กริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

กริซีโอฟุลวิน

กริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin) เป็นยาที่ทำมาจากเชื้อรา Penicillium griseofulvum มีฤทธิ์ในการยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อรา (ออกฤทธิ์ได้เฉพาะเชื้อราที่กำลังแบ่งตัว) จึงถูกนำมาใช้เป็นยาต้านเชื้อราทั้งในมนุษย์และสัตว์ สำหรับมนุษย์มักนำมาใช้รักษาอาการติดเชื้อราที่ผิวหนังและเล็บมือเล็บเท้า

องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ยากริซีโอฟุลวินเป็นยาจำเป็นสำหรับระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐาน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยากริซีโอฟุลวินลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจัดอยู่ในหมวดหมู่ของยาอันตราย และอยู่ในประเภท Pregnancy Category C (ระดับความปลอดภัยในคนท้อง) เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาและใช้ยาให้ตรงกับวัตถุประสงค์การรักษาจึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ให้การรักษาเท่านั้น

ตัวอย่างยากริซีโอฟุลวิน

ยากริซีโอฟุลวิน (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น ออเฟน (Aofen), บริฟุลวิน (Brifulvin), ดาวิน (Davin), ฟูซิน (Fucin), ฟูกา (Fuga), ฟูกาเฟก (Fugafec), ฟุลวิน (Fulvin), ฟุลวินเบเมด (Fulvinbemed), ฟังจิวิน (Fungivin), ฟันเซวิน (Funsevin), ฟูโซวิน (Fusovin), จี-125 (G-125), จี-500 (จี-500), กราโอวิน (Graovin), กราเวียร์ (Gravier), เกรวิน (Grevin), กริฟุลวิน (Grifulvin), กริแม็กซ์ (Grimax), กริมิกซ์ (Grimix), กริซีโอ-500 (Griseo-500), กริซีโอฟุลวิน แอคฮอน (Griseofulvin Acdhon), กริซีโอฟุลวิน ชิว บราเทอร์ส (Griseofulvin Chew Brothers), กริซีโอฟุลวิน พิกโค (Griseofulvin Picco), กริซีโอฟุลวิน พอนด์ส เคมีคอล (Griseofulvin Pond’s Chemical), กริซีโอฟุลวิน ที แมน (Griseofulvin T Man), กริซีโอ-เมด (Griseo-Med), กริสฟลาวิน (Grisflavin), กริซิน (Grisin), กริโซ (Griso), กริโซเวกซ์ (Grisovex), กริซอน (Grison), กริสตาร์ (Gristar), กริสวิน ฟอร์ต (Grisvin forte), กริวิน (Grivin), เค.บี. เด็กซ์โตร (K.B. dextro), เค.บี. วิเนซิน (K.B. Vinecin), เมด-ฟุลวิน (Med-fulvin), มัยโควิน (Mycovin), มัยโคซิล (Mycoxyl), นีโอฟุลวิน (Neofulvin), ซีปฟูล (Seapful), เซโตวิน (Setovin), ชอรส์ เดฟุลวิน (Shor’s defulvin), นิวฟุลวิน (Newfulvin), ทริวาเน็กซ์ (Trivanex) ฯลฯ

รูปแบบยากริซีโอฟุลวิน

  • ยาเม็ด ขนาด 125, 250 และ 500 มิลลิกรัม
  • ยาน้ำ ขนาด 125 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา)

กริซีโอฟุลวิน
IMAGE SOURCE : www.risingpharma.com, www.hellotrade.com

griseofulvinคือยาอะไร
IMAGE SOURCE : www.medscape.com

สรรพคุณของยากริซีโอฟุลวิน

  • ใช้รักษาโรคกลากหรือเชื้อราที่ผิวหนังหรือทั่วตัว เช่น หนังศีรษะ เครา หนวด และลำคอ ขาหนีบ เท้า เล็บมือเล็บเท้า
  • อาจใช้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ ได้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร

กลไกการออกฤทธิ์ของยากริซีโอฟุลวิน

กริซีโอฟุลวินจะมีกลไกออกฤทธิ์ คือ ตัวยาจะยับยั้งการแบ่งเซลล์ของเชื้อราในระยะที่เรียกว่าเมตะเฟส (Metaphase) อีกทั้งยานี้ยังเข้าไปรวมกับเคราติน (Keratin) ที่ผิวหนังของผู้ป่วย ทำให้ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับเชื้อรามีความคงทนและต่อต้านการติดเชื้อราได้ (ยากริซีโอฟุลวินจะออกฤทธิ์ครอบคุลมเชื้อได้แคบมากและครอบคลุมได้เฉพาะกับเชื้อที่กำลังแบ่งตัวเท่านั้น กล่าวคือ ตัวยาจะยับยั้งได้เฉพาะเชื้อในกลุ่มเดอร์มาโตไฟต์ (Dermatophyte) ที่ติดเชื้อเฉพาะผิวหนังเท่านั้น ยาจะไม่มีฤทธิ์ต่อเชื้อกลุ่มแคนดิดา (Candida spp.) รวมทั้งเชื้อราอื่น ๆ เช่น Aspergillus spp. และ Cryptococcus neoformans)

ผงยากริซีโอฟุลวินจะมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ Microsize (เส้นผ่าศูนย์กลางของ Particle 4 มิลลิเมตร) และ Ultramicrosize (ส่วนใหญ่ขนาด Particle มีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร) ตัวยาจะถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดี การรับประทานยานี้พร้อมกับอาหารที่มีไขมันสูงจะช่วยเพิ่มการดูดซึมของยาเป็น 2 เท่า โดยยาจะกระจายตัวไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น ตับ ไขมัน และกล้ามเนื้อลาย รวมทั้งผิวหนังได้ดี

สำหรับการดูดซึมของยานี้พบว่า การดูดซึมจากทางเดินอาหารมีช่วงที่กว้างมาก คือ 25-70% ระดับยาในกระแสเลือดจะเพิ่มขึ้นสูงสุดโดยใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงหลังการรับประทาน ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ร่างกายจะต้องจะใช้เวลาประมาณ 9-21 ชั่วโมง ในการกำจัดปริมาณยาประมาณ 50% ในกระแสเลือดออกจากร่างโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ก่อนใช้ยากริซีโอฟุลวิน

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยากริซีโอฟุลวิน สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยากริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin), เพนิซิลลิน (Penicillin) และยาอื่น ๆ รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยากริซีโอฟุลวินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยากริซีโอฟุลวินร่วมกับยาแก้ปวด ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) จะทำให้เพิ่มความเป็นพิษกับตับ หากไม่มีความจำเป็นใด ๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกัน
    • การใช้ยากริซีโอฟุลวินร่วมกับยารักษาโรคลมชัก เช่น ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital) จะทำให้ลดการดูดซึมของยารักษาโรคลมชักจากระบบทางเดินอาหาร หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับขนาดการรับประทานยาเป็นกรณี ๆ ไป
    • การใช้ยากริซีโอฟุลวินร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) จะทำให้ลดระดับยาต้านการแข็งตัวของเลือดในเลือด
    • การใช้ยากริซีโอฟุลวินร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด เช่น เอสตร้าไดออล (Estradiol), นอร์อิทิสเตอโรน (Norethisterone / Norethindrone) อาจทำให้ระดับความเข้มข้นของยาคุมกำเนิดในกระแสเลือดลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้มีเลือดออกหรือเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้ เพราะฉะนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกัน
    • การใช้ยากริซีโอฟุลวินร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหน้าแดง หัวใจเต้นเร็ว เพราะฉะนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงและห้ามใช้ยานี้ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์
  • เป็นหรือเคยเป็นโรคตับ โรคเอสแอลอี (SLE) โรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria) หรือเคยมีประวัติการติดแอลกอฮอล์
  • มีการใช้ยาคุมกำเนิด หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) หรือยากันชักในกลุ่มบาร์บิทูเรต (Barbiturate) เช่น ฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital) หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • มีการตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านรกหรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก จนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยากริซีโอฟุลวิน

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ในหญิงตั้งครรภ์ ส่วนในหญิงที่ให้นมบุตรควรระมัดระวังในการใช้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับหรือมีภาวะตับวาย ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี ผู้ที่ติดเชื้อ Candida albican
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว มีอาการหน้าแดง และเพิ่มฤทธิ์ของแอลกอฮอล์
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาแก้ปวด ยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) เพราะจะทำให้เพิ่มความเป็นพิษกับตับ
  • ไม่ควรใช้ยานี้ร่วมกับยาในกลุ่มบาร์บิทูเรต (Barbiturate) เช่น ฟิโนบาร์บิทอล (Phenobarbital) เนื่องจากยากลุ่มนี้อาจต้านฤทธิ์ของยากริซีโอฟุลวิน
  • ไม่ควรใช้ยานี้ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด เนื่องจากยานี้อาจลดประสิทธิผลของยาเม็ดคุมกำเนิด ทำให้เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ได้
  • ในผู้ชายที่รับประทานยากริซีโอฟุลวิน ควรคุมกำเนิดหรืองดเว้นการมีบุตรออกไปอย่างน้อย 6 เดือนหลังการหยุดยา เนื่องจากยานี้อาจทำให้เชื้ออสุจิผิดปกติได้
  • ควรหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดหรือแสงจากหลอดไฟฟ้าเมื่อใช้ยานี้
  • ในระหว่างที่ใช้ยานี้ควรระวังเรื่องการขับขี่ยานพาหนะ ขับรถ ขับเรือ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือของมีคม เนื่องจากยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น สับสน วิงเวียน อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ

วิธีใช้ยากริซีโอฟุลวิน

  • ใช้รักษากลากที่ศีรษะ (Tinea capitis) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 500 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้ง และให้รับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ (อาจให้ถึง 8-12 สัปดาห์)
  • ใช้รักษากลากที่เครา หนวด และลำคอ (Tinea barbae) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 500 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้ง และให้รับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์
  • ใช้รักษากลากที่ผิวหนังหรือลำตัว (Tinea corporis) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 500 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้ง และให้รับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์
  • ใช้รักษากลากที่ขาหนีบ หรือ สังคัง (Tinea cruris) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 500 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้ง และให้รับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์
  • ใช้รักษากลากที่เท้า หรือ ฮ่องกงฟุต (Tinea pedis) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 1,000 มิลลิกรัม โดยแบ่งให้วันละ 2-4 ครั้ง และให้รับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์
  • ใช้รักษากลากที่เล็บมือ (Onychomycosis – Fingernail) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 1,000 มิลลิกรัม โดยแบ่งให้วันละ 2-4 ครั้ง และให้รับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 4 เดือนขึ้นไป โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
  • ใช้รักษากลากที่เล็บเท้า (Onychomycosis – Toenail) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาวันละ 1,000 มิลลิกรัม โดยแบ่งให้วันละ 2-4 ครั้ง และให้รับประทานติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป
  • สำหรับในเด็กที่มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ให้รับประทานวันละ 10-20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยรับประทานเพียงครั้งเดียวหรือแบ่งให้วันละ 2-4 ครั้ง (ไม่ควรให้เกินวันละ 1,000 มิลลิกรัม)[5]

หมายเหตุ : ขนาดของยาที่ใช้ข้างต้นคือ ยากริซีโอฟุลวินในรูปแบบ Microsize แต่ถ้าเป็นยานี้ในรูปแบบ Ultramicrosize ตัวยาจะดูดซึมได้ดีกว่าและต้องใช้ในปริมาณที่น้อยลง กล่าวคือ Microsize ในขนาด 1,000 มิลลิกรัม จะเทียบเท่า Ultramicrosize ในขนาด 660-750 มิลลิกรัม และ Microsize ในขนาด 500 มิลลิกรัม จะเทียบเท่า Ultramicrosize ในขนาด 330-750 มิลลิกรัม ส่วนในเด็ก Microsize ที่ให้ในขนาด 10-20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จะเทียบเท่า Ultramicrosize ในขนาด 5-15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม[5]

คำแนะนำในการใช้ยากริซีโอฟุลวิน

  • ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที
  • ให้รับประทานยาพร้อมกับดื่มน้ำตาม 1 แก้ว
  • ต้องรับประทานยานี้จนครบช่วงการรักษา แม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • ควรหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดหรือแสงจากหลอดไฟฟ้าเมื่อใช้ยานี้ เนื่องจากยานี้จะทำให้ผิวหนังมีความไวต่อแสงแดดมากขึ้น (ทำให้แพ้แดดง่าย) ผู้รับประทานยาจึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง โดยการสวมเสื้อผ้าที่ป้องกันแสงแดด สวมหมวก แว่นตากันแดด และทาครีมกันแดดเป็นประจำ
  • ในระหว่างการรักษาด้วยยากริซีโอฟุลวิน ผู้ป่วยควรเฝ้าระวังเรื่องการทำงานของตับและไต โดยควรมีการตรวจสอบผลเลือดกับแพทย์เป็นระยะ ๆ

การเก็บรักษายากริซีโอฟุลวิน

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ควรเก็บยานี้ภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส ไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ) และเก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส (เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง)
  • ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

เมื่อลืมรับประทานยากริซีโอฟุลวิน

หากลืมรับประทานยากริซีโอฟุลวิน ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยากริซีโอฟุลวิน

  • อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ วิงเวียน สับสน มึนงง ซึมเศร้า อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ไม่สบายท้อง จุกเสียดแน่นท้อง ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร[1],[3]
  • ผลข้างเคียงที่พบได้น้อยของยานี้ คือ อาจทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ชาปลายมือปลายเท้า (ปลายประสาทอักเสบ) แพ้แสงแดด ผื่นคัน ลมพิษ (แพ้ยา) อาจพบโปรตีนออกมากับปัสสาวะ (พบได้จากการตรวจปัสสาวะ) และอาจกระตุ้นให้โรคเอสแอลอีกำเริบได้[1],[3]
  • ผลข้างเคียงรุนแรงของยานี้ คือ อาการแพ้ เช่น ผื่นที่ผิวหนัง ผื่นคัน ลมพิษ หน้าบวม ปากบวม ลิ้นบวม หายใจติดขัด อ่อนเพลียหรือเหนื่อยผิดปกติ ความคิดสับสน มีไข้หรือมีการติดเชื้อ ปัสสาวะมีสีเข้ม ตัวเหลืองหรือตาเหลือง ความอยากอาหารลดลง ระคายเคือง มีฝ้าขาว เจ็บภายในช่องปาก ผิวหนังแสบร้อน หลุดลอก มือหรือเท้ามีอาการเจ็บแปลบชา[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “กริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 250.
  2. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “GRISEOFULVIN”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [17 ก.ย. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “กริซีโอฟูลวิน (Griseofulvin)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [17 ก.ย. 2016].
  4. Siamhealth.  “ยารักษาเชื้อรา Griseofulvin”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [17 ก.ย. 2016].
  5. Drugs.com.  “Griseofulvin”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [17 ก.ย. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด