กระท้อน
กระท้อน ชื่อสามัญ Santol, Sentul, Red sentol, Yellow sentol
กระท้อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Sandoricum koetjape (Burm.f.) Merr. จัดอยู่ในวงศ์กระท้อน (MELIACEAE)
กระท้อน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สะตู สตียา (นราธิวาส), สะโต (ปัตตานี), เตียนล่อน สะท้อน (ภาคใต้), มะติ๋น (ภาคเหนือ), มะต้อง (อุดรธานี, ภาคเหนือ) เป็นต้น
ลักษณะของกระท้อน
- ต้นกระท้อน เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดแถวอินโดจีนและมาเลเซียตะวันตก ก่อนจะแพร่ขยายไปในอินเดีย อินโดนีเซีย มอริเชียส และฟิลิปปินส์ จนกลายเป็นพืชท้องถิ่นไป โดยจัดเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 15-30 เมตร เปลือกต้นเป็นสีเทา
- ใบกระท้อน ลักษณะของใบเป็นใบประกอบ ใบย่อยมี 3 ใบ คล้ายรูปรีแกมไข่ เมื่อใบแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดง โดยความกว้างของใบประมาณ 6-15 เซนติเมตรและยาว 8-20 เซนติเมตร
- ดอกกระท้อน ลักษณะของดอกกระท้อน กลีบดอกเป็นสีเหลืองนวล ออกดอกเป็นช่อที่ซอกใบปลายกิ่ง และมีดอกย่อยจำนวนมาก
- ผลกระท้อน รูปทรงกลมแป้น ผิวมีขนคล้ายกำมะหยี่อ่อนนุ่ม ผลอ่อนจะมีสีเขียวมีน้ำยางสีขาว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและมีน้ำยางที่น้อยลง ผลกระท้อน มีขนาดประมาณ 5-15 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ด 4-5 เมล็ดและมีปุยสีขาว ๆ หุ้มเมล็ดอยู่ และเมล็ดมีรูปรีมีปลอกเหนียวห่อหุ้มอยู่
สายพันธุ์กระท้อน สำหรับสายพันธุ์ของกระท้อนที่ได้รับความนิยมนั้นเป็นพันธุ์กระท้อนห่อที่มีรสหวาน ได้แก่ สายพันธุ์อีล่า ปุยฝ้าย ทับทิม อินทรชิต นิ่มนวล ขันทอง เทพรส อีแดง ส่วนพันธุ์พื้นเมืองนั้นจะมีรสเปรี้ยว ผลดกแต่มีขนาดเล็ก จึงนิยมนำมาทำเป็นกระท้อนทรงเครื่อง กระท้อนดอง
กระท้อน เป็นผลไม้ที่มีธาตุโพแทสเซียมสูง จึงไม่ค่อยเหมาะนักสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคไต เพราะผู้ป่วยบางรายอาจจะมีภาวะโพแทสเซียมสูงอยู่แล้ว จึงต้องควบคุมการรับประทานโพแทสเซียมเป็นพิเศษ และสำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นโรคไตก็ไม่ควรประมาท เนื่องจากมีการตรวจพบว่ากระท้อนก็มีสารฟอกขาว (สารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์) ปนเปื้อนได้เช่นกัน ซึ่งหากได้รับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากจะเกิดอาการอักเสบตามอวัยวะที่สัมผัส เช่น ปากและกระเพาะอาหาร รวมไปถึงมีอาการแน่นหน้าอก ปวดท้อง อาเจียนอีกด้วย
สรรพคุณของกระท้อน
- ใช้ทำเป็นยาธาตุ (ราก)
- ใช้ใบสดต้มอาบแก้ไข้ (ใบ)
- ช่วยขับเหงื่อ (ใบ)
- รากกระท้อนช่วยแก้บิด (ราก)
- ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ราก)
- ใช้ทำเป็นยาขับลม (ราก)
- กระท้อนมีสรรพคุณใช้เป็นยาฝาดสมาน (ผล)
- ช่วยรักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน (เปลือก)
- หลายส่วนของกระท้อนมีสรรพคุณออกฤทธิ์แก้อาการอักเสบ
- สารสกัดจากเมล็ดกระท้อนมีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลง
- สารสกัดจากกิ่งกระท้อนมีผลยับยั้งมะเร็งในหลอดทดลองได้
ประโยชน์ของกระท้อน
- กระท้อนมีประโยชน์ ผลใช้รับประทานเป็นอาหาร ใช้ทำอาหารคาวหวานได้หลากชนิด เช่น แกงคั่ว แกงฮังเล ผัด ตำกระท้อน ส่วนอาหารหวานก็เช่น กระท้อนทรงเครื่อง กระท้อนลอยแก้ว กระท้อนดอง กระท้อนกวน กระท้อนแช่อิ่ม เยลลี่กระท้อน แยมกระท้อน น้ำกระท้อน หรือใช้กินเป็นผลไม้สดก็ได้เช่นกัน (ผล)
- ประโยชน์กระท้อน ลำต้นใช้ทำเป็นไม้ใช้สอยต่าง ๆ เช่น ทำไม้กระดาน เป็นต้น (ต้น)
- ประโยชน์ของกระท้อน กระท้อนเป็นผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว มีฤทธิ์เย็น จึงเหมาะกับผู้ที่เกิดในเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม ซึ่งธาตุเจ้าเรือนอยู่ในธาตุน้ำ
คุณค่าทางโภชนาการของกระท้อนต่อ 100 กรัม (สีเหลือง)
- โปรตีน 0.118 กรัม
- ไขมัน 0.1 กรัม
- ใยอาหาร 0.1 กรัม
- ธาตุแคลเซียม 4.3 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 17.4 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.42 มิลลิกรัม
- แคโรทีน 0.003 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 1 0.045 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 0.741 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 86.0 มิลลิกรัม
ข้อมูลจากว็บไซต์ : www.hort.purdue.edu
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)