Liver Function Tests
การตรวจการทำงานของตับ หรือ การตรวจเลือดเพื่อทราบการทำงานตับ (ภาษาอังกฤษ : Liver function tests หรือ LFTs หรือ LFs) คือ กลุ่มการตรวจทางเคมีคลินิกในเลือดภายในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานะของตับของผู้รับการตรวจ โดยการตรวจการทำงานของตับมาตรฐานมักจะประกอบไปด้วย การตรวจ AST (SGOT), ALT (SGPT), ALP (Alkaline phosphatase), Total bilirubin, Direct bilirubin, Albumin, Globulin, A/G Ratio และ GGT (Gamma GT)
หมายเหตุ : ตับเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในช่องท้อง ตั้งอยู่ชิดติดกับกะบังลมและค่อนไปทางขวา ตับมีหลอดเลือดสำคัญที่ใช้ทำหน้าในการผ่านเข้าออกอยู่ 3 ช่องทาง คือ หลอดเลือดแดงจากหัวใจ, หลอดเลือดดำจากลำไส้, และหลอดเลือดดำจากตับสู่หัวใจ เมื่อพิจารณาเพียงการไหลเวียนเข้าออกของหลอดเลือดดังกล่าว ก็พอจะอนุมานได้ว่าตับนั้นเป็นเสมือนโรงงานศูนย์กลางของร่างกาย เพราะมีหน้าที่ทั้งรับวัตถุดิบ ผลิต เก็บรักษา ตรวจสอบคุณภาพการแจกจ่าย เก็บขยะและทิ้งขยะ ซึ่งในการนี้จะขอสรุปพอให้เห็นภาพกว้าง ๆ ในการทำหน้าที่ของตับ ดังนี้
- เป็นหน่วยรักษากฎเกณฑ์ สังเคราะห์ และส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ตับสร้างขึ้นใช้ตามความต้องการของร่างกาย ซึ่งผลผลิตที่ตับสร้างขึ้นและควบคุมการใช้ คือ น้ำตาลกลูโคส, โปรตีน, น้ำดี และสารประเภทไขมัน (เช่น คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ไลโปโปรตีน ฯลฯ)
- เป็นหน่วยเก็บรักษา โดยจะเก็บสิ่งมีประโยชน์ต่าง ๆ (เช่น ไกลโคเจน วิตามินเอ ดี เค บี12 รวมทั้งแร่ธาตุสำคัญต่าง ๆ) ให้เพียงพอที่จะหยิบฉวยเอามาใช้ได้ในยามจำเป็น รวมถึงเก็บของมีพิษ (เช่น โลหะหนัก ยาเคมีรักษาโรค ทองแดง) รวบรวมพักรอไว้ก่อนที่จะทิ้งออกจากร่างกาย
- เป็นหน่วยรักษาความสะอาด โดยจะทำหน้าที่กำจัดขยะและของมีพิษ หรือทำของมีพิษให้หมดพิษ ซึ่งขยะหรือสิ่งมีพิษที่สำคัญ คือ
- แอมโมเนีย (Ammonia) คือ ขยะที่เกิดจากการย่อยสลายอาหารโปรตีน ซึ่งตับจะเปลี่ยนแอมโมเนียให้เป็นยูเรีย (Urea) ส่งผ่านไตให้เป็นน้ำปัสสาวะออกทิ้งไป
- สารบิลิรูบิน (Bilirubin) คือ ขยะทีเ่กิดจากการสิ้นอายุขัยของเม็ดเลือดแดง (แต่ละเม็ดเลือดแดงจะมีอายุขัยประมาณ 120 วัน) โดยม้ามจะทำหน้าที่กวาดต้อนและทำลายเม็ดแดงที่สิ้นอายุขัยแล้วเปลี่ยนให้เป็นสารสีเหลืองไปเกาะกับอัลบูบิน (Albumin) ลอยไปตามกระแสเลือด เพื่อให้ตับเก็บเอามาย่อยสลายเป็นสารบิลิรูบิน แล้วฝาส่งไปกับน้ำดี (Bile) ออกทิ้งผ่านลำไส้ออกไปนอกร่างกายพร้อมกากอาหาร
- ฮอร์โมน (Hormone) อวัยวะต่าง ๆ ที่ผลิตฮอร์โมนขึ้นมาใช้ เมื่อฮอร์โมนเหล่านั้นหมดอายุหรือมีมากเกินความจำเป็น ตับก็จะเก็บมาทำลาย
- ยา คือ สารเคมีที่หลุดเข้าสู่กระแสเลือด ในการนี้ตับจะพยายามเก็บไว้ในฐานของสารพิษเช่นเดียวกับสารพิษอื่น ๆ แล้วหาทางปล่อยทิ้งต่อไป
- แอลกอฮอล์ คือ สารพิษเหมือนยาเช่นกัน แต่มีขอบเขตของพิษมากกว่ายาตรงที่ปริมาณมาสู่ตับที่มักจะมากล้นเกินไป เซลล์ตับจึงรับมือไม่ไหวและเกิดการอักเสบหรือเซลล์ตับตาย (ตับแข็ง) แต่ถึงอย่างไร ตับก็จะพยายามทำหน้าที่ขับทิ้งออกทางไตปนไปกับน้ำปัสสาวะ
- สารพิษ (Toxin) เช่น ยาฆ่าแมลง เห็ดมีพิษ ปลาปักเป้า อาหารบูดเสีย ฯลฯ เหล่านี้คือสารพิษโดยตรง ซึ่งตับจะเป็นอวัยวะที่ต้องรับผิดชอบจัดการในโอกาสแรก
อย่างไรก็ตาม ตับนั้นก็มีจุดอ่อนอยู่ไม่น้อย ทั้ง ๆ ที่ตับมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหัวใจหรือสมอง เพราะหากเซลล์ตับได้รับการบาดเจ็บหรือถูกทำลายจากสารพิษ ก็อาจจะทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับตับได้ ซึ่งโรคตับที่สำคัญและค่อนข้างเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายก็คือ
- โรคตับอักเสบ (Hepatitis) อาจเกิดจากเชื้อไวรัส สารพิษ หรือการกินยารักษาโรคใดโรคหนึ่งต่อเนื่องมาช้านาน ฯลฯ
- โรคตับแข็ง (Cirrhosis) อาจเกิดเนื่องจากตับอักเสบเพราะไวรัส หรือเกิดจากสารเคมี แอลกอฮอล์ หรือยาที่ได้รับอย่างต่อเนื่อง
- โรคมะเร็งตับ (Liver cancer) อาจเกิดขึ้นเองภายในตับหรือแพร่กระจายมาส่วนอื่นก็ได้
- ภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis) เกิดจากการกินธาตุเหล็กมากเกินไปจนตับต้องเก็บรวบรวมไว้ไม่ให้เกิดพิษกับอวัยวะอื่น แต่เหล็กก็เป็นตัวการทำลายเซลล์ตับเอง
- โรควิลสัน (Wilson’s disease) ซึ่งเกิดจากตับต้องสะสมทองแดงมากเกินไปจนเกิดพิษ
- โรคของท่อน้ำดี (Disease of bile duct) เช่น เกิดอักเสบปิดกั้นทำให้ตับหลั่งน้ำดีไม่ได้
- โรคท่อน้ำดีแข็งตัว
- บัดด์ไคอารี่ซินโดรม (Budd-chiari syndrome) เป็นโรคที่เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดดำตับ
AST (SGOT)
AST (Aspartate transaminase) หรือ Aspartate aminotransferase (แต่เดิมการแพทย์จะใช้คำว่า “SGOT” หรือ Serum glutamic oxaloacetic transaminase) คือ เอนไซม์ที่อาจตรวจพบได้ในกระแสเลือด ซึ่งสร้างขึ้นมาจากความเสียหายของตับ เม็ดเลือดแดง หัวใจ กล้ามเนื้อ ตับอ่อน หรือไต จะเห็นได้ว่าค่า AST นี้มิใช่ค่าเอนไซม์เฉพาะตับเท่านั้น แต่เป็นค่าที่สะท้อนจากทุกเนื้อเยื่อของทุกอวัยวะที่เสียหาย (เพียงแต่ตับเป็นอวัยวะที่ไวต่อโรคหรือจากสภาวะแวดล้อมที่มากระทบ จึงมักเป็นสาเหตุแรก ๆ ที่ทำให้ AST ซึ่งเกิดขึ้นจากตับมีค่าสูงขึ้นบ่อยครั้ง นั่นแปลว่า AST ที่สูงขึ้นผิดปกติมักมีสาเหตุมาจากตับมากกว่าอวัยวะอื่น) ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ค่า AST พิจารณาร่วมกับค่าผลเลือดตัวอื่นที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะนั้น ๆ ด้วยเสมอ
สำหรับผู้ที่มีสุขภาพดีจะพบค่า AST ในเลือดน้อยมาก แต่หากเซลล์ตับ เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ และอื่น ๆ ดังกล่าวถูกทำลาย จะมีเอนไซม์ AST จากอวัยวะนั้น ๆ ออกมาที่ระบบเลือดในปริมาณมากขึ้น โดยที่อาจจะพบอาการแสดงของโรคนั้น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
- ชื่อต่าง ๆ ในใบรายงานผลการตรวจที่มีความหมายเดียวกัน คือ
- AST
- AAT
- Aspartate transaminase
- ASAT
- AspAT
- Aspartate aminotransferase
- SGOT
- Serum Glutamic Oxaloacetic Transaminase
- วัตถุประสงค์ของการตรวจ AST (SGOT) คือ การตรวจเพื่อให้ทราบค่าเอนไซม์ AST ซึ่งอาจแสดงผลเปลี่ยนแปลงจากค่าปกติเมื่อตับหรืออวัยวะอื่นบางแห่งกำลังตกอยู่ในอันตรายหรือมีความผิดปกติ (ยิ่งค่า AST สูงขึ้นมากเพียงใด ก็ย่อมเป็นสัดส่วนโดยตรงที่สะท้อนให้เห็นถึงจำนวนเซลล์ของอวัยวะต้นทางที่ได้รับอันตรายบาดเจ็บฟกช้ำมากขึ้นเท่านั้น) ค่า AST จึงใช้เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
- ตรวจสุขภาพของตับในขณะนั้นว่ามีความเสียหายใด ๆ ต่อตับปรากฏอยู่บ้างหรือไม่
- ตรวจยืนยันข้อสงสัยโรคตับที่อาจปรากฏอาการสำคัญว่าเกิดจากโรคตับอักเสบหรือโรคตับแข็งหรือไม่
- ตรวจเพื่อยืนยันอาการผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้นว่าเกี่ยวข้องกับตับหรือไม่ เช่น ปวดช่องท้องส่วนบน คลื่นไส้ อาเจียน ดีซ่าน (ตัวเหลืองตาเหลือง)
- ตรวจในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดีซ่าน เพื่อช่วยบ่งชี้ว่ามาจากโรคเลือดหรือโรคตับ
- ตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาหากเกิดโรคตับและได้มีการรักษาอยู่ก่อนแล้ว
- ตรวจเพื่อติดตามผล หรือพิษจากยาลดคอเลสเตอรอล หรือจากยารักษาโรคอื่นว่าได้สร้างความเสียหายให้แก่ตับหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด
- ตรวจเพื่อช่วยคัดกรองและ/หรือวินิจฉัยภาวะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- การตรวจ AST ในปัจจุบันมักเป็นการตรวจที่อยู่ในโปรแกรมการตรวจสุขภาพประจำปี แต่ในความเป็นจริงแล้วการส่งตรวจการทำงานของตับควรจะส่งตรวจในรายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับ เช่น ในผู้ที่มีดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคตับ มีประวัติหรือมีโอกาสเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ มีภาวะอ้วนหรือเป็นเบาหวาน หรือเป็นผู้ที่กินยาหรือวิตามินหรือสมุนไพรในปริมาณและขนาดที่อาจทำลายตับได้ หรือส่งตรวจในรายที่มีอาการของโรคตับ (เช่น อ่อนแรง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องบวม มีภาวะดีซ่านตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม หรือมีอาการคันที่ผิวหนัง)
- ค่าปกติของ AST (SGOT) ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
- ค่าปกติของ AST (SGOT) ในผู้ชาย คือ 8 – 46 U/L
- ค่าปกติของ AST (SGOT) ในผู้หญิง คือ 7 – 34 U/L
- ค่า AST (SGOT) ที่ต่ำกว่าปกติ มักไม่ค่อยปรากฏและไม่มีนัยสำคัญ หรืออาจสรุปได้ว่า หากตรวจพบค่า AST อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติก็อาจหมายความว่าทุกอวัยวะ (ตับ เม็ดเลือดแดง หัวใจ กล้ามเนื้อ ตับอ่อน หรือไต) ยังไม่มีโรคสำคัญเกิดขึ้น หรือยังมีสุขภาพดีอยู่
- ค่า AST (SGOT) ที่สูงกว่าปกติ อาจเกิดจากการอักเสบหรือปวดเจ็บของเนื้อเยื่อหัวใจ ตับ ตับอ่อน หรือกล้ามเนื้อก็ได้ โดยอาจแสดงผลได้ว่า
- อาจเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Heart attack)
- อาจเกิดโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute pancreatitis)
- อาจเกิดโรคไตวายเฉียบพลัน (Acute renal failure)
- อาจเกิดโรคตับอักเสบ (Hepatitis)
- อาจเกิดโรคตับแข็ง (Cirrhosis)
- อาจเกิดโรคมะเร็งตับ (Liver tumor)
- อาจเกิดภาวะอุดตันภายในตับเอง
- อาจเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงไหลผ่านเข้าตับได้น้อยกว่าปกติ ทำให้เซลล์ตับตายเฉพาะที่ (Lever ischemia)
- อาจเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงสีซีดลงอันเนื่องมาจากพันธุกรรม (Hereditary hemochromatosis)
- อาจเกิดโรคโลหิตจางชนิดเซลล์เม็ดเลือดแดงลดจำนวนน้อยลงอย่างเฉียบพลัน (Acute hemolytic anemia)
- อาจเกิดโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อขั้นแรก (Primary muscle disease)
- อาจเกิดโรคกล้ามเนื้อลีบขั้นรุนแรง (Progressive muscular dystrophy)
- อาจเกิดจากแผลไฟลวกที่ลึกและรุนแรง (Severe deep burn)
- อาจเกิดจากการได้รับการผ่าตัดมาได้นาน (Recent surgery)
- อาจเกิดจากภาวะการถอนพิษหรือลงแดงจากการหยุดดื่มแอลกอฮอล์
- อาจเกิดจากการที่เพิ่งได้รับการรักษาโรคหัวใจด้วยวิธีสอดใส่ห่วงถ่างขยายหลอดเลือดกล้ามเนื้อหัวใจมาได้ไม่นาน (Recent cardiac catheterization)
- อาจเกิดจากมีอาการของโรคชักมาได้ไม่นาน (Recent convultion)
- อาจเกิดจากความรุนแรงจากการติดเชื้อไวรัสจากโรคโมโนนิวคลีโอซิส (Mononucleosis)
- อาจเกิดจากกล้ามเนื้อโครงร่างของร่างกายได้รับการบาดเจ็บฟกช้ำอย่างรุนแรง
- อาจเกิดจากการกินยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ, ยาสแตตินที่ใช้ลดคอเลสเตอรอล (Statin), ยาคีโมรักษามะเร็ง (Chemotherapy), ยาระงับอาการปวดแอสไพริน (Aspirin) รวมทั้งอาจเกิดจากการใช้ยาเสพติด (Narcotics)
- หากค่า AST สูงกว่าปกติไม่มากก็อาจสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นประจำ, ตับอาจติดเชื้อหรืออักเสบเรื้อรัง, อาจมีนิ่วในถุงน้ำดี, อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสจากโรคโมโนนิวคลีโอซิส (Mononucleosis), อาจมีการแพร่กระจายของมะเร็งมาที่ตับ
- ข้อควรรู้และคำแนะนำก่อนการตรวจ AST (SGOT) มีดังนี้
- ต้องงดอาหารและเครื่องดื่ม (ยกเว้นน้ำเปล่า) ก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักก่อนการตรวจ AST
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงชื่อและขนาดยาที่รับประทาน โดยเฉพาะยาสแตติน (Statins), ยาปฏิชีวนะ, ยาแอสไพริน (Aspirin), ยาละลายลิ่มเลือด (Clopidogrel), ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Warfarin), ยานอนหลับ, ยาบาร์บิทูเรต (Barbiturate), ยาเคมีบำบัด, ยาสมุนไพร หรือวิตามินใด ๆ ที่รับประทานอยู่ในขนาดสูง เพราะอาจส่งผลต่อการแปลผลทางห้องปฏิบัติการได้
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงการแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาใด ๆ มีการตั้งครรภ์หรือกำลังจะตั้งครรภ์ หรือได้รับการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ หรือเคยได้รับการผ่าตัด สวดหลอดเลือดหัวใจ หรือทำบอลลูนหัวใจ เนื่องจากผลการตรวจอาจผิดพลาดไปจากความเป็นจริงได้
- แพทย์จะพิจารณาสั่งตรวจการทำงานของตับก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการแสดงของโรคตับหรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคตับ รวมทั้งในผู้ป่วยที่แสดงอาการของโรคหัวใจขาดเลือด และจะพิจารณาตรวจซ้ำตามดุลยพินิจของแพทย์เพื่อประเมินผลการรักษา
- ผลการประเมินค่าทางห้องปฏิบัติการนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานความเป็นไปได้ซึ่งไม่สามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนเพียงค่าเดียว เพราะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการซ้ำเพื่อยืนยัน และต้องตรวจควบคู่ไปกับ ALT และค่าเอนไซม์ตับตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย
ALT (SGPT)
ALT (Alanine transaminase) หรือ Alanine aminotransferase (แต่เดิมการแพทย์จะใช้คำว่า “SGPT” หรือ Serum glutamate-pyruvate transaminase) คือ เอนไซม์ที่ล่องลอยอยู่ในกระแสเลือดซึ่งอาจเกิดจากความเสียหายของอวัยวะใด ๆ ก็ได้ เช่น ไต หัวใจ กล้ามเนื้อ ตับอ่อน หรือตับ (ความเสียหายจากทุกอวัยวะยกเว้นตับ จะปรากฏค่า ALT ไม่มากนักและมักไม่อาจบ่งชี้ได้ว่ามาจากอวัยวะใดชัดเจน) แต่เฉพาะความเสียหายของตับเท่านั้นที่ค่า ALT จะสำแดงค่าสูงขึ้นผิดปกติเป็นตัวเลขให้เห็นอย่างเด่นชัด นั่นแปลว่า หากมีโรคตับเมื่อใด ALT ในเลือดที่ตรวจได้ก็จะสูงกว่าปกติอย่างเด่นชัดเมื่อนั้น ด้วยเหตุนี้ ค่า ALT จึงเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของโรคตับ ALT จึงใช้เพื่อการตรวจสุขภาพของตับเป็นหลัก ซึ่งมักจะให้ความน่าเชื่อถือมากกว่าค่าผลเลือดตัวอื่น
ค่า ALT นับเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญอย่างยิ่งตัวหนึ่งในการวิเคราะห์ผลข้างเคียงหรือพิษต่อตับจากยารักษาโรคบางชนิด (เช่น ยาลดคอเลสเตอรอล) จึงสรุปได้ว่า หากตับได้รับพิษจากยา แอลกอฮอล์ อาหาร หรือจากการถูกโจมตีด้วยเชื้อไวรัส ก็ย่อมมีผลทำให้ค่า ALT สูงขึ้นได้เสมอ (ALT เป็นตัวบ่งชี้ที่ไวต่อความเปลี่ยนค่าเป็นที่สุด ในผลจากความเสียหายใด ๆ ของเซลล์ตับ)
- ชื่อต่าง ๆ ในใบรายงานผลการตรวจที่มีความหมายเดียวกัน คือ
- ALT
- Alanine transaminase
- ALAT
- Alanine aminotransferase
- SGPT
- Serum Glutamate-Pyruvate Transaminase
- วัตถุประสงค์ของการตรวจ ALT (SGPT) คือ
- ตรวจเพื่อให้ทราบค่าเอนไซม์ ALT ซึ่งอาจแสดงผลการเปลี่ยนจากค่าปกติเมื่ออวัยวะบางแห่งของร่างกายโดยเฉพาะตับ ได้รับผลกระทบจากสารพิษ หรือฟกช้ำ หรือถูกโจมตีจากไวรัสจนเป็นผลทำให้เซลล์ตับบาดเจ็บหรือได้รับความเสียหาย
- ตรวจสอบความเสียหายของตับจากเหตุใดก็ตามว่ามีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด
- ตรวจสอบโรคตับซึ่งทราบอยู่ก่อนแล้ว (เช่น มีสาเหตุมาจากแอลกอฮอล์ ยารักษาโรค ไวรัส) ว่าโรคตับที่เป็นอยู่ในขณะนั้นทรุดหนักอยู่ในระดับของโรคตับอักเสบหรือระดับของโรคตับแข็ง
- ตรวจสอบในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการดีซ่านเพื่อบ่งชี้ให้แน่ชัดว่ามีสาเหตุมาจากโรคเลือดหรือมาจากโรคตับ
- ตรวจสอบเพื่อเฝ้าระวังความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อตับ จากการกินยาลดคอเลสเตอรอลหรือยารักษาโรคอื่นใดก็ตาม
- ตรวจในรายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับ เช่น ในผู้ที่มีดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีประวัติครอบครัวเป็นโรคตับ มีประวัติหรือมีโอกาสเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ มีภาวะอ้วนหรือเป็นเบาหวาน หรือเป็นผู้ที่กินยาหรือวิตามินหรือสมุนไพรในปริมาณและขนาดที่อาจทำลายตับได้ หรือส่งตรวจในรายที่มีอาการของโรคตับ (เช่น อ่อนแรง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องบวม มีภาวะดีซ่านตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม หรือมีอาการคันที่ผิวหนัง)
- ค่าปกติของ ALT (SGPT) ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
- ค่าปกติทั่วไปของ ALT (SGPT) คือ 0 – 48 U/L
- ค่าปกติของ ALT (SGPT) ที่เหมาะสมในปัจจุบัน ด้วยวิทยาลัยอเมริกันแห่งสมาคมอายุรแพทย์อเมริกันได้รายงานเสนอว่า แพทย์แผนปัจจุบันควรปรับค่าปกติของ ALT ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับโรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสชนิดซี (HCV) และโรคไขมันพอกตับ (FLD) เพราะผู้ป่วยที่กำลังเป็นโรคใดโรคหนึ่งอย่างเงียบ ๆ นี้ หากไปเจาะเลือดตรวจค่า ALT ก็จะไม่สามารถบ่งบอกได้ว่ากำลังเกิดโรค เพราะพบค่า ALT อยู่ในเกฑณ์ปกติ (0 – 48 U/L ซึ่งเป็นเกณฑ์ปกติเดิม) จึงอาจทำให้เข้าใจผิดว่าตนเองยังมีสุขภาพดีเช่นคนทั่วไปได้ ในข้อเสนอแนะจึงสรุปได้ว่าค่าปกติของ ALT ที่เหมาะสมในปัจจุบัน ควรปรับลดและกำหนดค่ามาตรฐานใหม่เป็นดังนี้
- ค่าปกติของ ALT (SGPT) ในผู้ชาย คือ 30 U/L
- ค่าปกติของ ALT (SGPT) ในผู้หญิง คือ 19 U/L
- ค่า ALT (SGPT) ที่ต่ำกว่าปกติ โดยธรรมดามักจะไม่ปรากฎและมักมีค่าให้ตรวจพบได้เสมอตราบเท่าที่บุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่และตับก็ยังต้องทำหน้าที่เป็นปกติดีอยู่ แต่ถ้า ALT ต่ำกว่าปกติร่วมกับค่าคอเลสเตอรอลที่สูงเกินปกติ ก็อาจเกิดจากท่อน้ำดีในตับอุดตัน (Congested liver) ได้
- ค่า ALT (SGPT) ที่สูงกระเพื่อมขึ้นเล็กน้อยเป็นครั้งคราว อาจแสดงผลได้ว่า
- ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
- กล้ามเนื้ออักเสบ (Myositis)
- อาจเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infraction)
- หากมีโรคหรือภาวะใดที่กระทบต่อตับ หัวใจ หรือกล้ามเนื้อโครงร่าง ก็ย่อมเป็นเหตุทำให้ค่า ALT กระเพื่อมสูงขึ้นได้เสมอ
- ค่า ALT (SGPT) ที่สูงเล็กน้อย อาจแสดงผลได้ว่า
- เริ่มเกิดสภาวะตับอักเสบจากสาเหตุใดก็ตาม เช่น การกินยา การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการกินอาหารที่เป็นพิษ
- อาจเกิดจากการกินยาบางชนิดเป็นประจำหรือต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เช่น ยาลดคอเลสเตอรอลสแตติน (Statins), ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics), ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy), ยาแก้ปวด (Aspirin), ยาแก้อาการซึมเศร้านอนไม่หลับ (Barbiturates), ยาเสพติด (Narcotics)
- อาจมีไขมันสะสมแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อตับสูงเกินปกติ
- อาจเกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังที่ยังแสดงอาการไม่มาก แต่ในระยะยาวอาจก่อให้เกิดโรคตับแข็งขึ้นได้
- อาจเริ่มมีอาการของโรคตับแข็ง
- ค่า ALT (SGPT) ที่สูงปานกลาง อาจแสดงผลได้ว่า
- อาจเกิดโรคตับอักเสบ (Hepatitis)
- อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักจนอยู่ในฐานะเป็นยาเสพติด (Alcohol abuse)
- ตับอาจอักเสบในระยะเริ่มต้นจากเชื้อไวรัส หรือระยะที่ได้รับการรักษาจนอาการเริ่มดีขึ้น
- อาจเกิดจากการกินยาเกินขนาด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาสมุนไพรบางชนิด
- อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสจากโรคโมโนนิวคลีโอซิส (Mononucleosis) หรือที่เรียกว่า “โรคจูบปาก” ซึ่งเป็นการติดต่อผ่านทางน้ำลาย หรือจากการไอ จาม หรือน้ำมูก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตับและม้ามโตกว่าปกติ และอาจรักษาได้ด้วยการพักผ่อนให้มาก ๆ
- ตับอาจเป็นโรคมะเร็ง (Hepatic tumor)
- ท่อน้ำดีอาจถูกปิดกั้น ซึ่งอาจเกิดจากท่อน้ำดีอักเสบหรือมีนิ่วในถุงน้ำดี
- ค่า ALT (SGPT) ที่สูงมาก อาจแสดงผลได้ว่า
- เซลล์ตับอาจกำลังเสียหายอย่างรุนแรงจากเชื้อไวรัสตับอักเสบตัวใดตัวหนึ่งมาไม่นานนัก เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ บี หรือซี
- เซลล์ตับอาจกำลังเสียหายเพราะพิษจากยารักษาโรคบางตัว หรือสมุนไพร หรือวิตามินบางชนิดที่รับประทานในขนาดและปริมาณที่เป็นพิษต่อตับ
- ร่างกายอาจได้รับสารตะกั่วทางใดทางหนึ่งจนตับเกิดความเสียหายจาพิษของตะกั่ว
- ร่างกายอาจถูกพิษโดยตรงจากสารคาร์บอนเตตราคลอไรด์ (Cabon tetrachloride) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้อุปกรณ์เครื่องดับเพลิง
- ตับอาจเสียหายร้ายแรงจากโรคมะเร็งตับ ซึ่งย่อมมีผลทำให้ค่า ALT อยู่ในระดับที่สูงมาก
- ตับอาจอยู่ภาวะขาดเลือด (Hepatic ischemia) เช่น จากกรณีหัวใจล้มเหลว
- ร่างกายอาจเกิดอาการช็อก (Shock) จึงทำให้ตับได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงต่ำกว่าปริมาณที่ควรได้รับจนเซลล์บางส่วนเริ่มตายหรือเสียหายอย่างกว้างขวาง
- ข้อควรรู้และคำแนะนำก่อนการตรวจ ALT (SGPT) มีดังนี้
- ต้องงดอาหารและเครื่องดื่ม (ยกเว้นน้ำเปล่า) ก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
- ต้องงดการกินยาทุกชนิดล่วงหน้าหลาย ๆ วัน ก่อนการเจาะเลือด (โปรดปรึกษาแพทย์ในกรณีที่เป็นยาซึ่งสั่งให้กินโดยแพทย์)
- ต้องงดกินสมุนไพรทุกประเภท รวมถึงอาหารพื้นเมืองตามความเชื่อประหลาด ๆ เช่น สมองลิง กระดูกหัวเสือ เขากวางอ่อน อุ้งตีนหมี ดีงู ปลาปักเป้า ฯลฯ
- การออกกำลังกายอย่างหักโหม หรือภายหลังการผ่าตัด หรือการใส่หลอดโลหะขยายหลอดเลือดกล้ามเนื้อหัวใจในทุกกรณี ล้วนทำให้ค่า ALT สำแดงค่าผิดเพี้ยนสูงขึ้นได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงควรงดการออกกำลังกายก่อนตรวจและแจ้งให้แพทย์ทราบถึงกรณีดังกล่าว
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากท่านกำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากผลการตรวจอาจผิดพลาดไปจากความเป็นจริงได้
- แพทย์มักพิจารณาสั่งตรวจการทำงานของตับในผู้ป่วยที่มีอาการแสดงของโรคตับหรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคตับ และจะพิจารณาตรวจซ้ำตามดุลยพินิจของแพทย์เพื่อประเมินผลการรักษา
- ผลการประเมินค่าทางห้องปฏิบัติการนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานความเป็นไปได้ซึ่งไม่สามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนเพียงค่าเดียว เพราะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการซ้ำเพื่อยืนยัน และต้องตรวจควบคู่ไปกับ AST และค่าเอนไซม์ตับตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย
AST : ALT (DeRitis ratio)
เนื่องจากการตรวจเลือดเพื่อหาค่า ALT มักจะต้องตรวจหาค่า AST ควบคู่ไปด้วยเสมอ ด้วยเหตุนี้ แพทย์จึงช่วยกันวิเคราะห์และพบว่าอัตราส่วนระหว่าง AST : ALT นั้น อาจช่วยบ่งชี้โรคตับอย่างหยาบ ๆ ได้ (มิใช่ข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน แต่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานทั่วไปในเบื้องต้นโดยอาศัยสถิติเดิมเป็นข้อยืนยัน) และเรียกอันตราส่วนตามชื่อผู้ค้นคว้าคนแรกนี้ว่า “DeRitis ratio” โดยจากการรวบรวมสถิติที่ผ่านมาเพื่อใช้เป็นข้อสันนิษฐานโรคที่เกี่ยวกับโรคตับนั้น สามารถสรุปได้ดังนี้
- AST : ALT = 2 : 1 อาจสันนิษฐานว่าเกิดโรคตับจากแอลกอฮอล์ หรือตับเสียหายเรื้อรังจากแอลกอฮอล์ เช่น โรคไขมันพอกตับ
- AST : ALT = 1 : 1 มักเป็นค่าปกติทั่วไป
- AST : ALT = < 1 : 1 อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นโรคไขมันพอกตับแม้ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ หรือเป็นโรคตับอักเสบจากไวรัส หรือเกิดจากการใช้ยา (เฉียบพลันหรือเรื้อรัง)
ALP
ALP ย่อมาจากคำว่า “Alkaline phosphatase” (อัลคาไลน์ ฟอสฟาเตส) คือ เอนไซม์ที่ผลิตขึ้นมาด้วยโปรตีนจากอวัยวะต่าง ๆ ที่เกิดโรคหรือเกิดความผิดปกติ เช่น ตับ กระดูก ลำไส้เล็ก ไต รกของหญิงตั้งครรภ์ (มาจากตับนับเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดของ ALP รองลงมาคือกระดูก)
เพื่อประโยชน์ต่อการวินิจฉัยแยกแยะระหว่างโรคตับและโรคกระดูก ในการเจาะเลือดตรวจ ALP ทุกครั้ง จำเป็นจะต้องตรวจค่า ALT และ AST พร้อม ๆ กันไปด้วยเสมอในคราวเดียวกัน โดยการสำแดงค่าผลเลือดทั้ง 3 ตัวนี้ อาจช่วยบ่งชี้โรคที่สำคัญได้ เช่น ถ้าค่าทั้ง 3 ตัวนี้สูงทั้งหมด อาจบ่งชี้ได้ว่าเป็นโรคตับหรือโรคมะเร็งตับ แต่ถ้าค่า ALP สูงเพียงตัวเดียว (ALT กับ AST ปกติ) ก็อาจบ่งชี้ได้ว่าเป็นโรคกระดูกหรือโรคมะเร็งกระดูก
เมื่อใดก็ตามที่พบค่า ALP สูงขึ้นมากผิดปกติ โปรดอย่านิ่งนอนใจและขอให้คิดถึงสุขภาพของตับไว้ก่อนเสมอ และนอกจากตับแล้วจะต้องคิดถึงสุขภาพกระดูกด้วยเช่นกัน
- ชื่อต่าง ๆ ในใบรายงานผลการตรวจที่มีความหมายเดียวกัน คือ
- ALP
- Alkaline phosphatase
- Alkaline Phos
- ALK PHOS
- ALKP
- วัตถุประสงค์ของการตรวจ ALP คือ
- การตรวจเพื่อให้ทราบค่า ALP ซึ่งเป็นกลุ่มเอนไซม์ที่มีมากในตับและในกระดูก ซึ่งจะช่วยให้ทราบภาวะความผิดปกติของตับและกระดูก โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคเกี่ยวกับท่อน้ำดี ภาวะการขาดวิตามินดี รวมทั้งระดับ ALP ยังอาจนับเป็นสารบ่งชี้มะเร็งที่สำคัญตัวหนึ่งด้วย (ข้อมูลจากเลือดที่ไวที่สุดต่อการหยั่งรู้การกระจายตัวของมะเร็ง (Tumor metastasis) ก็คือค่า ALP)
- เพื่อใช้ร่วมบ่งชี้ตรวจการทำงานของตับจากผลการตรวจเลือดในคราวเดียวกัน
- อาการผิดปกติของตับหรือกระดูกที่สามารถใช้ค่า ALP ช่วยบ่งชี้ได้ว่าจริงหรือไม่
- สัญญาณเตือนหรืออาการผิดปกติเกี่ยวกับสุขภาพตับ ได้แก่ เหนื่อยอ่อนผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ, มีอาการคลื่นไส้และอยากอาเจียน, อาหารที่กินดูเหมือนไร้รสชาติ, มีอาการบวมที่ช่องท้องด้านบน, มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง, ปัสสาวะมีสีเข้มคล้ายสีน้ำตาลหรือดำ, อุจจาระมีสีคล้ำผิดปกติ
- สัญญาณเตือนหรืออาการผิดปกติเกี่ยวกับสุขภาพกระดูก ได้แก่ อาการปวดกระดูกหรือปวดข้อ, อุบัติการณ์กระดูกหักหรือร้าวบ่อยครั้ง, กระดูกในบางอวัยวะแสดงอาการผิดรูป
- ค่าปกติของ ALP ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
- ค่าปกติของ ALP ในผู้ใหญ่ คือ 30 – 120 U/L
- ค่าปกติของ ALP ในเด็ก คือ 30 – 300 U/L
- ค่า ALP ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- อาจเกิดจากการขาดสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีน หรือเกิดจากการกินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ หรือแพ้สารอาหารบางชนิด เช่น แพ้สาร Gluten ในเมล็ดข้าว
- ร่างกายอาจกำลังขาดธาตุแมกนีเซียม
- ร่างกายอาจกำลังขาดวิตามินซีจนเกิดอาการเลือดออกตามไรฟัน (Scurvy) รวมทั้งอาจทำให้สารสร้างฟอสเฟต (Phosphate) ไม่ได้ จึงเป็นผลต่อเนื่องทำให้ส้ราง ALP ไม่ได้
- ร่างกายอาจมีสารฟอสเฟต (Phosphate) ไม่พอที่จะใช้ผลิต ALP ซึ่งในสภาวะนี้มีศัพท์เรียกเป็นการเฉพาะว่า “Hypophosphatemia”
- อาจเกิดจากโรคโลหิตจางชนิดร้ายแรง (Permicious anemia)
- อาจเกิดจากโรควิลสัน (Wilson’s disease) ซึ่งเป็นโรคทางกรรมพันธุ์
- ค่า ALP ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- อาจกำลังเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction)
- อาจเกิดจากภาวะลำไส้ขาดเลือดเฉพาะที่ (Intestinal ischemia) หรือขาดเลือดจนเนื้อเยื่อลำไส้ตาย (Intestinal infarction)
- อาจเกิดโรคตับอักเสบ (Hepatitis) จึงทำให้ ALP มีค่าสูงขึ้นผิดปกติ
- อาจเกิดโรคสำคัญขึ้นที่ตับ เช่น โรคตับแข็งในระยะแรก (Primary cirrhosis) โรคมะเร็งตับระยะเริ่มต้นหรือในระยะแพร่กระจาย หรือโรคมะเร็งตับที่แพร่กระจายมาจากอวัยอื่น ๆ
- อาจเกิดจากภาวะการอุดตันของท่อน้ำดีภายในตับหรือภายนอกตับ (Intrahepatic or Extrahepatic biliary obstruction) เช่น นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones)
- อาจกำลังเกิดโรคไขข้ออักเสบ (Rheumatoid arthritis)
- อาจเกิดโรคกระดูกงอกผิดรูป (Paget’s diseae)
- อาจเกิดโรคกระดูกน่วม (Osteomalacia) เนื่องจากร่างกายขาดวิตามินดี
- อาจเกิดโรคกระดูกอ่อน (Rickets) ซึ่งมีสาเหตุมากจากร่างกายขาดทั้งวิตามินดี แคลเซียม และฟอสฟอรัส
- อาจกำลังอยู่ในระหว่างการรักษากระดูกที่หักให้เชื่อมติดกัน
- อาจเกิดโรคมะเร็งกระดูก (Bone tumor) หรือโรคมะเร็งที่แพร่กระจายมาที่สู่กระดูก (Metastatic tumor to bone)
- อาจเกิดจากต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (Hyperparathyroidism) จึงทำให้มีแคลเซียมมาพอกกระดูกจนหนาผิดปกติ
- อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจวาย, โรคเบาหวาน, โรคปอดอุดตันหรือปอดขาดเลือด (Pulmonary infarction), โรคไขมันพอกภายในหรือภายนอกตับ, โรคมะเร็งตับอ่อน, โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว, โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง, โรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis), ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด, งูสวัด, มีพยาธิ, การติดเชื้อไวรัส (เช่น ไวรัสตับอักเสบ ไวรัสซีเอมวี ไวรัสโมโนนิวคลีโอซีส), การรับประทานอาหารมัน ๆ, การได้รับสารพิษจากโลหะหนักหรือยาฆ่าแมลง ฯลฯ
- ยาบางชนิดอาจมีผลทำให้ค่า ALP สูงหรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็นได้ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้อักเสบ ยาคลายเครียด ยาคลายกังวล ยาแก้ชัก ยาคุมกำเนิด ยาเพิ่มฮอร์โมน ฯลฯ
- ในผู้ที่มีหมู่เลือด B หรือ O มักจะมีค่า ALP ที่สูงกว่าคนปกติได้เล็กน้อย
- สำหรับหญิงตั้งครรภ์อาจอยู่ในระยะตั้งครรภ์ตามปกติตั้งแต่อายุครรภ์ 3 เดือนขึ้นไป ค่า ALP ก็อาจสูงขึ้นได้เช่นกัน เพราะรกก็มีส่วนในการสร้าง ALP ด้วย
- ข้อควรรู้และคำแนะนำก่อนการตรวจ ALP มีดังนี้
- การตรวจ ALP สามารถตรวจได้ง่ายจากการตรวจเลือด (ใช้เลือดในปริมาณ 4-6 มิลลิลิตร ใส่หลอดเก็บเลือดที่มีสารกันเลือดแข็งชนิด Lithium heparin)
- ต้องงดอาหารและน้ำดื่ม (ยกเว้นน้ำเปล่า) ก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
- ในผู้หญิงวัยทองและเด็กจะมีค่า ALP สูงกว่าคนทั่วไปหรือผู้ใหญ่
- ยารักษาโรคบางตัวอาจมีผลทำให้ค่า ALP ที่ตรวจได้มีค่าสูงหรือต่ำผิดไปจากความเป็นจริงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาว่าควรต้องงดหรือไม่เพียงใดก่อนการเจาะเลือดตรวจค่า ALP โดยตัวอย่างยาที่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่า ALP คือ ยาปฏิชีวนะ, ยาแก้อักเสบ, ยารักษาโรคเบาหวาน, ยาคุมกำเนิด, ยาแอสไพริน, ยาฮอร์โมน Cortisone, ยาฮอร์โมนเพศชาย, ยากล่อมประสาท (Tranquilizers), ยาคลายกังวล เป็นต้น
Total bilirubin
Total bilirubin คือ ค่าบิลิรูบินทั้งหมด โดยบิลิรูบินนั้นเกิดมาจากการที่เมื่อเม็ดเลือดแดงหมดอายุขัย (ปกติจะมีอายุขัยประมาณ 120 วัน) ก็จะถูกม้ามจับตัว แล้วทำการสลาย Hemoglobin ที่อยู่ภายในเม็ดเลือดแดงให้ส่วนหนึ่งกลายเป็นกรดอะมิโนเช่นเดียวกับสารอาหารที่ร่างกายใช้ประโยชน์ในฐานะสารโปรตีน และอีกส่วนหนึ่งที่เรียกว่า “Hema” ซึ่งละลายในน้ำ (เลือด) ไม่ได้ จึงต้องอาศัยการเกาะติดมากับ Albumin เพื่อจะได้ล่องลอยไปสู่ที่ตับได้ ซึ่งทันทีที่ Hema + Albumin จับตัวกันลอยได้ในกระแสเลือดก็จะเรียกว่า “Bilirubin” แต่เมื่อยังไม่ไปถึงตับก็จะถูกเรียกว่า “Indirect bilirubin” และเมื่อ Bilirubin ลอยตามกระแสเลือดไปจนถึงตับ ก็จะถูกตับจับไปผสมกับกรดชนิดหนึ่งจนมีคุณสมบัติที่สามารถละลายน้ำได้และปรากฏเป็นสารของเหลวสีเหลือง ซึ่งตรงนี้จะได้ชื่อใหม่ว่า “Direct bilirubin”
ในทางทฤษฎีเราจะสามารถตรวจวิเคราะห์ได้ทั้งค่า Indirect bilirubin และ Direct bilirubin ทั้งนี้ค่าที่พบอาจคำนวณได้ว่า Total bilirubin = Direct bilirubin + Indirect bilirubin แต่ในทางปฏิบัติทั่วไปนั้นจะเป็นการตรวจหาค่าจริง ๆ เฉพาะ Total bilirubin และ Direct bilirubin เท่านั้น หากต้องการทราบค่า Indirect bilirubin ก็เพียงแค่นำมาคำนวณโดยเอาค่า Direct bilirubin ลบออกจาก Total bilirubin
- วัตถุประสงค์ของการตรวจ Total bilirubin คือ
- การตรวจนี้เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจการทำงานของตับ เป็นการตรวจเพื่อให้ทราบค่าบิลิรูบินทั้งหมดมีค่าสูงหรือต่ำกว่าค่าปกติเพียงใด ซึ่งค่าที่ผิดปกติก็ย่อมใช้เป็นเครื่องบ่งชี้สำคัญถึงการเกิดโรคของตับ รวมทั้งอวัยวะอื่น ๆ (เช่น ไต เม็ดเลือดแดง หรือนิ่วในถุงน้ำดี) และตรวจสอบว่าท่อน้ำดีถูกอุดกั้นหรือไม่
- แพทย์สั่งตรวจในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของโรคตับหรือมีความเสี่ยงต่อเกิดโรคตับ หรือเพื่อการวินิจฉัยอาการตัวเหลืองตาเหลืองของผู้ป่วย วินิจฉัยการอุดตันของท่อน้ำดี วินิจฉัยว่ามีการแตกของเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือสั่งตรวจในผู้ที่มีอาการหรือสัมผัสผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ ผู้ที่มีประวัติดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรัง ผู้ที่กินยาบางชนิดที่อาจทำให้เกิดตับอักเสบ (เช่น ยาลดไขมัน ยารักษาวัณโรค)
- เพื่อช่วยตัดสินใจใช้แนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับทารกที่มีภาวะตัวเหลืองตาเหลือง เช่น การส่องไฟ หรือให้เลือด
- ค่าปกติของ Total bilirubin ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
- ค่าปกติของ Total bilirubin ในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ คือ 0.3 – 1.0 mg/dL
- ค่าปกติของ Total bilirubin ในทารก คือ 2.0 – 12.0 mg/dL
- ค่าวิกฤตของ Total bilirubin คือ > 12.0 mg/dL
- ค่า Total bilirubin ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- ไม่ค่อยพบ เพราะเม็ดเลือดแดงจำนวนหนึ่งจะทยอยต้องสิ้นอายุขัยทุกวัน ในกรณีนี้ก็ย่อมทำให้ม้ามต้องกำจัดซากของเม็ดเลือดแดงแล้วนำไปสร้าง Bilirubin ให้มีเกิดขึ้นได้ทุกวัน หรือในอีกความหมายนึ่งอาจแปลว่าร่างกายโดยตับสามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบในการกำจัดสาร Bilirubin (ค่ายิ่งต่ำเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น)
- อาจกินวิตามินซี หรือกินยาฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital), ทีโอฟิลลีน (Theophylline), เพนิซิลิน (Penicillin) ซึ่งยาเหล่านี้มีผลในทางอ้อมทำให้ค่า Bilirubin อาจลดค่าต่ำลงได้
- ค่า Total bilirubin ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- เกิดความผิดปกติขึ้นที่หน่วยสร้าง Bilirubin (ม้ามที่มีวัตถุดิบคือเม็ดเลือดแดง) หรือหน่วยทำลาย Bilirubin (ตับและไต) ในระบบกลไกของร่างกาย (ค่าที่อยู่ในเกณฑ์ปกติจึงสะท้อนถึงความสมดุลระหว่างหน่วยสร้างและหน่วยทำลาย ส่วนค่าที่สูงกว่าปกติ จึงอาจมีสาเหตุมาจากเม็ดเลือดถูกทำลายมากกว่าปกติ หรือมาจากตับหรือไตที่ทำงานผิดปกติ)
- อาจเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นที่ถุงน้ำดีจนทำให้เกิดอาการตีบใกล้จะตัน เช่น ถุงน้ำดีติดเชื้อ ท่อน้ำดีอักเสบ
- อาจเกิดโรคร้ายแรงซึ่งมีผลทำให้เกิดการอุดกั้นท่อน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี โรคมะเร็งตับอ่อน (เมื่อท่อตับอ่อนถูกปิดกั้นจากโรคมะเร็งก็จะมีผลทำให้ท่อน้ำดีถูกปิดกั้นไปด้วย)
- ตับอาจมีภาวะผิดปกติ เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง หรือเกิดภาวะพิษเพราะติดเชื้อ ซึ่งล้วนแต่ทำให้ตับทำหน้าที่ได้ไม่ดี การเปลี่ยน Bilirubin ให้เป็น Direct bilirubin เพื่อนำออกทิ้งทางท่อน้ำดีจึงทำไม่ได้เหมือนอย่างที่เคย จึงย่อมมีผลทำให้ Bilirubin คับคั่งอยู่ในกระแสเลือด ค่า Total bilirubin จึงสูงขึ้นกว่าปกติ
- ไตอาจทำหน้าที่บกพร่อง จึงทำให้การปล่อยทิ้ง Direct bilirubin ออกทางน้ำปัสสาวะทำได้ไม่สะดวก ค่า Total bilirubin จึงอาจสูงขึ้นตามไปด้วย
- อาจมีเหตุสำคัญที่ทำให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายลงอย่างมากผิดปกติในเวลาสั้น ๆ เช่น กรณีเกิดโรคเม็ดเลือดแดงเปลี่ยนรูปร่างเป็นรูปเคียว (Sickle cell disease) หรือมีการรับการถ่ายเลือด หรือเม็ดเลือดแดงถูกภูมิคุ้มกันทำลาย เมื่อม้ามทำลายเม็ดเลือดแดงทั้งหลายมากผิดปกติ จึงย่อมทำให้ค่า Total bilirubin ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- อาจเกิดจากโรคโลหิตจาง ซึ่งมีเหตุเพราะเม็ดเลือดแดงมีขนาดผิดปกติทุกกรณีย่อมถูกม้ามทำลายได้ง่าย จึงทำให้เกิด Bilirubin สูงขึ้นจนตับเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็น Direct bilirubin ไม่ทัน ก็อาจมีส่วนทำให้ค่า Total bilirubin สูงขึ้น (ถ้าตรวจเลือดแล้วพบว่า เม็ดเลือดแดงมีลักษณะรูปร่างปกติ ไม่มีอาการของโรคโลหิตจาง ม้ามและตับก็ยังเป็นปกติดี แต่ค่า Total bilirubin ในเลือดก็สูงอยู่ กรณีอย่างนี้ไม่ควรมองข้ามไต)
- อาจเกิดจากภาวะซีดจากเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolytic anemia) หรือนำวิตามินบี 12 ไปใช้ไม่ได้ (Pernicious anemia)
- อาจเกิดจากการถ่ายเลือด
- อาจเกิดโรคดีซ่านจากพันธุกรรม เช่น โรค Gilbert’s disease ซึ่งอาจมีเพียงอาการตัวเหลือง ไม่ได้เป็นอันตรายเหมือนโรคดีซ่านทั่วไป
- กรณีของทารกในครรภ์หรือแรกเกิดที่มีเลือดคนละหมู่เลือดหรือมี Rh ต่างชนิดกับมารดา ก็ย่อมอาจมีปัญหาร้ายแรงได้ เพราะร่างกายของมารดาจะสร้างสาร anti-Rh เพื่อไปทำลายเม็ดเลือดของบุตรผ่านทางรก (แม้แต่คลอดออกมาแล้ว สาร anti-Rh ก็อาจยังมีผลอยู่และทำให้เด็กมีภาวะเลือดจางหรือดีซ่านได้) เมื่อเม็ดเลือดแดงมีขนาดและลักษณะไม่สมประกอบ ม้ามในร่างกายของทารกก็จะทำลายเม็ดเลือดแดงแล้วสร้างเป็น Bilirubin ในเลือดให้สูงขึ้นอย่างผิดปกติ ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกสลายในทารกนี้เรียกว่า “Erythroblastosis fetalis” จึงทำให้ค่า Total bilirubin ในตัวของทารกสูงกว่าเกณฑ์ปกติ
- ในกรณีของเด็กทารกแรกเกิดที่หากมีค่า Total bilirubin สูงกว่าเกณฑ์จนผิดปกติ และเริ่มมีภาวะดีซ่าน (ตัวเหลืองและตาเหลือง) อาจสันนิษฐานว่าเป็น “ภาวะโรคคริกเกอร์-นัจจาร์” (Crigler-Najjar syndrome) ซึ่งมักเกิดกับทารกแรกคลอดประมาณ 2-3 วัน โดยมีสาเหตุมาจากยีนทั้งจากพ่อและแม่ ซึ่งเป็นยีนที่ขัดขวางเอนไซม์ที่ใช้เปลี่ยน Indirect bilirubin ให้เป็น Direct bilirubin แต่เปลี่ยนไม่สำเร็จเพราะขาดเอนไซม์ จึงเป็นผลทำให้ Total bilirubin ท่วมสูงในเลือดจนนำไปสู่ภาวะดีซ่านอย่างร้ายแรง อย่างไรก็ตาม โรคนี้ก็เกิดขึ้นได้น้อยมาก ๆ เพราะต้องเป็นพันธุกรรมที่ประจวบเหมาะทั้งพ่อและแม่ที่ต่างมีพาหะของยีนซึ่งผิดปกติที่ถ่ายทอดให้ทารกพร้อมกัน อีกทั้งเมื่อเด็กเกิดมาแล้วก็มักจะไม่รอดชีวิต จึงหมดโอกาสที่จะถ่ายทอดให้กับบุตรหลานต่อไปได้
- ร่างกายมีการช้ำเลือดขนาดใหญ่ (Large hematoma) ซึ่งผิวหนังมีลักษณะเป็นจ้ำแดง ๆ หรือดำ ๆ คล้ายถูกกระแทกด้วยของหนัก ทำให้เส้นเลือดแดงฝอยแตกหรือเม็ดเลือดแดงแตก แต่ไม่ถึงกับเกิดบาดแผล ซึ่งในกรณีแบบนี้ ม้ามก็ต้องจัดการทำลายเม็ดเลือดแดงที่แตก จึงทำให้ค่า Total bilirubin สูงขึ้นกว่าปกติ
- อาจเกิดจากการกินยารักษาโรคบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาปฏิชีวนะ ยาแก้โรคความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคเบาหวาน ยาแก้นอนไม่หลับ ยาคุมกำเนิด ฯลฯ
- ข้อควรรู้และคำแนะนำก่อนการตรวจ Total bilirubin มีดังนี้
- ต้องงดน้ำและอาหารก่อนเจาะเลือดเป็นเวลา 8 ชั่วโมง (ในเด็กไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารก่อนการตรวจ)
- กรุณาแจ้งให้แพทย์ทราบหากตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ หรือแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาใด ๆ หรือการใช้ยาใด ๆ อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาปฏิชีวนะ ยาคุมกำเนิด ไดอะซีแพม (Diazepam), ฟลูราซีแพม (Flurazepam), อินโดเมธาซิน (Indomethacin), ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital), ทีโอฟิลลีน (Theophylline), ยาละลายลิ่มเลือด (Aspirin หรือ Clopidogrel) หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Warfarin) รวมถึงสมุนไพรหรือวิตามินใด ๆ (เช่น วิตามินซี) เพราะยาเหล่านี้อาจส่งผลต่อการแปลผลทางห้องปฏิบัติการได้
- โดยปกติแล้วจะทำการตรวจระดับบิลิรูบินในเลือดเท่านั้น แต่บางกรณีอาจทำการตรวจระดับบิลิรูบินในปัสสาวะด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
- การออกกำลังกายอย่างหนักอาจมีผลเพิ่มระดับบิลิรูบินในเลือดได้
- เพศชายจะมีระดับบิลิรูบินในเลือดสูงกว่าผู้หญิง
- เชื้อชาติมีผลต่อระดับบิลิรูบิน โดยผู้ที่มีเชื้อชาติแอฟริกาจะมีระดับบิลิรูบินในเลือดต่ำกว่าชาติอื่น ๆ
Direct bilirubin
Direct bilirubin คือ บิลิรูบินชนิดที่ละลายน้ำได้ ซึ่งเกิดจากการที่ตับนำเอา Bilirubin ที่ลอยอยู่ในกระแสเลือดมาผสมเข้ากับกรดชนิดหนึ่งจนมันมีคุณสมบัติสามารถละลายน้ำได้และเป็นสารของเหลวสีเหลืองที่พร้อมที่จะถูกทิ้งออกนอกร่างกายโดยอวัยวะตับและไต
ในผู้ที่มีสุขภาพทั่วไปเป็นปกติดี รวมทั้งดูแลเรื่องอาหารการกินมาตลอด ไม่กินยาหรือสมุนไพรอย่างผิด ๆ และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ตับก็ยังมีสุขภาพดีอยู่ จึงย่อมพบค่า Direct bilirubin ได้น้อย เพราะตับของคนกลุ่มนี้จะสามารถแปรสภาพ Indirect bilirubin ให้กลายเป็น Direct bilirubin ได้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่เหลือคั่งค้าง รวมทั้งยังสามารถจัดการส่ง Direct bilirubin ทั้งหมดที่เกิดขึ้นไปผลิตกรดน้ำดีเก็บสะสมไว้ในถุงน้ำดี รอเวลาเพื่อนำไปใช้ย่อยอาหารไขมันได้อย่างหมดจด
- วัตถุประสงค์ของการตรวจ Direct bilirubin คือ การตรวจเพื่อให้ทราบค่าบิลิรูบินชนิดที่ละลายน้ำได้ (Direct bilirubin) จากตับว่ามีจำนวนไหลล้นสู่กระแสเลือดจนสามารถวัดค่าได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ ซึ่งจะช่วยบอกได้ว่า
- ตับมีสุขภาพเป็นปกดีหรือไม่เพียงใด
- ท่อทางเดินที่ผ่านออกจากถุงน้ำดีมีอุปสรรคมากน้อยเพียงใดหรือไม่
- ค่าปกติของ Direct bilirubin ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
- ค่าปกติของ Direct bilirubin คือ 0.1 – 0.3 mg/dL
- ค่า Direct bilirubin ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า มีการขับทิ้ง Direct bilirubin โดยตับและไตได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในความเป็นจริงแล้วยากที่จะเป็นเช่นนั้นได้ ดังนั้นตัวเลขที่มีค่าน้อยกว่าปกติหรือค่อนข้างใกล้มาทาง 0 mg/dL จึงไม่มีนัยสำคัญแต่อย่างใด
- ค่า Direct bilirubin ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- อาจเกิดจากท่อน้ำดีภายนอกตับถูกปิดกั้นการไหลผ่านของน้ำดี เช่น อาจเกิดจากนิ่วในท่อน้ำดี นิ่วในถุงน้ำดีที่ไปปิดช่องทางท่อถุงน้ำดี เนื้องอกที่ตับอ่อน จึงเป็นผลทำให้ Direct bilirubin ไหลผ่านออกไปเป็นน้ำดีไม่ได้และคับคั่งท่วมท้นจากตับเข้าสู่กระแสเลือด
- อาจเกิดการอุดตันของท่อน้ำดีภายในตับเอง น้ำดีจึงไม่สามารถไหลผ่านออกจากตับมาสู่ถุงน้ำดีได้ เป็นผลทำให้ Direct bilirubin ไม่ถูกนำไปใช้ผลิตเป็นกรดน้ำดี จึงทำให้ล้นออกสู่กระแสเลือดอย่างมาผิดปกติ โดยการอุดตันของท่อน้ำดีภายในตับนั้นอาจเกิดจากโรคตับ (อาจเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์), ตับกำลังเสียหายจากแบคทีเรียบางชนิด, ตับแข็งระยะเริ่มต้นจากบริเวณท่อน้ำดี, ตับอักเสบจากเชื้อไวรัส, เกิดอาการบวมอักเสบหรือมีการติดเชื้อเกิดขึ้นที่ท่อน้ำดีในชั้นต้น, เกิดจากโลหิตในร่างกายได้เกิดการติดเชื้อ, ร่างกายได้รับสารอาหารด้วยวิธีการให้ผ่านสายน้ำเกลือมานานเกินไป, การตั้งครรภ์ เป็นต้น
- อาจเกิดโรคสำคัญขึ้นภายในตับเอง เช่น โรคตับอักเสบ โรคตับแข็ง โรคมะเร็งตับ อาการฟกช้ำ หรือได้รับการผ่าตัด ฯลฯ จึงทำให้ตับหมดสมรรถภาพที่จะนำ Direct bilirubin ไปผลิตเป็นกรดน้ำดีได้ จึงส่งผลต่อเนื่องทำให้ Direct bilirubin ล้นออกจากตับเข้าสู่กระแสเลือดมากผิดปกติ
- อาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า “Dubin-Jhonson syndrome” ที่ทำให้ตับปล่อย Direct bilirubin ออกมาทางท่อน้ำดีได้น้อยกว่าปกติ จึงทำให้ตรวจ Direct bilirubin ในเลือดสูงผิดปกติ (โรคนี้พบเกิดได้น้อยและมักพบความผิดปกติเมื่อพ้นจากวัยรุ่นขึ้นมาแล้ว) หรืออาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรมอีกโรค คือ “Rotor syndrome”
- อาจเกิดจากยาบางชนิดที่ทำให้เกิดอาการตัวเหลืองตาเหลือง เช่น ยาอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic steroids), คลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin), ไอโซไนอาซิด (Isoniazid)
- สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น โรคเอดส์, โรควิลสัน (Wilson’s disease), โลหิตเป็นพิษ (Sepsis), ความดันโลหิตต่ำ (Shock), ภาวะเหล็กเกาะที่ตับ (Hemochromatosis), การติดเชื้อต่าง ๆ (เช่น เชื้อพยาธิ เชื้อ CMV ท่อน้ำดีอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ) ฯลฯ
- ข้อควรรู้และคำแนะนำก่อนตรวจ Direct bilirubin
- ต้องงดน้ำและอาหารก่อนเจาะเลือดเป็นเวลา 8 ชั่วโมง (ในเด็กไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารก่อนการตรวจ)
- กรุณาแจ้งให้แพทย์ทราบหากตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ หรือแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาใด ๆ หรือการใช้ยาใด ๆ อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาปฏิชีวนะ ยาคุมกำเนิด ไดอะซีแพม (Diazepam), ฟลูราซีแพม (Flurazepam), อินโดเมธาซิน (Indomethacin), ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital), ทีโอฟิลลีน (Theophylline), ยาละลายลิ่มเลือด (Aspirin หรือ Clopidogrel) หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Warfarin) รวมถึงสมุนไพรหรือวิตามินใด ๆ (เช่น วิตามินซี) เพราะยาเหล่านี้อาจส่งผลต่อการแปลผลทางห้องปฏิบัติการได้
- โดยปกติแล้วจะทำการตรวจระดับบิลิรูบินในเลือดเท่านั้น แต่บางกรณีอาจทำการตรวจระดับบิลิรูบินในปัสสาวะด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
- การออกกำลังกายอย่างหนักอาจมีผลเพิ่มระดับบิลิรูบินในเลือดได้
- เพศชายจะมีระดับบิลิรูบินในเลือดสูงกว่าผู้หญิง
- เชื้อชาติมีผลต่อระดับบิลิรูบิน โดยผู้ที่มีเชื้อชาติแอฟริกาจะมีระดับบิลิรูบินในเลือดต่ำกว่าชาติอื่น ๆ
Total protein
Total protein คือ ปริมาณโปรตีนรวมในกระแสเลือด (ตามปกติจะเป็นค่าผลรวมของ Prealbumin, Albumin และ Globulin) ซึ่งควรจะมีปริมาณให้เพียงต่อการใช้พอดี ๆ ในกรณีที่มีน้อยเกินไปหรือมากเกินไปก็ย่อมแสดงถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกาย
- วัตถุประสงค์ของการตรวจ Total protein คือ การตรวจเพื่อให้ทราบค่าปริมาณของโปรตีนรวมในกระแสเลือดว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ เพราะปริมาณรวมของโปรตีนในกระแสเลือดผลิตขึ้นมาจากตับ จึงอาจใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงสภาวะการทำงานของตับหรือของโรคเกี่ยวกับตับและโรคอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น โรคเกี่ยวกับไต โรคมะเร็งเม็ดเลือด โรคขาดสารอาหาร ฯลฯ กล่าวโดยสรุปก็คือ
- ตรวจเพื่อให้รู้ว่าอาหารที่บริโภคประจำมีโปรตีนซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการเพียงหรือไม่ เพียงใด
- บ่งชี้ว่าในขณะนั้นตับ/ไตมีสภาพปกติหรือไม่
- ตรวจเพื่อหาข้อมูลว่าตับมีโรคใด ๆ อยู่บ้างหรือไม่
- ค่าปกติของ Total protein ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
- ค่าปกติของ Total protein ในผู้ใหญ่ คือ 6.4 – 8.3 gm/dL
- ค่าปกติของ Total protein ในเด็ก คือ 6.2 – 8 gm/dL
- ค่า Total protein ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- อาจเกิดจากการขาดสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีนหรือมีโปรตีนน้อยมาก
- อาจเกิดจากกลไกการดูดซึมของลำไส้ทำงานผิดปกติ (Melabsorption)
- อาจแสดงว่าตับทำงานผิดปกติหรือมีโรคตับ จึงเป็นเหตุทำให้ตับไม่สามารถผลิตโปรตีนออกมาได้ในระดับที่ควรกระทำ เป็นสาเหตุทำให้ Total protein ในเลือดต่ำผิดปกติ
- อาจเกิดโรคไตเสื่อม (Nephrosis) ทำให้กรวยไตไม่กรองโปรตีนกลับคืนอย่างที่ควรจะทำ แต่กลับปล่อยทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะ
- อาจเกิดจากโรคไตรั่ว (Nephrotic syndrome) เพราะมีผลต่อเนื่องทำให้โปรตีนรวมในเลือดมีระดับต่ำลงผิดปกติ โดยถือเกณฑ์ว่าเมื่อใดที่ไตปล่อยทิ้งโปรตีนไปกับปัสสาวะมากกว่าวันละ 3.5 กรัม จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้
- อาจเกิดจากโรคในช่องทางเดินอาหาร
- อาจเป็นโรคเบาหวานโดยที่ไม่รู้ตัวหรือควบคุมโรคได้ไม่ดี
- อาจเกิดโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของเลือด (Blood dyscrasias) เช่น มีเลือดกำเดาไหลโดยไม่มีสาเหตุ
- อาจเกิดจากการเสียเลือดหรือตกเลือดที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งในร่างกาย (Hemorrhage) เช่น ริดสีดวงทวาร
- อาจมีอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเกิดแผลขนาดใหญ่จากไฟลวก
- อาจเกิดพิษจากการตั้งครรภ์
- ค่า Total protein ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- ตับอาจเกิดการอักเสบหรือมีการติดเชื้อเรื้อรัง เช่น จากเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี เชื้อ HIV
- อาจเกิดจากภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
- อาจเกิดจากการเสียน้ำจากการอาเจียน อาการท้องเดิน ฯลฯ
- อาจเกิดสภาวะความเป็นกรดจากอาการของโรคเบาหวาน (Diabetic acidosis)
- อาจเกิดจากโรคมะเร็งไขกระดูก (Multiple myeloma)
- อาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า “Waldenstrom’s disease” ซึ่งเป็นมะเร็งของ B-cell lymphocye ซึ่งทำให้ไขกระดูกต้องการใช้โปรตีนนำมาสร้างเซลล์มะเร็งชนิดนี้มากเกินไป
- คำแนะนำก่อนการตรวจ Total protein
- ต้องงดอาหารก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
Albumin
Albumin (อัลบูมิน) คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่ลอยได้ในกระแสเลือดที่ถูกผลิตขึ้นจากตับและมีปริมาณมากกว่าโปรตีนชนิดอื่น (ชาวบ้านมักเรียกว่า “ไข่ขาว” ในกรณีปนออกมากับน้ำปัสสาวะ) โดยนับเป็นสัดส่วนได้ประมาณ 60% ของ Total protein และด้วยเหตุที่อัลบูมินผลิตขึ้นมาจากตับเพียงแหล่งเดียวเท่านั้น หากตรวจพบ Albumin ในเลือดมีค่าต่ำลงมากผิดปกติก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าตับน่าจะเกิดโรคหรือมีเหตุสำคัญร้ายแรงเกิดขึ้น จึงทำให้ผลิตอัลบูมินออกมาในปริมาณปกติไม่ได้อย่างที่เคยกระทำ แต่หากพบว่า Albumin มีค่าต่ำ (ค่าผลเลือดตัวอื่นได้ร่วมบ่งชี้ว่าตับเป็นปกติดี) ก็ควรสันนิษฐานต่อไปว่าไตน่าจะเกิดโรคหรือมีเหตุสำคัญ จึงอาจปล่อยอัลบูมินทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะ ถ้าตรวจปัสสาวะแล้วพบไข่ขาวหรืออัลบูมินในปัสสาวะมีค่าสูงผิดปกติ ก็เท่ากับเป็นการร่วมยืนยันว่ากำลังเกิดโรคไต
- วัตถุประสงค์ของการตรวจ Albumin คือ การตรวจเพื่อให้ทราบค่าโปรตีนในกระแสเลือดชนิดอัลบูมินว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ ซึ่งจะมีผลชี้วัดไปถึงสภาวะการทำงานของตับและไต กล่าวคือ
- ช่วยบ่งชี้ว่าในร่างกายมีโรคตับหรือโรคไตใด ๆ อยู่บ้างหรือไม่
- ตรวจสอบว่าร่างกายได้รับโปรตีนจากอาหารในแต่ละวันที่บริโภคเพียงพอหรือไม่ หรือมีกลไกการดูดซึมอาหารผิดปกติอย่างไรบ้างหรือไม่
- ค่าปกติของ Albumin ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
- ค่าปกติของ Albumin คือ 3.5 – 5 gm/dL
- ค่า Albumin ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- อาจเกิดจากการดื่มน้ำมากเกินไป (Overhydration) จึงทำให้อัลบูมินในเลือดเจือจางลง
- อาจเกิดจากการขาดสารอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารจำพวกโปรตีน หรืออาจเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนต่ำมาช้านาน จึงทำให้ร่างกายผลิต Albumin ไม่ได้
- อาจเกิดโรคเกี่ยวกับตับ (Hepatic disease) ซึ่งทำให้ผลิตอัลบูมินได้น้อย เช่น โรคตับอักเสบ, โรคตับแข็ง, โรคเซลล์ตับตายเฉพาะส่วน (เช่น จากการกินสารเคมีที่เป็นพิษ), โรคมะเร็งตับระยะแพร่กระจาย รวมถึงการได้รับสารเคมีที่เป็นพิษต่อตับ จึงทำให้ตับทำหน้าที่สังเคราะห์สารบางอย่างไม่ได้ จึงมีผลทำให้ Albumin มีค่าต่ำผิดปกติ
- อาจเกิดจากโรคไต เช่น โรคไตรั่ว (Nephrotic syndrome) จึงทำให้ปล่อยทิ้งโปรตีนไปกับกับปัสสาวะโดยไร้การควบคุม ไม่สามารถกรองโปรตีนกลับคืนมาสู่ระบบของร่างกาย (ทำให้สังเกตเห็นว่าปัสสาวะมีไข่ขาว)
- อาจเกิดจากโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการควบคุมหรือควบคุมไม่ดี จึงทำให้ร่างกายต้องหันมาใช้โปรตีนเพื่อดัดแปลงเป็นเชื้อเพลิงแทนกลูโคส (ทั้ง ๆ ที่กลูโคสก็มีท่วมท้นอยู่ในหลอดเลือด)
- อาจเกิดจากร่างกายมีภาวะของโรคหัวใจวาย (Heart failure) ซึ่งทำให้หัวใจปั๊มเลือดออกมาต่ำกว่าปริมาณที่ควรส่ง จึงทำให้ตับได้รับเลือดใช้ไม่เพียงพอและมีผลต่อเนื่องทำให้ตับผลิต Albumin ได้น้อยลงกว่าปกติ
- อาจเกิดจากโรคดูดซึมอาหารจากช่องทางเดินอาหารไม่ได้ (Gastrointestinal malabsorption syndrome)
- อาจเกิดจากโรคต่อมไทรอยด์ทำงานหนักเกิน (Hyperthyroidism) เนื่องจากไปก่อให้เกิดการเผาผลาญสารอาหารมากเกินไป จึงทำให้เหลือ Albumin น้อยลง
- อาจเกิดจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอจกินส์ (Hodgkin’s lymphoma)
- อาจเกิดจากการรั่วซึมที่ผนังเส้นเลือดแดงฝอย (Increased capillar permeability)
- อาจเกิดจากแผลไฟลวกที่รุนแรง
- ค่า Albumin ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- เกิดมีความเข้มข้นในเลือดสูงกว่าปกติ เช่น ในกรณีที่ร่างกายขาดน้ำ (Dehydration) จึงทำให้ Albumin ที่นับกันด้วยจำนวนกรัมต่อเลือด 1 เดซิลิตร พลอยสูงขึ้นผิดปกติตามไปด้วย
- อาจเกิดโรคมะเร็งไขกระดูก (Multiple myeloma)
- อาจเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนมาก
- อาจเกิดจากการรัดแขนบริเวณที่เจาะเลือดนานเกินไป
- คำแนะนำก่อนการตรวจ Albumin
- ต้องงดอาหารก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
- การตรวจ Albumin ในเลือดอาจมีความเบี่ยงเบนมีค่าสูงขึ้นหรือต่ำลงผิดปกติไปจากที่ควรจะเป็นได้ ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กำลังตั้งครรภ์, การได้รับฮอร์โมน (ฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนเร่งการเติบโต ฮอร์โมนอินซูลิน ฯลฯ), ร่างกายนอนพักบนเตียงนานเกินไปในบางกรณี (เช่น อัมพาต หรือมีโรคร้ายแรงที่ต้องพักผ่อน), อาจบริโภคอาหารตามปกติไม่ได้ในช่วงนั้น, ร่างกายอยู่ระหว่างการติดเชื้อหรือมีอาการบาดเจ็บรุนแรง
Globulin
Globulin (โกลบูลิน) คือ โปรตีนสำคัญของ Total protein อีกตัวหนึ่งที่ล่องลอยอยู่ในพลาสมาหรือในกระแสเลือด ซึ่งมีปริมาณรองลงมาจาก Albumin
Globulin สามารถจำแนกอย่างกว้าง ๆ ได้เป็น 3 ชนิด คือ Alpha globulin, Beta globulin และ Gamma globulin ซึ่งเฉพาะแต่ Gamma globulin ที่นอกจากจะมีปริมาณเป็นสัดส่วนมากที่สุดแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นพาหนะให้เซลล์เม็ดเลือดขาวให้มาจับติดเกาะกันให้สามารถล่องลอยไปในกระแสเลือดเพื่อทำลายล้างจุลชีพก่อโรคด้วย มันจึงได้รับการขนานนามใหม่ว่า “Immunoglobulin” จึงอาจเรียกได้อย่างเต็มว่า Globulin ส่วนใหญ่ ก็คือสารภูมิต้านทานโรคนั่นเอง หากค่า Globulin ในเลือดสูงขึ้นผิดปกติ ก็ย่อมบ่งชี้ได้ว่าในขณะนั้น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกำลังอยู่ในสภาวะระดมพลเพื่อการต่อสู้ทำลายล้างกับจุลชีพก่อโรคที่กำลังล่วงล้ำเข้าสู่ร่างกายให้หมดไป
- วัตถุประสงค์ของการตรวจ Globulin คือ การตรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงที่ร่างกายอาจเกิดการติดเชื้อจากโรคสำคัญเนื่องจากความบกพร่องของ Globulin ซึ่งเป็นองค์ประกอบของภูมิต้านทานบ้างหรือไม่
- ค่าปกติของ Globulin ให้ยึดตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานแสดงผลเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าปกติทั่วไป คือ
- ค่าปกติของ Globulin คือ 2.3 – 3.4 gm/dL
- ค่า Globulin ที่ต่ำหรือสูงกว่าปกติ ค่ารวมของโกลบูลินเพียงตัวเดียวโดด ๆ ที่สูงหรือต่ำอาจแสดงความหมายไม่ชัดเจนอะไรมากนัก จึงจำเป็นต้องทราบลึกลงไปถึงค่า alpha, beta และ gamma ของโกลบูลินทุกตัว
- ค่า Globulin ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- ตับอาจมีปัญหาเกิดขึ้นจนทำหน้าที่ได้ไม่ครบถ้วน ก็อาจผลิต Globulin ไม่ได้เลยก็ได้ แม้ Globulin อาจผลิตได้จากแหล่งอื่นด้วยก็ตาม แต่ปริมาณส่วนรวมในเลือดก็ย่อมลดต่ำลงผิดปกติได้
- อาจเกิดโรคไตรั่ว (Nephrosis) เพราะไตที่ยังปกติดีจะกรองเอาเฉพาะแต่ของเสียออกทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะ แต่สารที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายจะถูกดูดซึมเอามาใช้ใหม่ เช่น กลูโคส ธาตุโซเดียม โปรตีนชนิดต่าง ๆ รวมทั้ง Globulin ให้กลับคืนมาให้ร่างกายใช้ต่อไปได้ แต่ในกรณีที่กรวยไตรั่วจะไม่สามารถดูดซึม Globulin กลับได้ จึงทำให้ค่า Globulin ในเลือดมักแสดงค่าต่ำผิดปกติ
- อาจเกิดจากโรคพันธุกรรมที่ร่างกายได้รับมาจากพ่อแม่ จึงทำให้ผลิต Globulin ออกมาได้น้อยกว่าปกติ ซึ่งเรียกโรคนี้ว่า “Hypogammaglobulinemia”
- อื่น ๆ เช่น โรคลำไส้อักเสบ (Inflammatory bowel disease), โรคแพ้กลูเตน (Coeliac Disease), เม็ดเลือดแดงแตกก่อนวัย (Acute hemolytic anemia)
- ค่า Globulin ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลได้ว่า
- ร่างกายอาจเกิดการติดเชื้อจากสารพิษของตัวพยาธิ (Parasites) หรือจากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส ร่างกายจึงจำเป็นต้องผลิตสารภูมิต้านทานโรคให้มากขึ้นเพื่อต่อสู้กับจุลชีพก่อโรค Globulin เป็นโปรตีนชนิดที่ใช้วัตถุดิบอย่างหนึ่งในการสร้างสารภูมิต้านทานโรค จึงมีค่าสูงขึ้นอย่างผิดปกติตามไปด้วย
- อาจเกิดจากโรคตับชนิดที่ท่อน้ำดีตีบตันหรืออุดตัน เช่น โรคตับแข็งที่ท่อน้ำดี หรือโรคดีซ่านจากเหตุท่อน้ำดีอุดตัน ย่อมเป็นผลทำให้ผลิตผลจากการสังเคราพห์ของตับซึ่งเป็นสารชีวโมเลกุลทุกชนิดไม่สามารถส่งผ่านออกจากตับด้วยการทิ้งออกทางท่อน้ำดีได้ ซึ่งทางเดียวที่จะออกจากตับได้ก็ต้องส่งออกไปสู่กระแสเลือด จึงทำให้ปริมาณของ Globulin ในเลือดสูงขึ้นผิดปกติด้วย
- อาจเกิดจากโรคมะเร็งไขกระดูก หรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งล้วนแต่มีผลทำให้จำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวน้อยลงกว่าปกติ จึงเป็นผลต่อเนื่องทำให้ Globulin จำนวนหนึ่งเกิดสภาพไร้คู่หรือปราศจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จะมาจับคู่เกาะติดเพื่อสร้างสารภูมิต้านทานโรค ด้วยเหตุนี้ Globulin อิสระที่ไร้คู่ จึงล่องลอยอยู่ในกระแสเลือดสูงผิดปกติ
- อื่น ๆ เช่น โรคไต, โรคติดเชื้อเรื้อรัง, ลำไส้อักเสบเรื้อรัง, การอักเสบเรื้อรัง (เช่น ซิฟิลิส, Waldenström macroglobulinemia), โรคภูมิคุ้มกัน (เช่น SLE), โรคข้อรูมาตอยด์
- วิธีการเพิ่มระดับ Globulin
- หากผลเลือดพบว่า Globulin มีค่าต่ำ การรับประทานอาหารบางประเภทสามาร่วยเพิ่มระดับ Globulin ได้ เช่น , เนื้อสีแดง (เช่น หมู วัว แพะ), อาหารทะเล (เช่น หอย กุ้ง ปลา), ไข่, ธัญพืช, แอปริคอตแห้ง, ลูกพรุน, ลูกเกด, ถั่วฝัก, ผักขม, ผักคะน้า ฯลฯ
A/G Ratio
โดยธรรมดาร่างกายมักจะพยายามรักษาระดับค่า Total protein ไว้มิให้ตกต่ำลง แม้ในบางกรณีที่ Albumin ในเลือดจะมีค่าลดต่ำลง (เช่น อาจเกิดโรคตับโดยไม่รู้ตัว) แต่ Globulin ส่วนใหญ่ที่ผลิตโดยระบบผนังเซลล์ของเนื้อเยื่อ (Reticuloendothelial system) ก็จะพยายามเพิ่มระดับขึ้นมาชดเชยเพื่อรักษาค่าผลรวมของโปรตีนในเลือด (Total protein) ให้คงอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ด้วยเหตุนี้ในทางการแพทย์จึงจำเป็นต้องตรวจด้วยอัตราส่วนระหว่าง Albumin ต่อ Globulin หรือ “A/G ratio” (Albumin หารด้วย Globulin) โดยถือว่า ค่าปกติของ A/G นั้นจะต้องน้อยกว่า 1 เพราะหาก > 1 เมื่อใด นั่นแสดงว่ากำลังมีโรคสำคัญเกิดขึ้น
GGT (Gamma GT)
GGT หรือ Gamma GT คือ การตรวจเพื่อหาสาเหตุของเอนไซม์ ALP (Alkaline phosphatase) ที่เพิ่มขึ้นว่ามาจากอวัยวะใด เพราะ ALP และ GGT จะสูงในโรคของตับและท่อน้ำดี แต่หากเป็นโรคของกระดูกจะมีเพียงค่า ALP ตัวเดียวเท่านั้นที่สูงขึ้น สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ การตรวจ GGT
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)