กะพวมมะพร้าว
กะพวมมะพร้าว ชื่อวิทยาศาสตร์ Vernonia arborea Buch.-Ham. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[2]
สมุนไพรกะพวมมะพร้าว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หนาดจืด (คนเมือง), จวง อ้ายเหนียวหมา (นครศรีธรรมราช), นวลแป้ง (สุราษฎร์ธานี), ตอนเลาะ (กระบี่), สมองกุ้ง (ตรัง), กะพวมมะพร้าว กะพอมมะพร้าว (สงขลา), ขี้อ้น (ยะลา), กะพวม งวงช้าง (ภาคใต้) เป็นต้น[1],[2],[3]
ลักษณะของกะพวมมะพร้าว
- ต้นกะพวมมะพร้าว จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงได้ประมาณ 7-15 เมตร เปลือกต้นเป็นสีขาว ตามกิ่งอ่อนมีขนสีเหลือง จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือวิธีการตอนกิ่ง มีเขตการกระจายพันธุ์ในเทือกเขาหิมาลัยตอนใต้ อินเดีย ศรีลังกา และในภูมิภาคมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบได้ทางภาคเหนือและภาคใต้ โดยมักพบขึ้นตามป่าดิบ ทุ่งหญ้าคา และบริเวณฝั่งน้ำทั่วไป[1],[2]
- ใบกะพวมมะพร้าว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรี ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบเป็นรูปลิ่มหรือสอบเข้ากัน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ส่วนด้านล่างมีขน หรือมีขนขึ้นตามเส้นใบ เส้นแขนงใบมีข้างละ 8-13 เส้น ก้านใบยาวได้ประมาณ 1-2 เซนติเมตร[2]
- ดอกกะพวมมะพร้าว ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่นบริเวณปลายยอด มีหลายช่ออยู่รวมกันเป็นช่อแยกแขนง ในแต่ละช่อจะมีวงใบประดับ 5-6 ชั้น ลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ มีขนที่ปลาย มีขนาดกว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร มี 5-6 ดอก กลีบเลี้ยงลดรูปเป็นเส้นยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ที่ปลายเส้นมีขนยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร 2-3 เส้น ดอกเป็นสีขาวหรือสีม่วง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนปลายจักเป็น 5 จัก มีเกสรเพศผู้ 5 อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ[2]
- ผลกะพวมมะพร้าว ผลเป็นรูปกิ่งสามเหลี่ยม ผลยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มีสันตามยาว 10 สัน ผิวผลเกลี้ยงหรือมีขนนุ่มห่าง ๆ[2] รยางค์เป็นสีขาวหม่น ๆ มักเรียงกันเป็นวง 2 วง โดยวงในจะยาวกว่าวงนอก ยาวได้ประมาณ 5-7 มิลลิเมตร[1]
สรรพคุณของกะพวมมะพร้าว
- ใบใช้เป็นยาชงดื่ม มีฤทธิ์เป็นยาช่วยย่อยและเป็นยากระตุ้น (ใบ)[1] ส่วนในมาเลเซียจะใช้ยาชงจากทั้งต้นกะพวมมะพร้าว เป็นยาช่วยย่อย (ทั้งต้น)[2]
- อินโดนีเซียจะใช้เปลือกเคี้ยวเป็นยาบำบัดโรคริดสีดวงทวารหนักในระยะเริ่มแรก (เปลือก)[2]
- ลำต้นนำไปต้มรวมกับปูเลย เถารางจืด และกิ่งเปล้าน้อย ใช้เป็นยาห่มให้สตรีหลังคลอดบุตรที่อยู่ไฟ (ลำต้น)[3]
- คนเมืองจะใช้ลำต้นนำมาฝนกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการผิดเดือน (ลำต้น)[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “กะพวมมะพร้าว”. หน้า 50-51.
- ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กะพวมมะพร้าว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [21 มิ.ย. 2015].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “กะพวมมะพร้าว”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [21 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Zaharil Dzulkafly, Ahmad Fuad Morad, Siddarth Machado, Cerlin Ng)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)