กระเจียวแดง
กระเจียวแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma sessilis Gage. จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE) เช่นเดียวกับกระเจียวขาว[1],[2]
สมุนไพรกระเจียวแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านมหาเมฆ (สกลนคร), อาวแดง (ภาคเหนือ), กาเตียว (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, เลย), กระเจียว กระเจียวแดง (ภาคกลาง), จวด (ภาคใต้, ชุมพร, สงขลา)[2], กระเจียวสี, กระเจียวป่า เป็นต้น
ลักษณะของกระเจียวแดง
- ต้นกระเจียวแดง จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกมีเหง้าอยู่ใต้ดิน อยู่ได้นานหลายปี มีความสูงได้ประมาณ 40-60 เซนติเมตร อาจขึ้นเป็นต้นเดียวหรือหลายต้นรวมกันเป็นกอ มีความสูงได้ประมาณ 20-60 เซนติเมตร มีเหง้าใหญ่รูปรี อยู่ในแนวดิ่ง ผิวเป็นสีน้ำตาล ภายในเป็นสีขาว ขยายพันธุ์ด้วยเหง้า มีเขตการกระจายพันธุ์ในพม่าตอนเหนือ ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค โดยมักขึ้นตามป่าดิบทั่วไป ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และที่โล่งทั่วไป[1],[2]
- ใบกระเจียวแดง ใบมีลักษะเป็นกาบห่อรวมตัวกันแน่นเป็นลำต้นเทียม โดยจะเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแคบ ปลายใบแหลม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 15-20 เซนติเมตร และยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ผิวใบเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม เส้นใบขนาน[1],[2]
- ดอกกระเจียวแดง ออกดอกเป็นช่อแน่นแบบช่อเชิงลด รูปทรงกระบอก ยาวได้ประมาณ 10-20 เซนติเมตร ก้านช่อดอกชูออกจากปลายลำต้นเทียม ช่อดอกย่อยแต่ละช่อจะมีดอกประมาณ 2-7 ดอก ใบประดับที่โคนช่อดอกรองรับดอกสีเขียว ดอกเป็นสีเหลือง หลอดกลีบเลี้ยงยาวประมาณ 1 เซนติเมตร หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีขน แฉกบนเป็นรูปรี ส่วนแฉกด้านข้างแคบกว่าเล็กน้อย กลีบปากเป็นรูปไข่กลับ สีเหลือง ปลายแยกออกเป็นพู 2 พู เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันเป็นรูปไข่กลับหรือรูปรี สีเหลือง มีขนสั้น ดอกมีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ มีจุดสีแดงจำนวนมาก โคนอับเรณูเรียวแหลมเป็นเดือย 2 อัน โค้งเข้าหากัน เกสรเพศเมีย มีรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีขนสั้นขึ้นหนาแน่น ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม[1]
- ผลกระเจียวแดง ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ผิวมีขนหนาแน่น ส่วนเมล็ดมีรูปร่างคล้ายหยดน้ำ มีความยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร[1]
สรรพคุณของกระเจียวแดง
- กระเจียวมีเส้นใยอาหาร (Fiber) ที่เป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวขับถ่ายของเสียออกมา จึงช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้ดี อีกทั้งเส้นใยอาหารยังสามารถจับคอเลสเตอรอลไว้เมื่อขับถ่ายออกมาถึงทำให้ลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ และเมื่อเส้นใยสัมผัสสารพิษและสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งที่มีอยู่ในอาหาร ร่างกายจึงได้รับสารพิษและสารก่อมะเร็งน้อยลงไปด้วย[3]
- ดอกอ่อนมีรสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม ใช้เป็นยาขับลมในกระเพาะอาหาร ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และลดกรดในกระเพาะอาหาร จึงช่วยทำให้รู้สึกสบายท้องและช่วยให้สุขภาพดี (ดอกอ่อน)[1],[4]
- ดอกมีสรรพคุณช่วยแก้มดลูกอักเสบสำหรับสตรีหลังคลอด (ดอก)[4]
- หน่ออ่อนใช้เป็นยาสมานแผล (หน่ออ่อน)[1]
- เหง้าใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อย (เหง้า)[1]
ประโยชน์ของกระเจียวแดง
- หน่ออ่อนใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก ลาบ ก้อย ส้มตำ ส่วนช่อดอกอ่อนนำมาลวกให้สุก ใช้รับประทานกับน้ำพริกหรือปรุงเป็นแกง โดยหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แกงรวมกับผักหวานปลาย่างและเครื่องแกง หรือจะกินดอกสดก็ได้ บางบ้านนิยมนำมาทำแกงส้มหรือไม่ก็นำมาแกล้มกับขนมจีน ลาบ ก้อย[1],[2],[4]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กระเจียวแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [08 ก.ค. 2015].
- ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “อาวแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [08 ก.ค. 2015].
- ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ. “กระเจียว…”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : royal.rid.go.th/phuphan/. [08 ก.ค. 2015].
- มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดแพร่, โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระเจียว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phrae.mju.ac.th/cms/rspg/. [08 ก.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), Suradech
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)