คำแนะนำก่อนตรวจ Pap Smear

ก่อนการตรวจ Pap Smear สตรีทุกท่านควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ห้ามสวนล้างภายในช่องคลอดหรือใช้น้ำยาใด ๆ ฉีดลึกและล้างเข้าไปภายในช่องคลอดก่อนการตรวจ Pap Smear ในช่วงระยะเวลา 2 วัน หรือ 48 ชั่วโมง แม้ว่าน้ำยานั้น ๆ จะมีคุณสมบัติเฉพาะเพื่อการล้างช่องคลอดก็ตาม
  • ห้ามอาบน้ำด้วยวิธีการลงไปนอนแช่ในอ่างอาบน้ำก่อนตรวจ 24 ชั่วโมง เนื่องจากแบคทีเรียจากคราบสกปรกของอ่างอาบน้ำอาจหลุดเข้าไปในช่องคลอดได้ ซึ่งอาจทำให้ผลการตรวจ Pap Smear อาจได้จำนวนแบคทีเรียบางชนิดเพิ่มขึ้นผิดไปจากความเป็นจริงได้ (ทั้งชนิดแบคทีเรียและจำนวนตัวของแบคทีเรีย)
  • ห้ามใช้ช่องคลอดเพื่อการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงระยะเวลา 48 ชั่วโมงก่อนการตรวจ Pap Smear เนื่องจากอาจมีตัวอสุจิตกค้างอยู่ และอาจปะปนผสมกับแบคทีเรีย จนทำให้ยุ่งยากต่อการตรวจวิเคราะห์ทางพยาธิวิทยา
  • ห้ามใช้ยาเหน็บช่องคลอดทุกประเภท รวมถึงครีม ยาฆ่าเชื้ออสุจิ และผ้าอนามัยแบบสอด (Tampons) เข้าไปในช่องคลอดก่อนการตรวจ 48 ชั่วโมง
  • ท่านสามารถเข้ารับการตรวจ Pap Smear ได้ตามโรงพยาบาลหรือตามคลินิกที่ให้บริการทางด้านสูตินรีเวชทั่วไป (บางสถานพยาบาลอาจไม่มีการตรวจแป๊ปสเมียร์แบบแผ่นบาง แต่จะมีบริการเฉพาะการตรวจแป๊ปสเมียร์แบบสามัญ ผู้ที่ต้องการเข้ารับการตรวจจึงควรสอบถามให้แน่ใจก่อนตรวจ)
  • ควรนัดตรวจ Pap Smear ในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน โดยวันที่เหมาะสมสำหรับการตรวจ คือ ระหว่างวันที่ 10-20 นับจากวันที่ 1 คือวันเริ่มต้นของการมีประจำเดือน
  • เมื่อถึงวันตรวจ Pap Smear ควรทำความสะอาดภายนอกโดยใช้สบู่ธรรมดาตามปกติ ไม่ต้องใส่น้ำหอมหรือกลิ่นใด ๆ เลือกสวมใส่ชุดที่สะดวกต่อการตรวจ (เช่น การสวมกระโปรงหรือกางเกงหลวม ๆ ที่สามารถถอดออกง่าย เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเปลี่ยนชุดเพื่อตรวจภายใน ไม่ใส่ชุดที่เสื้อกับกางเกงเชื่อมติดกัน เพราะจะทำให้ยากต่อการเปลี่ยนเพื่อทำการตรวจภายใน) และไม่ควรไปเล่นกีฬาหรือไปเดินช้อปปิ้งก่อนการตรวจ

โปรดทราบว่า การตรวจ Pap Smear คือ กรรมวิธีที่จะดึงเอาเซลล์ที่ปากมดลูกซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติออกมาตรวจวิเคราะห์ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ หากไปฉีดล้างด้วยน้ำยาจนปากมดลูกสะอาดหมดจด ก็ย่อมทำให้ผลการตรวจบิดเบือนหรือผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงได้ “จึงขอให้ท่านได้โปรดอย่าอายที่จะพบคุณหมอ หรือเกรงใจคุณหมอ ในกลิ่นธรรมชาติแท้จริงเดิม ๆ ที่เคยมีอยู่เลยครับ”

ขั้นตอนการตรวจ Pap Smear

แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นหน้าที่ของแพทย์ (สูตินรีแพทย์) ก็ตาม แต่เพื่อลดความกังวลใจก่อนตรวจ ก็ขอบอกไว้ตรงนี้เลยครับว่า การตรวจนี้ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างที่คิด เป็นการตรวจทำได้ง่าย และใช้เวลาตรวจไม่มากประมาณ 10-15 นาทีก็เสร็จ แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องผ่อนคลายตนเองเพื่อไม่ให้เกิดอาการเกร็งในขณะตรวจ เพราะจะช่วยให้ไม่เจ็บและช่วยให้แพทย์ทำการตรวจได้ง่ายและไวขึ้น โดยในขั้นตอนการตรวจนั้นจะมีรายละเอียดดังนี้

  1. การตรวจ Pap Smear เป็นการตรวจที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกซึ่งเป็นห้องที่มิดชิดพอสมควร การตรวจจะไม่มีการใช้ยาใด ๆ ก่อนตรวจ เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะตรวจ เจ้าหน้าที่จะแนะนำท่านไปปัสสาวะและเปลี่ยนชุด โดยจะให้ท่านถอดกางเกงชั้นในออกและสวมกระโปงผ้าที่มีลักษณะเหมือนผ้าถุงที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ (แต่หากท่านใส่กระโปรงที่ไม่แคบหรือสั้นมาก ก็อาจถอดเพียงกางเกงชั้นในออกโดยไม่ต้องสวมผ้าถุงของโรงพยาบาลก็ได้ และสามารถขึ้นไปนอนบนเตียงตรวจได้เลย)
  2. เมื่อเปลี่ยนชุดเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่จะเชิญให้ท่านขึ้นไปนอนหงายบนเตียงตรวจอวัยวะภายใน ซึ่งจะมีลักษณะเป็นขาหยั่งรองรับขาทั้งสองข้างเพื่อแยกขาออกจากกัน
  3. เจ้าหน้าที่จะเปิดผ้าถุงและนำผ้ามาคลุมและเปิดช่องไว้ให้เพียงพอในการตรวจ หลังจากนั้นเจ้าหน้าจะเรียกแพทย์มาตรวจ
  4. เมื่อท่านพร้อมแล้ว แพทย์ซึ่งใส่ถุงมือเรียบร้อยจะทำความสะอาดบริเวณดังกล่าวด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วจึงใช้เครื่องมือถ่างขยายช่องคลอด (Speculum) ซึ่งมีลักษณะคล้ายปากเป็ด สอดผ่านและถ่างขยายช่องคลอดเพื่อให้เห็นปากมดลูกได้อย่างชัดเจน ซึ่งในช่วงที่ทำการใส่เครื่องมือเข้าไปในช่องคลอดนี้ ท่านควรแยกเข่าออกจากกันให้กว้างที่สุดในขณะที่พยายามวางก้นลงบนเตียง เพราะจะช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อในช่องคลอดได้ ทำให้ไม่เจ็บ และช่วยให้แพทย์ใส่เครื่องมือได้ง่ายขึ้น (ในบางครั้งแพทย์อาจบอกให้ท่านช่วยเบ่งเล็กน้อยเพื่อให้ใส่เครื่องมือได้ง่ายขึ้น) อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนนี้อาจสร้างความรู้สึกอึดอัดได้เล็กน้อยและอาจทำให้บางรายรู้สึกเจ็บได้เล็กน้อย แต่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลมากครับ เพราะแพทย์จะเลือกขนาดของเครื่องมือให้เหมาะสมกับช่องคลอดของแต่ละคนอยู่แล้ว รวมทั้งในสตรีที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ด้วย

    การตรวจแป๊ปสเมียร์
    IMAGE SOURCE : www.cancer.gov

  5. เมื่อแพทย์ใส่เครื่องมือได้ในตำแหน่งที่เหมาะสม คือเห็นรูเปิดของปากมดลูกแล้ว แพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายไม้ไอศกรีมแต่มีขนาดเล็กกว่ามาก หรือใช้แปรงเล็ก ๆ ป้ายเอาเซลล์บริเวณปากมดลูก (ถ้าเป็นการตรวจแป๊ปสเมียร์แบบสามัญ แพทย์จะนำไม้ที่เก็บเซลล์ป้ายลงบนแผ่นสไลด์แล้วแช่ในน้ำยาแอลกอฮอล์ แต่ถ้าเป็นการตรวจแป๊ปสเมียร์แบบแผ่นบาง แพทย์จะนำแปรงที่เก็บเซลล์แล้วจุ่มลงในขวดที่บรรจุสารละลายชนิดเฉพาะ) ก่อนที่จะรีบนำไปส่งห้องปฏิบัติการ (Laboratory) เพื่อการตรวจวิเคราะห์ทางพยาธิวิทยาต่อไป ว่ามีเซลล์ผิดปกติที่เข้าได้กับระยะก่อนเป็นมะเร็งหรือระยะที่เป็นมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ ซึ่งอันนี้ต้องใช้เวลารอผลประมาณ 1-4 สัปดาห์

    การตรวจหามะเร็งปากมดลูก
    IMAGE SOURCE : www.cookgyn.com, Alamy

  6. หลังจากการเก็บเซลล์เสร็จแล้ว แพทย์ก็จะนำอุปกรณ์เก็บเซลล์ออก แล้วตามด้วยเครื่องมือถ่างขยายช่องคลอดออกจากช่องคลอด เมื่อถึงตรงนี้ก็ถือว่าสิ้นสุดการตรวจ Pap Smear แล้ว
  7. จากนั้นแพทย์อาจจะทำการตรวจภายใน (Pelvic exam) ด้วยการใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของมือขวาที่ใส่ถุงมือใส่เข้าไปในช่องคลอด ส่วนมือซ้ายจะคลำที่หน้าท้องบริเวณท้องน้อยไปพร้อม ๆ กัน เพื่อสังเกตหาความผิดปกติต่าง ๆ ทั้งขนาด รูปร่าง ตำแหน่ง และสีของอวัยวะต่าง ๆ ภายในอุ้งเชิงกราน ซึ่งในระหว่างนี้ให้พยายามผ่อนคลายให้มาก ๆ อย่าเกร็งท้อง เพราะจะช่วยให้แพทย์ตรวจได้ง่าย แม่นยำ และตรวจเสร็จได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นท่านก็สามารถลงจากเตียงตรวจและเปลี่ยนกลับมาใส่ชุดเดิมได้ (การตรวจภายในโดยมากมักจะตรวจร่วมกับ Pap Smear หากท่านต้องการตรวจ Pap Smear แพทย์จะทำการตรวจ Pap Smear ก่อนแล้วจึงตามด้วยการตรวจภายใน)

    การตรวจภายใน
    IMAGE SOURCE : www.cancer.gov

โดยปกติแล้วทั้งการตรวจ Pap Smear และการตรวจภายใน (Pelvic exam) จะไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดใด ๆ ผู้รับการตรวจจึงไม่ต้องเป็นกังวลใจไปมากนัก แต่ในบางครั้งการตรวจก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เล็กน้อย เช่น อาการปวดหน่วงท้องน้อย หรืออาการปวดบีบมดลูก ซึ่งเกิดขึ้นทันทีภายหลังการตรวจหรือเกิดขึ้นในขณะที่แพทย์กำลังตรวจและทำการเก็บเซลล์ที่ปากมดลูก แต่โดยทั่วไปแล้วอาการดังกล่าวมักจะไม่ค่อยเกิดขึ้น หรือถ้าเกิดก็มักจะเป็นเพียงชั่วคราว เมื่อตรวจเสร็จอาการก็จะหายไป หรืออาจเป็นอยู่เพียงชั่วคราวในระยะเวลาสั้น ๆ (ถ้าอาการดังกล่าวรบกวนท่านมากก็สามารถกินยาแก้ปวดได้) นอกจากนี้ ในสตรีบางรายก็อาจมีเลือดออกภายหลังการตรวจได้ แต่มักจะเป็นเลือดเพียงเล็กน้อยและหายได้เองภายใน 1 วัน แต่หากมีเลือดออกมาก ออกนาน หรืออาการปวดท้องยังไม่หายก็ควรรีบปรึกษาแพทย์

โรคมะเร็งปากมดลูกจะไม่สามารถมาคร่าเอาชีวิตคุณได้เลย ถ้าหากมีการตรวจพบพยาธิสภาพที่ผิดปกติตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นและรีบรักษาอย่างถูกวิธี ด้วยเหตุนี้ สตรีทุกคนที่เข้าเกณฑ์การตรวจ จึงจำเป็นต้องยอมสละเวลาไปรับการตรวจ Pap Smear ตามช่วงเวลา

การแปลผลตรวจ Pap Smear

โดยปกติแล้วสถานพยาบาลหรือห้องปฏิบัติการ (Laboratory) จะใช้เวลาในการรายงานผลการตรวจ Pap Smear ประมาณ 1-4 สัปดาห์ โดยผลการตรวจจะแจ้งเพียงสั้นว่า ๆ ลบ (Negative) หรือ บวก (Positive) แต่ถ้าท่านไม่ทราบผลตามนัด ก็ต้องติดตามสอบถามเพื่อให้ทราบผล ทั้งนี้ การรายงานผลตรวจดังกล่าวจะมีสาระสำคัญและคำแนะนำดังในเบื้องต้นดังนี้

  • ผลลบ (Negative) หมายถึง ปากมดลูกมีสภาวะปกติดี โดย ณ ขณะเวลารับการตรวจพบว่าปราศจากร่องรอยของโรคร้ายแรงใด ๆ ซึ่งในกรณีนี้ให้ท่านตรวจซ้ำตามระยะเวลาที่แนะนำหรือตามแพทย์นัดต่อไป (หากผลตรวจออกมาปกติ แต่ท่านมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น ก็ไม่ควรที่จะชะล่าใจและควรรีบไปปรึกษาแพทย์เสมอ เพราะการตรวจ Pap Smear เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งที่ตำแหน่งปากมดลูกเท่านั้น ไม่ใช่การตรวจมะเร็งทั่วร่างกายหรือการตรวจมะเร็งช่องคลอด รังไข่ หรือมดลูก)
  • ผลบวก (Positive) หมายถึง ได้ตรวจพบเซลล์บางชนิดได้แสดงสัญญาณว่าอาจนำไปสู่โรคร้ายแรงจากระดับต่ำไปสู่ระดับสูง ในการนี้แพทย์จะแนะนำให้นัดมาตรวจด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดอื่นที่ละเอียดและแม่นยำต่อไป ทั้งนี้ “ผลบวก” นั้นอาจจะซ่อนระดับความร้ายแรงของโรคที่ปากมดลูกบางโรค ดังนี้
    • การอักเสบหรือการถูกรบกวนกระทบกระทั่ง (Inflammation or Irritation) หมายถึง ได้ตรวจพบร่องรอยว่าปากมดลูกอยู่ในสภาวะอักเสบ โดยผลการตรวจพยาธิสภาพจากของเหลวที่ปากมดลูกอาจจะสำแดงผลบ่งชี้ว่า เกิดการอักเสบจากเชื้อรา (Yeast infection) หรือเกิดการอักเสบจากเชื้อไวรัสปาปิลโลม่า (HPV) หรือเกิดการอักเสบจากจุลชีพก่อโรคอื่น ๆ
    • สัญญาณบ่งชี้โรคมะเร็งในระยะเริ่มต้น (Very early signs of cancer) หมายถึง ผิวด้านนอกของปากมดลูกแสดงภาวะการเปลี่ยนแปลงในทางเลวร้าย (Dysplasia) ซึ่งเป็นสภาวะเลวร้ายก่อนที่จะเกิดเป็นเซลล์มะเร็งที่แพทย์สังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงทั้งขนาด รูปร่าง และองค์ประกอบของเซลล์เนื้อเยื่อที่ปากมดลูก (การตรวจพบความผิดปกติด้วยวิธี Pap Smear ในขั้นนี้ ถือเป็นขั้นที่ให้ข้อมูลที่ทรงคุณค่าและเป็นช่วงระยะที่สำคัญมากที่สุด เนื่องจากการตรวจพบความผิดปกติใด ๆ ในช่วงนี้และรีบรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ก็จะช่วยให้มีโอกาสรักษาให้หายขาดจากโรคมะเร็งได้ 100% และอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัดมดลูกทิ้งไปด้วย ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แจ้งให้ทราบว่าท่านต้องรักษาหรือตรวจติดตามอย่างไรต่อไป)
    • สัญญาณบ่งชี้โรคมะเร็งปากมดลูกในระยะที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น (More serious sign of cancer) ผลการตรวจด้วยวิธี Pap Smear ในขั้นนี้ อาจบ่งชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงบริเวณผิวของเนื้อเยื่อที่ปากมดลูก ว่ามีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อมะเร็ง แต่ยังมิได้แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ซึ่งสาเหตุที่ตรวจพบมะเร็งบริเวณปากมดลูกในขั้นนี้ได้นั้น ก็มักมาจากสตรีที่ไม่ได้ใส่ใจตรวจ Pap Smear ตามช่วงระยะเวลา หรือได้ตรวจ Pap Smear จนพบความผิดปกติในระดับ Dysplasia แล้ว แต่ก็ยังนิ่งนอนใจหรือละเลยไม่คิดจะรักษาตนเองและปล่อยให้ช่วงระยะเวลาที่มีคุณค่าได้ผ่านพ้นไปเป็นเดือนเป็นปีหรือหลายปี
    • สัญญาณบ่งชี้ว่าโรคมะเร็งปากมดลูกอยู่ในระยะแพร่กระจายตัว (More advanced cancer) หมายถึง การตรวจพบว่ามะเร็งได้ลุกลามแพร่กระจายจากมดลูกไปสู่อวัยวะอื่นแล้ว ซึ่งที่พบบ่อยได้แก่ กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้เล็ก ตับ ปอด

หากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ผลออกมาเป็นบวก (ผิดปกติ) ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านจะต้องเป็นมะเร็งปากมดลูกเสมอไป เพราะผลที่ผิดปกตินั้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การอักเสบของปากมดลูก การติดเชื้อบางอย่าง ผลบวกลวง ฯลฯ ดังนั้น ถ้าท่านได้รับแจ้งผลการตรวจว่าผิดปกติ ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือตรวจเพิ่มเติมก่อนเสมอเพื่อดูว่าเกิดจากสาเหตุใด

ความผิดพลาดของการตรวจ Pap Smear

การตรวจแป๊ปสเมียร์สามารถเกิดความผิดพลาดได้ขึ้นได้ใน 2 กรณีคือ

  • ผลบวกลวง (False positive) คือ กรณีที่ท่านมีเซลล์ปากมดลูกที่ปกติจริง ๆ แต่ผลการตรวจกลับพบความผิดปกติ ซึ่งก็พบได้น้อยประมาณ 1-10%
  • ผลลบลวง (False negative) คือ กรณีที่ท่านมีเซลล์ปากมดลูกที่ผิดปกติ แต่ผลการตรวจกลับพบว่าปกติ ซึ่งก็พบได้น้อยเช่นกัน คือประมาณ 2% และจะมีผลทำให้การวินิจฉัยและการรักษาความผิดปกติของมดลูกได้ช้าลง แต่หากท่านเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัดก็จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ เพราะหากผลตรวจครั้งแรกผิดพลาด การตรวจในครั้งต่อไปก็จะสามารถตรวจพบความผิดปกติได้
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือฉลาดตรวจสุขภาพ ฉบับรู้ทันโรคถอย เล่ม 2. “การตรวจหามะเร็งปากมดลูก (PV, Pap Smear)”. (พอ.ประสาร เปรมะสกุล). หน้า 121-129.
  2. American Cancer Society,.  “The American Cancer Society Guidelines for the Prevention and Early Detection of Cervical Cancer”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.cancer.org.  [7 มิ.ย. 2018].
  3. Siamhealth.  “การทำ Pap test”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [08 มิ.ย. 2018].
  4. หาหมอดอทคอม.  “แป๊บสเมียร์: การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap-smear หรือ Pap test)”.  (รศ.ดร.พญ.วรลักษณ์ สมบูรณ์พร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [09 มิ.ย. 2018].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด