การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count : CBC)

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count : CBC)

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด หรือ การตรวจซีบีซี (ภาษาอังกฤษ : Complete Blood Count หรือ CBC*) คือ การตรวจเลือดวิธีหนึ่งที่ใช้วัดสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยได้ส่วนหนึ่ง รวมทั้งช่วยตรวจหาปัญหาสุขภาพหรือโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลหิตจาง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือการติดเชื้อต่าง ๆ

ซึ่งในใบรายงานผลของการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดจะมีค่าปกติกำกับมาให้อยู่แล้ว แต่อาจจะแตกต่างกันในแต่ละแล็บและโรงพยาบาล ทั้งจากเทคนิคการตรวจ ยี่ห้อเครื่องที่ใช้ตรวจ รวมถึงหน่วยหรือค่าค่าต่าง ๆ ที่ใช้รายงานผล ดังนั้น แพทย์จึงเป็นผู้แปลผลตรวจจากค่าปกติที่กำกับมาในใบรายงานผล ร่วมกับอาการและการตรวจร่างกายของผู้ป่วย

หมายเหตุ : การตรวจนี้อาจมีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า Complete Blood Cell Count, Blood Profile, Hemogram, Full Blood Count (FBC)

ประโยชน์ของการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด

  1. เป็นการตรวจเพื่อดูสุขภาพโดยรวม เช่น ผู้ป่วยมีโรคเรื้อรังเกี่ยวกับเลือดชนิดใดหรือมีการอักเสบของอวัยวะใดที่อาจซ่อนเร้นอยู่ภายในร่างกายบ้างหรือไม่ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia), โรคโลหิตจาง (Anemia), สภาวะเลือดหยุดไหลยากเมื่อเกิดบาดแผล ฯลฯ
  2. เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยปัญหาสุขภาพ เช่น การตรวจเพื่อยืนยันผลการติดเชื้อในกรณีที่คาดว่าผู้ป่วยรายนั้นได้รับเชื้อบางอย่างเข้าสู่ร่างกาย หรือตรวจเพื่อบ่งชี้สภาวะการอักเสบใด ๆ ทั่วทั้งร่างกาย
  3. เป็นการตรวจเพื่อสังเกตและติดตามผลการรักษาโรค โดยเฉพาะโรคโลหิตจาง โรคเลือดอื่น ๆ หรือโรคที่ส่งผลกระทบต่อจำนวนเซลล์เม็ดเลือด นอกจากนี้ แพทย์จะทำการตรวจความสมบูรณ์เม็ดเลือดในผู้ป่วยที่ใช้ยาซึ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนเซลล์เม็ดเลือดด้วย
  4. เป็นการตรวจเพื่อประเมินร่างกายก่อนการผ่าตัดใหญ่ด้วยโรคอื่น ๆ เพื่อให้แน่ใจในปริมาณของความหนาแน่นของเม็ดเลือดแดง (ไม่เป็นโรคโลหิตจาง) และในปริมาณของเกล็ดเลือดเพื่อให้มั่นใจว่าเลือดจะหยุดไหลเมื่อเกิดบาดแผลจากการผ่าตัด รวมทั้งเพื่อให้มั่นใจปริมาณหรือระดับของเม็ดเลือดขาวว่าจะช่วยฆ่าทำลายล้างจุลชีพก่อโรคใด ๆ ที่อาจล่วงล้ำเข้าสู่ร่างกายในขณะที่ร่างกายยังกำลังอ่อนแอหลังการผ่าตัดได้
  5. เป็นการตรวจเพื่อวิเคราะห์การตอบสนองของร่างกายต่อการรักษาบางอย่าง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัดจะเป็นการตรวจเพื่อดูว่าการรักษามีผลต่อการทำให้ไขกระดูก (Bone marrow) ผลิตเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ออกมาน้อยหรือมากกว่าปกติหรือไม่

cbcคืออะไร
IMAGE SOURCE : www.cancer.gov

คำแนะนำก่อนตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด

  • ผู้ที่มีภาวะเลือดออกหรือเกิดลิ่มเลือด รวมทั้งผู้ใช้ยาเจือจางเลือด แอสไพริน หรือวาฟาริน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการเจาะเลือด เนื่องจากอาจเกิดปัญหาเลือดไม่หยุดไหลหรือประสบภาวะเลือดออกมากขึ้น
  • หากตรวจเฉพาะ CBC เพียงอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องงดน้ำงดอาหารแต่อย่างใด
  • ในสถานพยาบาลหรือห้องปฏิบัติการตรวจเลือดแต่ละแห่ง อาจกำหนดชื่อการตรวจเลือดมาตรฐานเพื่อหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) แตกต่างกันไป และอาจแตกต่างในด้านของจำนวนผลเลือดที่ตรวจด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมย่อมจะมีชื่อการตรวจเลือดตัวหลัก ๆ ที่คล้ายคลึงกันหรือเหมือนกันทุกแห่ง

ขั้นตอนการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด

การเจาะเลือด (เพื่อตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด) จะใช้เวลาเพียง 2-3 นาที ซึ่งจะมีรายละเอียดขั้นตอน ดังนี้

  1. ผู้เข้ารับการตรวจจะนั่งบนเก้าอี้หรือนอนบนเตียง แล้วเจ้าหน้าที่จะใช้สายยางรัดเหนือหลอดเลือดตรงบริเวณที่จะเจาะเพื่อช่วยให้เส้นเลือดโป่งขึ้นและง่ายต่อการเจาะเลือด (โดยส่วนมากจะเจาะที่บริเวณข้อพับแขน เพราะเป็นส่วนที่เห็นเส้นเลือดได้ชัดเจนและเจาะได้สะดวก แต่ก็สามารถเจาะบริเวณอื่น ๆ ได้เช่นกัน ส่วนในเด็กอาจเจาะบริเวณหลังมือ ในเด็กทารกจะเจาะที่ส้นเท้า)
  2. จากนั้นเจ้าหน้าที่จะใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะเจาะเลือดเพื่อฆ่าเชื้อ และรอสักครู่จนแห้ง แล้วจึงนำไซลิงค์เจาะเพื่อดูดเอาตัวอย่างเลือดตามปริมาณที่ต้องการ (ผู้เข้ารับการตรวจอาจรู้สึกคันหรือเจ็บจี๊ดเล็กน้อยบริเวณที่เจาะ)
  3. เมื่อได้ปริมาณตัวอย่างเลือดตามต้องการแล้ว (สำหรับการตรวจ CBC จะใช้ตัวอย่างเลือดประมาณ 1 ขวดแก้วขนาดเล็ก หรืออาจมากกว่านั้น) เจ้าหน้าที่จะนำเข็มออก ปลดสายรัด ติดสำลีและพลาสเตอร์ยาบริเวณรอยเข็ม เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกจากภายนอกก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย (ในบางรายเจ้าหน้าที่อาจมีการขอให้ผู้เข้ารับการตรวจกดบริเวณที่จะติดพลาสเตอร์ยาไว้ชั่วครู่เพื่อให้เลือดหยุดไหลเร็วขึ้น)

ขั้นตอนการตรวจความสมบูรณ์ของเลือด
IMAGE SOURCE : centromedicoclinico.com

ผลข้างเคียงของการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด

  • เวียนศีรษะหรือเป็นลม ในขั้นตอนการเจาะเลือดอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายเล็กน้อยเมื่อแทงเข็มเข้าไปที่เส้นเลือด และผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกเวียนศีรษะหรือเป็นลมเมื่อเห็นเลือด
  • รอยช้ำ หลังการตรวจอาจเกิดรอยช้ำเล็กน้อยบริเวณที่ถูกเจาะเลือด ซึ่งจะหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน (ให้ใช้วิธีกดที่บริเวณดังกล่าวไว้สักพัก เพื่อลดโอกาสเกิดรอยช้ำ)
  • หลอดเลือดดำอักเสบ ผู้ได้รับการตวจอาจประสบภาวะหลอดเลือดดำอักเสบหลังการเจาะเลือด ซึ่งจะทำให้หลอดเลือดดบวมขึ้น (ให้ใช้วิธีประคบอุ่นบริเวณดังกล่าววันละหลาย ๆ ครั้ง เพื่อบรรเทาอาการหลอดเลือดดำอักเสบ)
  • เลือดไม่หยุดไหลหรือเลือดออกมากขึ้น โดยในผู้ที่มีภาวะเลือดออกหรือเกิดลิ่มเลือดอาจทำให้เลือดไม่หยุดไหล ส่วนผู้ที่ใช้ยาเจือจางเลือด แอสไพริน หรือวาฟาริน อาจทำให้เลือดออกมากขึ้นหลังการเจาะเลือด

ผลการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดจะปรากฏผลการตรวจที่แตกต่างกันไปแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับจำนวนเซลล์ที่อยู่ในเลือด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วัดผลและวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยจากการตรวจดังกล่าว โดยผู้ที่ผลการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดอยู่ในระดับผิดปกติ อาจต้องเข้ารับการตรวจเลือดอีกครั้ง รวมทั้งอาจต้องมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยวัดและยืนยันผลการวินิจฉัย

โดยผลการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ผลการตรวจปกติ และผลการตรวจผิดปกติ (อาจต่ำหรือสูงกว่าค่าปกติ) ซึ่งจะขอพูดลงในรายละเอียดพอสังเขปของผลการตรวจแต่ละอย่างโดยแบ่งออกเป็นแต่ละหัวเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ตั้งแต่หัวข้อด้านล่างเป็นต้นไป

ตัวอย่างผลการตรวจความสมบูรณ์ของเลือด
IMAGE SOURCE : Anette Owen

WBC

WBC หรือ White Blood Cell คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งบทบาทในการเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค (Antibody) เพื่อปกป้องร่างกายและทำลายจุลชีพก่อโรค เช่น เชื้อโรคหรือจุลินทรีย์ใด ๆ ที่แปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย

  • จุดประสงค์ของการตรวจ WBC คือ การตรวจเพื่อนับจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวในน้ำเลือดว่ามีจำนวนในระดับปกติหรือไม่
  • ค่าปกติของ WBC ให้ยึดตามค่าที่แสดงในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) ส่วนค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่า WBC = 5,000 – 11,000 cells/cu.mm. (5 – 11  x109/L)
  • ค่าผิดปกติของ WBC ที่ถือว่าวิกฤติ คือ
    • ค่า WBC = น้อยกว่า 2,500 หรือมากกว่า 30,000 cells/cu.mm. (น้อยกว่า 25 หรือมากกว่า 30  x109/L)
  • ค่า WBC ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลว่า
    1. ร่างกายกำลังติดเชื้อจากจุลชีพก่อโรคร้ายแรงบางชนิด เช่น เชื้อไวรัส
    2. ร่างกายอาจกำลังมีสภาวะภูมิต้านทานโรคที่กำลังตกต่ำ จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ
    3. ไขกระดูกอาจมีปัญหา หรือมีโรคสำคัญบางอย่าง
    4. อาจเกิดจากการใช้ยาหรือได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดที่ให้ผลข้างเคียงต่อการทำลายเม็ดเลือดขาว
    5. ร่างกายขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น วิตามินบี 12, กรดโฟลิค หรือธาตุเหล็ก
    6. อาจเกิดจากม้ามทำงานมากเกินไป (Hypersplenism) โดยดักตับเก็บเม็ดเลือดขาวไว้มากผิดปกติจากกระแสเลือด
  • ค่า WBC ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลว่า
    1. ร่างกายอาจกำลังเกิดการอักเสบจากการบาดเจ็บหรือเกิดจากการถูกจุลชีพก่อโรคโจมตี
    2. ร่างกายอาจกำลังได้รับเชื้อโรคสำคัญหรือเกิดโรคจากจุลชีพก่อโรคที่หลุดเข้าสู่ร่างกาย จึงกระตุ้นให้ร่างกายต้องเร่งผลิตสร้างเม็ดเลือดขาวขึ้นมาต่อสู้
    3. อาจเกิดโรคสร้างเม็ดเลือดขาวมากผิดปกติจากไขกระดูก (Myeloproliferative disorders)
    4. อาจเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
    5. อาจกำลังเกิดโรคมะเร็งที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งซึ่งยังแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่จนยากจะตรวจพบได้ในขณะนั้น (จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวที่สูงขึ้นผิดปกติโดยไม่มีอาการของโรคอื่น อาจนับเป็นสัญญาณบ่งชี้ของโรคมะเร็ง)
    6. อาจกำลังเกิดความระคายเคือง เช่น จากความเครียด หรือริดสีดวงทวาร ซึ่งผลต่อฮอร์โมนที่มีอิทธิพลในการสร้างเม็ดเลือด
    7. อาจเกิดจากสภาวะการขาดน้ำ
    8. ต่อมไทรอยด์อาจทำงานมากเกินไป
    9. อาจเกิดจากการกินยากลุ่มสเตียรอยด์มานานเกินไป

Neutrophil (Neut, PMN, Polys)

Neutrophil (นิวโตรฟิล) หรือ Polymorphonuclear neutrophil (PMN) หรือบางคลินิกก็เรียกว่า Polys ซึ่งย่อมาจาก Polymorphonuclear cells คือ เซลล์แยกย่อยของเซลล์เม็ดเลือดขาว (WBC) ชนิดหนึ่งที่มีจำนวนเป็น % มากที่สุด มีบทบาทหลักในการทำลายเชื้อโรคชนิดแบคทีเรียที่ได้ล่วงล้ำเข้ามาในร่างกายด้วยกระบวนการกลืนกิน

  • จุดประสงค์ของการตรวจ Neutrophil คือ การตรวจเพื่อให้ทราบจำนวนหรือปริมาณเซลล์แยกย่อยของเซลล์เม็ดเลือดขาว (WBC) ชนิดที่เรียกว่า “นิวโตรฟิล
  • ค่าปกติของ Neutrophil ให้ยึดตามค่าที่แสดงในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป (อาจแสดงเป็นตัวเลขได้หลายวิธี) ดังนี้
    • ค่า Neutrophil ที่วัดจาก % WBC = 55 – 70% (ส่วนใหญ่วัดด้วยวิธีนี้)
    • ค่า Neutrophil ที่วัดจากจำนวนนับทั่วไป = 3.6 – 11.5  x103/µL (3,600 – 11,500 cells/cu.mm.)
    • ค่า Neutrophil ที่วัดจากจำนวนหน่วยสมบูรณ์ (Absolute neutrophils count : ANC) = 2,500 – 8,000 cells/cu.mm. (cells/mm3)
  • ค่าผิดปกติของ Neutrophil ที่ถือว่าวิกฤติ คือ
    • ค่า Neutrophil ที่วัดจากจำนวนหน่วยสมบูรณ์ (ANC) = น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1,000 cells/cu.mm. (cells/mm3)
  • ค่า Neutrophil ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลว่า
    1. ร่างกายอาจกำลังขาดแคลนสารอาหารสำคัญบางตัว คือ วิตามินบี 12 (B12) หรือกรดโฟลิค (Folic acid)
    2. ร่างกายอาจกำลังเกิดบาดแผลขนาดใหญ่ หรืออาจเพิ่งได้รับการฉายรังสีหรือรับยาคีโม
    3. ร่างกายอาจกำลังเริ่มเผชิญกับการติดเชื้อที่เสี่ยงต่อการนำไปสู่โรคสำคัญ เช่น ตับอักเสบ ไทฟอยด์ ไข้หวัดใหญ่ โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคคางทูม ฯลฯ
  • ค่า Neutrophil ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลว่า
    1. อาจกำลังเกิดโรคจากการติดเชื้อ เช่น โรคหูอักเสบ โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ โรคกระดูกอักเสบ โรคโกโนเรีย โรคงูสวัด โรคอีสุกอีใส ฯลฯ
    2. อาจกำลังเกิดการอักเสบจากโรคทั่วไป เช่น โรคกล้ามเนื้ออักเสบ โรคปวดข้อ โรคเกาต์เฉียบพลัน ฯลฯ
    3. อาจกำลังตกอยู่ภายใต้สภาวะความเครียดอย่างหนัก
    4. อาจกำลังเกิดโรคสภาวะอันเนื่องมาจากการเผาผลาญอาหารบกพร่อง เช่น สภาวะความเป็นกรดจากเบาหวาน (Diabetic acidosis)
    5. อาจกำลังเกิดโรคเซลล์หรือเนื้อเยื่อบางจุดขาดเลือด เช่น โรคมะเร็ง โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แผลไฟลวก แผลหิมะกัด ฯลฯ

Lymphocyte (Lymph)

Lymphocyte (ลิมโฟไซต์) คือ เซลล์แยกย่อยของเซลล์เม็ดเลือดขาว (WBC) ชนิดหนึ่งที่มีจำนวนเป็น % รองลงมาจากนิวโตรฟิล โดยลิมโฟไซต์จะมีพี่น้องร่วมกำเนิดในสายพันธุ์เดียวกันที่แยกย้ายกันทำหน้าที่ในแต่ละบทบาท คือ T-cells ที่มีหน้าที่ในการทำลายจุลชีพก่อโรคทุกชนิด, B-cells ที่มีหน้าที่ในการสร้างภูมิต้านทานโรคให้แก่ร่างกายโดยตรง, และ Natural Killer cells ที่มีหน้าที่ในการทำลายแบบไม่เลือกทั้งจุลชีพก่อโรคและบรรดาเซลล์ของร่างกายที่กลายพันธุ์ไปเป็นเซลล์มะเร็ง รวมทั้งเซลล์ที่ดีอื่น ๆ ของร่างกายที่ถูกไวรัสเข้าไปแอบหลบซ่อนอยู่ภายในด้วย

  • จุดประสงค์ของการตรวจ Lymphocyte คือ การตรวจเพื่อนับจำนวนเซลล์ย่อยของเซลล์เม็ดเลือดขาว (WBC) ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ลิมโฟไซต์” ซึ่งจำนวนและระดับที่พอดีของลิมโฟไซต์จะเป็นข้อมูลที่อาจชี้ให้เห็นถึงความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด
  • ค่าปกติของ Lymphocyte ให้ยึดตามค่าที่แสดงในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่า Lymphocyte ที่วัดจาก % WBC = 30 – 45%
    • ค่า Lymphocyte ที่วัดจากจำนวนนับสมบูรณ์ (Absolute count) = 1,000 – 4,000 cells/cu.mm. (cells/mm3)
  • ค่า Lymphocyte ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    1. ร่างกายอาจตกอยู่ในความเครียดอย่างหนัก
    2. ร่างกายอาจถูกโจมตีโดยไม่รู้ตัวจากเชื้อ HIV/AIDS
    3. อาจกำลังเกิดโรคมะเร็งบางชนิด
    4. อาจกำลังเกิดโรคร้ายแรง เช่น วัรโรคระยะลุกลาม โรคหัวใจ โรคไต ฯลฯ
    5. อาจเกิดจากการได้รับยาบางชนิดที่มีฤทธิ์กดไขกระดูก เช่น ยาเคมีบำบัด
    6. อาจกำลังได้รับการรักษาด้วยรังสีบำบัด หรือรับการฉายเอกซเรย์ (X-ray) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) บ่อยครั้งเกินไป
  • ค่า Lymphocyte ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    1. อาจกำลังได้รับเชื้อแบคทีเรียชนิดเรื้อรัง
    2. อาจกำลัติดเชื้อจากบางโรค เช่น วัณโรค โรคหัด โรคคางทูม โรคอีสุกอีใส ไข้หวัดใหญ่ ฯลฯ
    3. อาจกำลังเกิดสภาวะโรคตับอักเสบจากการติดเชื้อ
    4. อาจอยู่ในสภาวะภายหลังการรับการถ่ายเลือด (Post-transfusion)

Monocyte (Mono)

Monocyte (โมโนไซต์) คือ เซลล์แยกย่อยอีกชนิดของเซลล์เม็ดเลือดขาว (WBC) มีหน้าที่ในการลาดตระเวนในหลอดเลือด เมื่อได้รับการเตือนภัยจากระบบภูมิคุ้มกัน (มักจะเป็น B-cells) ว่ากำลังมีจุลชีพก่อโรคบุกรุกเข้ามาฝังตัวอยู่ตรงเนื้อเยื่อ ณ บริเวณใดของร่างกาย โมโนไซต์ตัวที่อยู่ภายในหลอดเลือดที่อยู่ใกล้ที่สุดก็จะเข้าไปเขมือบกลืนจุลชีพที่ยังไม่ทันก่อโรค รวมทั้งยังมีหน้าที่เก็บกวาด (เขมือบ) บรรดาเศษชิ้นส่วนหรือซากของจุลชีพก่อโรคที่ถูกฆ่าโดย T-cells หรือ Natural Killer cells ของลิมโฟไซต์ด้วย

  • จุดประสงค์ของการตรวจ Monocyte คือ การตรวจเพื่อนับจำนวนเซลล์ย่อยของเซลล์เม็ดเลือดขาว (WBC) ชนิดที่เรียกว่า “โมโนไซต์”
  • ค่าปกติของ Monocyte ให้ยึดตามค่าที่แสดงในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่า Monocyte ที่วัดจาก % WBC = 2 – 8%
    • ค่า Monocyte ที่วัดจากจำนวนนับสมบูรณ์ (Absolute count) = 100 – 700 cells/cu.mm. (cells/mm3)
  • ค่า Monocyte ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    1. อาจเกิดโรคโลหิตจางจากไขกระดูกเสื่อม (Aplastic anemia)
    2. อาจเกิดโรคโลหิตจางจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Lymphocytic anemia)
  • ค่า Monocyte ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    1. ร่างกายอาจมีการติดเชื้อในบางโรค เช่น โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบจากแบคทีเรียชนิดไม่รุนแรง โรควัณโรค โรคตับอักเสบ โรคมาลาเรีย
    2. อาจกำลังเกิดโรคลำไส้อักเสบ (Imflammatory bowel disease)
    3. อาจเกิดโรคร้ายแรง เช่น มะเร็งชนิดเนื้องอก มะเร็งเม็ดเลือดขาวของเซลล์โมโนไซต์ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ฯลฯ

Eosinophil (Eos)

Eosinophil (อีโอซิโนฟิล) คือ เซลล์แยกย่อยส่วนน้อยอีกชนิดของเซลล์เม็ดเลือดขาว (WBC) ที่มีประมาณ 1-4% ของ WBC มีหน้าที่สำคัญในการช่วยทำลายสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ในร่างกาย โดยช่วยให้ร่างกายอยู่ในสภาวะสมดุล ช่วยให้อาการของภูมิแพ้ลดลงหรือหมดไป

  • จุดประสงค์ของการตรวจ Eosinophil คือ การตรวจเพื่อนับจำนวนเซลล์ย่อยของเซลล์เม็ดเลือดขาว (WBC) ชนิดที่เรียกว่า “อีโอซิโนฟิล
  • ค่าปกติของ Monocyte ให้ยึดตามค่าที่แสดงในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    ค่า Monocyte ที่วัดจาก % WBC = 1 – 4%
    ค่า Monocyte ที่วัดจากจำนวนนับสมบูรณ์ (Absolute count) = 50 – 500 cells/cu.mm. (cells/mm3)
  • ค่า Monocyte ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    1. ร่างกายอาจอยู่ในสภาวะความเครียดอย่างหนัก ทำให้ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมน Corticosteroids ซึ่งสร้างความเสียหายไปทั่วร่างกาย
    2. อาจกำลังเกิดอาการ Cushing Syndrome ซึ่งมักจะมีไขมันในร่างกายส่วนบนมากผิดปกติ จนทำให้ใบหน้ากลม คอกลม แต่แขนเล็กเลีบ ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดมีค่ามากขึ้น มีอาการเหนื่อยผิดปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มาจากฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตในระดับสูงเข้ามาอยู่ในกระแสเลือดนานเกินไป
  • ค่า Monocyte ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    1. ร่างกายอาจกำลังเผชิญกับสารก่อภูมิแพ้ที่หนาแน่นอย่างกะทันหัน เช่น การเดินทางไปในเขตมลพิษสูงซึ่งเต็มไปด้วยฝุ่น ผง และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการอาศัยอยู่ในเขตที่เป็นบ่อเกิดของสารก่อภูมิแพ้ เช่น ใกล้โรงงานย่อยหิน อยู่ใต้ทิศทางลมจากโรงงานฟอกหนังสัตว์ จากฟาร์มเลี้ยงสุกรที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ฯลฯ
    2. อาจกำลังเกิดการอักเสบจากพยาธิบางชนิด
    3. อาจมีโรคไขกระดูกบางอย่าง
    4. อาจกำลังเกิดโรคผิวหนังบางชนิด เช่น การอักเสบจากสิว งูสวัด ฯลฯ

Basophil (Baso)

Basophil (เบโซฟิล) คือ เซลล์แยกย่อยของเซลล์เม็ดเลือดขาว (WBC) ชนิดสุดท้ายที่มีจำนวนเป็น % น้อยที่สุด (มีเพียงประมาณ 1% ของ WBC เท่านั้น) แต่ถึงแม้จะมีจำนวนน้อย เบโซฟิลก็มีบทบาทสำคัญในการควบคุมร่างกายไม่ให้หลั่งสารฮิสตามีน (Histamine) ออกมามากจนเกินไป ในกรณีที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ (ช่วยหน่วงเวลาไว้ไม่ให้ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองไวเกินไปต่อผลกระทบซึ่งมาจากสารก่อภูมิแพ้ใด ๆ)

  • จุดประสงค์ของการตรวจ Basophil คือ การตรวจเพื่อนับจำนวนเซลล์ย่อยของเซลล์เม็ดเลือดขาว (WBC) ชนิดที่เรียกว่า “เบโซฟิล
  • ค่าปกติของ Basophil ให้ยึดตามค่าที่แสดงในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่า Basophil ที่วัดจาก % WBC = 0.5 – 1%
    • ค่า Basophil ที่วัดจากจำนวนนับสมบูรณ์ (Absolute count) = 25 – 100 cells/cu.mm. (cells/mm3)
  • ค่า Basophil ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    1. อาจกำลังตกอยู่ในสภาวะมีความเครียดอย่างหนัก
    2. อาจกำลังอยู่ในสภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
    3. ร่างกายสตรีอาจกำลังตกไข่ (Ovulation)
    4. อาจกำลังตั้งครรภ์
  • ค่า Basophil ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    1. อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิดที่สร้างสารก่อภูมิแพ้
    2. อาจเกิดสภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป
    3. อาจเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Hodgkin’s lymphoma)
    4. อาจเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดจากไขกระดูกชนิดเรื้อรัง (Chronic myelocytic leukemia)
    5. อาจเกิดจากการอักเสบจากโรคบางชนิด เช่น ไซนัสอักเสบ ช่องทางหายใจอักเสบ (โรคหอบหืด) ลำไส้อักเสบ ผิวหนังอักเสบ

RBC

RBC หรือ Red Blood Cell คือ เซลล์เม็ดเลือดแดงซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการขนส่งออกซิเจนจากปอดด้วยวิธีการให้ออกซิเจนเข้าจับที่บริเวณผิวของเม็ดเลือดแดง โดยนำพาออกไปตามหลอดเลือด ส่งให้แก่ทุกเซลล์ทั่วร่างกาย และนำพาคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซมลพิษที่เหลือจากปฏิกิริยาการเผาผลาญสร้างพลังงานของทุกเซลล์แล้วกลับคืนมาส่งให้ปอด เพื่อทิ้งออกไปนอกร่างกายในช่วงที่มนุษย์หายใจออก

  • จุดประสงค์ของการตรวจ RBC คือ การตรวจสอบความสมบูรณ์และแสดงจำนวนนับเม็ดเลือดแดง (RBC) ในเลือดว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่
  • ค่าปกติของ RBC ให้ยึดตามค่าที่แสดงในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่า RBC ในผู้ชาย = 4.2 – 5.4  106/µL
    • ค่า RBC ในผู้หญิง = 3.6 – 5.0  106/µL
  • ค่า RBC ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    1. อาจเกิดสภาวะของโรคโลหิตจาง (Anemia) ทำให้มีอาการซีดเซียว อ่อนเพลีย หายใจสั้นถี่ หมดเรี่ยวแรง
    2. อาจเกิดขึ้นภายหลังการรักษาโรคอื่นด้วยยาบางชนิดหรือรังสีบำบัด จนทำให้ไปยับยั้งฮอร์โมนสำคัญซึ่งมีหน้าที่ไปกระตุ้นไขกระดูกให้ผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง
    3. อาจเกิดสภาวะของโรคไตเรื้อรังที่ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนสำคัญซึ่งมีหน้าที่ไปกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดงไม่ได้
    4. อาจมาจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์หรือเกิดจากไขกระดูกผลิตเซลล์ตัวอ่อนของเม็ดเลือดแดงมากน้อยเกินไป (Erythroblastopenia)
    5. อาจมีการเสียเลือดทั้งเห็นด้วยตาและไม่อาจสังเกตเห็น เช่น การตกเลือดในลำไส้
    6. อาจมีสาเหตุร้ายแรงสำคัญหรือเกิดโรคที่ไขกระดูก เช่น โรคมะเร็งไขกระดูก, เม็ดเลือดแดงถูกทำลายจากภูมิต้านทาน
  • ค่า RBC ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    1. อยู่ในท้องถิ่นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเป็นเวลานานตลอดช่วงใดช่วงหนึ่ง ซึ่งมีออกซิเจนบางกว่าปกติ ร่างกายจึงต้องปรับตัวเองโดยพยายามสร้างเม็ดเลือดแดงให้มากขึ้นกว่าปกติ เพื่อจะได้ใช้พาออกซิเจนจากปอดไปส่งให้อวัยวะต่าง ๆ ได้พอเพียงเช่นเดิม ส่วนการแก้ไขขั้นต้นก็ควรกลับลงมาจากที่สูง แล้วในไม่ช้าร่างกายก็จะคืนกลับสู่สภาพสมดุลเอง
    2. อาจเกิดสภาวะของโรคเม็ดเลือดแดงคับคั่ง (Polycythemia vera) ซึ่งจะก่อให้เกิดความขลุกขลักทำให้เลือดไหลผ่านไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ ก่อความเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ)
    3. อาจเกิดมะเร็งที่เนื้อเซลล์ของไต ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ไตผลิตฮอร์โมนอีริโทโพอิติน (Erythropoietin) ที่มีฤทธิ์ในการไปกระตุ้นไขกระดูกอย่างไร้การควบคุม เป็นผลต่อเนื่องทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดงมีระดับสูงขึ้นมากกว่าปกติ
    4. อาจเกิดจากโรคธาลัสซีเมีย คือ โรคโลหิตจางที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว โดยแม้จะมีเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ แต่ก็จับออกซิเจนไม่ค่อยได้ จึงนับเป็นโรคโลหิตจางชนิดหนึ่ง
    5. อาจตกอยู่ในความเครียดยาวนานเกินไป โดยในช่วงที่มีควารมเครียดนั้นร่างกายจะตกอยู่ภายใต้สภาวะเตรียมพร้อม จึงเป็นผลทำให้ต้องสร้างเม็ดเลือดแดงให้มากขึ้นเพื่อพร้อมในการใช้พลังงาน
    6. อาจเกิดจากสภาวะร่างกายขาดน้ำ (Dehydration) จึงทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดงต่อน้ำเลือด 1 ลบ.มม. มีระดับที่สูงขึ้นผิดปกติ (เลือดขึ้นขึ้น) ส่วนการแก้ไขก็จำเป็นต้องรีบดื่มน้ำเพื่อให้ร่างกายมีเลือดที่ลดความเข้มข้นลง

Hemoglobin (Hb, HgB, HGB)

Hemoglobin (ฮีโมโกลบิน) คือ โปรตีนที่มีสีแดงเข้มซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของเม็ดเลือดแดง และถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดเนื่องจากมีหน้าที่จับออกซิเจนจากปอดไปส่งให้เซลล์ต่าง. ทั่วร่างกาย และตับเอาคาร์บอนไดออกไซด์มาคืนให้ปอดเพื่อส่งออกทิ้งไปนอกร่างกาย

  • จุดประสงค์ของการตรวจ Hemoglobin คือ การตรวจวัดปริมาณโปรตีนในเม็ดเลือดแดงว่ามีอยู่ในระดับปกติหรือไม่ ส่วนจุดมุ่งหมายหลักในการตรวจโดยทั่วไปคือ การตรวจสอบบ่งชี้ว่ามีสภาวะของโรคโลหิตจางหรือไม่ (แต่ค่า Hemoglobin ก็อาจใช้ช่วยวินิจฉัยโรคอื่นได้ด้วยเช่นกัน) โดยปริมาณของฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) มักมีสัดส่วนสอดคล้องสัมพันธ์โดยกับจำนวนนับเม็ดเลือดแดงในเลือด (RBC)
  • ค่าปกติของ Hemoglobin ให้ยึดตามค่าที่แสดงในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่า Hemoglobin ในเด็กอายุ 6-12 ปี = 11.5 – 15.5 g/dL (ค่าเฉลี่ยปานกลาง คือ 13.5 g/dL)
    • ค่า Hemoglobin ในผู้ชายอายุ 12-18 ปี = 13.0 – 16.0 g/dL (ค่าเฉลี่ยปานกลาง คือ 14.5 g/dL)
    • ค่า Hemoglobin ในผู้ชายอายุมากกว่า 18 ปี = 13.6 – 17.7 g/dL (ค่าเฉลี่ยปานกลาง คือ 15.5 g/dL)
    • ค่า Hemoglobin ในผู้หญิงอายุ 12-18 ปี = 12.0 – 16.0 g/dL (ค่าเฉลี่ยปานกลาง คือ 14.0 g/dL)
    • ค่า Hemoglobin ในผู้หญิงอายุมากกว่า 18 ปี = 12.1 – 15.1 g/dL (ค่าเฉลี่ยปานกลาง คือ 14.0 g/dL)
  • ค่าผิดปกติของ Hemoglobin ที่ถือว่าวิกฤติ คือ
    • ค่า Hemoglobin = น้อยกว่า 5 g/dL หรือมากกว่า 20 g/dL
  • ค่า Hemoglobin ต่ำสุดที่ใช้บ่งชี้สภาวะโรคโลหิตจาง (Anemia Cut-off)
    • ค่า Hemoglobin ในเด็กอายุ 8-11 ปี = น้อยกว่า 11.9 g/dL
    • ค่า Hemoglobin ในผู้ชายอายุ 12-14 ปี = น้อยกว่า 12.5 g/dL
    • ค่า Hemoglobin ในผู้ชายอายุ 15-17 ปี = น้อยกว่า 13.3 g/dL
    • ค่า Hemoglobin ในผู้ชายอายุมากกว่า 17 ปี = น้อยกว่า 13.0 g/dL
    • ค่า Hemoglobin ในผู้หญิงอายุ 12-14 ปี = น้อยกว่า 11.8 g/dL
    • ค่า Hemoglobin ในผู้หญิงอายุ 15-17 ปี = น้อยกว่า 12.0 g/dL
    • ค่า Hemoglobin ในผู้หญิงอายุมากกว่า 17 ปี = น้อยกว่า 12.0 g/dL
    • ค่า Hemoglobin ในหญิงตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสที่ 1 และ 3 = น้อยกว่า 11.0 g/dL
    • ค่า Hemoglobin ในหญิงตั้งครรภ์ช่วงไตรที่ 2 = น้อยกว่า 10.5 g/dL
  • ค่า Hemoglobin ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    1. อาจกำลังเริ่มเกิดหรือเกิดสภาวะของโรคโลหิตจางขึ้นแล้ว (ข้อมูลที่อาจช่วยยืนว่าได้เกิดสภาวะโรคโลหิตจางหรือไม่นั้นจำเป็นต้องได้จากผลการตรวจ CBC ตัวอื่นเปรียบเทียบและช่วยร่วมบ่งชี้ด้วย โดยเฉพาะค่า RBC, Hematocrit, MCV, RDW)
    2. อาจเกิดสภาวะเลือดไหลออกหรือเลือดตกใน เช่น บาดแผลขนาดใหญ่ แผลในกระเพาะอาหาร พยาธิปากขอในลำไส้ ริดสีดวงทวาร หรือมีประจำเดือนมากผิดปกติมานาน ฯลฯ
    3. อาจเกิดจากโรคไตที่ส่งต่อฮอร์โมนที่กระตุ้นการสร้างไขกระดูก
    4. อาจเกิดจากการขาดแร่ธาตุ เช่น ธาตุเหล็ก
  • ค่า Hemoglobin ที่สูงกว่าปกติ อาจเกิดจากสาเหตุเดียวกันกับที่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดง (RBC) มีจำนวนสูงกว่าปกติ เช่น
    1. การพำนักในภูมิประเทศที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ซึ่งอากาศมีออกซิเจนเบาบางมาก
    2. การออกกำลังกายหรือการประกอบกิจการงานที่ต้องใช้แรงกายอย่างหักโหมจนเกินไป
    3. อาจเกิดจากสภาวะของโรคเม็ดเลือดแดงคับคั่งมากเกินไป
    4. อาจเกิดสภาวะขาดน้ำ (Dehydration)

Hematocrit (Hct, HCT)

Hematocrit (ฮีมาโทคริต) หรือบางแห่งก็เรียกว่า “ปริมาตรเซลล์อัดแน่น” (Packed cell volume : PCV) คือ ความเข้มข้นหรือความหนาแน่นของปริมาตรเม็ดเลือดแดงที่มีอยู่ในน้ำเลือดขณะนั้น จึงเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญตัวหนึ่งของการเกิดโรคโลหิตจาง

  • จุดประสงค์ของการตรวจ Hematocrit คือ การตรวจหาค่าความเข้มข้นหรือความหนาแน่นของปริมาตรเม็ดเลือดที่มีอยู่ในน้ำ ซึ่งมักนิยมแสดงค่าเป็น %
  • ค่าปกติของ Hematocrit ให้ยึดตามค่าที่แสดงในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่า Hematocrit ในทารก = 44-64%
    • ค่า Hematocrit ในเด็กอายุ 6-12 ปี = 35 – 45% (ค่าเฉลี่ยปานกลาง คือ 40%)
    • ค่า Hematocrit ในผู้ชายอายุ 12-18 ปี = 37 – 49% (ค่าเฉลี่ยปานกลาง คือ 43%)
    • ค่า Hematocrit ในผู้ชายอายุมากกว่า 18 ปี = 41 – 50% (ค่าเฉลี่ยปานกลาง คือ 47%)
    • ค่า Hematocrit ในผู้หญิงอายุ 12-18 ปี = 36 – 46% (ค่าเฉลี่ยปานกลาง คือ 41%)
    • ค่า Hematocrit ในผู้หญิงอายุมากกว่า 18 ปี = 36 – 44% (ค่าเฉลี่ยปานกลาง คือ 41%)
  • ค่าผิดปกติของ Hematocrit ที่ถือว่าวิกฤติ (ยกเว้นทารก) คือ
    • ค่า Hematocrit = น้อยกว่า 15% หรือมากกว่า 60%
  • ค่า Hematocrit ต่ำสุดที่ใช้บ่งชี้สภาวะโรคโลหิตจาง (Anemia Cut-off)
    • ค่า Hematocrit ในเด็กอายุ 8-11 ปี = น้อยกว่า 35.4%
    • ค่า Hematocrit ในผู้ชายอายุ 12-14 ปี = น้อยกว่า 37.3%
    • ค่า Hematocrit ในผู้ชายอายุ 15-17 ปี = น้อยกว่า 39.7%
    • ค่า Hematocrit ในผู้ชายอายุมากกว่า 17 ปี = น้อยกว่า 38.0%
    • ค่า Hematocrit ในผู้หญิงอายุ 12-14 ปี = น้อยกว่า 35.7%
    • ค่า Hematocrit ในผู้หญิงอายุ 15-17 ปี = น้อยกว่า 35.9%
    • ค่า Hematocrit ในผู้หญิงอายุมากกว่า 17 ปี = น้อยกว่า 35.0%
    • ค่า Hematocrit ในหญิงตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสที่ 1 และ 3 = น้อยกว่า 33.0%
    • ค่า Hematocrit ในหญิงตั้งครรภ์ช่วงไตรที่ 2 = น้อยกว่า 32.0%
  • ค่า Hematocrit ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    1. ได้เกิดสภาวะของโรคโลหิตจาง โดยเฉพาะในกรณีที่ค่า Hematocrit ได้แสดงค่าน้อยกว่าค่า Anemia Cut-off
    2. อาจเกิดจากโรคตับแข็งที่นำไปสู่การคั่งของของเหลวจนทำให้น้ำเลือดเจือจาง
    3. อาจเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวภายหลังการเสียเลือดอย่างรุนแรง
    4. อาจเกิดจากการขาดสารอาหารเกี่ยวกับเลือด เช่น วิตามินบี 12 กรดโฟลิค หรือธาตุเหล็ก
    5. อาจเกิดจากเซลล์ไขกระดูกมีความผิดปกติ ทำให้มีผลต่อการผลิตเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ
    6. อาจเกิดโรคเกี่ยวกับไต ทำให้ไตผลิตฮอร์โมนสร้างเม็ดเลือดแดงไม่ได้ตามปกติ
    7. อาจมีโรคร้ายแรงเกี่ยวกับไขกระดูก เช่น Lymphoma, Multiple myeloma, Leukemia หรือ Hodgkin’s disease
    8. อาจเกิดจากการตั้งครรภ์ เนื่องจากการตั้งครรภ์ย่อมสร้างสภาวะการกักคั่งน้ำ จึงทำให้ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงในน้ำเลือดในช่วงเวลานั้นมีระดับลดลง แต่อย่างไรก็ไม่ควรต่ำกว่าค่า Anemia Cut-off ในกลุ่มของหญิงตั้งครรภ์ตามเกณฑ์ตัวเลขด้านบน
  • ค่า Hematocrit ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    1. กำลังเกิดสภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ (Dehydration)
    2. ร่างกายอาจกำลังตกอยู่ในกระบวนการขับน้ำทิ้งออกจากร่างกาย เช่น อยู่ในช่วงการกินยาขับปัสสาวะ หรือในขณะที่ยังใส่สายสวนปัสสาวะอยู่
    3. รางกายอาจเกิดสภาวะของโรคเม็ดเลือดแดงคับคั่ง
    4. อาจกำลังเกิดโรคหัวมาแต่กำเนิด จึงทำให้ร่างกายตอบสนองด้วยการเร่งสร้างเม็ดเลือดแดงให้มีจำนวนมากขึ้นเพื่อส่งออกซิเจน
    5. อาจเกิดจากโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ทำให้เซลล์ทั่วร่างกายได้รับออกซิเจนจากเม็ดเลือดแดงไม่เพียงพอ เป็นผลต่อเนื่องให้ร่างกายต้องเร่งสร้างจำนวนเม็ดเลือดแดงให้เพิ่มขึ้น
    6. อาจเป็นผลภายหลังจากร่างกายบาดเจ็บจากไฟลวก
    7. อาจอยู่ในพื้นที่ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลค่อนข้างมากมาเป็นเวลานาน

MCV

Mean Corpuscular Volume หรือ MCV (เอ็มซีวี) คือ ค่าปริมาตรเฉลี่ยของเม็ดเลือดแดง ซึ่งคำนวณได้จากค่า Hematocrit หารด้วยจำนวน RBC

  • จุดประสงค์ของการตรวจ MCV คือ เพื่อหาค่าปริมาตรเฉลี่ยของเม็ดเลือดแดงซึ่งมีหน่วยเป็น Femtoliter หรือ fL
  • ค่าปกติของ MCV ให้ยึดตามค่าที่แสดงในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่า MCV ในผู้ชายอายุ 12-18 ปี = 78 – 98 fL
    • ค่า MCV ในผู้หญิงอายุ 12-18 ปี = 78 – 102 fL
    • ค่า MCV ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี = 78 – 98 fL
  • ค่า MCV ที่ต่ำกว่าปกติ ย่อมแสดงว่า ปริมาตรเฉลี่ยของเม็ดเลือดแดงแต่ละเม็ดมีขนาดเล็กกว่าปกติ ซึ่งอาจถือเป็นข้อบ่งชี้ทำให้ทราบว่า
    1. กำลังมีโรคโลหิตจางอันเนื่องมาจากเซลล์เม็ดเลือดแดงเล็กเกินไป (Microcytic anemia)
    2. อาจเกิดจากร่างกายขาดธาตุเหล็ก หรือจากโรคโลหิตจางจากพันธุกรรมที่เรียกว่า “ธาลัสซีเมีย”
    3. อาจเกิดจากโรคไตวายเรื้อรัง จึงทำให้ร่างกายส่งฮอร์โมนอีริโทโพอิติน (Erythropoietin) ที่บกพร่องไม่สมบูรณ์ไปกระตุ้นไขกระดูกเพื่อให้สร้างเม็ดเลือดแดง จึงทำให้เม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็กกว่าปกติ
    4. อาจเกิดจากร่างกายได้รับพิษจากตะกั่ว
  • ค่า MCV ที่สูงกว่าปกติ ย่อมแสดงว่า ปริมาตรเฉลี่ยของเม็ดเลือดแดงแต่ละเม็ดมีขนาดใหญ่กว่าปกติ ซึ่งอาจถือเป็นข้อบ่งชี้ทำให้ทราบว่า
    1. ในกรณีที่ MCV มีค่ามากกว่า 100 fL อาจเกิดโรคโลหิตจางจากเหตุเม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่โตเกินปกติ (Macrocytic anemia)
    2. ร่างกายอาจพร่องวิตามินบี 12 หรือกรดโฟลิค
    3. ร่างกายอาจอยู่ในสภาวะเสพติดแอลกอฮอร์
    4. อาจเกิดโรคตับ
    5. อาจเกิดสภาวะโรคไขกระดูกเสื่อม (Marrow aplasia)
    6. อาจเกิดสภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป
  • ค่า MCV อยู่ในเกณฑ์ปกติ บางกรณีก็อาจเกิดโรคโลหิตจางได้ ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า “Normocytic anemia” ซึ่งอาจเนื่องมาจากเหตุใดเหตุหนึ่ง
    1. เซลล์เม็ดเลือดแดงมีจำนวนน้อย ซึ่งอาจมาจากโรคมะเร็ง หรือการผลิตเม็ดเลือดแดงของไขกระดูกเกิดความผิดปกติจนทำให้ผลิตได้ในจำนวนน้อยเกินไป
    2. อาจมีการตกเลือดมากเกินไป
    3. อาจมีโรคไตหรือโรคตับ
    4. อาจเกิดสภาวะเม็ดเลือดแดงแตกง่าย (Hemolysis of the red blood cells)

MCH

Mean Corpuscular Hemoglobin หรือ MCH (เอ็มซีเอช) คือ ค่าน้ำหนักเฉลี่ยของเนื้อฮีโมโกลบิน (Hemoglobin)

  • จุดประสงค์ของการตรวจ MCH คือ เพื่อหาค่าเฉลี่ยหรือน้ำหนักของเนื้อฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) เพราะเม็ดเลือดแดงแต่ละเม็ดอาจมีน้ำหนักของฮีโมโกลบินไม่เท่ากัน ในการนี้จึงจำเป็นต้องหาค่าเฉลี่ยของน้ำหนักฮีโมโกลบินเพื่อจะได้ทราบว่ามีค่าเฉลี่ยที่สูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ปกติหรือไม่ นอกจากนี้ยังอาจใช้เป็นข้อมูลที่ช่วยร่วมยืนยันว่าค่า MCV (ค่าปริมาตรเฉลี่ยของเม็ดเลือดแดง) มีความถูกต้องมากน้อยเพียงใดด้วย
  • ค่าปกติของ MCH ให้ยึดตามค่าที่แสดงในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่า MCH = 27.5 – 33.5 pg/cell หรือ 27 – 32 pg/cell
  • ค่า MCH ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    1. อาจกำลังเกิดโรคโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็กกว่าปกติ (Microcytic anemia) และควรได้รับการยืนยันด้วยค่า Hemoglobin, Hematocrit, MCV และ RDW
    2. ในกรณีที่ MCH เริ่มมีค่าต่ำกว่า 30 pg/cell อาจบ่งชี้ว่าร่างกายกำลังเริ่มมีการสังเคราะห์ Hemoglobin ที่ผิดปกติ
  • ค่า MCH ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลว่า อาจเกิดโรคโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่กว่าปกติ (Macrocytic anemia) และควรได้รับการยืนยันจากผลการตรวจเลือดตัวอื่นด้วยเช่นกัน (ข้อสังเกต : เม็ดเลือดแดงขนาดใหญ่ย่อมทำจำนวนของเม็ดเลือดแดงมีน้อยลง พื้นที่ผิวที่ใช้ในการจับออกซิเจนก็ย่อมมีขนาดรวมกันของพื้นที่ผิวน้อยกว่าพื้นที่ผิวของเม็ดเลือดขนาดปกติ)

MCHC

Mean Corpuscular Hemoglobin Concentration หรือ MCHC (เอ็มซีเอชซี) คือ ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของเนื้อฮีโมโกลบินภายในแต่ละเซลล์เม็ดเลือดแดง

  • จุดประสงค์ของการตรวจ MCHC คือ การตรวจให้ทราบว่าฮีโมโกลบินซึ่งเป็นเนื้อโปรตีนที่อยู่ภายในเม็ดเลือดแดงแต่ละเม็ดนั้นมีคุณภาพเป็นปกติตามเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ (คุณภาพของฮีโมโกลบินที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบนั้นจะประกอบไปด้วยข้อมูลจำเพาะเกี่ยวกับ ปริมาตรของเม็ดเลือดแดง (MCV), น้ำหนักเฉลี่ยของฮีโมโกลบิน (MCH), และเนื้อของฮีโมโกลบิน (MCHC))
  • ค่าปกติของ MCH ให้ยึดตามค่าที่แสดงในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่า MCHC = 28 – 33 gm/dL (หน่วยอาจแสดงได้หลายวิธี ทั้ง ๆ ที่เป็นหน่วยเดียวกัน เช่น 28 – 33 g/dL, 28 – 33 g %)
  • ค่า MCHC ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลว่า
    1. อาจเกิดสภาวะของโรคโลหิตจางชนิดยีนบกพร่องในฮีโมโกลบิน ซึ่งมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมที่เรียกว่า ยีนซึ่งก่อให้เกิดโรคธาลัสซีเมีย
    2. อาจเกิดสภาวะเม็ดเลือดแดงสีซีด (Hypochromia) ไม่สำแดงสีแดงสดตามปกติ เนื่องจากร่างกายอาจมีความบกพร่องหรือขาดธาตุเหล็ก
  • ค่า MCHC ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลว่า
    1. ฮีโมโกลบินอาจมียินบกพร่องจากพันธุกรรม ทำให้เกิดการผันแปรไม่แน่นอนทางด้านรูปร่าง เช่น อาจค่อย ๆ เปลี่ยนจากรูปร่างปกติจนกลายเป็นรูปทรงกลมคล้าย ๆ ลูกปิงปอง
    2. อาจเกิดจากผู้ป่วยมีอาการหนัก เช่น แผลไฟลวก จึงทำให้ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อเร่งส่งออกซิเจนให้ทันตามความต้องการของเซลล์ซึ่งกำลังเกิดปัญหาในร่างกาย

RDW

Red Cell Distribution Width หรือ RDW (อาร์ดีดับเบิ้ลยู) คือ ความกว้างของการกระจายขนาดเม็ดเลือดแดง ซึ่งในคนปกตินั้นเม็ดเลือดแดงจะมีขนาดเท่ากันหรือใกล้เคียงกันหรือเหมือนกันทุกเม็ด แต่ในร่างกายของคนบางคนอาจมีขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง หรือผิดขนาด

  • จุดประสงค์ของการตรวจ RDW คือ การตรวจความกว้างของการกระจายขนาดเม็ดเลือดแดง ซึ่งขนาดที่แตกต่างจากปกตินั้นอาจแสดงตัวเลขเม็ดเลือดที่ผิดปกตินับได้เป็นจำนวน % ของเม็ดเลือดแดง แปลว่า RDW ยิ่งมี % สูงมากเท่าใด ก็แสดงว่ามีขนาดเม็ดเลือดแดงที่ผิดขนาด ซึ่งย่อมจับออกซิเจนได้น้อยลงและสะท้อนให้เห็นถึงระดับความรุนแรงของโรคโลหิตจาง ด้วยเหตุนี้ค่า RDW จึงเป็นค่าที่ช่วยให้แพทย์ยืนยันบ่งชี้สภาวะโรคโลหิตจางได้ โดยเจาะลึกไปถึงสาเหตุของการเกิดโรคโหลิตจาง
  • ค่าปกติของ RDW ให้ยึดตามค่าที่แสดงในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่า RDW = 11.5 – 14.5%
  • ค่า RDW ที่ต่ำกว่าปกติ อาจเป็นข้อมูลที่ช่วยบ่งชี้ให้ทราบว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีสุขภาพเม็ดเลือดแดงดีเยี่ยม (มีเม็ดเลือดแดงที่ต่างขนาดกันไม่ถึง 11.5%)
  • ค่า RDW อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ค่า MCV อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    1. อาจเกิดโรคโลหิตจางจากสาเหตุกำลังมีโรคเรื้อรัง (Chronic disease) ชนิดอื่นอยู่
    2. อาจมีโรคโลหิตจางชนิดธาลัสซีเมียแอบแฝงอยู่
  • ค่า RDW อยู่ในเกณฑ์ปกติ และค่า MCV ก็อยู่ในระดับปกติด้วยเช่นกัน (แม้ค่าทั้ง 2 จะอยู่ในระดับปกติ แต่ร่างกายโดยสุขภาพเลือดก็อาจผิดปกติก็ได้ จึงจำเป็นต้องมีการยืนยันเพิ่มเติมด้วยผลเลือดตัวอื่น) อาจแสดงผลได้ว่า
    1. อาจเกิดสภาวะของโรคโลหิตจางจากเหตุมีโรคเรื้อรัง (Anemia of chronic disease) บางโรคที่แฝงตัวอยู่
    2. อาจเกิดจากการเสียเลือดอย่างฉับพลันรุนแรง
    3. อาจเกิดจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางชนิด
    4. อาจเกิดจากสภาวะของการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง (Hemolysis)
  • ค่า RDW อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ค่า MCV อยู่ในระดับสูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    1. อาจกำลังเกิดโรคโลหิตจางจากไขกระดูกเสื่อม (Aplastic anemia)
    2. อาจกำลังเริ่มต้นกระบวนการการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ค่า RDW ที่สูงกว่าปกติ แต่ค่า MCV อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    1. อาจกำลังเกิดโรคโลหิตจางจากร่างกายขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia)
    2. อาจเกิดจากสภาวะเม็ดเลือดแดงฉีกขาด (RBC fragmentation)
    3. อาจเกิดจากยีนของฮีโมโกลบินชนิด HbH ซึ่งนับเป็นความบกพร่องทางพันธุกรรมที่นับเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคโลหิตจางชนิดร้ายแรงได้
  • ค่า RDW ที่สูงกว่าปกติ แต่ค่า MCV อยู่ในระดับปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
    1. ร่างกายอาจกำลังอยู่ในระยะเริ่มต้นของสภาวะโรคโลหิตจางเนื่องจากขาดธาตุเหล็ก
    2. ร่างกายอาจกำลังขาดวิตามินบี 12
    3. ร่างกายอาจกำลังขาดกรดโฟลิค
  • ค่า RDW ที่สูงกว่าปกติ และค่า MCV ก็อยู่ในระดับสูงกว่าปกติด้วยเช่นกัน
    1. ร่างกายกำลังขาดแคลนวิตามินบี 12
    2. ร่างกายอาจกำลังขาดแคลนกรดโฟลิค
    3. ร่างกายอาจกำลังเกิดสภาวะของโรคโลหิตจางชนิดภูมิคุ้มกันทำลายเม็ดเลือดแดงของตนเอง (Immune hemolytic anemia) ด้วยความเข้าใจผิดว่าเม็ดเลือดแดงเป็นสิ่งแปลกปลอมที่หลุดเข้ามาในร่างกาย จึงทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดงน้อยลง ร่างกายจึงต้องเร่งผลิตเม็ดเลือดแดงชนิดที่ใหญ่โตกว่าปกติเพื่อจะได้นำพาออกซิเจนเพื่อการใช้ของเซลล์ได้อย่างพอเพียง
  • นอกจากนี้ ค่า RDW ที่สูงกว่าปกติ ยังอาจบ่งบอกได้ว่าร่างกายกำลังเกิดโรคตับ จึงไม่สามารถควบคุมการส่งโปรตีนไปสร้างฮีโมโกลบินได้อย่างสม่ำเสมอ เม็ดเลือดแดงส่วนมากจึงใหญ่โตผิดปกติ

Platelet Count

Platelet Count (เพลตเล็ต เคานต์) คือ จำนวนนับเกล็ดเลือด เกล็ดเลือดมีบาทสำคัญในการช่วยหยุดยั้งการไหลของเลือดขณะเกิดบาดแผลเพื่อป้องกันการเสียเลือดมากเกินควร

  • จุดประสงค์ของการตรวจ Platelet Count คือ การนับจำนวนของเกล็ดเลือด หากมีน้อยกว่าระดับปกติก็ย่อมมีผลในการห้ามเลือดให้กระทำการได้ช้าเนิ่นนานกว่าที่ควาจะเป็น แต่หากมีมากกว่าระดับปกติ ก็อาจบ่งชี้ว่าร่างกายกำลังมีโรคสำคัญหรือกำลังมีการอักเสบชนิดรุนแรง
  • ค่าปกติของ Platelet Count ให้ยึดตามค่าที่แสดงในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่า Platelet Count ในทารก = 200,000 – 475,000 เซลล์/ลบ.มม.
    • ค่า Platelet Count ในเด็ก = 150,000 – 450,000 เซลล์/ลบ.มม.
    • ค่า Platelet Count ในผู้ใหญ่ = 150,000 – 400,000 เซลล์/ลบ.มม.
  • ค่า Platelet Count ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า เกิดเหตุผิดปกติที่มาทำให้เซลล์เกล็ดเลือดลดจำนวนน้อยลง (Thrombocytopenia) จากสาเหตุต่าง ๆ ที่อาจยกมาเป็นตัวอย่างพอให้เห็นได้โดยสังเขป ดังนี้
    1. จากสาเหตุภายในของร่างกายตนเอง เช่น จากการที่ร่างกายได้รับน้ำมากกว่าปกติ (เช่น กรณีกำลังรับอาหารผ่านสายน้ำเกลือ จึงอาจทำให้เลือดมีสภาวะเจือจางลง), จากไตที่เกิดโรคหรือมีเหตุสำคัญผิดปกติจึงขับทิ้งเม็ดเลือดและเกล็ดเลือดที่สลายตัวแล้วออกทางปัสสาวะมากผิดปกติ (Hemolytic-uremic syndrome), จากสภาวะม้ามที่โตอย่างผิดปกติ (Splenomegaly) จึงไปจับและทำลายเม็ดเลือดและเกล็ดเลือดโดยปราศจากเหตุผลและไร้การควบคุม (หากตรวจพบเกล็ดเลือดมีระดับต่ำมากอย่างผิดปกติก็ควรได้รับการตรวจม้ามด้วยว่ายังอยู่ในสภาพปกติหรือไม่)
    2. จากสาเหตุภายนอกที่มาทำลายเกล็ดเลือด เช่น จากการถูกไวรัสบางชนิดทำลาย (เช่น Cytomegalovirus, Herpes virus, HIV), จากการติดร้ายแรงบางชนิดที่มิใช่ไวรัส, จากการเสียเลือดและมีการได้รับการถ่ายเลือดด้วยปริมาณมากผิดปกติ
    3. จากสาเหตุภายนอกที่มาทำให้ไขกระดูกลดการผลิตเกล็ดเลือดลง เช่น จากการเกิดสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อไขกระดูก (เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคพังผืดจับเจาะไขกระดูก), จากการมีสาเหตุสำคัญที่เข้ามากระทบร่างกายจนมีผลทำให้ไขกระดูกไม่อาจให้กำเนิดเกล็ดเลือดวัยทารกได้หรือกำเนิดได้บ้างแต่มีจำนวนที่น้อยลงมากกว่าปกติ (เช่น จากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องยาวนาน จากการถูกรังสีต่าง ๆ ด้วยขนาดรังสีที่มากหรือถี่เกินไป จากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด จากยารักษาโรคบางตัวอย่างยารักษาอาการชัก ยาขับปัสสาวะ ยาเสริมฮอร์โมน)
  • ค่า Platelet Count ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลว่า เกิดสภาวะการสร้างเกล็ดเลือดมากขึ้นผิดปกติ (Thrombocytosis) โดยอาจบังเกิดขึ้นได้ในกรณีต่าง ๆ ดังนี้
    1. อาจเกิดบาดแผลหรือการบาดเจ็บขนาดใหญ่ จึงทำให้ร่างกายต้องเร่งสร้างเกล็ดเลือดขึ้นมาเพื่อเตรียมการใชช้งานให้เพียงพอ
    2. อาจเกิดโรคร้ายแรงที่ไขกระดูกที่ทำให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดและเกล็ดเลือดออกมากมากกว่าปกติอย่างไร้การควบคุม เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
    3. อาจเกิดจากการอักเสบจากแผลเรื้อรังบางอย่างในร่างกาย

MPV

Mean Platelet Volume หรือ MPV (เอ็มพีวี) คือ ค่าเฉลี่ยปานกลางของปริมาตรเกล็ดเลือด

  • จุดประสงค์ของการตรวจ MPV คือ การตรวจเพื่อหาค่าเฉลี่ยปานกลางของปริมาตรเกล็ดเลือดว่ามีขนาดเล็ก ปกติ หรือใหญ่กว่าปกติ
  • ค่าปกติของ MPV ให้ยึดตามค่าที่แสดงในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
    • ค่า MPV = 6 – 10 fL
  • ค่า MPV ที่ต่ำกว่าปกติ (แปลว่า เกล็ดเลือดโดยเฉลี่ยมีขนาดเล็กกว่าปกติ) อาจแสดงผลได้ว่า
    1. อาจกำลังเกิดสภาวะไขกระดูกเสื่อม ซึ่งมีผลทำให้การสร้างเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดได้ขนาดที่เล็กลง จนอาจทำให้เกิดสภาวะของโรคโลหิตจางจากเหตุไขกระดูกเสื่อม (Aplastic anemia)
    2. เกล็ดเลือดที่ใกล้สิ้นอายุขัย ซึ่งมักจะมีขนาดเล็กลงมากกว่าปกติ
  • ค่า MPV ที่สูงกว่าปกติ (แปลว่า เกล็ดเลือดโดยเฉลี่ยมีขนาดใหญ่กว่าปกติ) อาจแสดงผลว่า
    1. มีเกล็ดเลือดรุ่นใหม่ถือกำเนิดขึ้นมามากผิดปกติ (ซึ่งตามปกติเกล็ดเลือดจะค่อย ๆ ทยอยเกิดเท่ากับจำนวนตัวที่สิ้นอายุขับ) จึงทำให้มีขนาดเฉลี่ยที่ใหญ่กว่าปกติ
    2. อาจกำลังมีโรคหรือเหตุร้ายแรงสำคัญเกิดขึ้นที่ไขกระดูก จึงทำให้ผลิตเกล็ดเลือดที่ใหญ่กว่าปกติ

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด