กระบก
กระบก ชื่อสามัญ Barking deer’s mango, Wild almond
กระบก ชื่อวิทยาศาสตร์ Irvingia malayana Oliv. ex A.W.Benn. จัดอยู่ในวงศ์กระบก (IRVINGIACEAE)
สมุนไพรกระบก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะลื่น หมักลื่น (สุโขทัย, นครราชสีมา), ซะอัง (ตราด), หลักกาย (ส่วน-สุรินทร์), มื่น มะมื่น (ภาคเหนือ), บก หมากบก หมากกระบก (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กะบก กระบก จะบก ตระบก (ภาคกลาง), จำเมาะ (เขมร)[1], ไม้มื่น (ขมุ), เปรียวด้องเดี๋ยง (เมี่ยน), สือมั่วลื้อ(ม้ง)[4] เป็นต้น
ลักษณะของกระบก
- ต้นกระบก เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เป็นไม้ผลัดใบ ทรงเรือนยอดเป็นพุ่มแน่นทึบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-30 เมตร ลำต้นเปลา เปลือกต้นมีสีเทาอ่อนปนสีน้ำตาลค่อนข้างเรียบ โคนต้นมักขึ้นเป็นพูพอน เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินทุกชนิด ในที่กลางแจ้ง ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด[1] มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ตามป่าดิบแล้ง ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ ป่าหญ้า และป่าแดง[2] และยังจัดเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดร้อยเอ็ดด้วย
- ใบกระบก มีใบเป็นใบเดี่ยวติดเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปรีแกมรูปขอบขนานจนถึงรูปใบหอก ใบกว้างประมาณ 2-9 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร เนื้อใบหนาเกลี้ยงทั้งสองด้าน ขอบใบเรียบ โคนใบมนแหลมหรือเว้าเล็กน้อย สอบเรียวไปทางปลายใบ ปลายใบแหลมทู่ ขอบใบเรียบ มีเส้นแขนงใบประมาณ 8-14 คู่ และมักมีเส้นแขนงปลอมแซมระหว่างกลาง เส้นใบย่อยเป็นแบบขั้นบันได เห็นได้ชัดจากด้านท้องใบ เมื่อใบแห้งจะเห็นเส้นร่างแหชัดทั้งสองด้าน ปลายใบเป็นติ่งมน มีหูใบ หูใบมีลักษณะพิเศษคือ ม้วนหุ้มยอด เรียวแหลม โค้งเล็กน้อยลักษณะเป็นรูปดาบ ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร[1]
- ดอกกระบก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกมีสีเขียวอมเขียวอ่อน มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้อยู่ 10 อัน[1] และจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม
- ผลกระบก หรือ ลูกกระบก ลักษณะของผลเป็นรูปกลมรี หรือค่อนข้างเป็นรูปไข่ ลักษณะแบนเล็กน้อย คล้ายกับผลมะม่วงขนาดเล็ก โดยผลอ่อนจะมีสีเขียว แต่เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ในผลมีเมล็ดและมีเนื้อหุ้มเมล็ดเละ ๆ เหมือนมะม่วง ในผลกระบกมีเมล็ด
- เมล็ดกระบก หรือ เม็ดกระบก เมล็ดโตเป็นรูปไข่ เป็นเมล็ดเดี่ยว มีเปลือกแข็ง เนื้อในเมล็ดมีสีขาวอัดแน่นอยู่ (ลักษณะเป็นเนื้อแป้ง) และมีน้ำมัน[1] มักติดผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[2]
สรรพคุณของกระบก
- น้ำมันเมล็ดกระบกช่วยบำรุงสมอง (น้ำมันจากเมล็ด)[8]
- เนื้อไม้ช่วยทำให้เจริญอาหาร (เนื้อไม้)[5]
- ช่วยบำรุงหัวใจ (น้ำมันจากเมล็ด)[8]
- ช่วยรักษาริดสีดวงจมูก (น้ำมันจากเมล็ด)[8]
- ช่วยบรรเทาอาการหอบหืด (น้ำมันจากเมล็ด)[8]
- ช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย (เมล็ด)[5]
- ลูกกระบกใช้เป็นยาระบาย ด้วยการใช้ผลกระบกอ่อนประมาณ 1 กำมือ นำมาตมผสมกับพริกเกลือ แล้วใช้รับประทานสัปดาห์ละครั้ง (หากใช้เยอะมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย) (ผล)[8]
- ช่วยฆ่าพยาธิในท้อง (เนื้อในเมล็ด)[4] ช่วยขับพยาธิในเด็ก (เนื้อไม้)[5] สามารถใช้ได้ทั้งคนและสัตว์ หากเป็นคนให้ใช้ผลกระบกไม่แก่หรืออ่อนมากเกินไปประมาณ 3 ลูก ตำผสมกับน้ำซาวข้าว 1 ถ้วยตาไก่ขนาดกลาง แล้วกรองเอาแต่น้ำมาดื่มกินก่อนนอนวันละครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน ส่วนถ้าเป็นสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขที่เป็นขี้เรื้อน ก็ให้ใช้สูตรเดียวกับคน แต่ให้เพิ่มปริมาณของผลกระบกเป็นเท่าตัว ใช้กินไม่เกินสามวันหายขาด (ผล)[8]
- ช่วยบำรุงไต (เนื้อในเมล็ด)[4],[5]
- ช่วยแก้อาการคันตามผิวหนัง (ใบ)[5]
- เนื้อในเมล็ดมีรสร้อน ช่วยบำรุงเส้นเอ็น แก้เส้นเอ็นพิการ บำรุงไขข้อกระดูก แก้ข้อขัดได้ (เนื้อในเมล็ด)[4],[5]
ประโยชน์ของกระบก
- ต้นกระบกมีประโยชน์ในด้านภูมิสถาปัตย์ เหมาะสำหรับใช้ปลูกเป็นกลุ่มในพื้นที่โล่ง ๆ ตามสวนสาธารณะต่าง ๆ สวนรุกขชาติ หรือในสวนสัตว์เปิด ให้เป็นที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าได้[9]
- ไม้กระบกเป็นไม้เนื้อแข็งและหนัก มีเสี้ยนตรงแข็งมาก ไม่แตกแยกเมื่อแห้ง เลื่อยผ่าตบแต่งได้ง่าย สามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องมือกสิกรรมต่าง ๆ เช่น ครก สาก เครื่องสีข้าว รวมถึงสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในร่ม และยังนำมาทำเป็นฟืน หรือถ่านที่ให้ความร้อนสูงได้ เป็นต้น[1],[9]
- เนื้อในเมล็ดมีรสหวานมัน นิยมนำมาคั่วรับประทานเป็นของว่าง มีรสคล้ายกับถั่วลิสง หรือที่เรียกว่า “กระบกคั่ว“[1]
- มีการใช้น้ำมันจากเมล็ดกระบกมารับประทาน[1]
- เนื้อในเมล็ดเป็นแหล่งอุดมของแคลเซียมและเหล็กชั้นดี จึงช่วยบำรุงกระดูกและฟันได้เป็นอย่างดี[6]
- ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักหรือรับประทานกับลาบ (ม้ง)[4]
- นอกจากจะเป็นอาหารคนแล้ว ผลสุกของกระบกที่ร่วงหล่นลงมา ยังสามารถนำไปใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ของวัว ควาย รวมไปถึงสัตว์เคี้ยวเอื้องอื่น ๆ[7]
- ผลสุกของกระบก สัตว์ป่าจำพวกเก้ง กวาง และนกชอบกินเป็นอาหารมาก โดยสัตว์เหล่านี้จะช่วยพาเมล็ดไปงอกในที่ไกล ๆ จึงเป็นการช่วยขยายพันธุ์ต้นกระบกได้เป็นอย่างดี[9]
- น้ำมันจากเนื้อในเมล็ดสามารถนำมาใช้เป็นสบู่และเทียนไขได้[1],[5]
- ผลกระบกเป็นแหล่งเลี้ยงจุลินทรีย์ชั้นดี พืชชนิดไหนที่อยู่ใกล้ต้นกระบกก็เหมือนกับได้ปุ๋ยชั้นดีไปด้วย[8]
- เนื้อในไขกระบกมีความทนทานต่อการเกิดปฏิกิริยาทางเคมีได้ดี ในทางอุตสาหกรรมจึงมีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นอาหารที่ช่วยเพิ่มคุณค่าได้[6]
- เนื้อในผลกระบก นอกจากจะนำมาเคี้ยวกินเล่นแล้ว ยังสามารถนำมาใช้พัฒนาเป็นเครื่องสำอางและยาเหน็บทวารได้อีกด้วย[6]
- เนื้อในเมล็ดกระบก ต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย ไขมัน 66.78%, โปรตีน 3.40%, คาร์โบไฮเดรต 9.07%, ความชื้น 2.08%, ธาตุแคลเซียม 103.30 มิลลิกรัม และธาตุเหล็ก 61.43 มิลลิกรัม[6]
- น้ำมันเมล็ดกระบก ประกอบไปด้วย กรดไขมันอิ่มตัว ซึ่งได้แก่ กรดปาล์มิติก 4.52%, กรดลอริก 40.11%, ไมริสติก 50.12%, และกรดสเตียริก 0.55% ส่วนกรดไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่ กรดไลโนเลอิก 1.46%, กรดโอเลอิก 3.12% และกรดปาล์มมิโตเลอิก 0.12%[3]
เอกสารอ้างอิง
- สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [8 ต.ค. 2013].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 3, ไม้ต้นในสวน Tree in the Garden2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [8 ต.ค. 2013].
- คณะทรัพยากรธรรมชาติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร. อ้างอิงใน: การสกัดน้ำมันจากเมล็ดกระบก, (พิเชษฐ เทบํารุง). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.skc.rmuti.ac.th. [8 ต.ค. 2013].
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพร : รวมหลักเภสัชกรรมไทย. วุฒิ วุฒิธรรมเวช.
- หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์. พงษ์ศักดิ์ พลเสนา.
- งานประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “ประโยชน์จากมะมื่น เพื่อเป็นสารช่วยทางยา อาหาร และเครื่องสำอาง“. (ภกญ.รศ.ดร.พาณี ศิริสะอาด คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.prcmu.cmu.ac.th. [8 ต.ค. 2013].
- กลุ่มงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “เม็ดกระบก ขนมขบเคี้ยวในป่าใหญ่“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: fbd.forest.go.th. [8 ต.ค. 2013].
- เกษตรพอเพียงดอทคอม. “สมุนไพรวันละต้น หมากบก“. (newfarmer_53). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.kasetporpeang.com. [8 ต.ค. 2013].
- สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนดอยสะเก็ดวิทยาคม. “ต้นไม้ประจำโรงเรียน“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doisaket.ac.th. [8 ต.ค. 2013].
ภาพประกอบ : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, www.prcmu.cmu.ac.th, www.flickr.com (by phil.lees, viengsamone, Ahmad Fuad Morad, Terentang, Leopoldo Meozzi, tawai thonglor)