กระแตไต่ไม้ สรรพคุณและประโยชน์ของกระแตไต่ไม้ 32 ข้อ !

กระแตไต่ไม้ สรรพคุณและประโยชน์ของกระแตไต่ไม้ 32 ข้อ !

กระแตไต่ไม้

กระแตไต่ไม้ ชื่อสามัญ Oak-leaf fern, Drynaria

กระแตไต่ไม้ ชื่อวิทยาศาสตร์ Drynaria quercifolia (L.) J. Sm. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Polypodium quercifolium L.) จัดอยู่ในวงศ์ POLYPODIACEAE

สมุนไพรกระแตไตไม้ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ใบหูช้าง สไบนาง (กาญจนบุรี), กระปรอก (จันทบุรี), ฮำฮอก (อุบลราชธานี), สะโมง (ส่วย-สุรินทร์), หัวว่าว (ประจวบคีรีขันธ์), กระปรอกว่าว (ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี), เดาน์กาโละ (มลายู-ปัตตานี), กูดขาฮอก เช้าวะนะ พุดองแคะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กูดขาฮอก กูดอ้อม กูดไม้ (ภาคหนือ), หว่าว (ปน), กาบหูช้าง เป็นต้น[1],[2],[4]

ลักษณะกระแตไต่ไม้

  • ต้นกระแตไต่ไม้ จัดเป็นไม้ล้มลุกจำพวกเฟิร์นที่เลื้อยเกาะอยู่บนต้นไม้หรือตามก้อนโขดหิน ในที่ที่มีร่มเงาหรือแสงแดด หรือตามชายป่า ลำต้นจะทอดนอนยาวได้ถึง 1 เมตร ส่วนลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร โดยต้นกระแตไต่ไม้นี้จะกระจายพันธุ์อยู่ตามป่าเขตร้อน และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เหง้าหรือสปอร์[1],[3] มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า จีนตอนใต้ อินโดจีน มาเลเซีย ออสเตรเลีย และไทย ซึ่งในบ้านเราสามารถพบกระแตไต่ไม้ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ อาจจะพบขึ้นตามต้นไม้ ตามโขดหิน ตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา และป่าพรุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับความสูงต่ำ ๆ[4]

รูปกระแตไต่ไม้

กระแตไต่ไม้

ลำต้นกระแตไต่ไม้
ลำต้นกระแตไต่ไม้

  • เหง้ากระแตไต่ไม้ เหง้ามีลักษณะเป็นหัวกลม ยาว ปกคลุมไปด้วยเกล็ดสีน้ำตาลเข้มและมีขนยาวสีน้ำตาลคล้ายกำมะหยี่ปกคลุมอยู่ ส่วนเนื้อในมีสีขาวและเขียว[1]

เหง้ากระแตไต่ไม้
เหง้ากระแตไต่ไม้

  • ใบกระแตไต่ไม้ ใบเป็นใบเดี่ยว แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ชนิดแรกได้แก่ ใบที่ไม่สร้างสปอร์ ใบจะประกบต้นตั้งเฉียงกับลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบมนหรือแหลม ส่วนฐานใบเป็นรูปหัวใจ ใบมีความกว้างประมาณ 20 เซนติเมตรและอาจยาวได้ถึง 32 เซนติเมตร ขอบใบเว้าเป็นแฉกตื้น ๆ หุ้มอยู่บริเวณเหง้า ผิวของใบอ่อนมีขนเป็นรูปดาว ชนิดนี้ใบจะไม่มีก้าน และชนิดที่สองคือ ใบที่ไม่สร้างสปอร์ ชนิดนี้จะอยู่สูงกว่าใบที่สร้างสปอร์ และชี้ขึ้นด้านบน ลักษณะของแผ่นใบจะเป็นรูปขอบขนานหรือเป็นรูปหอก ปลายใบเรียวแหลม ส่วนฐานใบเป็นรูปลิ่ม ใบมีความกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร และอาจยาวได้ถึง 80 เซนติเมตร ส่วนขอบใบมีลักษณะเว้าลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ (คล้ายกับใบสาเก) เป็นพู เรียงตัวกันแบบขนนก ใบมีสีเขียวหม่นเป็นมัน เนื้อใบเหนียว และมีก้านใบยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ที่โคนก้านใบจะมีเกล็ดสีน้ำตาลดำ กลุ่มอับสปอร์ลักษณะเป็นรูปกลมหรือเป็นรูปขอบขนาน เรียงเป็นสองแถวอยู่ระหว่างเส้นของใบย่อย แอนนูลัสประกอบไปด้วยเซลล์เพียงแถวเดียว เรียงตัวในแนวตั้ง และไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์[1]

ใบกระแตไต่ไม้

สรรพคุณของกระแตไต่ไม้

  1. เหง้ามีรสจืดเบื่อ สรรพคุณเป็นยาช่วยสมานคุมธาตุ (เหง้า)[1],[2],[3]
  2. ช่วยบำรุงโลหิต ด้วยการใช้เหง้าประมาณ 3-4 เหง้า ผสมกับตำลึงเอื้องเงิน 1 ต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 2-3 ครั้ง (เหง้า)[1],[3]
  3. ช่วยให้โลหิตในร่างกายหมุนเวียน ช่วยขยายหลอดเลือด แก้อาการมือเท้าเย็น (เหง้า)[3]
  4. เหง้าใช้ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยรักษามะเร็งในปอด และช่วยรักษาปอดพิการ (เหง้า)[1]
  5. เหง้าช่วยแก้เบาหวาน (เหง้า)[1],[2],[4]
  6. เหง้าใช้ผสมกับหัวยาข้าวเย็น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หอบหืด (เหง้า)[1],[3]
  7. ขนจากเหง้านำมาบดให้ละเอียด แล้วใช้สูบแก้อาการหืด (ขนจากเหง้า)[1]
  8. รากและแก่นนำมาต้มน้ำดื่มและนำมาใช้อาบ มีสรรพคุณช่วยแก้ซาง (ราก, แก่น)[1]
  9. ใบใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ใช้ต้มกับน้ำอาบ แก้ไข้สูง (เหง้า)[1]
  10. เหง้านำมาต้มกับน้ำดื่มหรือใช้ฝนกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการกระหายน้ำได้ (เหง้า)[1]
  1. เหง้านำมากินสด ๆ โดยใช้เนื้อสีขาวที่เอาขนออกแล้ว นำมาฝานตากแดดแล้วนำมาบด ช่วยแก้อาการปวดประดงเลือด (เหง้า)[1]
  2. ช่วยแก้ริดสีดวงจมูก ด้วยการใช้เหง้านำมาต้มกับน้ำดื่มหรือนำมาใช้ฝนกับน้ำดื่ม (เหง้า)[1]
  3. ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[3]
  4. ช่วยแก้อาการปวดฟัน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[3]
  5. ใช้เป็นยาเบื่อพยาธิ ขับพยาธิ (เหง้า)[1],[2],[3],[4]
  6. ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ (อาการปัสสาวะปวด หรือกะปริบกะปรอย หรือเป็นขุ่นข้น มีสีเหลืองเข้ม หรือมีเลือด) (เหง้า)[1],[2],[3]
  7. เหง้าช่วยแก้นิ่ว (เหง้า)[1],[2]
  8. ช่วยแก้ไตพิการ (อาการเกี่ยวกับโรคทางเดินปัสสาวะ มีปัสสาวะขุ่นข้น สีเหลืองเข้มหรือแดง และมักมีอาการแน่นท้อง รับประทานอาหารไม่ได้) (เหง้า)[1],[2],[3],[4]
  9. เหง้าช่วยขับระดูขาวของสตรี (เหง้า)[1],[2],[4]
  10. รากและแก่นใช้ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการประจำเดือนไหลไม่หยุดของสตรี (ราก, แก่น)[1]
  11. ใบนำมาต้มน้ำดื่ม ช่วยรักษาอาการไม่สบาย มีอาการอ่อนเพลียของสตรีขณะอยู่ไฟในช่วงหลังคลอดบุตร (ใบ)[1]
  12. เหง้านำมาพอกช่วยแก้อาการปวดบวม (เหง้า)[1]
  13. ใบใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ต้มกับน้ำอาบช่วยแก้บวม (ใบ)[1]
  14. ใบใช้ตำพอกแผล ช่วยรักษาแผลเรื้อรังและแผลพุพอง (ใบ)[2]
  15. ช่วยรักษาแผลพุพอง แผลเนื้อร้าย (เหง้า)[1]
  16. ช่วยแก้แผลฝี หนอง (เหง้า)[1]
  17. เหง้านำมาฝนใช้ทาแก้งูสวัด (เหง้า)[1]
  18. ใช้เป็นยาห้ามเลือด (ไม่ระบุแน่ชัดว่าใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นหรือใช้เพียงแต่เหง้าอย่างเดียว)[1]
  19. เหง้าใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น นำมาต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการปวดเส้น (เหง้า)[1]
  20. ใช้บำบัดอาการป่วยอันเนื่องมาจากกระดูกแตกและเส้นเอ็นฉีกขาด อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำดำเขียว แก้ไขข้ออักเสบ อาการปวดหลัง ปวดเข่า ปวดข้อ โดยใช้ทั้งแบบเดี่ยวและนำไปใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าเป็นเหง้า)[3]

สมุนไพรกระแตไต่ไม้

ประโยชน์ของกระแตไต่ไม้

  • นอกจากจะใช้เป็นยาสมุนไพรแล้ว ยังนิยมใช้ปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับตกแต่งอีกด้วย เนื่องจากใบมีลักษณะสวยงาม[4]
  • มีความเชื่อว่า ว่านกระแตไต่ไม้เป็นว่านทางด้านเมตตามหานิยม มีผลดีในด้านการค้าขาย ทำให้ซื้อง่ายขายคล่อง[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “กระแตไต่ไม้“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [29 พ.ย. 2013].
  2. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กระแตไต่ไม้“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [29 พ.ย. 2013].
  3. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน.  “กระแตไต่ไม้“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [29 พ.ย. 2013].
  4. สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “กระแตไต่ไม้“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: web3.dnp.go.th.  [29 พ.ย. 2013].
  5. บ้านว่านไทย.  “ว่านกระแตไต่ไม้“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: banvanthai.com.  [29 พ.ย. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by naturgucker.de, Platycerium ferns, yakovlev.alexey, Cristina E.Ramalho, berniedup, Terentang), www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด