เอกซเรย์ปอด
การถ่ายภาพรังสีทรวงอก, การฉายรังสีทรวงอก, การตรวจเอกซเรย์ทรวงอก หรือ การตรวจเอกซเรย์หน้าอก (ภาษาอังกฤษ : Chest X-ray (CXR) หรือ Chest radiograph) หรืออาจเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “การตรวจเอกซเรย์ปอด”, “การเอกซเรย์ปอด” หรือ “การเอกซเรย์ปอดและหัวใจ” คือ การตรวจทางรังสีวิทยาอย่างหนึ่ง โดยการถ่ายภาพทรวงอกด้วยรังสีเอกซ์ลงบนแผ่นฟิล์ม เมื่อนำฟิล์มไปผ่านขบวนการล้างก็จะได้ภาพเอกซเรย์ของปอด ซึ่งแพทย์จะใช้ในการตรวจวินิจฉัยภาวะต่าง ๆ เกี่ยวกับทรวงอก อวัยวะภายใน และโครงสร้างข้างเคียง
การตรวจเอกซเรย์ปอดเป็นการตรวจอย่างหนึ่งที่แพทย์ส่งตรวจมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะช่วยในการวินิจฉัยโรคและภาวะต่าง ๆ ได้หลายอย่าง โดยสามารถบอกข้อมูลเกี่ยวกับปอดว่ามีรอยโรคผิดปกติหรือไม่ มีน้ำในเยื้อหุ้มปอดหรือน้ำท่วมปอดหรือไม่ หัวใจมีขนาดหรือรูปร่างปกติหรือไม่ หลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำในช่องอกปกติหรือไม่ กระดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง กระดูกไหปลาร้า กระบังลมปกติหรือไม่
ประโยชน์ของการเอกซเรย์ปอด
- เป็นการตรวจเพื่อยืนยันความเป็นปกติของอวัยวะสำคัญภายในช่องอก ได้แก่ ปอด หัวใจ ช่องทางหายใจ กระดูกซี่โครง เส้นเลือดใหญ่ และอวัยวะอื่นในช่องอก หากสังเกตเห็นความผิดปกติของอวัยวะใดดังกล่าวก็ย่อมบ่งชี้ว่า กำลังอาจมีโรคที่อวัยวะนั้น ๆ
- เป็นการตรวจที่ช่วยให้เห็นร่องรอยความผิดปกติ จากอาการป่วยและไม่สบายของผู้รับการตรวจที่เกิดอาการสำคัญเหล่านี้มาก่อน เช่น
- อาการไอเรื้อรัง
- อาการไอออกมาเป็นเลือด
- อาการหายใจลำบากหรือติดขัด
- อาการปวดภายในช่องอก (Chest pain)
- อาการบาดเจ็บภายในช่องอก (Chest injury)
- เป็นการตรวจโรคสำคัญที่เกี่ยวกับปอด หัวใจ หรือกระดูก ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยรู้ตัวและหาทางรักษาตั้งแต่แรกได้ จึงนับว่าเป็นการช่วยร่างกายให้ห่างไกลจากโรคสำคัญเหล่านี้ ได้แก่
- โรคหรืออาการที่เกี่ยวกับปอด เช่น วัณโรคปอด (Tuberculosis), ถุงลมโป่งพอง, อาการน้ำท่วมปอด, อาการปอดบวม (Pneumonia), อาการปอดแฟบ (Collapsed lung), ภาวะปอดมีฝุ่นจับมาก (Pneumoconiosis), เนื้องอกในปอด, โรคมะเร็งปอดระยะเริ่มแรก, โรคมะเร็งที่ลุกลามจากอวัยวะอื่นมาที่ปอด, อาการผิดปกติของหลอดเลือด
- โรคหรืออาการที่เกี่ยวกับหัวใจ เช่น เพื่อตรวจขนาดหรือรูปร่างที่ผิดปกติของหัวใจ, ตรวจตำแหน่งหรือรูปร่างที่ผิดปกติของหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง
- โรคหรืออาการที่เกี่ยวกับกระดูก เช่น การแตกร้าวของกระดูกซี่โครงหรือกระดูกสันหลัง, ความผิดปกติใด ๆ ของกระดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง หรือกระดูกไหปลาร้า, โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)
- เป็นการตรวจเพื่อเตรียมการผ่าตัด
คำแนะนำและข้อควรรู้ก่อนการเอกซเรย์ปอด
- ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) อาจทำให้การกลั้นหายใจในขณะการฉายรังสีเอกซเรย์กระทำไม่ได้เหมือนคนปกติทั่วไป
- ผู้ที่มีร่างกายอ้วนกว่าปกติอาจจำเป็นต้องถูกฉายเอกซเรย์ซ้ำหลายครั้ง เพื่อให้แน่ในว่าได้ฟิล์มเอกซเรย์ที่ให้ภาพเจาะลึกจนเห็นอวัยวะที่แพทย์ต้องการอย่างชัดเจน
- ผู้รับการตรวจเอกซเรย์ที่มีแผลเป็นที่ปอดจากการที่เคยได้รับการผ่าตัดปอดมาก่อน อาจทำให้การอ่านผลและแปลผลฟิล์มเอกซเรย์มีความผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนได้
- การถ่ายภาพเอกซเรย์อาจต้องทำหลายครั้งจนกว่าจะได้ภาพที่ดีที่สุด เพราะจะส่งผลดีต่อความแม่นยำในการวินิจฉัย
- หากเคยรับการผ่าตัดที่ต้องฝังอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนโลหะไว้ในร่างกาย ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนล่วงหน้า
การเตรียมตัวก่อนการเอกซเรย์ปอด
- ผู้รับการตรวจไม่ต้องเตรียมล่วงหน้าเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดอาหาร งดการดื่มน้ำก่อนตรวจแต่อย่างใด และหากมีการรับประทานยาอยู่ก็สามารถรับประทานต่อเนื่องไปได้
- ในหญิงวัยเจริญพันธ์นั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับรังสีเอกซเรย์ในช่วงตั้งครรภ์ แพทย์หรือพยาบาลจะสอบถามถึงประวัติประจำเดือนก่อนการตรวจเสมอ และผู้รับการตรวจจะต้องตระหนักถึงข้อนี้เสมอ ถ้ามีการคลาดเคลื่อนของประจำเดือนหรือสงสัยว่าอาจจะตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบเพื่อยกการตรวจเอกซเรย์ หรืออาจต้องมีการตรวจภาวะการตั้งครรภ์ทางให้แน่ชัดก่อนจึงจะตรวจเอกซเรย์ได้ ส่วนในหญิงที่เพิ่งเริ่มตั้งครรภ์ก็ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบก่อนการตรวจด้วยเช่นกัน เพราะบางครั้งแพทย์หรือพยาบาลอาจไม่ทันได้สังเกตเห็นหรือสอบถามถึง ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการใช้รังสีเอกซเรย์ตรวจปอดหรือหัวใจ แล้วหันไปใช้เครื่องมืออื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์แทน เช่น อัลตราซาวนด์ (Ultrasound), เอ็มอาร์ไอ (MRI)
- เซลล์ที่ยังเป็นเซลล์ตัวอ่อน เช่น เซลล์ของทารกในครรภ์นั้นจะไวต่อรังสีเอกซเรย์เป็นพิเศษ ดังนั้นในกลุ่มนี้ แพทย์จะทำการตรวจเอกซเรย์ให้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถหาวิธีการตรวจอื่นมาทดแทนวิธีนี้ได้ และการไม่ตรวจอาจนำมาซึ่งการเสียชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งในกรณีเช่นนี้แพทย์จะพูดคุยกับครอบครัวหรือบิดามารดาก่อนเสมอถึงความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้
- สำหรับการแต่งกายเมื่อมาตรวจนั้น แนะนำว่าควรสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายไม่พอดีตัวจนเกินไป และหลีกเลี่ยงการสวมใส่เครื่องประดับหรือเสื้อผ้าที่มีส่วนประกอบของโลหะ
- ผู้รับการตรวจจำเป็นต้องถอดสร้อยคอเครื่องประดับทุกชิ้นที่เป็นโลหะ รวมถึงวัสดุใด ๆ ที่จะเข้ามาอยู่ในส่วนที่ตรวจได้ออกให้หมด เช่น ผ้าเช็ดหน้า ทิชชู่ต่าง ๆ กระเป๋าเงิน เหรียญสตางค์ นาฬิกา เพราะสิ่งเหล่านี้จะบดบังรังสีเอกซเรย์และก่อให้เกิดภาพที่ผิดปกติ ส่งผลให้แพทย์อ่านผลตรวจผิดพลาดได้ (ทรัพย์สินและของมีค่าให้เก็บรักษาไว้กับตัว)
- ผู้รับการตรวจจำเป็นต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าโดยให้ใส่ชุดรับการเอกซเรย์ (X-ray gown) โดยในผู้หญิงจะต้องถอดเสื้อชั้นนอกและชั้นในด้วย ถ้าผมยาวก็ต้องรวบผมขึ้นให้พ้นต้นคอ
- เมื่อเข้าไปในห้องเอกซเรย์แล้ว ผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่จะให้ผู้เข้ารับการตรวจจัดท่าทางให้อยู่ในท่าที่เหมาะสมที่เมื่อเอกซเรย์ออกมาแล้วสามารถเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด ซึ่งอาจจะอยู่ในท่ายืนตรง นั่ง หรือนอนหงาย และในขณะที่เอกซเรย์ผู้รับการตรวจจะต้องหายใจเข้าเต็มปอดแล้วกลั้นใจไว้ และอยู่ให้นิ่งที่สุด (ให้ฟังคำบอกสัญญาณในจังหวะการฉายรังสีของเจ้าหน้าที่ เช่น “กลั้นหายใจ นิ่ง”) เพื่อจะได้ไม่ต้องถ่ายซ้ำและได้ภาพที่คมชัดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- การตรวจมักใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที ซึ่งเวลาส่วนใหญ่จะใช้ไปกับการจัดท่าทางในการตรวจเพื่อให้ได้ภาพที่ถูกต้อง ส่วนเวลาการฉายรังสีจะใช้เวลาเพียงประมาณ 1 วินาทีเท่านั้น
- ผู้รับการตรวจจะทราบผลจากการเอกซเรย์ได้เลยจากแพทยเจ้าของไข้ที่ให้การตรวจ (ต่างจากการผ่านผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT scan ซึ่งต้องให้แพทย์เฉพาะทางรังสีวิทยาเป็นผู้อ่านผลและต้องใช้ระยะเวลานาน) และแพทย์มักจะมอบให้ผู้ป่วยไปด้วยพร้อมกับใบอ่านผลตรวจ ดังนั้น เมื่อเข้ารับการตรวจ ควรจะต้องตรวจสอบให้ได้เอกสารต่าง ๆ ครบถ้วน (จะได้ไม่ต้องย้อนกลับไปโรงพยาบาลเพื่อเอาผลอีก) และในการพบแพทย์ทุกท่านแต่ละครั้ง ก็ควรต้องนำใบอ่านผลพร้อมฟิล์มเอกซเรย์ติดตัวมาด้วยเสมอ เผื่อแพทย์ต้องการทราบข้อมูลและผื่อมีการตรวจซ้ำ แพทย์จะได้ใช้เปรียบเทียบผลการตรวจในแต่ละครั้ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแม่นยำของการตรวจและเป็นประโยชน์ต่อผู้รับการตรวจได้มากยิ่งขึ้น
- ภายหลังการตรวจเอกซเรย์ปอดจะไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดแต่อย่างใด ผู้รับการตรวจสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ กลับไปทำงานได้ ไม่จำเป็นต้องมีการดูแลเป็นพิเศษแต่อย่างใด และรังสีจะไม่หลงเหลืออยู่ในตัว หลังการตรวจจึงสามารถคลุกคลีได้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือหญิงตั้งครรภ์
- การบันทึกประวัติของตนเองลงในสมุดประวัติสุขภาพทุกครั้งเมื่อต้องถูกฉายรังสีเอกซเรย์ (รวมถึง CT scan) อาจช่วยให้ได้รับการพิจารณางดเว้นช่วงระยะเวลาการตรวจได้ จึงช่วยให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น
- เมื่อมีการตรวจสุขภาพหรือมีการตรวจวินิจฉัยหรือรักษา ผู้ป่วยควรมีการจัดเก็บข้อมูลทางการแพทย์ของตน และควรมีกระเป๋าที่เก็บโดยเฉพาะ จัดเก็บไว้ในที่ที่มองเห็นง่ายและทุกคนในบ้านรับทราบ เมื่อไปพบแพทย์จะได้หยิบฉวยได้สะดวก ครบถ้วน และไม่ขาดตกบกพร่องถึงเอกสารสำคัญ
ผลการตรวจเอกซเรย์ปอด
ผลการตรวจจะอยู่ในรูปของภาพที่เป็นเงาในฟิล์มขนาดใหญ่ (แต่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น การถ่ายภาพเอกซเรย์อาจเป็นการถ่ายภาพลงบนกระดาษ หรือลงในซีดี หรือในวีซีดีก็ได้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องการใช้ฟิล์มลงได้มาก และยังสะดวกกว่าในจัดเก็บข้อมูล) โดยจะเป็นหน้าที่ของรังสีแพทย์หรือแพทย์เจ้าของไข้ที่จะเป็นผู้อ่านผลเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการรักษาโรคต่อไป
แม้การตรวจเอกซเรย์ปอดจะให้ข้อมูลได้มากมาย แต่ก็เป็นการเห็นเพียงแค่เงาบนแผ่นฟิล์มเท่านั้น รายละเอียดต่าง ๆ ยังน้อยมาก การตรวจเอกซเรย์จึงอาจให้ผลผิดพลาดได้ด้วยข้อจำกัดทางเทคนิคประมาณ 10-15% โดยอาจเป็นความผิดพลาดในลักษณะที่มีโรคแต่ตรวจไม่พบ หรือไม่มีโรคแต่ให้ภาพว่าน่าจะมีโรค เช่น ตรวจพบว่าหัวใจโตจากการไปตรวจสุขภาพประจำปี แต่ท่านอาจจะไม่ได้เป็นอะไรเลยก็ได้ เพราะถ้าในขณะที่ตรวจนั้นถ้าท่านหายใจเข้าไม่เต็มที่ ยืนไม่ตรง หรือเทคนิคที่ใช้ของเจ้าหน้าที่เอกซเรย์ไม่เหมาะสม (หรือในกรณีที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมานานแล้วควบคุมอาการไม่ดีก็อาจตรวจพบหัวใจโตได้เช่นกัน) ก็อาจทำให้ภาพเอกซเรย์ที่ให้มานั้นไม่ถูกต้องและอ่านผลผิดพลาดได้
เพราะอย่าลืมว่าการตรวจเอกซเรย์นั้นจะเห็นเพียงแค่เงา การแปลผลก็ย่อมมีข้อจำกัดและเกิดความผิดพลาดได้ ดังนั้น ถ้าท่านยังแข็งแรง ไปตรวจสุขภาพแล้วพบว่าผลการตรวจเอกซเรย์ปอดผิดปกติก็อย่าเพิ่งตกใจเกินไป ขอให้ตั้งสติและปรึกษาแพทย์เก่อน เพราะการแปลผลความผิดปกตินั้นไม่ได้มาจากการอ่านผลเอกซเรย์ปอดเพียงอย่างเดียว แต่แพทย์ยังต้องนำข้อมูลด้านอื่น ๆ มาใช้ประกอบด้วย ที่สำคัญ คือ ประวัติการเจ็บป่วย อาการของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และอาจต้องมีการตรวจทางพยาธิวิทยาร่วมด้วย เป็นต้น
ข้อควรระวังจากการเอกซเรย์ปอด
การใช้รังสีเอกซ์ในทางการแพทย์นั้นถือว่ามีความปลอดภัยมากที่สุดในระดับหนึ่ง โดยแม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากอันตรายของรังสี แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่อาจจำเป็นจะต้องยอมรับ (โดยเฉพาะเมื่อเป็นการเอกซเรย์ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และตามดุลยพินิจของแพทย์) เนื่องจากคุ้มค่าและให้ประโยชน์ในด้านข้อมูลข่าวสารของอวัยวะภายในเพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมากยิ่งกว่าอันตราย
- รังสีเอกซเรย์ (X-ray) ถือว่ามีคุณสมบัติใกล้เคียงกับรังสีแกมมา (Gamma ray) มากที่สุด เพียงแต่มันมีความเข้มน้อยกว่าจนพอจะเอามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ด้วยความระมัดระวัง โดยมันสามารถวิ่งเจาะทะลุผ่านเนื้อเยื่อของร่างกายโดยแสดงเงาให้เห็นตามความหนาแน่นของอวัยวะภายใน
- หน่วยแสดงความเข้มข้นของรังสีเอกซเรย์จะมีหน่วยเป็น Millisievert (มิลลิซิพเวิท) หรือเขียนย่อ ๆ ว่า “mSv” โดยการฉายรังสีเอกซเรย์ที่อกแต่ละครั้งจะมีค่ารังสีอยู่ที่ระดับ 0.1 mSv ซึ่งความเข้มข้นขนาดนี้จะมีผลต่อร่างกายในระดับเดียวกันกับรังสีอัลตราไวโอเลตของบรรยากาศจากแสงแดดบริเวณพื้นผิวโลกรอบ ๆ ตัวที่ระดับน้ำทะเลได้กระทำต่อร่างกายมนุษย์ในช่วงระยะเวลาติดต่อกันประมาณ 10 วัน (แปลว่า ถ้าหมอเดินเล่นกอล์ฟกลางแดดตลอดทั้งวันและต่อเนื่องกันไปทุกวันเป็นเวลา 10 วัน ก็ย่อมจะมีค่ารังสีประมาณเท่ากับที่หมอได้รับจากการฉายรังสีเอกซเรย์ที่อก 1 ครั้ง)
- สำหรับการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT scan (Computerized Tomography Scan) นั้น ก็เป็นการฉายรังสีเอกซเรย์ชนิดพิเศษที่กระทำให้เกิดภาพ 3 มิติ แม้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการช่วยวินิจฉัยโรคของอวัยวะภายใน แต่ผู้ตรวจก็ต้องยอมรับความเสี่ยงจากการถูกฉายรังสีเอกซเรย์ซ้ำ ๆ กันในแต่ละระนาบ เพื่อให้เกิดภาพตัดทางขวางในการสร้างภาพ 3 มิติ ด้วยเหตุนี้ ผู้ถูกตรวจ CT scan จึงย่อมได้รับรังสีเอกซเรย์ด้วยช่วงระยะเวลาที่ยาวนานกว่าและความเข้มข้นที่มากกว่าปกติหลายเท่าตัว ถ้าให้เปรียบเทียบกัน การฉายรังสีเอกซเรย์ที่ปอดภาพเดียวผู้ที่ได้รับการตรวจจะได้รับรังสีเพียง 0.1 mSv (เปรียบเทียบกับการรับรังสีตามธรรมชาติ 10 วัน) แต่การตรวจด้วย CT scan ที่ปอดจะได้รับรังสีมากถึง 7.0 mSv (เปรียบเทียบกับการรับรังสีตามธรรมชาติ 2 ปี)
- การตรวจ CT scan ด้วยขนาดรังสี 10 mSv จำนวน 1 ชุด เพื่อการตรวจอวัยวะใด ๆ ในผู้ใหญ่จะมีผลทำให้ผู้รับการตรวจมีอัตราเสี่ยงที่อาจเกิดโรคมะเร็งได้ 1 คน ในทุก 2,000 คน (ในเด็กคือทุก ๆ 500 คน) หากท่านอยู่ในฐานะผู้รับการตรวจ CT scan ท่านก็มีสิทธิจะขอบ่ายเบี่ยงการถูกตรวจนี้ได้ตามประกาศสิทธิของผู้ป่วย (เพราะบางอวัยวะก็อาจตรวจด้วยวิธีอื่นที่มีความปลอดภัยกว่าได้เช่น Ultrasound หรือ MRI) โดยแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุดคือ ควรจะได้ร่วมปรึกษาหารือกับแพทย์ผู้ดูแลท่าน
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)