การตรวจร่างกาย
การตรวจร่างกาย หรือ การตรวจร่างกายโดยแพทย์ (ภาษาอังกฤษ : Physical examination : PE, Medical examination หรือ Clinical examination) คือ ขั้นตอนสำคัญอย่างหนึ่งที่แพทย์ปฏิบัติเพื่อใช้ในการช่วยวินิจฉัยโรค วินิจฉัยแยกโรค ประเมินวิธีการรักษา ติดตามผลการรักษา และประเมินสุจภาพโดยรวมของผู้ป่วย ทั้งนี้ การตรวจร่างกายมักจะดำเนินการหลังจากที่แพทย์ได้สอบถามประวัติอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยแล้ว
การตรวจร่างกายเป็นการตรวจที่ง่าย ไม่ซับซ้อน และไม่มีผลข้างเคียง ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า เพราะแพทย์สามารถตรวจร่างกายผู้ป่วยได้เลยที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก และสามารถตรวจได้ทุกเพศทุกวัยตั้งแต่ทารกแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ และตรวจได้ทั้งผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยหนัก และผู้ป่วยฉุกเฉิน
เป้าหมายของการตรวจร่างกาย
- ตรวจในผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการผิดปกติเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค วินิจฉัยแยกโรค ประเมิลผลการรักษา ติดตามผลการรักษา และประเมินสุขภาพของผู้ป่วย
- ตรวจเพื่อเริ่มการบันทึกประวัติสุขภาพเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทราบจุดอ่อนหรือทราบสภาวะของโรคที่แฝงตัวอยู่ตั้งแต่เนิ่น ๆ และป้องกันมิให้ต้องถึงขั้นเจ็บป่วยจนต้องหยุดงาน
- ตรวจตามห้วงระยะเวลา เช่น ทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี
ประโยชน์ของการตรวจร่างกาย
- การตรวจร่างกายเป็นการตรวจพื้นฐานที่มีประโยชน์มากและมักทำควบคู่ไปกับการสอบถามอาการของผู้ป่วย ซึ่งผลที่ได้จากการตรวจร่างกาย แพทย์จะบันทึกไว้ในเวชระเบียนเสมอ เพราะนอกจากจะเป็นข้อมูลสำคัญของผู้ป่วยในการช่วยวินิจฉัยโรคแล้ว ยังช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค (เช่น ถ้ามีไข้ มีอาการไอ แต่การตรวจฟังปอดไม่พบความผิดปกติ ก็สามารถช่วยให้แพทย์แยกโรคได้ในระดับหนึ่งว่าจะเป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ยังไม่มีการติดเชื้อในปอด) ช่วยประเมินวิธีการรักษาที่เหมาะสม ช่วยติดตามผลการรักษา และประเมินสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยเพื่อให้การดูแลรักษาเป็นไปอย่างเหมาะสม
- แพทย์สามารถใช้เป็นแนวทางช่วยในการส่งตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยยืนยันให้การวินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากขึ้น เช่น ถ้าแพทย์ตรวจจากหูฟังและพบว่ามีเสียงผิดปกติในปอด แพทย์จะส่งตรวจเอกซเรย์ปอดเพื่อยืนยันการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีรอยโรคหรือพยาธิสภาพอะไรเกิดขึ้นในปอดบ้าง ซึ่งจะช่วยให้การวินิจฉัยและการรักษาโรคเป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การตรวจร่างกายเป็นการตรวจที่มีค่าใช้จ่ายต่ำมาก ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ยุ่งยากและมีราคาสูง แพทย์ทุกคนสามารถทำได้
โทษของการตรวจร่างกาย
ปกติแล้วการตรวจร่างกายเป็นการตรวจที่ไม่มีโทษหรือผลข้างเคียง ไม่จัดเป็นหัตถการ ไม่มีข้อห้ามในการตรวจ และสามารถให้การตรวจได้ในทุกสถานที่ โดยการตรวจอาจมีแค่อุปกรณ์ช่วยตรวจพื้นฐาน เช่น เครื่องวัดความดัน ปรอทวัดไข้ หูฟัง และค้อนยาง อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีที่เป็นการตรวจด้วยการใช้มือสัมผัส เช่น การตรวจคลำช่องท้อง การตรวจทางทวารหนัก หรือการตรวจภายใน อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บได้บ้างเล็กน้อย และอาการจะหายไปเองโดยไม่ต้องรักษาภายใน 2-3 นาทีหลังจตรวจ
ขั้นตอนการตรวจร่างกาย
- ไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพหรือเมื่อมีอาการผิดปกติใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติทางกายภาพ (เช่น มีอาการเคืองตา คลำพบปุ่มน้ำเหลือง บริเวณช่องท้องมีอาการบวม นิ้วล็อก ใช้มือกำสิ่งของไม่มีแรง) หรือความผิดปกติทางสมอง (เช่น มีอาการซึมเศร้า สมาธิสั้น แขนขาข้างใดข้างหนึ่งมีเรี่ยวแรงน้อยผิดปกติ มีอาการสั่นที่มือโดยมิได้ตั้งใจ มีอาการนอนไม่หลับ ยืนตัวตรงแต่ร่างกายกลับเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง)
- เมื่อมาถึงโรงพยาบาล ขั้นตอนแรกจะเป็นการทำประวัติที่แผนกทำประวัติ และรอพบแพทย์ที่หน้าห้องตรวจ (ถ้ามีระเบียบว่าต้องเปลี่ยนเสื้อผ้า เจ้าหน้าที่จะให้เปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนในห้องที่จัดเตรียมเอาไว้ และมักแนะนำให้ผู้ป่วยเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย)
- ที่บริเวณหน้าห้องตรวจ เจ้าหน้าที่หรือพยาบาลอาจสอบถามประวัติอาการของผู้ป่วยในเบื้องต้นก่อนเพื่อจัดคิวตรวจที่เหมาะสม และจะทำการตรวจร่างกายขั้นต้นใน 2 เรื่อง (เมื่อตรวจเสร็จก็รอพบแพทย์ตามคิว) คือ
- วัดขนาดชีวภาพพื้นฐาน (Basic Biometrics) โดยจะเป็นการวัดส่วนสูงและชั่งน้ำหนักตัวเพื่อคำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ซึ่งหากได้ค่า BMI เกินกว่า 25.0 ก็จะถือว่า มีสภาวะโรคอ้วน
- ตรวจวัดสัญญาณชีพ (Vital Signs) ซึ่งมักจะประกอบไปด้วย การวัดความดันโลหิต, การวัดอัตราชีพจร, การวัดอุณหภูมิร่างกาย (บางกรณี), การวัดอัตราการหายใจ (บางกรณี)
- เมื่อพบแพทย์ แพทย์จะตรวจสอบประวัติเบื้องต้นจากเวชระเบียนรวมทั้งสัญญาณชีพ สอบถามอาการและประวัติทางการแพทย์เพิ่มเติม โดยเรื่องที่มักจะเป็นหัวข้อสนทนาก็มักจะเป็นเรื่องของประวัติการเจ็บป่วยในอดีตและปัจจุบัน, ประวัติสุขภาพของคนในครอบครัว, ประวัติการใช้ยาต่าง ๆ รวมทั้งประวัติการแแพ้ยา แพ้อาหาร หรือแพ้สิ่งต่าง ๆ, การตั้งครรภ์และการมีบุตรในผู้หญิง, การได้รับวัคซีน DPT, ลักษณะโภชนาการที่บริโภคประจำวัน, ลักษณะอาชีพหรือสถานที่อยู่อาศัยที่เสี่ยงต่อโรคภัย, ลักษณะเพื่อฝูงและการสังคมเที่ยวเตร่ และพฤติกรรมการเสพสิ่งเสพติดต่าง ๆ เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ ยาเสพติด สมุนไพรอย่างกรณีกินหมาก ดื่มชาแห้ม ฯลฯ
- ในขั้นตอนการซักถามประวัตินี้ แพทย์บางท่านอาจเชิญญาติออกไปนอกห้องตรวจ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยหรือผู้รับการตรวจได้อยู่ตามลำพังเพียงสองต่อสองกับแพทย์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความสะดวกใจ กล้าหรือไม่ละอายที่จะตอบข้อซักถามกับแพทย์ได้อย่างตรงไปตรงมาอันมีลักษณะเป็นความลับเฉพาะตัว เพื่อที่แพทย์จะได้ทราบข้อมูลต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหา
- หลังจากนั้นจะเป็นการตรวจร่างกาย ถ้าเป็นการตรวจทั้งตัว ผู้ช่วยแพทย์หรือพยาบาลจะช่วยจัดให้ผู้ป่วยนอนบนเตียง แต่ในกรณีที่เป็นการตรวจเฉพาะส่วนบนของร่างกาย (เช่น หู คอ จมูก ตา หรือปอด) การตรวจจะทำในท่านั่งบนเก้าอี้ในห้องตรวจ ส่วนการตรวจจะเริ่มจุดใดก่อนนั้นจะขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์แต่ละท่าน แพทย์บางท่านอาจเริ่มตรวจทั้งตัวก่อน โดยเริ่มจากศีรษะ ลำคอ ลงไปถึงเท้า แล้วตามด้วยการตรวจตำแหน่งที่ผู้ป่วยมีอาการ (ถ้ามี) แต่แพทย์บางท่านก็อาจเริ่มตรวจในตำแหน่งที่มีอาการก่อนแล้วจึงตรวจส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
- การตรวจร่างกายของแพทย์มักจะอยู่ในกรอบการปฏิบัติใหญ่ ๆ 4 ข้อ ดังนี้
- การตรวจด้วยสายตา (Inspection) โดยอาศัยหลักการที่ว่า “รูปกายภายนอกย่อมบอกสิ่งผิดปกติภายใน” ซึ่งแพทย์จะดูผู้ป่วยทั้งตัวตั้งแต่ลักษณะของการเดิน นั่ง ยืน เคลื่อนไหว สีของใบหน้า เล็บ ผิวหนัง ผิวของลูกนัยน์ตา ผิวหนังภายในลำคอ เป็นต้น เพราะจะเป็นตัวช่วยบ่งบอกถึงโรคและสุขภาพของผู้ป่วยได้
- การตรวจด้วยการใช้มือกดสัมผัส (Palpation) โดยอาศัยหลักที่ว่า “สิบตาเห็นไม่เท่าหนึ่งมือคลำ” เช่น การใช้นิ้วมือกดผิวหนังบริเวณหลังเท้าเพื่อดูว่ามีรอยบุ๋มหรือไม่, การใช้นิ้วและ/หรือฝ่ามือคลำตามส่วนต่าง ๆ เพื่อตรวจหาก้อนเนื้อ ขนาดอวัยวะ ความนุ่ม ความแข็ง ความเกร็ง และอาการเจ็บปวด (เช่น คลำเต้านม คลำช่องท้อง คลำต่อมน้ำเหลือง)
- การตรวจด้วยการเคาะ (Percussion) โดยอาศัยหลักการที่ว่า “ถ้าเจ้าอยากเข้าประตูก็จงอย่ารีรอที่จะเคาะประตู” ซึ่งแพทย์จะวางมือหนึ่งบนตำแหน่งที่ต้องการตรวจ แล้วจึงใช้นิ้วมืออีกข้างเคาะบนหลังมือที่วางอยู่บนอวัยวะของผู้ป่วย เพื่อตรวจรับการสะท้อนของเสียง ดูลักษณะ และ/หรือขนาดของอวัยวะนั้น ๆ เช่น การเคาะปอด การเคาะช่องท้องเพื่อดูปริมาณของแก๊สในลำไส้ นอกจากนี้ยังมีการใช้ค้อนยางเคาะตรวจตรงบริเวณหัวเข่าด้วย
- การตรวจด้วยการฟังเสียง (Auscultation) โดยอาศัยการที่ว่า “เสียงเป็นสื่อสัมผัสซึ่งให้ความรู้สึกที่ลุ่มลึก” เช่น การฟังเสียงพูดของผู้ป่วยว่าแหบผิดปกติหรือไม่, การใช้หูฟัง (Stethoscope) มากดฟังที่อกหรือแผ่นหลังเพื่อฟังเสียงการหายใจของปอด หรือกดฟังที่ช่องท้องเพื่อฟังเสียงการเคลื่อนไหวของลำไส้
- นอกจากนี้ การตรวจร่างกายยังอาจแบ่งออกเป็นการตรวจทั่วไปและการตรวจเฉพาะที่
- การตรวจทั่วไป (Systemic physical examination) เป็นการตรวจร่างกายพื้นฐานในผู้ป่วยทุกราย โดยจะเป็นการตรวจดูลักษณะภายนอกของผู้ป่วย เช่น อ้วน ผอม บวม ลักษณะการเดิน การตรวจปอดด้วยหูฟัง และการตรวจคลำช่องท้อง
- การตรวจเฉพาะที่ (Specific organ examination) เป็นการตรวจเฉพาะในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการเฉพาะในตำแหน่งหรืออวัยวะหรือระบบที่ผู้ป่วยมีอาการ เช่น การตรวจตาเมื่อผู้ป่วยมีอาการทางการมองเห็น, การตรวจทางหูคอจมูกเมื่อผู้ป่วยมีอาการทางหูคอจมูก, การตรวจช่องปากและลำคอเมื่อผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอ, การตรวจภายในเมื่อผู้ป่วยมีอาการตกขาวหรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับประจำเดือน, การตรวจทางทวารหนักเมื่อผู้ป่วยมีอุจจาระเป็นเลือด, การตรวจรีเฟล็กซ์ต่าง ๆ เมื่อผู้ป่วยมีความผิดปกติในระบบประสาท ฯลฯ
- การตรวจร่างกายของแพทย์มักจะอยู่ในกรอบการปฏิบัติใหญ่ ๆ 4 ข้อ ดังนี้
- เมื่อตรวจร่างกายเสร็จ แพทย์จะแจ้งว่าตรวจเสร็จแล้ว ผู้ช่วยแพทย์หรือพยาบาลจะให้ผู้ป่วยลงมาจากเตียงหรือกลับมานั่งเก้าอี้ที่ใช้นั่งคุยกับแพทย์ แล้วแพทย์จะเริ่มพูดคุยกับผู้ป่วย โดยแจ้งผลการตรวจว่าเป็นอย่างไร ปกติหรือไม่ปกติ มีอะไรน่าเป็นห่วงหรือน่าจะเป็นโรคอะไรหรือไม่ จำเป็นต้องมีการตรวจอะไรเพิ่มเติมไหม มีคำแนะนำอย่างไร (เช่น การพักผ่อน การออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร ฯลฯ) หรือสามารถให้การรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้เลย (เช่น การให้ยากิน การให้ฉีดยา การนัดมารับทำกายภาพบำบัด การนำมารับการผ่าตัด) หรือไม่จำเป็นต้องรักษาหรือสั่งยา รวมถึงบอกวันและเวลานัดหมายครั้งหน้าที่จะให้กลับมาพบแพทย์ในการตรวจครั้งต่อไปเพื่อติดตามผล (ถ้ามี) และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถซักถามปัญหาสุขภาพที่ยังไม่เข้าใจหรือขอคำแนะนำต่าง ๆ ได้ เมื่อผู้ป่วยเข้าใจดีแล้วก็เป็นอันเสร็จสิ้นการตรวจ
- ต่อจากนั้น ผู้ป่วยจะออกจากห้องตรวจและพบพยาบาลเพื่อรับใบนัดพบแพทย์ครั้งต่อไปหรือใบตรวจเพิ่มเติมต่าง ๆ (ถ้ามี)
- ในกรณีที่ต้องมีการตรวจเพิ่มเติม (แพทย์พบความผิดปกติและประสงค์จะวินิจฉัยพยาธิสภาพของผู้ป่วยให้แม่นยำยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเกี่ยวกับอวัยวะหรือโรคใด) แพทย์จะส่งตัวผู้ป่วยไปยังแผนกหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษเพื่อรับการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การตรวจเอกซเรย์ปอด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจความหนาแน่นของกระดูก ฯลฯ หลังจากนั้นจึงไปยังห้องยา (ถ้ามี) และ/หรือห้องชำระเงินก็เป็นอันครบกระบวนการตรวจร่างกาย ส่วนผลของการตรวจเพิ่มเติมต่าง ๆ แพทย์จะนัดผู้ป่วยอีกครั้งหลังได้รับผลการตรวจเพิ่มเติมนั้น
การเตรียมตัวก่อนไปตรวจร่างกาย
- โดยปกติแล้วไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้าเมื่อไปตรวจร่างกาย เพราะแพทย์สามารถตรวจร่างกายผู้ป่วยได้เลยที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก แต่ในบางครั้ง บางโรงพยาบาล กรณีที่เป็นผู้ป่วยทั่วไปที่เป็นโรคเฉพาะทางที่ไม่ใช่ผู้ป่วยหนัก มักให้ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนเสื้อผ้าของโรงพยาบาลก่อนเพื่อความสะดวกในการตรวจร่างกาย ซึ่งบางครั้งอาจให้เปลี่ยนเสื้อผ้าเฉพาะส่วน เช่น เปลี่ยนเฉพาะเสื้อในกรณีที่เป็นผู้ป่วยโรคปอดและ/หรือโรคหัวใจ หรือเปลี่ยนเฉพาะกางเกงเป็นผ้าถุงของโรงพยาบาลในกรณีที่เป็นการตรวจภายใน
- การตรวจบุคคลธรรมดาที่มิใช่ในฐานะผู้ป่วยนั้นไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพื่อความสะดวกแก่ทุกฝ่าย จึงควรโทรนัดหมายกับสถานพยาบาลไว้ก่อนล่วงหน้า และควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ถอดและสวมใส่ได้ง่าย รวมทั้งรองเท้า
- เตรียมเอกสารสำคัญติดตัวไปด้วย เช่น
- สำเนาใบแสดงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ที่ผ่านมา (ถ้ามี)
- สมุดบันทึกประวัติสุขภาพส่วนตัว (ถ้ามี) เพื่อใช้เป็นข้อมูลรายงานความผิดปกติใด ๆ กับแพทย์ได้อย่างถูกต้องและชัดเจนยิ่งขึ้น และอาจช่วยให้การรักษาได้ผลสำเร็จเร็วขึ้นก็ได้ โดยแนะนำว่าให้บันทึกข้อมูลให้ครบองค์ประกอบทั้ง 4 อย่างเมื่อพบความผิดปกติใด ๆ คือ อะไร ที่ไหน เมื่อใด และอย่างไร เช่น คลำพบครั้งแรกเป็นเม็ดเล็ก ๆ และเข้าใจว่าเป็นปุ่มน้ำเหลืองที่ขาหนีบของขาขวา เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2661 ขนาดประมาณ 0.5 เซนติเมตร แต่ไม่รู้สึกเจ็บหรือปวดแต่อย่างใด
- ผลการตรวจจากโรงพยาบาลอื่น ๆ (ถ้ามี)
- รายชื่อยาที่กำลังใช้อยู่เป็นประจำในขณะนั้น (หากไม่ทราบชื่อยา ให้นำตัวอย่างยาติดตัวมาด้วย)
- บัตรสิทธิต่าง ๆ เพื่อขอใช้สิทธิ เช่น บัตรประกันสุขภาพ บัตรจ่ายตรงกับกรมบัญชีกลาง (ในกรณีที่เป็นข้าราชการและรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ)
- อาจจำเป็นต้องงดอาหารล่วงหน้าก่อนเข้ารับการตรวจ ทั้งนี้ ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด ซึ่งอาจให้คำแนะนำล่วงหน้าในขณะที่คุณโทรนัดหมาย
- เตรียมคำถามและจดเอาไว้ก่อนล่วงหน้า ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้พูดคุยและสอบถามแพทย์ได้อย่างรวดเร็วและครบถ้วนในทุกประเด็นที่สงสัย อยากรู้ หรือเป็นกังวล
- เพื่อความชัดเจนและป้องกันการหลงลืมจากคำแนะนำหรือคำสั่งต่าง ๆ ของแพทย์ (ในขั้นตอนการสอบถามและฟังคำแนะนำจากแพทย์) ผู้ป่วยควรจดข้อมูลทั้งหลายลงในสมุดบันทึกประวัติสุขภาพส่วนตัวที่นำติดตัวไปด้วย
ข้อควรรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจร่างกาย
- การตรวจร่างกายนั้นมีขั้นตอนไม่ซับซ้อน อาจมีการใช้เครื่องมือช่วยบ้าง แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ไม่ซับซ้อนอะไร ไม่เจ็บ ไม่มีอันตราย และไม่มีผลข้างเคียง เช่น หูฟัง ค้อนยางเพื่อตรวจรีเฟล็กซ์
- แพทย์บางท่านอาจให้ญาติเข้ามาพบแพทย์พร้อมกับผู้ป่วยได้ แต่ในขณะที่ตรวจอาจจะมีม่านกั้นระหว่างผู้ป่วยกับญาติ แต่แพทย์บางท่านก็อาจจะพบและตรวจผู้ป่วยก่อน แล้วจึงพูดคุยอธิบายกับญาติ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแพทย์แต่ละท่านและความเหมาะสมเป็นหลัก
- ในระหว่างการตรวจร่างกาย แพทย์จะมีผู้ช่วยแพทย์หรือพยาบาล (ที่มักเป็นผู้หญิง) อยู่ร่วมด้วยเสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อคอยช่วยเหลือแพทย์ และเป็นระเบียบปฏิบัติของแพทย์สภาที่แนะนำไม่ให้แพทย์อยู่ตามลำพังกับผู้ป่วย
- ผู้ป่วยควรผ่อนคลายให้มาก ไม่ต้องกลัวหรือเกร็งไปหมด ให้หายใจเข้าออกตามปกติ และวางมือทั้งสองข้างในตำแหน่งที่แพทย์แนะนำ เพราะการผ่อนคลายและไม่เกร็งในขณะตรวจร่างกายจะช่วยเพิ่มความถูกต้องของการตรวจร่างกายได้ โดยเฉพาะขั้นตอนการใช้มือกดสัมผัส (Palpation) และในระหว่างการตรวจร่างกาย แพทย์อาจซักถามถึงความรู้สึกของผู้ป่วยในขณะที่ตรวจ เช่น เจ็บไหม เจ็บมากไหม เจ็บร้าวไปตรงไหนบ้าง ฯลฯ
- ผลการตรวจร่างกายจะทราบได้ทันทีเมื่อแพทย์ตรวจร่างกายเสร็จแล้ว ซึ่งแพทย์มักจะแจ้งให้ทราบว่า ผลตรวจเป็นอย่างไร ผิดปกติหรือปกติ มีอะไรต้องตรวจเพิ่มเติมหรือไม่ รวมถึงให้คำแนะนำต่าง ๆ ซึ่งถ้าแพทย์ไม่บอกหรือผู้ป่วยมีข้อสงสัยอะไรก็สามารถสอบถามแพทย์ได้เลย
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)