กล้วยค่าง
กล้วยค่าง ชื่อวิทยาศาสตร์ Orophea enterocarpa Maingay ex Hook.f. & Thomson จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1]
สมุนไพรกล้วยค่าง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จิงกล้อม (ชุมพร), พริกนก (ตรัง), กล้วยค่าง (ปราจีนบุรี), มะป่วน (ภาคกลาง), ดีปลีต้น, ปีบผล เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของกล้วยค่าง
- ต้นกล้วยค่าง จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 2-4 เมตร ลำต้นเดี่ยว กิ่งแตกแขนงเป็นพุ่มโปร่ง เปลือกต้นหนา ผิวเรียบ เป็นสีน้ำตาลคล้ำเกือบดำ ตามกิ่งอ่อนมีขนขึ้นประปราย สามารถออกดอกและผลได้ตลอดทั้งปี พรรณไม้ชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในมาเลเซีย ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์ทางภาคใต้และทางภาคตะวันออก โดยจะพบขึ้นในป่าดิบชื้น[1],[2]
- ใบกล้วยค่าง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-4.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบบาง เส้นแขนงใบมีข้างละ 6-10 เส้น ก้านใบสั้น ยาวได้เพียง 2 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกกล้วยค่าง ออกดอกเป็นช่อกระจุกประมาณ 2-3 ดอก แต่จะเหลือดอกบานติดช่ออยู่เพียงดอกเดียว โดยจะออกเหนือง่ามซอกใบเล็กน้อย ก้านช่อดอกเรียวเล็ก มีขนสั้นขึ้นประปราย ยาวได้ประมาณ 2-3 เซนติเมตร ใบประดับเรียว ยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ส่วนก้านดอกเรียวเล็ก ยาวได้ประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่ ปลายเรียว ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกออกเรียงสลับกันเป็น 2 ชั้น มีชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกชั้นในยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายกลีบแผ่กว้างคล้ายช้อน จรดกันเป็นรูปโคม ด้านในเป็นสีแดงคล้ำหรือสีแดงอมม่วง ส่วนกลีบดอกชั้นนอกเป็นสีขาวนวลอมเหลือง ลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.3-1.5 เซนติเมตร ด้านนอกมีขนขึ้นประปราย ดอกมีเกสรเพศผู้ 12 อัน แต่ไม่สมบูรณ์ 6 อัน ล้อมรอบเกสรเพศเมียที่มีอยู่ 6 อัน ซึ่งอยู่แยกกัน[1],[2]
- ผลกล้วยค่าง ออกผลเป็นกลุ่ม แต่ละผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก คอดกิ่วระหว่างเมล็ด ผลมีขนาดยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-8 มิลลิเมตร ผลเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง[1]
สรรพคุณของกล้วยค่าง
- ชาวเขมร-ส่วย สุรินทร์ ตามชนบท จะนิยมใช้เปลือกเนื้อไม้ของต้นกล้วยค่าง เป็นยาขับมุตกิตระดูขาวของสตรี ช่วยแก้เลือดร้ายในเรือนไฟหลังสตรีคลอดบุตร (เปลือกเนื้อไม้)[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “กล้วยค่าง”. หน้า 63.
- ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กล้วยค่าง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [24 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Zaharil Dzulkafly)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)