กระทุ่มนา สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกระทุ่มนา 8 ข้อ !

กระทุ่มนา สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกระทุ่มนา 8 ข้อ !

กระทุ่มนา

กระทุ่มนา ชื่อสามัญ Mitrayna Korth[3]

กระทุ่มนา ชื่อวิทยาศาสตร์ Mitragyna diversifolia (Wall ex G.Don) Havil.[1],[3] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Mitragyna javanica Koord. & Valeton[2]) จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE) เช่นเดียวกับกระทุ่มบก

สมุนไพรกระทุ่มนา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ถ่มพาย (เลย), โทมน้อย (เพชรบูรณ์), กระทุ่มดง (กาญจนบุรี), กาตูม (เขมร-จันทบุรี), ตำ (ส่วย-สุรินทร์), ท่อมนา (สุราษฎร์ธานี), ท่อมขี้หมู (สงขลา), กระท่อมขี้หมู ตุ้มแซะ ตุ้มน้อย ตุ้มน้ำ (ภาคเหนือ), กระทุ่มน้ำ (ภาคกลาง), กระทุ่มหมู, กว้าวตุ้ม, ตู้ม, แซะ เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของกระทุ่มนา

  • ต้นกระทุ่มนา จัดเป็นพรรณไม้ต้นผลัดใบขนาดกลาง เป็นทรงพุ่มกลม มีความสูงได้ประมาณ 8-15 เมตร แตกกิ่งแขนงต่ำ ลำต้นคดหรือเปลาตรง เปลือกลำต้นด้านนอกเป็นสีเทา หลุดออกเป็นแผ่นเล็ก ๆ มีรูระบายอากาศขนาดใหญ่ทั่วไป ทำให้ดูเปลือกขรุขระ ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีเหลืองอ่อน เมื่อลำต้นแก่โคนต้นมักจะเป็นพูพอน นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ชอบดินเหนียว ต้องการน้ำค่อนข้างมาก ควรปลูกในที่มีแสงทั้งวัน มีเขตการกระจายพันธุ์จากตอนใต้ของจีนจนถึงมาเลเซีย ในประเทศไทยพบขึ้นในป่าเบญจพรรณชื้นที่ค่อนข้างโปร่งใกล้น้ำและตามทุ่งนาทั่วไป[1],[2],[3],[4]

ต้นกระทุ่มนา

  • ใบกระทุ่มนา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามเวียนสลับตั้งฉากกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปรีค่อนข้างกลม ปลายใบมน โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร หลังใบเกลี้ยง ส่วนด้านล่างมีขนขึ้นประปรายหรือเกลี้ยง เนื้อใบค่อนข้างเหนียว เส้นใบมี 8-12 คู่ แยกเยื้องกันชัดเจน ปลายเส้นใบจรดเส้นใบถัดไป เส้นใบขนานกันเป็นระเบียบสวยงาม เห็นได้ชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบคู่ละ 1 คู่ ลักษณะเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 0.5-1.3 เซนติเมตร ปรากฏชัดเจนตามปลายกิ่ง[1],[3]

ใบกระทุ่มนา

รูปกระทุ่มนา

  • ดอกกระทุ่มนา ออกดอกเป็นช่อกระจุกซ้อน 3 ชั้น ระนาบเดียวกัน สลับกับตรงข้าม โดยจะออกตามซอกใบ มีใบประดับขนาดใหญ่ทุกชั้น ลักษณะคล้ายใบแซมห่าง ๆ มีเส้นใบเช่นเดียวกับใบปกติ ก้านใบเป็นสีแดง บริเวณส่วนล่างของช่อ ก้านช่อแยกออกเป็นมุม 45 องศาฯ ที่โคนก้านดอกแต่ละชั้น ก้านช่อดอกแต่ละชั้นจะยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ก้านช่อกลม ดอกเป็นสีเหลืองแบบกระจุกแน่น ดูรวมกันแล้วเหมือนดอกกลม มีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร แต่ละช่อจะมีดอกเล็ก ไม่มีก้านดอก กลิ่นหอมแรง กลีบรองกลีบดอกเล็กมาก ติดกันคล้ายรูปถ้วย ขอบตัด กลีบดอกเป็นสีเหลือง โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ส่วนปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีก้านเกสรเพศเมียยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน[1],[2],[3]

ดอกกระทุ่มนา

  • ผลกระทุ่มนา ผลมีลักษณะรูปทรงกลมหรือรูปไข่ขนาดเล็ก ผิวผลขรุขระ แข็ง อัดรวมกันเป็นก้อนกลม ผลเมื่อแห้งจะแตกออก ภายในมีเมล็ดมีปีก[1] เป็นผลในช่วงระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม[3]

ผลกระทุ่มนา

สรรพคุณของกระทุ่มนา

  • ใบมีรสขมเฝื่อนเมา มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตและออกฤทธิ์กดต่อประสาทและกล้ามเนื้อ (ใบ)[1],[2]
  • ยาแผนโบราณของไทยจะใช้ใบกระทุ่มนา (แทนใบกระท่อม) เป็นยาแก้ท้องร่วง ปวดมวนท้อง ซึ่งมีฤทธิ์เหมือนใบกระท่อม แต่อ่อนกว่า สามารถนำมาใช้แทนกันได้ (ใบ)[1],[2],[3]
  • เปลือกต้นและใบใช้เป็นยาแก้บิดมูกเลือด (เปลือกต้น, ใบ)[1],[2],[3]
  • เปลือกต้นมีรสฝาดร้อน ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังทุกชนิด แก้มะเร็งคุดทะราด (เปลือกต้น)[1],[2],[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระทุ่มนา

  • ในใบกระทุ่มนามีอัลคาลอยด์ประเภท hteroyohimbine และ oxidole หลายชนิดด้วยกัน[3]
  • ได้มีการนำ mitraphyline ซึ่งเป็นอัลคาลอยด์ประเภท oxindole ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่าอัลคาลอยด์ชนิดนี้มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิตและออกฤทธิ์กดต่อกล้ามเนื้อเรียบในสัตว์ทดลอง[3]

ประโยชน์ของกระทุ่มนา

  • เนื้อไม้ใช้ประโยชน์ในด้านการนำไปแปรรูปกระทุ่มนา[3]
  • ใช้ประโยชน์ในด้านการปลูกเป็นไม้ประดับ ความน่าสนใจของต้นไม้ชนิดนี้คือจะมีลำต้นเปลาตรง เรือนยอดกลมมีดอกสีเหลืองพราวไปทั้งต้น ดอกมีกลิ่นหอมแรง ใบเขียวเกือบตลอดทั้งปี ผลัดใบไวและผลิใบไว ชอบขึ้นในที่ริมน้ำ ลำคลอง หรือตามป่าเบญจพรรณชื้น จึงสามารถนำมาปลูกประดับในที่ลุ่มน้ำท่วมขังได้ดี หรือจะปลูกเป็นไม้ประธานในการจัดสวนก็ไม่เลว โดยเฉพาะกับพื้นที่ที่น้ำมักมีการท่วมขังอยู่เสมอ[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “กระทุ่มนา (Kra Thum Na)”.  หน้า 31.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  “กระทุ่มนา”.  หน้า 59.
  3. พรรณไม้บริเวณพระตำหนักเรือนต้น, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กระทุ่มนา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/palace/chitralada/cld6-2.htm.  [29 มิ.ย. 2015].
  4. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “กระทุ่มนา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [29 มิ.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.magnoliathailand.com, biodiversity.forest.go.th, pantip.com (by MayGirl), www.biogang.net (by patchramas)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด