กัดลิ้น สรรพคุณและประโยชน์ของกัดลิ้น 13 ข้อ ! (ลำไยป่า)

กัดลิ้น สรรพคุณและประโยชน์ของกัดลิ้น 13 ข้อ ! (ลำไยป่า)

กัดลิ้น

กัดลิ้น ชื่อวิทยาศาสตร์ Walsura trichostemon Miq. จัดอยู่ในวงศ์กระท้อน (MELIACEAE)

สมุนไพรกัดลิ้น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แก้วลาว (จันทบุรี), ขี้อ้าย (ลำปาง), ลำไยป่า (อุตรดิตถ์), มะค่าลิ้น (อุตรดิตถ์, ปราจีนบุรี)[1]

ลักษณะของกัดลิ้น

  • ต้นกัดลิ้น หรือ ต้นลำไยป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 5-12 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดแผ่กว้างถึงค่อนข้างกลม[1] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ในประเทศไทยสามารถพบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนต่างประเทศนั้นจะพบได้มากในประเทศพม่าและกัมพูชา[4]
  • ใบกัดลิ้น มีใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยจำนวน 3 ใบ โดยใบย่อยใบกลางจะมีขนาดใหญ่สุด ใบย่อยคู่ข้างจะอยู่ตรงข้ามกัน ส่วนที่เชื่อมกับก้านใบย่อยจะป่องเป็นข้อ ลักษณะใบย่อยเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหม ส่วนโคนใบสอบ ผิวใบด้านบนสีเขียว ส่วนท้องใบสีอ่อนกว่า[1]
  • ดอกกัดลิ้น ออกดอกเป็นช่อแบบแยกแขนงตามปลายกิ่ง มีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อน ๆ ดอกกัดลิ้นมีขนาดเล็ก มีกลบเลี้ยง 5 กลีบมีขนาดเล็กมาก ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมและมีขนสั้น ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นสีขาวนวล ลักษณะกลีบดอกเป็นรูปขอบขนานปลายมน มีความยาวประมาณ 6 เท่าของกลีบเลี้ยง ด้านนอกมีขนสั้น มีเกสรตัวผู้ 10 อัน[1]
  • ผลกัดลิ้น ผลมีลักษณะกลม เมื่อสุกผลจะเป็นสีเหลือง มีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อน ๆ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด โดยเมล็ดมีลักษณะกลม มีเยื่อนุ่ม ๆ หุ้มเมล็ดอยู่[1],[2]

ต้นกัดลิ้น

ลักษณะต้นกัดลิ้น

สรรพคุณของกัดลิ้น

  1. ผลสุกใช้รับประทานเป็นยารักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ (ผลสุก)[3]
  2. ช่วยขับลมในลำไส้ (ราก)[2]
  3. ชาวอีสานใช้กัดลิ้นเป็นส่วนผสมในยารักษาโรคริดสีดวงทวาร (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
  4. กัดลิ้นช่วยห้ามเลือด ใช้ชำระล้างบาดแผล (เปลือก)[2],[4]
  5. ช่วยสมานบาดแผล (เปลือก)[2]
  6. ช่วยรักษาแผลเปื่อย (เนื้อผลสุก)[3]
  7. ช่วยแก้หิดสุกหิดเปื่อย ด้วยการนำมาต้มทั้งเปลือกทั้งแก่นผสมกับยาอื่น (แก่น, เปลือก)[2]
  8. ช่วยบำรุงเส้นเอ็น แก้เส้นเอ็นพิการ (ราก, ต้น)[2],[4]
  9. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย (ราก)[2]

ประโยชน์กัดลิ้น

  • ผลสุกมีรสหวานใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้[3]
  • ผลสุกนำมาใช้ทำส้มตำร่วมกับผลตะโก[2],[5]
  • เนื้อไม้หรือลำต้นใช้สำหรับการก่อสร้าง[2]
  • เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำเป็นฟืนที่ให้ความร้อนสูงได้[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. ข้อมูลพรรณไม้.  สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กัดลิ้น“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [15 พ.ย. 2013].
  2. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “กัดลิ้น ลำไยป่า มะค่าลิ้น“, “กัดลิ้น, มะค่าลิ้น“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [15 พ.ย. 2013].
  3. โรงเรียนน้ำดิบวิทยาคม.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.ndk.ac.th.  [15 พ.ย. 2013].
  4. การสำรวจทรัพยากรป่าไม้เพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี).  “กัดลิ้น“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: inven.dnp9.com.  [15 พ.ย. 2013].
  5. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้พื้นบ้านอีสาน เล่ม 1.  (สุทธิรา ขุมกระโทก).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org.  [15 พ.ย. 2013].

ภาพประกอบ : www.copper.msu.ac.th, www.thaiplantpics.blogspot.com (by วิษณุรักษ์ ศรีบัณฑิต)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด