การคลอดลูก : คลอดธรรมชาติ VS การผ่าคลอด แบบไหนดีกว่ากัน ?

ระยะการคลอด

เมื่อคุณแม่เข้าห้องรอคลอดแล้ว คงอยากทราบว่าจะต้องรอนานเท่าไรจึงจะคลอดได้ ซึ่งโดยปกติแล้วระยะการคลอดจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ

  1. ระยะเจ็บครรภ์จริง (First stage of labour) จะเริ่มตั้งแต่เจ็บครรภ์จริง ๆ เมื่อปากมดลูกเริ่มขยายจนกระทั่งปากมดลูกขยายเต็มที่ พร้อมให้คุณแม่เบ่งคลอดได้ (ปากมดลูกเปิดเต็มที่ หมายถึง ปากมดลูกซึ่งเดิมกว้างไม่ถึง 1 เซนติเมตรขยายกว้างพอที่หัวลูกจะผ่านออกมาได้ โดยปกติจะมีความกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร) ในระยะนี้เป็นระยะที่คุณแม่จะต้องนอนรออยู่ในห้องรอคลอด ซึ่งจะใช้เวลารวม ๆ กันแล้วประมาณ 12-18 ชั่วโมง และในท้องหลังจะใช้เวลา 8-12 ชั่วโมง โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วง คือ
    • ช่วงแรก หรือ ระยะเฉื่อย (Latent phase) ตั้งแต่ปากมดลูกเริ่มเปิดหรือเริ่มเจ็บครรภ์จริงไปจนปากมดลูกเปิด 3-4 เซนติเมตร ในช่วงนี้คุณแม่จะมีอาการเจ็บไม่มาก ในท้องแรกอาจใช้เวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมง และในท้องหลังจะใช้เวลา 6-8 ชั่วโมง
    • ช่วงที่สอง หรือ ระยะเร่ง (Active phase) จะเป็นช่วงที่มดลูกหดรัดตัวถี่ขึ้น ถุงน้ำคร่ำมักจะแตกในระยะนี้ถ้าคุณแม่ไม่มีน้ำเดินมาก่อน แต่ในบางรายแพทย์มักใช้เครื่องมือช่วยเจาะถุงน้ำคร่ำเพื่อให้การคลอดดำเนินไปได้ด้วยดี มดลูกจะหดรัดตัวถี่ แรง และนานขึ้น คุณแม่จะรู้สึกเจ็บท้องมากจนกระทั่งปากมดลูกเปิดหมด ถ้าเป็นคุณแม่ท้องแรกจะใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง แต่ในท้องหลังจะใช้เวลา 2-4 ชั่วโมง (ในระยะนี้คุณแม่หลายคนอาจรู้สึกอยากเบ่งคลอด แต่ถ้าเบ่งแล้วรู้สึกเจ็บ แสดงว่าปากมดลูกยังขยายไม่เต็มที่ ต้องรอให้แพทย์ดูว่าปากมดลูกเปิดแล้วถึงจะเบ่งได้)
  2. ระยะเบ่งคลอด (Second stage of labour) จะเริ่มตั้งแต่ปากมดลูกเปิดหมดและคุณแม่เริ่มเบ่งคลอดจนกระทั่งคลอดลูกน้อยออกมา หมอและพยาบาลจะย้ายคุณแม่จากห้องรอคลอดเข้ามาอยู่ในห้องคลอด ในคุณแม่ท้องแรกจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที (ไม่เกิน 60 นาที) ถ้าเบ่งนานเกิน 60 นาทีถือว่าเบ่งนานผิดปกติ หมอมักพิจารณาให้การช่วยเหลือการคลอด ส่วนในคุณแม่ท้องหลังจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที (ไม่เกิน 30 นาที)
  3. ระยะคลอดรก (Third stage of labour) จะเริ่มตั้งแต่ลูกน้อยคลอดออกมาจนกระทั่งรกคลอด ซึ่งจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที แต่ถ้าเกิน 30 นาทีจะต้องช่วยโดยการล้วงรก
  4. ระยะสังเกตอาการหลังคลอด จะเริ่มตั้งแต่รกคลอดไปเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เป็นระยะที่หมอหรือพยาบาลจะเย็บซ่อมฝีเย็บให้เรียบร้อยและดูแลคุณแม่อย่างใกล้ชิดในห้องสังเกตอาการหลังคลอด เพื่อดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่เพื่อให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที เช่น มีการตกเลือดหลังคลอด

คลอดลูก

เตรียมสิ่งที่คุณแม่ต้องการในห้องคลอด

ในระหว่างการรอคลอดอาจทำให้คุณแม่วิตกกังวลกับเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น การเขียนบรรยายความรู้สึกถึงสิ่งที่คุณแม่คาดหวังเกี่ยวกับการคลอดอาจช่วยคลายความกังวลลงบ้าง ทั้งนี้คุณแม่จะต้องสอบถามทางโรงพยาบาลด้วยว่าสิ่งใดทำได้และทำไม่ได้ ข้อจำกัดของโรงพยาบาลมีมากน้อยเพียงใด และสิ่งใดควรต้องยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ สิ่งใดต้องคำนึงถึงมากที่สุด และความต้องการนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของคุณแม่เอง

  1. ต้องการให้ใครสักคนเข้ามาอยู่เป็นเพื่อนในห้องคลอด
  2. ต้องการนอนนิ่ง ๆ บนเตียงรอคลอดกับเครื่องมือติดตามการเคลื่อนไหวของทารกหรือไม่ต้องการให้คุณหมอจำกัดอิริยาบถ
  3. ต้องการคลอดในท่าใดท่าหนึ่งเป็นพิเศษ
  4. ต้องการหมอนหนุนจากที่บ้านมาใช้ในห้องคลอด
  5. ต้องการให้คุณพ่อช่วยนวดผ่อนคลายความเจ็บปวด
  6. ต้องการหรือไม่ต้องการใช้ยาระงับความเจ็บปวด
  7. ต้องการหรือไม่ต้องการตัดฝีเย็บ
  8. ต้องการหรือไม่ต้องการใช้คีมช่วยคลอด ผ่าคลอด หรือคลอดธรรมชาติ
  9. ต้องการกอดลูกและให้ลูกดูดนมในทันทีหลังการคลอด

ความรู้สึกของคุณแม่ยามใกล้คลอด

  • ตามใจตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ที่เคยใช้ชีวิตอยู่กันเพียงสองคน มีอิสระที่จะไปไหน หรือจะทำอะไรก็ได้ตามที่ใจต้องการ แต่วันคลอดก็ใกล้เข้ามาแล้ว มดลูกจะขยายตัวเต็มที่และเริ่มเคลื่อนตัวต่ำลง ซึ่งเป็นการเตือนให้รู้ว่าการคลอดจะเกิดขึ้นในไม่ช้า ชีวิตของคุณแม่กำลังจะเปลี่ยนไป คงอยากที่จะมีเวลาและความรู้สึกอิสระเหมือนแต่ก่อน คุณแม่จึงอาจจะอยากใช้เวลาช่วงนี้ทำอะไรตามใจให้เต็มที่ก่อนจะมีลูกติดอยู่ข้างกาย
  • ปลาบปลื้มใจ คุณแม่จะรู้สึกดีใจเพราะกำลังจะได้พบกับสิ่งที่เฝ้ารอมานานและมีความหมายมากที่สุดในชีวิต ความรู้สึกนี้จะช่วยให้คุณแม่หายเหนื่อยจากการตั้งครรภ์มาหลายเดือน คุณแม่ควรบอกกล่าวถึงความรู้สึกอันปลาบปลื้มใจให้คุณพ่อรู้ เพื่อจะได้ช่วยกันเตรียมพร้อมต้อนรับลูกน้อยที่กำลังจะเกิด
  • กังวลใจ เมื่อครบกำหนดคลอดแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น คุณแม่ส่วนใหญ่จะรู้สึกกระวนกระวายใจว่าจะมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับลูกหรือไม่ แต่ในความจริงแล้วกำหนดคลอดเป็นเพียงการประมาณคร่าว ๆ เท่านั้น  ไม่มีใครจะกำหนดวันคลอดได้แน่นอน ซึ่งคุณแม่อาจคลอดก่อนหรือหลังกำหนดคลอดก็ได้
  • หวาดกลัว เมื่อสัญญาณอาการเจ็บเตือนบอกให้คุณแม่รู้ว่าอีกไม่นานจะมีการคลอดเกิดขึ้น คุณแม่บางคนจะเริ่มวิตกคิดมากจนรู้สึกหวาดกลัวความเจ็บปวดที่กำลังจะตามมา จึงทำให้คุณแม่นอนไม่หลับ คุณแม่ควรพูดคุยปรึกษากับคุณหมอ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้คุณแม่มีความมั่นใจและผ่อนคลายความหวาดกลัวที่มีอยู่ได้

เมื่อคุณแม่เข้าโรงพยาบาล

ในระหว่างที่คุณแม่ฝากครรภ์ควรจะได้ศึกษาหาความรู้ถามไถ่ดู เพื่อความรวดเร็วในเวลาฉุกเฉิน เช่น มีอาการเจ็บท้องคลอด จะทำอย่างไร จะยื่นบัตรได้ที่ไหน ตึกไหน และขึ้นไปชั้นไหน เป็นต้น ในห้องคลอดของโรงพยาบาลในแต่ละแห่งอาจไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับขนาดของโรงพยาบาลและจำนวนการคลอด หากคุณแม่จะคลอดที่โรงพยาบาล อาจขออนุญาตคุณหมอเยี่ยมชมห้องคลอดหรือห้องรอคลอดก่อนเพื่อจะได้เห็นบรรยากาศและทราบถึงรายละเอียดต่าง ๆ ในการคลอด คุณแม่จะได้เตรียมตัวเตรียมใจก่อนที่จะถึงวันคลอด (ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ทางโรงพยาบาลกำหนดไว้)

ถ้าเป็นโรงพยาบาลขาดเล็ก อาจจะมีห้องกว้าง ๆ เพียงห้องเดียว มีเตียงนอนอยู่ตรงกลาง ซึ่งเตียงนี้สามารถปรับเป็นเตียงคลอดได้ด้วย มีโต๊ะเก้าอี้วางอยู่มุมหนึ่ง มีอ่างล้างมืออีกมุมหนึ่ง มีตู้หรือชั้นสำหรับเก็บเครื่องมือที่สามารถหยิบใช้ได้สะดวก และมักจะมีห้องน้ำอยู่ข้าง ๆ ห้อง เรียกได้ว่าให้คุณแม่อยู่ในห้องนี้ตั้งแต่แรกรับไปจนคลอดเสร็จเลยก็ว่าได้ แล้วจึงย้ายไปยังห้องพักหรือตึกผู้ป่วยหลังคลอด แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ก็จะมีเตียงหลายเตียง และจำนวนห้องก็จะมากขึ้นเป็น 2-3 ห้องหรือมากกว่า ซึ่งห้องคลอดในโรงพยาบาลนั้นจะเรียกว่า “ชุดห้องคลอด” ที่ประกอบไปด้วยห้องที่ใช้ต่างกัน 4 ห้อง หรือ 4 ชุด ได้แก่ ห้องรับ, ห้องรอคลอด, ห้องคลอด และห้องสังเกตอาการหลังคลอด (ใน 2 ชั่วโมงแรกหลังจากคลอดแล้ว) ซึ่งในแต่ละห้องจะมีเครื่องมือต่างกันสำหรับการดูแลคุณแม่ในแต่ละขั้นตอนของการคลอด ซึ่งจะขออธิบายเพื่อให้เห็นภาพรวม ดังนี้

ในห้องรับ

เมื่อคุณแม่มีอาการเจ็บท้องคลอดมาถึงโรงพยาบาลก็จะถูกนำไปยัง “ห้องรับ” ซึ่งพยาบาลจะเข้ามาซักประวัติและสอบถามอาการต่าง ๆ เช่น ฝากท้องที่โรงพยาบาลหรือเปล่า, ฝากพิเศษกับคุณหมอคนไหนหรือไม่, ท้องนี้เป็นท้องที่เท่าไร, ท้องก่อนคลอดเองหรือผ่าคลอด, ลูกดิ้นดีหรือไม่, เริ่มเจ็บท้องนานกี่ชั่วโมงแล้ว, มีมูกหรือมูกปนเลือดออกมาทางช่องคลอดหรือไม่, มีน้ำเดินด้วยหรือเปล่า, สังเกตหรือไม่ว่าน้ำคร่ำที่ออกมามีลักษณะขุ่นขาวหรือมีสีเหลืองเขียวปนด้วย ฯลฯ พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่จะขอดูใบฝากครรภ์เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมโดยเฉพาะผลเลือดที่ตรวจไว้ในขณะฝากครรภ์ รวมทั้งขอเอกสารการแจ้งเกิดและใบตั้งชื่อลูกถ้าคุณแม่ตั้งมาเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าคุณแม่ยังไม่ได้ตั้งมาก็คงต้องรีบตั้งก่อนคลอด มิฉะนั้นทางห้องคลอดจะตั้งให้เองไปก่อน ซึ่งอาจจะเป็นการยุ่งยากถ้าจะไปแก้ไขในภายหลัง นอกจากนี้คุณแม่ก็ต้องแจ้งความจำนงด้วยว่าต้องการห้องพักหลังคลอดแบบไหน จะเป็นห้องธรรมดาหรือห้องพิเศษ

สำหรับคุณแม่ที่นับถือศาสนาอิสลามก็ควรแจ้งให้พยาบาลที่ห้องคลอดทราบด้วย เพื่อหลังคลอดแล้วพยาบาลจะได้เก็บรกไว้ให้สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่อไป เมื่อพยาบาลได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วก็จะให้คุณแม่ชั่งน้ำหนัก, วัดส่วนสูง, เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดของโรงพยาบาล, วัดไข้, วัดความดันโลหิต, จับชีพจร, ตรวจปัสสาวะหาโปรตีนและน้ำตาล แล้วให้คุณแม่นอนบนเตียงเพื่อตรวจดูท่าของทารกในครรภ์ว่าอยู่ในท่าปกติหรือไม่ แล้วฟังเสียงการเต้นของหัวใจทารก จากนั้นก็จะตรวจภายในหรือตรวจทางทวารหนักเพื่อดูว่าปากมดลูกขยายมากน้อยเพียงใด เสร็จแล้วก็จะโกนขนบริเวณหัวหน่าวและปากช่องคลอด แล้วก็สวนอุจจาระ เพื่อให้คุณแม่ถ่ายอุจจาระให้เรียบร้อยแล้วจึงย้ายคุณแม่ไปยังห้องรอคลอดต่อไป (คุณแม่อาจวางแผนการคลอดตามที่ต้องการไว้ก่อน โดยตกลงกับคุณแม่ เช่น ไม่ต้องโกนขนหัวหน่าว ไม่สวนอุจจาระ ให้ฉีดยาเข้าไขสันหลังเมื่อเจ็บครรภ์ เพราะโรงพยาบาลบางแห่งอาจให้วางแผนการคลอดได้ตามความต้องการ)

  • จำเป็นต้องโกนขนหัวหน่าวหรือไม่ ? ในอดีตการโกนขนหัวหน่าวเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันแทบจะทุกโรงพยาบาล (เพราะเคยเชื่อว่าขนบริเวณรอบ ๆ อวัยวะเพศนั้นมีเชื้อโรคพวกแบคทีเรียอยู่มาก เมื่อเด็กคลอดออกมาอาจจะติดเชื้อโรค หรือทำให้แผลที่ช่องคลอดของคุณแม่อักเสบติดเชื้อได้ง่ายขึ้น) แต่ในปัจจุบันนี้โรงพยาบาลหลายแห่งก็ไม่ได้โกนขนหัวหน่าวกันแล้ว เพราะในปัจจุบันการฟอกและทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคก่อนคลอดก็เป็นการเพียงพออยู่แล้ว อีกทั้งยังมีการศึกษาหลาย ๆ งานที่พบว่าการโกนขนจะทำให้มีดโกนบาดผิวหนังเป็นแผลเล็ก ๆ ซึ่งอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หรือบางทีเจ้าหน้าที่พยาบาลโกนไม่ชำนาญก็อาจทำให้เป็นรอยมีดโกนได้ จึงทำให้เกิดการอักเสบได้ง่ายกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการโกน และเมื่อพิจารณาดูแล้วคุณแม่หลังคลอดหลายคนจะรู้สึกคันหรือรำคาญเมื่อขนบริเวณนั้นเริ่มขึ้นในขณะพักฟื้นหลังคลอด ส่วนในด้านของแพทย์ผู้ทำคลอด ถ้าไม่ได้โกนขนก็อาจทำให้การเย็บแผลฝีเย็บไม่สะดวก ผู้ทำคลอดหลาย ๆ รายจึงให้โกนเฉพาะบริเวณที่จะตัดฝีเย็บเท่านั้นครับ
  • ต้องสวนอุจจาระด้วยหรือ ? ไม่สวนอุจจาระก็คลอดได้ครับ แต่แนะนำว่าควรสวนจะดีกว่า เพราะการสวนอุจจาระจะทำให้บรรยากาศในห้องรอคลอดและห้องคลอดดีขึ้น กล่าวคือ ในระหว่างเจ็บท้องในระยะใกล้คลอด ศีรษะของเด็กจะเคลื่อนต่ำลงมีส่วนรีดให้อุจจาระออกมา และเมื่อคุณแม่แบ่งคลอดก็จะทำให้มีอุจจาระออกมาด้วย ซึ่งแน่นอนครับว่ามันต้องส่งกลิ่นรบกวนผู้คลอดรายอื่นซึ่งนอนอยู่ในห้องรอคลอดเหมือนกัน และในขณะคลอดถ้ามีอุจจาระออกมามากก็อาจจะเปื้อนแผลหรือตัวเด็กได้ถ้าผู้ทำคลอดป้องกันไม่ทัน ดังนั้น “การสวนอุจจาระก็ย่อมดีกว่าการไม่สวน” อีกทั้งยังช่วยให้คุณแม่ไม่รู้สึกอึดอัดท้อง และจะได้ประโยชน์อย่างมากในคุณแม่ที่มีอาการท้องผูกอยู่แล้ว รวมทั้งในระยะหลังคลอด 1-2 วันแรก ถ้าคุณแม่ไม่ได้สวนอุจจาระก่อนคลอด พอจะต้องเบ่งถ่ายอุจจาระก็ไม่กล้าเบ่ง เพราะยังเจ็บแผลอยู่ ซึ่งปัญหานี้จะก่อให้เกิดความทรมานในภายหลังได้ครับ (ในกรณีที่คุณแม่เจ็บครรภ์ถี่มากแล้วและปากมดลูกขยายมาก พยาบาลจะไม่สวนอุจจาระให้ เพราะอาจจะทำให้คุณแม่เข้าไปเบ่งคลอดในห้องน้ำได้ กรณีเช่นนี้จะต้องรีบส่งจากห้องรับไปสู่ห้องคลอดได้เลย)

ในห้องรอคลอด

ต่อจากห้องรับพยาบาลจะพาคุณแม่มายังห้องรอคลอด ซึ่งอาจจะเป็นห้องเดียวกว้าง ๆ มีเตียงอยู่หลายเตียงที่แยกกันด้วยการกั้นม่าน สภาพเช่นนี้จะพบได้ทั่วไปในโรงพยาบาลรัฐ เนื่องจากมีผู้คลอดจำนวนมาก สถานที่และผู้ปฏิบัติงานมีจำกัด ความเป็นส่วนตัวจึงมีน้อย จึงไม่อนุญาตให้ญาติเข้าไป แต่คุณแม่หลาย ๆ คนก็ชอบนะครับเพราะมีเพื่อนร่วมชะตาเดียวกันอยู่หลายคนในห้องนั้น ทำให้ไม่เหงา พยาบาลและหมอก็สามารถให้การดูแลได้ทั่วถึง เพราะเดินผ่านก็เห็นว่าใครเป็นอะไรบ้าง (แต่มีข้อเสียอยู่บ้างหากมีคุณแม่คนหนึ่งเจ็บท้องแล้วร้องมาก ทั้ง ๆ ที่ให้ยาแก้ปวดแล้วแต่ก็ยังไม่หยุดร้อง ก็จะพลอยทำให้คุณแม่คนอื่นขวัญเสียไปด้วย) แต่ถ้าโรงพยาบาลของรัฐที่มีสถานเพียงพอก็อาจจะแยกเป็นห้อง ๆ ไม่ปนกันก็ได้ครับ ส่วนโรงพยาบาลเอกชนนั้นในห้องก็จะมีโทรทัศน์ให้ดู บางแห่งก็มีห้องน้ำอยู่ด้วย ถ้าเป็นลักษณะนี้ก็มักจะอนุญาตให้ญาติอยู่เป็นเพื่อนได้ เพราะระยะเวลาที่คุณแม่อยู่ในห้องรอคลอดนี้อาจจะกินเวลานานตั้งแต่ 3-4 ชั่วโมงไปจนถึง 10 ชั่วโมงกว่าก็ได้ (แล้วแต่ว่าเป็นการคลอดครั้งแรกหรือเคยคลอดแล้ว และเข้าโรงพยาบาลในขณะที่เพิ่งเริ่มเจ็บท้องหรือเจ็บถี่แล้ว) แต่ไม่ว่าจะเป็นห้องรวมหรือห้องแยกก็จะมีพยาบาลมาดูแล มีหมอมาซักถามประวัติต่าง ๆ ที่อาจต้องการทราบเพิ่มเติม แล้วตรวจร่างกาย จับชีพจร วัดความดันโลหิต ตรวจท้อง จับเวลาการหดรัดตัวของมดลูกว่าถี่หรือห่างมากน้อยเพียงใด ฟังเสียงหัวใจของทารก และจะมีการตรวจภายในหรือตรวจทางช่องคลอดทุก 2-3 ชั่วโมง และจะตรวจถี่ขึ้นถ้าหากคุณแม่มีอาการเจ็บถี่ขึ้น (การตรวจภายในนี้จำเป็นอย่างมากเพื่อตรวจดูว่าปากมดลูกบางแค่ไหนและขยายได้มากน้อยเพียงใด ศีรษะของลูกเคลื่อนลงต่ำหรือยัง รวมทั้งสามารถวัดขนาดของช่องเชิงกรานว่ากว้างพอที่คุณแม่จะคลอดเองได้หรือไม่)

  • ในระหว่างอยู่ห้องรอคลอด ถ้าคุณแม่ยังเจ็บท้องไม่มาก ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก และหมอไม่ได้ห้ามคุณแม่ลุกจากเตียง คุณแม่อาจเดินไปมาใกล้ ๆ เตียงหรือเข้าห้องน้ำได้ แต่ถ้าเจ็บท้องถี่ขึ้นคุณแม่จะต้องนอนบนเตียงในท่าที่คิดว่าสบาย (ส่วนใหญ่จะเป็นท่านอนตะแคง) ในช่วงที่ไม่เจ็บท้องคุณแม่ควรจะนอนให้หลับหรือนอนนิ่ง ๆ สงบอารมณ์เพื่อเตรียมพลังใจไว้ในการคลอด ถ้ารู้สึกปวดปัสสาวะก็ควรจะถ่ายปัสสาวะออกให้มากที่สุดเพื่อให้กระเพาะปัสสาวะว่าง ซึ่งจะช่วยให้การคลอดดำเนินไปได้ด้วยดี คุณแม่จะอยู่ในห้องรอคลอดจนกระทั่งพร้อมที่จะคลอด จึงจะถูกย้ายเข้าไปในห้องคลอดเพื่อเบ่งคลอด ถ้าเป็นคุณแม่ท้องแรก พยาบาลจะย้ายเข้าห้องคลอดก็ต่อเมื่อปากมดลูกเปิดเต็มที่แล้ว หรืออาจให้เบ่งจนกระทั่งเห็นหัวเด็กรำไรว่าจะโผล่ออกมาจากปากช่องคลอดแล้วย้ายก็ยังทัน แต่ถ้าเป็นคุณแม่ท้องหลังอาจจะต้องย้ายเข้าห้องคลอดได้เลยเมื่อปากมดลูกใกล้จะเปิดหมด หรืออย่างช้าเมื่อปากมดลูกเปิดหมดก็ต้องรีบย้ายในทันที เพราะจะใช้เวลาเบ่งไม่นาน ถ้าย้ายช้าไปจะเตรียมทำความสะอาดไม่ทันหรืออาจจะต้องทำคลอดในห้องรอคลอดเลยก็ได้
  • การให้น้ำเกลือ ฉีดยาแก้ปวด นอกจากการตรวจเป็นระยะ ๆ แล้ว หมอมักสั่งคุณแม่งดน้ำและอาหารทางปากแล้วให้น้ำเกลือแทน เพื่อให้คุณแม่ได้รับน้ำและสารอาหารเพียงพอที่จะช่วยให้การคลอดดำเนินไปได้อย่างเหมาะสม ซึ่งในน้ำเกลือนี้อาจจะมียากระตุ้นให้มดลูกหดตัวดีขึ้นและมีสายน้ำเกลือเอาไว้ฉีดยาเข้าเส้นเลือด ในกรณีที่คุณแม่ยังปวดท้องไม่มาก ควรจะหายใจเข้าออกตามที่เคยฝึกมาเพื่อผ่อนคลายความเจ็บปวด แต่ถ้าปวดมากคุณแม่ก็จะได้รับยาแก้ปวดตามความเหมาะสม แล้วแต่ชนิดของยาและการหดรัดตัวของมดลูกหรือการขยายตัวของปากมดลูก ซึ่งยาแก้ปวดที่ให้นี้จะมีปริมาณมากพอที่จะทำให้คุณแม่หายปวดหรือทุเลาลงได้มาก หรือในโรงพยาบาลบางแห่งก็มีบริการฉีดยาชาเข้าไขสันหลังเพื่อลดการเจ็บท้องคลอด และเมื่อถึงเวลาคลอดก็ไม่ต้องฉีดยาชาบริเวณที่จะตัดฝีเย็บ
    • ยาแก้ปวด ยาแก้ปวดที่ฉีดให้นี้มีอยู่หลายชนิด ในกลุ่มที่ให้ผลดี ได้แก่ ประเภทมอร์ฟีนและเพทิดีน ยาพวกนี้จะให้ผลดีแต่มักทำให้คุณแม่คลื่นไส้อาเจียน หมอจึงฉีดยาแก้คลื่นไส้อาเจียนให้ด้วย แต่หมอบางท่านอาจให้ยาจำพวกกล่อมประสาทเพื่อช่วยในขณะคลอดได้ ซึ่งยาจำพวกนี้จะทำให้คุณแม่ลดความกังวลและช่วยลดความรู้สึกเจ็บปวด (รู้สึกเจ็บน้อยลง) คุณแม่บางคนอาจจะรู้สึกเคลิ้ม ๆ สบาย ๆ ขึ้น
    • การฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง เป็นการฉีดยาเพื่อลดการเจ็บปวดระหว่างการคลอดหรือระหว่างการผ่าตัดคลอด คุณแม่จะไม่รู้สึกปวดใด ๆ เลยไปอีกหลายชั่วโมง แล้วหลังจากนั้นก็จะปกติ (ขึ้นอยู่กับคุณแม่แต่ละคนด้วย บางคนฉีดแล้วรู้สึกว่าสบายมากและไม่เจ็บเลย แต่บางคนฉีดไปแล้วก็ยังบ่นเจ็บได้) ซึ่งการฉีดยาเข้าไขสันหลังนั้นจะทำโดยวิสัญญีแพทย์ที่ฝึกฝนมาโดยเฉพาะหรือสูติแพทย์ที่เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะถ้าทำไม่เป็นจะเป็นอันตรายอย่างมาก อาจฉีดเข้าไปในส่วนอื่นที่ไม่ใช่ส่วนไขสันหลังหรือในบริเวณที่ไม่เหมาะสม หรือถ้าให้ยามากเกินไปแล้วร่างกายผู้ป่วยไวต่อยา ก็จะทำให้ระดับการชาขึ้นไปสูงถึงกล้ามเนื้อเกี่ยวกับการหายใจจนทำให้หยุดหายใจ ร่างกายขาดออกซิเจน ทำให้เหลือเพียงสมองที่ทำงานอย่างเดียวและกลายเป็นอัมพาตไปตลอดชีวิต ถ้าตกลงใจว่าจะใช้วิธีนี้ จะมีพยาบาลคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะคุณแม่จะไม่รู้สึกเจ็บอะไรเลย จนกระทั่งเมื่อการคลอดมาถึงก็ไม่รู้สึกเจ็บ คุณแม่อาจคลอดออกมาเองโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ อันตรายที่อาจเกิดกับเด็กก็มี เพราะการเตรียมพร้อมอาจน้อยลงหรือบางครั้งมดลูกหดตัวแรงมากจนแตกไปโดยที่คุณแม่ไม่รู้สึกตัว ถ้าไม่มีคนเฝ้าก็เป็นอันตรายครับ
  • การเร่งคลอด ในบางกรณีอาจมีเหตุผลที่ไม่สามารถรอธรรมชาติเป็นตัวกำหนดให้เจ็บครรภ์คลอดได้ จึงต้องมีการเร่งคลอดเกิดขึ้น สำหรับเหตุผลทางการแพทย์นั้นมักจะเกี่ยวกับสุขภาพของทารก เพราะถ้าปล่อยให้ทารกอยู่ในครรภ์ต่อไปก็อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตขณะอยู่ในครรภ์ได้ เช่น คุณแม่มีความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ เบาหวาน หรือตกเลือดก่อนคลอด คุณแม่ตั้งครรภ์เกินกำหนด เป็นต้น นอกเหนือจากเหตุผลทางการแพทย์ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเหตุผลอื่น ๆ เช่น อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล เกรงว่าจะเดินทางมาโรงพยาบาลไม่ทันเมื่อเจ็บครรภ์จริง บางรายอาจดูฤกษ์ยามไว้ หรืออยากให้ลูกคลอดตามวันพิเศษต่าง ๆ หรืออยากให้ลูกเข้าโรงเรียนเร็วขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการเร่งคลอดที่ไม่มีเหตุสมควรเท่าใดนัก เพราะการเร่งคลอดที่ไม่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มักจะลงท้ายด้วยการผ่าคลอดสูงขึ้นมาก และทารกที่เกิดจากการเร่งคลอดเร็วเกินไปก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับการหายใจได้ ในปัจจุบันการเร่งคลอดจะมีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี และแพทย์อาจใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกันก็ได้ ดังนี้
    • การเจาะถุงน้ำคร่ำ ในกรณีที่ปากมดลูกขยายมากเพียงพอแล้วแต่ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก หมอจะเจาะถุงน้ำคร่ำให้เมื่อปากมดลูกเปิดได้ประมาณ 3 เซนติเมตร (การเจาะไม่ทำให้คุณแม่เจ็บปวดแต่อย่างใด) ซึ่งวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้มีการเจ็บครรภ์คลอดเกิดขึ้น เพราะเมื่อถุงน้ำแตกแล้ว ศีรษะของทารกจะเลื่อนตัวต่ำลงมามากขึ้นและไปกดขยายปากมดลูกให้เปิด และยังไปกระตุ้นให้สารเคมีพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) หลั่งออกมามากขึ้น จึงช่วยให้มดลูกเกิดการหดตัว นอกจากนี้ยังทำให้หมอตรวจภายในได้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยว่าท่าของลูกอยู่ในลักษณะใด เพื่อจะได้เตรียมการช่วยเหลือการคลอดได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย นอกจากนี้ลักษณะของน้ำคร่ำที่ออกมายังช่วยบอกสภาพของลูกได้ว่าปกติหรือเริ่มผิดปกติ เช่น ถ้าน้ำคร่ำเป็นสีขาวใสหรือขุ่นก็ถือว่าปกติ แต่ถ้าเป็นสีเหลืองหรือเขียวแสดงว่าผิดปกติ หมอจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและจะเร่งให้คลอดในเวลาจำกัด ถ้าคลอดไม่ได้ก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัดคลอดเพื่อช่วยให้ลูกน้อยปลอดภัย (หลังจากเจาะถุงน้ำคร่ำไปแล้วนานประมาณ 30 นาที มดลูกยังไม่หดรัดตัวดีขึ้น คุณหมอจะใช้ยาเร่งคลอดร่วมด้วย)
    • ยาเร่งคลอด (ฮอร์โมนออกซีโตซิน – Oxytocin) เป็นยาที่มีคุณสมบัติช่วยให้มดลูกบีบตัว ทำให้การคลอดดำเนินไปตามปกติ ไม่เนิ่นนาน ตามปกติแพทย์จะใช้ทั้งในกรณีที่เริ่มเจ็บครรภ์เพื่อเร่งให้เร็วขึ้น และในกรณีที่ยังไม่มีอาการเจ็บครรภ์ แต่เนื่องจากการตั้งครรภ์มีปัญหา หากปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อลูกหรือแม่ได้ ยานี้ก็ช่วยเร่งให้เจ็บครรภ์ได้เร็วและทำให้การคลอดสิ้นสุดได้เร็ว แต่การใช้ยาเร่งคลอดจะทำให้คุณแม่มีอาการเจ็บท้องมากกว่าการคลอดตามธรรมดา เพราะยานี้มีฤทธิ์กระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัวมากขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้ยานี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นหลักว่าสมควรจะเร่งคลอดในรายใดบ้าง ในปัจจุบันยานี้ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น เพราะหมอสามารถกำหนดได้ว่าคุณแม่จะคลอดในเวลาเท่าไร และถ้าไม่คลอดก็แสดงว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ศีรษะของทารกโตเกินกว่าจะออกจากอุ้งเชิงกรานได้ หรือเด็กแหงนหน้า ซึ่งเมื่อทราบอย่างนี้แล้วหมอก็จะได้ตัดสินใจช่วยโดยการผ่าคลอด ไม่ต้องรอข้ามวันเพื่อให้คุณแม่คลอดเอง ในการให้ยาเร่งคลอดนี้ เมื่อให้แล้วจะมีคนคอยเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อคอยตรวจดูว่ามดลูกหดรัดตัวเร็วเกินไปหรือแรงมากไปหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กในท้องขาดออกซิเจนได้ หมอก็จะได้ปรับน้ำเกลือให้เข้าไปในปริมาณที่พอเหมาะ (ยานี้เวลาให้ จะผสมกับน้ำเกลือครับ)
    • ยาเหน็บช่องคลอด นับเป็นวิธีล่าสุดที่ใช้ในการเร่งคลอด ยาที่ใช้เป็นฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ใช้โดยการเหน็บยาเข้าไปในช่องคลอด ซึ่งตัวยาจะมีผลทำให้ปากมดลูกอ่อนนุ่มลง และมดลูกจะหดรัดตัวดีขึ้น แต่การใช้ยานี้จะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะยาจะทำให้มดลูกบีบรัดตัวอย่างรุนแรงได้
  • ความแตกต่างระหว่างการคลอดธรรมชาติและการเร่งคลอด ความรู้สึกเจ็บครรภ์คลอดจากการเร่งคลอดไม่ได้แตกต่างจากการคลอดเองตามธรรมชาติเท่าใดนัก คุณแม่ยังสามารถควบคุมและกำหนดลมหายใจตามจังหวะการเบ่งคลอดได้ ทั้งยังเบ่งคลอดได้เต็มที่ แต่ถ้าคุณแม่เจ็บปวดมาก หมออาจให้ฉีดยาชาที่ไขสันหลังหรือให้ยาแก้ปวดอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด สำหรับการเจ็บครรภ์คลอดตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่คุณแม่จะสามารถคลอดได้เอง เนื่องจากปากมดลูกมีความพร้อมเต็มที่ มีลักษณะนุ่มมาก เมื่อมดลูกบีบรัดตัว ปากมดลูกก็จะเปิดขยายออกอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การเร่งคลอดถึงแม้จะกระตุ้นให้มดลูกมีการบีบตัวได้สม่ำเสมอก็จริง แต่บางครั้งปากมดลูกยังนุ่มไม่พอหรือแข็งอยู่จึงไม่สามารถขยายตัวเปิดได้ตามปกติ ทำให้ไม่สามารถคลอดเองได้ โอกาสที่จะถูกผ่าคลอดจึงมีสูงกว่าคุณแม่ที่เจ็บครรภ์คลอดเองตามธรรมชาติ

ในห้องคลอด

คุณแม่จะถูกย้ายจากห้องรอคลอดเข้าสู่ห้องคลอดเมื่อปากมดลูกเปิดหมดแล้ว ซึ่งในห้องคลอดนี้อาจจะเป็นห้องใหญ่ มีเตียง 2-3 เตียง กั้นม่านแยกกัน หรืออาจเป็นห้องแยกแต่ละห้อง มีเตียงคลอดซึ่งปรับระดับหรือหมุนให้ศีรษะสูง-ต่ำได้ตามต้องการ ที่ผนังหัวมุมเตียงจะมีชุดออกซิเจน เครื่องดูดเสมหะ เครื่องมือดมยาพร้อมที่จะช่วยเหลือคุณแม่ ส่วนบนเพดานจะมีโคมไฟผ่าตัด (บางที่ก็ใช้โคมไฟตั้ง) ใกล้ ๆ ปลายเตียงจะมีโต๊ะวางเครื่องมือทำคลอดและชุดเย็บแผลที่ปลอดเชื้อและมีผ้าปลอดเชื้อสำหรับคลุมบริเวณหน้าท้องและขา รวมทั้งมีเสื้อคลุมสำหรับหมอสวมเวลาทำคลอด และอีกด้านหนึ่งของห้องจะมีรถรับเด็กและเครื่องมือช่วยเด็กเวลาที่ออกแล้วไม่ยอมร้องหรือไม่ยอมหายใจ

  • วิธีเบ่งคลอด เมื่อคุณแม่เข้าสู่ห้องคลอด พยาบาลจะสอนให้คุณแม่เบ่งคลอด และคุณแม่ควรจะรอจังหวะที่พยาบาลหรือแพทย์บอกให้เบ่งจึงค่อยเบ่งคลอด เพราะถ้าเบ่งคลอดเร็วเกินไป เบ่งเมื่อปากมดลูกยังเปิดไม่เต็มที่ ปากมดลูกจะบวมมากและคลอดได้ช้า การที่คุณแม่อยากเบ่งคลอดนั้นเกิดจากหัวเด็กเคลื่อนที่ต่ำลงมาในช่องเชิงกรานและมากดลำไส้ใหญ่เหมือนกับอุจจาระลงมาอยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย จึงทำให้คุณแม่รู้สึกอยากเบ่งคลอด ซึ่งจะเป็นการช่วยเร่งให้เด็กเคลื่อนต่ำลงมาเร็วขึ้น “ยิ่งคุณแม่เบ่งลงไปที่ก้นอย่างเต็มที่เหมือนกับการเบ่งอุจจาระ และเบ่งแต่ละครั้งให้นานพอ เริ่มด้วยการหายใจเข้าให้เต็มปอด และเบ่งพร้อมกับการเจ็บท้องคลอด ก็จะช่วยให้หัวเด็กเคลื่อนลงมาเร็วและคลอดเร็วขึ้น คุณแม่อาจใช้มือทั้งสองข้างจับเหล็กข้างเตียงเพื่อช่วยยืดเวลาเบ่ง พร้อมทั้งยกศีรษะขึ้นเล็กน้อยให้คางจรดกับหน้าอก จะช่วยให้มีแรงเบ่งได้ดีขึ้น เมื่อหายเจ็บท้องคลอดก็หยุดเบ่ง เมื่อเจ็บท้องก็เบ่งใหม่ และใช้การหายใจช่วยตามวิธีที่ฝึกไว้” (หากเบ่งในขณะที่มดลูกไม่หดรัดตัวหรือเบ่งขึ้นหน้าจนหน้าตาแดงไปหมด หัวเด็กก็จะไม่เคลื่อน แม้จะเบ่งจนหมดแรงก็ไม่คลอดสักที)
  • เครื่องมือช่วยคลอดสำหรับบางสถานการณ์ ในการคลอดระยะที่สอง ขณะที่คุณแม่กำลังเบ่งคลอดอยู่หมออาจมีความจำเป็นต้องรีบช่วยให้การคลอดสิ้นสุดโดยเร็ว เช่น แม่ไม่มีแรงเบ่ง เป็นโรคหัวใจหรือโรคครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูงมาก เสียงหัวใจทารกเต้นช้ากว่าปกติ ฯลฯ ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานอาจเป็นอันตรายได้ หมอก็จะช่วยคลอดโดยใช้เครื่องมือคลอดซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ คีมช่วยคลอด และ เครื่องดูดสุญญากาศ (เครื่องมือทั้งสองชนิดนี้หากใช้โดยหมอที่มีความชำนาญแล้วก็จะไม่มีอันตรายต่อแม่และเด็ก) ซึ่งการจะเลือกใช้เครื่องมือชนิดใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของแพทย์และตัวคุณแม่เอง ถ้าใช้เครื่องดูดสุญญากาศแม่จะต้องมีแรงเบ่งช่วยด้วย ไม่เช่นนั้นอาจจะคลอดไม่ได้ ส่วนคุณแม่ที่ดมยาสลบก็จะต้องใช้คีมเท่านั้น ไม่ใช้เครื่องดูดสุญญากาศ และในบางกรณีหมออาจจะต้องช่วยคลอดโดยการผ่าตัดทางหน้าท้อง
  • ขั้นตอนเตรียมทำคลอด เมื่อคุณแม่เบ่งจนกระทั่งหัวเด็กเคลื่อนลงมาต่ำมากจนเห็นรำไร พยาบาลจะจัดท่านอนให้คุณแม่ใหม่ โดยให้ยกขาพาดบนขาหยั่ง แล้วเลื่อนเตียงส่วนปลายออกหรือสอดเข้าใต้เตียง จะทำให้ก้นอยู่ตรงขอบเตียงพอดี ซึ่งเป็นท่าที่หมอจะช่วยทำคลอดให้คุณแม่ได้สะดวก พยาบาลจะใช้ที่รัด รัดขาคุณแม่เอาไว้กับขาหยั่งเพื่อมิให้ขาหลุดลงมาจากเตียง (ส่วนคุณแม่ที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือหรือดิ้นตลอดเวลาก็อาจต้องถูกมัดแขนด้วย) หลังจากจัดเตียงแล้ว พยาบาลก็จะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคฟอกทำความสะอาดบริเวณหัวหน่าว โคนขา และปากช่องคลอด เพื่อลดการอักเสบของแผลและการติดเชื้อแก่ลูก ต่อจากนั้นหมอจะฟอกมือ ใส่เสื้อคลุม ใส่ถุงมือ และปูผ้าสะอาดที่โคนขาทั้งสองข้าง หน้าท้อง และก้น (ถ้าคุณแม่ถ่ายปัสสาวะไม่ออกหรือหมอพบว่ากระเพาะปัสสาวะเต็ม หมอจะสวนปัสสาวะให้ก่อนการคลอด) เสร็จแล้วพยาบาลก็จะช่วยเชียร์ให้คุณแม่เบ่งต่อ
  • ตัดฝีเย็บ (Episiotomy) ต่อมาหมอจะฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณปากช่องคลอด แล้วก็ใช้กรรไกรตัดช่องคลอดเล็กน้อยเพื่อให้กว้างพอที่จะให้ศีรษะออกมาได้ ซึ่งเราเรียกว่า การตัดฝีเย็บ ซึ่งการตัดฝีเย็บนี้จะช่วยทำให้ช่องคลอดไม่ขาดกะรุ่งกะริ่งเหมือนการคลอดเองที่บ้านหรือคลอดโดยหมอตำแย เมื่อเด็กและรกคลอดออกมาแล้วก็จะเย็บช่องคลอดเข้าที่ได้ง่าย รอยที่ตัดนั้นจะตัดจากช่องคลอดส่วนล่างสุดเฉียงไปทางซ้ายหรือขวา หรือหมออาจจะตัดตรงกลางไปในแนวใกล้ทวารหนัก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความถนัดของหมอแต่ละคน
  • ลูกคลอดออกมาแล้ว เมื่อตัดช่องคลอดแล้วคุณแม่จะต้องช่วยเบ่งอีกครั้งเพื่อให้มีแรงดันให้หัวเด็กโผล่และคลอดออกมา เมื่อหัวเด็กคลอดออกมาแล้ว ความสำคัญของขั้นตอนนี้ก็คือคุณแม่จะต้องให้ความร่วมมือ หมอและพยาบาลจะสั่งให้คุณแม่หยุดเบ่ง เพื่อให้ผู้ทำคลอดใช้ลูกยางสีแดงดูดเมือกและน้ำคร่ำออกจากปากและจมูกของลูกออกให้หมดเสียก่อน แล้วจึงจะทำคลอดตัวเด็กออกมา ในขณะที่ทำคลอดตัวเด็กออกมานี้ก็จะให้ผู้ช่วยฉีดยาที่ช่วยการหดรัดตัวของมดลูก (ยากลุ่มเออร์กอด เช่น Ergometrine) เพื่อช่วยให้มดลูกหดรัดตัวดีขึ้น รกจะได้คลอดเร็วและเสียเลือดน้อย ในระยะการคลอดหัวและลำตัวนี้ปกติจะใช้เวลาเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น เมื่อลำตัวคลอดออกมาแล้ว ผู้ทำคลอดก็จะผูกและตัดสายสะดือเพื่อแยกเด็กออกจากรก ยกตัวเด็กให้คุณแม่ดูหน้าตาและหันก้นให้ดูว่าเพศหญิงหรือเพศชาย แล้วก็อุ้มเด็กไปใส่ในรถเข็น ดูดเมือกและน้ำคร่ำออกจากลำคอเพื่อไม่ให้เด็กสำลักหรือหายใจเอาน้ำคร่ำเข้าไปในปอด ตัดและแต่งสายสะดือ แล้วหยอดตาทารกด้วยยาฆ่าเชื้อเพื่อลดการอักเสบของเยื่อตา เพราะอาจมีเชื้อโรคเข้าตาในขณะคลอดได้ จากนั้นพยาบาลก็จะผูกป้ายชื่อคุณแม่ไว้ที่ข้อมือหรือข้อเท้าทันทีเพื่อมิให้ผิดตัว
  • ลูกร้องแล้ว ใน 1 นาทีแรกหลังคลอดลูกก็จะร้องทันที ความทุกข์ทรมานตั้งแต่เริ่มตั้งท้อง แพ้ท้อง ปวดเมื่อย อึดอัด จนกระทั่งเจ็บท้องคลอด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะหายไปหมดเมื่อลูกน้อยคลอดออกมาแล้วร้องเสียงดัง ซึ่งแสดงถึงความแข็งแรงสมบูรณ์ จากนั้นหมอจะใช้ลูกยางดูดเมือกและน้ำคร่ำในคอและในจมูกออก แต่ถ้าลูกไม่ร้องหรือร้องไม่ดังพอ ผู้ทำคลอดอาจจะให้ดมออกซิเจนและช่วยกระตุ้นบ้างตามความเหมาะสม เสร็จแล้วก็จะพามาให้คุณแม่เพื่อเริ่มสร้างสายสัมพันธ์กับลูกน้อย
  • ทำคลอดรก หลังจากคลอดตัวเด็กออกมาแล้ว หมอก็จะช่วยทำให้คลอดรกโดยที่คุณแม่อาจรู้สึกตึง ๆ ถ่วง ๆ เล็กน้อย และจะมีเลือดออกมาทางช่องคลอด แต่จะไม่เกิน 200-300 ซีซี ในขณะเดียวกันหมอก็ตรวจดูว่ารกออกมาครบหรือไม่ ถ้ามดลูกรัดตัวไม่ดีรกอาจจะไม่ลอกตัวและอาจจะตกเลือดมากก็ได้ ถ้ารกไม่ลอกตัวในระยะเวลาอันสมควร ประมาณ 10-15 นาที หมอก็อาจจะต้องเริ่มช่วยเหลือโดยการตามวิสัญญีแพทย์มาช่วยให้สลบ เพื่อใช้มือล้วงรกออกมาจากในโพรงมดลูก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเอารกออกมาได้ แต่จะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่รกฝังลึกในผนังมดลูกจนไม่สามารถเอาออกมาได้ด้วยการล้วงหรือขูดมดลูก ก็อาจจำเป็นต้องเข้าห้องผ่าตัดและผ่าตัดเอามดลูกพร้อมรกออก เพราะถ้าปล่อยไว้จะทำให้คุณแม่ตกเลือดมากจนเสียชีวิตได้
  • เย็บฝีเย็บ เมื่อทำคลอดรกเรียบร้อยแล้วหมอก็จะเย็บแผลที่ช่องคลอดที่ตัดเอาไว้ การเย็บแผลอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพราะจะต้องเย็บเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อเป็นชั้น ๆ ให้เหมือนของเดิมมากที่สุด คุณแม่จึงอาจรู้สึกเมื่อยเพราะต้องอยู่บนขาหยั่งจนกว่าหมอจะเย็บแผลเสร็จ เมื่อเย็บเสร็จแล้วพยาบาลก็จะเอาขาคุณแม่ลงจากขาหยั่ง เช็ดหน้า เช็ดตัว และเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ จากนั้นก็จะย้ายคุณแม่ออกจากห้องคลอดไปยังห้องสังเกตอาการหลังคลอดต่อไป เพราะภายหลังการคลอดอาจมีการตกเลือดเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นทันทีหลังคลอดแต่รกยังไม่คลอด หรือเกิดขึ้นในขณะที่รกคลอดออกมา หรืออาจจะเกิดขึ้นในขณะที่เย็บแผล หรือหลังจากเย็บแผลเสร็จแล้วก็ได้ ดังนั้น จึงมีกฎว่าหลังการคลอดจะต้องให้คุณแม่อยู่ในห้องสังเกตอาการหลังคลอดเพื่อสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นเวลา 2 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยย้ายไปอยู่ตึกผู้ป่วยหลังคลอด
  • อาการที่พบได้หลังคลอด หลังจากคลอดรกออกมาแล้ว คุณแม่อาจมีอาการหนาวสั่นมาก หายใจไม่สะดวก เพราะตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่ลูกอยู่ในท้อง เปรียบเสมือนกับคุณแม่มีเครื่องทำความร้อนอยู่ในตัว คอยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย แต่ในชั่วขณะที่คลอดลูกออกมา ร่างกายของคุณแม่ต้องพยายามควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับเดิม โดยการทำให้กล้ามเนื้อหดและคลายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความร้อนออกมาทดแทนความร้อนที่ร่างกายสูญเสียไป อาการหนาวสั่นจะเกิดขึ้นกับคุณแม่ไม่นานนัก แล้วจะหายไปเองภายในเวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง
  • การตกเลือดหลังคลอด หลังการคลอดสิ้นสุดลง มดลูกจะมีการหดรัดตัวเป็นก้อนแข็ง เพื่อให้แผลในโพรงมดลูกที่เกิดจากการลอกตัวของรกมีขนาดเล็กลง รวมทั้งกล้ามเนื้อมดลูกที่หดรัดตัวจะช่วยบีบเส้นเลือดบริเวณแผล ช่วยให้เลือดไหลช้าลงและหยุดไหลไปเองในที่สุด ปกติหลังคลอดจะมีน้ำคาวปลาสีแดง ๆ ประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นก็จะค่อย ๆ จางลงจนกลายเป็นสีขาวภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าหลังคลอดแล้วมดลูกไม่สามารถหดรัดตัวได้ตามปกติ เช่น มีเนื้อรกค้างอยู่ในโพรงมดลูก, กล้ามเนื้อมดลูกหย่อนยาน, ปัสสาวะเต็มกระเพาะปัสสาวะ, มีเนื้องอกของมดลูก เป็นต้น ก็จะทำให้เกิดการตกเลือดหลังคลอดได้ ดังนั้นหลังคลอดแล้วพยาบาลจะสวนปัสสาวะทิ้งเสมอ พร้อมกับฉีดยาให้มดลูกหดรัดตัวโดยเร็วที่สุด
  • ลูกน้อยในห้องเนิร์สเซอรี่ ในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ จะมีห้องสำหรับดูแลทารกแรกเกิด ซึ่งเป็นห้องที่ใช้ชั่งน้ำหนัก วัดความยาวของตัว วัดรอบศีรษะ วัดรอบอก เช็ดตัวเช็ดไขที่เกาะบริเวณหลัง ฉีดวิตามินเคเพื่อป้องกันโรคเลือดออกง่ายในเด็ก หยอดตาเพื่อป้องกันตาอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (ส่วนใหญ่จะหยอดตาทันทีหลังแรกคลอด) และหมอจะมาตรวจร่างกายของลูกน้อยโดยละเอียดอีกครั้งว่ามีความผิดปกติหรือไม่ และจะทำการตรวจเช็กร่างกายทุกวันจนกว่าคุณแม่และลูกน้อยจะออกจากโรงพยาบาล ในห้องนี้อาจมีมุมให้นมลูกเพื่อให้คุณแม่มีความสะดวกในการให้นม เพราะที่ตึกหลังคลอดหรือในห้องพักตัวเองอาจมีญาติมาเยี่ยมจนแม่ให้นมลูกไม่สะดวก และถ้ามีปัญหาก็จะได้สอบถามพยาบาลได้ด้วย

การคลอดลูก

ในห้องสังเกตอาการหลังคลอด

ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าถ้าเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก มีห้องคลอดห้องเดียว หลังคลอดเสร็จแล้วพยาบาลจะให้คุณแม่นอนพักอยู่บนเตียงคลอดต่อจนกว่าจะถึงเวลาย้ายไปยังตึกผู้ป่วย แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ พยาบาลก็จะย้ายคุณแม่ออกจากห้องคลอดไปอยู่ในห้องสังเกตอาการหลังคลอด ซึ่งเป็นห้องที่สงบและไม่พลุกพล่าน ไม่มีเสียงและแสงรบกวน หรือถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนก็อาจย้ายกลับมายังห้องแยกที่นอนรอคลอด เพื่อให้คุณแม่ได้พบกับสามีหรือญาติ ซึ่งในช่วงนี้คุณแม่จะได้นอนพักหลับสบายจากการปวดท้องมาหลายชั่วโมงและไม่จำเป็นต้องงดอาหารและน้ำอีกต่อไป ถ้ารู้สึกกระหายน้ำก็สามารถดื่มได้ครับ (ยกเว้นในกรณีที่มีคำสั่งพิเศษจากหมอให้งดอาหารและน้ำต่อ) หรือถ้ารู้สึกปวดแผลก็ขอยาแก้ปวดรับประทานได้ครับ

พยาบาลจะแวะเวียนมาดูแลคุณแม่เป็นระยะ มาวัดความดันโลหิต จับชีพจร คลำหน้าท้องเพื่อดูว่ามดลูกหดรัดตัวดีหรือไม่ ถ้ารู้สึกปวดปัสสาวะ พยาบาลจะเอาหม้อนอนมาให้คุณแม่ถ่ายปัสสาวะ ถ้าปัสสาวะไม่ออกหรืออาจตรวจพบว่ากระเพาะปัสสาวะเต็ม พยาบาลจะทำการสวนปัสสาวะให้ เพราะถ้าปล่อยให้กระเพาะปัสสาวะเป่งอยู่นานจะทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดีมีผลทำให้คุณแม่ตกเลือดหลังคลอดได้ง่าย นอกจากนี้พยาบาลจะตรวจดูด้วยว่ามีเลือดไหลออกจากช่องคลอดมากกว่าปกติหรือไม่ ถ้าหลังจากในระยะ 2 ชั่วโมงมีเลือดออกมาชุ่มผ้าอนามัยหรือผ้าซับเลือด 1-2 ผืนก็ถือว่าปกติ แต่ถ้าออกมากกว่านี้หรือมีเลือดออกมาเป็นก้อน ๆ ก็แสดงว่าผิดปกติครับ โดยหมอจะหาสาเหตุและให้การดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป สิ่งที่ละเลยไม่ได้อีกอย่างก็คือ พยาบาลจะดูแลแผลฝีเย็บว่าบวมมากหรือไม่ และสอบถามคุณแม่ว่ารู้สึกเจ็บแผลมากหรือไม่ เพราะถ้ามีอาการบวมที่แผลหรือเจ็บแผลมาก และปวดเหมือนอยากถ่ายอุจจาระ ก็แสดงว่าอาจจะมีเลือดออกในบริเวณแผลและรวมกันอยู่เป็นก้อน แล้วค่อย ๆ โตขึ้นเรื่อย ๆ จนไปเบียดผนังลำไส้ใหญ่ที่อยู่ใกล้กัน ถ้าตรวจพบว่ามีเลือดออกที่แผลก็คงต้องผ่าเปิดแผลใหม่ และหมอก็มักจะให้ดมยาสลบเพื่อเย็บเส้นเลือดให้เลือดหยุดและเย็บซ่อมแผลใหม่ (คุณแม่สามารถช่วยป้องกันการตกเลือดหลังคลอดได้โดยการใช้มือคลึงมดลูกบริเวณท้องน้อย จะช่วยให้มดลูกหดรัดตัวได้ดี ส่วนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ช่วยป้องกันการตกเลือดหลังคลอดได้อีกวิธีหนึ่ง เพราะในขณะที่ให้ลูกดูดนม ไม่ว่าน้ำนมจะไหลออกมาหรือไม่ก็ตาม ก็จะเกิดกลไกการหลั่งฮอร์โมนออกซีโตซินจากต่อมใต้สมอง ทำให้มดลูกมีการหดรัดตัวและมดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น)

ในกรณีที่ทุกอย่างเป็นปกติ ถ้าน้ำเกลือที่ให้หมดขวดก็คงพอแล้ว พยาบาลจะเอาสายน้ำเกลือออก แต่ถ้ายังเหลือมากก็คงให้ต่อจนหมดก่อนจะย้ายคุณแม่ไปยังตึกผู้ป่วยหลังคลอด แล้วคุณแม่ก็จะได้เห็นหน้าลูกน้อยอีกครั้งถ้าห้องเด็กอ่อนอยู่ไม่ไกลนัก สำหรับคุณแม่ที่ยังไม่พบสามีและญาติ เมื่อย้ายไปยังตึกผู้ป่วยหลังคลอดก็จะได้พบกันแล้วครับ ส่วนลูกน้อยจะต้องอยู่ในห้องเด็กแรกเกิดเพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดประมาณ 6-12 ชั่วโมงจนกว่าจะปกติและปลอดภัย แล้วจึงส่งไปอยู่กับแม่ที่ตึกผู้ป่วยหลังคลอดครับ

ที่ตึกหลังคลอด

หลังจากนอนพักในตึกคลอดหรือห้องสังเกตอาการหลังคลอดประมาณ 2 ชั่วโมง ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติพยาบาลก็จะย้ายคุณแม่ออกจากตึกคลอดเพื่อไปพักผ่อนยังตึกหลังคลอด ซึ่งคุณแม่ก็จะได้พบกับคุณพ่อกับญาติพี่น้องที่มาแสดงความยินดี แต่เนื่องจากการออกแรงเบ่งคลอดรวมทั้งการฉีดยาระงับปวดนั้นจะทำให้คุณแม่หลังคลอดรู้สึกอ่อนเพลียและมักจะหลับไปพักหนึ่ง แต่คุณแม่บางคนที่ตื่นเต้นดีใจแล้วหลับไม่ลงก็มี สำหรับคุณแม่ส่วนใหญ่ที่หลับไปแล้วตื่นขึ้นมา สิ่งแรกที่ต้องการคืออยากเห็นหน้าลูกว่าหน้าตาเหมือนใคร น่ารักแค่ไหน ระยะนี้พยาบาลจะเข็นรถเด็กมาอยู่ข้าง ๆ เตียงให้คุณแม่ชื่นชม อุ้มหรือวางข้างตัวแม่ให้ลูกลองดูดนม คุณแม่สามารถลุกนั่งบนเตียงได้ แต่ไม่ควรลุกไปเข้าห้องน้ำคนเดียว เพราะมักจะมีอาการหน้ามืดเป็นลมเนื่องจากการเสียเลือดในระหว่างคลอด การไหลเวียนของเลือดเปลี่ยนแปลง และกล้ามเนื้อทั่วร่างกายอ่อนล้าทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย คุณแม่ควรจะถ่ายปัสสาวะในหม้อนอนบนเตียงไปก่อน หรือถ้าจะเข้าห้องน้ำก็ควรให้พยาบาลพยุงเข้าไป ในระยะหลังคลอด 24 ชั่วโมง คุณแม่ควรพักผ่อนให้มาก หลังจากนี้ก็จะสามารถลุกขึ้นได้ตามปกติ การลุกนั่งหรือยืนจะทำให้น้ำคาวปลาไหลออกได้สะดวกขึ้นไม่ค้างอยู่ในโพรงมดลูก

การผ่าคลอด

การผ่าท้องคลอด (Caesarean section) โดยปกติแล้วแพทย์จะทำในกรณีที่เด็กคลอดทางช่องคลอดไม่ได้ เช่น เด็กมีขนาดใหญ่เกินไป เชิงกรานของแม่เล็กผิดปกติ เด็กอยู่ในท่าที่ไม่ปกติ ศีรษะเด็กไม่เข้ามาในเชิงกราน มีเนื้องอกมาขวางทางคลอด ปากมดลูกไม่ขยายเมื่อถึงเวลาอันสมควร หรือมีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ต้องรีบช่วยให้เด็กคลอดก่อนที่จะเป็นอันตราย (เช่น แม่มีอาการตกเลือดก่อนคลอด เสียงหัวใจของลูกเต้นช้าหรือเร็วผิดปกติ ฯลฯ)

ในกรณีที่ต้องผ่าคลอดเป็นการฉุกเฉิน หากคุณแม่มีอาการตกเลือดเนื่องจากรกเกาะต่ำ สายสะดือย้อย หรือมีสัญญาณใดบอกว่าลูกอาจมีปัญหา คุณหมอจะตัดสินใจรีบผ่าคลอดในทันที ซึ่งการผ่าคลอดฉุกเฉินอาจใช้การฉีดยาชาเข้าไขสันหลังหรือให้คุณแม่ดมยาสลบแล้วแต่กรณี ในกรณีที่ผ่าคลอดฉุกเฉิน ทางโรงพยาบาลจะไม่อนุญาตให้คุณพ่ออยู่ด้วย

ขั้นตอนการผ่าคลอด

ในปัจจุบันนี้การผ่าตัดมีความปลอดภัยสูง อัตราเสี่ยงมีน้อยมาก การผ่าตัดคลอดจะรวดเร็วกว่าสมัยก่อน (การผ่าตัดในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาในการผ่าตัดไม่เกิน 1 ชั่วโมง) ซึ่งมักจะรอจนคลอดไม่ได้จริง ๆ หมอจึงจะผ่าตัดให้ ซึ่งกรณีเช่นนี้จะทำให้คุณแม่ต้องเจ็บปวดนานและลูกก็อาจมีโรคแทรกซ้อนได้มากกว่าในปัจจุบัน การผ่าท้องคลอดจะต้องทำในห้องผ่าตัดที่สะอาด ใช้ผ้าสะอาดปราศจากเชื้อโรค โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. หมอจะให้คุณแม่อดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เพื่อจะได้สามารถดมยาสลบได้อย่างปลอดภัย แต่ในกรณีฉุกเฉินถึงจะไม่ได้อดอาหารและน้ำมาก็สามารถทำการผ่าตัดได้โดยการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง หรือที่เรียกกันว่า “บล็อกหลัง” เพื่อไม่ให้เจ็บปวด ก่อนผ่าตัดคุณหมอจะทำความสะอาดผนังหน้าท้องบริเวณที่ผ่าตัด พร้อมทั้งใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้ (การผ่าคลอดโดยฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง คุณแม่จะยังรู้สึกตัวตลอดเวลาในระหว่างการผ่าตัด จึงต้องมีฉากกั้นไม่ให้คุณแม่เห็นการผ่าตัด)
  2. หลังจากใช้ยาสลบแล้วหมอจะรีบผ่าตัดเอาเด็กออกมาใน 2-3 นาที โดยจะกรีดมีดผ่านผนังหน้าท้องทีละชั้นจนเข้าไปในช่องท้อง อาจจะตามแนวยาวหรือแนวขวางเหนือหัวหน่าวก็ได้ หลังจากนั้นก็ทำการผ่ามดลูกโดยการเลาะเยื่อบุช่องท้องที่คลุมมดลูกส่วนล่างออกตามแนวขวางเพื่อดันกระเพาะปัสสาวะให้ต่ำลงไปจากมดลูก แล้วจึงกรีดมีดผ่านเนื้อมดลูกจนเข้าไปในโพรงมดลูก จากนั้นหมอจะแหวกแผลให้กว้างพอที่ทารกจะคลอดได้ จากนั้นจึงใช้มือเข้าไปช้อนหัวของทารกให้เงยขึ้นพร้อมกับให้ผู้ช่วยดันบริเวณยอดมดลูกลงมา ทารกก็จะคลอดส่วนศีรษะ แล้วตามด้วยลำตัวและเท้าตามลำดับ (อาจจะต้องใช้คีมช่วยด้วยในกรณีที่คลอดยาก) และโดยส่วนใหญ่ทารกที่ผ่าคลอดจะคลอดออกมาภายใน 5-10 นาที
  3. คุณหมอจะรีบใช้ลูกยางดูดเมือกและเสมหะออกจากคอและปากของทารกเพื่อป้องกันไม่ให้สำลักหรืออุดทางเดินหายใจ เสร็จแล้วจึงตัดสายสะดือและทำความสะอาด ชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงของทารกต่อไป
  4. สุดท้ายหมอก็จะล้วงเอารกออกมาพร้อมกับใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดโพรงมดลูก จนแน่ใจแล้วว่าไม่มีเศษรกตกค้างอยู่ แล้วจึงทำการเย็บปิดมดลูก โดยเริ่มจากการเย็บกล้ามเนื้อมดลูกเข้ากันเหมือนเดิม ตามด้วยการเย็บเยื่อบุช่องท้องปิดคลุมมดลูก ตรวจดูจุดเลือดออกจนแน่ใจว่าเลือดหยุดดีแล้ว แล้วจึงค่อยเย็บผนังหน้าท้องปิดตามเดิมให้เรียบร้อย (หมอจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเย็บแผลที่มดลูกและหน้าท้อง)

ผ่าคลอด

การดูแลคุณแม่หลังผ่าคลอด

  • ในระหว่างการผ่าคลอด คุณหมอจำเป็นต้องให้ดมยาสลบหรือใช้ยาบรรเทาความเจ็บปวดในการทำคลอด ซึ่งยาที่ใช้อาจผ่านเข้าสู่กระแสเลือด แล้วมีผลต่อน้ำนมคุณแม่ และคุณแม่อาจไม่มีน้ำนมไหลในช่วง 2-3 วันแรกหลังการคลอด แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะให้นมลูกไม่ได้ เพราะคุณหมอจะแนะนำวิธีดูแลเต้านมและการให้ลูกดูดนม
  • คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่พยายามลุกขึ้นจากเตียงและเดินเคลื่อนไหวไปมาบ้าง เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบลำไส้และระบบการไหลเวียนของเลือด ช่วยลดอาการบวม แล้วแผลจะหายเร็วขึ้น เวลาเคลื่อนไหวคุณแม่อาจรู้สึกเจ็บแผลบ้าง คุณแม่ควรตะแคงตัวเมื่อจะลุกขึ้นจากเตียงหรือล้มตัวลงนอน เพื่อจะได้ไม่ฝืนกล้ามเนื้อบริเวณแผลผ่าตัด จะช่วยให้เจ็บน้อยลง ถ้าคุณแม่ปวดแผล คุณหมอจะให้ยาแก้ปวดตามความจำเป็น คุณแม่สามารถเริ่มรับประทานอาหารได้ประมาณ 24 ชั่วโมงหลังการคลอดและควรจะกระตุ้นให้ลูกดูดนมในช่วงนี้ เพื่อให้ลูกได้รับหัวน้ำนมที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร รวมทั้งสร้างภูมิต้านทานโรคให้ลูกน้อย
  • หลังการคลอดคุณแม่จะมีน้ำคาวปลาไหลออกมาทางช่องคลอดเช่นเดียวกับการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ แต่อาจจะน้อยกว่าเมื่อมดลูกหดรัดตัวจนขับน้ำคาวปลาออกหมด มดลูกก็จะกลับเข้าอู่เช่นกัน
  • สำหรับแผลผ่าตัดนั้น ในปัจจุบันไหมที่ใช้เย็บในการผ่าตัดจะเป็นไหมละลาย ทำให้คุณแม่ไม่ต้องตัดไหม แต่ถ้าต้องตัด คุณหมอจะนัดหลังการผ่าตัดประมาณ 6-7 วัน โดยส่วนใหญ่แผลจะแห้งสนิทภายใน 3 สัปดาห์ และค่อย ๆ กลับสู่ภาวะปกติใน 6 เดือน

ผ่าท้องคลอดแนวไหนดี

แผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้องสำหรับคุณแม่ที่จำเป็นต้องคลอดโดยการผ่าคลอดจะมี 2 แบบ คือ แผลผ่าตัดตามแนวดิ่งหรือแนวยาว (Low Midline) ซึ่งจะเริ่มจากบริเวณใต้สะดือเป็นเส้นตรงลงไปถึงบริเวณเหนือหัวหน่าวเล็กน้อย และแผลผ่าตัดตามแนวขวางหรือแนวนอนเหนือบริเวณหัวหน่าว เป็นเส้นโค้งคล้ายรอยยิ้ม ที่เรียกว่าการผ่าตัดแบบ Pfannenstiel หรือแบบบิกินี่

แผลผ่าตัดตามแนวดิ่งจะมีข้อดีตรงที่ตัดได้ง่ายและรวดเร็ว คุณแม่จะเสียเลือดน้อยกว่าจึงเป็นที่นิยมโดยทั่วไป โดยเฉพาะคุณแม่ที่จำเป็นต้องผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อช่วยชีวิตทารก ส่วนการผ่าตัดแบบแนวขวางนั้นจะทำได้ยากกว่า ใช้เวลาผ่าตัดนานกว่าและเสียเลือดมากกว่าแบบแนวดิ่งเล็กน้อย ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับคุณแม่ที่ต้องการความสวยงามที่ยังต้องการสวมชุดบิกินี่ แต่จะไม่เหมาะในกรณีที่ต้องผ่าตัดฉุกเฉินเพราะทารกจะคลอดได้ช้ากว่า อาจทำให้ช่วยเหลือไม่ทันและเสียชีวิตได้

ท้องแรกผ่าคลอด ท้องหลังจำเป็นต้องผ่าหรือไม่ ?

หลังการผ่าท้องคลอดแล้วคุณแม่ควรเว้นระยะการมีลูกให้ห่างกันพอสมควรอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้แผลในมดลูกหายดีและมดลูกแข็งแรงพอที่จะรับการตั้งครรภ์ครั้งใหม่ ส่วนในท้องต่อไปนั้นจะต้องผ่าตัดหรือไม่นั้นจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น ถ้าท้องแรกผ่าตัดเพราะเชิงกรานแม่เล็ก หัวเด็กไม่ลงเข้าเชิงกราน ตั้งครรภ์ครั้งต่อไปก็จำเป็นต้องผ่าตัดอีก แต่ถ้าท้องก่อนหน้านี้ผ่าตัดเพราะรกเกาะต่ำ เสียงหัวใจลูกผิดปกติ ในครั้งนี้ก็อาจจะคลอดแบบปกติทางช่องคลอดก็ได้ แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะถูกผ่าตัดได้มากถ้าระยะการเจ็บท้องดำเนินไปไม่ดีหรือเพื่อตัดปัญหาการเฝ้าระวังในระหว่างคลอด หมอก็นิยมผ่าตัดซ้ำให้เลย ซึ่งก็จะทำเมื่อครรภ์มีอายุได้ประมาณ 39 สัปดาห์ หรือเด็กมีขนาดใหญ่พอ โดยไม่ต้องรอให้เจ็บท้องก่อน เพราะถ้ารอให้เจ็บท้องก็อาจจะต้องผ่าตัดฉุกเฉินในเวลาค่ำคืนหรือในเวลาที่ไม่เหมาะสมได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายสูงมากกว่ารายที่มีการเตรียมตัวกันอย่างดีแล้ว เพราะถ้าปล่อยไว้ไม่รีบผ่าตัด แล้วคุณแม่ก็มีอาการเจ็บท้องและการหดรัดตัวของมดลูกมากขึ้น แผลเป็นในมดลูกที่เคยผ่าไว้ก็อาจจะแตก ทำให้ตกเลือด และลูกก็มีโอกาสเสียชีวิตสูง

ผ่าคลอดแล้วจะมีลูกได้อีกกี่คน

ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยดี แผลเป็นที่มดลูกไม่บาง ไม่มีพังผืดติดกันในช่องท้องที่จะทำให้ผ่าตัดได้ยาก ก็สามารถมีลูกหรือผ่าตัดได้หลายครั้ง ซึ่งการที่จะมีพังผืดติดกันมากน้อยเพียงใดนั้นจะขึ้นอยู่กับการอักเสบและแผลเป็น ถ้าอักเสบมากแผลหายช้า ก็จะทำให้แผลเป็นที่มดลูกบางและมีพังผืดมาติดกันในช่องท้องมาก จึงทำให้การผ่าตัดในแต่ละครั้งยุ่งยากมากขึ้นเรื่อย ๆ

คุณแม่ช่วยหมอกำหนดวันผ่าคลอดได้

สำหรับคุณแม่ที่รู้ว่าตัวเองจะต้องผ่าคลอด ก่อนตั้งครรภ์คุณแม่ควรจดวันที่มีประจำเดือนไว้ทุกเดือนให้แน่นอนอย่างน้อย 3-4 เดือน เพื่อจะได้รู้ว่าประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ มาตรงกันหรือไม่ เมื่อถึงระยะที่ลูกดิ้นให้จดวันที่ลูกเริ่มดิ้นด้วย เพื่อช่วยให้หมอกำหนดวันคลอดและวันผ่าคลอดได้ใกล้เคียงที่สุด เพราะถ้าผ่าเร็วเกินไป ลูกอาจไม่แข็งแรงพอและเสียชีวิตได้

การดูฤกษ์เพื่อผ่าท้องคลอด

โดยปกติแล้วหมอจะนัดคุณแม่ที่ต้องผ่าคลอดมาผ่าตัดราวสัปดาห์ที่ 39 ของการตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงเด็กในครรภ์มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ที่สุด หรือบางรายอาจจะ 38 กว่า ๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะคุณแม่จำวันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายผิดไป หรือมากกว่า 39 กว่า ๆ ในกรณีที่เด็กยังตัวเล็กไป อย่างไรก็ดี ปัญหาในการรอแบบนี้มีอยู่ว่า คุณแม่มักปวดท้องคลอดกะทันหันหรือมาในเวลากลางคืน ซึ่งการผ่าตัดอาจจะทำได้ไม่สะดวก ยิ่งถ้าเป็นโรงพยาบาลที่มีหมออยู่น้อยก็อาจจะเกิดปัญหาได้ หรือในกรณีที่มีโรคหรืออาการแทรกซ้อนอยู่แล้ว แม้ว่าเด็กจะตัวเล็ก ถ้าทิ้งไว้เด็กอาจจะเสียชีวิต เพราะฉะนั้นหมอก็จะนัดวันที่เห็นว่าเด็กน่าจะสมบูรณ์ดีพอที่จะให้คลอดได้แล้วหรือในเวลาที่เห็นว่าสมควรและปลอดภัย ซึ่งคุณแม่ก็ควรจะมาตามวันที่หมอนัดเพื่อความสะดวกและให้ผลดีแก่ทุกฝ่าย

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ คุณแม่บางคนคิดไปว่าอยากจะผ่าเมื่อไหร่ก็ได้ จึงวิ่งไปขอฤกษ์ขอยามกันให้วุ่น แล้วมาบอกหมอว่าพระท่านให้ฤกษ์คลอดมาแล้ว หมอต้องผ่าวันนั้น เวลานี้ เพราะเชื่อว่าลูกเกิดมาจะได้มีบุญวาสนา ฯลฯ บางคนกำหนดมาเฉพาะวันก็ไม่เท่าไรครับ แต่ที่ร้ายกว่านั้นก็คือกำหนดเวลาไว้ด้วย บางครั้งบอกว่าต้องผ่าเวลา 5 ทุ่ม บางคนก็ว่าตี 5 (ซึ่งฤกษ์แบบนี้ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนก็พอจะเป็นไปได้ครับ แต่ค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้นมาก) หรือบางรายก็กำหนดมาแล้วเสร็จเลยว่าลูกจะต้องคลอดออกมาภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้เป๊ะ ๆ เช่น 7.09-7.19 น. ซึ่งให้เวลามาไม่ถึง 10 นาที ในทางปฏิบัติทำไม่ได้หรอกครับ ยิ่งถ้าคุณแม่ที่เคยผ่าคลอดมาด้วยแล้วก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย หรือบางครั้งการผ่าตัดที่คิดว่ายากแต่กลับง่ายมาก ใช้เวลาเพียง 2-3 นาทีเด็กก็คลอดออกมาแล้ว จึงทำให้ไม่ตรงกับฤกษ์ที่กำหนดไว้ แต่ที่อันตรายที่สุดก็คือฤกษ์ผ่าตัดที่เร็วกว่ากำหนดของหมอ ซึ่งเด็กในครรภ์ยังไม่ครบกำหนดคลอด ถ้าผ่าออกมาอาจจะตัวเล็ก ไม่แข็งแรง และอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นผมจึงอยากขอร้องให้คุณแม่โปรดคำนึงถึงสุขภาพของลูกเป็นหลัก เพราะเด็กที่มีสุขภาพดีจะเป็นรากฐานสำคัญของการเจริญเติบโตทั้งทางกายและสติปัญญา ยังไงก็ขอให้ยึดหลักทางการแพทย์ไว้เป็นหลักเพื่อจะได้สบายใจและได้ผลดีด้วยกันทุกฝ่าย

คลอดเองกับผ่าคลอด แบบไหนดีกว่ากัน ?

พอถึงช่วงใกล้คลอดก็เป็นธรรมดาที่คุณแม่มักจะปรึกษาว่าจะให้ผ่าท้องคลอดดีไหม เพราะคิดว่าการผ่าคลอดจะปลอดภัยกว่าการคลอดเอง กลัวเจ็บ กลัวเสียทรง กลัวช่องคลอดหย่อนยาน หรือต้องการคลอดตามฤกษ์ยามที่กำหนดไว้ รวมทั้งการเลียนแบบบุคคลชั้นสูงหรือดาราที่นิยมผ่าตัดคลอด ฯลฯ ก็ขออธิบายไว้เลยครับว่าถ้าคุณแม่มีสุขภาพดี ไม่มีโรคแทรกซ้อน ก็สามารถคลอดได้เอง 70-95% ส่วนที่เหลืออาจจะต้องผ่าคลอดด้วยข้อบ่งชี้ต่าง ๆ ทางการแพทย์

คลอดเองกับผ่าคลอด

ข้อดีของการคลอดเอง

  1. มีค่าใช้จ่ายในการคลอดถูกกว่า
  2. การคลอดเองนั้นคุณแม่อาจจะต้องเจ็บบ้างในช่วงที่ปากมดลูกขยายตัว แต่ก็มียาฉีดแก้ปวดให้ เมื่อคลอดได้แล้ว ความเจ็บปวดทั้งหลายก็จะหายไปเป็นปลิดทิ้ง เหลือแต่เจ็บแผลเพียงเล็กน้อยที่ถือว่าเป็นเรื่องเล็ก ทั้งมิได้ทำให้ร่างกายของลูกและช่องคลอดของคุณแม่บอบช้ำมากอย่างที่เข้าใจ เมื่อคลอดแล้วบริหารร่างกาย บริหารช่องคลอด ทุกอย่างก็จะกลับสู่สภาพปกติได้
  3. ร่างกายมีการฟื้นตัวเร็วกว่าการผ่าคลอดมาก พอคลอดเสร็จมดลูกจะหดตัวเล็กลงและไม่มีแผลที่มดลูกเหมือนการผ่าคลอด
  4. เมื่อคลอดออกมาทางช่องคลอด ตัวช่องคลอดจะบีบส่วนช่องอกของทารกเพื่อรีดเอาน้ำคร่ำที่คั่งค้างอยู่ในปอด เมื่อลูกน้อยสูดอากาศหายใจเข้าครั้งแรก น้ำคร่ำจะดูดซึมเข้าสู่เส้นเลือดส่วนหนึ่งและทำให้ปอดไม่ชื้น ต่างจากทารกที่ผ่าคลอด ซึ่งทรวงอกของทารกจะไม่ได้รับการบีบรัดแบบนี้ จึงทำให้มีโอกาสที่จะมีน้ำคั่งในปอดและหายใจเร็วตามมาได้ ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้บ่อยกว่าทารกที่คลอดทางช่องคลอด
  5. ทารกที่คลอดทางช่องคลอดในระหว่างที่เดินทางผ่านช่องคลอดจะมีการกลืนสารคัดหลั่งในช่องคลอดซึ่งอุดมไปด้วยแบคทีเรียที่เป็น โปรไบโอติกส์ มากมายเข้าสู่ลำไส้เพื่อไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดภูมิต้านทานโรคและป้องกันโรคอักเสบติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัด ภูมิแพ้ โรคผิวหนังอักเสบ และอุจจาระร่วง ซึ่งการผ่าตัดคลอดจะไม่ทำให้เกิดภูมิต้านทานต่อโรคเหล่านี้ ยิ่งหากลูกน้อยที่ผ่าตัดคลอดแล้วยังไม่ได้กินนมแม่ ก็จะไม่ได้รับจุลินทรีย์ที่ดีด้วย และจะยิ่งมีปัญหามากขึ้น

ข้อเสียของการคลอดเอง

  1. กำหนดวันเวลาคลอดไม่ได้ สำหรับคุณแม่ที่มีเตรียมฤกษ์หรือเตรียมตั้งชื่อไว้ตามวันเกิดแล้วก็คงจะกำหนดไม่ได้
  2. คุณแม่อาจต้องทนเจ็บปวดอยู่นาน ซึ่งเป็นกระบวนการธรรมชาติของการคลอด แต่ความเจ็บปวดในระหว่างการคลอดนี้สามารถให้ยาระงับปวดได้หลายวิธี เช่น การฉีดยาเข้าเส้นเลือด ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง หรือแม้แต่การฝังเข็ม
  3. ในระหว่างรอคลอดอาจเกิดภาวะผิดปกติบางอย่าง เช่น ปากมดลูกไม่เปิดเพิ่ม คลอดไม่ออก หัวใจลูกเต้นช้า ทำให้ต้องผ่าคลอดฉุกเฉินอยู่ดี แต่ไม่ต้องกังวลครับเพราะโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ส่วนใหญ่จะคลอดเองได้อยู่แล้ว

ข้อดีของการผ่าคลอด

  1. คุณแม่ไม่ต้องทนเจ็บ เพราะมีการควบคุมความเจ็บปวดที่ได้ผลค่อนข้างแน่นอน
  2. สามารถกำหนดเวลาคลอดตามฤกษ์ได้ (และตั้งชื่อของลูกน้อยไว้ก่อนล่วงหน้าได้) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในกรณีที่เป็นเคสซับซ้อน ต้องการทีมแพทย์ดูแลหลายแผนก
  3. ไม่เสี่ยงกับการเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างในระหว่างรอคลอด เช่น ปากมดลูกไม่เปิด หัวใจเด็กเต้นช้า สายสะดือโผล่
  4. หากการผ่าคลอดมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น เด็กท่าก้น เด็กตัวโต อุ้งเชิงกรานแคบ ทารกมีภาวะหัวใจเต้นช้า ทารกมีความพิการที่ไม่สามารถคลอดเองได้ ปากมดลูกไม่เปิดหรือเปิดช้า ฯลฯ ถ้ามีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นคุณแม่ก็ไม่ต้องเป็นกังวลครับ เพราะเหตุและผลที่ได้มันคุ้มกันครับ
  5. ในปัจจุบันมีผ่าคลอดแล้วปิดแผลโดยใช้กาวชนิดพิเศษ ข้อดีคือคุณแม่ไม่ต้องไปตัดไหม ไม่มีรอยเย็บ ทำให้รอยแผลสวย และไม่ต้องปิดปลาสเตอร์ปิดแผล เพราะกาวสามารถกันน้ำได้ แต่ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าการเย็บแบบไหมละลายและแบบการใช้แม็คเย็บแผลประมาณหนึ่งครับ (ก่อนทากาวหมอจะทำการเย็บแผลใต้ผิวหนังให้ชิดก่อนตามปกติ แล้วจึงทากาวปิดแผลที่ผิวหนัง โดยการดึงขอบแผลทั้ง 2 ข้างมาชิดกัน แล้วใช้กาวทาแผลยึดให้ขอบแผลทั้ง 2 ข้างให้แนบสนิทติดกัน การปิดแผลด้วยกาวจะไม่มีความเสี่ยงในการปริมากกว่าแผลเย็บตามปกติ ส่วนความเจ็บมากหรือน้อยนั้น ตามหลักแล้วไม่ได้เกี่ยวกับการทากาวหรือไม่ทากาว เพราะขั้นตอนการเย็บทุกอย่างยังเหมือนกัน)

ข้อเสียของการผ่าคลอด

  1. ค่าใช้จ่ายในการผ่าคลอดจะสูงกว่าการคลอดเอง ค่าผ่าตัดที่แพทย์จะได้รับก็มีเยอะขึ้น และไม่ต้องมานั่งเฝ้าคลอดว่าจะผ่าได้เมื่อไหร่
  2. เสี่ยงต่ออันตรายจากการดมยาสลบหรือการฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง (ในปัจจุบันการผ่าตัดและการให้ยาระงับปวดในระหว่างการผ่าตัดมีความปลอดภัยมาก ไม่ว่าจะเป็นการฉีดยาชาเข้าไขสันหลังหรือที่เรียกกว่า บล็อกหลัง (Spinal block) หรือการดมยาสลบ (General anesthesia))
  3. แม้ในขณะผ่าตัดคุณแม่จะไม่รู้สึกเจ็บ แต่เมื่อยาชาหรือยาสลบหมดฤทธิ์คุณแม่จะรู้สึกเจ็บแผล และกว่าจะหายเจ็บก็อีกหลายวัน (บางคนก็เจ็บนานหลายสัปดาห์)
  4. ลูกน้อยที่คลอดโดยการผ่าตัดจะไม่ได้รับจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หรือที่เรียกว่า “โปรไบโอติกส์” หรือจุลินทรีย์สุขภาพ ซึ่งจะทำหน้าที่กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
  5. ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดจะมีมากกว่าการคลอดเอง เช่น การเสียเลือดมากกว่าการคลอดปกติเกือบเท่าตัว บางรายตกเลือด แผลผ่าตัดมีการอักเสบติดเชื้อ
  6. มีแผลขนาดใหญ่ที่หน้าท้องและเป็นแผลที่มดลูก เพราะการผ่าคลอดจะต้องเปิดผิวหนังผ่านชั้นไขมัน ชั้นเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ชั้นเยื่อหุ้มช่องท้อง กว่าจะถึงส่วนของมดลูก จากนั้นจะต้องเปิดแผลที่มดลูกเข้าไปเพื่อเอาทารกออกมา เมื่อมีแผลที่มดลูกกระบวนการหายของแผลก็จะคล้ายคลึงกับการหายของแผลในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย คือ ต้องอาศัยกระบวนการอักเสบเพื่อสร้างเนื้อเยื่อใหม่ แผลเป็นตามผิวหนังของร่างกาย ความแข็งแรงของโครงสร้างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันในบริเวณแผลก็จะไม่แข็งแรงเท่ากับบริเวณอื่น ๆ และกลายเป็นจุดอ่อนของมดลูกต่อไป
  7. นอกจากแผลที่มดลูกแล้ว ก็มีโอกาสเกิดพังผืดในช่องท้องได้ (Adhesion) ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการหายของแผลที่เกิดจากกระบวนการอักเสบเช่นกัน ซึ่งพังผืดนี้อาจจะไปทำให้ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ หรือเยื่อบุช่องท้องเองมาแปะติดกับมดลูกเหมือนใยแมงมุมได้ จึงทำให้เกิดความยากลำบากในการผ่าตัดคลอดครั้งต่อไป ๆ ยิ่งผ่าตัดมามากก็ยิ่งเกิดพังผืดได้มาก และไม่ใช่แค่การผ่าตัดคลอดครั้งต่อไปเท่านั้นที่มีปัญหา แต่การผ่าตัดช่องท้องด้วยเหตุจำเป็นอื่น ๆ เช่น มีเนื้องอกมดลูก ตัดมดลูก เป็นมะเร็ง หรือบาดเจ็บในช่องท้องแล้วจำเป็นต้องผ่าตัด ถ้าคุณแม่มีประวัติการผ่าคลอดมาก่อน โดยเฉพาะถ้าเคยผ่าคลอดมาแล้วหลายครั้งก็จะทำให้ความยากในการผ่าตัดเพิ่มขึ้นอีกหลายระดับ
  8. มีระยะเวลานอนพักในโรงพยาบาลนานกว่า
  9. เสี่ยงต่อการเกิดมดลูกแตกในครรภ์ถัดไป (Uterine rupture) ในตำแหน่งที่เคยผ่าตัดมาก่อนมากกว่าคนที่ไม่มีแผลที่มดลูก ซึ่งความเสี่ยงที่จะเกิดนี้จะมีประมาณ 0.5-1% ในกรณีที่แผลผ่าตัดที่มดลูกเป็นแบบแนวขวาง แต่ถ้าเป็นแผลตามยาวก็จะมีความเสี่ยงสูงมากกว่านี้ เมื่อมดลูกแตกก็จะเพิ่มอัตราการตายของทารกและอัตราการตายของคุณแม่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามคุณแม่ก็อย่าเพิ่งกังวลใจเพราะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน เพียงแต่มีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้น และส่วนมากหมอก็มักจะนัดผ่าคลอดในคนเคยผ่าคลอดมาแล้วก่อนประมาณ 38-39 สัปดาห์
    เมื่อมีแผลผ่าตัดอยู่แล้วในครรภ์ถัดไปถ้าคุณแม่เกิดโชคร้ายมีรกไปเกาะในตำแหน่งที่เป็นแผลพอดี ก็ลองนึกดูครับว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะโดยปกติแล้วรกจะฝังตัวในชั้นเยื่อบุโพรงมดลูกเท่านั้น แต่ถ้าเกาะลึกกว่านั้นก็จะเรียกว่า “รกเกาะลึก” (Placenta adherens) ซึ่งจะลึกขนาดไหนนั้นก็จะมีแบ่งเป็นระดับลึกถึงกล้ามเนื้อมดลูกหรือทะลุออกมานอกมดลูก แต่ที่น่ากลัวก็คือถ้ารกมาเกาะส่วนที่เป็นแผลแล้วเกิดรกเกาะลึก หลังคลอดรกจะไม่ลอกตามปกติจะใช้มือดึงก็ไม่ได้ เพราะจะเสียเลือดมาก หมอจึงจำเป็นต้องตัดออกมาทั้งมดลูกเลย แต่ก็ไม่ต้องกังวลมากเกินไปครับ เพราะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แต่ก็มีให้เห็นได้อยู่เรื่อย ๆ เพราะในปัจจุบันมีอัตราการผ่าคลอดสูงมากขึ้นเป็น 60-90% โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชน
  10. เมื่อผ่าคลอดครั้งแรกแล้ว ครั้งต่อไปก็มักจะต้องผ่าคลอดอีกเป็นส่วนใหญ่
  11. มีงานวิจัยที่ระบุว่าเด็กที่คลอดทางหน้าท้องโดยการผ่าคลอดจะมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนเมื่อโตขึ้นได้มากกว่าเด็กที่คลอดตามปกติอย่างมีนัยสำคัญ เพราะการที่เด็กคลอดออกทางหน้าท้องจะเป็นการปิดกั้นกระบวนการทางธรรมชาติ ทำให้นมแม่มาช้าลงเพราะร่างกายยังไม่ได้กระตุ้นให้มีน้ำนม ต้องไปกินนมผงที่มีโมเลกุลโปรตีนและไขมันของสัตว์จึงทำให้เกิดโรคอ้วน และการที่เด็กไม่ได้คลอดเองตามธรรมชาติก็จะทำให้ขาดโปรไบโอติกส์ ซึ่งไม่ว่าจะใช้กระบวนการสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ยังไงก็ยังไม่สามารถทดแทนได้ 100%

ปัจจุบันนี้แพทยสภาได้พยายามออกมากระตุ้นให้สูติแพทย์ช่วยกันลดอัตราการผ่าคลอดให้น้อยลงมาอยู่ในเกณฑ์ในมาตรฐานที่กำหนด (ในบ้านเราตอนนี้มีอัตราการผ่าคลอดสูงกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกมาก เนื่องจากมีความเข้าใจผิด ๆ หลายอย่างของคุณแม่และความสะดวกรวดเร็วของแพทย์ในการทำคลอด) แต่ก็ดูเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะแพทย์เองก็ได้ประโยชน์จากการผ่าตัดคลอดเช่นกัน นับตั้งแต่เสียเวลาในการดูแลน้อยกว่า แต่ได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าการคลอดเองมาก

สรุป โดยรวมแล้วการคลอดเองดีกว่าการผ่าคลอด แต่สำหรับคุณแม่ที่จำเป็นต้องผ่าก็ผ่าไปเถอะครับ แต่ถ้าเลือกได้ ผมก็อยากให้คุณแม่ลองคิดถึงสิ่งที่จะตามมาและชั่งน้ำหนักดูครับ

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ.   (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์)”.
  2. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด.  (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ)”.

ภาพประกอบ : www.kidsloverscenter.com, www.healthtap.com, womansvibe.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด