กลึงกล่อม สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกลึงกล่อม 8 ข้อ !

กลึงกล่อม สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกลึงกล่อม 8 ข้อ !

กลึงกล่อม

กลึงกล่อม ชื่อวิทยาศาสตร์ Polyalthia suberosa (Roxb.) Thwaites จัดอยู่ในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE)[1]

สมุนไพรกลึงกล่อม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า น้ำน้อย (เลย), ไคร้น้ำ (อุตรดิตถ์), กำจาย (นครสวรรค์), กระทุ่มกลอง กระทุ่มคลอง กลึงกล่อม ชั่งกลอง ท้องคลอง (ราชบุรี), ช่องกลอง (กาญจนบุรี), มงจาม (อ่างทอง), น้ำนอง (ปัตตานี, ภาคใต้), จิงกล่อม (ภาคใต้), ผักจ้ำ มะจ้ำ (ภาคเหนือ) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของกลึงกล่อม

  • ต้นกลึงกล่อม จัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 2-5 เมตร แตกกิ่งต่ำ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ตามกิ่งแก่ขนาดใหญ่และเปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลเข้ม ผิวเปลือกมักย่นเป็นสันนูนขรุขระ ไม่เป็นระเบียบ กิ่งอ่อนมีขนขึ้นประปราย ส่วนกิ่งแก่จะเกลี้ยง ตามกิ่งก้านมีช่องระบายอากาศเป็นตุ่มสีขาวหรือสีเทาอมชมพูขนาดเล็กกระจัดกระจายทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะกล้าจากเมล็ด เป็นไม้เติบโตช้า ชอบน้ำปานกลาง แสงแดดน้อย มีสถานภาพเป็นไม้นอกประเภทหวงห้าม มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีนตอนใต้ อินเดียตอนใต้ ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่ทางภาคใต้จะพบได้ค่อนข้างน้อยกว่าภาคอื่น ๆ โดยมักพบขึ้นตามที่โล่งที่เป็นดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี ตามป่าเปิด ป่าเบญจพรรณ พื้นที่โล่งบริเวณชายป่า ตามพื้นที่ราบลุ่มที่มีน้ำท่วมเป็นครั้งคราว หรือตามฝั่งแม่น้ำลำคลอง[1],[2],[3],[5]

ต้นกลึงกล่อม

  • ใบกลึงกล่อม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรียาว รูปขอบขนาน หรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบเป็นติ่งแหลมสั้น ๆ โคนใบสอบและเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบแต่มักย่นเป็นคลื่นหรือม้วนงอขึ้นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.7-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบเกลี้ยงเป็นมัน หรืออาจมีขนสั้น ๆ เหลืออยู่ตามเส้นกลางใบ ท้องใบจะมีสีเขียวนวล เส้นแขนงใบมีข้างละ 7-8 เส้น ก้านใบสั้น ยาวได้ประมาณ 1-3 มิลลิเมตร ใบแห้งด้านบนจะเป็นสีเทา ส่วนด้านล่างจะเป็นสีน้ำตาลอ่อน[1],[2],[3]

ใบกลึงกล่อม

รูปใบกลึงกล่อม

  • ดอกกลึงกล่อม ออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามกิ่ง ออกตรงข้ามหรือเยื้องกับใบใกล้ปลายยอด หรือออกเหนือง่ามใบเล็กน้อย ดอกมีกลิ่นหอม เป็นสีเหลืองห้อยลง กลีบเลี้ยงดอกมี 3 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่ ด้านนอกมีขน ส่วนกลีบดอกนั้นเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอมน้ำตาล มี 6 กลีบ กลีบดอกจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบเลี้ยง เรียงสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบดอกชั้นนอกจะมี 3 กลีบ มีขนาดเล็กสั้นกว่ากลีบดอกชั้นใน และกลีบดอกชั้นในมี 3 กลีบ ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และใหญ่กว่ากลีบดอกชั้นนอก กลีบด้านนอกมีขนขึ้นประปราย มีเกสรเพศผู้ขนาดเล็กจำนวนมาก อยู่ชิดกันแน่นเป็นพุ่มกลม ก้านชูดอกมีสีแดง ลักษณะเรียวยาว ยาวประมาณ 1.3-3.2 เซนติเมตร มีใบประดับเล็ก ๆ ติดอยู่ใกล้โคนก้าน เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.6 เซนติเมตร[1],[2],[3]

ดอกกลึงกล่อม

  • ผลกลึงกล่อม ออกผลเป็นกลุ่ม มีจำนวนมาก ประมาณ 25-35 ผลย่อยต่อกลุ่ม มีหลายผลอยู่บนแกนตุ้มกลาง ก้านช่อผลยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ผลย่อยมีลักษณะเป็นรูปทรงรีหรือกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 มิลลิเมตร ผลเป็นผลสดและมีเนื้อ ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มจนถึงสีม่วงดำ ก้านผลยาวประมาณ 0.7-1.2 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดเดียวต่อ 1 ผลย่อย หรือบางผลอาจมีเมล็ด 2 เมล็ด เมล็ดจะมีลักษณะเป็นรูปรี มีสีน้ำตาล มีดอกและผลเกือบตลอดทั้งปี[1],[2],[3],[5]

รูปกลึงกล่อม

ผลกึงกล่อม

สรรพคุณของกลึงกล่อม

  • รากและเนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ (รากและเนื้อไม้)[2],[4]
  • ใช้เป็นยาขับพิษ ขับพิษภายใน แก้น้ำเหลือง (รากและเนื้อไม้)[2],[4]
  • ใบและกิ่งมีสาร suberosol ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อโรคเอดส์ (HIV) ในหลอดทดลอง (ใบและกิ่ง)[1],[2],[4]

ประโยชน์ของกลึงกล่อม

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับให้ร่มเงาทั่วไปสำหรับบ้านขนาดเล็ก เพื่อช่วยบังแดดให้กับห้องทางด้านใต้และหรือทางตะวันตก ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าปรับอากาศไปได้มาก อีกทั้งผลยังดูสวยงามน่ารักและเป็นอาหารนกได้ด้วย[2],[5]
  • ยอดอ่อน ผลอ่อน ใช้รับประทานเป็นผักสด หรือนำไปต้มรับประทานร่วมกับน้ำพริก[6] ทางอาหารสำหรับชาวล้านนานั้นจะนิยมนำผักกลึงกล่อมมาเป็นส่วนผสมของอาหารประเภทส้า เช่น ส้าผัก ส้าผักรวม หรือใช้เป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกหรือลาบ (ศรีวรรณ จำรัส, 2550, สัมภาษณ์)
  • ผลสุกรับประทานได้ สัตว์ป่าชอบกินนัก[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “กลึงกล่อม (Klueng Klom)”.  หน้า 39.
  2. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กลึงกล่อม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm.  [23 มิ.ย. 2015].
  3. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กลึงกล่อม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [23 มิ.ย. 2015].
  4. พืชสมุนไพรโตนงาช้าง.  “กลึงกล่อม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/.  [23 มิ.ย. 2015].
  5. เว็บไซต์ท่องไทยแลนด์ดอทคอม.  “กลึงกล่อม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thongthailand.com.  [23 มิ.ย. 2015].
  6. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “น้ำนอง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [23 มิ.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Keith Bradley), www.gotoknow.org (by Mookda Suksawat), www.qsbg.org

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด