กระถินไทย
กระถิน ชื่อสามัญ White popinac[1], Lead tree[1], Horse tamarind[2], Leucaena[2], lpil-lpil[6]
กระถิน ชื่อวิทยาศาสตร์ Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)[1],[2]
กระถิน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กะเส็ดโคก กะเส็ดบก (ราชบุรี), กะตง กระถิน กระถินน้อย กระถินบ้าน ผักก้านถิน (สมุทรสงคราม), ผักก้านถิน (เชียงใหม่), ผักหนองบก (ภาคเหนือ), กระถินไทย กระถินบ้าน กระถินดอกขาว กระถินหัวหงอก (ภาคกลาง), ตอเบา สะตอเทศ สะตอบ้าน (ภาคใต้), กระถินยักษ์ เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของกระถิน
- ต้นกระถิน และมีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อนและในหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย เนื่องจากต้นกระถินเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้ง่ายจึงพบได้ทั่วไป[3],[8] จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก มีขนาดความสูงประมาณ 3-10 เมตร ไม่ผลัดใบ ลักษณะทรงต้นเป็นเรือนยอดรูปไข่หรือกลม เปลือกต้นมีสีเทา และมีปุ่มนูนของรอยกิ่งก้านที่หลุดร่วงไป และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยหรือในดินเหนียวอุ้มน้ำได้ดี[1],[2],[3],[6]
- ใบกระถิน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงสลับกัน ยาวประมาณ 12.5-25 เซนติเมตร แกนกลางใบประกอบมีขน ใบแยกแขนงประมาณ 3-19 คู่ เรียงตรงข้ามกัน มีความยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยมีประมาณ 5-20 คู่ เรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน มีความกว้างประมาณ 2-5 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 0.6-2.1 เซนติเมตร โคนใบเบี้ยว ปลายใบแหลม ขอบใบมีขน แต่ละใบมีเส้นแขนงอยู่ประมาณข้างละ 5-6 เส้น ส่วนก้านใบย่อยมีความยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร[1],[2]
- ดอกกระถิน ดอกมีสีขาว ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกแน่นตามง่ามใบและปลายกิ่งประมาณ 1-3 ช่อ กลีบเลี้ยงโคนติดกันลักษณะเป็นรูประฆัง ส่วนปลายแยกเป็นสามเหลี่ยมเล็ก 5 แฉก มีขน ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 10 อัน เมื่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[2]
- ฝักกระถิน ฝักมีลักษณะแบน ปลายฝักแหลม โคนสอบ ฝักเมื่อแก่จะแตกตามยาว ฝักยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ในฝักมีเมล็ดเรียงตามขวางอยู่ประมาณ 15-30 เมล็ด และจะออกผลในช่วงเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนมกราคม[1],[2]
- เมล็ดกระถิน เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่แบนกว้าง มีสีน้ำตาลและเป็นมัน[1],[2]
สรรพคุณของกระถิน
- ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (ราก[4],[5], เมล็ดแก่[6])
- กระถินมีฟอสฟอรัสสูง จึงช่วยเสริมสร้างและบำรุงกระดูก (ยอดอ่อน, ฝักอ่อน, เมล็ด)[3]
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ยอดอ่อน)[5]
- ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง (ยอดอ่อน)[5]
- กระถินอุดมไปด้วยวิตามินเอ จึงช่วยบำรุงและรักษาสายตาได้ (ยอดอ่อน)[5]
- ช่วยบำรุงหัวใจ (ฝักอ่อน, ยอดอ่อน)[6]
- ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ (เมล็ดแก่)[6]
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ฝักอ่อน, ยอดอ่อน)[6]
- ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ฝักอ่อน, ยอดอ่อน)[6]
- ช่วยแก้เกล็ดกระดี่ขึ้นตา (ดอก)[4]
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ฝัก)[5],[6]
- เมล็ดกระถินใช้เป็นยาถ่ายพยาธิตัวกลม (Ascariasis) สำหรับผู้ใหญ่ให้ใช้ครั้งละ 25-50 กรัม ส่วนเด็กให้ใช้ 5-20 กรัมต่อวัน โดยใช้รับประทานขณะท้องว่างในตอนเช้าประมาณ 3-5 วัน (เมล็ด)[4],[5],[6]
- ช่วยขับลมในลำไส้ (ราก[2],[4],[5], เมล็ดแก่[6])
- ช่วยขับระดูขาวของสตรี (ราก[2],[4],[5], เมล็ดแก่[6])
- ช่วยลดการเกิดนิ่วในกระเพาะอาหาร (ยอดอ่อน, ฝักอ่อน, เมล็ด)[3]
- ดอกกระถินช่วยบำรุงตับ (ดอก)[2],[4],[6] ช่วยบำรุงไตและตับ (เมล็ดแก่)[6]
- ฝักกระถินเป็นยาฝาดสมาน ใช้ห้ามเลือด (ฝัก, เปลือก)[5],[6]
หมายเหตุ : ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกมีรสมัน เมล็ดอ่อนมีรสมันอมหวานเล็กน้อย รากมีรสจืดเฝื่อน ส่วนเปลือกมีรสฝาด[6]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระถิน
- ผลเมล็ดมีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและช่วยลดไขมันในเลือดของหนูขาว แต่เมล็ดมีสารลิวซีนีน (Leucenine) ซึ่งจะทำให้สัตว์เป็นหมันได้[4]
- สารสกัดจากใบกระถินเมื่อฉีดเข้าหลอดเลือดของสุนัขจะทำให้มีระดับความดันโลหิตลดลง มีอัตราการเต้นของหัวใจช้าลง ช่วยกระตุ้นการหายใจ มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต แต่ฤทธิ์ดังกล่าวนี้สามารถต้านได้ด้วย Atropine และยาต้านฮิสตามีน และเมื่อนำน้ำยาสกัดกระถินมาใช้กับหัวใจของกบและเต่าที่แยกออกมา พบว่ามีอัตราการบีบของหัวใจลดลง และในระบบทางเดินอาหารทั้งการทดลองแบบ in vitro ก็พบว่าน้ำสกัดนี้ทำให้เกิดแรงตึงตัวและเกิดแรงบีบตัวเพิ่มขึ้น เมื่อทดลองใน in vivo จะพบว่าการบีบตัวของกระเพาะลำไส้ตามปกติลดลง[4]
ประโยชน์ของกระถิน
- ยอดอ่อนกระถิน ฝักอ่อน และเมล็ดใช้รับประทานเป็นผักได้[1],[2],[3] โดยยอดใบจะใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก ส้มตำ หรือยำหอยนางรม[5] ส่วนเมล็ดอ่อนชาวอีสานใช้ผสมในส้มตำมะละกอหรือรับประทานกับส้มตำ ส่วนชาวใต้ใช้เมล็ดอ่อนและใบอ่อนรับประทานร่วมกับหอยนางรม[6]
- ใบ ยอด ฝัก และเมล็ดอ่อนสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย ไก่ แพะ แกะ ฯลฯ[1],[2],[3],[4]
- ใบกระถินอุดมไปด้วยธาตุไนโตรเจนและเกลือโพแทสเซียม สามารถนำมาใช้ทำเป็นปุ๋ยหมักได้[1],[3],[4]
- เมล็ดสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องประดับได้หลายชนิด เช่น เข็มกลัด สายสร้อย เข็มขัด ฯลฯ[1],[2],[4]
- ลำต้นหรือเนื้อไม้กระถินสามารถนำมาใช้ทำด้ามอุปกรณ์เครื่องมือทางการเกษตร ทำฟืน เผาทำถ่าน และได้น้ำส้มควันไม้[1],[3],[5]
- เปลือกต้นกระถินให้เส้นใยที่สามารถนำไปใช้ทำเป็นกระดาษได้ แต่มีคุณภาพไม่ดีนัก[1],[2],[4]
- เปลือกต้นกระถินสามารถนำมาใช้ย้อมสีเส้นไหมได้ โดยเปลือกต้นแห้ง 3 กิโลกรัมจะสามารถย้อมเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม โดยจะให้สีน้ำตาล[8]
- สายพันธุ์กระถินที่ทำการปรับใหม่จะมีขนาดลำต้นสูงกว่าสายพันธุ์เดิม หรือที่เรียกว่า “กระถินยักษ์” ใช้ปลูกเพื่อเป็นแนวรั้วบ้าน แนวกันลม และช่วงบังแสงแดดให้แก่พืชที่ปลูกได้ เหมาะในพื้นที่ที่มีการดูแลรักษาต่ำ และต้นกระถินยังมีความแข็งแรง เจริญเติบโตได้เร็ว[1],[2],[4]
- ตามคติความเชื่อในตำราพรหมชาติฉบับหลวงกล่าวว่า กระถินเป็นไม้มงคลที่ควรปลูกไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำมาปลูกร่วมกับต้นสารภี มีความเชื่อว่าจะช่วยป้องกันเสนียดจัญไรต่าง ๆ ได้[4]
คุณค่าทางโภชนาการของยอดอ่อนกระถิน ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 62 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 5 กรัม
- โปรตีน 8.4 กรัม
- ไขมัน 0.9 กรัม
- เส้นใยอาหาร 3.8 กรัม
- น้ำ 80.7 กรัม
- วิตามินเอ 7,883 หน่วยสากล
- วิตามินบี 1 0.33 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.09 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 1.7 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 8 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 137 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 9.2 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม
แหล่งที่มา : สถาบันการแพทย์แผนไทย[4]
การเลือกซื้อและการเก็บรักษากระถิน
ควรเลือกซื้อยอดกระถินหรือฝักอ่อนที่มีความสดใหม่และไม่เหี่ยว ส่วนวิธีการเก็บรักษานั้นให้นำกระถินที่ได้มาห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ให้ดี แล้วนำมาใส่กล่องพลาสติกและปิดฝาให้สนิท เก็บเข้าแช่ตู้เย็นในช่องผัก จะสามารถเก็บไว้ได้นานขึ้น[7]
โทษของกระถิน
เนื่องจากใบของกระถินมีสารที่เป็นพิษคือสารลิวซีนีน (Leucenine) หากสัตว์กระเพาะเดียวกินใบกระถินในปริมาณสูงอาจทำให้ขนร่วงและเป็นหมันได้ แต่ยังไม่มีรายงานความเป็นพิษเนื่องจากการกินกระถินในคน และยังมีรายงานว่ากระถินเป็นพืชที่มีคุณสมบัติช่วยดูดธาตุซีลีเนียมจากดินมาสะสมไว้ได้มาก จึงอาจทำให้เกิดพิษเนื่องจากธาตุนี้ได้[1]
เอกสารอ้างอิง
- สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “กระถินไทย“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [23 พ.ย. 2013].
- ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “กระถิน“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [23 พ.ย. 2013].
- ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “กระถิน“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [23 พ.ย. 2013].
- สถาบันการแพทย์แผนไทย. “กระถิน“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ittm-old.dtam.moph.go.th. [23 พ.ย. 2013].
- เดลินิวส์. “กระถินกินมีประโยชน์“. (06/12/55). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dailynews.co.th. [23 พ.ย. 2013].
- GotoKnow. “พืชผักสมุนไพรใกล้ครัว: กระถิน“. (ครูนาย). อ้างอิงใน: สถาบันวิจัยสมุนไพรไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (นฤมล มงคลชัยภักดิ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.gotoknow.org. [23 พ.ย. 2013].
- เว็บสำหรับคนรักอาหาร. “กระถิน“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.siammoo.com. [23 พ.ย. 2013].
- พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “กระถินบ้าน“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th. [23 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by mauroguanandi, Mauricio Mercadante, Russell Cumming, dinesh_valke, Teo Siyang, judymonkey17, camillenoir, — Green Light Images –, Shubhada Nikharge)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)