กัญชาเทศ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกัญชาเทศ 20 ข้อ !

กัญชาเทศ

กัญชาเทศ ชื่อสามัญ Motherworth, Siberian Motherwort, Greasy-bush, Lion’s Tail, Honeyweed เป็นต้น[2]

กัญชาเทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Leonurus sibiricus L. จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[1]

สมุนไพรกัญชาเทศ มีชื่อเรียกอื่นว่า ส่าน้ำ (เลย), กัญชาเทศ (ราชบุรี), ซ้าซา (นครพนม), เอิยะบ่อเช่า (จีนแต้จิ๋ว), อี้หมูเฉ่า (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของกัญชาเทศ

  • ต้นกัญชาเทศ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุประมาณ 1-2 ปี ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 60-180 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยมตั้งตรง แตกกิ่งก้านเล็กน้อย มีขนเล็ก ๆ ขึ้นตามต้น เมื่อออกดอกแล้วต้นจะตาย[1],[2],[3]

ต้นกัญชาเทศ

รูปกัญชาเทศ

  • ใบกัญชาเทศ ใบเป็นใบคู่ คล้ายใบกัญชา แต่มีขนาดใหญ่และหนากว่า ขอบใบหยักตื้นประมาณ 5-9 หยัก ปลายใบแหลม ใบที่อยู่โคนต้นขอบใบจะไม่หยักมากหรือมีขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ก้านใบยาว[1],[2]

ใบกัญชาเทศ

รูปใบกัญชาเทศ

  • ดอกกัญชาเทศ ออกดอกเป็นช่อ ดอกจะออกจากปลายกิ่งหรือง่ามใบ ดอกเป็นสีชมพูม่วงหรือสีม่วงแดง ขนาดเล็ก ปลายกลีบดอกมี 5 หยัก กลีบดอกยาวประมาณ 9-12 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน[1]

ดอกกัญชาเทศ

  • ผลกัญชาเทศ ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก เมื่อสุกจะเป็นสีดำ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม ภายในมีเมล็ด[1],[3]

ผลกัญชาเทศ

เมล็ดกัญชาเทศ

หมายเหตุ : ต้นกัญชาเทศจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ Leonurus sibiricus L. (ใบเล็ก), Leonuras heterophyllus Sweet (ใบใหญ่มีดอกขาว) โดยทั้งสองจะมีสรรพคุณทางยาเหมือนกัน สามารถนำมาใช้แทนกันได้ แต่ในประเทศไทยและจีนจะนิยมใช้ชนิดแรกมากกว่า[1]

สรรพคุณของกัญชาเทศ

  • ทั้งต้นและเมล็ดมีรสหอมขมและเผ็ดเล็กน้อย เป็นยาเย็น มีสรรพคุณเป็นยาบำรุง ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ ฟอกเลือด ช่วยขับลม ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ขับประจำเดือน แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ บรรเทาอาการปวดประจำเดือนเนื่องจากหลอดเลือดของมดลูกมีการอุดตันและเป็นสาเหตุทำให้ปวดประจำเดือน ช่วยแก้อาการปวดท้องหลังคลอดบุตร ช่วยขับน้ำคาวปลาหลังการคลอดบุตร และมีผลทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย รักษาไตอักเสบในเบื้องต้น แก้บวมน้ำ และใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อย โดยส่วนมากจะนิยมใช้ใบมากกว่าราก (ทั้งต้นเหนือดิน)[1],[4],[5]
  • เมล็ดกัญชาเทศมีรสหวานและฉุน ใช้เป็นยาลดความดันโลหิตสูง แก้ประจำเดือนไม่ปกติ[1] ช่วยขับประจำเดือน ขับน้ำเหลืองเสีย และรักษาแผลต่าง ๆ (เมล็ด)[4]
  • รากและใบใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้อาการปวดศีรษะ และเป็นยาขับลม (รากและใบ)[4],[5]
  • ตำรายาพื้นบ้านจะใช้ทั้งต้นที่อยู่เหนือดิน 3-4 กิ่ง เติมน้ำ 3 ถ้วย ต้มพอให้เดือด ใช้ดื่มครั้งละ 1 ถ้วย วันละ 3 ครั้ง เป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ทั้งต้นเหนือดิน)[3]
  • ส่วนการนำมาใช้ภายนอกจะใช้ใบเป็นยารักษาพิษฝีหนองของผิวหนัง (ใบ)[1]

ขนาดและวิธีใช้ : ใช้ครั้งละ 10-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา ส่วนการนำมาใช้ภายนอกสามารถใช้ได้ตามต้องการ[1]

ข้อควรระวัง : สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกัญชาเทศ

  • ในช่วงที่ยังไม่ออกดอกจะมีสารในปริมาณมากกว่าช่วงที่ออกดอกแล้ว โดยสารที่พบในใบกัญชาเทศจะมีสารอัลคาลอยด์ เช่น Leonurine ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นให้มดลูกบีบตัว และมีสาร Stachydrine, Leonuridine, Leonurinine เป็นต้น[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ต้นจะมีน้ำมันหอมระเหย 0.5% มีสารอัลคาลอยด์ leonurine มีลักษณะเป็น amorphous powder สีส้ม, มีสาร iridoids, leonuride ฯลฯ มี flavonoids เช่น apigenin, rutin, quercitin และอื่น ๆ[2]
  • กัญชาเทศ มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ทำให้หลอดเลือดหดตัว ต้านการแข็งตัวของเลือด ยับยั้งการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ[4]
  • น้ำต้มของต้นกัญชาเทศหรือสารสกัดจากแอลกอฮอล์ เมื่อนำมาฉีดเข้าในเส้นเลือดดำของกระต่ายที่นำมาทดลองหรือให้กระต่ายทดลองกิน พบว่ามดลูกของกระต่ายที่อยู่ในร่างกายหรือนอกร่างกาย ล้วนมีการบีบตัวแรงและถี่ขึ้น อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่า น้ำต้มมีประสิทธิภาพในการบีบตัวแรงกว่าสารที่สกัดได้จากแอลกอฮอล์ และยังพบว่าการออกฤทธิ์นั้นคล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิง แต่ประสิทธิภาพจะด้อยกว่า[1]
  • เมื่อใช้สารอัคคาลอยด์ที่ได้จากต้นกัญชาเทศ นำมาฉีดเข้าเส้นเลือดดำของกระต่ายที่นำมาทดลอง พบว่ามีผลทำให้กระต่ายมีการขับปัสสาวะถี่ขึ้น[1]
  • น้ำต้มหรือน้ำแช่ของต้นกัญชาเทศ มีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อแบคทีเรียของโรคผิวหนังได้[1]

ประโยชน์ของกัญชาเทศ

  • ใบยอดอ่อนใช้ต้มหมูบะช่อ[2]
  • ใช้ปลูกเป็นสมุนไพรหรือปลูกประดับทั่วไป
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “กัญชาเทศ”.  หน้า 64.
  2. ไทยเกษตรศาสตร์.  “ข้อมูลของกัญชาเทศ”.  อ้างอิงใน : ศาสตราจารย์พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaikasetsart.com.  [18 มิ.ย. 2015].
  3. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “กัญชาเทศ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [18 มิ.ย. 2015].
  4. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “กัญชาเทศ”.  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th.  [18 มิ.ย. 2015].
  5. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย.  (วุฒิ  วุฒิธรรมเวช).  “กัญชาเทศ”.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Guyra Paraguay, Dongmin Goh, Sylvie, Eduardo Hildt, judymonkey17, Ray Cui)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด