การตรวจภายใน (PV : Pelvic examination, Vaginal examination)

การตรวจภายใน

การตรวจภายใน, การตรวจภายในโดยสูตินรีแพทย์, การตรวจอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานสตรี หรือที่ในทางการแพทย์มักเรียกอย่างย่อ ๆ ว่า “การตรวจพีวี” (PV : Pelvic exam, Pelvic examination, Per vaginal examination, Vaginal examination) คือ การตรวจอวัยวะสืบพันธุ์และอวัยวะใกล้เคียงที่อยู่ในอุ้งเชิงกรานของสตรี (หลัก ๆ คือ อวัยวะเพศภายนอก ช่องคลอด มดลูก และรังไข่) โดยสูตินรีแพทย์ เพื่อประสงค์จะให้เห็นลักษณะ รูปร่าง และขนาดว่ายังเป็นปกติดีอยู่หรือไม่ ซึ่งหากผิดปกติก็ย่อมแสดงว่ามีโรคใดโรคหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งการตรวจนั้นจะเป็นการตรวจโดยใช้เครื่องมือถ่างขยายช่องคลอด (Speculum) ที่มีขนาดเหมาะสมสอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อดูความผิดปกติในช่องคลอดและปากมดลูก ต่อจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการใช้นิ้วตรวจเข้าไปในช่องคลอดพร้อมกับใช้มืออีกข้างคลำทางหน้าท้องเพื่อประเมินความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานนั้นอีกครั้ง

จุดประสงค์ของการตรวจภายใน

การตรวจภายในสามารถทำได้ในหลาย ๆ กรณี แต่ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องพบแพทย์ก่อนในเบื้องต้น เพื่อมีการพูดคุยและประเมินถึงความเหมาะสมในการตรวจภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์

  • การตรวจภายในเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพสำหรับสตรี ซึ่งมักตรวจร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือแป๊ปสเมียร์ (Pap Smear)
  • เป็นการตรวจหาการติดเชื้อในช่องคลอด เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราในช่องคลอด
  • เป็นการตรวจค้นหาโรคติดทางเพศสัมพันธ์ (STD) เช่น โรคเริม, โรคหนองใน, โรคติดเชื้อไวรัสเอพีวี (HPV) โรคพยาธิในช่องคลอดจากการติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis)
  • เป็นการตรวจและหาสาเหตุของภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก, ตกขาวผิดปกติ, เนื้องอกมดลูก, เนื้องอกรังไข่, ภาวะมดลูกหย่อน, อาการปวดบริเวณท้องน้อย (อุ้งเชิงกราน) หรือบริเวณหลัง
  • เป็นการตรวจเมื่อมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือมีประจำเดือนผิดปกติ, มีตกขาวผิดปกติ, มีอาการปวดบริเวณท้องน้อยแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ, คลำได้ก่อนที่ท้องน้อย, มีอาการท้องอืด แน่นอึดอัดในท้อง, น้ำหนักตัวลดลงหรือผอมลง หรือตรวจในเด็กหญิงที่มีตกขาวผิดปกติหรือมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดในช่วงที่ไม่ควรออก
  • เป็นการตรวจทั่วไปก่อนการคุมกำเนิดบางวิธี เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์จะมีความเหมาะสมในการใช้งาน เช่น การใส่ห่วงอนามัย, การใส่ฝาครอบปากมดลูก
  • เป็นการตรวจเมื่อเริ่มมีการตั้งครรภ์
  • เป็นการตรวจเพื่อหาร่องรอยในกรณีที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
  • เป็นการตรวจในผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็ง

ต้องตรวจภายในเมื่อไหร่ บ่อยแค่ไหน

  • ในปัจจุบันพบว่าการตรวจภายในไม่ค่อยมีประโยชน์ในผู้ที่ไม่มีอาการ ส่วนใหญ่มักจะเป็นการตรวจที่ทำร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear) ที่ต้องตรวจทุก 3 ปี คือ ประมาณว่าตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแล้วก็เลยตรวจภายในให้ไปด้วยเลย
  • ตรวจในสตรีที่มีอาการหรือมีความเสี่ยงของสุขภาพตามดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งในสตรีบางรายอาจต้องเข้ารับการตรวจภายในมากกว่าปีละ 1 ครั้งหากมีความผิดปกติตามสาเหตุที่กล่าวไปข้างต้น
  • ตรวจเมื่อมีความกังวลในการเกิดความผิดปกติกับมะเร็งรังไข่และมะเร็งปากมดลูก ซีสต์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือปัญหาด้านอื่น ๆ เกี่ยวกับระบบอวัยวะสืบพันธุ์

การเตรียมตัวก่อนตรวจภายใน

การตรวจภายในเป็นการตรวจที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องใช้ยาชา หรือยาแก้ปวดใด ๆ ก่อนตรวจ (ยกเว้นในเด็ก) สามารถตรวจได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก และโดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้าก็สามารถทำการตรวจได้ แต่เพื่อให้ผลการตรวจออกมาสมบูรณ์ ควรมีการเตรียมตัวก่อนตรวจดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการเข้ารับการตรวจภายในในช่วงที่มีประจำเดือน โดยช่วงเวลาที่เหมาะกับการตรวจภายใน คือ หลังจากประจำเดือนหมดสนิทแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์ (แต่หากมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือประจำเดือนผิดปกติ สามารถไปตรวจได้เลยโดยไม่ต้องรอ เพราะอาจมีแผลหรือก้อนเนื้อผิดปกติต่าง ๆ ในระบบอวัยวะสืบพันธุ์)
  • ควรงดใช้ยารักษาภาวะช่องคลอดแห้งหรือยาเหน็บอวัยวะเพศอย่างน้อย 2 วันก่อนตรวจ
  • ไม่ควรทำความสะอาดหรือสวนล้างช่องคลอดเป็นพิเศษก่อนมาตรวจภายใน เพราะถ้าต้องมีการตรวจเซลล์หรือตรวจเชื้ออาจทำให้ผลตรวจผิดพลาดในทางลบได้ (คือมีโรคแต่ตรวจไม่พบ) ให้ผู้เข้ารับการตรวจดูแลร่างกายหรือทำความสะอาดตามปกติอย่างที่เคย และทำตัวสบาย ๆ มาตรวจได้เลย
  • เตรียมประวัติสำคัญต่าง ๆ และควรแจ้งให้แพทย์ทราบตามความเป็นจริง เพราะก่อนจะมีการตรวจภายใน แพทย์จะมีการซักประวัติเกี่ยวกับความผิดปกติต่าง ๆ โดยเฉพาะประวัติทางนรีเวช เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการประเมินร่วมกับผลตรวจ เช่น
    • ปัญหาสุขภาพทั่วไป โรคประจำตัว อาการแพ้ ยาที่รับประทาน
    • ประวัติเกี่ยวกับประจำเดือน ได้แก่ วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด ระยะเวลาของการมีประจำเดือนแต่ละครั้ง ระยะห่างของประจำเดือนจากวันแรกของรอบก่อนหน้าจนถึงวันแรกของรอบถัดไป ประจำเดือนมากหรือน้อยเพียงใด มีอาการปวดประจำเดือนหรือไม่อย่างไร ชนิดและปริมาณของยาที่ใช้ในการรักษาอาการปวดประจำเดือน เป็นต้น เพื่อที่แพทย์จะได้ช่วยประเมินว่าประจำเดือนของคุณปกติหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ปกติก็อาจจะต้องมีการตรวจเพิ่มเติมนอกเหนือกจากการตรวจภายใน
    • ประวัติเกี่ยวกับการคุมกำเนิด ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ (เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือไม่ หรือครั้งแรกและครั้งล่าสุดคือเมื่อไหร่) รวมไปถึงการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ก่อนหน้านี้ (เช่น เริม หนองใน เอดส์)
    • ประวัติเกี่ยวกับอาการผิดปกติ เช่น ตกขาวมากผิดปกติ อวัยวะเพศมีกลิ่น อาการคันบริเวณอวัยวะเพศ อาการปวดท้อง หรือคลำได้ก้อนที่ไหนหรือไม่ เพื่อที่คุณหมอจะได้พยายามค้นหาสาเหตุของอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุด
    • ประวัติเกี่ยวกับการผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน เช่น ถ้าเคยผ่าตัดมดลูกมาแล้ว รังไข่ยังอยู่หรือไม่ หรือผ่าตัดรังไข่ข้างไหนไป (ถ้าสมมติว่าเคยผ่าตัดมดลูกและรังไข่มาแล้วและตรวจพบก้อนจากการตรวจภายใน แพทย์จะได้ไม่ต้องสงสัยว่าเป็นที่มดลูกหรือรังไข่อีก แพทย์จะได้ไปหาสาเหตุของก้อนในระบบอื่น ๆ ต่อไป และผู้ตัวผู้รับการตรวจเองจะได้ไม่ต้องเสียและเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจที่ไม่จำเป็น)
    • ประวัติเกี่ยวกับมะเร็งในครอบครัว โดยเฉพาะมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
    • ประวัติเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอด
    • ผลการตรวจมะเร็งปากมดลูกครั้งที่ผ่านมา (ถ้ามี) เพราะหากเคยมีผลผิดปกติ การดูแลจะแตกต่างกันไป

เมื่อพูดถึงการตรวจภายใน สตรีทั้งหลายที่ไม่เคยมาตรวจมักจะเกิดความอายหรือกลัวว่าจะทำให้เจ็บจนไม่อยากมาตรวจ ตรงนี้ก็อยากให้คลายความกังวลครับ ให้คิดซะว่าเป็นเรื่องปกติเหมือนเราไปตรวจหู คอ หรือจมูก เพราะแพทย์จะเลือกใช้เครื่องมือที่มีขนาดเหมาะสมกับขนาดช่องคลอด ถ้าผู้เข้ารับการตรวจให้ความร่วมมือดี ไม่เกร็ง ไม่ต้าน ก็จะไม่ทำให้เจ็บครับ ส่วนการสอดใส่นิ้วเพื่อการตรวจคลำของแพทย์เพื่อประเมินพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานอีกครั้งก็อาจมีรู้สึกเจ็บหรือจุกบ้างเล็กน้อยเท่านั้น

ขั้นตอนการตรวจภายใน

การตรวจภายโดยทั่วไปแล้วจะใช้เวลาไม่นานประมาณ 5-10 นาที โดยการตรวจจะประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนการตรวจหลัก ๆ ได้แก่ การตรวจดูอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกด้วยตาเปล่า (External visual exam), การตรวจดูภายในช่องคลอดด้วยเครื่องมือสำหรับตรวจช่องคลอด (Internal visual exam) และการตรวจด้วยการใช้มือคลำที่หน้าท้องพร้อมกับการใช้นิ้วสอด (Bimanual examination) ซึ่งในระหว่างการตรวจแพทย์จะมีการแจ้งให้ผู้เข้ารับการตรวจทราบเป็นระยะ ๆ ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นในแต่ละขั้นตอน

  • ในขั้นแรก ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องมีการถอดกางเกงชั้นในและเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ (อาจเป็นกระโปรงหรือผ้าถุง) และปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนทำการตรวจ (เพราะการมีปัสสาวะสะสมในกระเพาะปัสสาวะจะส่งผลให้แพทย์ตรวจคลำอวัยวะต่าง ๆ ในอุ้งเชิงกรานได้ไม่ชัดเจน) จากนั้นเจ้าหน้าที่จะเชิญให้ขึ้นไปนอนหงายบนเตียงตรวจอวัยวะภายในซึ่งจะมีลักษณะเป็นขาหยั่งรองรับขาทั้งสองข้างเพื่อแยกขาออกจากกัน
  • แพทย์จะเป็นผู้แจ้งให้ผู้เข้ารับการตรวจทราบว่าควรจัดท่าทางให้อยู่ในลักษณะใด และผู้เข้ารับการตรวจจะต้องพยายามแยกหัวเข่าทั้ง 2 ข้างออกจากกันให้กว้างที่สุดในขณะที่พยายามวางก้นลงบนเตียง (เพราะท่านี้จะช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อในช่องคลอดได้ ทำให้ไม่เจ็บ แพทย์ทำการตรวจได้สะดวก ใส่เครื่องมือได้ง่ายขึ้น เห็นอวัยวะได้ชัดเจน และไม่ถูกบังโดยขาของผู้ป่วย)
  • แพทย์จะเริ่มตรวจดูบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกด้วยตาเปล่าว่ามีสภาพปกติ หรือมีอาการผิดปกติหรือไม่ โดยจะดูรูปร่างของคลิตอริสและอวัยวะใกล้เคียง เช่น ท่อปัสสาวะ รู้ก้น ดูการกระจายของขน ดูก้อน รอยแดง แผล บวม ตุ่ม ฯลฯ ใช้นิ้วคลำต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ คลำก้อนผิดปกติบริเวณปากช่องคลอด
  • จากนั้นแพทย์จะเลือกใช้เครื่องมือถ่างขยายช่องคลอด (Speculum) ที่มีขนาดเหมาะสมกับขนาดของช่องคลอดของผู้รับการตรวจ (ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่) ซึ่งเป็นเครื่องมือทรี่มีลักษณะคล้ายปากเป็ดที่ผ่านการอบฆ่าเชื้อแล้ว (จึงไม่ต้องกังวลว่าจะไม่สะอาดหรือทำให้เกิดการติดเชื้อ) สอดผ่านเข้าไปในช่องคลอดแล้วเปิดขยายช่องคลอดให้กว้างขึ้นเพื่อดูความผิดปกติ ตกขาว รอยแผล ก้อน หรือสีผิดปกติในช่องคลอดและปากมดลูก (ผู้เข้ารับการตรวจบางอาจรู้สึกเจ็บบ้างเล็กน้อยในขั้นตอนนี้)
    • ในบางรายอาจมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear) ไปพร้อมกันด้วย ซึ่งแพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายไม้ไอศกรีม (แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก) หรือใช้แปรงเล็ก ๆ ป้ายเอาเซลล์บริเวณปากมดลูกบางส่วนออกมาก่อนที่จะรีบนำไปส่งห้องปฏิบัติการ (Laboratory) เพื่อการตรวจวิเคราะห์ทางพยาธิวิทยาต่อไปว่ามีเซลล์ผิดปกติที่เข้าได้กับระยะก่อนเป็นมะเร็งหรือระยะที่เป็นมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ ซึ่งต้องรอผลประมาณ 1-4 สัปดาห์

      การตรวจแป๊ปสเมียร์
      IMAGE SOURCE : www.cancer.gov

  • เมื่อตรวจเสร็จแล้วแพทย์จะนำอุปกรณ์เก็บเซลล์และเครื่องมือถ่างขยายช่องคลอดออก หลังจากนั้นในขั้นต่อไปจะเป็นการตรวจด้วยการใช้มือคลำที่หน้าท้องพร้อมกับการใช้นิ้วสอด (เนื่องจากไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก) โดยแพทย์ที่สวมถุงมือฆ่าเชื้อที่เคลือบสารหล่อลื่นอยู่จะใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของสอดเข้าไปในช่องคลอด ส่วนมืออีกข้างจะคลำที่หน้าท้องบริเวณท้องน้อยไปพร้อม ๆ กัน เพื่อตรวจดูขนาดและตำแหน่งของมดลูกว่ามีความปกติใด ๆ เกิดขึ้นหรือไม่ หรือมีก้อน กดแล้วมีความรู้สึกเจ็บ หรือมีสิ่งผิดปกติอื่น ๆ หรือไม่ (ในระหว่างนี้ให้พยายามผ่อนคลายให้มาก ๆ อย่าเกร็งท้อง เพราะจะช่วยให้แพทย์ตรวจได้ง่าย แม่นยำ และตรวจเสร็จได้อย่างรวดเร็ว) และในบางกรณีที่แพทย์สงสัยว่ามีพยาธิสภาพ โดยอาจมีก้อนเนื้องอก มีพังผืดที่ยึดปีกมดลูกและมดลูกกับผนังเชิงกราน อาจต้องมีการตรวจในช่องคลอดและตรวจทางทวารหนักไปพร้อม ๆ กัน (Rectovaginal examination)
    • ในคนที่ผอม หน้าท้องบาง แพทย์จะสามารถสัมผัสและคลำมดลูกและรังไข่ได้อย่างชัดเจน ส่วนในคนอ้วนหรือลงพุงการตรวจในขั้นตอนนี้จะมีข้อจำกัด ดังนั้นอาจต้องทำใจว่าถ้าอ้วนมาก ๆ แพทย์จะตรวจหาความผิดปกติได้ลำบาก เพราะคลำไปไม่ถึง เนื่องจากติดบริเวณชั้นไขมัน

      การตรวจภายใน
      IMAGE SOURCE : www.cancer.gov

  • หลังจากนั้นผู้เข้ารับการตรวจก็สามารถลงจากเตียงตรวจและเปลี่ยนกลับมาใส่ชุดเดิมได้ (ผู้เข้ารับการตรวจบางรายอาจรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อยจากการสอดใส่เครื่องมือและการสอดนิ้วเพื่อการตรวจคลำของแพทย์ ซึ่งอาการปวดมักมีอยู่นานประมาณ 2-3 นาที)

การตรวจภายในเป็นการตรวจทางการแพทย์ที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่อาจทำให้ผู้เข้ารับการตรวจบางรายเกิดความรู้สึกเจ็บได้เล็กน้อย หรือเกิดความรู้สึกไม่สบายตัวในขณะที่สอดเครื่องมือหรือการคลำของแพทย์ แต่ส่วนใหญ่แล้วอาการจะหายไปภายหลังที่การตรวจเสร็จสิ้น

ผลการตรวจภายใน

โดยปกติแล้วการตรวจภายในจะทราบผลได้ภายในวันเดียวกันกับวันที่เข้ารับการตรวจ ยกเว้นในกรณีที่มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap Smear) ที่อาจต้องรอผลการตรวจประมาณ 1-4 สัปดาห์ ซึ่งแพทย์จะนัดมาฟังผลอีกครั้งหลังจากผลการตรวจวิเคราะห์เสร็จสิ้น และอาจมีการจ่ายยาในบางราย

  • หากผลตรวจออกมาปกติ ผู้เข้ารับการตรวจก็สามารถกลับบ้านได้ทันทีโดยไม่ต้องพักฟื้น สามารถใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ รวมทั้งในเรื่องของเพศสัมพันธ์ และไม่ต้องมีการดูแลเฉพาะเป็นพิเศษแต่อย่างใด
  • หากผลตรวจออกมาผิดปกติ (พบสิ่งปกติ) แพทย์อาจต้องทำการตรวจในขั้นต่อไปเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติที่เกิดขึ้น และจะแนะนำการดูแลตนเองเพิ่มเติม ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละโรคและเป็นราย ๆ ไป
เอกสารอ้างอิง
  1. หาหมอดอทคอม.  “การตรวจภายใน (Per vaginal examination)”.  (รศ.พญ.ประนอม บุพศิริ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [10 มิ.ย. 2018].
  2. พบแพทย์ดอทคอม.  “รู้ไว้ก่อนไปตรวจภายใน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com.  [14 มิ.ย. 2018].
  3. ใกล้ชิดหมอ.  “การตรวจภายในคืออะไร”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.facebook.com/Drnextdoor.  [21 มิ.ย. 2018].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด