กระเบียน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกระเบียน 8 ข้อ !

กระเบียน

กระเบียน ชื่อวิทยาศาสตร์ Ceriscoides turgida (Roxb.) Tirveng.[2] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gardenia turgida Roxb.)[1] จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]

สมุนไพรกระเบียน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระดานพน (ตาก), มุ่ยแดง (เลย), มุ่ยขาว หมุยขาว หัวโล้น (นครราชสีมา), ตะลุมพุก (อุบลราชธานี), มะกอกพราน (กาญจนบุรี), กระเบียน (ราชบุรี, อุตรดิตถ์), จี๊เดียม ดิ๊กเดียม (ภาคเหนือ), กระเบียน (ภาคกลาง), ดิกเดียม, มะคังขาว เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของกระเบียน

  • ต้นกระเบียน จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 7-13 เมตร เรือนยอดค่อนข้างเล็ก ไม่เป็นรูปทรง เปลือกต้นเป็นสีเทาเข้มแกมน้ำตาลหรือเป็นสีน้ำตาลหม่น ล่อนออกเป็นแผ่นบาง ๆ กิ่งก้านแข็งแรงหรืออาจมีหนามตรงออกเป็นคู่ที่ข้อ มักขึ้นเป็นกลุ่มหรือขึ้นประปรายในป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง[1],[2]
  • ใบกระเบียน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ กลม หรือรูปรี ปลายใบมนหรือแหลมเป็นติ่งสั้น ๆ โคนใบสอบเรียวไปจนถึงก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ท้องใบมีขนนุ่ม เส้นแขนงใบข้างละประมาณ 4-6 เส้น ก้านใบสั้นมาก มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบเป็นรูปสามเหลี่ยม 1 คู่ อยู่ตรงข้ามกัน[1],[2]
  • ดอกกระเบียน ดอกเป็นแบบแยกเพศ ก้านดอกสั้น ดอกเพศผู้จะออกเป็นกระจุก มีกลิ่นหอม กลีบดอกเป็นสีขาวอมเหลือง ติดกันเป็นหลอด ตรงปลายแยกเป็นกลีบ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอด ปากหลอดกว้าง โคนปลายตัด มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ไม่มีก้านชูอับเรณู อับเรณูมีลักษณะเป็นรูปยาวรี ติดอยู่ภายในหลอดดอก ส่วนดอกเพศเมียจะออกเป็นดอกเดี่ยวตามง่ามใบ ไม่มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูประฆัง ตรงปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก กลีบดอกมีลักษณะเหมือนกับดอกเพศผู้ รังไข่มีออวุลจำนวนมาก[1],[2]
  • ผลกระเบียน ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ ขนาดยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร ผลค่อนข้างแข็ง ภายในมีเมล็ดรูปร่างแบนจำนวนมาก[1],[2]

สรรพคุณของกระเบียน

  1. รากใช้เป็นยาแก้เสมหะเป็นพิษ (ราก)[3]
  2. รากใช้เป็นยาแก้อาหารไม่ย่อยในเด็ก (ราก)[1],[2],[3]
  3. ดอกใช้เป็นยาฆ่าพยาธิ (ดอก)[3]
  4. เปลือกมีสรรพคุณช่วยแก้ริดสีดวง (เปลือก)[3]
  5. ใบใช้ตำพอกรักษาแผลสด (ใบ)[1],[2],[3]
  6. ดอกนำมาขยี้ใช้ทาแก้กลากเกลื้อน (ดอก)[1],[2] บ้างว่าใช้ใบนำมาขยี้ทาแก้กลากเกลื้อน (ใบ)[3]
  7. น้ำมันในเมล็ดนำมาทาเป็นยาแก้แผลมะเร็ง โรคเรื้อน (เมล็ด)[3]

ประโยชน์ของกระเบียน

  • เนื้อไม้มีสีนวลอมเหลือง ละเอียด เสี้ยนค่อนข้างตรง มีความแข็งพอประมาณ สามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องกลึง แกะสลัก กระสวย และหวีได้[2],[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “มะคังขาว”.  หน้า 120.
  2. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กระเบียน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [04 พ.ย. 2014].
  3. ผู้จัดการออนไลน์.  “จั๊กจี้ ต้นดิกเดียม ต้นไม้มหัศจรรย์ดิ้นได้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th.  [04 พ.ย. 2014].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด