กรุ๊ปเลือด
กรุ๊ปเลือด, กรุ๊ปโลหิต, หมู่เลือด หรือหมู่โลหิต (Blood group หรือ Blood type) คือ ตัวบ่งบอกความแตกต่างของเลือด ซึ่งสามารถทราบได้จากการเจาะเลือด โดยดูจากสารที่มีชื่อว่า “แอนติเจน” (Antigens) เป็นสำคัญ การทราบกรุ๊ปเลือดของตัวเองถือเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรรู้ เนื่องจากจะช่วยให้แพทย์ให้ความช่วยเหลือได้อย่างทันทีเมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายเลือด (Blood Transfusion)
ปกติแล้วเลือดของมนุษย์จะมีส่วนประกอบ ได้แก่ เซลล์เม็ดเลือดแดง (Red Rlood Cells), เซลล์เม็ดเลือดขาว (White Blood Cells), เกล็ดเลือด (Platelets) และพลาสมาหรือน้ำเลือด (Plasma) โดยความแตกต่างของเลือดที่นำมาระบุกรุ๊ปเลือดจะดูจากสาร 2 ชนิด คือ แอนติเจน (Antigens) และแอนติบอดี (Antibodies) ในเลือด โดยแอนติเจนนั้นคือโมเลกุลของโปรตีนที่พบอยู่ผิวบริเวณด้านนอกของเซลล์เม็ดเลือดแดง ส่วนแอนติบอดีจะมีอยู่ในพลาสมาหรือน้ำเลือด
ทั้งนี้ ความแตกต่างของแอนติเจนในแต่ละคนจะถูกถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม หากพ่อหรือแม่มีกรุ๊ปเลือดใด เด็กก็จะมีกรุ๊ปเลือดเหมือนพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง
ความสำคัญของการทราบกรุ๊ปเลือด
- ใช้เป็นหลักในการพิจารณาหาเลือดที่เหมาะสมและเข้ากันได้กับผู้ป่วยที่ต้องได้รับเลือดเพื่อการรักษาภาวะผิดปกติของร่างกาย เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงจากการรับเลือด กล่าวคือ เมื่อเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุฉุกเฉินจะทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยต้องเข้ารับการเปลี่ยนถ่ายเลือด (ไม่ว่าจะเป็นในระหว่างการผ่าตัดหรือการเข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะ) ซึ่งหากผู้ป่วยไม่ทราบกรุ๊ปเลือดของตัวเองหรือแจ้งกรุ๊ปเลือดผิดก็อาจส่งผลอันตรายต่อผู้ป่วยได้ (เช่น ผู้ป่วยมีเลือดกรุ๊ปบี แต่ได้รับเลือดกรุ๊ปเอ แอนติบอดีชนิดเอที่อยู่ในน้ำเลือดของผู้ให้จะไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดที่มีแอนติเจนชนิดเอของผู้รับ)
- กรุ๊ปเลือดมีความสำคัญต่อหญิงตั้งครรภ์หรือผู้วางแผนจะตั้งครรภ์ เพราะแพทย์จะได้พร้อมรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ได้ เพราะหากแม่มีกรุ๊ปเลือดอาร์เอชลบ แต่พ่อมีกรุ๊ปเลือดอาร์เอชบวก ทารกอาจมีแนวโน้มที่จะมีกรุ๊ปเลือดชนิดอาร์เอชบวกและมีโอกาสเสียชีวิตในครรภ์ได้ ทำให้แม่ต้องรับยา Rh immunoglobulin (RhoGAM) เพื่อป้องกันไม่ให้แม่สร้างแอนติบอดีที่ไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดของทารกในกรณีที่เลือดของแม่และเด็กเกิดการผสมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์
- ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ กรุ๊ปเลือดถูกนำมาใช้เพื่อระบุความเกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรมถึงความเป็นพ่อแม่ลูกกันและใช้ศึกษาการสืบเชื้อสายของเหล่าพันธุ์ได้ อีกทั้งยังใช้ในการช่วยระบุตัวคนร้ายในกรณีที่เกิดเหตุอาชญากรรมได้ด้วย
ชนิดของกรุ๊ปเลือด
ในปัจจุบันมีระบบกรุ๊ปเลือดอยู่ 32 ระบบ แต่ระบบที่มีความสำคัญจะมีอยู่ 2 ระบบใหญ่ ๆ ได้แก่
- กรุ๊ปเลือดระบบเอบีโอ (ABO system หรือ ABO blood group system) เป็นระบบที่นิยมใช้กันมากและสำคัญที่สุด โดยจะกำหนดกรุ๊ปเลือดได้จากการตรวจหาชนิดของแอนติเจน (สารก่อภูมิต้านทาน) และแอนติบอดี (สารภูมิต้านทาน) จากเลือด ซึ่งจะแบ่งกรุ๊ปเลือดออกเป็น 4 กรุ๊ป คือ
- กรุ๊ปเลือด A คือ กรุ๊ปเลือดที่มีแอนติเจนชนิดเอ (A Antigens) ที่เซลล์เม็ดเลือดแดง และมีสารแอนติบอดีชนิดแอนติ-บี (Anti-B) ในพลาสมา ในคนไทยพบกรุ๊ปเลือดนี้ประมาณ 22%
- กรุ๊ปเลือด B คือ กรุ๊ปเลือดที่มีแอนติเจนชนิดบี (B Antigens) ที่เซลล์เม็ดเลือดแดง และมีสารแอนติบอดีชนิดแอนติ-เอ (Anti-A) ในพลาสมา ในคนไทยพบกรุ๊ปเลือดนี้ประมาณ 33%
- กรุ๊ปเลือด O คือ กรุ๊ปเลือดที่ไม่มีแอนติเจนที่เซลล์เม็ดเลือดแดง แต่มีแอนติบอดีทั้งชนิดแอนติ-เอ (Anti-A) และชนิดแอนติ-บี (Anti-B) ในพลาสมา ในคนไทยพบกรุ๊ปเลือดนี้ได้มากที่สุดประมาณ 22%
- กรุ๊ปเลือด AB คือ กรุ๊ปเลือดที่มีแอนติเจนทั้งชนิดเอ (A Antigens) และชนิดบี (B Antigens) ที่เซลล์เม็ดเลือดแดง แต่ไม่มีแอนติบอดีชนิดแอนติ-เอ (Anti-A) และชนิดแอนติ-บี (Anti-B) ในพลาสมา ในคนไทยพบกรุ๊ปเลือดนี้ได้น้อยที่สุดประมาณ 8%
- กรุ๊ปเลือดระบบอาร์เอช หรือรีซัส (Rh system หรือ Rh (Rhesus) blood group system) เป็นระบบกรุ๊ปเลือดสำคัญรองจากระบบเอบีโอ ซึ่งประกอบไปด้วยแอนติเจนที่มีความสำคัญทางคลินิก 5 ชนิด คือ แอนติเจนดีใหญ่ (D), แอนติเจนซีใหญ่ (C), แอนติเจนอีใหญ่ (E), แอนติเจนซีเล็ก (c), แอนติเจนอีเล็ก (e) และแอนติเจนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแต่ไม่ค่อยมีความสำคัญทางคลินิกอีก 46 ชนิด แต่แอนติเจนตัวสำคัญที่เป็นตัวบ่งบอกชนิดของกรุ๊ปเลือดระบบอาร์เอชคือ แอนติเจนชนิดดีใหญ่ (D) ซึ่งจะแบ่งออกได้เป็น 2 กรุ๊ป (เมื่อเอ่ยถึงอาร์เอชบวกหรืออาร์เอชลบนั้นจะหมายถึงเฉพาะแอนติเจนชนิดดีใหญ่) คือ
- กรุ๊ปเลือดอาร์เอชบวก (Rh+ หรือ Rh Positive) ผู้ที่มีกรุ๊ปเลือดดังกล่าวจะมีแอนติเจน-ดีใหญ่ (Antigen-D) อยู่ที่ผิวของเซลล์เม็ดเลือดแดง สามารถรับเลือดได้ทั้งชนิดอาร์เอชบวก (Rh+) และอาร์เอชลบ (Rh-) ซึ่งในคนไทยส่วนใหญ่จะมีกรุ๊ปเลือดอาร์เอช (D) บวกนี้ประมาณ 99.7%
- กรุ๊ปเลือดอาร์เอชลบ (Rh- หรือ Rh Negative) ผู้ที่มีกรุ๊ปเลือดนี้จะไม่มีแอนติเจน-ดีใหญ่ (Antigen-D) อยู่ที่ผิวของเซลล์เม็ดเลือดแดง สามารถรับเลือดได้แค่เพียงชนิดอาร์เอชลบ (Rh-) เท่านั้น และในคนไทยพบผู้ที่มีเลือดนี้เพียง 0.3% ซึ่งเราเรียกว่าเป็น “กรุ๊ปเลือดหายาก” หรือ “กรุ๊ปเลือดพิเศษ”
ดังนั้น กรุ๊ปเลือดระบบอาร์เอชจึงแบ่งการกรุ๊ปเลือดออกเป็น 8 กรุ๊ป ดังนี้
- กรุ๊ปเลือดเอ อาร์เอชบวก (A+)
- กรุ๊ปเลือดเอ อาร์เอชลบ (A-)
- กรุ๊ปเลือดบี อาร์เอชบวก (B+)
- กรุ๊ปเลือดบี อาร์เอชลบ (B-)
- กรุ๊ปเลือดโอ อาร์เอชบวก (O+)
- กรุ๊ปเลือดโอ อาร์เอชลบ (O-) เป็นกรุ๊ปเลือดที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกกรุ๊ปเลือด เพราะเข้ากันได้กับทุกกรุ๊ปเลือด จึงมักถูกนำไปใช้ในกรณีฉุกเฉินเมื่อแพทย์ไม่ทราบกรุ๊ปเลือดของผู้ป่วย
- กรุ๊ปเลือดเอบี อาร์เอชบวก (AB+)
- กรุ๊ปเลือดเอบี อาร์เอชลบ (AB-)
การตรวจกรุ๊ปเลือด
การตรวจกรุ๊ปเลือดคือวิธีที่ช่วยให้ทราบกรุ๊ปเลือดของตนเองได้อย่างถูกต้องที่สุด โดยในการตรวจกรุ๊ปเลือดนั้นมักจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยต้องได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือดหรือหลังจากการบริจาคเลือด โดยนำตัวอย่างของเลือดที่ได้จากการบริจาคไปตรวจด้วยวิธีการคัดแยกกรุ๊ปเลือด อย่างไรก็ตาม หากบุคคลทั่วไปต้องการทราบกรุ๊ปเลือดของตนเองก็สามารถเข้ารับการตรวจได้เลย
- ขั้นตอนในการตรวจกรุ๊ปเลือด การตรวจกรุ๊ปเลือดจะเหมือนกับการตรวจเลือดทั่วไป แต่จะแตกต่างกันตรงที่ผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องงดน้ำงดอาหารก่อนตรวจแต่อย่างใด สามารถเข้ารับการตรวจได้เลย
- ขั้นตอนการตรวจจะเริ่มจาก พยาบาลรัดต้นแขนด้วยสายรัดหรือยางยืดเพื่อให้เห็นเส้นเลือดดำได้ชัดเจนมากขึ้นและทำให้ง่ายต่อการใช้เข็มเจาะลงไปที่เส้นเลือดดำ
- จากนั้นพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเจาะเลือดจะนำสำลีชุปแอลกอฮอล์มาเช็ดบริเวณที่จะเจาะเลือด และนำเข็มที่ผ่านการฆ่าเชื้อเจาะลงไปยังบริเวณดังกล่าวเพื่อเก็บตัวอย่างเลือด (แต่ถ้าเจาะแล้วไม่ได้เลือดตามที่ต้องการก็อาจจะต้องเปลี่ยนบริเวณที่เจาะและเปลี่ยนเข็มเจาะเลือดใหม่)
- ในขณะที่เก็บตัวอย่างเลือด พยาบาลจะปลดรายรัดที่ต้นแขนออก เมื่อได้ปริมาณเลือดตามที่ต้องการแล้วพยาบาลจำนำเข็มออก และปิดทับบริเวณที่เจาะเลือดด้วยสำลีหรือพลาสเตอร์ปิดแผล
- จากนั้นพยาบาลจะแนะนำให้ผู้เข้ารับการตรวจเลือดไปนั่งรอผลการตรวจต่อไป
- การตรวจกรุ๊ปเลือดระบบอาร์เอชจะทำโดยใช้น้ำยาแอนติบอดี-ดีใหญ่ เพราะเม็ดเลือดแดงที่เป็นอาร์เอชบวกส่วนใหญ่เมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำยาตัวนี้จะเกิดปฏิกิริยาจับกลุ่มหรือเกิดการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดงให้เห็นชัดเจนทันที แต่ถ้าไม่เกิดการจับกลุ่มจะถือว่าบุคคลนั้นมีกรุ๊ปเลือดอาร์เอชลบ (ไม่มีแอนติเจน-ดีใหญ่)
- ผลข้างเคียงจากการตรวจกรุ๊ปเลือด โดยปกติแล้วการตรวจกรุ๊ปเลือดเป็นวิธีที่ไม่มีอันตราย แต่ก็อาจพบความผลข้างเคียงได้บ้างเล็กน้อย เช่น การเกิดรอยฟกช้ำบริเวณที่เจาะเลือด, เกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือเป็นลม, เกิดหลอดเลือดบวมอักเสบหลังจากเจาะเลือดในบางราย หรือเลือดอาจไหลไม่หยุดในผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดหรือได้รับประทานยาแอสไพริน ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย หากผู้เข้ารับการตรวจมีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของเลือดหรือมีประวัติเคยเกิดรอยฟกช้ำได้ง่ายหรือเส้นเลือดดำบวมอักเสบ ก็ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบก่อนเสมอ เพื่อที่จะได้เพิ่มความระมัดระวังในการเจาะเลือดให้มากขึ้น
การถ่ายทอดกรุ๊ปเลือดระบบเอบีโอของพ่อแม่ลูกที่เป็นไปได้
พ่อและแม่จะถ่ายทอดกรุ๊ปเลือดระบบเอบีโอให้ลูกเป็นกรุ๊ปเลือดได้ดังตารางด้านล่างนี้
O + O|O เท่านั้น
O + A|O หรือ A
O + B|O หรือ B
O + AB|A หรือ B
A + A|A หรือ O
A + B|O, A, B หรือ AB
A + AB|A, B หรือ AB
B + B|B หรือ O
B +AB|A, B หรือ AB
AB + AB|A, B หรือ AB
กรุ๊ปเลือดที่เข้ากันได้
ความแตกต่างกันของแอนติเจนในเลือดทำให้ผู้ที่มีความแตกต่างกันของกรุ๊ปเลือดบางกรุ๊ปจะไม่สามารถรับเลือดของกรุ๊ปอื่นได้ แต่บางกรุ๊ปก็สามารถรับเลือดของกรุ๊ปเลือดอื่นได้ โดยผู้ที่มีกรุ๊ปเลือดในแต่ละกรุ๊ปหากมีความจำเป็นต้องได้รับเลือด แพทย์จะพิจารณาให้เลือดที่ตรงกับกรุ๊ปเลือดของผู้ป่วยก่อนเป็นอันดับแรก ยกเว้นในกรณีฉุกเฉินหรือไม่สามารถหาเลือดที่ตรงกับผู้ป่วยได้ แพทย์จะใช้หลักการให้เลือดที่เมื่อให้เข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยแล้ว เม็ดเลือดแดงจะต้องไม่มีแอนติเจน (สารก่อภูมิต้านทาน) ที่ตรงกับแอนติบอดี (สารภูมิต้านทาน) ที่ผู้ป่วยมี เพราะจะทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างกันแล้วเม็ดเลือดแดงนั้นจะถูกทำลายไป ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยกรุ๊ปเบือดเอที่มีเอนติเจนเอและมีแอนติบอดีบี จะรับเลือดกรุ๊ปบีที่มีแอนติเจนบีไม่ได้ เพราะจะทำปฏิกิริยากับแอนติบอดีบีของผู้ป่วยจนเม็ดเลือดแดงผู้ป่วยถูกทำลาย
โดยกรุ๊ปเลือดที่สามารถให้เลือดหรือพลาสมากันได้จะเป็นไปตามตารางด้านล่างนี้
- ตารางความเข้ากันได้ของเม็ดเลือดแดง
- ตารางความเข้ากันได้ของพลาสมา
ข้อสังเกตุ : ในธนาคารเลือดทั่วไปจะมีการสำรองส่วนประกอบของเลือดที่เป็นเม็ดเลือดแดงของกรุ๊ปเลือดโอเอาไว้ไม่ให้หาด เพราะคนกรุ๊ปเลือดโอจะสามารถให้เม็ดเลือดแดงแก่คนกรุ๊ปเลือดอื่นได้ทุกกรุ๊ป แต่จะรับเม็ดเลือดแดงได้จากคนกรุ๊ปเลือดโอเท่านั้น และจะพยายามสำรองส่วนประกอบของเลือดที่เป็นพลาสมาของกรุ๊ปเลือดเอบีเอาไว้สำหรับผู้ป่วยกรุ๊ปเลือดเอบี เพราะคนกรุ๊ปเลือดเอบีจะสามารถให้พลาสมากับคนกรุ๊ปเลือดอื่นได้ทุกกรุ๊ป แต่จะรับพลาสมาจากคนกรุ๊ปเลือดเอบีได้เท่านั้น
การทราบชนิดของกรุ๊ปเลือดระบบเอบีโอและระบบอาร์เอชของตนเอง รวมทั้งของบุคคลในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากมีความจำเป็นต้องใช้เลือดในการรักษาพยาบาลก็จะสามารถช่วยเหลือกันได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในผู้มีกรุ๊ปเลือดที่หายาก
เอกสารอ้างอิง
- หาหมอดอทคอม. “หมู่เลือด หมู่โลหิต (Blood group)”. (ผศ.พญ.จินตนา พัวไพโรจน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [23 ส.ค. 2018].
- พบแพทย์ดอทคอม. “ไขความลับเรื่องกรุ๊ปเลือด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com. [23 ส.ค. 2018].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)