กระทืบยอด สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกระทืบยอด 16 ข้อ !

กระทืบยอด

กระทืบยอด ชื่อวิทยาศาสตร์ Biophytum sensitivum (L.) DC. จัดอยู่ในวงศ์กระทืบยอด (OXALIDACEAE)[1],[2]

สมุนไพรกระทืบยอด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระทืบยอด (เชียงใหม่), นกเขาเง้า (นครราชสีมา), ทืบยอด (สุราษฎร์ธานี), จิยอบต้นตาล จิยอบต้นตาน (ภาคเหนือ), กะทืบยอด กะทืบยอบ (ภาคกลาง), หัวใจไมยราบ (ภาคใต้), ไมยราบ กระทืบยอด (ไทย), เนี้ยซัวเช้า (จีน), กะเสดโคก, คันล่ม, เช้ายอบ, หญ้างับ, หน่อปีเหมาะ เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของกระทืบยอด

  • ต้นกระทืบยอด จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกฤดูเดียว ลำต้นมีขนาดเล็กตั้งตรง ไม่แตกกิ่งก้าน ลักษณะของลำต้นกลมเป็นปล้องข้อ เปลือกต้นเป็นสีแดงเรื่อ ๆ หรือสีน้ำตาลแดง มีขนละเอียด ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 10-20 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้ที่พบขึ้นตามป่าดงดิบเขา ป่าเบญจพรรณ และบริเวณที่ชื้นแฉะทั่วไป มีมากตามชายเขาในภาคเหนือและภาคกลาง[1],[2],[3]

ต้นกระทืบยอด

  • ใบกระทืบยอด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับเวียนรอบต้น เป็นกระจุกที่ปลายยอด ก้านใบแผ่แบนรวมกันอยู่บนยอด เหมือนกับร่มที่กาง ใบย่อยมีประมาณ 8-12 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปคล้ายโล่ รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ[1],[2],[3]

ใบกระทืบยอด

  • ดอกกระทืบยอด ออกดอกเป็นช่อกระจุกบริเวณยอดของลำต้น มีก้านยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร แต่ละช่อจะมีดอกย่อยเป็นกลุ่ม ๆ ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีเหลืองสด กลีบดอกเชื่อมติดกันที่โคนเป็นหลอดสีเขียวอ่อน ส่วนกลีบดอกเป็นสีเหลืองมีขีดสีแดงตามยาว[1],[2],[3]

รูปกระทืบยอด

ดอกกระทืบยอด

  • ผลกระทืบยอด ผลเป็นผลแห้งแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย มีสีเขียวอ่อน[3]

ผลกระทืบยอด

สรรพคุณของกระทืบยอด

  1. ลำต้นใช้เป็นยาแก้ดับพิษร้อนภายใน แก้ไข้ แก้ไข้กาฬ ใช้ถอนพิษเบื่อเมา โดยนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ลำต้น)[1],[3]
  2. ใบใช้เป็นยาแก้กาฬภายใน (ใบ)[2]
  3. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้เบาหวาน (ทั้งต้น)[2],[3]
  4. ใช้เป็นยาแก้หอบหืด (ทั้งต้น)[2],[3]
  5. ลำต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้สะอึก (ลำต้น)[1],[3]
  6. ใช้เป็นยาแก้กระหายน้ำ (ราก)[2],[3]
  7. ใบใช้เป็นยาขับเสมหะ (ใบ)[2],[3]
  8. รากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว ขับนิ่ว ละลายนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด (ราก)[1],[2],[3]
  9. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ (ทั้งต้น)[2]
  10. ลำต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปัสสาวะพิการ (ลำต้น)[1],[3]
  11. รากใช้เป็นยาแก้โรคหนองใน (ราก)[1],[2],[3]
  12. ใช้เป็นยาขับระดูของสตรี (ทั้งต้น)[2]
  13. ใช้เป็นยารักษาโรคตับแข็ง (ราก)[2],[3]
  14. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ไตพิการ (ทั้งต้น)[2],[3]
  15. ใบใช้เป็นยาพอกรักษาแผลสด แผลเรื้อรัง แก้ฟกช้ำ พอกรักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน แก้พิษแมงป่อง (ใบ)[2],[3]
  16. เมล็ดใช้เป็นยารักษาแผลสด แก้ฝี เร่งฝีให้แตกเร็ว (เมล็ด)[2],[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “กระทืบยอด”.  หน้า 31-32.
  2. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “กระทืบยอด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com.  [04 ก.ค. 2015].
  3. คุยเฮิร์บ (KUIHERB).  “กระทืบยอด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.inf.pharm.su.ac.th/~kuiherb/.  [04 ก.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Nelindah, Stephen Buchan, Jkadavoor (Jee), Ruud de Block)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด