กวาวเครือแดง สรรพคุณและประโยชน์ของกวาวเครือแดง 26 ข้อ !

กวาวเครือแดง

กวาวเครือแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Butea superba Roxb. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE) เช่นเดียวกับกวาวเครือขาว

สมุนไพรกวาวเครือแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กวาวเครือ กวาวหัว ตานจอมทอง จานเครือ จอมทอง ไพมือ ไพ้ตะกุ เป็นต้น โดยกวาวเครือแดงจะมีหัวอยู่ใต้ดิน ลักษณะของหัวเป็นรูปทรงกระบอก มีหลากหลายขนาด เมื่อสะกิดที่เปลือกจะมียางสีแดงข้นลักษณะคล้ายเลือดไหลออกมา[1]

กวาวเครือแดงจัดเป็นไม้เถายืนต้นขนาดใหญ่ อายุยิ่งมากเท่าไหร่ เถาก็จะยิ่งใหญ่และกลายเป็นต้น แต่ยังส่งเถาเลื้อยไปพาดพันตามต้นไม้ที่อยู่ในบริเวณใกล้ ๆ ลักษณะของใบคล้ายใบทองกวาว แต่ใบจะใหญ่กว่ามาก แต่ถ้าเป็นใบอ่อนจะมีขนาดเท่ากับใบพลวงหรือใบของต้นสัก ส่วนต้นหากใช้มีดฟันจะมียางสีแดงคล้ายโลหิตออกมา หากขุดโคนต้น ก็จะพบรากขนาดใหญ่เท่าน่องขาเลื้อยออกมาจากต้นโดยรอบ มีความยาวประมาณ 2 วา ขึ้นอยู่กับอายุและขนาดของลำต้น สมุนไพรชนิดนี้จะพบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศ ไล่ตั้งแต่ชายแดนไทย-พม่าตรงถึงภาคเหนือ เป็นไม้ที่ชอบขึ้นตามภูเขาสูง และในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธุ์ จะออกดอกเป็นดอกสีส้มเหลืองคล้ายดอกทองกวาวบานสะพรั่งอยู่บนยอดดอย แต่ในปัจจุบันใช่ว่าจะหาได้ง่ายนัก เพราะมีไม่มากเท่ากวาวเครือขาว[8]

ลักษณะกวาวเครือแดง

ต้นกวาวเครือแดง

ใบกวาวเครือแดง

รูปดอกกวาวเครือแดง

สมุนไพรกวาวเครือแดง เป็นสมุนไพรสำหรับเพศชายอย่างแท้จริง เพราะมีสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ และที่สำคัญที่สุดยังช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ช่วยเพิ่มจำนวนของอสุจิ มีฤทธิ์เพิ่มความแข็งตัวของอวัยวะเพศ เช่นเดียวกับยาไวอากรา

ว่านกวาวเครือแดง

สรรพคุณของกวาวเครือแดง

  1. หัวกวาวเครือแดง มีรสเย็นเบื่อเมา ช่วยบำรุงสุขภาพร่างกาย และใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (หัว)[1]
  2. ช่วยทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายมีอายุยืนยาวขึ้น ช่วยทำให้ร่างกายและเนื้อเยื่อเสื่อมช้าลง[4]
  3. ผลช่วยเจริญธาตุไฟในร่างกาย (ผล)[3]
  4. ช่วยบำรุงผิวพรรณ บำรุงสุขภาพเนื้อหนังให้เต่งตึง (หัว)[1]
  5. ช่วยทำให้หน้าอกโต (หัว)[1]
  6. ช่วยบำรุงกำหนัดหรือเพิ่มความต้องการทางเพศ ช่วยเพิ่มจำนวนของอสุจิ มีฤทธิ์เพิ่มความแข็งตัวของอวัยวะเพศ เช่นเดียวกับฤทธิ์ของซิลเดนาฟิล ซิเตรต (Sidenal Citrate) ของยาไวอากรา (Viagra) (หัว)[1],[2]
  7. กวาวเครือแดงมีคุณสมบัติช่วยบำรุงหลอดเลือด ทำให้เลือดหมุนเวียน (หัว)[4]
  8. ใบและรากกวาวเครือแดงช่วยทำให้นอนหลับและเสพติด (ราก, ใบ)[3]
  9. ช่วยบำรุงสายตา (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
  10. รากและต้นช่วยแก้โลหิต (ราก[1], ต้น[3])
  1. รากช่วยแก้ลมอัมพาต (ราก[1], ต้น[3])
  2. ช่วยแก้อาการปวดฟัน (เปลือก)[3]
  3. ช่วยแก้ไข้ (เปลือก, ทั้ง 5 ส่วน)[3]
  4. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ทั้ง 5 ส่วน)[3]
  5. ช่วยขับเสมหะ (เปลือก)[3]
  6. ช่วยแก้อาการจุกเสียด แก้อาการลงท้อง แก้สะพั้น (ผล)[3]
  7. ช่วยแก้ตัวพยาธิ (ผล)[3]
  8. ช่วยแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย (หัว)[1]
  9. เปลือกเถากวาวเครือแดงมีรสเย็นเบื่อเมา ช่วยแก้พิษงู (เปลือกเถา)[1]
  10. กวาวเครือแดงจัดอยู่ในตำรับยาสมุนไพร “พิกัดเนาวโลหะ” ซึ่งประกอบไปด้วย รากกวาวเครือแดง รากขันทองพยาบาท รากทองกวาว รากทองพันชั่ง รากทองโหลง รากทองหลางหนาม รากทองหลางใบมน รากใบทอง และรากจำปาทอง โดยเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้เสมหะ แก้ลม ลมที่เป็นพิษ ดับพิษ ช่วยชำระล้างลำไส้ สมานลำไส้ แก้โรคดี แก้โรคตับ แก้ริดสีดวงทวาร และขับระดูร้าย[1]
  11. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ระบุว่ากวาวเครือแดงมีฤทธิ์เหมือนเอสโตรเจน ช่วยกดการทำงานของหัวใจ ทำให้หลอดเลือดหดตัว เพิ่มความดันโลหิต และช่วยกระตุ้นการหายใจ[3]
  12. สำหรับสรรพคุณอื่น ๆ ของกวาวเครือแดง ซึ่งเป็นข้อมูลจากผู้จำหน่ายสมุนไพรกวาวเครือแดงสำเร็จรูป ได้แก่ ปรับสมดุลของฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone) ลดความอ้วน ลดไขมันในเส้นเลือด ช่วยรักษาโรคเส้นเลือดอุดตัน จึงช่วยรักษาโรคหัวใจบางชนิดได้ เพราะไปช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ช่วยทำให้ผมดกดำ[8] ทำให้ผมขาวกลับมาเปลี่ยนเป็นสีเทาและสีดำตามลำดับ ช่วยบำรุงประสาทและสมอง ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ช่วยเสริมสร้างแคลเซียมในการสร้างกระดูก ช่วยป้องกันโรคต่อมลูกหมากโต ป้องกันมะเร็งในต่อมลูกหมาก และยังช่วยลดเลือนริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่าหัวกวาวเครือแดงมีสาร Flavonoids (วิตามินพี) ในปริมาณสูง ซึ่งมีประโยชน์ในด้านเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมการทำงานของหลอดเลือดในร่างกาย และช่วยต่อต้านเซลล์มะเร็ง (ซึ่งส่วนนี้ผู้เขียนยังหาข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุนไม่ได้ว่ามีสรรพคุณเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่ากวาวเครือมีอยู่ด้วยกันถึง 4 ชนิด จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดการสับสนในเรื่องสรรพคุณและทำให้เข้าใจผิดได้ ดังนั้นคุณควรใช้วิจารณญาณกันเอาเองนะครับ)

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกวาวเครือแดง

  • ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของสมุนไพรกวาวเครือแดง มีฤทธิ์เหมือนเอสโตรเจน ช่วยกดการทำงานของหัวใจ ช่วยทำให้หลอดเลือดหดตัว เพิ่มความดันโลหิต และช่วยกระตุ้นการหายใจ[3]
  • จากการศึกษาทางเภสัชวิทยาของฤทธิ์ต่อระบบสืบพันธุ์ในสัตว์ทดลอง พบว่าหนูแรทตัวผู้ที่ได้รับกวาวเครือแดงในรูปแบบผงป่นละลายน้ำเข้มข้น 0.5 และ 5 มก./มล. ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ พบว่าหนูแรทมีน้ำหนักตัวและปริมาณของอสุจิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนหนูแรทที่ได้รับกวาวเครือแดงในรูปแบบสารสกัดเอทานอล พบว่าความยาวขององคชาติเพิ่มขึ้น ทำให้หนูมีพฤติกรรมการสืบพันธุ์เพิ่มมากขึ้น และเมื่อศึกษาต่อไปอีก 6 สัปดาห์ พบว่าหนูที่ได้รับกวาวเครือแดงแบบผงป่นละลายน้ำ มีน้ำหนักสัมพัทธ์ของ Seminal Vesicles ต่อมลูกหมาก ความยาวขององคชาติ และพฤติกรรมการสืบพันธุ์เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนูที่ได้รับกวาวเครือแดงในรูปของสารสกัดเอทานอล กลับมีน้ำหนักสัมพัทธ์ของ Seminal Vesicles ลดลง และเมื่อศึกษาไปในระยะยาวและในปริมาณของสารสกัดที่เพิ่มมากขึ้นก็พบว่าระดับฮอร์โมน Testosterone ลดลง และมีปริมาณเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้น ดังนั้นการรับประทานในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เกิดพิษต่อตับได้ (พิชานันท์ ลีแก้ว, 2553, โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ, จุลสารข้อมูลสมุนไพร)[1]
  • การศึกษาทางคลินิกของฤทธิ์ต่อระบบสืบพันธุ์ในอาสาสมัครที่มีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศอย่างน้อย 6 เดือน เมื่อรับประทานกวาวเครือแดงแคปซูล (ในขนาด 250 มิลลิกรัมต่อแคปซูล วันละ 4 แคปซูล) เป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่าอาสาสมัครมีสมรรถภาพทางเพศที่ดีขึ้นสูงถึง 82.4% จึงกล่าวได้ว่ากวาวเครือแดงสามารถช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศได้ และไม่พบการเกิดพิษแต่อย่างใด (พิชานันท์ ลีแก้ว, 2553, โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ, จุลสารข้อมูลสมุนไพร)[1]
  • การศึกษาพิษเรื้อรังของกวาวเครือแดง ได้มีการทดลองในหนูขาวพันธุ์วิสตาร์ทั้งตัวผู้และตัวเมียเป็นระยะเวลา 6 เดือน ผลการทดลองพบว่าการให้ผงกวาวเครือแดงขนาด 10 มก./กก. ต่อวัน พบว่าไม่มีพิษต่อค่าทางโลหิตวิทยา ค่าทางชีวเคมีและพยาธิสภาพของอวัยวะภายใน ส่วนหนูทดลองที่ได้รับในปริมาณมากกว่า 100 มก./กก. ต่อวัน พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของค่าโลหิตวิทยา ค่าทางชีวเคมีและพยาธิสภาพของอวัยวะภายใน โดยเฉพาะในหนูทดลองที่ได้รับผงกวาวเครือขนาดสูงสุด (1,000 มก./กก. ต่อวัน) พบว่ามีระดับเอนไซม์ Aspartate aminotransferase, Alanine aminotransferase, Alkaline phosphatase และ bilirubin ซึ่งแสดงถึงการทำงานของตับเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ และจากการตรวจสอบทางจุลพยาธิก็พบว่าเกิดความผิดปกติในตับหนูอย่างมีนัยสำคัญ จากผลการทดลองจึงพบว่าการให้ผงกวาวเครือแดงในขนาด 250 มก./กก. ต่อวันหรือมากกว่านั้นจะทำให้เกิดพยาธิสภาพของอวัยวะภายในของหนูโดยเฉพาะที่ตับ[7]

สมุนไพรกวาวเครือแดง

ประโยชน์กวาวเครือแดง

  1. มีการใช้กวาวเครือแดงเพื่อทำเป็นยาคุมกำเนิดสำหรับสัตว์[1]
  2. ใบกวาวเครือแดงมีขนาดใหญ่มาก จึงสามารถนำมาใช้ห่อข้าวแทนใบตองได้[8]
  3. มีการนำสมุนไพรกวาวเครือแดงมาทำเป็นแชมพู สูตรทำให้เส้นผมแข็งแรง ป้องกันการหลุดร่วงของเส้นผม ป้องกันผมหงอกก่อนวัย เนื่องจากกวาวเครือแดงเป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงหลอดเลือด ทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดี จึงสามารถนำสารอาหารไปหล่อเลี้ยงรากผมได้ดี และเมื่อใช้ผสมกับสมุนไพรกวาวเครือขาวที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงเรื่องหนังศีรษะทำให้มีน้ำหล่อเลี้ยงแบบธรรมชาติ แถมยังช่วยลดอาการคันหนังศีรษะและรังแคอันเกิดจากหนังศีรษะแห้งได้อีกด้วย และเมื่อนำมาใช้ทำเป็นแชมพูก็จะยิ่งทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว[4],[5]
  4. ปัจจุบันมีการนำสมุนไพรกวาวเครือแดงไปผลิตหรือแปรรูปเป็นยาสมุนไพรอย่างหลากหลาย เช่น ครีมกวาวเครือแดง, สบู่กวาวเครือแดง, ยากวาวเครือแดง, เจลกวาวเครือแดง, กวาวเครือแดงแคปซูล, ครีมนวดกวาวเครือแดง เป็นต้น

คำแนะนำและข้อควรระวัง

  • กวาวเครือเป็นสมุนไพรที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ จึงถูกขึ้นบัญชีเป็นสมุนไพรควบคุมประกาศของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2549 เพื่อจำกัดการครอบครองในกรณีที่ขุดจากป่าและเพาะปลูกเอง เมื่อขุดแล้วต้องปลูกทดแทน โดยผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยหรือหมอพื้นบ้าน (40-120 กิโลกรัม) หรือหน่วยงานศึกษาวิจัยต่าง ๆ (80-240 กิโลกรัม) โรงงานอุตสาหกรรม (400-1,200 กิโลกรัม) และสำหรับเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไป (20-60 กิโลกรัม) สามารถครอบครองสมุนไพรควบคุมดังกล่าวได้ในปริมาณตามที่ระบุไว้ในประกาศตาม พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บ. หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นการนำสมุนไพรกวาวเครือทุกชนิดมาใช้จึงต้องคำนึงถึงกฎหมายด้วย และควรได้รับการแนะนำจากแพทย์แผนไทย แม้ว่าปริมาณที่รับประทานจะปลอดภัยมากกว่ายาไวอากราก็ตาม[2]
  • ตามข้อกำหนดขององค์การอาหารและยาของประเทศไทย (อย.) ระบุขนาดการรับประทานสมุนไพรกวาวเครือแดงไม่ควรเกินวันละ 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน[1]
  • สำหรับผู้ที่เป็นโรคตับหรือโรคหัวใจไม่ควรรับประทาน หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้สมุนไพรชนิดนี้[1]
  • ผลข้างเคียงกวาวเครือแดง ตามตำราสมุนไพรไทยระบุไว้ว่า กวาวเครือชนิดหัวแดงนี้มีพิษมาก ปกติแล้วจะไม่นิยมนำมาทำเป็นยาสมุนไพร เพราะการรับประทานในปริมาณมากเกินไปอาจจะทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้ เช่น อาจมีอาการมึนเมา มีอาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น[1]
  • สมุนไพรกวาวเครือแดงมีพิษเมามากกว่าสมุนไพรกวาวเครือขาว[1]
  • การรับประทานกวาวเครือแดงในปริมาณที่มากเกินไปอาจจะทำให้เกิดพิษต่อตับ หรือทำให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ได้[1]
  • การรับประทานกวาวเครือแบบชง ตามตำรับยาพื้นบ้านของภาคเหนือ ระบุว่าให้รับประทานกวาวเครือแดงวันละ 2 ใน 3 ส่วนของเมล็ดพริกไทย หรือรับประทานเท่าขนาดของเมล็ดมะกล่ำใหญ่[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [16 ต.ค. 2013].
  2. มูลนิธิสุขภาพไทย.  “กวาวเครือแดงแรงฤทธิ์ ข่าวดีสำหรับบุรุษ“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org.  [16 ต.ค. 2013].
  3. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.  สมุนไพรในร้านขายยา.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.msu.ac.th.  [16 ต.ค. 2013].
  4. กิจการวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  “กวาวเครือ ใช่แค่อึ๋มปึ๋งปั๋งยังบํารุงเส้นผม“.  (รศ.ดร.วิชัย เชิดชีวศาสตร์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.research.chula.ac.th.  [16 ต.ค. 2013].
  5. โรงเรียนมัธยมบึงปรือ.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: school.obec.go.th/mattayommb.  [16 ต.ค. 2013].
  6. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th.  [16 ต.ค. 2013].
  7. สถาบันวิจัยสมุนไพร.  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์.  “พิษเรื้อรังของกวาวเครือแดง“.  ทรงพล ชีวะพัฒน์, ปราณี ชวลิตธำรง, สมเกียรติ ปัญญามัง, สดุดี รัตนจรัสโรจน์, เรวดี บุตราภรณ์
  8. กวาวเครือ ยอดสมุนไพรไทย“.  (สันยาสี).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.sanyasi.org.  [16 ต.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual), www.magnoliathailand.com (by จางซันฟง), www.flickr.com (by geetaarun)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด