กระพังโหม สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกระพังโหม 24 ข้อ !

กระพังโหม

กระพังโหม ชื่อสามัญ Skunk-vine[1]

กระพังโหม ชื่อวิทยาศาสตร์ Paederia foetida L. จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]

สมุนไพรกระพังโหม มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักไหม (เชียงใหม่), ตะมูกปาไหล (อุดรธานี), กระเจียวเผือ (สกลนคร), เครือไส้ปลาไหล (มหาสารคาม), ตดหมูตดหมา ผักไหม (ภาคเหนือ), กระเจียวเผือ เครือไส้ปลาไหล ตะมูกปาไหล (ภาคอีสาน), กระพังโหม ตดหมูตดหมา (ภาคกลาง), ย่านพาโหม (ภาคใต้), พังโหม เป็นต้น[1]

ลักษณะของกระพังโหม

  • ต้นกระพังโหม จัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยประเภทล้มลุก เลื้อยพาดพันไปตามพื้นดินหรือเลื้อยพันต้นไม้อื่น ลำต้นมีขนาดเล็ก ลำต้นและใบมียางสี เมื่อขยี้ดมจะมีกลิ่นเหม็น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการเพาะต้นอ่อน พบขึ้นทั่วไปในป่าธรรมชาติ เช่น ป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง บริเวณในสวนต่าง ๆ หรือในที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป[1]

ต้นกระพังโหม

  • ใบกระพังโหม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน แผ่นใบเป็นสีเขียว เนื้อใบบาง เส้นใบโค้งจรดกันที่ใกล้ ๆ ขอบใบ ก้านใบสั้น[1]

ใบกระพังโหม

  • ดอกกระพังโหม ออกดอกเป็นช่อดอกเล็ก ๆ โดยจะออกตามซอกใบหรือโคนก้านใบ มีช่อละประมาณ 2-3 ดอก กลีบเลี้ยงดอกจะมี 5 กลีบ มีขนาดเล็ก ปลายกลีบแยกกัน กลีบด้านนอกเป็นสีขาว ส่วนกลีบด้านในเป็นสีม่วงแดงหรือสีชมพูประด้วยสีม่วงจุดสีน้ำตาล ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน และเกสรเพศเมีย 1 อัน อยู่ตรงกลาง[1]

ดอกกระพังโหม

  • ผลกระพังโหม ผลมีลักษณะกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล

ผลกระพังโหม

หมายเหตุ : กระพังโหมมีอยู่ด้วยกันหลายสายพันธุ์ เช่น ชนิดใบใหญ่ ลักษณะของใบจะเป็นรูปไข่ มีขนสั้นขึ้นปกคลุม เรียกว่า “กระพังโหมใหญ่” หรือ “ตดหมู“, ชนิดใบเล็ก ลักษณะของใบจะมีลักษณะเป็นรูปเรียวยาวหรือรูปหอก เรียกว่า “กระพังโหมเล็ก” หรือ “ตดหมา“, ชนิดใบใหญ่ไม่มียางไม่มีขน มีกลิ่นเหม็นอ่อน ๆ เรียกว่า “ย่านพาโหม” ส่วนกระพังโหมแท้ ๆ ต้องเป็นชนิดที่เด็ดใบและเถาสด ๆ จะมียางออกมา ส่วนชนิดที่ไม่มียางจะเรียกว่า “ย่านพาโหม[1]

สรรพคุณของกระพังโหม

  1. ใบและเถาสดมีกลิ่นเหม็น ใช้กินเป็นยาอายุวัฒนะ แก้ธาตุพิการ แก้ตานซาง แก้ดีรั่ว ช่วยเจริญอาหาร (ใบและเถา)[1],[3]
  2. ใบสดใช้ตำพอกอุดรูฟันแก้ปวดฟันและแก้รำมะนาด (ใบ)[1],[3] ส่วนผลก็มีสรรพคุณช่วยแก้ปวดฟันเช่นกัน และใช้ทาฟันให้เป็นสีดำ (ผล)[1]
  3. ใช้เป็นยารักษาอาการอักเสบบริเวณปากและคอ (ทั้งต้น)[1]
  4. ใบและเถาใช้กินเป็นยาแก้ไข้ แก้ตัวร้อน (ใบและเถา)[1],[3] ส่วนทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ไข้รากสาด ใช้ต้มดื่มแก้พิษไข้ (ทั้งต้น)[1] เมื่อเวลาเป็นไข้ให้ใช้น้ำต้มจากเถาหรือใบ นำมาใช้เช็ดตัวหรือนำผ้าสะอาดชุบน้ำต้มมาวางไว้บนศีรษะ ก็จะทำให้อาการไข้ลดลงได้เป็นอย่างดี (เถา)[1]
  5. รากสดใช้ฝนกับน้ำหยอดตาแก้พิษ แก้ตาฟาง ตาแฉะ ตามัวได้ดีมาก ในสมัยก่อนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย (ราก)[1],[3]
  1. ช่วยทำให้อาเจียน ด้วยการใช้รากหรือเปลือกนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก, เปลือก)[1]
  2. ทั้งต้นใช้ปรุงเป็นยาขับน้ำนม (ทั้งต้น)[1]
  3. ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย ซึ่งจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ พบว่าสารสกัดจากกระพังโหมสามารถแก้อาการท้องเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ใบและเถา, ทั้งต้น)[1],[3]
  4. ใช้เป็นยาแก้บิด (ทั้งต้น)[1]
  5. ใบและเถาใช้เป็นยาขับลม เป็นยาระบายอ่อน ๆ (ใบและเถา)[1] ในภาคอีสานถ้ามีอาการท้องอืด เมื่อกินยอดกระพังโหมจะช่วยขับลมได้เป็นอย่างดี (ใบ)[1] ส่วนน้ำต้มจากรากก็มีสรรพคุณเป็นยาขับลมด้วยเช่นกัน (ราก)[1]
  6. ใช้เป็นยาขับพยาธิไส้เดือนในเด็ก (ใบและเถา)[1],[3]
  7. ทั้งต้นใช้ต้มดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยถอนพิษต่าง ๆ (ทั้งต้น)[1] หมอยาพื้นบ้านในประเทศฟิลิปปินส์จะนำใบมาต้มและนำมาตำให้แหลก แล้วนำมาโปะลงบนท้องจะช่วยแก้ปัสสาวะขัด ทำให้สามารถขับปัสสาวะออกมาได้ นอกจากนี้ถ้านำใบมาต้มดื่มก็ช่วยขับนิ่วออกจากกระเพาะปัสสาวะได้ด้วย (ใบ)[1]
  8. ใช้เป็นยารักษาโรคเริม โรคงูสวัด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
  9. รากใช้เป็นยาแก้โรคดีซ่าน (ราก)[1]
  10. ใช้เป็นยารักษาบาดแผล (ใบและเถา, ทั้งต้น)[1]
  11. ใช้ใบหรือทั้งต้นรวมรากแบบสดบดให้ละเอียดใช้เป็นยาทาหรือตำพอกบาดแผลที่ถูกงูกัด จะเป็นยาถอนพิษ ก่อนนำผู้ถูกงูกัดไปพบแพทย์
  12. ช่วยเหลือ แก้ปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง (ใบ, ทั้งต้น)[1],[3]
  13. หมอยาพื้นบ้านในประเทศฟิลิปปินส์จะใช้น้ำต้มจากใบนำมาอาบเป็นยารักษาโรคไขข้อ (ใบ)[1]
  14. นอกจากนี้ยังใช้กระพังโหมเป็นยาใช้ถอนพิษสุรายาสูบ พิษจากอาหาร (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1]

ประโยชน์ของกระพังโหม

  • ยอดอ่อน ใบอ่อน และดอก สามารถนำมารับประทานเป็นผักได้ มีรสขมกลิ่นเหม็นเขียว (กลิ่นหอม) มีสรรพคุณช่วยระบายความร้อนในร่างกาย โดยจะออกยอดมากในช่วงฤดูฝน บ้างมีจำหน่ายในตลาดสดในบางท้องถิ่น ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ จะใช้ยอดอ่อนและใบอ่อนเป็นผักสดรับประทานร่วมกับน้ำพริก ชาวอีสานใช้รับประทานร่วมกับลาบก้อย ส่วนชาวใต้จะนำไปซอยให้ละเอียดเป็นผักที่ใช้ผสมปรุงเป็นข้าวยำ ส่วนดอกจะมีการรับประทานเป็นผักสดในบางท้องที่ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมมากนัก บางคนจะใช้น้ำคั้นจากเถาและใบมาผสมปรุงเป็นขนมขี้หนู เพื่อให้ขนมขี้หนูเป็นสีเขียว[1] ส่วนในอินเดียจะนำมาปรุงในซุปเพื่อช่วยบำรุงกำลังให้คนชราที่ฟื้นไข้หรือคนชรากิน[3]
  • ชาวบ้านจะนิยมนำต้นกระพังโหมมาปลูกไว้ใกล้ ๆ บริเวณบ้านเพื่อเก็บมารับประทานได้สะดวก (แต่การปลูกควรทำร้านให้เลื้อยหรือปลูกบริเวณริมรั้ว)[1]
  • เกษตรกรที่เลี้ยงหมู มีการใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นยาลดไข้ด้วย ด้วยการดึงเอาเถามาทุบให้พอแหลกหรือให้มีน้ำออกมา แล้วเอาเถานั้นมาลูบไปตามตัวหมูที่เป็นไข้ จะทำให้ไข้ของหมูลดลง[1]
  • ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์เลี้ยง[1]
  • ในประเทศอินเดียมีการพัฒนากระบวนการผลิตน้ำมันจากสมุนไพรชนิดนี้มาใช้เป็นยาทาแก้ปวดข้อและปวดหลัง[1]
เอกสารอ้างอิง
  1. คลินิกการแพทย์แผ่นไทยพฤกษเวช.  “กระพังโหม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.prueksaveda.com.  [27 มิ.ย. 2015].
  2. นิทรรศการงานวิจัย 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาคน พัฒนาชาติ ศาสตร์แห่งแผ่นดิน.  “มหัศจรรย์สมุนไพรไทย Amazing Thai Medicinal Plants”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rdi.ku.ac.th/Ku-research60/.  [27 มิ.ย. 2015].
  3. ไทยรัฐออนไลน์.  “กระพังโหม เหม็นอร่อยมีสรรพคุณ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th.  [27 มิ.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by kenji izumi, 翁明毅, Paco Garin, eriko_jpn, Reuben C. J. Lim)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด