กัญชง
กัญชง ชื่อสามัญ Hemp (เฮมพ์)[2]
กัญชง ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannabis sativa L. subsp. Sativa จัดอยู่ในวงศ์กัญชา (CANNABACEAE)[1]
ลักษณะของกัญชง
- ต้นกัญชง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มีอายุเพียงปีเดียว ลำต้นเป็นสีเขียวตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 1-6 เมตร มีลักษณะอวบน้ำเมื่อเป็นต้นกล้า และจะเริ่มมีการสร้างเนื้อไม้เมื่ออายุได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ การเจริญเติบโตของต้นจะช้าในช่วง 6 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นจะเพิ่มความสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนมีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 3 เมตร มีรากเป็นระบบรากแก้วและมีรากแขนงเป็นจำนวนมาก การปลูกต้นกัญชงจะปลูกด้วยการใช้เมล็ด ซึ่งใช้เวลางอกประมาณ 8-14 วัน และสามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่อต้นอายุ 3-4 เดือน กัญชงเป็นพืชที่มีแหล่งกำเนิดในเอเชียกลางและแพร่กระจายไปสู่เอเชียตะวันออก อินเดีย และในทวีปยุโรป[1],[5]
- ใบกัญชง ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปฝ่ามือ แผ่นใบแก่แยกเป็นแฉกประมาณ 7-9 แฉก การเรียงตัวของใบค่อนข้างห่าง ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยและเว้าลึกจนถึงโคนใบ ปลายใบสอบและเรียวแหลม ก้านใบยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร เมื่อมีการสร้างดอกจำนวนแฉกของใบจะลดลงตามลำดับ[5]
- ดอกกัญชง ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ดอกมีขนาดเล็กสีขาว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่ต่างต้นกัน (บางชนิดอยู่ต้นเดียวกัน แต่ที่พบปลูกในบ้านเราคือชนิดที่อยู่ต่างต้นกัน) โดยช่อดอกเพศผู้จะเป็นแบบ panicle ประกอบไปด้วยกลีบเลี้ยง 5 กลีบ แยกจากกันเป็นอิสระ มีสีเขียวอมเหลือง มีเกสรเพศผู้ 5 อัน มีระยะเวลาการบานประมาณ 2 เดือน (ภาพบน) ส่วนดอกเพศเมียจะเกิดตามซอกใบและปลายยอด ในบริเวณช่อดอกจะอัดกันแน่น ช่อดอกจะเป็นแบบ spike ประกอบไปด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวเข้มหุ้มรังไข่ไว้ ภายใน stigma 2 อัน สีน้ำตาลแดง อายุของดอกค่อนข้างสั้นประมาณ 3-4 สัปดาห์ก็จะติดผล (ภาพล่าง)[5]
- ผลกัญชง ผลเป็นเมล็ดแห้งสีเทา ลักษณะเป็นรูปไข่ ผิวเรียบเป็นมันและมีลายประสีน้ำตาล เมื่อแห้งจะเป็นสีเทา มีขนาดกว้างเฉลี่ยประมาณ 4.47 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5.11 มิลลิเมตร และมีความหนาเฉลี่ยประมาณ 3.75 มิลลิเมตร ภายในเมล็ดมีอาหารสะสมจำพวกแป้งและไขมันอัดกันแน่น โดยมีน้ำมันถึง 29-34%, มีไขมันชนิดไม่อิ่มตัวสูง ประกอบไปด้วย linoleic acid 54-60%, linolenic acid 15-20%, oleic acid 11-13%[5]
กัญชง กับ กัญชา
มีหลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่า ต้นกัญชงก็คือกัญชา แต่แท้จริงแล้วต้นกัญชงแค่มีลักษณะคล้ายคลึงกับต้นกัญชาในด้านลักษณะทางพฤกษศาสตร์เท่านั้น ไม่ใช่พืชที่เป็นสารเสพติดเหมือนกัญชา เพียงแต่ต้นกัญชงเป็นพืชที่นิยมนำมาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการถักทอ[1]
กัญชง และ กัญชา เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากพืชชนิดเดียวกัน โดยมีถิ่นกำเนิดในเขตอบอุ่น ทางตอนใต้ของแคว้นไซบีเรีย ประเทศเปอร์เซีย แคว้นแคชเมียร์ของประเทศอินเดีย และในทางตอนเหนือของประเทศจีน จนได้สายพันธุ์ที่มีความแตกต่างไปจากสายพันธุ์เดิมแล้วเกิดเป็นพืชที่เรียกว่า “กัญชง“[1]
โดยต้นกัญชง (Hemp ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannnabis sativa L. Subsp. sativa) จะมีลำต้นสูงมากกว่า 2 เมตร ปล้องหรือข้อยาว แตกกิ่งก้านน้อยและแตกกิ่งไปในทิศทางเดียวกัน เปลือกเหนียวลอกง่าย ให้เส้นใยยาวคุณภาพสูง แผ่นใบเป็นสีเขียวอมเหลือง ใบมีแฉกประมาณ 7-9 แฉก การเรียงตัวของใบค่อนข้างห่าง เมื่อออกดอกจะมียางที่ช่อดอกไม่มาก เมล็ดมีขนาดใหญ่และเป็นลายบ้าง ผิวเมล็ดหยาบด้าน ใบเมื่อนำมาสูบจะมีกลิ่นหอมน้อย ทำให้ผู้เสพปวดหัว มีสาร tetrahydrocannabinol (THC) น้อยกว่า 0.3% การปลูกระยะห่างระหว่างต้นจะแคบ เพราะปลูกเพื่อต้องการเส้นใยเพียงอย่างเดียว[1],[5]
ในขณะที่ต้นกัญชา (Marijuana ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannabis sativa L. Subsp. indica (Lam.) E. Small & Cronquist) จะมีความสูงไม่ถึง 2 เมตร ปล้องหรือข้อสั้น แตกกิ่งก้านมากและแตกกิ่งเป็นแบบสลับ เปลือกไม่เหนียว ลอกได้ยาก ให้เส้นใยสั้นมีคุณภาพต่ำ แผ่นใบเป็นสีเขียวถึงเขียวจัด ใบมีประมาณ 5-7 แฉก การเรียงตัวของใบจะชิดกัน เมื่อออกดอกจะมียางที่ช่อดอกมาก เมล็ดมีขนาดเล็ก ผิวเมล็ดมันวาว ใบเมื่อนำมาสูบจะมีกลิ่นหอมคล้ายหญ้าแห้ง มีสาร (tetrahydrocannabinol (THC) ประมาณ 1-10% การปลูกระยะห่างระหว่างต้นจะกว้าง เพราะปลูกเพื่อต้องการใบ[1],[5]
สรรพคุณของกัญชง
- ใบมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต (ใบ)[5]
- ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น ช่วยให้นอนหลับสบาย ช่วยรักษาอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะหรือไมเกรน และช่วยแก้กระหาย (ใบ)[5]
- ใช้รักษาโรคท้องร่วง โรคบิด (ใบ)[5]
- ภูมิปัญญาของชาวม้งจะใช้เมล็ดสดเป็นยาสลายนิ่ว โดยนำมาเคี้ยวสด ๆ (เมล็ด)[1]
- ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด คลายกล้ามเนื้อ รักษาโรคเกาต์ (ใบ)[5]
ประโยชน์ของกัญชง
- เปลือกจากลำต้นให้เส้นใยเพื่อนำไปใช้ทำเป็นเส้นด้ายและเชือก ใช้สำหรับการทอผ้า ทำเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ[1] นอกจากนี้ยังใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ และใช้เป็นรองเท้าของคนตายเพื่อเดินทางไปสู่สวรรค์ ใช้ทำเป็นด้ายสายสิญจน์ในพิธีกรรมต่าง ๆ และใช้ในพิธีอัวเน้งหรือพิธีเข้าทรง ซึ่งเป็นงานประเพณีสำคัญของชาวม้ง เส้นใยจากต้นกัญชงนั้นมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนม้ง[4]
- เนื้อของลำต้นที่ลอกเปลือกออกแล้วสามารถนำมาผลิตเป็นกระดาษได้[1]
- แกนของต้นกัญชงจะมีคุณสมบัติในการดูดซับกลิ่น น้ำ หรือน้ำมันได้ดี ในต่างประเทศนิยมนำไปผลิตเป็นพลังงานชีวมวลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ถ่านไม้, Alcohol, Ethanol, Methanol นอกจากนี้ แกนกัญชงยังถูกนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการตกแต่งอาคารและเฟอร์นิเจอร์อีกด้วย[5]
- เมล็ดใช้เป็นอาหารของคนและนก เมล็ดกัญชงที่เก็บได้สามารถนำมาสกัดเอาน้ำมันมาใช้ในการปรุงอาหารได้ ซึ่งจากการศึกษาก็พบว่า ในน้ำมันจากเมล็ดนั้นมีโอเมก้า3 สูงมาก นอกจากนี้ยังมีโอเมก้า 6, โอเมก้า 9, linoleic acid, alpha- และ gamma-linolenic acid และสารในกลุ่มวิตามิน เช่น วิตามินอี ซึ่งเมื่อบริโภคแล้วจะมีประโยชน์ต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด และช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งในร่างกายได้อีกด้วย[1],[2]
- น้ำมันจากเมล็ดสามารถไปผลิตเป็นน้ำมันซักแห้ง ทำสบู่ เครื่องสำอาง ครีมกันแดด แชมพู สบู่ โลชั่นบำรุงผิว ลิปสติก ลิปบาล์ม แผ่นมาส์กหน้า หรือแม้กระทั่งเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง และถูกพัฒนาเป็นตำรับครีมน้ำมันกัญชงที่ให้ความชุ่มชื้นและช่วยบำรุงผิวแห้งเพื่อรักษาโรคผิวแห้งคันและสะเก็ดเงินที่ได้ผลเป็นอย่างดี[2],[5]
- เมล็ดนอกจากจะให้น้ำมันแล้ว ยังพบว่ามีโปรตีนสูงมากอีกด้วย โดยสามารถนำมาใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้มากมาย เช่น เนย ชีส เต้าหู้ โปรตีนเกษตร นม ไอศกรีม น้ำมันสลัด อาหารว่าง อาหารเสริม ฯลฯ หรือผลิตเป็นแป้งทดแทนถั่วเหลืองได้เป็นอย่างดี ซึ่งในอนาคตอาจใช้เป็นทางเลือกในการบริโภคแทนถั่วเหลืองซึ่งเป็นพืช GMOs ก็เป็นได้[1],[5]
- ในส่วนของใบก็สามารถนำไปใช้ทำประโยชน์ได้หลายอย่าง ตั้งแต่เป็นอาหาร ยารักษาโรค เครื่องสำอาง รวมไปถึงการนำใบมาเป็นชาเพื่อสุขภาพ, นำมาเป็นผงผสมกับสารอาหารอื่น ๆ เพื่อผลิตเป็นอาหารเสริม, ผลิตเป็นอาหารโดยตรงอย่างเส้นพาสต้า คุกกี้ หรือขนมปัง, ใช้ทำเบียร์, ไวน์, ซ้อสจิ้มอาหาร ฯลฯ[3],[5] และยังใช้ประโยชน์โดยนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ที่มีคุณสมบัติช่วยดูแลผิวพรรณ ทำให้ผิวชุ่มชื้น เหมาะกับผิวแพ้ง่าย ผิวบอบบาง[5]
- ในประเทศญี่ปุ่นมีการปลูกต้นกัญชงเพื่อกำจัดกัมมันตภาพรังสีให้สลายตัวที่จังหวัด Fugushima และสารกัมมันตภาพรังสีรั่วจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียที่ระเบิดจากสึนามิ ซึมลงดินจนไม่สามารถทำการเกษตรได้[3]
- กัญชงจัดเป็นเส้นใยมงคลที่ชาวญี่ปุ่นนิยมนำมาตัดกิโมโน เพราะเป็นผ้าที่มีความทนทานนับร้อยปี[3]
ประโยชน์ของเส้นใยกัญชง
กัญชงให้ผลผลิตมากกว่าปลูกฝ้าย มีคุณภาพมากกว่า และใช้แรงงานในการปลูกน้อยกว่า เพราะไม่ต้องพรวนดินหรือให้ปุ๋ย ไม่ต้องใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม การเก็บต้นกัญชงมาใช้ประโยชน์ในการผลิตเส้นใยนั้นจะเก็บในระยะที่ต้นเจริญเติบโตเต็มที่แต่ยังไม่ออกดอก แปลงส่วนที่เหลือจะปล่อยไว้ให้ออกดอกและเมล็ดเพื่อใช้ในการทำพันธุ์ต่อไป และเนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น จึงสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี โดยปลูกทีละน้อยเพื่อเก็บรวบรวมไว้ทำเส้นใยทอเป็นผ้า และกว่าจะนำเส้นใยมาทอได้นั้นก็ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การตัดต้นกัญชงมาตากแห้ง แล้วนำมาลอกเปลือกออกจากต้นช่วงที่มีอากาศชื้นหรือหน้าฝน เพราะจะช่วยทำให้การลอกเปลือกเป็นไปอย่างมีคุณภาพไม่ขาดตอน จากนั้นก็นำมาต่อให้ยาวแล้วปั่นและม้วนให้เป็นเส้นก่อนนำไปต้มในน้ำเดือดที่ผสมกับขี้เถ้า เพื่อช่วยให้เส้นใยนุ่มและเหนียว จากนั้นก็นำไปซักในน้ำเปล่า ก็จะได้เส้นด้ายที่มีความเหนียวทนทาน[1]
เส้นใยกัญชงนั้นจัดว่าเป็นเส้นใยที่มีคุณภาพสูงมาก เพราะมีคุณสมบัติที่แข็งแรงกว่าผ้าฝ้าย สามารถดูดซับความชื้นได้ดีกว่าไนลอน และให้ความอบอุ่นยิ่งกว่าลินิน จึงเหมาะนำมาใช้ทำเป็นเครื่องนุ่งห่มเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อสวมในช่วงอากาศร้อนจะให้ความเย็นสบาย ถ้าสวมใส่ในหน้าหนาวจะให้ความอบอุ่น เพราะช่วยดูดความร้อน ดูดกลิ่น และสารพิษจากร่างกายที่ขับออกมาในรูปของเหงื่อได้ดี อีกทั้งผ้าที่ได้ก็บางเบาสวมใส่ได้สบาย ไม่ระคายผิว ให้สัมผัสอ่อนนุ่ม มีความยืดหยุ่นดี ทนทานต่อการซัก ยิ่งซักยิ่งนุ่ม ไม่มีกลิ่นอับชื้นและไม่ขึ้นราแม้อยู่ในที่อับชื้น[1]
งานวิจัยของสถาบันฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประเทศจีน พบว่า ผ้าที่ทอจากเส้นใยกัญชง แม้จะเป็นการทอด้วยเส้นใยกัญชงเพียงครึ่งหนึ่งก็สามารถช่วยป้องกันรังสี UV ได้สูงถึง 95% (ถ้าทอทั้งผืนจะป้องกันได้ 100%) ในขณะที่เสื้อผ้าที่ทอด้วยผ้าประเภทอื่นจะป้องกันรังสี UV ได้เพียง 30-50% เท่านั้น และเส้นใยกัญชงที่ทำให้แห้งสนิทจะมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันไฟฟ้า มีค่าความต้านทานไฟฟ้าที่น้อยที่สุดก็ยังอยู่ที่ 30% ซึ่งมากกว่าเส้นใยฝ้าย ส่วนการทดสอบผ้าที่ทอด้วยเส้นใยกัญชงในสภาพความร้อนสูงถึง 370 องศาเซลเซียส ก็พบว่าไม่ได้ทำให้คุณสมบัติด้านสีเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ดังนั้นมันจึงเหมาะที่จะนำมาผลิตเป็นกระโจมพักแรม ชุดคลุมสำหรับผู้ปฏิบัติงานเฉพาะกิจ วัสดุตกแต่งภายใน และอื่น ๆ อีกมากมาย พร้อมกันนี้ภายในเส้นใยมีออกซิเจนขังอยู่ตามรูต่าง ๆ มากพอสมควร จึงทำให้แบคทีเรียประเภท Anaerobic Bacteria ไม่สามารถเติบโตได้ นอกจากนี้เส้นใยกัญชงยังมีส่วนประกอบของสารที่เอื้อประโยชน์กับสุขภาพ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ จะไม่มีโรคพืชหรือแมลงชนิดใดที่สามารถทำลายต้นกัญชงได้เลย เนื้อสด ๆ ที่ห่อด้วยผ้าทอจากเส้นใยกัญชงจะคงความสดและอยู่ได้นานมากกว่าเป็นสองเท่าของปกติ รองเท้าที่ทำจากเส้นใยกัญชง จะป้องกันเท้าของคุณจากโรคเหน็บชาและโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราได้ และยังช่วยป้องกันสัตว์พิษกัดต่อยได้เป็นอย่างดี, ไส้กรอกที่ไม่ได้ห่อหุ้มอย่างมิดชิดด้วยผ้ากัญชงมักจะเน่าเสียได้โดยง่าย, วัสดุสำหรับธนบัตรมักทำมาจากเส้นใยกัญชง ฯลฯ ผลิตภัณฑ์ที่ทอจากเส้นใยกัญชงจึงเป็น “สินค้าปกป้องสิ่งแวดล้อม” และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนยุคใหม่ที่รักษาและห่วงใยธรรมชาติอย่างแท้จริง[3]
โดยได้มีการทำนายไว้ว่า ในอนาคตเส้นใยจากธรรมชาติเหล่านี้จะเข้ามาทดแทนเส้นใยเคมีทั้งหมดในอนาคต เนื่องจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ส่วนประโยชน์อื่น ๆ ของเส้นใยกัญชงก็เช่น ใช้ฟั่นเป็นเชือก, ใช้ทำเสื้อเกราะกันกระสุน, ทำกระเป๋าหรือรองเท้า, เฟอร์นิเจอร์, ซีเมนต์, วัสดุบอร์ด, อุตสาหกรรมหนัก, ชิ้นส่วนเครื่องยนต์, ข้อต่อจักรยาน, วัสดุทดแทนไม้เนื้อแข็ง, ฉนวนกันความร้อน, วัสดุกันความชื้น, แม้พิมพ์, พรม ฯลฯ[1],[5]
อนาคตของกัญชง
ในปัจจุบันประเทศไทยยังจำแนกกัญชงเป็นพืชเสพติดประเภท 5 เช่นเดียวกับกัญชา ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เนื่องจากสารสำคัญที่มีอยู่ในพืชกลุ่มนี้ คือ tetrahydrocannabinol (THC), Cannabinol (CBN) และ Cannabidiol (CBD) ซึ่ง THC เป็นสารเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาททำให้ผู้เสพมีอาการตื่นเต้น ช่างพูด หัวเราะตลอดเวลา ส่วนสาร CBD เป็นสารต้านการออกฤทธิ์ของสาร THC ซึ่งในกัญชงนั้นจะมีปริมาณของสาร THC ต่ำมาก และมีปริมาณของสาร CDB สูงกว่าสาร THC ส่วนกัญชานั้นจะมีปริมาณของสาร THC สูง (ประมาณ 1-10%) และปริมาณของสาร THC ก็ยังมากกว่า CBD อีกด้วย[2]
จึงทำให้ในหลาย ๆ ประเทศอนุญาตให้มีการปลูกต้นกัญชงได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ต้องควบคุมไม่ให้พืชที่ปลูกมีสารเสพติด (THC) สูงกว่าปริมาณที่กำหนด อย่างในประเทศทางยุโรปจะกำหนดให้มีสาร THC ในกัญชงได้ไม่เกิน 0.2% ส่วนในประเทศแคนาดากำหนดให้มีไม่เกิน 0.3% และในประเทศออสเตรเลียกำหนดให้มีไม่เกิน 0.5-1% เป็นต้น แต่สำหรับประเทศไทยนั้นยังไม่มีเกณฑ์หรือมาตรการควบคุม เพราะสภาพแวดล้อมที่ปลูกนั้นมีผลต่อปริมาณของสาร THC โดยตรง และจากสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยที่ค่อนข้างร้อนจึงอาจทำให้ปริมาณของสาร THC ในกัญชงที่ปลูกนั้นมีปริมาณค่อนข้างสูง[2]
ซึ่งจากการศึกษาของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ ที่ได้ทำการทดลองปลูกต้นกัญชงจำนวน 9 สายพันธุ์ โดยคัดเลือกสายพันธุ์ท้องถิ่นและสายพันธุ์จากต่างประเทศ ทำการปลูกใน 6 สภาพแวดล้อมและที่ระดับความสูงต่างกัน และปลูกในเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นช่วงที่มีแสงแดดจัดและช่วงยาว ผลการทดลองพบว่า กัญชงทุกสายพันธุ์ที่นำมาปลูกจะมีปริมาณของสาร THC และ CBD เพิ่มขึ้นด้วยเมื่อต้นมีอายุมากขึ้นและจะมีมากที่สุดในระยะออกดอก (ดอกและใบเพศผู้จะมีปริมาณสูงสุด) โดยต้นกัญชงที่มีอายุ 60 วัน จะมีสาร THC 0.550-0.722%, ต้นอายุ 90 วัน จะมีสาร THC 0.754-0.939% มี CBD 0.361-0.480%, ต้นที่อยู่ในระยะออกดอกจะมีสาร THC 1.035-1.142% มี CBD 0.446-0.509% และผลการทดลองยังพบว่า ปริมาณของสาร THC นั้นจะมีแนวโน้มลดลงเมื่อพื้นที่ปลูกมีความสูงจากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น โดยสรุปคือปริมาณของสาร THC จะมีความสัมพันธ์กับอายุของต้น ความสูงของพื้นที่ที่เพาะปลูก สายพันธุ์ที่ใช้ปลูก และความยาวของเส้นรอบวงของลำต้น ส่วนปริมาณของสาร CBD จะมีความสัมพันธ์กับอายุของต้น ความสูงของพื้นที่ที่เพาะปลูก และสายพันธุ์ที่ใช้ปลูกเท่านั้น (ข้อมูลจาก : ประภัสสร ทิพย์รัตน์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข)
ด้วยเหตุนี้จึงอาจทำให้กัญชงที่ปลูกนั้นเป็นพืชที่ให้สารเสพติดไม่ต่างจากกัญชา แต่ในอนาคตก็ไม่แน่นะครับ ประเทศไทยอาจมีการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกต้นกัญชงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายก็เป็นได้ครับ เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจสำหรับอุตสาหกรรมเส้นใย อาหารและเครื่องสำอาง ที่สามารถทำรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล[2]
เอกสารอ้างอิง
- สำนักงานเกษตรอำเภอพบพระ จังหวัดตาก. “มารู้จัก “กัญชง” กันเถอะ…”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.tak.doae.go.th. [20 มิ.ย. 2015].
- ผู้จัดการออนไลน์. “สวยปิ๊ง! ด้วย “กัญชงจากกัญชา” ผลงานวิจัย จาก มช.”. ( ทีมนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th. [20 มิ.ย. 2015].
- พันทิปดอทคอม. “ความมหัศจรรย์ของผ้าทอจากเส้นใยต้นกัญชง”. (by ตาลโตน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : pantip.com. [20 มิ.ย. 2015].
- สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ (NNT). “ททท.ตาก ร่วมกับอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ นำพี่น้องชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง โชว์อลังการทอผ้าใยกัญชง สืบสานวัฒนธรรมชาวม้ง บูชาเทพเจ้า หรือ เย่อโซ๊ะ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : thainews.prd.go.th. [20 มิ.ย. 2015].
- ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน). “เฮมพ์ (กัญชง)”. เข้าถึงได้จาก : www.sacict.net. [20 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by M a n u e l, wolmuts)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)