การตรวจลานสายตา
การตรวจลานสายตา, การตรวจวัดลานสายตา, การวัดลานสายตา หรือการทดสอบลานสายตา (Visual field test) คือ การตรวจเพื่อดูว่าผู้เข้ารับการตรวจมีปัญหาลานสายตาหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ตรวจ ซึ่งมีอยู่หลายวิธี ได้แก่ การตรวจด้วยวิธีหันหน้าเข้าหันกัน, การตรวจด้วยเครื่องวัดลานสายตา และการตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่การทดสอบในระดับคัดกรองที่สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือตรวจเป็นพิเศษก็คือ การตรวจโดยการหันหน้าเข้าหันกัน (Confrontation visual field exam)
การตรวจลานสายตาเป็นหนึ่งในการทดสอบหรือตรวจการมองเห็น (Visual function) ซึ่งจะมีทั้งการทดสอบที่เป็น Subjective tests ได้แก่ การตรวจวัดสายตา (Visual acuity) การทดสอบการมองเห็นสี (Color vision) การตรวจลานสายตา (Visual field) เป็นต้น และการทดสอบที่เป็น Objective tests อันได้แก่ การวัดความดันลูกตา การตอบสนองของรูม่านตา เป็นต้น
หมายเหตุ : ลานสายตา (Visual field) คือ ขอบเขตพื้นที่ของการมองเห็นภาพทั้งหมดที่ตามองเห็นได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติหนึ่งของการมองที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ เพราะขอบเขตการมองที่กว้างเพียงพอจะทำให้คนเรามีปฏิสัมพันธ์ต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้อย่างเหมาะสม ส่วนผู้ที่มีขอบเขตการมองที่ผิดปกติก็อาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตได้ เช่น การขับรถ การเดินข้ามถนน การเดินในพื้นที่ที่มีสิ่งกีดขวาง การเดินหลบสิ่งของที่เคลื่อนไหวไปมา การอ่านหนังสือ
จุดประสงค์ของการตรวจลานสายตา
- เพื่อดูว่ามีการสูญเสียหรือบกพร่องในการมองเห็นที่ตำแหน่งใดหรือไม่
- เพื่อตรวจดูว่ามีโรคเกิดขึ้นกับตาหรือมีโรคที่อาจทำให้ลานสายตาผิดปกติหรือไม่ เช่น โรคต้อหิน โรคจอประสาทตาเสื่อมแต่กำเนิด โรคจอประสาทตาลอกหลุด โรคขั้วประสาทตาอักเสบ โรคของเส้นประสาทตา อุบัติเหตุต่อเส้นประสาทตา โรคทางระบบประสาทที่ทำให้มีการมองเห็นผิดปกติ ฯลฯ ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถทำให้พื้นที่ที่สามารถมองเห็นแคบลงได้
- เพื่อหาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประสาทตาที่อาจเกิดจากโรคหลอดเลือดในสมอง การบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้เลือดไหลเวียนที่สมองไม่เพียงพอ
- เพื่อตรวจหาตำแหน่งของรอยโรคในสมองที่มีผลต่อลานสายตา
การตรวจลานสายตาด้วยวิธีหันหน้าเข้าหากัน
การตรวจลานสายตาด้วยวิธีหันหน้าเข้าหากัน (Confrontation visual field exam, Confrontational visual field testing, Confrontation test หรือ Donder’s test) คือ การทดสอบเพื่อค้นหาปัญหาลานสายตาแบบคร่าว ๆ ในเบื้องต้น (ระดับคัดกรอง) ที่มีประโยชน์พอสมควร เนื่องจากทำได้ง่าย รวดเร็ว ประหยัด ไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ และมีความจำเพาะสูง แต่ก็มีข้อจำกัดสำคัญคือ มีความไวต่ำ ทำให้อาจตรวจไม่พบความผิดปกติในผู้ที่มีความผิดปกติหลายราย นอกจากนี้การตรวจด้วยวิธีหันหน้าเข้าหากันก็ไม่สามารถใช้ทดแทนการตรวจยืนยันด้วยเครื่องมือพิเศษที่มีความละเอียดกว่าอย่างการตรวจลานสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ได้
- ความไวต่ำ (Low sensitivity) ในการคัดกรองปัญหาลานสายตาทุกชนิดเพียง 35-73% เมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจลานสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (Automated perimetry) โดยวิธีการนับนิ้วจะมีความไวอยู่ที่ 35%, วิธีการกระดิกนิ้วไปมา 37%, วิธีการเคลื่อนที่ของนิ้ว 40% และวิธีการตรวจที่มีความไวสูงที่สุดคือ วิธีตรวจด้วยวัตถุสีแดงสดเฉพาะที่การมองส่วนกลาง ซึ่งมีความไว 73% แต่ก็ยังถือว่าไม่สูงมากนัก
- ความจำเพาะสูงมาก (High specificity) ถึง 93.4 – 100% เมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจลานสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (Automated perimetry) ซึ่งทำให้ผู้ตรวจได้ผลบวก เมื่อส่งไปตรวจยืนยันก็มักจะพบว่ามีความผิดปกติของลานสายตาอยู่จริง
สำหรับขั้นตอนการตรวจนั้นจะมีอยู่หลายวิธี แต่ละวิธีจะมีความเหมือนกันในหลักการ แต่จะแตกต่างกันในรายละเอียด โดยวิธีที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมากคือ การตรวจด้วยการให้ผู้เข้ารับการตรวจนับนิ้ว (Finger counting) ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
- ผู้เข้ารับการตรวจถอดแว่นและถอดเครื่องแต่งกายที่อาจบดบังลานสายตาออก เช่น หมวกปีกกว้าง (ถ้ามี)
- การตรวจจะเริ่มต้นจากการตรวจพื้นที่การมองรอบนอก (Peripheral field) โดยการที่ผู้เข้ารับการตรวจกับผู้ตรวจนั่งหันหน้าเข้าหากันในระดับความสูงที่ใกล้เคียงกัน โดยจะนั่งห่างกันประมาณ 1 เมตร
- ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องใช้มือหรือใช้อุปกรณ์คล้ายช้อนปิดตาข้างที่ไม่ได้ตรวจไว้ (เนื่องจากจะต้องทำการตรวจตาทีละข้าง) ส่วนผู้ตรวจจะหลับตาข้างที่ตรงข้ามกัน คือ ถ้าต้องตรวจตาข้างขวาของผู้เข้ารับการตรวจ ผู้ตรวจจะทำการหลับตาขวาและลืมตาซ้าย เป็นต้น (ถ้าทำถูกต้องตาข้างที่ลืมอยู่ของทั้งสองคนจะตรงกันพอดี)
- ตาของผู้เข้ารับการตรวจจะต้องมองจ้องที่จมูกของผู้ตรวจในลักษณะที่มองอยู่จุดเดียว ไม่กลอกตาไปมา ส่วนตาของผู้ตรวจนั้นจะมองไปที่ตาของผู้เข้ารับการตรวจเพื่อดูว่าในระหว่างที่ตรวจผู้เข้ารับการตรวจมีการกรอกตาไปมองวัตถุที่ใช้ทดสอบหรือไม่ (ในกรณีนี้คือนิ้ว) ถ้าเผลอกรอกตาก็จะต้องทำการตรวจในขั้นตอนนั้นซ้ำใหม่
- ผู้ตรวจจะแบ่งพื้นที่การมองของผู้เข้ารับการตรวจเป็น 4 ส่วน (ใช้ดวงตาเป็นจุดศูนย์กลาง) คือ ส่วนบนด้านขมับ, ส่วนล่างด้านขมับ, ส่วนบนด้านจมูก และส่วนล่างด้านจมูก
- จากนั้นผู้ตรวจจะเลือกพื้นที่ 4 ส่วนที่แบ่งไว้ และยื่นมือเข้ามาจากทางด้านข้างของขอบเขตการมอง โดยชูนิ้ว 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้ว (แบบสุ่ม) ที่ระยะห่างประมาณกึ่งกลางระหว่างตัวผู้ตรวจและผู้เข้ารับการตรวจ ชูนิ้วแล้วนิ่งค้างไว้ และถามผู้เข้ารับการตรวจว่าเห็นนิ้วมือกี่นิ้ว ถ้าตอบไม่ถูกอาจให้ลองทดสอบซ้ำที่ตำแหน่งอื่นในพื้นที่การมองส่วนนั้นเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจ
- ผู้ตรวจจะทำการตรวจซ้ำแบบเดียวกันในพื้นที่การมองส่วนอื่นจนครบทั้ง 4 ส่วน (ตาข้างหนึ่งจึงต้องได้รับการสอบถามว่าเห็นกี่นิ้ว 4 ครั้งเป็นอย่างน้อย) ถ้าผู้เข้ารับการตรวจตอบได้ถูกทั้งหมดก็ถือว่าเป็นปกติ
- หลังจากนั้นจะทำการตรวจสอบพื้นที่การมองส่วนกลาง (Central field) ด้วย เพราะปัญหาลานสายตาที่เกิดขึ้นนั้น บ่อยครั้งจะเกิดขึ้นที่บริเวณพื้นที่การมองส่วนกลาง เช่น โรคต้อหิน โรคจอประสาทตาเสื่อม โดยผู้ตรวจจะลืมตาทั้งสองข้าง ส่วนผู้เข้ารับการตรวจยังเอามือปิดตาข้างที่ไม่ได้ตรวจไว้ และตาข้างที่ตรวจยังมองจ้องอยู่ที่จมูกของผู้ แล้วให้ผู้เข้ารับการตรวจดูใบหน้าของผู้ตรวจว่ามีส่วนใดหายไป เบลอ หรือดูบิดเบี้ยวบ้างหรือไม่ ถ้ามีส่วนใดหายไป เบลอ หรือบิดเบี้ยว ผู้เข้ารับการตรวจอาจมีความผิดปกติของพื้นที่การมองส่วนกลางของตาข้างนั้น
- การตรวจสอบพื้นที่การมองส่วนกลางด้วยวิธีนี้มีความไวในการค้นหาความผิดปกติของลานสายตาทุกชนิดได้ค่อนข้างต่ำ คือ มีความไวอยู่ที่ 44% เนื่องจากผู้ที่มีปัญหาเรื่องการมองบริเวณพื้นที่ส่วนกลางบางรายอาจเกิดการปรับตัวเมื่อได้มองสิ่งที่คาดเดาได้ง่ายอย่างใบหน้าคน จึงทำให้มีความรู้สึกเหมือนว่ามองเห็นใบหน้าได้ครบถ้วนแม้ว่าในความจริงจะมองเห็นไม่เห็นบางส่วนก็ตาม
- นอกจากวิธีการตรวจโดยให้มองใบหน้าของผู้ตรวจแล้ว การตรวจพื้นที่การมองส่วนกลาง ยังอาจทำได้โดยใช้การตรวจหันหน้าเข้าหากันวิธีอื่น เช่น วิธีตรวจด้วยวัตถุสีแดงสดเฉพาะพื้นที่การมองส่วนกลางที่มีความอยู่ที่ประมาณ 73% แต่อาจจะใช้เวลาในการตรวจมากกว่า นอกจากนี้ยังมีวิธีการตรวจอีกอย่างหนึ่งที่เป็นการคัดกรองความผิดปกติบริเวณพื้นที่การมองส่วนกลางที่ทำได้ไม่ยากและอาจนำมาเสริมการตรวจหันหน้าเข้าหากันได้ คือ การใช้แผ่นทดสอบแอมสเลอร์ (Amsler grid) ซึ่งมีความไวประมาณ 56% โดยจะมีลักษณะเป็นตารางสีเหลี่ยมจัตุรัสหลายช่องที่เกิดจากเส้นแนวตั้งและแนวนอนตัดกัน และมีจุดอยู่ตรงกึ่งกลางตาราง ซึ่งการทดสอบจะเริ่มจากการให้ผู้เข้ารับการตรวจใส่แว่น (ถ้าปกติต้องใช้แว่นอ่านหนังสือ) แล้วทำการทดสอบกับตาทีละข้าง โดยให้ปิดตาข้างที่ยังไม่ได้ทดสอบไว้และมืออีกข้างให้ถือแผ่นทดสอบแอมสเลอร์ห่างจากตัวประมาณ 14 นิ้ว (ระยะปกติของการอ่านหนังสือ) โดยตาข้างที่ทดสอบให้มองจ้องที่จุดตรงกลางตาราง ถ้ามองเห็นเส้นตารางทุกเส้นชัดเจนดีและเป็นเส้นตรงก็ถือว่าผลตรวจเป็นปกติ แต่ถ้ามองแล้วมีเส้นตารางหายไป โค้ง บิดเบี้ยว เบลอ หรือช่องตารางเบี้ยวไม่เป็นรูปสี่เหลี่ยมก็ถือว่าผิดปกติ หมายความว่า ตาข้างที่ทดสอบอาจมีความผิดปกติบริเวณพื้นที่การมองส่วนกลางได้ ซึ่งในกรณีนี้จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจยืนยันกับจักษุแพทย์ต่อไป
- เมื่อเสร็จตาข้างหนึ่งทั้งพื้นที่การมองรอบนอก (Peripheral field) และพื้นที่การมองส่วนกลาง (Central field) แล้ว ให้ทำการตรวจตาอีกข้างโดยใช้วิธีเดียวกัน
- หากทำการตรวจคัดกรองแล้วพบผลเป็นบวก (สงสัยว่าอาจมีความผิดปกติของลานสายตา) จะต้องมีการตรวจวินิจฉัยยืนยันด้วยเครื่องมือที่มีความละเอียดมากขึ้น เช่น ทำการตรวจลานสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (Automated perimetry) ทุกครั้ง
ขั้นตอนการตรวจที่กล่าวมานี้สามารถนำมาใช้กับวิธีการตรวจแบบอื่น ๆ ได้ด้วย เพียงแค่เปลี่ยนวัตถุที่ใช้ทดสอบจากการนับนิ้ว (Finger counting) เป็นอย่างอื่น ได้แก่
- การกระดิกนิ้วไปมา (Finger wiggle) แล้วสอบถามว่าผู้เข้ารับการตรวจว่าเห็นนิ้วที่กระดิกหรือไม่
- การโบกมือไปมา (Hand motion) แล้วสอบถามว่าผู้เข้ารับการตรวจว่าเห็นการโบกมือหรือไม่
- การเคลื่อนที่ของนิ้ว (Kinetic to finger) โดยใช้นิ้วชี้ของผู้ตรวจเคลื่อนที่ โดยเริ่มจากด้านนอกขอบเขตภาพเข้ามาแล้วให้ผู้เข้ารับการตรวจแจ้งทันทีเมื่อเริ่มเห็นนิ้ว
- การเคลื่อนที่ของวัตถุสีแดงสด (Kinetic to red target) ตรวจเหมือนวิธีการเคลื่อนที่ของนิ้ว แต่เปลี่ยนการเคลื่อนที่ของวัตถุสีแดงสดที่เห็นได้ชัดที่มีขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร
- การเปรียบเทียบมือ (Hand comparison) ให้ผู้ตรวจใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างชูขึ้นให้ผู้เข้ารับการตรวจมองในพื้นที่การมอง 2 ส่วนพร้อมกัน แล้วสอบถามว่ามีฝ่ามือข้างใดที่สีจางลงหรือเห็นไม่ชัดเจนหรือไม่
- การเปรียบเทียบวัตถุสีแดงสด (Red color comparison) ตรวจเหมือนวิธีการเปรียบเทียบมือ แต่เปลี่ยนมาใช้วัตถุสีแดงสดขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร จำนวน 2 อันที่มีสีสดเท่ากัน ชูขึ้นในพื้นที่การมอง 2 ส่วนพร้อมกัน แล้วสอบถามว่ามีวัตถุอันใดมีสีจางลงหรือเห็นไม่ชัดเจนหรือไม่
- การทดสอบด้วยวัตถุสีแดงสดเฉพาะพื้นที่การมองส่วนกลาง (Central field test to red target) เป็นการใช้วัตถุสีแดงสดขนาด 5 มิลลิเมตร ชูไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ภายในพื้นที่การมองเห็นส่วนกลาง แล้วสอบถามผู้เข้ารับการตรวจว่ามองเห็นวัตถุสีแดงสดนี้ชัดเจนหรือไม่ในแต่ละตำแหน่ง
การตรวจโดยใช้วัตถุที่ใช้ทดสอบที่แตกต่างกันในแต่ละวิธีนี้จะทำให้มีความหลากหลายต่อผลการทดสอบ และบางครั้งการใช้หลายวิธีร่วมกันก็สามารถประเมินความรุนแรงของรอยโรคได้ อย่างไรก็ตาม วิธีที่ใช้วัตถุทดสอบที่มีความละเอียดมากขึ้นก็มักจะใช้เวลาในการตรวจนานขึ้น แม้จะทำให้โอกาสตรวจพบรอยโรคได้มากขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มในการเกิดผลบวกลวงได้มากขึ้นด้วย
การตรวจลายสายตาด้วยเครื่องวัดลานสายตา
การตรวจลายสายตาด้วยเครื่องวัดลานสายตา (Tangent screen exam หรือ Goldmann field exam) ผู้ตรวจจะให้ผู้เข้ารับการตรวจนั่งห่างจากจอคอมพิวเตอร์ประมาณ 1 เมตร ซึ่งในจอนี้จะมีจุดให้ผู้ป่วยมองโฟกัสสำหรับการทดสอบ จากนั้นคอมพิวเตอร์จะสร้างภาพขึ้นมาในจุดที่ต่าง ๆ กันโดยที่ผู้เข้ารับการตรวจไม่ต้องขยับตามองตาม และให้บอกกับผู้ตรวจเมื่อมองเห็นวัตถุที่ด้านข้างของสายตา
แพทย์ผู้ตรวจจะรวบรวมข้อมูลที่ได้เพื่อสร้างแบบแผนจากลานสายตาของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจสอบได้ว่ามีจุดใดของลานสายตาที่ไม่สามารถมองเห็นได้ และตำแหน่งที่มีปัญหานั้นจะทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นกับลานสายตาได้
การตรวจลานสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์
การตรวจลานสายตาด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (Automated perimetry) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจลานสายตาเพื่อช่วยในการวินิจฉัยและติดตามผลการรักษาของโรค วิธีการรักษา โดยผู้ตรวจจะให้ผู้เข้ารับการตรวจนั่งลงและมองเข้าไปที่เครื่องตรวจวัดรูปโดม และให้มองไปยังวัตถุที่อยู่ตรงกลางของเครื่องตรวจวัด แล้วเครื่องจะฉายแสงเป็นจุดไปยังตำแหน่ง ๆ ซึ่งขนาดและความสว่างของแต่ละครั้งจะแตกต่างกันไป ในเวลาที่ผู้เข้ารับการตรวจมองเห็นแสงเหล่านี้จะต้องกดปุ่ม จากนั้นเครื่องจะดูความสามารถในการมองเห็นแสงไฟยังจุดต่าง ๆ และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ภายในเครื่อง พร้อมกับแปลผลการตรวจออกมาว่า ผู้เข้ารับการตรวจมีความสามารถในการมองเห็นในแต่ละจุดของลานสายตาเป็นอย่างไร ? ซึ่งแพทย์จะใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อช่วยในการวินิจฉัยปัญหาหรือดูว่าต้องมีการตรวจเพิ่มเติมหรือไม่
ค่าลานสายตาของคนปกติ
ในการวัดลานสายตานั้น ปกติจะวัดจากขอบเขตพื้นที่การมองในขณะที่ตาเรามองพุ่งตรงไปข้างหน้า ซึ่งในคนปกติลานสายตาแต่ละข้างจะมีขอบเขตโดยประมาณดังนี้
- ด้านบน (Superior field) มองได้ประมาณ 60 องศา จากเส้นศูนย์กลางแนวนอน (จำกัดโดยคิ้ว)
- ด้านล่าง (Inferior field) มองได้ประมาณ 75 องศา จากเส้นศูนย์กลางแนวนอน (จำกัดโดยโหนกแก้ม)
- ด้านหัวตา (Nasal field) มองได้ประมาณ 60 องศา จากเส้นศูนย์กลางแนวตั้ง (จำกัดโดยคิ้ว)
- ด้านหางตา (Temporal field) มองได้ประมาณ 95 องศา จากเส้นศูนย์กลางแนวตั้ง
เอกสารอ้างอิง
- มูลนิธิสัมมาอาชีวะ. “การทดสอบลานสายตาด้วยวิธีหันหน้าเข้าหากัน (Confrontation Testing of the Visual Field)”. (นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.summacheeva.org. [13 ก.ค. 2018].
- healthline. “Visual Field Exam”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.healthline.com. [14 ก.ค. 2018].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)