กากหมากตาฤาษี สรรพคุณของต้นกากหมากตาฤาษี ! (ขนุนดิน)

กากหมากตาฤาษี

กากหมากตาฤาษี ชื่อวิทยาศาสตร์ Balanophora fungosa J.R.Forst. & G.Forst. จัดอยู่ในวงศ์ขนุนดิน (BALANOPHORACEAE)[1],[2]

สมุนไพรกากหมากตาฤาษี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เห็ดหิน (เลย), ว่านดอกดิน (สระบุรี), กากหมากตาฤาษี (ตราด), บัวผุด (ชุมพร), ดอกกฤษณารากไม้ (ประจวบคีรีขันธ์), กกหมากพาสี (ภาคเหนือ), ขนุนดิน (ภาคกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของกากหมากตาฤาษี

  • ต้นกากหมากตาฤาษี จัดเป็นพืชเบียน เกาะอาศัยแย่งอาหารจากรากพืชชนิดอื่น มีความสูงได้ประมาณ 10-25 เซนติเมตร ลำต้นอยู่รวมกันเป็นก้อนขนาดใหญ่อยู่ใต้ดิน โดยลำต้นจะมีอยู่หลายสี เช่น สีน้ำตาล สีแดง สีแดงปนน้ำตาล สีเหลือง หรือสีเหลืองปนส้ม[1] มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และทวีปออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยพบขึ้นในป่าดิบชื้นทั่วไป บนเขาสูง ที่ความสูง 500-2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล โดยมักเกาะเบียนพืชในวงศ์ LEGUMINOSAE และพืชในวงศ์ VITACEAE หรือ VITIDACEAE[2]

ต้นขนุนดิน

ต้นกากหมากตาฤาษี

  • ใบกากหมากตาฤาษี ใบเป็นใบเดี่ยว เรียบเวียนรอบลำต้น ใบมีขนาดเล็ก มีประมาณ 10-20 ใบ ใบเป็นสีเหลืองอมส้ม สีเหลืองอมแดง หรือสีน้ำตาล ปลายใบแหลม มีขนาดกว้างมากที่สุดประมาณ 2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3 เซนติเมตร[1],[2]

ใบกากหมากตาฤาษี

  • ดอกกากหมากตาฤาษี ออกดอกเป็นช่อ ดอกเป็นสีแดงอมน้ำตาล มีกลิ่นหอมเอียน ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่คนละต้น ช่อแก่จะชูก้านขึ้นพ้นผิวดินเป็นกลุ่มหรือเป็นกระจุก กลุ่มหนึ่งอาจมีดอกถึง 10 ดอก โดยช่อดอกเพศผู้มีลักษณะเป็นรูปไข่แกมรี มีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-15 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร กาบรองดอกเป็นรูปเหลี่ยมหรือมน ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ดอกมีจำนวนมาก กลีบดอกมีประมาณ 4-5 กลีบ สีเหลืองอมเขียวอ่อน มีขนาดเล็กมาก ดอกเรียงชิดกัน ไม่เบี้ยว กลีบดอกมีขนาดเท่ากัน มีเกสรเพศผู้ 4-5 อัน เชื่อมติดกันเป็นก้อนแบนแคบ ๆ ยาวได้ประมาณ 2.5-5 มิลลิเมตร ตุ่มเกสรเป็นรูปเกือกม้า

ดอกกากหมากตาฤาษี

ขนุนดินเพศผู้

กากหมากตาฤาษีเพศผู้

  • ส่วนช่อดอกเพศเมียจะเป็นสีน้ำตาลอมแดง ลักษณะค่อนข้างกลมหรือรี มีขนาดประมาณ 2-10 เซนติเมตร ดอกเล็กละเอียดจำนวนมากอยู่ชิดกันแน่น ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พบออกดอกนอกฤดูกาลบ้าง แต่ก็ไม่บ่อยนัก[1],[2]

ขนุนดินเพศเมีย

กากหมากตาฤาษีเพศเมีย

สรรพคุณของกากหมากตาฤาษี

  • ทั้งต้นกากหมากตาฤาษี มีรสฝาด แพทย์ตามชนบทจะเอาผลตากแห้ง นำมาฝนกับน้ำฝนบนฝาละมีหม้อดิน ใช้เป็นยาแก้หูเป็นน้ำหนวก แก้แผลเน่าเรื้อรังเป็นอย่างดี (ต้น)[1]
  • ชาวบ้านในแถบตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จะนำหัวของกากหมากตาฤาษี ไปผสมกับสมุนไพรอื่น ๆ ทำเป็นยาแก้หอบหืดมานมนาน ซึ่งว่านับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าทึ่ง เพราะมีรายงานทางด้านการแพทย์ว่า ลำต้นที่มีลักษณะเป็นหัวที่ฝังอยู่ใต้ดินนำมาสกัดได้สารโคนิเฟอริน (coniferin) สามารถใช้ทำยาแก้โรคหอบหืดได้ (ต้น)[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “กากหมากตาฤาษี”.  หน้า 72.
  2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กากหมากตาฤาษี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [18 มิ.ย. 2015].
  3. กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม.  “สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ขนุนดิน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamensis.org.  [18 มิ.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Phimee, marissa, Ahmad Fuad Morad, David Tng, SURAJ Mondol, Siddarth Machado)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด