กระทิง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกระทิง 33 ข้อ ! (สารภีทะเล)

กระทิง

กระทิง ชื่อสามัญ Alexandrian laurel, Beautiful-leaf, Bornero mahogany, Indian laurel

กระทิง ชื่อวิทยาศาสตร์ Calophyllum inophyllum L. จัดอยู่ในวงศ์มังคุด (CLUSIACEAE หรือ GUTTIFERAE)[1],[2],[3]

สมุนไพรกระทิง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เนาวกาน (น่าน), สารภีทะเล (ประจวบคีรีขันธ์), ทิง (กระบี่), สารภีแนน (ภาคเหนือ), นอ (ภาคอีสาน), กระทึง กากทึง กากะทิง กากระทึง (ภาคกลาง), กะทึง กาทึง ทึง (ภาคใต้), ไท่กวั๋อหงโฮ่วเขอ หูถง (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3]

ต้นกระทิง เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบอินโดจีน (ไทย พม่า ลาว เวียดนาม เขมร มาเลเซีย อินเดีย ศรีลังกา)[4] ในประเทศไทยมีต้นกระทิงอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกใบสีเขียว (Calophyllum inophyllum Linn.) ส่วนอีกชนิดจะเป็นใบสีแดง (Calophyllum polyanthum Wall. ex Choisy) แต่ไทยเรามักจะใช้ต้นกระทิงใบเขียวกันมากกว่า[1]

ลักษณะของต้นกระทิง

  • ต้นกระทิง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นทรงพุ่มทึบ ไม่เป็นระเบียบ ลำต้นค่อนข้างสั้นและมักบิดแตกเป็นกิ่งใหญ่ ๆ จำนวนมากทั้งแนวนอนและแนวตั้งหรือห้อยลง มีความสูงของต้นประมาณ 8-20 เมตร เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีแดงเข้ม ต้นเมื่อแก่จะแตกเป็นร่อง ภายในมียางสีเหลืองใส ๆ เปลือกด้านในเป็นสีชมพู ส่วนแก่นไม้เป็นสีน้ำตาลอมแดง ตายอดเป็นรูปกรวยคว่ำ มีขนสีน้ำตาลปนสีแดงอยู่ประปราย โดยต้นกระทิงเป็นไม้ที่ชอบแสงแดดจัด มักขึ้นตามป่าใกล้ชายทะเล ป่าดงดิบ พบได้มากทางภาคใต้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง ชอบดินทรายระบายน้ำได้ดี แต่ขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด หากได้รับน้ำมากพอใบจะเป็นมันสวยงาม (สำหรับการตัดแต่งพันธุ์ไม้ชนิดนี้ควรระมัดระวังน้ำยางสีเหลืองจากต้นด้วย เพราะมีความเป็นพิษ)[1],[4],[6]

ต้นกระทิง

ต้นสารภีทะเลเปลือกต้นกระทิง
  • ใบกระทิง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี หรือเป็นรูปไข่กลับแกมขอบขนาน โคนใบสอบ ปลายใบมนกว้างและมักหยักเว้าเล็กน้อย ใบมีความกว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวเข้ม เนื้อใบค่อนข้างหนาแข็งและเกลี้ยง ขอบใบเรียบและผิวมันเคลือบ ท้องใบเรียบเป็นสีอ่อนกว่า มีเส้นแขนงใบถี่มากและขนานกัน มองเห็นไม่ชัดเจน ส่วนเส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านหลังใบ ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง เมื่อแก่จะแห้งเป็นสีน้ำตาล และมีก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร (เปลือกของต้นมีสารแทนนินอยู่ 19%)[1],[6]

ใบสารภีทะเลใบกระทิง
  • ดอกกระทิง ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่งและตามง่ามใบ ช่อละประมาณ 5-8 ดอก ดอกเป็นดอกเดี่ยวแยกกันอิสระ ดอกเป็นสีขาวมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบเลี้ยงดอกมี 4 กลีบ ยาวประมาณ 2.7-10 มิลลิเมตร โดยสองกลีบนอกจะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับและงอเป็นกระพุ้ง ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร ส่วนอีกสองกลับถัดเข้าไปจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าเล็กน้อย ส่วนกลีบดอกมี 4 กลีบ กว้างประมาณ 7-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 9-12 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปช้อนหรือรูปไข่กลับ ขอบงอ ดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ลักษณะของดอกเป็นดอกตูมค่อนข้างกลมสีขาวนวล มีเกสรตัวผู้สีเหลืองจำนวนมาก มีกลิ่นหอม เป็นแต้มสีเหลืองรอบ ๆ เกสรตัวเมียที่ชูพ้นเกสรตัวผู้[1],[6]

ดอกสารภีทะเล

ดอกกระทิง

  • ผลกระทิง ผลเป็นผลสดค่อนข้างกลมและฉ่ำน้ำ ผลมีลักษณะทรงกลมหรือเป็นรูปไข่และแข็ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ปลายผลเป็นติ่งแหลม ผลสดสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อผลแห้งจะย่นและเปลี่ยนเป็นสีออกน้ำตาลปนแดงอ่อน และภายในผลมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด เมล็ดมีเปลือกแข็ง[1],[4] (เมล็ดเมื่อนำมาบีบหรือสกัดด้วยตัวทำลายอินทรีย์จะให้น้ำมันสีเหลืองอมสีเขียวประมาณ 50-70% และมีกลิ่นที่ไม่ชวนดม หรือที่เรียกว่า Dill oil, Poppy seed oil และ Laurel oil นอกจากนี้ยังมีเรซินอีกด้วย)[1]

กากะทิง

ผลกระทิง

สารภีทะเล

ผลสารภีทะเล

สรรพคุณของกระทิง

  1. ทั้งต้นมีรสเมาและฝาดเล็กน้อย ใช้เป็นยาสุขุม มีพิษเล็กน้อย (ทั้งต้น)[1]
  2. ดอกมีรสหอมเย็น ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้อาการการเต้นของหัวใจผิดปกติ และใช้ปรุงเป็นยาหอม (ดอก, ดอกและใบ)[1],[2],[3],[4],[6]
  3. ดอกใช้เป็นยาชูกำลัง (ดอก)[5]
  4. ใบมีรสเมาเย็น ช่วยแก้อาการตาแดง ตาฝ้า ตามัว และใช้ล้างตา โดยใช้ใบตำกับน้ำสะอาดล้างตา (ใบ)[2],[3],[4],[6]
  5. ยางมีฤทธิ์ทำให้อาเจียน (ยาง)[1],[6]
  6. ยางจากต้นและเปลือกต้นใช้เป็นยาพอกทรวงอกแก้วัณโรคปอด (ยาง)[6]
  7. ยางมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย ยาระบายอย่างรุนแรง (ยาง)[1],[6]
  8. ช่วยขับปัสสาวะ (ยาง)[6]
  9. น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาฝาดสมานภายนอก ใช้กับโรคริดสีดวงทวาร (ใบ)[6]
  10. น้ำมันจากเมล็ดที่ทำให้บริสุทธิ์ใช้กินแก้โรคหนองใน (น้ำมันจากเมล็ดบริสุทธิ์)[6]
  1. เปลือกต้นใช้ต้มเป็นยาขับปัสสาวะในโรคหนองใน (เปลือกต้น)[6]
  2. ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติและช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี (ดอกและใบ)[1]
  3. เปลือกต้นใช้ทำเป็นพลาสเตอร์ปิดแผล (เปลือกต้น)[3]
  4. ช่วยรักษาแผลสด ห้ามเลือด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[1]
  5. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้คัน (เปลือกต้น)[1],[3]
  6. ยางจากต้นและเปลือกใช้ภายนอกสำหรับล้างแผลอักเสบเรื้อรัง (ยาง)[6]
  7. เปลือกต้นใช้ชำระล้างแผล (เปลือกต้น)[5] รากใช้เป็นยาล้างแผล (ราก)[6]
  8. ต้นและเปลือกต้นให้ยางใช้สำหรับทาแผล เป็นยาสมานแผลและกัดฝ้า (เปลือกต้น, ยาง)[1],[3],[6]
  9. ช่วยแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน แก้เหา และช่วยสมานแผล (น้ำมันจากเมล็ด)[6]
  10. ช่วยรักษาโรคเรื้อน (เปลือกต้น, น้ำมันจากเมล็ด)[1],[4]
  11. น้ำมันจากเมล็ดใช้แก้หิดและกลากเกลื้อน (น้ำมันจากเมล็ด)[1],[6]
  12. รากช่วยแก้อาการฟกช้ำ (ราก) เปลือกต้นช่วยแก้อาการฟกช้ำดำเขียว (เปลือกต้น)[1]
  13. เปลือกต้นใช้เป็นยาทาภายนอกแก้อาการบวม (เปลือกต้น)[6]
  14. รากใช้เป็นยาแก้อาการปวดบวมเคล็ดขัดยอก (ราก)[1] ส่วนเมล็ด (น้ำมัน) มีรสเมาร้อนและมีน้ำมัน ใช้สำหรับถูนวดแก้อาการปวดข้อ แก้อาการเคล็ดขัดยอก แก้บวมได้ (น้ำมันจากเมล็ด)[1],[2],[3],[4],[6]
  15. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย ปวดตามแข้งตามขาเนื่องจากลมชื้น (ราก)[1]
  16. ช่วยแก้อาการปวดหลังอันเนื่องมาจากไตพร่อง (ราก)[1]
  17. ชวยแก้อาการปวดข้อ ปวดกระดูก (ราก)[1]

วิธีการใช้ : ใบ เปลือกต้น ราก ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม ส่วนรากสดให้ใช้ครั้งละ 20-30 กรัม ถ้าใช้ภายในให้นำมาต้มกับน้ำดื่ม หากใช้ภายนอกเพื่อรักษาแผลสดห้ามเลือด แก้เคล็ดขัดยอก อาการปวดบวม ให้ใช้ตามที่ต้องการ[1]

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรกระทิง

  • ยาจากสมุนไพรกระทิงมีพิษ เวลาใช้ต้องระมัดระวัง[1],[3]
  • ยางจากต้นกระทิงมีพิษ มีฤทธิ์ทำให้อาเจียนและออกฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างรุนแรง[1]
  • ใบกระทิงมีสาร Saponin และสารเมื่อละลายน้ำแล้วจะมีสาร Hydrocyanic acid ออกมา จึงทำให้เป็นพิษต่อมนุษย์และปลา[1]
  • หากนำผลของกระทิงไปสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 60% จะทำให้สารที่ได้มาไม่เป็นพิษ[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระทิง

  • สารสกัดชั้นน้ำและชั้นเมทานอลมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อ HIV-1 และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase[7]
  • สารสกัดจากเปลือกรากมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย[7]
  • สาร Calophyllolide ซึ่งเป็นสารจำพวก Lactone ที่แยกได้จากต้นกระทิงมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ[7]
  • สารสกัดและสารที่แยกได้จากเปลือกรากของกระทิงมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียจำพวกแกรมบวก และสารจำพวก Coumarin ที่ได้จากต้นกระทิงมีฤทธิ์ในการยับยั้ง Retrovirus หลายชนิด[7]
  • สารจากต้นกระทิงมีฤทธิ์ในการกระตุ้นการทำงานของ Phagocyte[7]
  • ฤทธิ์ในการต้านเชื้อ HIV สารคูมาริน 2 ชนิด ที่พบในใบและกิ่งของต้นกระทิง คือ inophyllum B และ P มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ reverse transcriptase ของ HIV-1[7]

ประโยชน์ของกระทิง

  1. ทั้งต้นและใบสามารถนำมาใช้ทำเป็นยาเบื่อปลาได้[1],[6]
  2. น้ำมันจากเมล็ดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการปรุงเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และใช้ทำสบู่ได้[1],[4]
  3. น้ำมันจากเมล็ดนำมาใช้ผสมทำเป็นน้ำมันไบโอดีเซลได้[4]
  4. ยางจากต้นและเปลือกต้นใช้แต่งกลิ่น (ไม่ได้ระบุว่าแต่งกลิ่นอะไร)[6]
  5. นิยมปลูกต้นกระทิงเพื่อเป็นไม้ให้ร่มเงา ชอบอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ปลูกได้ตั้งแต่ชายทะเลถึงบนเขาสูง หรือจะปลูกไว้ในกระถางก็ได้ เนื่องจากเป็นไม้ที่เจริญเติบโตช้า (ไม่ควรปลูกไว้ใกล้บริเวณอาคาร เพราะต้นกระทิงระบบรากมีความแข็งแรง อาจทำให้เกิดความเสียหายกับตัวอาคารได้) ใบไม่หลุดร่วงง่ายและมันเป็นเงาสวยงาม ทนดินเค็ม แสงแดดจัด และลมแรงได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังไม่มีโรคและแมลงมารบกวน สามารถควบคุมการออกได้ด้วยการให้น้ำและการใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้อง[4]
  6. เนื้อไม้กระทิงสามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน ทำตู้ ไม้หมอนรถไฟ เครื่องมือเกษตรกรรม เช่น แอก ฯลฯ หรือใช้ทำเรือ และกระดูกงูเรือได้[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “กระทิง”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้าที่ 36.
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “กระทิง (Kra Thing)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้าที่ 28.
  3. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติ ภาคกลาง.  “กระทิง”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, รศ.ดร.ริจศิริ เรืองรังสี, อาจารย์กัญจนา ดีวิเศษ).  หน้าที่ 57.
  4. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “กระทิง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [14 ม.ค. 2014].
  5. โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์.  “กระทิง”.  (อารีย์ ตั้งพูนสิน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.shc.ac.th/learning/botanical-garden/.  [14 ม.ค. 2014].
  6. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “สารภีทะเล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [14 ม.ค. 2014].
  7. สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์.  “กระทิง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: aidsstithai.org.  [14 ม.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Lauren Gutierrez, Eric Hunt., J. B. Friday, Tatters:), Reinaldo Aguilar, Russell Cumming, Starr Environmental, chandrasekaran a 1009k + views .Thanks to visits, Mamatha Rao)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด