กระเจี๊ยบแดง
กระเจี๊ยบแดง ภาษาอังกฤษ Rosella, Jamaican sorel, Roselle, Rozelle, Sorrel, Red sorrel, Kharkade, Karkade, Vinuela, Cabitutu
กระเจี๊ยบแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus sabdariffa Linn. จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)
สมุนไพรกระเจี๊ยบแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักเก็งเค็ง, ส้มเก็งเค็ง, ส้มตะเลงเครง (ตาก), ใบส้มม่า (ระนอง), แกงแคง (เชียงใหม่), ส้มปู (แม่ฮ่องสอน), แบลมีฉี่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), แต่เพะฉ่าเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ปร่างจำบู้ (ปะหล่อง), กระเจี๊ยบ, ส้มเก็ง ส้มพอเหมาะ (ภาคเหนือ), ส้มพอดี (ภาคอีสาน), กระเจี๊ยบแดง, กระเจี๊ยบเปรี้ยว (ภาคกลาง), ส้มพอ ส้มพอเหมาะ เป็นต้น มีถิ่นกำเนิดในประเทศซูดาน อินเดีย มาเลเซีย และประเทศไทย โดยในประเทศไทยมีแหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดลพบุรี สระบุรี อุตรดิตถ์ กาญจนบุรี และฉะเชิงเทรา
ลักษณะของกระเจี๊ยบแดง
- ต้นกระเจี๊ยบแดง จัดเป็นไม้พุ่มมีความสูงประมาณ 50-180 เซนติเมตร มีอยู่หลายสายพันธุ์ ลำต้นและกิ่งก้านมีสีม่วงแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด
- ใบกระเจี๊ยบแดง มีใบเป็นใบเดี่ยว ใบมีหลายลักษณะ ลักษณะคล้ายรูปฝ่ามือ 3 แฉก หรือ 5 แฉก ใบเว้าลึกหรือเรียบ หรือใบเป็นรูปรีแหลม หรือรูปเรียวแหลม ขอบใบมีจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีความกว้างและความยาวใกล้เคียงกันประมาณ 8-15 เซนติเมตร และก้านใบมีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร
- ดอกกระเจี๊ยบแดง ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกดอกตามซอกใบ มีกลีบดองสีชมพูหรือสีเหลือง บริเวณกลางดอกจะมีสีเข้มกว่าคือสีม่วงแดง ดอกมีเกสรตัวผู้เชื่อมกันเป็นหลอด ก้านดอกสั้น มีริ้วประดับเรียวยาวปลายแหลม มี 8-12 กลีบ กลีบเลี้ยงจะแผ่ขยายติดกันออกหุ้มเมล็ดไว้ มีสีแดงเข้มและหักง่าย เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 เซนติเมตร
- ผลกระเจี๊ยบแดง ลักษณะของผลเป็นรูปรีมีปลายแหลม ผลมีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่จะแห้งแตกเป็น 5 แฉก ในผลมีเมล็ดสีน้ำตาล ลักษณะคล้ายรูปไตอยู่จำนวนมาก ประมาณ 30-35 เมล็ดต่อผล และผลยังมีกลีบเลี้ยงหนาสีแดงฉ่ำน้ำหุ้มอยู่ เราจะเรียกส่วนนี้ว่ากลีบกระเจี๊ยบหรือกลีบรองดอก (Calyx) หรือที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นดอกกระเจี๊ยบนั่นเอง
สรรพคุณของกระเจี๊ยบแดง
- กลีบเลี้ยงของดอกหรือกลีบที่เหลือที่ผล ใช้เป็นยาลดไขมันในเส้นเลือดและช่วยลดน้ำหนัก โดยมีการทดลองกับกระต่ายที่มีไขมันสูง แล้วพบว่าระดับไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอล และระดับไขมันเลว (LDL) ลดลง และมีปริมาณของไขมันชนิดดี (HDL) เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ความรุนแรงของการอุดตันหลอดเลือดแดงใหญ่จากหัวใจก็น้อยลงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัดกระเจี๊ยบแดงอีกด้วย (ผล, เมล็ด, น้ำกระเจี๊ยบแดง)
- ดอกกระเจี๊ยบแดงช่วยละลายไขมันในเส้นเลือด (ดอก)
- เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง (เมล็ด, น้ำกระเจี๊ยบแดง, ยอดและใบ)
- ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยรักษาโรคเบาหวาน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยลดความดันโลหิต โดยไม่มีผลร้ายแต่อย่างใด มีรายงานการวิจัยทางคลินิกพบว่าในวันที่ 12 หลังผู้ป่วยได้รับชาชงกระเจี๊ยบแดงทุกวัน ค่าความดันโลหิตเมื่อหัวใจบีบตัวและคลายตัวลดลง 11.2% และ 10.7% ตามลำดับเมื่อเทียบกับวันแรก และ 3 วันหลังจากหยุดดื่มชาชง ความความดันโลหิตทั้งสองค่าก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (น้ำกระเจี๊ยบแดง)
- เมล็ดช่วยบำรุงโลหิต (เมล็ด)
- ช่วยแก้เส้นเลือดตีบตัน ช่วยรักษาเส้นเลือดให้แข็งแรงและอ่อนนิ่มยืดหยุ่นได้ดี (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- น้ำกระเจี๊ยบช่วยทำให้ความเหนียวข้นของเลือดลดลง (น้ำกระเจี๊ยบแดง)
- ดอกกระเจี๊ยบแดงช่วยรักษาโรคเส้นเลือดแข็งเปราะได้เป็นอย่างดี (น้ำกระเจี๊ยบแดง)
- ในอียิปต์มีการใช้ทั้งต้นของกระเจี๊ยบแดงมาต้มกินเพื่อเป็นยารักษาโรคหัวใจและโรคประสาท (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้อาการคอแห้ง กระหายน้ำ (น้ำกระเจี๊ยบแดง, ผล)
- น้ำกระเจี๊ยบช่วยแก้อาการร้อนใน (น้ำกระเจี๊ยบแดง)
- ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ช่วยป้องกันหวัด เนื่องจากกระเจี๊ยบแดงมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารสีแดงในกลุ่มเดียวกับที่พบในผลไม้อย่างบลูเบอร์รี แต่กระเจี๊ยบแดงจะมีสารชนิดนี้มากกว่าบลูเบอร์รีถึง 50%
- ช่วยลดไข้ (น้ำกระเจี๊ยบแดง)
- ดอกกระเจี๊ยบแดงช่วยแก้อาการไอ (น้ำกระเจี๊ยบแดง, ดอก)
- ใบใช้เป็นยากัดเสมหะ ขับเมือกมันในลำคอให้ลงสู่ทวารหนัก (ใบ, ดอก)
- ช่วยรักษาและป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน เนื่องจากมีวิตามินซีในปริมาณที่สูงอยู่พอสมควร (น้ำกระเจี๊ยบ)
- ช่วยในการย่อยอาหาร ใช้เป็นยาระบาย ช่วยหล่อลื่นลำไส้ ทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น (น้ำกระเจี๊ยบ, เมล็ด, ยอดและใบ)
- ในอียิปต์มีการใช้ทั้งต้นนำมาต้มกินเป็นยาลดน้ำหนัก เนื่องจากเป็นยาระบายและยังช่วยฆ่าเชื้อในลำไส้ได้อีกด้วย (ทั้งต้น)
- ช่วยรักษาโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ ด้วยการใช้ผลแห้งนำมาบดเป็นผง ใช้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะแล้วดื่มน้ำตาม วันละ 3-4 ครั้ง (ผล)
- ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร (ผล)
- ใบกระเจี๊ยบแดงมีสรรพคุณช่วยแก้โรคพยาธิตัวจี๊ด หรือจะใช้ผลอ่อนนำมาต้มรับประทานติดต่อกัน 5-8 วัน หรือจะใช้ผสมในตำรับยาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ หรือจะใช้ทั้งต้นใส่หม้อต้มกับน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวไฟจนงวดให้เหลือ 1 ส่วน แล้วผสมกับน้ำผึ้งกึ่งหนึ่ง ใช้รับประทานวันละ 3 เวลา หรือจะรับประทานน้ำยาเปล่า ๆ ก็ได้จนหมดน้ำยา (ใบ, ผล, ทั้งต้น)
- น้ำกระเจี๊ยบมีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะ เป็นการช่วยลดความดันได้อีกทางหนึ่ง โดยมีรายงานวิจัยทางคลินิกว่า เมื่อให้ผู้ป่วยดื่มผงกระเจี๊ยบขนาด 3 กรัม ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย ดื่มวันละ 3 ครั้ง นาน 7 วัน พบว่าได้ผลดีในการขับปัสสาวะ (น้ำกระเจี๊ยบแดง, เมล็ด, ยอดและใบ)
- ช่วยรักษาโรคทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต แก้โรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ ลดอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มีอาการปวดแสบ โดยใช้กระเจี๊ยบแห้งบดเป็นผงประมาณ 3 กรัม นำมาชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย ใช้ดื่มวันละ 3 ครั้ง ประมาณ 7 วัน หรือจนกว่าจะหาย ซึ่งจากรายงานการวิจัยพบว่าผู้ป่วยที่ดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงขนาด 3 กรัม ชงกับน้ำเดือด 1 แก้ว ดื่มวันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่าผู้ป่วยกว่า 80% มีปัสสาวะที่ใสขึ้นกว่าเดิม และยังพบว่าปัสสาวะมีความเป็นกรดมากขึ้น จึงช่วยในการฆ่าเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้เป็นอย่างดี (น้ำกระเจี๊ยบแดง, เมล็ด)
- ช่วยแก้อาการขัดเบา โดยใช้กลีบเลี้ยงของผลหรือกลีบรองดอกสีม่วงแดง นำมาตากแห้งแล้วบดให้เป็นผง นำมาใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา (ประมาณ 3 กรัม) ใช้ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (ประมาณ 250 มิลลิลิตร) แล้วนำมาเฉพาะน้ำสีแดงใส วันละ 3 ครั้ง ดื่มติดต่อกันทุกวันจนกว่าอาการจะดีขึ้นและหายไป (น้ำกระเจี๊ยบแดง)
- ช่วยป้องกันโรคต่อมลูกหมากโต (น้ำกระเจี๊ยบแดง)
- ช่วยเพิ่มการหลั่งน้ำดีจากตับ และช่วยป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลาย (น้ำกระเจี๊ยบแดง, เมล็ด)
- ดอกกระเจี๊ยบแดงช่วยรักษาไตพิการ (น้ำกระเจี๊ยบแดง)
- เมล็ดช่วยแก้ดีพิการ (เมล็ด)
- กระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์ต้านการเกิดพิษต่อตับและช่วยป้องกันตับจากการถูกทำลายจากสารพิษ โดยมีงานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า สารสกัดด้วยน้ำ (Anthocyanins) และสาร Protocatechuic Acid ของกระเจี๊ยบแดง สามารถช่วยลดความเป็นพิษต่อตับจากสารพิษได้หลายชนิด (น้ำกระเจี๊ยบแดง)
- ใบใช้ตำพอกฝีหรือใช้ต้มน้ำเพื่อใช้ล้างแผลได้ (ใบ)
- ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระเจี๊ยบแดง ช่วยลดอาการบวม ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งเชื้อราอะฟลาท็อกซิน ไวรัสเริม ยับยั้งเนื้องอก ช่วยขับกรดยูริก คล้ายกล้ามเนื้อเรียบ และลดความเจ็บปวด
- สารสกัดจากลีบดอกของกระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสตรีวัยทองไม่มากก็น้อย (กลีบดอก)
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง โดยสารแอนโทไซยานินจากกระเจี๊ยบมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งออกซิเดชันของไขมันเลส และยับยั้งการตายของมาโครฟาจ โดยมีสาร Dp3-Sam ซึ่งเป็นแอนโทไซยานินชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวในห้องทดลองได้ จึงมีผลในการช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและอาจช่วยชะลอการลุกลามของมะเร็งบางชนิดได้ (น้ำกระเจี๊ยบแดง)
ประโยชน์ของกระเจี๊ยบแดง
- กระเจี๊ยบมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) และสารโพลีฟีนอล ซึ่งได้แก่ Protocatechuic Acid ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยชะลอความแก่ และช่วยให้เส้นเลือดอ่อนนิ่มได้
- กระเจี๊ยบใช้ทำเป็นน้ำดื่มที่ช่วยทำให้ร่างกายสดชื่น เนื่องจากมีกรดซิตริกอยู่ด้วย
- ใบอ่อนของกระเจี๊ยบใช้รับประทานเป็นผักได้ หรือจะนำมาใช้ทำแกงส้มก็ได้ ให้รสเปรี้ยวกำลังดี และยังมีวิตามินเอสูง (12,583 I.U. ต่อ 100 กรัม) ที่ช่วยบำรุงสายตาอีกด้วย
- กลีบเลี้ยงผลและกลีบดอกอุดมไปด้วยแคลเซียมที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง
- กระเจี๊ยบแดงจัดเป็นพืชส่งออกโดยนำไปใช้เป็นส่วนผสมสำคัญสำหรับ Herbal tea และใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ใช้บริโภคภายในประเทศ ใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลาย เช่น ผลิตภัณฑ์ชาชง กระเจี๊ยบแดงอบแห้ง กระเจี๊ยบแดงแคปซูล เครื่องดื่มต่าง ๆ ใช้ในอุตสาหกรรมสีผสมอาหาร หรือใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ แยม เยลลี่ เบเกอรี ไอศกรีม ไวน์ น้ำหวาน ซอส เป็นต้น รวมไปถึงในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เช่น โลชัน ครีมกระเจี๊ยบแดง เจลอาบน้ำ ครีมขัดผิว เป็นต้น
- น้ำต้มของดอกแห้งจะมีกรดผลไม้หรือ AHA อยู่หลายชนิดในปริมาณสูง จึงมีการนำมาผลิตเป็นเครื่องสำอางประเภทครีมหน้าใส
- เมนูดอกกระเจี๊ยบแดง เช่น แกงส้มดอกกระเจี๊ยบ ยำดอกกระเจี๊ยบ แยมดอกกระเจี๊ยบ ดอกกระเจี๊ยบแช่อิ่ม กระเจี๊ยบกวน ชากระเจี๊ยบแดง น้ำกระเจี๊ยบแดง เป็นต้น
- ในแอฟริกาใต้มีการใช้น้ำมันจากเมล็ดเป็นยารักษาแผลให้อูฐ
- นอกจากนี้ลำต้นของกระเจี๊ยบแดงยังสามารถนำมาทำเป็นเชือกปอได้อีกด้วย
คุณค่าทางโภชนาการของกระเจี๊ยบแดง (กลีบดอก) ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 49 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 11.31 กรัม
- ไขมัน 0.64 กรัม
- โปรตีน 0.96 กรัม
- วิตามินเอ 14 ไมโครกรัม 2%
- วิตามินบี 1 0.011 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินบี 2 0.028 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 3 0.31 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินซี 12 มิลลิกรัม 14%
- ธาตุแคลเซียม 215 มิลลิกรัม 22%
- ธาตุเหล็ก 1.48 มิลลิกรัม 11%
- ธาตุแมกนีเซียม 51 มิลลิกรัม 14%
- ธาตุฟอสฟอรัส 37 มิลลิกรัม 5%
- ธาตุโพแทสเซียม 208 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุโซเดียม 6 มิลลิกรัม 0%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
โทษของกระเจี๊ยบแดง
- กระเจี๊ยบแดงอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ในผู้ป่วยบางราย เพราะมีฤทธิ์เป็นยาระบาย
- น้ำกระเจี๊ยบมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ แม้ว่าจะมีความเป็นพิษต่ำมาก แต่ก็ไม่ควรดื่มในปริมาณเข้มข้นและติดต่อกันนาน ๆ เพราะจะไม่เกิดผลดีต่อสุขภาพ
วิธีทำน้ำกระเจี๊ยบแดงพุทราจีน
- ให้เตรียมกระเจี๊ยบประมาณ 1 กำมือและพุทราจีน 1 กำมือ
- นำมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วบีบพุทราจีนให้แตก ให้รวมกันลงในภาชนะแล้วเติมน้ำเปล่า 2 ลิตร
- ต้มให้เดือดสักพักแล้วยกลง กรองเอาเนื้อออกให้เหลือแต่น้ำ
- เติมน้ำตาลเพื่อปรุงรส หรือจะใช้ใบหญ้าหวาน หรือลำไยตากแห้งแทนก็ได้ เพราะจะได้ความหวานจากธรรมชาติที่ไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง หรือไม่ต้องใส่เลยก็ได้ เมื่อได้รสตามชอบใจแล้ว ก็ให้นำมาเก็บใส่ขวดแล้วแช่ไว้ในตู้เย็นเอาไว้ดื่ม
- สาเหตุที่ใส่พุทราผสมลงไปนั้น เป็นเพราะว่าการต้มกระเจี๊ยบแดงกินแบบเดี่ยว ๆ เป็นระยะเวลานาน ๆ อาจจะทำให้ไตเสื่อมได้ จึงต้องมีพุทราจีนตากแห้งผสมลงไปด้วย เพื่อเป็นตัวแก้และเป็นตัวช่วยบำรุงไตไปด้วยในตัว
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันการแพทย์แผนไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), ศูนย์วิจัยและการจัดการความรู้ทางพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ (HISO), มูลนิธิหมอชาวบ้าน (รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ), เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข, ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ฐานข้อมูลสมุนไพรแม่โจ้ (ชีวกโกมารภัจจ์) มหาวิทยาลัยแม่โจ้, รายการสาระความรู้ทางการเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์)
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by davidfntau, Vietnam Plants & The USA plants), วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)